ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
พุทธศักราช ๒๕๓๔

________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
            โดยที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งได้กระทำ การยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะรักษา ความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติมเสียนั้น ก็โดย ปรารถนาให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม เพื่อให้การปกครองประเทศเป็น ไปโดยราบรื่น ประกอบกับมีความมุ่งหมายที่จะขจัดภยันตรายที่มีต่อ ประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หมดสิ้นและบังเกิดความสงบ เรียบร้อยโดยรวดเร็ว รวมตลอดทั้งกำหนดกลไกการปกครองที่จะเอื้อ อำนวยให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่ สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของชนในชาติ แต่ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งตามความจำเป็น จึงสมควร ให้มีธรรมนูญการปกครองประเทศ เพื่อใช้ไปพลางก่อนให้เหมาะสมกับ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และเพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะ รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้นำความกราบบังคมทูล จึงมีพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญ การปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งจะได้ จัดร่างขึ้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้
            มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่ง แยกมิได้
            พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและทรงดำรงตำแหน่งจอม ทัพไทย
            มาตรา ๒ อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นพระประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการ ปกครองนี้
            มาตรา ๓ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจ ตุลาการทางศาล
            มาตรา ๔ องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้
            มาตรา ๕ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็น ประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน ประกอบ เป็นคณะองคมนตรี
            คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราช กรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา
            การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี และการให้องคมนตรีพ้นจาก ตำแหน่งย่อมเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
            มาตรา ๖ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
            ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติคำนึงถึงการ เลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นภายในพุทธ ๒๕๓๔
            มาตรา ๗ สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยคนแต่ไม่เกินสามร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรง แต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ตามที่ประธานสภารักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาตินำความกราบบังคมทูล
            ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่างลง พระมหากษัตริย์ จะทรงแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเป็นสมาชิกแทนก็ได้
            ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับ สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
            มาตรา ๘ ในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ใดกระทำ การอันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการขัดขวางต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน ไม่น้อยกว่ายี่สิบคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ
            มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตาม วรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดที่มีอยู่ในวันลงคะแนน
            มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่ง ชาติตามมติของสภาให้เป็นประธานสภาคนหนึ่ง และเป็นรองประธานสภา คนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
            ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับ สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรอง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
            มาตรา ๑๐ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น คณะหนึ่งจำนวนไม่เกินยี่สิบคนทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ
            คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งจะประกอบด้วยบุคคลซึ่งมิได้เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยก็ได้
            มาตรา ๑๑ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก คณะกรรมาธิการตามมาตรา ๑๐ แล้ว ให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสามวาระการพิจารณาในวาระที่หนึ่งและวาระที่สอง ให้เป็นไปตาม ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับวาระที่สามให้ กระทำได้เมื่อการพิจารณาวาระที่สองได้ล่วงพ้นไปแล้วสิบห้าวัน
            การประชุมในวาระที่สาม ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า สามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันประชุม จึงจะเป็นองค์ ประชุม
            การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้อง มีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่ น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันลงคะแนน
            เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สาม แล้วให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูล กระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็น รัฐธรรมนูญ
            การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
            มาตรา ๑๒ ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ถ้าไม่ ได้คะแนนเสียงเห็นชอบตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม ให้สภานิติบัญญัติแห่ง ชาติร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่และพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้นตามบทบัญญัติ แห่งธรรมนูญการปกครองนี้ แต่ถ้าการร่างและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวจะมีผลให้ไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งได้ภายในพุทธศักราช ๒๕๓๔ ให้ขยายกำหนดเวลาการจัดให้มีการเลือกตั้งออกไปหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ วันสิ้นพุทธศักราช ๒๕๓๔
            มาตรา ๑๓ ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ตาม มาตรา ๑๒ ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบตามมาตรา ๑๑ ในวาระที่หนึ่ง หรือวาระที่สาม ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง ในวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ และให้สภา รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๒ หรือรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่ง มาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งชาติลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ
            ในการประชุมร่วมกันตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภารักษาความ สงบเรียบร้อยแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
            ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงการเลือกตั้งซึ่งจะต้อง จัดให้มีขึ้นโดยเร็วเท่าที่กระทำได้
            การประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
            มาตรา ๑๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑ การประชุมสภานิติบัญญัติ แห่งชาติต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน สมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันประชุม จึงจะเป็นองค์ประชุม
            มาตรา ๑๕ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ใดจะกล่าว ถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็น หรือออก เสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด บุคคลใดจะนำไปเป็น เหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใดมิได้
            เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้คุ้มครองถึงกรรมาธิการของ สภาผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของประธานสภา นิติบัญญัติแห่งชาติด้วย
            ในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถูกควบคุมหรือขังหรือถูก ฟ้องร้องในคดีอาญา ให้สั่งปล่อยหรืองดการพิจารณาในเมื่อประธานสภา นิติบัญญัติแห่งชาติร้องขอ
            มาตรา ๑๖ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับ การเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และ กรรมาธิการ วิธีการประชุม การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ การเสนอญัตติที่ไม่มีลักษณะเป็นการขอให้คณะรัฐมนตรี ชี้แจงหรือแสดงความเห็นในเรื่องใด ๆ การอภิปราย การลงมติ การรักษา ระเบียบและความเรียบร้อยและกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่
            มาตรา ๑๗ พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชบัญญัติโดยคำแนะนำ และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
            ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี
            มาตรา ๑๘ ให้มีสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกอบ ด้วยบุคคลตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และประกาศของคณะรักษา ความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นกรรมการ
            ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อาจแต่งตั้ง กรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกินสิบ ห้าคน
            ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นประธานสภา รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแต่งตั้ง เป็นรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และให้เลขาธิการ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นเลขาธิการสภารักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติ
            ให้สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือ ไม่ได้เป็นกรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นรองเลขา ธิการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
            ในกรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่อยู่หรือ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อย แห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และใน กรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และรองประธาน สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเลือกกรรมการคนหนึ่ง ทำหน้าที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
            มาตรา ๑๙ สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ร่วมกับคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีจะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเสนอแนะหรือ ให้ความคิดเห็นในเรื่องใด ๆ ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คณะรัฐมนตรี ในการบริหารราชการแผ่นดิน และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ธรรมนูญการปกครองนี้
            ในการประชุมร่วมกันของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้ประธาน สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
            มาตรา ๒๐ ในกรณีที่เห็นสมควร ประธานสภารักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีอาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของ สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อร่วมพิจารณา และแก้ไขปัญหาใด ๆ อันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
            มาตรา ๒๑ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และรัฐมนตรีตามจำนวนที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูล ประกอบเป็น คณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
            มาตรา ๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อย แห่งชาติถวายคำแนะนำ และให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐ มนตรีถวายคำแนะนำ
            มาตรา ๒๓ ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็น ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือให้นายก รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
            นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง รัฐมนตรีหรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
            มาตรา ๒๔ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติมิได้ และจะดำรงตำแหน่งใดในกิจการเอกชนที่ดำเนิน ธุรกิจเพื่อค้ากำไรมิได้
            นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิเข้าร่วมประชุมเพื่อแถลง นโยบาย และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ ตามมาตรา ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
            มาตรา ๒๕ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
            มาตรา ๒๖ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงแห่งชาติ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องพิจารณาโดยรีบด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
            เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีเสนอ พระราชกำหนดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยไม่ชักช้า ถ้าสภานิติ บัญญัติแห่งชาติอนุมัติแล้ว ให้พระราชกำหนดมีผลเป็นพระราชบัญญัติ ต่อไป ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่อนุมัติให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราช กำหนดนั้น
            การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้ประกาศในราชกิจจา นุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
            มาตรา ๒๗ ในกรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงแห่งชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่า จะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้ประธานสภารักษาความ สงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภารักษาความ สงบเรียบร้อยแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ด้วยความเห็นชอบของที่ ประชุมร่วมระหว่างสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ ของประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีหรือ คำสั่งหรือการกระทำที่ได้สั่งหรือกระทำร่วมกันรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่ง ดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย
            เมื่อประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายก รัฐมนตรีหรือประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและนายกรัฐ มนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงาน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ
            มาตรา ๒๘ บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระ บรมราชโองการใด อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือ รัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
            มาตรา ๒๙ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษา อรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
            มาตรา ๓๐ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศ ไทยในระบอบประชาธิปไตย
            ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่ง เกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ชี้ขาด
            มาตรา ๓๑ ในกรณีมีปัญหาว่าการกระทำหรือการปฏิบัติใดขัด หรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้สภา นิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
            มาตรา ๓๒ บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติที่ได้กระทำ ประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการ ปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดและควบคุมอำนาจการปกครอง แผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ไม่ว่าจะกระทำด้วย ประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้ มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง รวมทั้งการกระทำของผู้ปฏิบัติตาม ประกาศ หรือคำสั่งนั้นตลอดจนการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำ เนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าว เป็นการ กระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
            มาตรา ๓๓ ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานสภารักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และสภารักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุนทร คงสมพงษ์
หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๔๐ ราชกิจจานุเบกษา ๑ มีนาคม ๒๕๓๔