ข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและการเลือกตั้ง โดย คุณชนินทร์ ติชาวัน

4 กุมภาพันธ์ 2550 23:01 น.

       ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยตรงนั้นเป็นการปกครองที่เกิดขึ้นในสมัยกรีกโบราณ เป็นการปกครองที่ตรงกับความหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้วยตนเอง ซึ่งการปกครองในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะรัฐที่มีจำนวนประชากรไม่มากนัก ที่ประชาชนทุกคนสามารถรวมตัวกันเพื่อที่จะออกเสียงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ แต่ในปัจจุบันการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรงนั้น ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าประชาชนในรัฐหนึ่งๆนั้นมีจำนวนมาก เกินกว่าที่จะมารวมตัวกันทั้งประเทศเพื่อที่จะออกเสียงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ สิ่งที่ประชาชนจะกระทำได้ก็คือการเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและมีเวลา เพียงพอในการทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองแทนประชาชนส่วนใหญ่ โดยใช้วิธีการเลือกตั้งซึ่งเป็นวิธีการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยโดยทาง ผู้แทนหรือระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทนนั่นเอง
       
       1. แนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและการเลือกตั้ง
       การเลือกตั้งนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน ซึ่งในการออกเสียงเลือกตั้งนั้น มีทฤษฎีอันว่าด้วยอำนาจอธิปไตยที่ เกี่ยวข้องอยู่สอง ทฤษฎี คือ
       
       1.) ทฤษฎีที่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชน หรือที่เรียกว่าทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (La souverainet’e populaer) ทฤษฎีนี้เกิดมีขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของ ฌอง ชาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ซึ่งทฤษฎีนี้ มีพื้นฐานแนวความคิดจากทฤษฎีสัญญาประชาคม โดยมีสาระสำคัญคือ อำนาจอธิปไตยนั้นอยู่ในตัวมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ชายหรือหญิง หรือความแตกต่างอย่างอื่นก็ตาม และเมื่อมนุษย์ได้มาอยู่รวมกันเป็นสังคม มนุษย์ก็ได้ก่อพันธะผูกพันกันขึ้น ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะมอบอำนาจที่ตนมีอยู่นั้นให้แก่สังคมร่วมกัน ตามแนวความคิดของรุสโซนี้ เห็นว่าอำนาจอธิปไตยไม่สามารถจะจำหน่ายจ่ายโอนไปให้ใครได้ และไม่สามารถแบ่งแยกออกไปได้และจำกัดไม่ได้ เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นของทุกคนในสังคมนั้น โดยรุสโซ ได้อธิบายว่า หากว่ารัฐประกอบด้วยสมาชิก 10,000 คน อำนาจในการปกครองบริหารซึ่งคืออำนาจสูงสุด หรือที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตยมีค่าเท่ากับหนึ่ง ดังนั้น ประชาชนแต่ละคนจะมีส่วนในอำนาจอธิปไตย 1ใน10,000 จากแนวความคิดเช่นนี้เองจึงอาจกล่าวได้ว่า รุสโซนั้นเป็นผู้ก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างสมบูรณ์ และแต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย
       ทฤษฎีนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีหลักความเสมอภาคอยู่เบื้องหลัง เพราะจะเห็นได้ว่า ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมากกว่ากัน ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยก็มีส่วนเท่ากับประชาชนคนอื่น เพียงแต่ได้รับความยินยอมจากประชาชนให้กระทำการแทนชั่วคราวเท่านั้น ตามแนวความคิดของรุสโซนี้ จะบรรลุตามเจตนารมณ์ได้ก็ต่อเมื่อทุกๆ ส่วนของอำนาจ กล่าวคือทุกๆคนในรัฐต้องยินยอมพร้อมใจกันมอบอำนาจโดยไม่มีการละเว้น เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยเท่าๆกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีนี้สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยตรงที่ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกๆ เรื่องเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับให้ทุกคนต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
       จากเหตุผลนี้เองจึงส่งผลสำคัญที่ทำให้การออกเสียงเลือกตั้งนั้นเป็นสิทธิซึ่งจะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ดังคำกล่าวของรุสโซที่ว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรมาพรากจากประชาชนได้ การเลือกตั้งนั้นจึงเป็นสิทธิของทุคนมิใช่หน้าที่ และจะบังคับให้ทุกคนไปใช้สิทธิโดยกำหนดโทษไม่ได้ เพราะจะเป็นการก้าวก่ายกับสิทธิส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่ไม่ไปลงคะแนนเสียง 1
       
       2.) ทฤษฎีที่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน หรือที่เรียกว่าทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ (La souverainet’e nation) ทฤษฎีนี้ หากจะว่าไปแล้วก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยสืบเนื่องจากแนวความคิดของรุสโซที่เสนอหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากหลักการของรุสโซแล้ว หากประชาชนได้มารวมกันก็จะกลายเป็นชาติ (Nation) และหากกล่าวถึงสัญญาประชาคม ซึ่งก็อาจเรียกประชาคมนั้นว่าชาติก็ได้ แล้วแต่ว่าจะมองคำว่าประชาคมนี้เป็นคนๆ หรือปัจเจกชน หรือจะมองโดยรวมๆ กันไป
       ดังนั้น แนวความคิดที่ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ จึงแพร่หลายไปพร้อมกันกับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินี้ ได้ปรากฏเด่นชัดในยุคปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 ซึ่งนักปฏิวัติฝรั่งเศสที่เป็นชนชั้นมั่งมีไม่ยอมรับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของ ประชาชน เพราะเห็นว่าพวกชนชั้นมั่งมีนั้น หากเทียบกับคนทั้งประเทศแล้วมีจำนวน นับเป็นส่วนน้อย ถ้าหากให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันแล้ว ตัวแทนของตนก็อาจจะไม่ได้รับเลือก หรือได้รับเลือกน้อยเป็นเงาตามตัวไปด้วย ดังนั้น พวกชนชั้นมั่งมีจึงไม่ยอมรับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นักปรัชญาคนสำคัญที่ได้เสนอแนวความคิดนี้คือ ซีเอเย่ส์ (Sieyes) ซึ่งได้เสนอแนวความคิดที่ว่า แม้ว่ารัฐจะประกอบด้วยประชาชน แต่เมื่อประชาชนได้มาอยู่รวมกัน ก็ย่อมก่อให้เกิดสภาวะแห่งชาติขึ้น ซึ่งเป็นเอกเทศจากประชาชนแต่ละคน ชาตินี้เองที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหาใช่เป็นของประชาชนไม่ ชาติมีสถานะพิเศษซึ่งประกอบด้วย ประชาชนที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ประชาชนที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต และประชาชนที่เสียชีวิตไปแล้ว ซีเอเย่ส์ ยังได้อธิบายว่า อำนาจอธิปไตยเป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ (Indivisible) เพราะฉะนั้นประชาชนแต่ละคนจึงไม่ได้เป็นเจ้าของในหนึ่งส่วนของอำนาจอธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้ว การรวมตัวของประชาชนนั้น เป็นการรวมตัวกันในนามของชาติ และชาตินั้นเอง เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ซีเอเย่ส์ จึงมองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติไม่ได้เป็นของประชาชน
       แนวความคิดของซีเอเย่ส์ นี้ปรากฏในข้อ 3 ของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศสว่า “อำนาจอธิปไตยทุกชนิดเป็นของชาติ องค์กรใดหรือบุคคลใดจะใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ได้มาจากชาติหาได้ไม่” เป็นการยืนยันในหลักทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนไม่มีความสำคัญ แต่แท้ที่จริงแล้วอำนาจอธิปไตยก็ยังเป็นของประชาชนอยู่ แต่เป็นประชาชนที่รวมตัวกันภายใต้แนวคิดของชาตินั่นเอง จากแนวคิดที่เชื่อว่าชาติมีสภาพบุคคลต่างหากจากประชาชน และเมื่อชาติเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ประชาชน อำนาจเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ชาติมอบให้แก่ประชาชน ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีหน้าที่เลือกผู้แทนของชาติ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิใช่สิทธิ ชาติจึงมีสิทธิที่จะมอบอำนาจการเลือกตั้งให้แก่ประชาชนที่เห็นว่าเหมาะสมได้
       จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งสองทฤษฎี อาจพอสรุปข้อแตกต่างที่เกี่ยวกับการออกเสียงเลือกตั้งได้ว่า ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้น มองว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิซึ่งจะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ แต่ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินั้น มองว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ชาติมอบให้แก่ประชาชน การเลือกตั้งจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องกระทำเพื่อชาติ
       
       2. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยกับการเลือกตั้งในประเทศไทย
       
       2.1 ข้อพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย
       ประเทศไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพุทธศักราช 2475 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 นั้น ได้มีการบัญญัติยอมรับให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ต่อมารัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกซึ่งได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 2 ได้บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชามสยาม…” และนับจากนั้นเป็นต้นมา ถ้อยคำที่ว่า อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน หรือถ้อยคำที่ว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนนั้น ก็ได้บัญญัติต่อมาในรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับ มีเพียงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรพุทธศักราช 2517 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 เท่านั้นที่ใช้ถ้อยคำว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แม้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการโต้แย้งการใช้ถ้อยคำ “เป็นของ” และ “มาจาก” จาก 2 ฝ่าย ซึ่งพอจะสรุปเหตุผลของทั้งสองฝ่ายได้ดังนี้
       - ฝ่ายที่เห็นว่าจะต้องใช้ถ้อยคำว่า “เป็นของ” เพราะการใช้ถ้อยคำ เป็นของ นั้น เป็นการเน้นถึงตัวอำนาจอธิปไตยนั้นเอง ส่วนคำว่า มาจาก มุ่งเน้นถึงการใช้อำนาจและนอกจากนี้ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ แต่ในปัจจุบันนั้นเป็นของประชาชน
       - ฝ่ายที่เห็นว่าควรใช้ถ้อยคำว่า “มาจาก” นั้นได้ให้เหตุผลว่า คำว่า เป็นของ นั้น เป็นถ้อยคำในกฎหมายเอกชน ถือเป็นกรรมสิทธิ์ ดังนั้น จึงอาจถูกแย่งชิงเอาไปได้ แต่ถ้า มาจาก นั้น แย่งชิงไปไม่ได้ ต้องมาจากประชาชนเท่านั้น และยังเป็นการแสดงถึงความถูกต้องชอบธรรมของอำนาจอธิปไตย
       จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงพอกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมีการใช้ถ้อยคำ “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ก็เป็นเพียงการให้ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ ทำให้ประชาชนมีความ รู้สึกหวงแหนมากขึ้นเท่านั้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเพียงเหตุผลในทางจิตวิทยาเท่านั้น 2 ผู้เขียนจึงเห็นว่า ไม่ว่าจะมีการใช้ถ้อยคำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หรือมาจากประชาชน ก็เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดของรุสโซทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเป็นผลตามมาก็คือ การเลือกตั้งผู้แทนนั้นย่อมเป็นสิทธิของประชาชน ที่ประชาชนจะไปใช้สิทธินั้นหรือไม่ก็ได้
       
       2.2 ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
       ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540นั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนตลอดมา ซึ่งก็นับว่าสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยได้ยอมรับในหลักทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ตามแนวความคิดของรุสโซ มาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการ ปกครอง 2475 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติในมาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน...” และได้กำหนดไว้ในมาตรา 68 ว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ซึ่งก็คือการกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนนั่นเอง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งเป็นการขัดแย้งทางทฤษฎีและหาเหตุผลในทางทฤษฎีรองรับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ควรจะพิจารณาถึงข้อนี้ด้วย หากมีแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแล้ว การเลือกตั้งก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ แต่หากมีแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ การเลือกตั้งจึงจะเป็นหน้าที่ ที่ประชาชนจะต้องทำเพื่อชาตินั่นเอง ไม่ใช่ว่า บัญญัติไว้ชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับบัญญัติบังคับให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันเองในตัว
       แม้ว่าจะเป็นเป็นเพียงข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ก็ไม่ควรที่จะถูกมองข้ามไป เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทนนั้น อำนาจอธิปไตย และการเลือกตั้งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น ควรที่จะบัญญัติให้สอดคล้องกัน มีเหตุผลในทางทฤษฎีที่รองรับได้นั่นเอง
       
       3. สรุป
       ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในทางผู้แทนนั้น การเลือกตั้ง ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้นมีอยู่สองทฤษฎี คือ ทฤษฎีที่ถือว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิ ซึ่งมีที่มาจากทฤษฎีที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ของ ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ซึ่งถือว่าประชาชนทุกคนในรัฐ มีส่วนในอำนาจอธิปไตยเท่าๆกัน การออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิส่วนตัวของทุกคน ดังนั้น จึงสามารถใช้ดุลพินิจเลือกที่จะไปออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ โดยที่ไม่อาจมีใครบังคับได้ และทฤษฎีที่สองคือทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ตามแนวความคิดของ ซีเอเย่ส์ (Sieyes) ซึ่งถือว่าชาติเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหาใช่ประชาชนไม่ การออกเสียงเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ชาติมอบให้แก่คนในรัฐ ด้วยเหตุนี้การไปออกเสียงเลือกตั้งของคนในรัฐจึงเป็นหน้าที่ และเมื่อถือว่าเป็นหน้าที่แล้วจึงสามารถที่จะบังคับให้ไปออกเสียงเลือกตั้งได้
       ในประเทศไทยนั้นนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อเนื่องมา โดยอาจจะใช้ถ้อยคำว่าอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนบ้าง อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนบ้าง แต่ในส่วนของการเลือกตั้งนั้น ก็ได้กำหนดให้การออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนซึ่งจะไปใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่กลับกำหนดให้การออกเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องและขาดเหตุผลในทางทฤษฎีรองรับ เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ จึงควรที่จะหยิบยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นมาทบทวนและแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป เพราะในเมื่อประเทศไทยได้ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การกำหนดให้การออกเสียงเลือกตั้งเป็นหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงควรกำหนดให้การออกเสียงเลือกตั้งนั้น เป็นสิทธิของประชาชนเท่านั้น มิได้เป็นหน้าที่อีกต่อไป
       
       ---------------------------------------------------------------------------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1028
เวลา 1 พฤษภาคม 2567 02:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)