ครั้งที่ 86

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมสนใจกับข่าวอยู่สองข่าวที่เกิดขึ้นและมีประเด็นให้คิดอยู่หลายประการ โชคดีที่ข่าวทั้งสองข่าวที่ผมสนใจไม่เกี่ยวกับ “ท่านผู้นำ” ก็เลยทำให้ผม “หลุดรอด” จากการเป็นพวก “ขาประจำ” ไปได้ มีแฟน ๆ หลายคนเตือนมาด้วยความเป็นห่วงว่าจะ “เดือดร้อน” ด้วย หากผม “วิพากษ์” ท่านผู้นำของเราตลอดเวลาครับ จริง ๆ ก็ไม่อยากจะไปยุ่งอะไรกับท่านมากมายเท่าไหร่นักหรอกครับ ที่ท้วง ที่ติงไปบ่อย ๆ ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ประโยชน์สาธารณะ” (public interest) ทั้งนั้นและก็เป็นการทำหน้าที่ของนักกฎหมายมหาชนที่ดีคนหนึ่งเท่านั้นเองครับ
       ข่าวแรกที่น่าเบื่อเสียเหลือเกินสำหรับผมก็คือ ข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อให้เป็นพรรคที่ 3 หรือ พรรคทางเลือกที่ 3 ครับ เมื่อผมดูข่าวแล้วก็อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องพรรคการเมืองใหม่ก็รู้สึก “ใจหาย” เสียเหลือเกินครับว่า เมืองไทยถึงทางตันแล้วหรือ ทำไมพรรคทางเลือกใหม่ถึงได้หน้าตาแบบนั้นไปได้ก็ไม่รู้นะครับ เพราะจริง ๆ แล้ว แนวความคิดของพรรคการเมืองที่ 3 เป็นแนวความคิดที่ดีและเหมาะสมที่สุดอีกแนวความคิดหนึ่งที่ “บิดาแห่งกฎหมายมหาชน” ของไทยคือ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้นำเสนอไว้ในหลาย ๆ ที่ เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2545 แต่ที่มาเป็นที่สนใจของคนมากที่สุด ก็เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ท่านอาจารย์อมรฯ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า การปฏิรูปการเมืองของไทยเราล้มเหลวเนื่องมาจากองค์กรและกลไกต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองของเราได้สร้างขึ้นนั้น ไม่สามารถเป็นเครื่องมือนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ แถมยังทำให้ระบบการเมืองแบบอุปถัมภ์พลิกผันไปเป็นระบบการเมืองเชิงธุรกิจที่มีผู้นำที่ผูกขาดอำนาจอยู่แต่เพียงผู้เดียว ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอาจารย์อมรฯ จึงได้เสนอแนวคิดว่า สมควรที่จะทำการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านก็ได้เสนอให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ 3 ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง โดยพรรคการเมืองที่ 3 ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้จะต้องมี “นโยบาย”ที่สำคัญ 5 ประการคือ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540) เพื่อจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยองค์กรดังกล่าวควรประกอบด้วย คณะบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมือง ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจากแนวความคิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อสร้างระบบสถาบันการเมืองและระบบบริหารของประเทศที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย จากนั้นจะต้องให้ราษฎรของประเทศออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนั้น 2. ทบทวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคและแปลงสัญญาสัมปทานที่มีลักษณะผูกขาด เพื่อให้มีการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ 3. ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นโดยการตรากฎหมายเพื่อปรับองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ปราบปรามคอรัปชั่นใหม่ มิให้องค์กรเหล่านั้นขึ้นอยู่กับการสั่งการของนักการเมือง 4. ทบทวนนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนเฉพาะกลุ่ม แต่จะเป็นผลเสียแก่ประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมในระยะยาว และ 5. ทบทวนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคใหม่ โดยให้คนมีเงินต้องจ่ายเงิน ส่วนคนไม่มีเงินก็ไม่ต้องจ่าย พรรคการเมืองที่ 3 ที่จะจัดตั้งขึ้นมานี้ ท่านอาจารย์อมรฯ ได้เสนอว่า ต้องจัดตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อทำตามนโยบายต่างๆ ทั้ง 5 ข้อ ที่กล่าวไปแล้วเท่านั้น โดยมิได้มีเป้าหมายเพื่อการเป็นรัฐบาลเสียเอง เมื่อพรรคการเมืองที่ 3 ได้เข้ามาสู่อำนาจก็จะเร่งดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเป็นกุญแจไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 เมื่อทำสำเร็จแล้วก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะ “สานต่อ” การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ด้วยการดำเนินการตามกระบวนการที่ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ได้วางไว้ แนวความคิดของพรรคการเมืองที่ 3 ของท่านอาจารย์อมรฯ จึงเป็นแนวความคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาการเมืองทั้งระบบ ในวันนี้ เราคงได้ยินข่าวการตั้งพรรคการเมืองที่ 3 กันแล้วจากสื่อทั้งหลาย โดยรวมแล้วน่าจะถือได้ว่ามีคนสนใจเรื่องพรรคการเมืองที่ 3 หรือพรรคทางเลือกใหม่กันมาก และก็เข้าใจกันว่าเป็นพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็น “ทางเลือกอื่น” ของผู้ที่ไม่ชอบไทยรักไทยหรือประชาธิปัตย์ ผมจึงค่อนข้างผิดหวังและเสียใจอยู่มากที่ “ผลงาน” ดี ๆ ของนักวิชาการคนหนึ่งถูก “บิด” ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง พรรคใหม่นี้คงไม่ได้เข้ามาเพื่อปฏิรูปการเมืองรอบ 2 เพื่อแก้ปัญหาของประเทศแน่ ๆ แต่หากเดาไม่ผิด คงเข้ามาเป็น “พรรคอะไหล่” ที่ใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ข้าพเจ้าก็จะเข้าร่วมด้วย !!! แสนสงสารประเทศไทยครับ แต่ก็ไม่เป็นไร ในวงวิชาการก็ยังคงเห็นสอดคล้องกันอยู่ถึงแนวความคิดในเรื่องการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 โดยพรรคทางเลือกที่ 3 ครับ และก็คงจะหาทางผนึกกำลังเท่าที่จะทำได้เพื่อผลักดันสิ่งที่เราคาดหวังไว้ให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไปครับ
       ข่าวที่สองที่ผมให้ความสนใจในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เป็นข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 ที่วินิจฉัยว่ากระบวนการเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่น่าจับตามองว่า จะมีการทำอย่างไรต่อไปกับปัญหาดังกล่าว เพราะในเมื่อกระบวนการเลือกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน แต่อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงสมควรติดตามดูว่าจะเกิดอะไรต่อไป เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้นมิได้ให้ทางออกในเรื่องนี้ไว้ แล้วก็ไม่มีผลเป็นการ “สั่งการ” ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่ง การออกจากตำแหน่งจึงเป็นที่จะต้องเกิดจากการ “ลาออก” ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเอง หรือจะถือว่าพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่ากระบวนการเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก่อนจะจบเรื่องนี้ก็ขอฝากไว้อีกประเด็นหนึ่งนะครับว่า คงต้องจับตาดูให้ดีว่าผู้ที่จะได้รับการ “คัดเลือก” มาเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่จะเป็นใคร เพราะหากเป็น “สีเทา” ล่ะก็ ระบบตรวจสอบที่ดีอีกหนึ่งระบบก็จะหายไปครับ !!! หนังสือรวมบทความกฎหมายมหาชนจาก www.pub-law.net เล่ม 3 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้กรุณาจัดพิมพ์ให้จำนวน 1,000 เล่ม ก็แจกหมดไปแล้วนะครับ ผมก็คงต้องบอกว่าดีใจที่มีผู้สนใจและสนับสนุนการดำเนินงานทางวิชาการของผมอย่างสม่ำเสมอครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความเพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย” ของ ดร.เชาวนะ ไตรมาศ จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=103
เวลา 29 เมษายน 2567 20:50 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)