ครั้งที่ 155

5 มีนาคม 2550 00:44 น.

       ครั้งที่ 155
       สำหรับวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2550
       
       “การสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง”
       
       ผมไม่รู้สึกแปลกใจที่ได้ยินข่าวการลาออกของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย คงจำกันได้ว่า หลังการรัฐประหารใหม่ ๆ บุคคลผู้นี้มีชื่ออยู่ในตำแหน่งของผู้ที่จะ “ได้รับเชิญ” มาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย และเมื่อบุคคลผู้นี้ประกาศว่าจะเข้าร่วมรัฐบาล ก็มีกระแสตอบรับอย่างดีจากทั้งในและนอกประเทศ ถือกันได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้าง “หน้าตา” ให้กับรัฐบาลนี้เป็นที่สุด แต่ในวันนี้ ท่ามกลางมรสุมและความอึมครึมหลาย ๆ อย่าง บุคคลดังกล่าวจึงกลายเป็น “คนแรก” ที่ลาออกจากรัฐบาลครับ
       อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการลาออกนั้น คงไม่มีใครรู้ดีเท่าเจ้าตัวครับ แต่สำหรับคนนอกเช่นผม ผมมองมาหลายเดือนแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ทำงานไม่ได้ครับ! นอกจากการขาด “ภาวะผู้นำ” ของนายกรัฐมนตรีแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้ที่นอกจากรัฐบาลนี้จะแก้ไม่ได้แล้ว ยังรุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุมล้อมอย่างหนัก ปัญหาจากความไม่พอใจของคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของรัฐบาลและรัฐมนตรีบางคน ปัญหาที่เกิดจากการรัฐประหารอันนำมาสู่ปัญหา “ความชอบธรรม” ของรัฐบาลชุดนี้ ฯลฯ ทุกปัญหาล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรหรือแก้ปัญหาอะไรได้เลยครับ การที่นายกรัฐมนตรีก็ออกมาพูดอยู่เสมอถึง ธรรมาภิบาล สุจริต โปร่งใส ฯลฯ ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศได้เพราะในเวลานี้ เราต้องการรัฐบาลที่สามารถพาประเทศกลับไปสู่จุดเดิมที่เป็นอยู่ก่อนการรัฐประหารได้ครับ วันนี้เกิดข้อเปรียบเทียบอย่างมากระหว่างนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” 2 คนที่มาจากการรัฐประหารคือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน กับ อดีตนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2534 คือ คุณอานันท์ ปันยารชุน ที่คนหลังนอกจากจะมีภาวะผู้นำอย่างมากแล้ว ยังกล้าคิด กล้าพูดและกล้าทำอีกด้วยครับ ทำอย่างไรจึงจะได้ “คุณอานันท์ฯ” กลับมากู้วิกฤตของประเทศในครั้งนี้ เพราะดู ๆ แล้วรัฐบาลชุดนี้ไม่น่าจะทำอะไรให้ประเทศชาติได้มากนัก แม้นายกรัฐมนตรีจะปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เอาคนไม่มีผลงานออก (ซึ่งอาจส่งผลทำให้ต้องออกเกือบทั้งคณะรัฐมนตรีก็ได้ครับ!!!) แต่ปัญหาก็ยังอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีอยู่ดีครับ ยังขืนอยู่ต่อ บริหารประเทศต่อ ไม่ใช่รัฐบาลเท่านั้นที่ไปไม่รอด ประเทศชาติคงไม่รอดด้วยครับ!!!
       เมื่อพูดถึงรัฐบาลไปแล้วก็อดพูดถึงคณะรัฐประหารไม่ได้ ความผิดพลาดของ คมช.ที่สำคัญที่สุดนอกเหนือไปจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็คือ การกำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และวางกลไกในการจัดทำประชามติเอาไว้ด้วย ระเบิดเวลาลูกต่อไปของการเมืองไทยจะอยู่ที่การประชามติครับ ทำยังไงถึงจะ “แก้” หรือ “เลิก” รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ได้ครับ ขืนปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างนี้ต่อไป ปล่อยให้มีการออกเสียงประชามติ เชื่อได้ว่าน่าจะมีปัญหาใหญ่ตามมาแน่นอนครับ!!! ผมได้พูดไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อน ๆ ว่า ให้ระวังให้ดีว่า การออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่การออกเสียงประชามติเพื่อ “เอา” หรือ “ไม่เอา” ร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะถูก “เปลี่ยนประเด็น” ให้กลายเป็น “เอา” หรือ “ไม่เอา” รัฐบาลกับ คมช.ครับ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แล้วผลของการออกเสียงประชามติออกมาเป็น “ไม่เอา” พวกท่านจะ “หาทางลง” อย่างไรกันครับ!!!
       กลับมาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญกันดีกว่า สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็ก ๆ ข่าวหนึ่งซึ่งผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจกันเท่าไรนัก แต่สำหรับผมแล้วถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร นั่นก็คือ ข่าวของการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ “สาย คมช.” คนหนึ่ง เป็นเวลา 40 เดือน ในกรณีความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค
       ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพราะก่อนที่จะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะระดับศาสตราจารย์เท่านั้นที่จะเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ หรือในกรณีผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คนที่ คมช.แต่งตั้งซึ่งก็ได้ให้ข่าวล่วงหน้ามานานมากว่าจะเลือกคนดีมีความเหมาะสม ไม่น่าเชื่อจริง ๆ ว่า คมช.เลือกคนดีที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วยวิธีใดจึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา ก็ต้องขอแสดงความ “เสียใจ” ต่อความ “ไม่รอบคอบ” ของ คมช.ไว้ ณ ที่นี้ด้วย!
       เมื่อพูดถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็คงต้องพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันต่อ ผมได้เคยวิเคราะห์วิจารณ์ไปหลายครั้งแล้วถึง “คุณสมบัติ” และ “วิธีการ” ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน แถมบางคนยังมีแนวความคิด “แปลก ๆ” ออกมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ข้าราชการสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้เหมือนพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ๆ ที่สามารถนัดหยุดงานได้โดยไม่ถูกไล่ออก ความคิดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ขาดความเข้าใจพื้นฐานด้านกฎหมายมหาชน เพราะโดยปกตินั้น นักกฎหมายมหาชนย่อมทราบดีว่า หลักว่าด้วยความต่อเนื่องของรัฐและความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะโดยรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการดำรงอยู่ของรัฐ เมื่อใดก็ตามที่ข้าราชการนัดหยุดงานได้ ความต่อเนื่องของรัฐและความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะก็จะถูกกระทบ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นครับ ก็สนุกดีนะครับ ต่างคนก็ต่างเสนออะไรก็ไม่รู้ที่ตัวเอง “คิดได้” ออกมาให้สาธารณชนได้รับทราบ ก็อย่างที่ผมได้เคยกล่าวไปหลายหนแล้วว่า ข้อเสนอทั้งหลายจะต้องมี “ฐานข้อมูลทางวิชาการ” สนับสนุนครับ ก่อนจะเสนออะไรออกมาต้องดูก่อนว่ามีเหตุผลอะไร ซึ่งเหตุผลจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องผ่านการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบก่อนครับ
       ข้อเสนอข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ข้อเสนอเกี่ยวกับการควบคุมการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองและการสนับสนุนพรรคการเมือง อย่าถือว่าเป็นการ “สอนมวย” เลยนะครับ ข้อเสนอเหล่านี้ผมเคยทำวิจัยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 แล้ว ในหัวข้อ การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง : ศึกษากรณีบทบาทและการสนับสนุนพรรคการเมือง นอกจากผมแล้วก็ยังมีนักวิชาการอื่นที่ทำวิจัยในหัวข้อใกล้เคียง เช่น หัวข้อแนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินและประโยชน์อื่นจากรัฐและเอกชนแก่พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากนี้ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในหัวข้อลักษณะเดียวกันนี้ด้วยครับเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่า แหล่งที่มาของเงินทุนในการสนับสนุนการเลือกตั้งในต่างประเทศนั้นเป็นอย่างไร
       เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคการเมืองเป็นศูนย์รวมของบุคคลทุกสาขาวิชาชีพที่เข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมืองมี “ความจำเป็น” ที่จะต้องใช้เงินมากในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เริ่มตั้งแต่ค่าใช้จ่ายของบุคลากรซึ่งก็มีจำนวนมาก สถานที่ทำการของพรรคการเมือง การประชาสัมพันธ์กิจกรรมของพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลาที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง เช่น ค่าแผ่นปลิวโฆษณา ค่าเช่าเวลาออกอากาศสถานีวิทยุโทรทัศน์ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมหาเสียง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบประชาชนในที่ต่าง ๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมาก จึงเห็นได้ว่า พรรคการเมืองมีรายจ่ายค่อนข้างมาก ซึ่งหากพรรคการเมืองนั้นไม่มี “ทุน” ของตัวเองก็จำเป็นต้องหาเงินสนับสนุนช่วยเหลือในการทำกิจกรรมทางการเมืองจากแหล่งอื่น มีหลาย ๆ ประเทศที่ให้ความสนใจกับเรื่องการเงินของพรรคการเมือง เพราะต่างก็เกรงว่า เมื่อนักการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งจะเกิดการ “ถอนทุน” กันขึ้น ด้วยเหตุนี้เองที่บางประเทศได้กำหนดให้รัฐให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง บางประเทศก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีระบบ ในที่นี้จะขอเล่าให้ฟังถึงกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสโดยในฝรั่งเศสมีกฎหมายเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญ 4 ประการคือ เปิดเผยแหล่งที่มาของเงินอุดหนุน จำกัดเพดานค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง การแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการควบคุมตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งทุก ๆ เรื่องก็มีสาระสำคัญมากมายในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจะขอนำเสนอเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองคือ เรื่องการสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ครับ
       ปัจจุบันฝรั่งเศสมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กฎหมายที่สำคัญมีอยู่สองฉบับคือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.1998 และกฎหมายลงวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.2003
       กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.1998 และกฎหมายลงวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.2003 เกี่ยวกับความโปร่งใสทางการเงินของการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้บัญญัติถึงแหล่งที่มาของเงินทุนสนับสนุนการเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศสไว้ว่า มาจาก 3 แหล่งที่สำคัญคือ จากรัฐ จากเอกชน และจากเงินค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมือง
       เงินทุนสนับสนุนการเลือกตั้งจากรัฐ รัฐมีหน้าที่สำคัญในการให้การสนับสนุนทางการเงินเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใน 2 กรณีด้วยกัน กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐจัดสรรเงินให้โดยตรงแก่พรรคการเมืองโดยพิจารณาให้เงินตามสัดส่วนจากผลการเลือกตั้งทั่วไปของสมาชิกรัฐสภาและต้องเป็นพรรคการเมืองที่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันตามจำนวนเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายปี ค.ศ.1993 ได้กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐจะต้องส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งจำนวน 50 เขตเลือกตั้งขึ้นไป แต่ต่อมากฎหมายปี ค.ศ.2003 ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขเข้าไปอีกว่า พรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50 เขตเลือกตั้งและผู้สมัครของพรรคการเมืองในแต่ละเขตจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ด้วย จึงจะได้เงินอุดหนุนจากรัฐ ส่วนกรณีที่สองเป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่พรรคการเมืองที่มีที่นั่งในรัฐสภาโดยเฉพาะ โดยคำนวณตามสัดส่วนจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ได้แจ้งไว้ต่อสำนักงานเลขาธิการของแต่ละสภาในวันเปิดสมัยการประชุมสามัญประจำปีสมัยแรกว่าตนสังกัดอยู่พรรคการเมืองใด
       นอกจากนี้แล้ว รัฐยังจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในลักษณะเหมาจ่ายอีก 1 ใน 10 ของค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น ผู้ที่จะได้รับเงินชดเชยจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
       เงินทุนสนับสนุนการเลือกตั้งจากเอกชน กฎหมายปี ค.ศ.1998 บัญญัติรับรองให้การบริจาคเงินอุดหนุนพรรคการเมืองเป็นแหล่งรายได้ที่ถูกต้องตามกฎหมายแหล่งหนึ่งของพรรคการเมือง แต่เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้บริจาคเงินรายใดรายหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ กฎหมายจึงได้วางเพดานในการบริจาคเงินเอาไว้ เช่น ในส่วนของการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองนั้น มีการห้ามนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาบริจาคเงินเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดและยังกำหนดไว้ให้การบริจาคต้องทำเป็นเช็คด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีข้อห้ามมิให้นิติบุคคลในกฎหมายมหาชน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นิติบุคคลที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพนัน นิติบุคคลในกฎหมายต่างชาติและรัฐอื่น บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองด้วย ส่วนการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือในกรณีที่เป็นนิติบุคคลในกฎหมายเอกชนนั้น กฎหมายก็จะห้ามบริจาคเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนเงินสูงสุดที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง (ซึ่งก็มีกฎหมายควบคุมเพดานในการใช้จ่ายเงินสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งไว้เช่นกัน) แต่อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 เป็นต้นมา กฎหมายลงวันที่ 19 มกราคม ค.ศ.1995 ก็ได้ห้ามนิติบุคคลในกฎหมายเอกชน ซึ่งก็คือ บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ บริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง โดยมีเหตุผลสำคัญคือ การให้นิติบุคคลในกฎหมายเอกชนบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้ เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นตามมา กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อ “ตัด” ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมืองออกจากกัน
       นอกจากนี้แล้ว ประเทศฝรั่งเศสยังมีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับบริจาคเงินจากเอกชนไว้อีก คือ เมื่อเอกชนบริจาคให้พรรคการเมือง พรรคการเมืองจะต้องออกใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อผู้บริจาคและจำนวนที่บริจาคในแต่ละครั้งด้วย ใบเสร็จรับเงินนี้รัฐจะเป็นผู้จัดทำให้โดยมีต้นขั้วที่ระบุหมายเลขที่ตรงกับใบเสร็จ นอกจากนี้แล้วพรรคการเมืองยังต้องจัดทำบัญชีรับเงินบริจาคเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบด้วย
       เงินค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมือง มีที่มาจากสองแหล่งที่สำคัญคือ จากค่าบำรุงสมาชิกสามัญทั่วไปและจากเงินสมทบของสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยในส่วนของค่าบำรุงสมาชิกสามัญทั่วไปนั้น พรรคการเมืองจะเก็บเงินค่าบำรุงได้มากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกเป็นสำคัญ ส่วนเงินค่าบำรุงพรรคที่เรียกเก็บจากสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ที่ผ่านมามีบางพรรคการเมืองโอนเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้มาเข้าเป็นเงินได้ของพรรคการเมือง และสมาชิกผู้นั้นจะได้รับเงินเดือนจากพรรคการเมืองโดยตรง ซึ่งวิธีหลังนี้ก็ไม่เป็นที่นิยมทำกันนักครับ
       จริง ๆ แล้ว ยังมีรายละเอียดอีกมากและก็มีหลาย ๆ ประเทศในโลกที่มีกติกาเช่นว่านี้ แต่เพื่อไม่ให้บทบรรณาธิการครั้งนี้ยาวเกินไป (เช่นครั้งที่แล้ว) ผมก็ขอนำเสนอไว้คร่าว ๆ แต่เพียงเท่านี้ก่อน พอให้เห็นภาพว่า การศึกษาเปรียบเทียบเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญครับ
       ในส่วนของแนวคิดเรื่องการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งของฝรั่งเศสที่เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้น “น่าจะ” นำมาปรับใช้กับกรณีของประเทศไทยได้ เพราะที่ผ่านมาเรามีปัญหาสำคัญเกิดขึ้นคือ “ผู้ใกล้ชิด” หัวหน้าพรรคการเมืองบริจาคเงินให้พรรคการเมืองจำนวนมากจนทำให้พรรคการเมืองกลายเป็น “สมบัติส่วนตัว” และนอกจากนี้ก็ยังมีนักธุรกิจหลายคนที่บริจาคสนับสนุนด้วยเงินจำนวนมากเพื่อที่จะให้ตนมีตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการสร้างความเป็นเจ้าของพรรคการเมืองให้กับนายทุน สมควรวางเกณฑ์ให้ชัดเจน โดยดูว่าควรให้นิติบุคคลบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้หรือไม่เป็นประการแรก ประการต่อมา ควรกำหนด “เพดาน” ในการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองซึ่งไม่ควรให้สูงเกินไป ควรสร้าง “หลักฐาน” ที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคและการรับบริจาคเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งควรวางกลไกในการตรวจสอบการบริจาคและการรับบริจาคให้ดีด้วย นอกจากนี้ หากอนุญาตให้นิติบุคคลบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ สมควรวางเกณฑ์ไม่ให้นิติบุคคลนั้นเข้ามาเป็น “คู่ค้า” กับรัฐในวันข้างหน้าด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่จะตามมาครับ ทั้งหมดนี้คงถือได้ว่าเป็น “ข้อเสนอ” ในการยกร่างรัฐธรรมนูญจากผมแล้วกันครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมาเสนอ 4 บทความ เริ่มจากบทความลักษณะ “มหากาพย์” ของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่เขียนเรื่อง “Old paradigm-กระบวนทัศน์เก่า ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน(ค.ศ.2006)” บทความของ ดร.บุปผา อัครพิมาน แห่งสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง “ผลของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามระบบกฎหมายฝรั่งเศส” บทความเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทย สมควรมีอยู่หรือไม่” โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และบทความเรื่อง “การลงคะแนนเสียงถอดถอนนายก อบต.ก้าวแรกของท้องถิ่นไทย ในการสร้างอำนาจทางการเมืองภาคประชาชน” ของ คุณชรินทร์ สัจจามั่น แห่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 4 ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ส่วนผู้ที่ส่งบทความมาแล้วยังไม่ได้ลงก็ขอติดไว้เป็นคราวหน้านะครับ เพราะคราวนี้เรามีบทความถึง 4 บทความแล้วครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2550
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1062
เวลา 20 เมษายน 2567 09:22 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)