ข้อควรคำนึงในการร่างรัฐธรรมนูญ โดย คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

18 มีนาคม 2550 22:02 น.

       รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง ดังที่ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่มาแห่งอำนาจของกฎหมายทั้งปวง กฎหมายอื่นจึงขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ หากแม้นกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับข้อความในรัฐธรรมนูญ กฎหมายในส่วนนั้นย่อมเป็นอันสิ้นผลใช้บังคับมิได้
       
       จากข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ข้อความใดๆก็ตาม เมื่อถูกบัญญัติเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะกฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งกับข้อความนั้นมิได้ ดังนั้น ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้ง จึงจะเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ต่างๆจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันใส่ข้อความที่ตนต้องการลงไปในรัฐธรรมนูญ ทั้งภาคประชาชน หรือ ในกลุ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง
       
       รัฐธรรมนูญนั้น คือ กติกาของทุกคนในสังคมๆหนึ่งที่จะอยู่ร่วมกัน เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่สำคัญจะแสดงให้เห็นอุดมการณ์ทางการเมือง โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยต่างๆ กับ ประชาชน และกับองค์กรด้วยกันเอง โดยจะระบุว่าจะมีการใช้อำนาจได้แค่ไหน เพียงไร มีการตรวจสอบการใช้อำนาจเพียงใด และจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพคนในสังคมนั้นเท่าไร จะเห็นได้ว่าประเทศไหนจะมีการปกครองแบบใด ประชาชนมีสิทธิหน้าที่อย่างใดนั้น นอกจากวัฒนธรรมทางการเมืองแล้ว ล้วนขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
       
       นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังเป็นเจตนารมณ์ร่วมของคนในชาติ ข้อความใดที่ใส่ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแสดงว่าเป็นเจตนาของคนในชาติ และอาจก่อให้เกิดความไม่พอใจจากคนบางกลุ่มได้ อาทิ การบัญญัติศาสนาประจำชาติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆประเทศ การบัญญัติสิทธิของผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการพิจารณาว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดฉบับนี้
       
       เมื่อรัฐธรรมนูญมีความสำคัญเช่นนี้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายที่ต้องแก้ไขด้วยวิธีที่พิเศษกว่ากฎหมายทั่วไป ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่า ต้องมีประชาชนหรือผู้แทนประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากกว่ากฎหมายทั่วไป ใช้เวลาและความถี่ถ้วนในการพิจารณา เพื่อให้กติกานี้มีความมั่นคงแน่นอน ไม่กลับไปกลับมาได้ง่ายจนประชาชนผู้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญต้องสับสน ทำให้การจะใส่ข้อความใดๆลงไปในรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากจะแก้ไขใดๆในภายหลังได้ยากยิ่ง
       
       นอกจากนี้ การบัญญัติสิ่งใดลงในรัฐธรรมนูญมากเกินไปจนถึงขั้นรายละเอียดนั้นเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ เพราะลักษณะของกฎหมายที่ดีอย่างหนึ่ง คือ บัญญัติหลักการไว้กว้างๆ และให้รายละเอียดออกมาเป็นกฎหมายลูกซึ่งออกได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนแปลงไป รายละเอียดต่างๆที่ไม่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปย่อมเป็นอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย หากรายละเอียดเหล่านั้นอยู่ในกฎหมายลูกแล้ว ย่อมทำให้การแก้ไขรายละเอียดเหล่านั้นเพื่อกลับมาบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมง่ายดายขึ้น โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายแม่
       
       ตัวอย่างอันดี คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งต้องการปฏิรูปการเมืองให้ประเทศไทยก้าวหน้าพ้นจากวัฒนธรรมทางการเมืองเก่าๆ จึงได้บัญญัติหลักการใหม่ ทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจ รวมถึงสิทธิเสรีภาพมากมายลงในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าหลักการเหล่านั้นจะได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญนั้นลงลึกในรายละเอียดพอสมควร และเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลกด้วยจำนวน ๓๓๖ มาตรา แม้ในบางกรณีรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจให้รัฐสภาออกกฎหมายลำดับรองมาในส่วนของรายละเอียด แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีรายละเอียดจำนวนมากถูกบัญญัติไว้ในตัวรัฐธรรมนูญเอง และเมื่อรายละเอียดดังกล่าวเกิดไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและการเมืองในขณะนั้นก็ทำให้เกิดความวุ่นวายต่างๆนานาในการหาทางออก อาทิ กรณีกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ เมื่อผู้แทนพรรคการเมืองมีไม่ครบห้าคน เพียงแค่ตัวเลขตัวเดียวเท่านั้นทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องหยุดชะงักลง
       
       เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจึงควรจำกัดลงให้เหลือเพียงหลักการที่สำคัญตามข้างต้น และรายละเอียดที่เหลือให้ออกมาเป็นกฎหมายลำดับรองลงมาแทน ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่อาจบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้
       
       อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถูกจำกัดด้วยกรอบเวลาเพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจของผู้ทำรัฐประหาร ต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีเวลาพิจารณาความคิดเห็นต่างๆของประชาชนได้เต็มที่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถให้ความสนใจเต็มที่กับทุกๆเรื่องที่มีผู้เสนอ เพราะความรีบเร่ง ซึ่งความรีบเร่งนั้นย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดอย่างง่ายดาย ในช่วงเวลาที่มีอยู่จำกัดเช่นนี้ แทนที่จะแบ่งความสนใจไปยังจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ คุณวุฒิของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร อันเป็นการย้อนกลับไปสู่ระบบการเมืองแบบเก่าที่ล้มเหลวตลอดมา จึงควรมุ่งความสนใจหลักไปที่ประเด็นใหญ่ที่สุดในการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา นั่นคือ การตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งโดยตัวเองก็มีประเด็นให้ต้องพิจารณามากมาย อาทิ การสรรหาตัวผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ การประกันความเป็นอิสระขององค์กร และ อำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่สมควรได้รับการพิจารณาแก้ไขอย่างรอบคอบที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างนี้สามารถแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดที่สุด เพื่อให้กติกาสูงสุดในการอยู่ร่วมกันในสังคมฉบับใหม่นี้สามารถป้องกันหรือชะลอเวลาการล้มล้างรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของชาติไทยครั้งใหม่ออกไป


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1063
เวลา 8 พฤษภาคม 2567 22:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)