ครั้งที่ 90

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "ผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม./exit poll"
       ผ่านไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผลการเลือกตั้งอาจ “ถูกใจ” บางคนอย่างมากและในขณะเดียวกันก็คง “สั่นคลอน” ความมั่นใจของบางคนไปได้มากเช่นกันครับ
       หลังวันเลือกตั้ง หนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับต่างก็พากันวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปในทำนองที่ว่า คนกรุงเทพ ฯ “ปฏิเสธ” พรรคไทยรักไทยของ “ท่านผู้นำ” ทั้งนี้ เนื่องมาจากก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ก็มีข่าวออกมาว่าพรรคไทยรักไทยสนับสนุนผู้สมัครคนหนึ่ง ดังนั้นในวันเลือกตั้ง ประชาชนชาวกรุงเทพ ฯ จำนวน 62 % ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดจึงพากันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและเลือกผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านให้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยคะแนนเสียงกว่าเก้าแสนเสียงครับ
       ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ออกไปใช้สิทธิเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และผมเองก็สนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้มาก เพราะผู้สมัครหลายคนต่างก็ “มีชื่อเสียง” ด้วยกันทั้งนั้น คงมีเพียงผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่ “ไม่มีชื่อเสียง” ในวงการเมืองมาก่อนและอาจจัดได้ว่าเป็น “มือใหม่” ในวงการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นของเราครับ
       ผมมองดูชัยชนะของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ด้วยอาการปกติ เพราะผมค่อนข้างมั่นใจว่า ชัยชนะที่ได้รับนี้น่าจะมาจากการเป็น “มือใหม่” ที่อยู่นอกวงการเมืองและเป็นนักธุรกิจปกติธรรมดาคนหนึ่ง จึงไม่มี “ประวัติ” เสียทางการเมืองที่ผู้ใดจะสามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการ “ทำลาย” ได้ ซึ่งผิดกับผู้สมัคร “รายใหญ่” อื่น ๆ ที่แต่ละคนล้วนแล้วแต่มี “แผล” กันทั้งนั้น ดังนั้น “ส่วนหนึ่ง” ของคนกรุงเทพ ฯ จึงลงคะแนนเสียงให้เนื่องจากเป็นผู้ที่น่าจะ “ดูดี” ที่สุดในบรรดาผู้สมัครรายใหญ่ทั้งหลาย นอกจากนี้แล้ว การสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนกรุงเทพ ฯ ตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรค เพราะแม้พรรคประชาธิปัตย์จะมิได้เป็นรัฐบาล แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็ให้การ “ยอมรับ” ความเป็น “สถาบันทางการเมือง” ของพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนนี้ครับ!!! ส่วนที่สื่อทั้งหลายพยายามให้ความเห็นกันว่า การที่คนกรุงเทพ ฯ เลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคฝ่ายค้านถือเป็น “สัญญาณ” ที่ส่งไปถึง “ท่านผู้นำ” ว่า คนกรุงเทพ ฯ ส่วนใหญ่ไม่พอใจรัฐบาลนั้น ผมไม่แน่ใจว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็น “ส่วนสำคัญ” ที่ทำให้เราได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์คนนี้หรือไม่ เพราะเราก็คงจะทราบ ๆ กันดีอยู่แล้วว่า รัฐบาลไม่ได้ส่งผู้สมัครรายใดอย่างเป็นทางการ คงเป็นเพียงแต่ “สนับสนุน” ผู้สมัครบางคนเท่านั้นครับ!!! และนอกจากนี้ หากคนกรุงเทพ ฯ ต้องการแสดงประชามติว่าไม่เอา “รัฐบาล” ก็ควรจะเลือกผู้สมัครอีกรายหนึ่งที่ “ท่านมหา” สนับสนุนอยู่ แล้วก็มีข่าวว่าจะให้เข้ามา “คาน” อำนาจท่านผู้นำครับ!!! แต่อย่างไรก็ดี “ท่านผู้นำ” คงประมาทมากไม่ได้เพราะอีกไม่กี่วันก็จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วครับ และนอกจากนี้ พอมีคน “เริ่มพูด” เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถือเสมือนเป็นการแสดงประชามติของคนกรุงเทพ ฯ ว่า “ไม่เอา” ท่านผู้นำ ก็อาจทำให้ “ความรู้สึก” ดังกล่าวขยายวงกว้างออกไปจนอาจกลายเป็น “ความฝังใจ” ได้ว่าต้อง “ไม่เอา” ท่านผู้นำก็ได้ครับ ระวังหน่อยนะครับ “ท่านผู้นำ”!!!
       ในช่วงก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน ผมสนใจข่าว “เล็ก ๆ” ข่าวหนึ่งกับการที่ กกต. มีคำสั่งห้ามทำ exit poll ครับ!!! บอกว่า คำสั่งของ กกต. ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการห้ามทำการหยั่งเสียงผู้ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งมาแล้วว่า เลือกใคร โดยห้ามทั้งในเขตเลือกตั้งหรือปริมณฑล และก็ห้ามนำผลออกเผยแพร่ระหว่างเวลา 08.00 น.ถึง 15.00 น. ในวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยข่าวกล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวกำหนดโทษทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยครับ
       ผมอ่านข่าวดังกล่าวด้วยความสงสัยว่า กกต. ใช้ “กฎหมาย” อะไรมาเป็นฐานในการออกคำสั่ง เพราะเมื่อผมได้ไปตรวจสอบกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่นำมาใช้กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดูแล้ว ก็ไม่พบว่ามีมาตราใดที่ให้อำนาจ กกต. ในการห้ามทำ exit poll ครับ หากจะนำเอามาตรา 6 คือการเลือกตั้งต้องทำโดยวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ซึ่งคือการที่ผู้ใช้สิทธิเข้าไปกาบัตรในคูหาและหย่อนบัตรลงในตู้ก็คงไม่ได้ เพราะการที่มีผู้ไปสอบถามผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งว่าเลือกใครในภายหลังที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้วนั้นผมเข้าใจว่า พ้นจากการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับไปแล้วเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการออกเสียงไปแล้วครับ!!! และถ้าหากจะเอามาตรา 57 อันเป็นมาตราที่มีบทบัญญัติห้ามการกระทำที่มีลักษณะจูงใจให้มีการลงคะแนนเสียง หรืองดเว้นการลงคะแนนเสียงมาใช้ก็คงไม่ได้ เพราะการทำ exit poll เป็นคนละวัตถุประสงค์กับมาตราดังกล่าว ดังนั้น หากคำสั่งดังกล่าวของ กกต. เป็นเช่นว่า ก็คงเกิดปัญหาตามมาอีกว่า เป็นการออกคำสั่งที่ “เกิน” กรอบอำนาจของตัวเองหรือเปล่าครับ!!! โชคร้ายสำหรับประเทศไทยที่แม้ กกต. จะออกคำสั่งลักษณะนี้ออกมา แต่เราก็คงทำอะไรไม่ได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 52/2546 ถึงการใช้อำนาจของ กกต. ว่าเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นยุติ ไม่อาจถูกตรวจสอบได้ครับ!!!
       จริง ๆ แล้วผมเคยเขียนบทความไว้ชิ้นหนึ่งลงเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 ใน www.pub-law.net แห่งนี้ บทความชื่อ “ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง” บทความดังกล่าวผมได้นำเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการทำโพลของประเทศฝรั่งเศสครับ ถ้าสนใจเรื่องการทำโพล ก็ลองหาอ่านดูนะครับ
       อีกไม่กี่วันก็จะถึงช่วงปิดเทอมอีกแล้วครับ ในวันที่ 13 กันยายนที่จะถึงนี้ ผมก็จะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสอีกเช่นทุกปิดเทอมที่ผ่านมา โดยในช่วงสัปดาห์แรกผมเดินทางไปร่วมปฏิบัติภารกิจกับเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (คุณนพดล เฮงเจริญ) ในการเยี่ยมสำนักงานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส และไปเข้าร่วมสัมมนารัฐธรรมนูญศึกษาที่เมือง Aix-en-Provence จากนั้น ผมก็จะเดินทางไปเป็นกรรมการสอบสารนิพนธ์ (mémoire) ของนักเรียนไทยสองคนที่มหาวิทยาลัย Nantes และจะอยู่ที่นั่นจนถึงสิ้นเดือนกันยายน จากนั้นก็จะกลับมาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Aix-Marseille 3 ในฐานะ visiting professor จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนครับ อ้อ! กลางเดือนตุลาคมผมจะไปประเทศ Greece หนึ่งสัปดาห์โดยผมได้รับเชิญจากศาสตราจารย์ ดร.FLOGAITIS แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเธนส์ ให้เดินทางไปเยี่ยมชมคณะและเยี่ยมชม European Public Law Center ซึ่งอาจารย์ FLOGAITIS เป็นผู้อำนวยการศูนย์อยู่ครับ ในช่วงเวลาสองเดือนที่ผมไม่อยู่ก็คงใช้วิธีการเดิมคือ เขียนบทบรรณาธิการส่งมาจากฝรั่งเศสครับ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผมกำลังพยายาม “วางตัว” ลูกศิษย์ที่ผมคิดว่าจะให้มาช่วยทำ website ต่อจากผมไว้แล้ว ผมอาจขอให้ลูกศิษย์ “ลอง” เขียนบทบรรณาธิการแทนผมดูก็ได้ครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความของ ดร.เชาวนะ ไตรมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เขียนเรื่อง “แนวโน้มพรรคการเมืองไทยยุคใหม่” มาให้อ่านกันครับ แล้วเราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่อีกจำนวนหนึ่งจากสำนักงานศาลปกครองด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=109
เวลา 29 เมษายน 2567 21:17 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)