ครั้งที่ 164

8 กรกฎาคม 2550 21:05 น.

       ครั้งที่ 164
       สำหรับวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2550
       
       “ประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ”
       
       ในช่วงระยะเวลาเกือบเดือนที่ผ่านมา หลายๆคนคงเคยได้ยิน ได้ฟังและได้เห็นโฆษณาเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งๆที่ในขณะนั้นยังร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จเลยครับ โฆษณาได้สร้างความสับสนให้กับผู้คนอยู่บ้างด้วยถ้อยคำที่ “ไม่น่าจะ” ถูกต้องตามความเป็นจริงเท่าไรนัก บางโฆษณาก็นำเอาการออกเสียงประชามติไปผูกโยงกับการเลือกตั้ง บางโฆษณาก็นำไปผูกโยงกับ “สถาบัน” บางโฆษณาก็ใช้ถ้อยคำที่ “รับไม่ได้” (เช่นร่วมพลิกชะตากรรมชาติ) เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าผู้มีอำนาจต้องการที่จะ “คืนอำนาจ” ให้กับประชาชนโดยเร็วนั่นเองจึงต้องรีบเร่งทั้งโฆษณารวมทั้งดำเนินการต่างๆเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วครับ
       ก่อนที่จะไปพูดเรื่องอื่น คงต้องพูดถึงอดีตเพื่อ “ทบทวน” ความทรงจำเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของเราสักเล็กน้อย เดิมเรามีประชาธิปไตยอยู่แล้ว เรามีรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าดีมากๆอยู่ฉบับหนึ่งที่ร่างขึ้นในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในหลายๆขั้นตอน เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่แม้จะ “แย่” ไปบ้างแต่ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครับ ต่อมาเราก็ “เสีย” ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่ดีมากๆของเราไปกับการรัฐประหาร จากนั้นเราได้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนโดยคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก่อตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมา เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยการร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศ “มืด” ของประเทศเกิดการแบ่งฝ่าย การตรวจสอบ การล้างระบบ การอายัดทรัพย์ การยุบพรรคการเมือง ฯลฯ สิ่งร้ายๆเหล่านี้เกิดขึ้นมาในบ้านเมืองในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญพร้อมๆ ข่าวปฏิวัติซ้ำปฏิวัติซ้อนที่มีขึ้นแทบทุกเดือน บรรยากาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นบรรยากาศที่ “ไม่เอื้อ” ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่เรา “ขาด” ไปครับ
       รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญมากในโลกของประชาธิปไตย เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นเอกสารสูงสุดทางการเมืองที่มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อจำกัดอำนาจของผู้ปกครองประเทศและเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ด้วยเหตุนี้เองที่รัฐธรรมนูญถูกนำมาใช้เป็น “สัญลักษณ์” ของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ประเทศต่างๆจึงต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาคมโลกรับทราบว่า มีความเป็นประชาธิปไตยซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีรัฐธรรมนูญและมีความเป็นประชาธิปไตยตามความหมายที่แท้จริงของการมีรัฐธรรมนูญด้วย แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การรัฐประหารได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยของเราลงไปอย่างราบคาบ และก็เป็นเช่นเดียวกับการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมาที่ผู้ทำรัฐประหารไม่สามารถครองอำนาจอยู่นานได้ เนื่องจาก “ขาดทักษะ” ในการบริหารประเทศ ดังนั้นคณะปฏิวัติจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อ “รีบคืนอำนาจ” ให้กับประชาชนโดยเร็ว วิธีการที่ดีที่สุดที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนก็คือต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว การกระทำดังกล่าวจึงกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหารครับ
       ทำไมจึงต้องห่วงเรื่อง “เลือกตั้ง” กันนักก็ไม่ทราบ หากจะให้ผมเดาก็คงเดาได้ไม่ยากว่า คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากได้ เนื่องจากถูกจับตามองจากคนทั้งประเทศและจากต่างประเทศที่มองว่าการรัฐประหารเป็น “สิ่งเลวร้าย” ของระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุเหล่านี้ที่การรัฐประหารต้องถูกทำให้มีความ “ชอบธรรม” ความชอบธรรมที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อเกิดการอายัดทรัพย์ตามมา พร้อมๆกันนี้คณะรัฐประหารก็ต้องพยายามหาทาง “ลง” จากอำนาจซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะต้องทำอย่างสุขุม รอบคอบ เป็นขั้นเป็นตอนและมีระบบที่ดี ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาตามมาไม่รู้จบ เพราะการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากสำหรับผู้มีหัวใจประชาธิปไตยครับ การวางแผน “คืนอำนาจ” ให้กับประชาชนหรือในอีกคำหนึ่งก็คือ “หาทางลงจากอำนาจที่ปลอดภัยสำหรับตนเอง” จึงเกิดขึ้น ไม่เชื่อก็ลองไปดูร่างมาตรา 309 (เดิมคือร่างมาตรา299) แห่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มีไว้เพื่อ “ปกป้อง” คณะรัฐประหารต่อไปอีกนานแสนนานครับ ร่างมาตรา 299 จึงเป็นร่างมาตราที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เป็นประชาธิปไตยในเนื้อหาเพราะมีบทบัญญัติที่ “รับรอง” ให้การรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จริงๆแล้วสำหรับนักกฎหมายมหาชน “แค่คิด” ว่าจะใส่บทบัญญัติดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ผิดและเป็นการปฏิเสธความรู้ทางวิชาชีพของตนแล้วครับ การนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญจึงทำให้เกิด “รอยด่าง” ขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างมาก เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็วซึ่งก็จะส่งผลให้คณะรัฐประหารลงจากอำนาจอย่างสวยงามในฐานะที่เป็น “ผู้ให้ประชาธิปไตย” กับประชาชนชาวไทยโดยลืมการที่เคยเป็น “ผู้ทำลายประชาธิปไตย” ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ส่วนในอนาคตนั้นหากมีปัญหาเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญก็คงต้องไปโทษสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนผู้ไปออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญเอาเอง เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ทำและรับรองรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คณะรัฐประหารเป็นผู้ทำครับ เพราะฉะนั้นการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีบทบัญญัติคุ้มครองตนเองกับมีการเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คณะรัฐประหารลงจากอำนาจได้อย่างสวยงามที่สุด รวมทั้งยังไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆที่จะตามมาภายหน้าด้วยครับ
       
ในขณะนี้ต่างก็มีหลายองค์กรออกมาให้ความเห็นว่าควรเลือกตั้งในวันใดซึ่งสรุปรวมๆคงหนีไม่พ้นปลายปีนี้ครับ แต่ในที่สุดแล้วผมเข้าใจว่าคงไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะเลือกตั้งกันเมื่อใดเพราะการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีความ “ลงตัว” เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน ในวันนี้เรายังไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการออกเสียงประชามติหรือไม่ ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ จะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อใด กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. และว่าด้วยพรรคการเมือง จะจัดทำเสร็จและมีผลใช้บังคับเมื่อใด นี่เรายังไม่ได้พูดถึง “คุณภาพ” ของทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นอย่างรีบเร่งภายใต้บรรยากาศที่ไม่เอื้อกับการ “คิด” อย่างสร้างสรรค์นะครับ นอกจากนี้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 ที่ห้ามพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆในทางการเมืองรวมไปถึงกำหนดห้ามจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ประธาน คมช. นายกรัฐมนตรี หรือกรรมการการเลือกตั้งในฐานะส่วนตัวหรือในนามของแต่ละองค์กรที่จะออกมาพูดกำหนดวันเลือกตั้งเพราะเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายองค์กรที่ต้องทำงานอย่างเชื่อมโยงกัน ที่ถูกควรรอให้มีความชัดเจนจากการประชามติร่างรัฐธรรมนูญก่อนจึงค่อยกำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนถ้าหากเป็นกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินการอย่างไรต่อไปก็เป็นเรื่องที่น่าคิดพอสมควรครับ
       พูดถึงเรื่องการออกเสียงประชามติที่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า หากไม่ใช่เป็นการ “วางหมากทางการเมือง” เอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างก็คงไม่ชัดเจนถึงแนวคิดและวิธีการในการออกเสียงประชามติเท่าไรนัก เพราะผมมองว่าการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นการนำเอาเรื่องประชามติที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงมาบิดเบือนเพื่อให้ประชาชนต้องไปรับรอง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารรวมไปถึงการรับรองความชอบธรรมของสิ่งที่คณะรัฐประหารได้ทำไปด้วย(ร่างมาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญ) เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย โดยมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้บัญญัติไว้ว่าหากประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ คมช.ประชุมร่วมกับครม. เพื่อพิจารณา นำเอา “อดีต” รัฐธรรมนูญของไทยฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป บทบัญญัติดังกล่าวทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าการออกเสียงประชามติคืออะไรครับ
       ผมเห็นว่ามีเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความเข้าใจเรื่องการออกเสียงประชามติของเรา “ผิดปกติ” และ “ไม่เหมือนที่ใดในโลก” ลองดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งก็เป็นกระบวนการประชามติธรรมดาๆที่ใช้กันอยู่ที่นั่น โดยในตอนนั้นหลายประเทศในสหภาพยุโรปจัดให้มีการออกเสียงประชามติในในธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป ผลออกมาบางประเทศประชาชนก็เห็นชอบด้วยแต่บางประเทศเช่นประเทศฝรั่งเศสประชาชนไม่เห็นชอบด้วย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อมีบางประเทศที่ประชาชนไม่รับรองธรรมนูญ สหภาพยุโรปก็ต้องหยุดการนำธรรมนูญมาบังคับใช้ และนำธรรมนูญนั้นไปปรับปรุงใหม่ จากนั้นก็ต้องนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติใหม่ แต้ถ้าไม่นำไปปรับปรุงใหม่ก็ถือว่าเรื่องนั้นจบสิ้น ไม่มีการดำเนินการใดๆต่อ ซึ่งพอมาพิจารณาดูการออกเสียงประชามติของไทยที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็พบว่ามีความผิดปกติ เพราะหากประชาชนไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะตกไปแต่เรื่องก็ยังไม่จบ เพราะจะมีคนจำนวน 30 คนเศษนำเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่าในอดีตฉบับใดก็ไม่รู้มาแก้ไข จะแก้อย่างไรก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าแก้เสร็จแล้วก็มีผลใช้บังคับได้เลย บทบัญญัติในมาตรา32 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมากและไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะจริงๆแล้วการกำหนดให้เสียงของประชาชนที่ “ปฏิเสธ” รัฐธรรมนูญมีคุณค่าเท่ากับเสียงของคนไม่กี่สิบคนที่จะหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ก็ได้ บทบัญญัติในมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจึงมิใช่บทบัญญัติที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติอย่างแท้จริงตามแบบอย่างที่ต่างประเทศเขาใช้กันมาหลายร้อยปีแล้วครับ และนอกจากนี้หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบ ประชาชนก็ยัง “มองไม่เห็นอนาคตตนเอง” เพราะไม่ทราบว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใดและมีเนื้อหาอย่างไรมาใช้กับตนเอง ด้วยเหตุนี้เองที่ผมเห็นว่าการออกเสียงประชามติตามมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นการนำเอากระบวนการทางประชาธิปไตยมาใช้ผิดๆอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราครับ เพราะสิ่งที่ถูกต้องที่ควรจะเป็นอย่างยิ่งก็คือ หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็จะต้องตกไปและคงต้องไปเริ่มกระบวนการแก้ไขหรือจัดทำร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เพื่อนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติใหม่ แต่นี่กลับเป็นการ “บังคับ” โดยปริยายให้ประชาชนเลือกระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 กับ “ความลับดำมืด” ที่ไม่มีใครทราบอะไรเลย หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 สิ่งที่จะได้รับก็คือ “ความลับดำมืด” ครับ ซึ่งในประเด็นหลังนี้เองที่ผมอยากจะขอ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายได้โปรดดำเนินการให้ความชัดเจนกับประชาชนก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติด้วยว่า ถ้าประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ คมช.กับรัฐบาลจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไข และจะปรับปรุงแก้ไขประเด็นใดบ้างครับ
       เราต้องไม่ลืมว่า การออกเสียงประชามติครั้งนี้จะเป็นการออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทย เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงครั้งแรกของคนไทย ซึ่งสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนกับประชาชนครับ ผมไม่ทราบว่าคำขอของผมจะมีผู้ให้ความสำคัญหรือไม่ และจะเกิดผลอย่างไรต่อไป เพราะในวันนี้ประเทศไทยเรากำลังจะ “เน้น” ประชาธิปไตยที่ “รูปแบบ” มากกว่า “เนื้อหา” นะครับ เรากำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือนกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ แต่ในรัฐธรรมนูญของเรากลับมีบทบัญญัติที่สร้างความชอบธรรมให้กับการทำลายประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหาร เรามีการออกเสียงประชามติที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆเพราะเราให้ประชาชนเลือกในสิ่งที่เห็นกับในสิ่งที่ไม่เห็น และนอกจากนี้การออกเสียงประชามติอันเป็นกระบวนการประชาธิปไตย “ทางตรง” ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยแถมยังมีคนออกมาขู่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่จะทำให้การออกเสียงประชามติเกิดปัญหา การออกเสียงประชามติครั้งแรกของคนไทยที่ถูกปิดเป็นความลับไว้จนถึงวันนี้ว่า ถ้าคนไทยไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 คนไทยจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ในการปกครองประเทศ นี่หรือครับที่เราเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” !
       
ก่อนจะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้ “ฟัง” ข้อมูลดีๆจาก www.prachatai.com ที่ได้นำเอาเทปเสียงของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทยเมื่อปีพ.ศ. 2525 ในวาระ 50 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นบทสัมภาษณ์ที่ดีและร่วมสมัย ใครสนใจลองเข้าไปฟังดูโดยเฉพาะควรเน้นฟังในช่วงเกี่ยวกับความหมายประชาธิปไตยคือ “..........ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นส่วนใหญ่ ปวงชนแสดงมติโดยวิธีประชามติอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งปวงชนแสดงประชามติโดยผ่านรัฐสภาซึ่งสมาชิกทุกคนของรัฐสภาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร สำหรับประเทศไทยที่มีพลเมืองมากนั้น ก็ควรถือวิธีที่สองเป็นหลักประกอบด้วยวิธีที่หนึ่งในบางกรณี........” และในช่วงเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาคือ “.....ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารยึดอำนาจ ล้มระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489ครับ แล้วคณะรัฐประหารก็ได้สถาปนารัฐธรรมนูญที่มีฉายาว่ารัฐธรรมนูญใต้ตุ่มเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นโมฆะทั้งรูปแบบแห่งกฎหมายและในสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยซึ่งผมได้กล่าวชี้แจงไว้ในหลายบทความแล้ว อาทิ........ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มได้บัญญัติให้วุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง มิใช่โดยการเลือกตั้งของราษฎร จึงมิใช่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เหมือนดังรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มดังกล่าวได้เป็นแม่บทให้รัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับต่อๆมา ซึ่งวุฒิสมาชิกได้รับแต่งตั้ง.....”  เห็นไหมครับว่าขนาดในปี พ.ศ.2525 ท่านอาจารย์ปรีดีฯ ยังเห็นว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ก็ต้องให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งครับ!!!
       
       สัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอทั้งหมด 3 บทความด้วยกัน บทความแรก เป็นบทความเรื่อง “ทฤษฎีว่าด้วยการกระทำของรัฐบาลกับคำพิพากษาของศาลไทย” โดย คุณบุญเสริม นาคสาร แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ประกาศคณะรัฐประหาร ฉบับที่ 27 ใช้บังคับได้จริงหรือ” โดย คุณชนินท์ ติชาวัน นักศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง และบทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง : แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย” โดย คุณฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ นิสิตปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทุกคนครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1118
เวลา 20 เมษายน 2567 17:28 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)