ครั้งที่ 165

22 กรกฎาคม 2550 23:03 น.

       ครั้งที่ 165
       สำหรับวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม ถึง วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม 2550
       
       “คำตอบสำหรับการออกเสียงประชามติร่างรธน.50 ”
       
       แม้ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้จะมีปัญหาต่างๆเข้ามาให้ “เครียด” กันมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาร่างกฎหมายความมั่นคงหรือแม้กระทั่งเรื่องค่าเงินบาทที่ส่อเค้าว่าจะนำมาซึ่งความยุ่งยากทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็ตาม แต่ประเด็นร้อนอีกประเด็นที่ยังอยู่ในความสนใจของประชาชนและยังเป็น “วิวาทะทางความคิด” ของคนกลุ่มต่างๆก็คือประเด็นเรื่องการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ว่าให้วันอาทิตย์ ที่19 สิงหาคม 2550 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ครับ
       ยังไม่ทันที่ร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติก็มีข่าวออกมาแล้วว่า หัวหน้ารัฐประหารจะเข้ามาสู่วงการเมือง คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรทั้งนั้น เพราะหากเราดูประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่ผ่านมาก็จะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือจะเรียกว่าคณะอะไรก็สุดแล้วแต่ต่างก็เข้าสู่วงการเมืองภายหลังยึดอำนาจทั้งนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พลเอกสุจินดา คราประยูร คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น “สิ่งพิสูจน์” ให้เราได้เห็นว่า การเมืองเป็น “สิ่งที่น่าสนใจ” ของผู้เข้ามายึดอำนาจการปกครองประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องตั้งคำถามว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนเหล่านั้นต้องเข้ามาสู่วงการเมืองภายหลังจากที่คนเหล่านั้นยึดอำนาจการปกครองประเทศจากนักการเมือง ผมมองไม่เห็นคำตอบอะไรมากไปกว่าสองคำตอบที่สำคัญ คือ ติดใจในอำนาจและหาทางลงจากอำนาจไม่ได้  คนเหล่านั้นจึงต้องตัดสินใจเล่นการเมืองต่อไป เพื่อให้ตนเองและพวกพ้องยังคงมี “อำนาจรัฐ” อยู่ในมือ จากนั้นพอเวลาผ่านไปจึงค่อยๆหาทางลงจากอำนาจที่ปลอดภัยครับ ส่วนการเล่นการเมืองของคนเหล่านั้นก็มีรูปแบบคล้ายๆกัน ถ้าไม่มี “นายทุน” ช่วยตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้ก็รับไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วและหวังอาศัยบารมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเข้าไปเป็นรัฐบาลเพื่อที่ตนจะได้มีอำนาจรัฐต่อไป ก็ต้องรอดูกันต่อไปนะครับว่า สำหรับหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และคณะพรรค จะทำอย่างไรกันต่อไปในวันข้างหน้า การเข้าสู่วงการเมืองแม้จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้มีอำนาจต่อไป แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าบรรดาหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เข้าสู่วงการเมืองที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นล้วนแล้วแต่ “จบ” อาชีพของตนเองอย่าง “มีปัญหา” ทั้งนั้นครับ ผมคงไม่ขอเอาใจช่วยผู้ใดทั้งสิ้นเพราะที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยที่มีเป็นระยะเวลาถึง 75 ปีแล้วนั้น การรัฐประหารไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ครับ!!!
       
ในเวลาอีกไม่นาน เราก็จะมีการออกเสียงประชามติครั้งแรกของประเทศไทยครับ สิ่งที่จะตามมาภายหลังการออกเสียงประชามติก็คือการเลือกตั้งซึ่งถ้าเราย้อนกลับมาดูพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผมยังมองไม่เห็นว่าพรรคการเมืองพรรคใดมีความพร้อม ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ พรรคการเมืองที่ยังดำรงอยู่ในวันนี้และมีข่าวออกมาบ้างก็คือพรรคฝ่ายค้านเดิม (สมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่จับมือกันไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งจนก่อให้เกิดความวุ่นวายกันไปทั้งประเทศ แล้วก็ไม่มีใครตำหนิหรือประณามว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักประชาธิปไตยและก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมาอย่างมากจนนำไปสู่การรัฐประหารนั่นแหละครับ ในวันนี้ก็มีข่าวว่าพรรคฝ่ายค้านเดิมก็ร่วมมือกันและดูมีท่าที “มั่นใจ” มากว่าได้จะเป็นรัฐบาล ผมมองดูการดำเนินการของพรรคการเมืองเหล่านั้นในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาด้วยความผิดหวังและสงสารประเทศไทยครับ จนถึงวันนี้ เรายังมองไม่เห็นอะไรใหม่ๆจากพรรคการเมืองเหล่านั้นนอกจากการ “จับผิด” พรรคการเมืองและนักการเมืองของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วอย่างเอาเป็นเอาตายโดยคาดว่าจะต้องทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองของพรรคการเมืองนั้นหายสาบสูญไปจากสารบบทุกสารบบที่มีอยู่ในโลกนี้ ผมไม่คิดว่าสิ่งเหล่านั้นหรือการดำเนินการเหล่านั้นจะทำให้ประเทศไทยเจริญขึ้นมาได้ ลำพังการไม่คัดค้านการทำรัฐประหารก็สร้างความ “สิ้นศรัทธา” ให้กับคนส่วนหนึ่งไปแล้ว แต่นี่ยัง “มีท่าที” ว่า “ไปได้ดี” กับคณะรัฐประหารอีกด้วย ผิดหวังครับ ! บอกตรงๆ ว่าผิดหวัง เป็นความผิดหวังที่ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา 75 ปี ที่ผ่านมาหรือ “การศึกษา” ของผู้คนส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้พัฒนาการในด้านประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างถูกต้องเลยครับ ที่ถูกที่ควรจะเป็นนับตั้งแต่มีปัญหาเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้สำหรับพรรคการเมืองที่ยังดำรงอยู่ก็คือ สร้างนโยบายในการบริหารประเทศใหม่ให้ดีกว่านโยบายรัฐบาลเดิม เสนอทางแก้ปัญหาทุกๆ ด้านที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่รัฐบาลเดิมไม่สามารถแก้ไขได้ ผมคิดว่าถ้าทำได้แค่นี้ก็คงดีพอแล้วสำหรับประเทศไทย ดีมากกว่าจะไปคอย “จุกจิก” หาเรื่องในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนเองมากกว่าครับ อย่าลืมนะครับว่าหน้าที่หลักของพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ที่การพยายามจับผิดนักการเมืองหรือพรรคการเมืองพรรคอื่น แต่หน้าที่หลักของพรรคการเมืองอยู่ที่การวางนโยบายในการบริหารประเทศให้ดีที่สุดและแก้ไขปัญหาของประเทศให้ได้มากที่สุดครับ!!! หรือหากจะเห็นว่านโยบายไม่ใช่สิ่งสำคัญก็ต้องชี้แจงมาให้ชัดๆ เลยครับ เพราะในวันนี้ดูจากข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ จะพบว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่มีท่าทีมั่นใจมากว่าจะได้เป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าและก็มีท่าทีไปกันได้ดีกับคณะรัฐประหาร อย่าลืมข้อเขียนของ Machiavelli ที่กล่าวไว้ว่าผู้ที่ได้อำนาจมาโดยต้องอาศัยบารมีหรืออำนาจของ “ผู้อื่น” นั้น จะไม่สามารถรักษาอำนาจได้นานหาก “ผู้อื่น” ไม่สนับสนุนครับ !!! ถ้าอยากอยู่นานก็ต้องอยู่ใต้อำนาจเขานะครับ !!! ในเวลานี้ พรรคการเมืองที่ต้องการจะเป็นรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งคงต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆด้านเพราะรัฐบาลใหม่จะต้องเจอกับ “ศึกหนัก” ที่หนักจริงๆครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลา2 ปีที่ผ่านมานี้เป็นปัญหาที่ยากแก่การแก้ไขและเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน มองไปที่ไหนก็รู้สึกหดหู่เพราะหาทางออกไม่เจอ ถ้าไม่นับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่ตกต่ำลงไปอย่างมากและกำลัง “กัดกร่อน” สถานะของประเทศไทยลงไปอย่างรวดเร็ว เรามีปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่เป็นปัญหาใหญ่มากที่กระทบกับทุกๆด้าน จากสถิติที่ทราบมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2550 มีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น 6,000 กว่าครั้ง ทั้งการวางเพลิง ระเบิด ยิง ฆ่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะออกมาขอโทษแทนรัฐบาลที่ผ่านมาแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เหตุการณ์ยังคงมีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ถูกควรจะต้องย้อนกลับไปขอโทษรัฐบาลที่ผ่านมาด้วยที่ไปเข้าใจผิดคิดว่าปัญหาความไม่สงบในภาคใต้เกิดขึ้นจากการดำเนินการที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะจริงๆแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็รุนแรงไม่น้อยกว่าที่ได้เกิดขึ้นมาในรัฐบาลที่ผ่านมา ลำพังแค่ปัญหาภาคใต้ก็เป็นภาระที่หนักหน่วงอย่างยิ่งของรัฐบาลชุดใหม่แล้วครับ นอกจากปัญหานี้แล้วก็ยังมีปัญหาอีกมากที่ต้องตามแก้ตามรื้อสิ่งที่รัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลปัจจุบันทำเอาไว้อีกด้วย ฉะนั้นผมคิดว่าน่าที่พรรคการเมืองที่ประสงค์จะเข้ามาเป็นรัฐบาลจะต้องนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาทุกปัญหาให้ประชาชนทราบอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง เราคงไม่สามารถเลือกพรรคการเมืองที่เอาแต่จ้องจับผิดผู้อื่นและไม่มีนโยบายที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศได้ครับ
       ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีคนถามผมหลายคนว่าผมจะไปออกเสียงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ซึ่งผมจะได้แสดงจุดยืนของผมไปอย่างชัดเจนกับผู้ถามทุกคนแล้วครับ ในวันนี้ผมยังไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำไปออกเสียงประชามติ เพราะเข้าใจว่ายังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ครับ แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอะไรมากนัก เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วหลายๆ ครั้ง ในบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้ก็คือ ผมไม่ชอบมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญเพราะผมเห็นว่าเป็นส่วนที่ “น่าเกลียด” ที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ครับ ตามปกติแล้วก่อนที่จะมีความเห็นว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้คงจะต้องวิเคราะห์บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญก่อนว่าเป็นอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจในบทบัญญัติเหล่านั้น แต่ในส่วนตัวผมเองนั้น ผมมองข้ามบทบัญญัติต่างๆ ไปก่อน เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า มาตราสุดท้ายเพียงมาตราเดียวก็ “เพียงพอ” ที่จะทำให้ผมตัดสินใจที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ได้ เพราะในทางทฤษฎีที่คนส่วนใหญ่ทราบและเข้าใจกันนั้น รัฐธรรมนูญคือข้อกำหนดพื้นฐานในการปกครองประเทศซึ่งในตอนเริ่มแรกที่มีรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ในโลกนั้น รัฐธรรมนูญประกอบด้วยสาระสำคัญสองส่วนคือ บทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองของรัฐเช่นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ต่อมาก็มีการเพิ่มสาระที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเข้าไปด้วย ด้วยเหตุนี้เองรัฐธรรมนูญจึงมีสถานะเป็น “กฎหมายสูงสุดของประเทศ” เพราะประกอบด้วยสาระสำคัญ “ที่สุด” ในการปกครองประเทศครับ แต่อย่างไรก็ดี คุณค่าของรัฐธรรมนูญในบางประเทศได้ถูก “ทำลาย” ลงด้วยการทำรัฐประหารและ “ทำลาย” กฎหมายสูงสุดของประเทศลงด้วยการใช้อำนาจ และนอกจากนี้ในบางประเทศเช่นในประเทศไทยเป็นต้น คณะรัฐประหารยังถือโอกาสภายหลังการรัฐประหารจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา “ตามอำเภอใจ” ของตนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของตนเอาไว้ภายหลังรัฐประหาร รัฐธรรมนูญประเภทหลังจึงมี “คุณค่า” เป็นรัฐธรรมนูญเฉพาะรูปแบบเท่านั้นครับ
       เมื่อมาพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ที่เกิดจากคณะรัฐประหารก็จะพบว่า แม้ในบางส่วนจะมีความเป็น “รัฐธรรมนูญ” ในความหมายแรกอยู่บ้าง แต่ก็มีหลายส่วนที่ “ทำลาย” คุณค่าความเป็นรัฐธรรมนูญในฐานะ “กฎหมายสูงสุดของประเทศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 37 ที่บัญญัติไว้ว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็จะพบว่าเป็นบทบัญญัติที่ “ยอมรับ” การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แม้การกระทำเหล่านั้นจะขัดกับหลักนิติรัฐ ขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อสภาพความเป็นไปของสังคมโลกครับ ด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรานี้เองจึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ไร้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยเพราะมีบทบัญญัติที่รับรองให้การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยโดยการใช้กำลัง เป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรมครับ
       เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จในครั้งแรก ก็ได้สร้างความ “แปลกใจ” ให้กับผมมากเพราะมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า “บรรดาการกระทำใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ปรากฏว่าร่างมาตราดังกล่าวยังคงอยู่ “อย่างสมบรูณ์ครบถ้วน” ซึ่งก็หมายความว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนที่มาออกเสียงแสดงประชามติ ก็เท่ากับว่าประชาชนคนไทยนั้น “รับรอง” และ “ยอมรับ” การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการอื่นๆที่เกิดขึ้นตามมาว่าเป็นสิ่งที่ “ใช้ได้” และ “ถูกต้อง” ครับ
       ในขณะที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การร่างรัฐธรรมนูญมี “ใบสั่ง” หรือ “มีตัวแทน” ของคณะรัฐประหารร่วมอยู่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญด้วยซึ่งผมก็ไม่อยากคิดเช่นนั้น แต่พอถึงตอนนี้ผมคงต้องย้อนกลับไปถามตัวเองแล้วว่า ใครเป็นเจ้าของความคิดหรือเป็นเจ้าของร่างมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 กันแน่ครับ โดยส่วนตัวผมไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นฝีมือของ “นักวิชาการ” เพราะถึงแม้นักวิชาการจำนวนมากจะไม่ใช่นักกฎหมายมหาชนแต่บุคคลเหล่านั้นก็ต้องรู้อยู่แก่ใจว่า ข้อความของร่างมาตราดังกล่าวเป็นสิ่งที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และ “ไม่สมควร” ที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ข้อกำหนดพื้นฐานในการปกครองประเทศและไม่เกี่ยวกับการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเลยครับ เจ้าของร่างมาตราดังกล่าวคงไม่ทราบว่าร่างมาตรานี้ได้ทำลายคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ทำลายความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักนิติรัฐ ทำลายหลักรัฐธรรมนูญนิยม ทำลายหลักประชาธิปไตย ซึ่งก็จะส่งผลให้เป็นการทำลายความเป็นประเทศประชาธิปไตยของเราลงไป ด้วย หากเรา “ยอมรับ” การเขียนรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติในลักษณะนี้ได้ในวันข้างหน้า รัฐธรรมนูญอาจมีบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นการ “ส่วนตัว” ของคนใดคนหนึ่งได้ไม่ยากนัก ก็ต้องขอถามอีกครั้งหนึ่งว่าใครเป็น “เจ้าของ” ร่างมาตราสุดท้ายกันแน่ครับ!!! ก็เพราะร่างมาตราสุดท้ายนี่เองจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่ผมจะต้องพิจารณาหรือให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมากที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เลยครับ เพียงร่างมาตราสุดท้ายก็เพียงพอแล้วที่จะตัดสินใจ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 เนื่องจากบทบัญญัติในร่างมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญได้ “ทำลาย” ความเป็น “รัฐธรรมนูญ” ลงไปครับ ผมขอถามหน่อยว่า รัฐธรรมนูญจะมีความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรหากรัฐธรรมนูญนั้นมีบทบัญญัติที่รับรองการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ด้วยครับ !!!
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกันครับ บทความแรกเป็นบทความของ ดร.เชาวนะ ไตรมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญใหม่ : ชะตากรรมใหม่ของประเทศ สังคม และประชาชน” บทความที่สองจากคุณภาสพงษ์ เรณุมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันที่เขียนบทความเรื่อง “ประชามติ (referendum) : รับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ ฤาไม่เอารัฐบาล(เผด็จการ)” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       ขณะนี้ หนังสือรวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net ปีที่ 6 พ.ศ. 2549 ได้จัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญผู้ให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์ได้มอบหนังสือให้ผมจำนวนหนึ่งเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ใช้บริการ ใครสนใจขอรับหนังสือก็ลองเข้าไปดูในกรอบด้านข้างถึงกติกาในการแจกหนังสือของเราครับ
       พบกันใหม่ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1122
เวลา 29 มีนาคม 2567 16:28 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)