ครั้งที่ 94

15 ธันวาคม 2547 13:54 น.

       "ร่วมสัมมนาที่ฝรั่งเศส เรื่อง การจัดทำบริการสาธารณะด้านไฟฟ้า"
       ผมนั่งเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้อยู่ที่ร้านกาแฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในกรุง Paris ระหว่างรอลูกศิษย์คนหนึ่งอยู่ ผมออกจากเมือง Aix-en-Provence มาเมื่อเช้าวันที่ 26 ตุลาคมครับ และจะอยู่ที่กรุง Paris อีก 2-3วัน จากนั้นก็จะออกเดินทางกลับกรุงเทพฯครับ ขณะที่บทบรรณาธิการนี้ลงเผยแพร่ผมคงอยู่ที่กรุงเทพฯแล้วครับ
       เมื่อวันที่ 22-23 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนาโต๊ะกลมที่เมือง Aix-en-Provence ที่จัดโดยศูนย์วิจัยกฎหมายปกครอง (Centre de la Recherches Administratives) แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Paul Cézanne - Aix-Marseille III ศูนย์วิจัยกฎหมายปกครองมีศาสตราจารย์ ดร. Jean Marie Pontier นักกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของฝรั่งเศสเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ศูนย์วิจัยกฎหมายปกครองแห่งนี้จัดงานสัมมนาโต๊ะกลมทุกปีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 แล้ว และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 27 โดยมีหัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้คือ "L'Administration et l'Energie en Europe" (ฝ่ายปกครองและพลังงานในยุโรป) มีนักกฎหมายระดับ "ผู้ใหญ่" ในยุโรปเข้าร่วมสัมมนาด้วยประมาณเกือบ 20 คน จากหลาย ๆ ประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สเปน เยอรมันนี อิตาลี เช็คโก กรีก ลักซัมเบอร์ก โปแลนด์ แล้วก็มีแปลกปลอมจากนอกยุโรปเข้าไปอีก 1 คนคือผมเองครับ เหตุผลที่ผมเข้าไปร่วมสัมมนาโต๊ะกลมครั้งนี้ก็เพราะศาสตราจารย์ Pontier ซึ่งคุ้นเคยกันได้ชวนผมไว้ตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้ครับ
       การสัมมนาครั้งนี้ให้ประโยชน์กับผมมาก เพราะแม้ดูหัวข้อจะตั้งชื่อแปลก ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "บริการสาธารณะ" เป็นหลัก เพราะตลอดระยะเวลาสองวันของการสัมมนา เรื่องที่พูดกันทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะในยุโรปที่ "หน้าตา" กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไป โดยประเด็นสำคัญที่พูดกันมากในการสัมมนาครั้งนี้ก็คือในวันข้างหน้าเมื่อการรวมประเทศต่าง ๆ เข้าสู่สหภาพยุโรปจบสิ้นลงแล้ว และทุกประเทศต้องยกเลิกการผูกขาดการจัดทำบริการสาธารณะภายในประเทศของตนเพื่อเปิดโอกาสให้คนจากประเทศอื่น ๆ สามารถที่จะเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะในต่างประเทศได้แล้ว บริการสาธารณะในแต่ละประเทศจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรและจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้บริการสาธารณะมากน้อยเพียงใด ประเภทของบริการสาธารณะที่หยิบยกมาพูดกันในงานสัมมนาก็มีอยู่ 3 กิจการใหญ่ๆ คือ ไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำ แต่ที่พูดกันมากที่สุดคือ ไฟฟ้า ครับ
       ผมคงไม่สามารถเล่าถึงสาระสำคัญที่นักวิชาการทั้งหลายได้กล่าวถึงเอาไว้ในงานสัมมนาเพราะมีประเด็นค่อนข้างมาก และบางประเด็นก็เป็น "ยุโรป" เกินไปที่แม้เรารู้แต่ก็ไม่ทราบว่าจะรู้ไปทำไมเหมือนกันครับ ผมคงขอสรุปง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า บทบาทของรัฐทั้งหลายที่ "ผูกขาด" การจัดทำบริการสาธารณะไว้แต่เพียงผู้เดียวจะต้องเปลี่ยนไปในวันข้างหน้า โดยรัฐคงจะต้องกลายมาเป็น "ผู้กำกับดูแล" บริการสาธารณะ ทั้งนี้ เพราะกฎเกณฑ์แห่งสหภาพยุโรปได้ "ห้าม" การผูกขาดโดยรัฐและกำหนดให้มีการแข่งขันทางการค้าซึ่งรัฐเองก็ต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์ดังกล่าวด้วย บทบาทของรัฐในฐานะผู้กำกับดูแลนี้มีอยู่มาก เริ่มตั้งแต่การที่รัฐจะต้องเป็นผู้ "วางกฎเกณฑ์" หรือ "กำหนดเงื่อนไข" เพื่อให้มีผู้เข้ามาจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐ จากนั้นเมื่อได้ผู้ที่จะเข้ามาจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐแล้ว รัฐก็สมควรที่จะต้อง "วางกรอบ" วิธีการจัดทำบริการสาธารณะไว้อย่างกว้าง ๆ โดยกรอบดังกล่าวต้องเน้นหนักไปในเรื่องการคุ้มครอง "สิทธิของผู้บริโภค" หลาย ๆ ประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราค่าบริการ มาตรฐานของบริการและความปลอดภัย เป็นต้น โดยในส่วนที่เกี่ยวกับค่าบริการนั้น รัฐสมควรกำหนด "เพดาน" ขั้นสูงของอัตราค่าบริการเอาไว้แล้วให้เอกชนผู้เข้ามาจัดทำบริการสาธารณะไปแข่งขันเรื่องของราคากันเอง แต่จะต้องไม่สูงไปกว่าเพดานที่รัฐกำหนด นอกจากนั้นแล้ว รัฐยังต้องทำหน้าที่เป็นหลักประกันของ "ความต่อเนื่อง" ของบริการสาธารณะ โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการขั้นต่ำเอาไว้เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน เช่นเดียวกับที่รัฐต้องกำหนดเรื่องการบำรุงรักษาบริการสาธารณะให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลาเอาไว้ด้วยเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค นอกจากเรื่องใหญ่ ๆ ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีการพูดถึงประเด็นปลีกย่อยที่สำคัญอีกหลายประเด็น เช่น ผู้จัดทำบริการสาธารณะแม้จะไม่ใช่รัฐ แต่ก็ต้องยึดหลักว่าด้วยความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน รวมทั้งกรณีที่หากเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่าง รัฐ ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ จะต้องนำข้อพิพาทไปสู่การพิจารณาคดีของศาลใดก็ต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนด้วยครับ
       ผมได้รับการขอให้พูดถึงเรื่องการบริหารจัดการด้านพลังงานในประเทศไทย ซึ่งผมก็เล่าให้เพื่อนนักวิชาการต่างชาติฟังว่า รัฐไทยเรานั้น "ผูกขาด" การจัดทำบริการสาธารณะมานานแล้ว ซึ่งเราก็ไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ เพราะการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปทำให้ต้องมีการกำหนด "เกณฑ์กลาง" ที่ "เอื้อประโยชน์" ต่อประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจึงสามารถทำมาค้าขายได้อย่างเสรี ซึ่งแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในประเทศไทยที่เรายังคงผูกขาดการจัดทำบริการสาธารณะจำนวนมากเอาไว้ แม้เมื่อปี พ.ศ. 2540 เราได้รับการกดดันจาก "มหามิตร" ของหลาย ๆ คน (รวมทั้งของ "ท่านผู้นำ" ด้วย) ให้เราทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ประเทศไทยเราก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนดังเช่นประเทศอื่น ๆ ดังนั้น การบริหารจัดการด้านพลังงานในประเทศจึงยังคงทำโดยรัฐเป็นส่วนใหญ่ครับ
       ในตอนท้ายของการสัมมนา ก็ได้มีการพูดถึง "พลังงานทดแทน" รูปแบบอื่น ๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังลมที่สามารถทำได้ด้วยตัวผู้ใช้บริการเอง ที่
       หลาย ๆ คนก็ยังคงห่วงใยว่า หากรัฐยังไม่วางมาตรการในการกำกับดูแลที่ดี ก็จะทำให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้า เพราะกังหันลมขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าหากมีจำนวนมากก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นมลพิษทางสายตาด้วยครับ บทสรุปของการสัมมนาก็คงเป็นเรื่องความห่วงใยต่อประชาชนผู้บริโภคนั่นเองครับว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรกับการเปิดเสรีในยุโรป
       ระยะเวลาที่ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเกือบ 2 เดือน ก็ได้อะไรมาหลายอย่างครับ คงไม่เล่าให้ฟังทั้งหมดในคราวนี้นะครับ แต่อยากจะบอกว่าผมรู้สึก "ดี" ทุกครั้งที่ได้กลับมานั่งทำงานในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สมบูรณ์มาก ๆ แล้ว บรรยากาศก็ยังเหมาะกับการทำงานวิชาการอย่างมากครับ อีก 1-2 เดือนต่อจากนี้ ผมคงมีงานวิชาการทยอยออกมาให้ "แฟนๆ" ได้ติดตามอ่านกันครับ !
       ในสัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอตอนที่ 3 ของงานวิจัยของผมเรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” และนอกจากนี้ผมขอเสนอ “นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน” ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษากฎหมายมหาชนระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณมานะที่นี้ด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=113
เวลา 27 เมษายน 2567 23:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)