ผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติ ๑๙ ส.ค.๕๐ โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง

18 สิงหาคม 2550 17:32 น.

       นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น
       การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ไม่เคยมีความแตกแยก
       ในหมู่ประชาชนเป็นสองฝักสองฝ่ายที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่จะใช้ในการปกครองประเทศเหมือนกับเหตุการณ์ที่จะมีการลงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ นี้
       ผู้ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะให้มีการลงประชามติ ก็มองว่าผู้ที่คัดค้านนั้นไม่เห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง บ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว น่าจะรับๆไปเสียจะได้มีการเลือกตั้งเสียที บกพร่องอย่างไรค่อยไปคิดอ่านแก้ไขในภายหลัง
       ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มองว่าผู้ที่จะไปรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่รู้เท่าทันการหมกเม็ดของผู้ร่างฯ โดยถูกชักจูงและเป่าหูจากสื่อมวลชนของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       อย่างไรก็ตามการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นนี้ผลที่ตามมาไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ย่อมจะมีทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน
       ผลที่เหมือนกันไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติก็ตาม
       
๑) มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็ดำเนินการตามร่างฯต่อไป กรณีที่ไม่ผ่านประชามติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๔๙ กำหนดให้ คมช.และ ครม.หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแล้วประกาศใช้ ซึ่งหัวใจของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยทุกฉบับก็คือการเลือกตั้ง และเชื่อว่า คมช.และ ครม.คงไม่โง่เขลาหรือ
       บ้าบิ่นพอที่จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับที่มีมาตรฐานต่ำกว่าร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ มาใช้เป็นแน่ เพราะขนาดว่าร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่ผู้ร่างเชื่อว่าดีกว่าปี ๔๐ ยังไม่ผ่านเลย เว้นเสียแต่ว่าอยากจะเจริญรอยตามพม่าก็เป็นเวรเป็นกรรมของประเทศไทยที่จะต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อกันอีกเป็นแน่
       ๒) กฎอัยการศึกก็จะดำรงคงอยู่ต่อไปเพราะการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ไม่เกี่ยวกับการยกเลิกหรือคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกเพราะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจของทหารโดยเฉพาะ ใครที่หลงละเมอเพ้อพกว่าหากรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วกฎอัยการศึกจะหมดไปจาก ๓๕ จังหวัด หรือเกือบครึ่งประเทศนั้นคงเป็นความฝันลมๆแล้ง ยิ่งรัฐธรรมนูญผ่านก็ยิ่งต้องคงไว้เพื่ออ้างในการควบคุมฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเคลื่อนไหวจะด้วยเหตุอันใดก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลการลงประชามติที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นกลางเพราะผู้ร่างฯเป็น ๒ ใน ๕ ของ กกต. ผู้ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการลงประชามติเสียเอง และยิ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญฯไม่ผ่านก็ยิ่งต้องยังคงกฎอัยการศึกไว้เพื่อปกป้องตัวเองอยู่ดี ด้วยเหตุผลแห่งความมั่นคงด้านการทหาร
       อย่างไรก็ตามผลที่ตามมาภายหลังการลงประชามติมิใช่ว่าจะมีแต่ผลเสียอย่างเดียว ผลดีที่เกิดขึ้นไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่านก็ตามก็คือการเรียนรู้ทางการเมืองของคนไทยมีมากขึ้น อย่างน้อยก็มีร่างรัฐธรรมนูญไว้อ่านเล่นกันครัวเรือนละหนึ่งเล่ม หากไม่ไปชั่งกิโลขายหรือใช้มวนใบยาสูบเพื่อสูบเป็นบุหรี่เล่นไปเสียก่อน
       ผลที่แตกต่างกัน
       กรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ
       
๑) ระบอบทหารและระบอบอำมาตยาธิปไตยจะอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน
       ๒) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะอ่อนแอตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอภิชนและ
       ขุนนางผ่านทางวุฒิสภาและศาล การเลือกตั้ง สส., สว. แบบใหม่ทำให้การเลือกตั้งล่าช้า ประชาชนเกิดความสับสน และสิ้นเปลืองงบประมาณ อีกทั้งการกำหนดเขตเลือกตั้ง สส.เขตละ ๓ คน ทำให้เกิดรัฐบาลผสม มีหลายพรรค ฝ่ายบริหารอ่อนแอ มีโอกาสที่จะถูกปฏิวัติรัฐประหารได้อีก ด้วยเหตุผลว่านักการเมืองทะเลาะกันและการบริหารบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพ
       ๓) ทำให้การปฏิวัติรัฐประหารในอนาคตเป็นเรื่องชอบธรรมเพราะมีบทบัญญัติ
       นิรโทษกรรมในร่างรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๓๐๙ ที่เชื่อมโยงไปยังมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๔๙ ที่บัญญัติว่าบรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ฯลฯ ไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น กรณีคาร์บอมบ์ก็อาจจะกลายเป็นคาร์บ๊องไปเลยก็ได้ หากอ้างว่าได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจครั้งนี้ เพราะปรากฏตามข่าวสื่อมวลชนว่าผู้ต้องหาตัวใหญ่ๆ รายหนึ่งบอกว่าหากทำคาร์บอมบ์ไม่สำเร็จแผนต่อไปก็คือการทำรัฐประหารนั่นเอง
       ๔) กฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายทหารเหนือฝ่ายอื่นไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือตำรวจก็จะติดตามมาเป็นชุดๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือร่าง พรบ.ความมั่นคงฯที่จ่อคิวพร้อมที่จะคลอดตลอดเวลา
       ๕) งบประมาณด้านทหารและความมั่นคงจะเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพราะเพียงระยะเวลา ๒ ปี หลังรัฐประหารฯ(ปี งบฯ. ๕๐ และ ๕๑)-งบฯ.ทหารเพิ่มขึ้นแล้วถึง ๕๗,๐๖๔ ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ ๖๖.๔๐ เมื่อเทียบกับ งบฯ.ปี ๔๙ นอกเหนือจาก งบฯผูกพันอีก ๔ ปีๆ ละไม่ต่ำกว่า ๑๔๐,๐๐๐ ล้านบาท
       กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ
       ๑) ทำให้พัฒนาการทางการเมืองที่ต้องหยุดชะงักลงดำเนินการต่อไปได้ เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
       ๒) ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการแก้ไขปัญหาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้อง
       แก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น มิใช่แก้ด้วยการใช้ปืนและรถถังเข้ายึดอำนาจ
       กล่าวโดยสรุปก็คือ หากท่านเชื่อว่าการปกครองบ้านเมืองนั้นต้องมาจากชนชั้นนำและข้าราชการที่เชื่อว่าเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้สามารถปกครองบ้านเมืองแทนเราได้ ก็ไปลงมติ เห็นชอบ แต่หากท่านเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนทุกคนมีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากัน ก็ไปลงมติ ไม่เห็นชอบ ก็เท่านั้นเอง ใช่ไหมครับ
       
       ---------------------------------------------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1138
เวลา 29 เมษายน 2567 04:07 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)