ครั้งที่ 167

18 สิงหาคม 2550 17:34 น.

       ครั้งที่ 167
       สำหรับวันจันทร์ ที่ 20 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2550
       
       “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.”
       
       บทบรรณาธิการครั้งนี้เขียนค่อนข้างยาก เพราะวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม เป็นวันออกเสียงประชามติ ซึ่งหากจะรอผลการออกเสียงประชามติเพื่อนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในบทบรรณาธิการก็จะช้าเกินไปเพราะกว่าจะทราบผลก็คงเช้าวันอังคารที่ 21 สิงหาคม แต่กำหนดวันเปลี่ยนบทบรรณาธิการของเราคือ 20 สิงหาคม ด้วยเหตุนี้เองที่บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงไม่สามารถเขียนเรื่องเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติหรือรัฐธรรมนูญดังเช่นที่เขียนต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลาย ๆเดือนที่ผ่านมาครับ บทบรรณาธิการคราวหน้า คงมีความชัดเจนทางด้านการเมืองเกิดขึ้นพอสมควร เราค่อยมาพูดคุยตอนนั้นแล้วกันครับ
       สำหรับแฟนประจำของ www.pub-law.net คงเห็นความเปลี่ยนแปลงด้าน “หน้าตา” ของเราไปแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษนอกจากต้องการปรับรูปโฉมให้ดูสวยงามขึ้นครับ ส่วนใครที่ยังไม่มีหนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 6 ” ก็รีบๆ ขอมาก่อนที่หนังสือจะหมดนะครับ
       บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมขอพูดเรื่องของตัวเองนะครับ คงต้องย้อนกลับไปที่ปี พ.ศ. 2548 ที่ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็น “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2548” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติครับ การเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็น “รางวัล” สูงสุดของความเป็นนักวิชาการรางวัลหนึ่งที่น้อยคนนักจะได้รับรางวัลดังกล่าว เท่าที่ผมทราบ มีผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขานิติศาสตร์ที่ผ่านมาในรอบ 20 ปีอยู่ 6 คน โดยผมเป็นคนที่ 7 ครับ นี่เป็นเรื่องเก่าที่ผมจำเป็นต้องนำมาเล่าใหม่เพราะมีความเชื่อมโยงกับเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปว่า รางวัล “ระดับชาติ” สำหรับนักวิจัยนั้นจริงๆแล้วมีอยู่สองรางวัลด้วยกัน คือ “รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ “รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งในปีนี้ผมได้รับการคัดสรรให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครับ
       การเป็นเมธีวิจัยอาวุโสของ สกว. นั้นต่างจากการเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เพราะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติเป็น “รางวัล” ที่พิจารณาจากผลงานในอดีตที่ผ่านมาในขณะที่เมธีวิจัยอาวุโสของ สกว.นั้นเป็น “รางวัล” ที่นอกจากจะพิจารณาจากผลงานในอดีตที่ผ่านมาเช่นกันแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจะได้ “ทุนวิจัย” ด้วย โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว.ได้นั้นจะต้องเป็นนักวิจัยชั้นนำที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับทั่วไปในระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าทีมวิจัย สามารถพัฒนาทีมงาน พัฒนาผลงานและพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ โดยในการคัดสรรเมธีวิจัยอาวุโส สกว.นั้น จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ทำการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากรายชื่อของนักวิจัยชั้นนำของประเทศ เมื่อได้รายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับคัดสรรให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว.แล้ว สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัยก็จะทาบทามบุคคลเหล่านั้นให้เสนอโครงการวิจัยที่มีระยะเวลาในการทำงาน 3 ปี ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมิน ในที่สุดเมื่อโครงการวิจัยผ่านการประเมิน บุคคลดังกล่าวก็จะเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และจะได้รับทุนเพื่อทำงานวิจัยขนาดใหญ่ 1 ชิ้น ใช้เวลา 3 ปี ร่วมกับนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่อยู่ในทีมวิจัยครับ
       เมื่อผมได้รับการ “ทาบทาม” ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาผมก็รีบดำเนินการจัดทำโครงการวิจัยพร้อมทั้งชักชวนผู้ที่ผมมองเห็นว่าจะเป็นนักวิจัยที่ดีต่อไปและร่วมทำงานด้วยกันได้จำนวนหนึ่ง โดยหัวข้อโครงการวิจัยที่ผมได้เสนอไปก็คือ “แนวทางในการจัดทำประมวลกฎหมายว่าด้วยการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติในประเทศไทย” ครับ ผมมองเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยเพราะบริการสาธารณะเป็นภารกิจโดยตรงของรัฐที่จะต้องจัดทำเพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยภายในประเทศได้รับความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตตามปกติ การจัดทำบริการสาธารณะในประเทศไทยมีวิวัฒนาการอันยาวนานมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว โดยในยุคนั้น บริการสาธารณะทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณะประเภทที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีสาธารณูปโภค รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็มีในบางช่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์ทรงมี “พระบรมราชานุญาต” ให้เอกชนเข้ามาทำ เช่น การขุดคลอง หรือการสร้างรถไฟในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตราพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พุทธศักราช 2471 ขึ้นเพื่อกำหนดสาธารณูปโภคบางประเภทที่รัฐ “ผูกขาด” แต่ผู้เดียวที่จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ได้มีข้อสงวนไว้ว่าอาจให้เอกชนเข้ามาดำเนินการได้โดยวิธีให้สัมปทานหรือทรงมีพระบรมราชานุญาต ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475 ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ ทำให้มีกฎหมายเพิ่มมากขึ้นโดยมีทั้งกฎหมายที่จัดตั้ง “องค์กร” ขึ้นเพื่อจัดทำบริการสาธารณะและกฎหมายที่กำหนด “กติกา” ในการจัดทำบริการสาธารณะ กฎหมายต่าง ๆนับวันก็จะมีจำนวนมากขึ้นและไม่เป็นระบบ ทำให้การจัดทำบริการสาธารณะทั้งโดยรัฐและเอกชนเกิดปัญหาหลาย ๆ ประการ เช่น ปัญหาเรื่อง “รูปแบบ” ขององค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ ปัญหาการแบ่งแยกบริการสาธารณะระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการตรากฎหมายจำนวนมากเพื่อการกระจายอำนาจรวมทั้งยังมีกฎหมายจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจขึ้นหลายประเภทที่มิได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และการมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกำหนดหน้าที่ขององค์กรกระจายอำนาจ ปัญหาการกำหนดประเภทบริการสาธารณะที่รัฐควรเป็นผู้ทำเองหรือให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการหรือมอบให้เอกชนไปดำเนินการแทนรัฐ ปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และปัญหาในการกำกับดูแลกิจการของรัฐที่ถูกแปรรูปไปแล้ว ฯลฯ ปัญหาต่าง ๆเหล่านี้มีจำนวนมากและสร้างความยากลำบากให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ดำเนินการ ผมจึงคิดว่าควรมีการ “จัดระบบ” การจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติเสียใหม่ด้วยการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาจัดให้เป็นหมวดหมู่และจัดให้เป็นระบบ ปรับปรุงให้สอดคล้องกันและสร้างกลไกที่ยังขาดเสริมเข้าไปให้ครบเพื่อที่จะได้เกิดความเป็นระบบในการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติในประเทศไทยในวันข้างหน้าต่อไป สิ่งที่จะได้จากงานวิจัยที่ผมเสนอไปก็คือ ร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์พร้อมคำอธิบายประกอบร่างกฎหมาย (exposé des motifs) เพื่อนำมาใช้เป็นกฎหมายกลางสำหรับการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในวันข้างหน้าโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติใหม่ที่จะมีการแยกประเภทและกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะที่รัฐจะยังคงผูกขาดการจัดทำอยู่กับการจัดทำบริการสาธารณะที่รัฐอาจให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการได้ รวมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะเป็นระบบกว่าที่เป็นอยู่และจะปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติได้มากกว่าเช่นกัน ร่างประมวลกฎหมายว่าด้วยการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติในประเทศไทยพร้อมคำอธิบายร่างกฎหมายที่ผมจะนำเสนอในงานวิจัยนี้ จะเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์และพร้อมที่สามารถนำไปใช้ได้หากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสนใจ
       รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. นี้มีมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการให้รางวัลนี้กับนัก “นิติศาสตร์” ผู้ใดเลยครับ ดังนั้น ผมจึงเป็นนักนิติศาสตร์คนแรกที่ได้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และเนื่องจากผมเคยได้รับรางวัลนักวิจัยระดับชาติมาแล้วคือ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จึงทำให้ผมเป็น “นักกฎหมายคนแรก” ที่ได้รับรางวัล “ระดับชาติ” ที่มีอยู่ทั้งสองรางวัลครับ
       ที่เล่ามาก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะ “โอ้อวด” หรือ “ยกย่องตัวเอง” นะครับ เพียงแต่ผม ต้องการ “สื่อ” ให้ทราบว่าผมเป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่งที่มีความตั้งใจในการทำงานอย่างมาก เมื่อ “ประสบความสำเร็จ” ก็อยากจะเล่าสู่กันฟัง รางวัลเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตผม ผมก็ยังคงเป็นอาจารย์คนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีงานวิจัยทำแม้จะได้รางวัลหลายรางวัลก็ตาม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในวงการต่างๆของบ้านเรานั้นยังคงเป็นวงการที่มีลักษณะ “อุปถัมภ์” อยู่ คนที่จะเข้าไปทำงานวิจัยกับบุคคลอื่นได้ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องมีพรรคมีพวก ไม่เรื่องมาก ยอมทำงานหนักเพื่อให้ได้เงินน้อย และนั่งดูบรรดาผู้จัดการโครงการ หัวหน้าโครงการหรือที่ปรึกษาโครงการได้เงินมากแต่ไม่ต้องทำงาน บ่นก็ไม่ได้เพราะงานหน้าจะไม่ได้ร่วมทีมครับด้วย นักวิชาการ “เล็กๆ” อย่างผมที่แม้จะมีความ “ชำนาญ” อย่างมากในบางสาขาจึงไม่เคยมี “ศูนย์วิจัย” ไหนเลยที่ขอหรือชักชวนให้ผมทำวิจัยด้วย แม้ได้รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติมาแล้วก็ตาม !
       เมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา มีบทบรรณาธิการของผมหลายชิ้นไปปรากฏอยู่ในเว็บไซต์หลายแห่ง บางเว็บไซต์ก็นำไปใช้เป็นเอกสาร “สนับสนุน” การกระทำของตนหรือของพรรคการเมืองหรือของกลุ่มการเมือง ผมก็ต้องขอเรียนให้ทราบทั่วกันอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อมูลทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นั้นเป็นข้อมูลสาธารณะ ที่ผู้ใดจะนำไปใช้ก็ได้ แต่การนำไปใช้นั้นผู้ใช้คงต้อง “เคารพ” เจตนาดั้งเดิมของผู้เขียนด้วยครับ ! ผมเป็นนักวิชาการแท้ๆที่ต้องการแสดงเพียงความเห็นทางวิชาการของผมเท่านั้น! ผมไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองนะครับ ดังนั้น งานเขียนของผมจึงไม่ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบทางการเมืองใด ๆทั้งสิ้น ผมใช้สิทธิของประชาชนคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นทางวิชาการเพื่อให้เกิดความคิดเห็นทางวิชาการที่หลากหลายในแต่ละประเด็นครับ เพราะฉะนั้นการนำเอาความคิดเห็นของผมไปผนวกเข้ากับความคิดเห็นที่มีเจตนาให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่ “ผิด” เจตนาในการเขียนบทบรรณาธิการของผมครับ!
       
       สัปดาห์นี้เรามีบทความ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกคือ เรื่อง “ผลที่จะตามมาหลังการลงประชามติ” โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สองเรื่อง “สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการเมือง ครั้งที่ 2 (กรณีศึกษา case study : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ของสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สอง(พ.ศ. 2550) โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ซึ่งเจ้าของบทความก็ได้ทยอยเขียนมาลงเรื่อยๆในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็กลายเป็นบทความขนาดยาวใกล้ 100 หน้าเข้าไปแล้วครับ เป็นบทความที่ “ต้องอ่าน” เป็นอย่างยิ่งสำหรับนักกฎหมายมหาชนและผู้สนใจกฎหมายมหาชนครับ ผมก็ต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1141
เวลา 25 เมษายน 2567 09:17 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)