ครั้งที่ 173

11 พฤศจิกายน 2550 21:57 น.

       ครั้งที่ 173
       สำหรับวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2550
       
       “โหมโรงเลือกตั้ง (2)”
       
       ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วผมได้นำเสนอองค์ประกอบเบื้องต้นที่สำคัญ 3 ประการที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 ประสบผลสำเร็จ นั่นก็คือ พรรคการเมืองกับนักการเมือง การกำกับดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม และการสนับสนุนการเลือกตั้งโดยรัฐ โดยผมได้กล่าวในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วถึงเรื่องแรกคือเรื่องพรรคการเมืองกับนักการเมืองไปก่อนโดยชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองของไทยเราส่วนใหญ่ยังห่างไกลจากความเป็นพรรคการเมืองทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติของต่างประเทศอยู่มากที่นอกจากจะไม่มี “ความถาวร” แล้ว นโยบายพรรคการเมืองก็ยังไม่มีความชัดเจนอีกด้วย นโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่เท่าที่เห็นอยู่ก็คือพยายามนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงใกล้ๆการเลือกตั้งมานำเสนอเป็นนโยบายพรรคการเมืองซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วสิ่งที่พรรคการเมืองพากันเสนอก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นนโยบายได้เพราะดูๆแล้วก็คือการ “ซื้อเสียง” อีกรูปแบบหนึ่งนั่นเองครับ ในความเป็นจริงนั้น นโยบายพรรคการเมืองจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ มี “ตรรกะ” ในตัวที่สามารถตอบคำถามได้หมด เช่นการเสนอโครงการประชานิยมต่างๆ รวมไปถึงการเสนอลดภาษีหลายๆประเภทด้วยในเวลาเดียวกัน คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจัดโครงการประชานิยม? เพราะในเมื่อทุกอย่าง “ฟรี” หมดแถมยังลดภาษีอีกต่างหาก !!! นี่แหละครับที่ผมมองไปว่าจริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้คงเรียกว่าเป็นนโยบายพรรคการเมืองไม่ได้ เพราะมีแต่ข้อสัญญาว่าจะให้ทั้งนั้นและการให้ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะมีอนาคตอย่างไร ผมจึงมองว่าข้อเสนอที่มีอยู่ก่อนการเลือกตั้งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการซื้อเสียงอีกรูปแบบเท่านั้นเองครับ ส่วนนักการเมืองทั้งหลายนั้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไป ฤดูกาลจะเปลี่ยนไปแต่นักการเมืองของเราก็ไม่เคยเปลี่ยนจุดยืนเลยครับเพราะจุดยืนที่นักการเมืองจำนวนหนึ่งมีคือการไม่มีจุดยืน ครับ อยู่ที่ไหนก็ได้กับใครก็ได้ ขอเพียงแต่ให้ใกล้หรือได้เป็น “ศูนย์อำนาจ” เท่านั้นเองครับ น่าเศร้าใจนะครับ ไม่ทราบว่าประเทศไทยเราต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่จึงจะสามารถทำให้การเมืองของเราเป็นการเมืองที่ “ชัดเจน” ทั้งในด้านนโยบายและตัวบุคคลครับ จะได้ไม่ต้องมา “แสร้ง” เป็นคนกลาง ทางสายกลางหรือโซ่ข้อกลางกันเหมือนเช่นทุกวันนี้ครับ
       ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจะขอพูดอีก 2 เรื่องที่ได้ตั้งประเด็นไว้ในคราวที่แล้วแต่ยังไม่ได้กล่าวถึงโดยในเรื่องแรกที่จะพูดถึงก็คือการดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบประชาธิปไตยที่อย่างน้อยหากเราได้คนดีเข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติโอกาสที่ประเทศชาติจะก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองก็พอมองเห็นได้ครับ! เรื่องนี้เราคงยังจำได้ว่าก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 จะมีผลใช้บังคับ กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่เป็นผู้จัดให้มีการเลือกตั้งและข้อพิพาทที่เกิดจากการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมทั้งสิ้น ในช่วงนั้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้คุมกลไกของรัฐในการจัดการเลือกตั้งเอาไว้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พรรคการเมืองต่างก็ให้ความสนใจที่จะ “ยึด” กระทรวงมหาดไทยไว้ในมือครับ ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2540 ประกาศใช้บังคับ เราก็ได้คณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระจากทุกฝ่าย อิสระทั้งที่มาและอิสระในการดำเนินงานเข้ามาจัดการเลือกตั้งแทนที่กระทรวงมหาดไทย การเลือกตั้งของเราก็เลยเข้าสู่ระบบใหม่ จริงอยู่อาจมีในบางช่วงเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง “มีปัญหา” แต่ในภาพรวมแล้ว สำหรับ “คอการเมือง” คงมองเห็นความแตกต่างระหว่างการจัดการเลือกตั้งก่อนปี พ.ศ.2540 กับหลังปี พ.ศ.2540 ได้อย่างชัดเจนครับ คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากมายนักในเรื่องนี้นะครับ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ เราก็มีคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ที่แม้จะมีที่มาจากคณะรัฐประหารแต่ด้วยคุณสมบัติส่วนตัวที่มีอยู่คือเป็นผู้ที่มาจากกระบวนยุติธรรมระดับสูงของประเทศ ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมครับ เรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งคงจะมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นเพราะเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง(ครส.) ที่มีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หลายประการ เช่น กำหนดนโยบายและวางแผนการตามนโยบายตามวาระแห่งชาติ ส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตยให้กับประชาชน รณรงค์ให้การเลือกตั้งปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง สร้างความรู้ความเข้าใจและค่านิยมอันดีให้กับประชาชน ส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวเป็นกลาง ฯลฯ ซึ่งผมอ่านดูอำนาจหน้าที่ของ ครส. แล้วความรู้สึกแรกที่มีคืออด “ขำ” ไม่ได้ครับ น่ารักดีนะครับที่มอบให้ ครส. ทำหน้าที่ “ดึกดำบรรพ์” เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตยให้กับประชาชน ! ไม่ทราบประธานคณะกรรมการจะมีแนวทางในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรครับ แค่จะบอกว่าประชาธิปไตยกับการรัฐประหาร สิ่งไหนถูกต้องกว่ากันก็ลำบากแล้วนะครับ !!! เราไม่พูดเรื่องนี้ดีกว่านะครับ ก็รู้ๆกันอยู่ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ที่ผมอยากจะกล่าวถึงก็คือการที่รัฐบาลตั้ง ครส.ขึ้นมาทั้งๆที่มีคณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ผมไม่ทราบว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะทำเช่นนี้เพราะเรามาพิจารณาดูอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่เหล่านั้นอยู่แล้วนะครับ ก็ไม่ทราบจริงๆว่ารัฐบาล “คิดอะไร” อยู่ถึงได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง(ครส.)ขึ้นมาหรือว่าอยู่ดีๆเกิด “ไม่ไว้ใจ” คณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมาก็ไม่ทราบได้นะครับ ! ในวันนี้ ครส.ก็เกิดขึ้นแล้วและก็เริ่มทำงานกันไปบ้างแล้ว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีข่าวว่า ครส.ขอให้ กกต. มีมติให้ ครส.เข้ามาช่วยตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้งซึ่งต่อมาก็มีข่าวออกมาว่า กกต. ไม่ออกมติรับรองอำนาจให้ครส. เข้ามาตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้งแต่ออกมติรับรองให้แค่ช่วยรณรงค์เลือกตั้งเท่านั้น ก็สนุกดีนะครับ อยู่ดีไม่ว่าดีก็หาเรื่องแปลกๆที่มีแต่จะสร้างความแตกแยกในสังคมขึ้นมาเล่นกัน ง่ายที่สุดที่จะทำได้ก็คือต้อง “เคารพ” ในหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง ส่วน ครส. ทำได้มากที่สุดก็แค่รณรงค์การเลือกตั้งเท่านั้นเองครับ อย่าวุ่นวายมากไปกว่านี้เลยครับ คงต้องให้กำลังใจ กกต. ให้ทำหน้าที่ของตนเองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไปอย่างเคร่งครัดนะครับ อย่ามอบอำนาจอะไรให้ใครเลยครับเพราะหากเกิดปัญหาขึ้น และกระทบต่อการเลือกตั้ง กกต. ผู้มอบอำนาจจะต้อง “ร่วม” รับผิดชอบด้วยและจะทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาใน กกต. ตามไปด้วยครับ คงต้องปล่อยให้นายกรัฐมนตรีผู้แต่งตั้ง ครส. และ ครม. ไปหา “งาน” ที่พอจะให้ ครส. ทำได้กันเองแล้วกันนะครับ!!! ไปๆมาๆหากการดำเนินการของ ครส. ส่งผลทำให้การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม เป็น “โมฆะ” ก็จะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมาแน่นอนครับ!!!
       เรื่องสุดท้ายที่เราจะดูกันก็คือเรื่องการสนับสนุนการเลือกตั้งโดยรัฐครับ จริงๆเรื่องนี้ผมได้เคยทั้งเขียนและทั้งพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า การสนับสนุนพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยรัฐเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะส่งผลทำให้การซื้อเสียงน้อยลง ลองนึกภาพดูว่าหากรัฐให้การสนับสนุนทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองอย่าง “ครบวงจร” และรัฐเข้าไปควบคุมค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองดังเช่นที่ทำกันอยู่ในต่างประเทศ การซื้อเสียงก็แทบจะหมดลงครับ ย้อนกลับไปดูเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ใช้บังคับ มาตรา 113 ได้กำหนดเรื่องการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า ให้รัฐจัดที่ปิดประกาศ ที่ติดแผ่นป้าย พิมพ์และจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จัดหาสถานที่หาเสียงเลือกตั้งและจัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งผมก็จำไม่ได้แล้วว่า กกต. ชุดเก่าได้ดำเนินการตามมาตรา113 ข้างต้นไปบ้างหรือไม่ แต่เมื่อผมทราบข่าวว่า กกต.ชุดปัจจุบัน ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรัฐออกมา ผมก็รู้สึกดีใจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่พวกเราทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เมืองที่เราอยู่จะดูสกปรกโสโครกมากเพราะเต็มไปด้วยแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดกันเต็มเมือง และติดกันทุกที่โดยไม่คำนึงถึงความสวยงามของเมือง และความสะดวกปลอดภัยของประชาชนที่ต้องใช้ถนนที่เต็มไปด้วยป้ายขนาดต่างๆ เต็มไปหมด แต่อย่างไรก็ดีประกาศของ กกต. ดังกล่าวก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วในบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองว่าขัดต่อ “วัฒนธรรมทางการเมือง” ของไทยครับ เรื่องนี้ผมว่า นานาจิตตังนะครับ มาถามผม ผมยังอยากให้ติดป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้เท่านั้น บ้านเมืองจะได้ไม่สกปรกมากเกินไปครับ จริงๆ แล้วเมื่อผมได้อ่านประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550 ที่ได้ให้คำนิยามของคำว่า “สาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ” เอาไว้ว่า หมายความว่า ที่ตั้ง สถานที่ ที่สาธารณะที่อยู่ในความดูแลครอบครองของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ องค์การมหาชน แล้วผมก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างเพราะเท่าที่ศึกษาดูจากกฎหมายของต่างประเทศบางประเทศ บรรดาที่สาธารณะ ( public space ) เหล่านี้ ถือกันว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วยครับ ดังนั้นการใช้ public space ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนจึงต้องมีความสมดุล ด้วยครับ จริงอยู่แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะรับรองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินเอาไว้ในมาตรา 41 แต่สิทธิดังกล่าวก็ใช้ได้เฉพาะกับทรัพย์สินส่วนบุคคลเท่านั้น ก็ไม่ทราบว่าบรรดา “คนเก่ง” ทั้งหลาย ( ทีวันนี้ทำไมเงียบกันจังก็ไม่ทราบ ! ) คิดอย่างไรกับเรื่องสิทธิของบุคคลในที่สาธารณะ ( public space ) เหล่านี้ครับ หรือว่า “คิดไม่ถึง” ครับ จริงๆ แล้วในต่างประเทศ มีการพูดเรื่อง public space มานานมากแล้วและในบางประเทศ เช่น ในประเทศฝรั่งเศสก็เคยมีปัญหาเกิดขึ้นมาว่า การที่ภาครัฐให้เอกชนเข้ามาติดป้ายโฆษณาใน public space ได้ถือว่าเป็นการ “บังคับ” ให้ประชาชนต้อง “ทนดู” กับสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการดูหรือไม่ เพราะประชาชนก็เป็น “เจ้าของ” ที่เหล่านั้นด้วย และนอกจากนี้ก็ยังคิดไปไกลจนถึงว่า การนำเอา public space ที่ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ไปทำมาหากินและเอารายได้เข้าหน่วยงานของตนนั้น ถือเป็นการ “ปล้น” ประชาชนด้วยหรือไม่เช่นกันครับ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความสามารถทั้งในการศึกษาค้นคว้าและในการคิดครับ ก็คงต้องขอฝากประเด็นเล็กๆประเด็นนี้ไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ช่วยพิจารณาดูด้วยในสองกรณีคือ ในส่วนที่เป็นคำนิยามของสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐนั้น ประชาชนเองก็มีส่วนเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน กับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ public space นั้น ควรต้องคำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ public space เหล่านั้นด้วยนะครับ จะให้ดีแล้วห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองติดป้ายโฆษณาหาเสียงเองเลยน่าจะเหมาะสมกว่าไหมครับ ? บ้านเมืองจะได้สะอาด ประชาชนจะได้ใช้ถนนสาธารณะอย่างปลอดภัยเสียที่ครับ อย่าไปฟังแต่ฝ่ายการเมืองเพียงฝ่ายเดียวนะครับ
       
       ในครั้งนี้เรามีบทความที่เป็น “ตอนต่อ” บทความขนาดยาวของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ทวีการวิจารณ์ที่ “เข้มข้น” ขึ้นเรื่อยๆ ครับ บทความดังกล่าวมีชื่อว่า “สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1164
เวลา 20 เมษายน 2567 01:26 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)