ครั้งที่ 177

6 มกราคม 2551 19:14 น.

       ครั้งที่ 177
       สำหรับวันจันทร์ที่ 7 มกราคม ถึง วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2551
       
       “รัฐบาลใหม่ควรทำอะไรบ้าง”
       
       ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่บรรดา “คอการเมือง” ต่างก็ให้ความสำคัญกันอย่างใจจดใจจ่อกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ.2550 และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยหลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันต่างก็พากันออกมาพูดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยกันเสียที
       ในส่วนตัวผมเองนั้น ระบอบประชาธิปไตยควรจะต้องประกอบด้วยหลายๆอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยควรรู้จัก “หน้าที่” ของตนเองให้ชัดเจนก่อน เริ่มตั้งแต่ประชาชนในฐานะ “ผู้เลือก” ก็ควรจะต้องรู้ว่าตนมีหน้าที่ “เลือก” คนที่ดีที่สุดเข้าไปเป็นตัวแทนของตนในรัฐสภา นักการเมืองในฐานะ “ผู้ถูกเลือก” ก็จะต้อง “รู้จักตัวเอง” ว่ามี “ความสามารถ” เพียงพอที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาได้และก็ต้องรับรู้อย่างชัดแจ้งด้วยว่าหน้าที่ของตนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอย่างไร หากทั้งผู้เลือกและผู้ถูกเลือกรู้ “หน้าที่” ของตนดีพอแล้วก็เป็นที่มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า เราคงจะเข้าสู่การปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ดี ตัวละครของระบอบประชาธิปไตยยังมีอีกมาก ข้าราชการเองก็ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ในขณะที่ทหารก็ควรจะต้อง “ทราบ” เสียทีว่าบทบาทและหน้าที่ของตนเองคืออะไร จริงๆแล้วผมอยากเสนอว่าน่าจะมีการให้ทุนทำวิจัยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของประเทศด้วยการใช้กำลังเข้าทำการรัฐประหารว่า ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมามีประเทศ “ประเภท” ไหนบ้างที่เขาทำกัน แล้วหลังการทำรัฐประหารในประเทศเหล่านั้นเหตุการณ์ต่างๆที่ตามมาเป็นอย่างไร มีปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมตามมาหรือไม่ มีการใช้อำนาจโดยมิชอบตามมาหรือไม่ มีการทุจริตคอรัปชั่นตามมาหรือไม่ และกว่าประชาธิปไตยจะกลับคืนมาต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ รวมไปถึงดูด้วยว่าตัวผู้ทำรัฐประหารเป็นอย่างไรต่อไป จบอย่างดีหรือไม่ ฯลฯ งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการ “เปิดหู เปิดตา” หลายๆฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชน ฝ่ายนักการเมือง และฝ่ายผู้ที่คิดว่าจะทำรัฐประหารด้วยครับ !!!
       กลับมาดูผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปว่าคือ “อดีตพรรคไทยรักไทย” ที่ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยุบไปเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ “ทิ้งห่าง” จากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นที่สองอยู่มาก ปรากฏการณ์นี้ย่อมแสดงให้เห็นได้ในระดับหนึ่งว่าประชาชนส่วนหนึ่งยังคง “ชอบ” พรรคไทยรักไทยอยู่ มิเช่นนั้นก็คงไม่เลือกพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็น “พรรคการเมืองตั้งใหม่” อย่างแน่นอนครับ แต่ถ้าหากจะดูเข้าไปให้ลึกและละเอียดกว่านั้นก็จะพบว่าภายหลังการยุบพรรคไทยรักไทย มีสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่เช่นกันด้วยเหตุผลหลายประการ คนเหล่านั้นจำนวนหนึ่งก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองใหม่ที่ตนไปสังกัดอยู่ ซึ่งหากเราเอาคนเหล่านี้มานับรวมเข้าด้วยกันก็จะพบว่ามีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว และหากคิดไปไกลกว่านั้นว่าถ้าหากกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและสามารถลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสาย “ไทยรักไทย” เดิมจะมีอยู่เท่าไหร่ ไม่อยากคิดครับ ! ที่เขียนมานี้ก็ไม่ได้จะ “เชียร์” ฝ่ายใดทั้งนั้นนะครับ แต่อยากจะเข้าไปสู่ประเด็นที่ว่า แล้วรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาทำไปเพื่ออะไร !!!
       เหตุ 4 ข้อ ของการทำรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 เป็นสิ่งที่นักวิชาการและผู้สนใจการเมืองนำมาพูดกันมากว่า เป็นเหตุผลเพียงพอและสมควรที่จะทำรัฐประหารหรือไม่ ซึ่งภายหลังการทำรัฐประหารฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกมาดำเนินการต่างๆเพื่อ “สร้างความชอบธรรม” ให้กับการทำรัฐประหาร ซึ่งจนถึงวันนี้เราก็พอมองเห็นกันแล้วว่าทำอะไรไม่ได้มากเท่าไรในหลายๆเรื่อง เช่น การยุบพรรคไทยรักไทย ที่แม้จะยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังโต้เถียงกันอยู่ว่าจะส่งผลทำให้เกิดการแก้ปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่ เพราะในวันนี้เราก็เห็นกันอยู่แล้วว่าพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยภายหลังจากการที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาอย่างเด็ดขาด การกล่าวหาว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ทุจริต มีการตั้งคตส.ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทุจริตต่างๆของอดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว รวมไปถึงตรวจสอบการดำเนินงานบางอย่างของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาด้วย ซึ่งวันนี้เวลาผ่านไป 15 เดือนแล้วเราก็ยังไม่มีคำตอบที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนเช่นกันว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีความเป็นจริงทั้งหมดหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ต้นจนถึงทุกวันนี้ว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้นมีข้อบกพร่องอยู่ไม่มากและสามารถ “แก้ไข” ได้โดยไม่ต้องทำรัฐประหาร กระบวนการได้มาซึ่งตัว “ผู้ร่าง” รวมทั้ง “เนื้อหา” ของรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 เองก็มีส่วนทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความ “สง่างาม” น้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 อยู่มาก สำหรับ รัฐบาล ที่คณะรัฐประหารจัดให้มีก็ทำอะไรได้ไม่มากและไม่ได้ดี สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วก็เข้าไป “แก้” จนกระทั่งเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่นปัญหาเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิที่ในตอนท้ายหลังการรัฐประหารไม่กี่วันก็มีการให้ข่าวกันถึงขนาดต้อง “ปิด” สนามบินแห่งนั้น ต่อมาเมื่อมีการอนุมัติให้ “เปิด” สนามบินดอนเมืองเสียงโวยวายก็เงียบหายไปเป็นส่วนใหญ่แต่วิบากกรรมก็ยังไม่หมดเพราะมีการยกเลิกสัญญาของร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิโดยอ้างว่าไม่ทำตามกฎหมายทั้งๆที่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาดของฝ่ายรัฐที่ไม่ดำเนินการ ไม่ใช่ข้อผิดพลาดของฝ่ายเอกชนคู่สัญญา การเลิกสัญญาทำให้รัฐขาดรายได้เป็นจำนวนมากและยังคงเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป นอกจากนี้แล้วเราก็ยังพบว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารเป็นรัฐบาลที่ไม่กล้าตัดสินใจในโครงการสำคัญๆของประเทศ ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้และนอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นอีกสิ่งหนึ่งตลอดระยะเวลา 15 เดือนที่ผ่านมาหลังการทำรัฐประหารคือ ความแตกแยกในสังคม การแบ่งขั้ว การแบ่งฝ่าย ซึ่งนับวันก็จะมากขึ้นและลึกเข้าไปมาก จนถึงวันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเราจะแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมนี้ได้อย่างไร รวมความแล้วสิ่งที่ตามมาภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือความสูญเสียในทุกๆด้านและในทุกๆฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชนหรือฝ่ายการเมือง จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบผลงานและเหตุการณ์ของ2 ช่วงเวลาโดยมีวันที่ 19 กันยายนเป็นเส้นแบ่งของช่วงเวลาทั้ง2 ครับ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ทำไมพรรคพลังประชาชนถึงได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยจำนวนที่มากเช่นนั้นครับ
       ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้พรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจำนวนมากก็คือการ “เปรียบเทียบ” กับบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ คงไม่ต้องพูดถึงพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่เพราะเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าส่วนหนึ่งต้องการ “อาบน้ำแต่งตัว” ใหม่เพื่อล้างภาพที่เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทย แต่ที่อยากจะพูดถึงก็คือบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วช่วงเวลา 15 เดือนหลังรัฐประหารจนถึงวันเลือกตั้ง แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอที่จะ “เตรียมเสนอ” สิ่งที่ดีให้กับประชาชน เช่นนโยบายในการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว มาตรการในการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นทั้งของภาครัฐและภาคการเมือง ในช่วงเวลาดังกล่าวแทนที่ประชาชนจะมองเห็นว่าภายหลังการเลือกตั้งหากเลือกพรรคการเมืองพรรคใดเข้ามาประเทศชาติและประชาชนจะได้อะไร เรากลับเห็นการ “กล่าวหา” รายวันจากพรรคการเมืองบางพรรค เห็นการจ้องจับผิดพรรคการเมืองที่ยุบไปแล้ว เห็นการจ้องจับผิดทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ จริงๆแล้วการจ้องจับผิดลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมสำหรับการทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายค้าน” ในสภามากกว่าเป็นฝ่ายที่ต้องการเสนอตัวเป็นรัฐบาลนะครับ เพราะรัฐบาลน่าจะนำเสนอนโยบายดีๆสำหรับประชาชนมากกว่า !!! เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลยที่คนจำนวนหนึ่งตัดสินใจเลือกพรรคพลังประชาชนหรือไม่ก็ตัดสินใจไม่เลือกพรรคใดเลย เพราะมองไม่เห็นว่าจะฝากอนาคตไว้กับพรรคการเมืองบางพรรคได้อย่างไร
       จากหลายๆสิ่งหลายๆอย่างที่ผมกล่าวไปแล้วนั้น ผมคิดได้ว่าปัญหาสำคัญของประเทศคงไม่มีวันแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เราเสียเวลาไป 15 เดือนและเป็นการเสียเวลาที่มีผลย้อนหลังด้วยคือทำให้เราต้อง “ถอยหลัง” กลับไปไกลพอสมควร ในวันนี้เราได้พรรคการเมืองเดิมๆเข้ามาใหม่คนเหล่านี้คิดแบบเดิม พูดจาแบบเดิม มีลีลาแบบเดิมทุกอย่าง แถมยังเล่นการเมืองแบบเดิมอีกต่างหาก นโยบายที่แท้จริงคือไม่มีนโยบายเพื่อที่จะเข้ากับใครก็ได้ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องอ้างประชาชน อ้างประชาธิปไตย อ้างทั้งๆที่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่ควรอ้างเลยครับ เพราะเบื้องหลังของเหตุผลที่นำมาอ้างทั้งหมดก็คือความต้องการเข้าร่วมรัฐบาล เข้าไปอยู่ในศูนย์อำนาจนั่นเองครับ อย่างนี้จะไม่ให้ผมกล่าวว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้กับประเทศไทยเลยได้อย่างไร เพราะ 15 เดือนที่ผ่านมานั้นผมยังมองไม่เห็นเลยว่าเรามีสิ่งดีๆสิ่งใดเกิดขึ้นกับเราบ้าง แถมในวันนี้หากไม่ได้เป็นการมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป ผมก็อยากจะคิดว่าการเมืองของเราก็คงจะกลับไปเป็นแบบเก่าอีกครั้งหนึ่ง แต่รูปแบบอาจต่างกันบ้างเล็กน้อยตรงที่มี “ผู้บัญชาการ” ที่คอยสั่งการมาจาก “ข้างนอก” นั่นเองครับ
       คงต้องมาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างไร ผมคงไม่อาจเอื้อมที่จะเสนอข้อเสนอให้กับรัฐบาลแต่อยากจะเปิดประเด็นทางวิชาการให้กับสังคมเพื่อที่จะได้เกิดข้อถกเถียงอันนำไปสู่การปฏิบัติครับ ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วผมได้เสนอรูปแบบของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอาไว้แล้วซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสื่อต่างๆ รวมทั้งมีผู้ส่ง e-mail มาวิพากษ์วิจารณ์อยู่ด้วย ก็ต้องฝากรัฐบาลใหม่เอาไว้ด้วยว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 จะต้องถูก “ทบทวน” โดยผู้มีความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญจริงๆครับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา การตั้งรัฐบาลและการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ส่วนเรื่องที่อยากจะฝากรัฐบาลใหม่เป็นเรื่องต่อมาในบทบรรณาธิการครั้งนี้มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พอมีทางเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะสร้างทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งสัก 2 ทีม ทีมแรกเป็นทีมที่รุกไปข้างหน้า เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของเราก้าวไปสู่จุดที่ควรจะเป็น ในขณะที่ทีมที่สองจะเป็นทีมที่เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่เสนอเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้รัฐบาลใหม่ห่วงหน้าพะวงหลังจนเกินไปนั่นเองครับ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคงต้องทำไปพร้อมๆกันทั้งสองทีม เพื่อที่จะให้เรา “ลืมตาอ้าปาก” ได้อย่างรวดเร็วขึ้น ส่วนเรื่องที่สองที่อยากจะฝากรัฐบาลใหม่ก็คือ อยากจะขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสักชุดหนึ่งเพื่อศึกษาดูว่า 15 เดือนที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องรีบเร่งแก้ไข เพราะตามข้อมูลที่ได้ทราบมานั้น เรามีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางรัฐวิสาหกิจที่บรรดาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (ที่มีที่มาจากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นผู้แต่งตั้ง) เข้าไปรื้อระบบต่างๆจนทำให้ยุ่งไปหมด ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ แค่การยกเลิกสัญญาร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมากอยู่แล้ว ผมอยากเห็นคณะทำงานที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อหาทางแก้ไขให้ทุกอย่างกลับ สู่สภาพที่ควรเป็นโดยเร็ว อันจะส่งผลตามมาให้กลไกต่างๆของประเทศเดินไปได้ตามปกติ ไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อหาเรื่องหรือเพื่อล้างแค้น ก็ขอฝากเรื่องทั้งหมดไว้กับรัฐบาลใหม่ด้วยโดยถ้าผมขอได้ก็อยากขอให้ถือเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนเลยครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 2 บทความ บทความแรกเป็นตอนต่อของบทความขนาดยาว เรื่อง “สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2” ของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของ คุณชนินทร์ ติชาวัน เรื่อง "ข้อเขียนเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1176
เวลา 28 มีนาคม 2567 23:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)