บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

21 มกราคม 2551 17:19 น.

       @ สิ่งที่หายไป หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
       

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมว่าชีวิตหายไป (นะ) ที่ว่าชีวิตหายไป เพราะเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเยอะมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนักการเมือง ชีวิตของนักการเมืองหายไปหมดเลย นักการเมืองถูกพักร้อน 5 ปี 111 คน ก็หายไป บางคนมีอาชีพนักการเมืองแต่ไม่มีความผิด แต่ชีวิตเขาก็หายไป ในขณะที่นักการเมืองที่ไม่ติดในข่าย 111 ในตอนต้นชีวิตของการเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็หายไปหมด บางคนก็พยายามเล็งว่าจะตั้งพรรคยังไงเพื่อให้เอาตัวรอด หรือพยายามอิงกับอำนาจเก่าที่มีอยู่ บางคนก็อิงกับอำนาจทหาร ฉะนั้นชีวิตของการเป็นนักประชาธิปไตยการเมืองก็หายไป
       
       ผมคิดว่าชีวิตหายไปค่อนข้างมาก เพราะในอดีตอย่างสมัยปฏิวัติตอนปี 34 เขาก็พยายามตั้งพรรคการเมืองเหมือนอย่างพรรคสามัคคีธรรม แต่ตอนนี้มันไม่มีพรรคลักษณะนั้น แต่มันเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยทุกคนพยายามบอกว่าตัวเองบริสุทธิ์ใจแต่เบื้องหลังอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น
       
       ดังนั้นผมคิดว่าชีวิตของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแท้ๆ หายไปแล้ว เหลือแต่นักการเมืองที่มีชีวิตอยู่เพื่อเอาตัวรอด เพื่อให้กลับมาได้กับการเลือกตั้ง
       
       นอกจากนี้ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นนักกฎหมายก็หายไปเหมือนกัน อย่างผม ผมรู้สึกว่าความถูกความผิดทางด้านกฎหมายมันหายไปตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว มีเหตุการณ์มากมายที่รัฐบาลคุณทักษิณทำแล้วไม่มีคำตอบด้านกฎหมาย
       
       ตอนต้นๆก็คิดว่าจะเก็บไว้สอนหนังสือเด็กเป็นกรณีตัวอย่าง แต่ตอนหลังมันมีทุกวัน ประเด็นที่ไม่ถูกต้องด้วยระบบนิติรัฐมันเกิดขึ้นมาหมด ความชอบธรรมก็หายไป จนความถูกต้องกลายเป็นข้อยกเว้นแล้วความไม่ถูกต้องหรือความไม่ชอบธรรมกลายเป็นหลัก นักวิชาการกลุ่มหนึ่งก็อยู่ดู ทำอะไรไม่ได้ เช่นเดียวกับผม
       
       ขณะที่ชีวิตของประชาชน ผมเสียใจแทนประชาชนไทยจำนวนหนึ่งที่ 70 กว่าปีของระบอบประชาธิปไตยมันไม่ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งรู้จักคำว่าประชาธิปไตย ปฏิวัติก็ยอมรับไปหมด ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ทั้งๆที่สังคมโลกเขาไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่เราก็ไปยอมรับ ถึงขนาดมีคู่แต่งงานไปถ่ายรูปหน้ารถถัง
       
       ชีวิตการเป็นประชาธิปไตยของคนไทยจำนวนนั้นก็หายไปด้วย เหมือนมีม่านมาบังตาว่ามันคือทางออกทางเดียวในการแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่
       
       @ กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ (มองผ่านคดียุบไทยรักไทย ไม่ยุบประชาธิปัตย์)
       

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมไม่อยากวิจารณ์ด้วยหลายเหตุผล โดยเฉพาะกลัวเรื่องหมิ่นอำนาจศาล แต่ผมอยากจะชี้ว่า ในวันที่ตุลาการเข้ามาแก้ปัญหา จริงๆถ้าเป็นคนที่รู้จักและเคารพและยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยจริงๆ เราจะทราบเลยว่าการแบ่งแยกอำนาจที่มีมานาน เขาได้แยกนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ออกจากกัน เหมือนกับการที่เราแยกข้าราชการออกเป็นข้าราชการทหารและพลเรือน คือทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง ตุลาการเองก็ถูกแบ่งแยกหน้าที่ว่าต้องทำอะไรบ้าง ฉะนั้นถ้าเราเคารพความเป็นประชาธิปไตยและหลักการแบ่งแยกอำนาจจริงๆ เราจะรู้ว่าแต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเองที่ไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายกันได้
       มีแต่ตรวจสอบซึ่งกันและกัน แต่บังเอิญในวันนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มี สภาก็ถูกคุณทักษิณยุบไปแล้ว คุณทักษิณก็รักษาการยาวนานหลายเดือน ช่วงก่อนหน้านั้นเราก็จะเห็นว่าฝ่ายบริหารเองก็ไม่มีสถานะเป็นฝ่ายบริหารเต็มที่ เพราะรัฐธรรมนูญ 40 ห้ามรัฐบาลรักษาการทำอะไรไว้หลายอย่าง
       
       ฉะนั้นเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติไม่มี ฝ่ายบริหารก็อ่อนแอและเข้มแข็งในเวลาเดียวกันเพราะไม่มีใครตรวจสอบ ดังนั้นก็เกิดการให้ฝ่ายตุลาการเข้ามา ซึ่งผมคิดว่าควรเป็นการเข้ามาในช่วงเวลานั้นเท่านั้นเอง และเข้ามาในกรอบของกฎหมายด้วย
       
       แต่ผมเองไม่เห็นด้วยกับการที่ตุลาการบางท่านออกมาพูดจาว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้
       เพราะผมเห็นว่าตุลาการสามารถทำได้อย่างเดียวเท่านั้นคือ พิจารณาพิพากษาคดีในศาลแต่ไม่สามารถออกมาทำอะไรนอกศาลได้
       
       ดังนั้นที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ามีการพิจารณาพิพากษากันหลายอย่าง เช่น เอากกต.ชุดเก่าออกจากตำแหน่ง แล้วพอมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้วก็มีการยุบพรรคการเมือง แล้วตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมาก็คืออำนาจตุลาการนั่นเองเพราะว่าใช้คนจากศาลปกครองและศาลยุติธรรม ไม่ได้เป็นคนข้างนอก ดังนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คือเข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะคราว ส่วนจะแก้ถูกหรือผิด ไม่ขอวิจารณ์


       @ รัฐธรรมนูญปี 50
       

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคนค้านกันเยอะ ส่วนตัวผมจากที่มานั่งทบทวนดูแล้ว ผมคิดว่าไม่มีทางรอดแน่ๆที่จะออกมาแล้วดี เพราะผมยังเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของนักกฎหมายที่มีความสามารถมากพอที่จะเห็นประเด็นเห็นข้อบกพร่อง แล้วนำข้อบกพร่องเหล่านั้น มาหาทางแก้ปัญหาของประเทศ
       
       รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเพื่อตัวเราเอง แต่เขียนเพื่อคน 60 กว่าล้านคน เขียนเพื่อพลเมืองของโลกด้วย เพราะมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศจำนวนมาก ดังนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก
       
       ตอนที่มีคนมาติดต่อผมเป็นหนึ่งในสิบ ผมก็เลยปฏิเสธไป เพราะคิดอยู่แล้วว่าเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากคนที่เข้าไปก่อนหน้าผม ผมไม่คิดว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยบอกไปแล้วว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมันต้องเขียนแบบอิสระ เราไม่สามารถทำอะไรภายใต้แรงกดดัน ภายใต้ข้อเรียกร้องต่างๆ ได้
       
       อีกประเด็นที่ผมตั้งข้อสังเกตก็คือ ในตอนที่เขาตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีความพยายามในการกันนักการเมืองออกจากวงโคจร ซึ่งเราเห็นด้วย แต่ประเด็นสำคัญคือทำไมถึงมีตัวแทนขององค์กรตามรัฐธรรมนูญจำนวนมากเข้าไปอยู่ในนั้น ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า ให้จับตาดูบทเฉพาะกาลว่าจะมีการสืบทอดองค์กรเหล่านั้นต่อหรือเปล่า
       
       ศาลรัฐธรรมนูญเราเห็นอยู่แล้วว่าปฏิวัติปุ๊บยุบศาลทันที ก็มีคนจากศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปช่วยเขียน มีคนจากกกต. มีคนจากคณะกรรมการสิทธิ์ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แล้วพอออกมาเราก็เห็นว่าในบทเฉพาะการคนเหล่านี้ยังอยู่ในตำแหน่งต่อ โดยอ้างว่าต้องทำงานต่อ
       
       แต่นี้คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะในเมื่อเราปฏิเสธนักการเมืองในฐานะที่เป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องปฏิเสธคนอื่นซึ่งเป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญด้วยเหมือนกัน
       
       เพราะในเมื่อนักการเมืองไม่สามารถต่อท่ออำนาจตัวเองได้ แต่ทำไมองค์กรอื่นสามารถต่อได้ ผมว่าไม่ใช่กระบวนการที่ถูกต้อง ผมก็เลยมีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ ยิ่งในตอนท้ายมีการกำหนดให้รัฐธรรมนูญต้องมีการออกเสียงประชามติ ผมคิดว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญ 49 ต้องฉลาดมาก เพราะเขารู้อยู่แล้วว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 50 มันผิด ผิดเพราะโครงสร้างมันผิดอยู่แล้ว โครงสร้างมี 10 คนจากคมช. เป็นไปไม่ได้หรอก ให้คนที่ทำรัฐประหารตั้งมาเขียนรัฐธรรมนูญ ผมว่าเป็นไปไม่ได้และไม่ได้รับการยอมรับแน่ๆ
       
       ส่วนเนื้อหา หลังจากที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว เราจะเห็นว่าอย่างมาตราสุดท้าย 309 เรื่องนิรโทษกรรม การปฏิวัติและการกระทำที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญแต่ก็อยู่ ใครเป็นคนเขียน ใครเป็นคนใส่ แล้วทำไมถึงไม่มีการคัดค้านในสสร. เลย
       
       @ ประชามติรัฐธรรมนูญ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมเข้าใจว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญปี 49 คงมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าด้วยโครงสร้างแบบนี้ ด้วยเนื้อหาแบบนี้ ถ้าปล่อยเอาไว้ไม่รอดแน่ ถึงได้กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติ คือกระบวนการผิดทั้งหมดกลับกลายเป็นถูก เหมือนกับการให้สัตยาบันโดยประชาชนเลยว่าถูกแล้ว ว่าประชาชนให้ความเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว ฉะนั้นผมถึงมองว่ามันไม่ใช่ระบบที่ควรจะต้องเป็น เพราะจริงๆ การออกเสียงประชามติมันสามารถทำได้ถ้าอยู่ในภายใต้บรรยากาศที่ดีหรือที่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่เป็นการพูดให้ประชาชนเข้าใจว่าต้องประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญจะได้มีการเลือกตั้ง
       
       ผมเคยออกมาบอกหลายครั้งว่า การออกเสียงประชามติเป็นไปได้มั๊ยที่จะไม่จัด เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูแล้วมันก็ไม่น่าจะถาวรเท่าไหร่
       
       ผมมีโอกาสไปประชุมในส่วนราชการหลายแห่ง แม้กระทั่งในส่วนราชการที่ทำหน้าที่ผลิตกฎหมายโดยเฉพาะ ผมยังเคยได้ยินกรรมการระดับผู้ใหญ่พูดกันว่า หวังว่ารัฐธรรมนูญคงใช้ไม่นาน ผมได้ยินนักการเมืองระดับผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ก็พูดเหมือนกันว่า ถ้าได้เข้าไปก็อาจจะต้องแก้เรื่องที่มา ส.ส. ส.ว. ซะหน่อยคือมีคนอยากแก้กันเยอะแยะไปหมด แล้วบางครั้งเราก็อ่านรัฐธรรมนูญไม่รู้เรื่องในบางมาตราบางส่วน ฉะนั้นในภาพรวมผมคิดว่า คงไม่นานหลังจากมีรัฐสภา คงมีการยกประเด็นว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญขึ้นมา
       
       ผมคิดว่าการลงประชามติเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า หากเราจำได้เราคงได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมาพูดว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลังเยอะไปหมด เหมือนเราตัดกางเกงตัดเสื้อแต่ใส่ไม่ได้ก็บอกว่าจ่ายเงินไปก่อนเอากลับไปบ้านแล้ววันหลังค่อยมาแก้ใหม่
       
       แต่ถามว่าในเมื่อเราทราบว่ามันใช้ไม่ได้ มีปัญหา ทำไมเราถึงต้องรับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ขนาดผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบอกว่ารับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ผมจะเชื่อใจได้ยังไงว่ารัฐธรรมนูญจะดี


       @ ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลขิงแก่
       

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : เราคงเคยได้ยินคนพูดสมัยรัฐบาลคุณชาติชาย (ชุณหวัณ) ผมจำได้ว่าเขาพูดกันอยู่เสมอว่าโกง 100 เปอร์เซ็นต์ คืนให้ประชาชนสัก 60 เปอร์เซ็นต์ก็ยังดี คือ 100 นึงเอาให้ประชาชน 60 โกง 40 ก็ยังพอไหว ผมว่าคำพูดพวกนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างว่าอย่างน้อยคนที่พูดคงยอมรับได้ในบางส่วนว่าจะโกงก็โกงนะ แต่ประชาชนควรได้รับผลตอบแทนบ้าง
       รัฐบาลที่เข้ามา ผมคิดว่าเมื่อดูภาพรวมเหมือนเป็นรัฐบาลมืออาชีพ เพราะมาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ว่าในบางที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีความขัดแย้งในที่ทำงานของตัวเองมาก่อน ฉะนั้นเมื่อเข้ามาก็เกิดปัญหาในหน่วยงานของตัวเอง
       
       คนที่เข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีบางคนก็เข้ามาโดยอาจจะมีความไม่ชื่นชมไม่ศรัทธาในระบบราชการอยู่แล้ว ดังนั้นเวลาเข้ามาก็ปฏิเสธไม่ยอมรับระบบราชการในบางเรื่อง ในขณะที่รัฐบาลรักษาการเอง ผมคิดว่า โอเค อย่างท่านรองนายกฯโฆสิต ท่านเป็นมือเศรษฐกิจ ท่านมีความรู้ด้านเศรษฐกิจดี แต่ว่าด้วยสภาพครม. ท่านทำอะไรมากไม่ได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ และยังขีดเส้นใต้อยู่ที่ความเป็นรัฐบาลรักษาการ
       
       ฉะนั้นเพียงชั่วเวลาไม่นาน เราจะเห็นได้ว่าประชาชนเริ่มเบื่อ สื่อมวลชนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ ที่เขาเบื่อหรือวิพากษ์วิจารณ์ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นเพราะตัวรัฐบาลนี้เองหรอก อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่เรานำไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลคุณทักษิณก็ได้ เพราะเราเห็นว่ารัฐบาลทักษิณ แม้เวลาที่คุณทักษิณเป็นรัฐบาลรักษาการประชาชนก็ยังได้อะไรอยู่ คุณทักษิณอาจเป็นนักการตลาดด้านการเมืองที่ดีมาก เวลาประชาชนเริ่มเบื่อรัฐบาลคุณทักษิณก็จะมีเทคนิกการตลาดใหม่ๆ ออกมาสนับสนุน ทำให้คนลืม
       
       ผมอยากใช้คำว่ามีอะไรหวือหวา มันทำให้ความสนใจของคนมันเปลี่ยนไปได้
       มันทำให้คนก็เริ่มมีความหวังกับสิ่งใหม่ๆ ตามสื่อที่ได้โฆษณาออกมา ฉะนั้นชีวิตของคนไทยช่วงนั้นจะว่าไปผมว่ามันเป็นการอยู่แบบมีวันพรุ่งนี้ คือพรุ่งนี้ทักษิณจะมีอะไรมาอีก พรุ่งนี้เราจะได้อะไรหรือเราจะเดือดร้อนอะไร หรือพรุ่งนี้ทักษิณจะถูกใครเล่นงาน ถูกใครประท้วง ถูกใครด่า คืออยู่โดยมีลักษณะของวันพรุ่งนี้ตลอด ไม่ว่าพรุ่งนี้ในแง่บวกหรือลบ
       
       แต่รัฐบาลชุดนี้เราอยู่โดยมีคำเดียวเท่านั้นเองคือ เมื่อไหร่จะมีการเลือกตั้ง ฉะนั้นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นผมคิดว่า รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เท่ากับที่รัฐบาลเก่าทำได้หรือเคยสร้างสีสันให้กับประชาชน มันก็เลยทำให้คนเบื่อและไม่ยอมรับไปโดยปริยาย
       
       ประกอบกับการไม่กล้าตัดสินใจของรัฐบาลในบางเรื่องที่มันช้าเกินไป จริงๆแล้วรัฐบาลที่เข้ามาหลังปฏิวัติถ้าเราไปเทียบดูรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน เราจะเห็นว่ารัฐบาลคุณอานันท์ได้ทำอะไรต่างๆ ในลักษณะทุบโต๊ะเยอะมากแม้กระทั่งสภาเองก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลชุดนี้เราจะเห็นได้ว่าการกระทำในลักษณะทุบโต๊ะไม่มี
       
       ในตอนต้นของการตั้งรัฐบาล ทุกคนก็เปลี่ยนจากคุณทักษิณมาเป็นรัฐบาลใหม่ ข้าราชการทั้งหลายก็ออกมาให้ข่าวว่าจะทำโน่นทำนี่ ผมก็เลยรู้สึกว่าผมไม่ศรัทธากับผลงานรัฐบาลชุดนี้ เพราะมันไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม ประชาชนไม่สามารถจับต้องได้
       
       แต่ถ้ามองอีกมุม มันก็คงโยงมาจากการรัฐประหาร เพราะเหตุของการรัฐประหารอ่อนมากจนกระทั่งถึงวันนี้เหตุของการรัฐประหารยังไม่ชัดในสายตาประชาชน ไม่ว่าจะเรื่องทุจริตหรือเรื่องอื่นๆ เพราะมันยังไม่มีอะไรเลย มันเลยดูเหมือนทางด้านการเมืองเราอยู่แบบไม่มีความหวัง
       
       @ คุณค่าของสนช.
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : สนช.พูดลำบาก แต่ถ้าถามผม ผมอยากมีกฎหมายดีๆมากๆ ที่ออกโดยเทคโนแครต และไม่สามารถออกได้ในช่วงสมัยสภาปกติ เพียงแต่ว่ากฎหมายที่ออกมาในช่วงสนช. ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นกฎหมายที่รีบเร่ง มีการเร่งทำกฎหมายโดยขาดการศึกษาวิเคราะห์
       ฉะนั้นผมจึงไม่ทราบว่ากฎหมายออกมาแล้วจะดีหรือไม่ดี เพราะกฎหมายสำคัญๆหลายอย่างเช่น กฎหมายเรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะออกหรือเปล่า เพราะกฎหมายพวกนี้เขารีบเร่งทำกัน แล้วก็ขาดฐานข้อมูลสนับสนุนทางด้านวิชาการ
       
       จริงๆแล้วรัฐบาลคุณอานันท์ เสนอกฎหมายดีๆ ไว้เยอะ จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน กฎหมายร่วมทุน ซึ่งเป็นกฏหมายที่ในวันนี้ไม่ว่าใครจะว่ายังไงก็ตาม ผมว่าเป็นกฎหมายที่ดี เพราะอย่างน้อยทุจริตคอร์รัปชั่นก็หายไปส่วนหนึ่ง
       
       ผมอยากเห็นกฎหมายลักษณะแบบนั้นออกมา แต่ว่าในวันนี้คงไม่มีโอกาสแล้ว เพราะกฎหมายในสภานี้ออกมา ผมไม่ทราบว่ากี่ฉบับ แต่อาจจะต้องมาชั่งน้ำหนักดู มาศึกษาดูว่ามันมีปัญหา มีข้อบกพร่องยังไง
       
       คือกฎหมายที่ดีมันต้องมีความสมดุลย์ระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจประชาชน ก็คือรัฐจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชน ในขณะที่ประชาชนก็จะไม่เอาเปรียบรัฐ
       
       ขณะที่ในสนช.เราจะเห็นว่ามีตัวแทนจากภาคธุรกิจก็มีอยู่เยอะ ประเด็นที่มีข้อครหาก็เช่น กฎหมายค้าปลีก ฉะนั้นผมไม่แน่ใจว่ากฎหมายออกมาจะเป็นยังไง แล้วยิ่งได้ฟังคำพูดของผู้ใหญ่บางท่านที่บอกให้รับไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลัง ผมก็ยิ่งวังเวงว่าถ้าเราจะต้องเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะรับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง แล้วกฎหมายอีกไม่รู้กี่สิบฉบับที่ออกมาอย่างรีบเร่งจะเป็นยังไง
       
       ผมยังมีข้อสังเกตเรื่องความชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ บางวันผมฟังเขาประชุมเวลาเขาลงมติคะแนนเสียง 50, 60 ผมไม่รู้ว่านับองค์ประชุมหรือเกิดอะไรขึ้นยังไง เพราะคนมาประชุมก็น้อย แล้วยังออกเสียงน้อย ถามจริงๆว่ากฎหมายฉบับหนึ่งมีคนเห็นด้วย 50 กว่าคน แล้วออกมาใช้บังคับกับ 60 ล้านคน มันไหวเหรอ
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเหล่านั้นไม่ได้มาจากประชาชนแต่มาจากคณะรัฐประหาร ผมจึงมองว่ามันชอบธรรมหรือเปล่า อย่างพ.ร.บ.จุฬาฯ มี 140 คน ก็ยังพอไหว แต่ถ้าถามด้วยใจจริง ผมคิดว่าอยากให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนดูมากกว่า
       
       กฏหมายสำคัญที่มีผลกระทบกับโครงสร้างของรัฐ มีผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คือสนช.ตั้งขึ้นมา ผมคิดว่าน่าจะเหมือนรัฐบาลรักษาการ ทำงานรูทีน อย่าไปทำอะไรมากมาย คือทำเฉพาะกฎหมายที่จำเป็นแล้วก็ไม่จำเป็นตลอด เงินเดือนก็ไม่ต้องให้เยอะด้วย แต่นี่เงินเดือนก็เยอะ ใครอยากได้กฎหมายอะไรก็เอากันไป คือภาพพจน์ของประเทศมันเสีย แล้วก็โครงสร้างของประเทศในอนาคตก็อาจจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน


       @ มหาวิทยาลัยนอกระบบ
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมไม่มีคำตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะมันมีคำถามหลายคำถาม คำถามแรกคือ เราจะออกนอกระบบไปเพื่ออะไร ถ้าเราจะออกนอกระบบไปเพื่อให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนแล้วมหาวิทยาลัยหาเลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องออกนอกระบบก็ได้
       
       ถ้าจะออกไปเพื่อการบริหารให้คล่อง ไม่เห็นต้องออกนอกระบบเลยเราก็แก้กฎหมายก็ได้ วันนี้ผมจึงไม่ทราบว่าเราออกนอกระบบไปเพื่ออะไร กับอีกเรื่องหนึ่ง เราเริ่มมีการพูดเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบตอนที่เรามีปัญหาด้ายเศรษฐกิจแล้วเรากู้เงินเวิร์ดแบงก์ แล้วก็มีการแบ่งการให้เงินกู้โดยมีการให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียให้เงินกู้ส่วนหนึ่ง แล้วก็เงินกู้ของเอดีบีก็บอกว่าให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ในขณะที่ไอเอ็มเอฟบอกว่าให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       
       ตอนนั้นผมไปช่วยจุฬาฯคิด แล้วก็เสนอความคิดหนึ่งซึ่งจนถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันความคิดเดิมว่า เราต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ก่อน ตอนนั้นมีอาจารย์จุฬาฯจบต่างประเทศราว 20-30 ประเทศ ผมบอกว่าอาจารย์คนไหนจบมาจากประเทศไหน รับไปศึกษาได้มั๊ยว่ามหาวิทยาลัยที่ประเทศที่ตนเองจบมาเขามีระบบยังไง ผมเสนอไปแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ
       
       ที่ผมเสนอเพราะว่าเรามีรูปแบบของการบริหารมหาวิทยาลัยจำนวนมากทั่วโลก ถ้าเรายังไม่ทราบว่าระบบไหนเป็นยังไงหรือระบบไหนดี แล้วเรามาเขียนกันเอง ผมว่ามันไม่คุ้มหรอก
       
       ฉะนั้นผมคิดว่า เรื่องนี้เราแก้ปัญหาถูกทางหรือเปล่าแล้วใครจะได้อะไรบ้างจากการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ตัวมหาวิทยาลัยเองเรายังไม่ได้ศึกษารูปแบบการออกนอกระบบที่ถูกต้อง มันจะให้อะไรบ้าง
       
       อีกประเด็นคือผมยังไม่เห็นมหาวิทยาลัยไหนเลยที่จะมีหมวดหรือว่าด้วยนักศึกษาหรือนิสิต ฉะนั้นผมคิดว่ามันไม่ใช่กฎหมายที่สมบูรณ์และครบวงจร เพราะถ้าจะให้สมบูรณ์คุณจะต้องพูดถึงคนที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับมหาวิทยาลัย
       
       ดังนั้นผมจึงไม่มีคำตอบ คำตอบจะมาได้มันต้องมี 2 ส่วนคือ ต้องมีคนบอกว่าจะออกนอกระบบไปเพื่ออะไรกับถ้าจะออกนอกระบบ รูปแบบไหนของที่ไหนดีที่สุด ที่เราจะสามารถเอามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับของเราได้
       
       @ คดีปตท. คืนสมบัติชาติ
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : คดีเหล่านี้ในวันข้างหน้าเราอาจจะต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ถึงสิ่งที่เราเรียกกันว่านโยบายหรือการกระทำทางนโยบายของรัฐบาล
       
       อย่างกรณี กฟผ. ผมไม่ค่อยเห็นด้วยที่เอาไปให้ศาลปกครองตัดสิน ผมคิดว่ามันเป็นการกระทำทางรัฐบาล เพราะรัฐบาลทำ 2 หน้าที่ 1. คือเรื่องนโยบาย ที่รัฐบาลต้องถูกรัฐสภาตรวจสอบ ในขณะที่เรื่องที่ 2. คือการบริหารงานปกตินั่นต้องถูกศาลปกครองตรวจสอบ
       
       เรื่องการตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนสภาพองค์กรของรัฐ ผมคิดว่าเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่รัฐบาลสามารถทำได้โดยให้รัฐสภาตรวจสอบ ผมไม่คิดว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่ที่ผมไม่ได้คัดค้านเพราะเราเห็นอยู่แล้วว่า กฟผ.ทำไม่ถูก และในช่วงนั้นเราไม่มีสภาผู้แทนราษฎรมันก็เลยทำอะไรไม่ได้ แต่ผมก็อาจเป็นนักกฎหมายที่ไม่ดีอีกคนหนึ่งที่ก้มหน้าก้มตาไม่ออกมาคัดค้าน
       
       เพราะบางทีมันก็มีความรู้สึกว่าเราไม่สามารถคัดค้านทุกเรื่องได้ในเวลาเดียวกัน แต่ก็มีโอกาสพูดในที่สาธารณะต่างๆ พยายามอธิบายว่า Act of goverment สภาตรวจสอบ เพราะถ้าศาลปกครองตรวจสอบได้ศาลปกครองก็จะเหนือว่าครม. ศาลปกครองก็ต้องบริหารประเทศเอง
       
       ดังนั้นผมจึงไม่คิดว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เพราะพระราชกฤษฎีกาเหล่านั้น 2 ฉบับเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อปรับโครงสร้างของรัฐ ไม่ใช่พระราชกฤษฎีกาที่ออกมาขยายความตามพระราชบัญญัติ เช่น พระราชบัญญัติบอกให้ปรับ 100 บาท พระราชกฤษฎีกาออกมาปรับ 105 บาท อย่างนั้นศาลปกครองเพิกถอนได้เพราะว่ามันออกเกินอำนาจ แต่นี่เป็นพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างของรัฐซึ่งเป็นการกระทำทางรัฐบาล
       อีกอย่างคือ ในตอนต้นของกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ ผมคิดว่าไม่มีคนรู้เรื่องหรอก ทุกอย่างจะมีการโอนกันหมด พอเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัททุกอย่างก็โอนกันหมด ทั้งสิทธิประโยชน์ อำนาจหน้าที่ เพราะทุกคนไปคิดว่าให้โอนไปหมด แล้วที่โอนไปยังอยู่เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ
       
       คือปตท.ก็ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ แต่ว่าที่โอนไปจะสิ้นสภาพต้องเอากลับคืนมาเป็นของรัฐ ก็ 2 เหตุผลเหมือนกัน เหตุผลแรกคือ กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่เขียนไว้ว่าด้วยการแข่งขันอย่างเสรีออกมา นั่นหมายความว่าเอกชนมาแข่งกับคุณได้ เพราะวันนี้ปตท.ยังผูกขาดอยู่
       
       คือถ้าเมื่อไหร่มีกฏหมายแข่งขันอย่างเสรีออกมา คุณก็จะต้องคืนสมบัติของรัฐ คุณต้องลงไปเป็นเอกชน แต่เรื่องที่สองคือ คุณสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจก็คือ เอกชนเข้ามาถือหุ้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ คุณก็หมดความเป็นรัฐวิสาหกิจ
       
       ฉะนั้นด้วย 2 เหตุผลนี้ที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า โอนไปหมดได้ ถึงเวลามันก็กลับมาเอง แต่บังเอิญผมเข้าใจว่าปตท.อยู่ในตลาดหุ้นแล้วคงขายหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ยังไม่มีใครบอก
       
       ฉะนั้นก็เลยเหมือนเอาสมบัติของชาติไปให้เอกชนซึ่งถูกแล้วที่เอาคืน เพียงแต่เราอาจต้องมาทบทวนใหม่โดยเฉพาะกฏหมายทุนรัฐวิสาหกิจต้องเลิก ผมเสนอให้เลิกมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่มีคนเลิก เพราะเรามีรัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนสภาพตามกฏหมายทุนหลายแห่ง อาจจะต้องทบทวนทั้งหมด
       
       ผมมองว่า กระบวนการแปลงทุนเป็นหุ้นในอนาคตไม่มีไปอีกนาน ไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้เกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทั้งหมดก็จะเป็นรัฐบาลผสมไม่มีเสถียรภาพ
       
       อย่าลืมว่ารัฐบาลที่แล้วเป็นรัฐบาลพรรคเดียว คุมสภาได้ด้วย เสียงก็เลยประสานกันและแข็งมาก ต่อมานายกฯมีภาวะการเป็นผู้นำสูง มีศักยภาพส่วนตัวที่จะเข้าไปแก้ปัญหาเล็กๆ ให้เงียบได้
       
       ดังนั้นการแปรรูปมันเป็นสิ่งที่มันเหมือนกันทั่วโลกก็คือ สร้างข้อขัดแย้งในสังคม พนักงานรัฐวิสาหกิจก็ไม่ยอม ประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็ออกมาเต้น
       
       แต่มี 2 ประเด็นที่น่ากลัวคือ สิ่งที่แปลงสภาพไปแล้วจะทำยังไงต่อไป อย่าง อสมท. ทศท. กสท. พวกนี้ถ้ายังไม่มีการขายหุ้น ต้องออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
       
       ถ้าเป็นผม ก็จะออกมาทบทวนทั้งหมดตามกระบวนการกฎหมายทุนที่รัฐบาลที่แล้วเป็นคนทำ แล้วทำให้ถูกต้องชอบธรรม รื้อในลักษณะสร้างสรรค์ให้เขาเป็นบริษัท ขณะเดียวกันก็ต้องวางกติกาในการขายหุ้นให้รอบคอบ เพราะการขายหุ้นทุกวันนี้ไม่ได้เป็นพระราชบัญญัติ แต่ใช้ระเบียบสำนักนายกฯ หรือระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งผมไม่คิดว่าเราจะนำหุ้นเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน ออกมาขายได้ด้วยระเบียบ
       
       ผมคิดว่าที่แปลงสภาพไปแล้ว ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบ ไล่เช็คใหม่ เพื่อไม่ให้คนเข้าไปฟ้องเพื่อเพิกถอนอีก เพราะเห็นอยู่แล้วว่าทั้งกฟผ. และปตท. ที่ใช้กฎหมายทุนก็มีปัญหาทั้ง 2 แห่ง
       
       ฉะนั้นอีก 3-4 แห่งมีหรือไม่เราไม่ทราบ แต่ต้องรื้อในลักษณะเพื่อไปตรวจไม่ใช่รื้อเพื่อทำลาย รื้อแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง


       @ การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : เราได้ข่าวมาตลอดว่าการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบสุดท้ายของประเทศไทย การเลือกตั้งจะเป็นจุดสิ้นสุดของการรัฐประหารที่มีมาตั้งแต่ 19 กันยา การเลือกตั้งจะเป็นอนาคตใหม่ของคนไทย แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมคิดว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนรูปแบบของการขัดแย้งในรูปแบบเดิมมาเป็นรูปแบบใหม่มากกว่า ซึ่งการขัดแย้งนั้นเราต้องมาดูว่าผลมันจะเกิดอะไรขึ้น
       
       ภายหลังการเลือกตั้งไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลจะถูกคัดค้านแน่นอน ถ้าเป็นพรรคพลังประชาชนก็แน่นอน แต่ถ้าเป็นอีกซีกหนึ่งเข้ามา ก็จะถูกพลังประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายค้านและเข้าใจว่าน่าจะเป็นฝ่ายค้านที่แข็งทั้งในและนอกสภา ก็อาจจะมีม็อบรายวันเดินเข้ามากดดันรัฐบาลในทุกๆเรื่อง ผมคิดว่าไม่ง่ายสำหรับคนเป็นรัฐบาล
       
       นอกจากนี้ประเด็นที่น่าจับตาคงอยู่ช่วงก่อนที่จะมีการตั้งรัฐบาล ผมว่าเป็นช่วงที่น่าระวังอย่างยิ่งเพราะไม่รู้มันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีการให้ใบแดงใบเหลืองโดยเฉพาะใบแดง ผมว่ามันวุ่นวายไปหมด แถมทั้งรัฐธรรมนูญทั้งในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องพรรคการเมืองยังเปิดโอกาสให้มีการยุบพรรคการเมืองอย่างง่าย
       
       ฉะนั้นคำถามก็คือ เมื่อฟอร์มรัฐบาลได้แล้ว แล้วเข้าไปเป็นรัฐบาล เกิดกกต. ยุบพรรคการเมืองพรรคนั้นขึ้นมาจะทำยังไง เพราะมันยุบตรงไหนก็ได้ มันไม่มีความมั่นคง ไม่มีความแน่นอนในการทำงาน ทำงานไปได้สักเดือน ยุบพรรคขึ้นมา เลือกตั้งใหม่อีก
       
       ผมจึงมีความรู้สึกว่าหลังเลือกตั้งๆไม่ใช่ คือการเลือกตั้งถูกทำให้คิดว่าเป็นสิ่งสวยงาม แต่จริงๆไม่ใช่ แต่มันน่าสะพรึงกลัวมาก เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้นกับการเมือง แล้วเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าประเด็นต่างๆ จะหมดลงเมื่อไหร่ แล้วรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะเริ่มทำงานได้อย่างใจเย็น อย่างปกติ อย่างดี ได้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่
       
       ผมมองไม่เห็นภาพว่ารัฐบาลจะเกิดขึ้นวันไหน รัฐบาลจะมีความมั่นคงในการทำงานพอจะแก้ปัญหาประเทศหรือเปล่า เพราะเราอย่าลืมว่าถ้าเราคิดว่ารัฐบาลคือองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ในวันนี้ปัญหาประเทศไม่ได้รับการแก้มานานมากแล้วตั้งแต่ทักษิณ 2
       
       หลังจากนั้นเรามีความไม่มั่นคงด้านการเมืองการปกครองประเทศมาตลอด เราได้ยินเรื่องข้าราชการใส่เกียร์ว่างช่วงหลังของคุณทักษิณ พอรัฐบาลขิงแก่เข้ามาก็ใส่เกียร์ว่างเต็มตัวช่วงอาทิตย์แรก แต่พอรู้ว่าไม่มีอะไรแน่นอนก็ใส่เกียร์ถอยหลังด้วยซ้ำไป
       
       ฉะนั้น 2 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของการปกครองประเทศ พัฒนาการด้านเศรษฐกิจมันช้ามาก ถ้าเราไปคุยกับบางคนเขามองไปไกลว่ามันล้าหลังกว่าต่างประเทศด้วยซ้ำ
       
       คำถามนี้หนักใจเหมือนกัน เพราะผมไม่มีคำตอบว่าหลังเลือกตั้งจะเป็นยังไง จนกว่าเราจะรู้ว่ารัฐบาลใหม่ทำงานได้แค่นั้นเอง เพราะการที่รัฐบาลใหม่ทำงานมันมีหลายองค์ประกอบเหลือเกินคือทุกอย่างต้องนิ่งหมด ใบแดงจบ เรื่องยุบพรรคตกไป แล้วการคัดค้านก็จะไม่มีประเภทว่าหายใจก็คัดค้าน คือเมื่อถึงจุดนั้น รัฐบาลทำงานได้แล้ว เราคงพอมองเห็นบ้าง
       
       @ บุคคลแห่งปี 2550
       

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมนึกไม่ออกว่าควรจะเป็นใคร เพราะว่าช่วงปี 50 เรามีตัวละครเยอะมาก คือทุกคนอยากเป็นตัวละครที่เป็นพระเอกกันทั้งนั้น แต่เราจะเห็นว่าในสภาพสังคมเราพระเอกก็ไม่มี
       
       ตอนต้นปีก็มีการตั้งสสร. ก็มีความอยากจะเป็นพระเอก เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ พอรัฐธรรมนูญออกมาก็ทราบกันดีว่าไม่มีใครเป็นพระเอกเลย แต่วันนี้ไปถามว่าใครเป็นเจ้าของยังไม่ยอมพูดกันเลย ทหารเองตอนปฏิวัติใหม่ๆ ก็ถูกโจมตี หัวหน้าคณะปฏิวัติไปเลือกตั้งยังถูกคนตะโกนด่าเลย
       
       กกต. น่าจะเป็นพระเอกหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจเพราะก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เยอะเหมือนกัน คงไม่มี(นะ)
       
       @โอกาสและความหวังปี 2551
       

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ผมคิดว่าจะเป็นปีที่น่ากลัวยิ่งกว่าปี 50 ตอนปี 49 ผมคิดว่าปี 50 น่ากลัวมาก โดยที่ไม่ต้องดูหมอดูเลย แต่พอปี 51 ผมว่าน่ากลัวเข้าไปใหญ่ เพราะว่าตอนปี 49 เราอยู่ในบรรยากาศของการปฏิวัติ แล้วเราพอมองเห็นว่าเราพอจะจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
       
       เราเห็นว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ เราเห็นการเลือกตั้ง แต่พอปี 50 เราเห็นแล้วว่าเราไม่สามารถจัดการเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นได้ รัฐธรรมนูญใหม่ก็มีข้อบกพร่องเยอะมาก
       
       ดังนั้นในปี 51 ซึ่งเป็นปีแห่งความหวังของคนไทยจำนวนมากที่อยากจะเห็นการเลือกตั้ง แต่ผมไม่คิดว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออก แต่ผมคิดอย่างที่ผมบอกว่า การเลือกตั้งน่าจะเป็นหน้าใหม่ของการสร้างความยุ่งยากให้กับเรา เริ่มตั้งแต่การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง การคัดค้านการฟ้องร้องซึ่งจะมีเยอะมาก
       
       การลงโทษนักการเมือง การลงโทษพรรคการเมือง ไม่มากก็น้อย หลังจากนั้นเมื่อมีรัฐบาลก็จะเกิดความไม่ยอมรับในรัฐบาล ต่างฝ่ายต่างจะดึงพลังของตัวเองออกมาแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับรัฐบาล และด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประกอบกับความที่แต่ละพรรคการเมืองจะไม่ได้เสียงข้างมาก ผมคิดว่าความอ่อนแอทางการบริหารประเทศต้องมีแน่นอน รัฐสภาก็จะอ่อนแอ รัฐบาลก็จะอ่อนแอ แล้วมันก็จะทำอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่จะแตกคอกันมีสูงทั้งผลประโยชน์ อำนาจหน้าที่หรือทั้งแนวคิด ผมว่าปั่นป่วน
       
       ถ้าถามผม ผมคิดว่ารัฐบาลเดิมแบบคุณทักษิณดีกว่า คือรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก มันสามารถทำอะไรได้เยอะกว่า เพียงแต่ว่าเราได้นายกฯเป็นคุณทักษิณ และไม่มีองค์ที่สามารถควบคุมได้มันก็เลยเกิดเหตุการณ์ 19 กันยา
       
       ถ้าถามผม ผมอยากได้รัฐบาลแบบเดิม นายกฯแบบเดิม แต่ต้องสร้างองค์การควบคุมที่ดีกว่าเดิมเพื่อให้นายกฯกับรัฐบาลไม่สามารถที่จะใช้อำนาจเกินกรอบได้
       
       @ จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรใหม่ๆ ในเว็บไซด์ pub-law.net หรือไม่
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ไม่มี เพราะเว็บก็เพิ่งทำไป แต่ว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเว็บได้รับความนิยมมากขึ้น เดี๋ยวนี้บทบรรณาธิการทุกครั้งที่ออกจะมีคนรออ่านตลอด และถูกนำไปใช้อ้างอิงในที่ต่างๆ ทำให้เห็นว่าคนก็ดึงไปใช้กันเยอะ จำนวนคนเข้ามาใช้บริการก็เยอะ ทุกอย่างอยู่ในสภาพที่ดี
       ที่ไม่ดีอย่างเดี่ยวคือตัวผม ผมเหนื่อย ก็กำลังมีความคิดถ่ายโอนเว็บให้คนรุ่นใหม่ จริงๆเคยมีคนมาขอเซ้งต่ออย่างสมาคมนักกฎหมายมหาชนก็ขอซื้อไปทำ ผมก็ไม่คิดว่าควรจะต้องขายหรือให้ใครไปทำ แต่ผมอยากทำเอง
       
       ตอนนี้ผมกำลังจะตั้งมูลนิธิ ทำข้อบังคับเสร็จแล้ว โลโก้กำลังออกแบบ กำลังหาเงินตั้งมูลนิธิ ผมจะตั้งมูลนิธิชื่อว่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนากฎหมายมหาชน หลักของมูลนิธิคือทำการพัฒนากฎหมายมหาชน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนากฎหมายมหาชน
       
       เว็บก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอยู่แล้ว ผมพอมีเพื่อนที่จะช่วยเหลือเรื่องเงินทองได้ เราก็จะจัดการให้ทุน อาจจะมีการเปิดอบรม สัมมนา ร่วมกับสถาบันการศึกษาโดยเราจ่ายเงินด้วยบางส่วน แล้วก็ลงแรงด้วย คือพยายามหาทางพัฒนากฎหมายมหาชนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เว็บก็จะเป็นของมูลนิธิไป แล้วอีกหน่อยก็จะให้คนในมูลนิธิช่วยกันทำต่อ ผมก็จะผันไปอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนมูลนิธิ
       
       @ เตรียมบรรณาธิการคนใหม่ไว้บ้างหรือยัง
       

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : ยังไม่มีครับ จริงๆทุกวันนี้ผมก็เขียนเอง แต่ว่าก็ต้องรอดูว่าใครอยากจะเป็น เพราะจริงๆผมก็มีเพื่อนอาจารย์บางคนที่อยากจะขอให้ช่วยอย่างอาจารย์บรรเจิด (สิงคะเนติ) แต่ก็ไม่แน่ใจว่าแกจะสนใจหรือเปล่า
       
       แต่วันนี้ด้วยความที่เป็นเว็บฯที่ติดตลาด ผมก็มีความรู้สึกว่ามันต้องทำต่อ เลิกไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้มันอยู่อย่างถาวร ก็คิดว่าในรูปมูลนิธิน่าจะดีที่สุด
       
       ผมคิดว่าถ้าเราตั้งมูลนิธิก็ยังมีทางเล่นทางอื่นได้เยอะ อาจจะรับทำวิจัย แล้วก็นำเงินเข้ามูลนิธิทั้งหมด ชวนนักวิชาการมาช่วยกัน มีค่าเหนื่อย ค่าขนมเล็กน้อย ส่วนเงินเราก็อาจจะให้ทุนเด็กไปเรียนหรือเปิดอบรมโดยร่วมกับนักวิชาการหลายๆ สถาบัน รวมทั้งองค์กรต่างๆอย่างศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผมว่ามันน่าจะเกิดประโยชน์
       
       เพราะจากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เรามีการพูดถึงนักกฎหมายมหาชนเรื่อยมาจนถึงวันนี้ ผมเองยังไม่ทราบเลยว่าเรามีนักกฎหมายมหาชนเพิ่มมากกว่าปี 40 กี่คน คนที่เรียนจบกฎหมายมหาชน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นนักกฎหมายมหาชน เพราะวิธีคิดคุณอาจจะยังไปไม่ถึงก็ได้
       
       องค์กรต่างๆ เราจะเห็นได้จากคำตัดสิน บางทีมันก็ไม่ใช่สิ่งที่นักกฎหมายมหาชนจะพูดออกมาเลย ฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ของผมในฐานะอาจารย์ ถ้ามีเวลาว่างหรือพอมีเงินมีทองหรือมีกำลังทางด้านอื่นก็น่าจะทำ ก็เลยมีความคิดที่จะตั้งมูลนิธิ
       
       @ มีการติดตามมั๊ยว่าคนที่เข้ามาในเว็บเป็นจำนวนมากเป็นใครมาจากไหน
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : โดยหลักผมจะแจกหนังสือทุกปี เวลาผมแจก ผมจะขอ 2-3 อย่างคือ เอกสารที่แสดงว่าคุณเป็นใคร ซึ่งเราก็รู้ว่าใครเป็นใคร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่ทำงานในส่วนราชการกับนักศึกษา แล้ววันนี้ที่เพิ่มมาก็มีสื่อเข้าไปหาข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก
       
       เราก็มีบทบรรณาธิการที่ผมเขียน มีบทความของนักวิชาการดีๆ หลายคน ฉะนั้นก็จะมีผู้ใช้อยู่ไม่กี่กลุ่ม แต่จะสังเกตได้ว่าผู้ใช้ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆ อาจจะเป็นเพราะเว็บเราไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว แล้วก็มีความเห็นที่หลากหลาย คือบรรณาธิการเห็นยังไง บทความก็ไม่จำเป็นต้องเห็นตามนั้น
       
       ผมมีความเชื่อมั่นด้านกฎหมายยังไง ผมก็เขียนอย่างนั้น ผมไม่เคยปรับวิธีคิดหรือเสแสร้ง ฉะนั้นอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามาดูความเห็นของเราบ่อย เหตุผลที่ผมทำเว็บคือ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนเท่านั้นเอง
       
       @ เว็บไซด์ช่วยยกระดับคนในชุมชนกฎหมายมหาชนมากน้อยแค่ไหน
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ : มันแล้วแต่ มิตรทางวิชาการก็เยอะ ศัตรูทางวิชาการก็เยอะ หลายคนรู้จักผมทางเว็บไซด์ ส่วนที่บอกว่าทำเพราะอยากดังก็มี ซึ่งจริงๆผมก็ทำของผมเรื่อยมา ฉะนั้นผมก็ไม่ทราบวาเป็นยังไง
       
       แต่ในฐานะที่เป็นเว็บ และคนทุกคนสามารถเข้ามาได้ สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ นักวิชาการอาจต้องละในหลายๆเรื่อง แล้วมาช่วยกันทำเว็บ พูดไปเหมือนกับผมเห็นแก่ตัว แต่ทำโดยที่ไม่ได้นึกถึงผม เพราะบรรณาธิการไม่ต้องใส่ชื่อผมก็ได้
       
       .............................................


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1182
เวลา 20 เมษายน 2567 20:02 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)