ต้องห้ามมิให้เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯหรือรัฐมนตรีเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกจริงหรือ โดยคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง

7 กุมภาพันธ์ 2551 09:39 น.

       หนึ่งในบรรดาข้อถกเถียงสำหรับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่มีประเด็นไหนที่จะฮ็อตฮิตเท่ากับประเด็นของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ ๒๕ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับรองคุณสมัคร สุนทรเวช ด้วยคะแนน ๓๑๐ ต่อ ๑๖๓ เสียง ในประเด็นข้อกฎหมายว่า นายกฯผู้นี้ขาดคุณสมบัติของการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญาในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
        เสียงที่คัดค้านนั้นนอกจากจะมาจากผู้ที่ไม่ชื่นชอบ(จนถึงเกลียด)นายกฯผู้นี้แล้วยังมาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือ สนช.บางส่วน และแม้กระทั่งมาจากครูบาอาจารย์ ด้านกฎหมายที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ นี้เองก็ตาม ก็ยังออกมา ให้ความเห็นว่านายกฯผู้นี้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๘๒(๓) ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
        “มาตรา ๑๘๒ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ...(๓) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท...”
        ซึ่งความหมายของคำว่ารัฐมนตรีในที่นี้ก็หมายความรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะนายกฯก็คือรัฐมนตรีคนหนึ่งแต่เป็นเบอร์หนึ่งหรือหัวหน้าของรัฐมนตรีทั้งหลาย(first among equal) นั่นเอง
        ถ้าเราอ่านกฎหมายมาตรานี้เพียงเผินๆมาตราเดียวแล้วก็ดูเหมือนว่า ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการตีความกฎหมายแต่อย่างใด แต่แท้ที่จริงแล้วประเด็นในมาตรา ๑๘๒ นี้ เป็นประเด็นที่หมายความถึงการที่บุคคลผู้นั้นเป็นรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่ความเป็นรัฐมนตรีต้อง สิ้นสุดลงด้วยเหตุตามมาตรานี้เท่านั้นเอง
        แต่การที่จะเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นเราต้องดูมาตรา ๑๗๔ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ มาตรา ๑๗๔(๕) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
        “มาตรา ๑๗๔ รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้...(๕) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ...”
        แต่ในกรณีของคุณสมัครนั้นอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์และยังไม่ถูกจำคุกจริง และข้อความที่ว่า “โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง” ก็แสดงว่าคดีนั้นจะต้อง ถึงที่สุดแล้วและต้องมีการรับโทษจำคุกจริงๆ เพราะถ้ายังไม่ถูกจำคุก ก็ไม่มีวันพ้นโทษ ที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณนับระยะเวลาพ้นโทษตามมาตรานี้ได้
        ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกว่าคุณสมัคร ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดเพราะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่เข้าข่ายต้องห้ามมิให้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
       มิหนำซ้ำมาตรา ๑๘๒(๓) เองก็ตามก็ยังบัญญัติไว้ว่า “...เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท...” เสียอีก
        ซึ่งข้อยกเว้นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทและความผิดลหุโทษนั้นก็เป็นหลักทั่วๆไปของการยกเว้นคุณสมบัติของการถูกจำคุก แต่ในประเด็นของการยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ก็เพราะว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือนายกฯนั้นย่อมมีโอกาสที่บางครั้งบางคราวอาจต้องรุกล้ำผู้อื่นซึ่งอาจจะโดยตั้งใจหรืออาจจะโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะต้องถูกซักถามหรือสัมภาษณ์ในทุกขณะที่ออกสู่สาธารณะ ย่อมที่จะมีโอกาสพลาดพลั้งได้โดยง่าย
        ส่วนผู้ที่กังวลว่า แล้วหากคดีถึงที่สุดอาจจะโดยศาลอุทธรณ์หรือหรือศาลฎีกา ก็ตาม ตัดสินให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญาล่ะ(จำคุกจริง) จะต้องพ้นตำแหน่งหรือไม่ ก็ไม่ต้องตีความกันให้ยากเย็นว่าจะเข้าข่ายความผิดลหุโทษ ประมาท หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่หรอกครับ เพราะมาตรา ๑๘๒(๓) บัญญัติไว้ชัดอยู่แล้วว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก”โดยถูกจำคุกจริงๆ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของอนุมาตรานี้ เพราะในเมื่อเจ้าตัวไปอยู่ในคุกแล้ว จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้อย่างไรกัน
       ส่วน “...แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท...”นั้น เป็นการขยายเพิ่มให้เข้มข้นขึ้นในกรณีที่คดีไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษและให้เป็นข้อยกเว้นในกรณีกระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทในกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษนั่นเอง
        ฉะนั้น ก็ต้องคอยฟังผลคำตัดสินของศาลที่ถึงที่สุดแล้วว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร หากถึงที่สุดแล้วมีคำพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอการลงโทษเมื่อไหร่ ก็เป็นอันว่า “เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้”ล่ะครับ
        ส่วนผู้ที่คาดหวังว่าน่าจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ นั้น ศาลรัฐรัฐธรรมนูญก็เหมือนศาลทั่วๆไปที่จะต้องมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเสียก่อนจึงจะ สามารถรับคำร้องหรือคำฟ้องไว้พิจารณาได้ เพราะศาลไม่ได้มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายล่วงหน้าก่อนมีข้อพิพาทของใคร แต่อย่างใด
        เว้นเสียแต่ว่าเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯโดยสมบูรณ์แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจะอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๘๒ วรรคสาม เป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการเฉพาะเสียเอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณา หรือ รับคำร้อง ไว้พิจารณาแล้วจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
       หรืออาจจะพลาดพลั้งไปกระทำความผิดใหม่ขึ้นมาหรือเป็นคดีเก่าที่ค้างคาต่อเนื่องมา นอกเหนือจากข้อยกเว้นในสามฐานความผิดดังกล่าว(ประมาท ลหุโทษหรือ หมิ่นประมาท) เช่น คดีรถดับเพลิง ฯลฯ แล้วถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกโดยไม่รอการลงโทษในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ก็เป็นอันว่าจบเห่ตามมาตรา ๑๘๒(๓) นี้ เช่นกัน
        ช่วงนี้ก็อย่าเพิ่งไปสัมภาษณ์หรือสอบถามตัว“ทั่นนายกฯ”ในประเด็นนี้ซ้ำให้เป็นที่ขุ่นข้อง รำคาญใจ จนอารมณ์บูดเบี้ยว ทั้งคนที่ถูกถามและคนที่ตั้งคำถามเอง
       
       ------------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1186
เวลา 28 เมษายน 2567 05:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)