ครั้งที่ 182

17 มีนาคม 2551 01:24 น.

       ครั้งที่ 182
       สำหรับวันจันทร์ที่ 17 มีนาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2551
       
       “สหภาพข้าราชการ”
       
       ภายหลังจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ทุกฝ่ายต่างก็เริ่มจับตามองว่า แนวทางในการดำเนินการของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรและจะแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆที่มีอยู่ในประเทศได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มลงมือแก้ปัญหาของประเทศ ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นมาก่อนเรื่องหนึ่งโดยในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้เองได้เกิดการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมจนนำมาสู่แนวความคิดในการจัดตั้ง “สหภาพข้าราชการ” เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว
       จริงๆแล้วการแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นก็มีอยู่ในทุกยุคทุกสมัยและทุกๆรัฐบาล ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นใดๆทั้งสิ้น และนอกจากนี้แล้ว ในปัจจุบันเราก็มีกลไกในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วคือการตรวจสอบโดยศาลปกครองที่ถูกตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ดังนั้น การพูดถึงสหภาพข้าราชการเพื่อเข้ามาตรวจสอบดูแลเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจึงไม่มีความจำเป็นและยังเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะ “สอดคล้อง” เท่าไรนักกับอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 64 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการ “รวมกลุ่ม” ได้โดยบัญญัติไว้ว่า “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” บทบัญญัตินี้เองเป็นที่มาของแนวคิดของการตั้ง “สหภาพข้าราชการ” (แต่ก็ยังไม่มีคำตอบในบทบัญญัติดังกล่าวว่าตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร) สำหรับแนวความคิดของการกำหนดมาตรา 64 วรรค 2 ไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ผมไม่ทราบจริงๆว่า เป็นแนวความคิดของใคร ผมไม่ทราบว่ามาตราดังกล่าวมีที่มาอย่างไรและมีวัตถุประสงค์อย่างไร แต่ที่แน่ใจก็คือต้องได้รับ “อิทธิพล” มาจากระบบกฎหมายฝรั่งเศสเพราะฝรั่งเศสอนุญาตให้ข้ารัฐการตั้งสหภาพได้ ดังนั้น ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอนำเสนอ “ตัวอย่าง” ของการตั้งสหภาพข้าราชการในประเทศฝรั่งเศสเพื่อ “ประกอบ” แนวความคิดที่จะจัดตั้งหรือไม่จัดตั้งสหภาพข้าราชการของไทยในวันข้างหน้าครับ
       ในประเทศต่างๆ ทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบการเมือง ระบอบการปกครอง หรือระบบเศรษฐกิจแบบใดหรือประเภทใดก็ตาม ภารกิจของประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่การจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชนเพื่อสนองความต้องการของประชาชน เพื่อจัดระเบียบของสังคม อันจะส่งผลให้ประเทศมีพัฒนาการไปในทางที่ดีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคงปลอดภัยของสังคม เช่น ตำรวจ ทหาร กระบวนการยุติธรรม หรือบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายของประชาชน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น รัฐจะใช้ “บุคลากรภาครัฐ” (le personnel de l’administration) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งบุคลาการภาครัฐในที่นี้ก็หมายความรวมถึงข้ารัฐการ (fonctionnaires) และบุคคลที่ดำรงสถานะอื่นๆที่ทำงานให้กับรัฐ เช่น ลูกจ้างของรัฐประเภทต่างๆ เป็นต้น ในการทำงานของบุคลากรภาครัฐทุกประเภทนั้นก็จะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆ ซึ่งก็ทำให้สถานะของบุคคลากรภาครัฐมีความแตกต่างจากบุคลากรภาคเอกชน นอกจากบรรดากฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆแล้วก็ยังมีหลัก (principe) ที่มีขึ้นเพื่อใช้บังคับกับข้ารัฐการ เช่น หลักว่าด้วยความเป็นกลางทางการเมือง (le principe de la neutralité) ที่ข้ารัฐการจะต้องไม่ “ฝักใฝ่” พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเป็นกรณีพิเศษ หลักบังคับบัญชา (le principe hiérarchique) ที่ข้ารัฐการจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือแนวทางของผู้บังคับบัญชา เว้นแต่คำสั่งหรือแนวทางดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ และ หลักว่าด้วยการมีส่วนร่วม (le principe de la participation) ที่บรรดาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายเปิดโอกาสให้ข้ารัฐการมีสิทธิ “ทางสังคม” ได้เช่นเดียวกับบุคลากรภาคเอกชน เช่นสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือสหภาพ หรือสิทธิในการนัดหยุดงาน เป็นต้น
       การดำเนินงานของข้ารัฐการจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ กระบวนการทำงาน การเลื่อนลดปลดย้าย เงินเดือน ความก้าวหน้า วินัยและความรับผิดต่างๆ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของฝ่ายปกครองจะต้อง “เดินตาม” ตัวบทกฎหมายต่างๆ อย่างเคร่งครัด หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะมีมาตรการภายในของฝ่ายปกครองที่สามารถนำมาใช้ในการ “เยียวยา” รวมไปถึงการให้ศาลปกครองเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินงานต่างๆ ของฝ่ายปกครอง เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้ารัฐการต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเคร่งครัด
       ในประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ มีการยอมรับให้มีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นตัวแทนของข้ารัฐการ เพื่อให้ทำหน้าที่สำคัญคือเป็น “สะพาน” เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายปกครอง โดยตัวแทนของข้ารัฐการสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเกี่ยวกับเงื่อนไขในการทำงานต่างๆ ได้ ซึ่งประเทศฝรั่งเศสเองก็ให้การยอมรับการที่ข้ารัฐการจะ “รวมตัว” กันเข้าใน 2 รูปแบบด้วยกันคือ การรวมตัวในรูปของสมาคม และการรวมตัวในรูปของสหภาพ
       การรวมตัวในรูปของสมาคม (associations) เป็นที่ยอมรับกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1901 แล้วว่า ข้ารัฐการสามารถรวมตัวกันเป็นสมาคมได้ แม้ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสก็ได้เคยวินิจฉัยไว้ในปี ค.ศ.1908 ให้สมาคมของข้ารัฐการมีสิทธิเป็นผู้ฟ้องคดีได้ในกรณีที่มีการฟ้องเพื่อปกป้องประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกสมาคม ซึ่งในปัจจุบันก็มีกลุ่มข้ารัฐการหลายกลุ่มที่มีกฎหมายกำหนด ห้ามรวมตัวกันเข้าเป็นสหภาพ ได้ใช้วิธีรวมตัวกันในรูปของสมาคม เช่น สมาคมผู้ว่าการจังหวัด (préfet) เป็นต้น
       ส่วนการรวมตัวในรูปของสหภาพ (syndicats) นั้น ก่อนปี ค.ศ.1946 ข้ารัฐการในฝรั่งเศสไม่มีสิทธิในการตั้งหรือเข้าร่วมกับสหภาพตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสหภาพ ทั้งนี้เนื่องจากว่า ไม่ว่าจะเป็นสถานะหรือการดำเนินงานของข้ารัฐการล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายทั้งสิ้น จึงไม่มีความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะโดยทั่วไปแล้วยากที่จะเกิดข้อขัดแย้งหรือปัญหาในการทำงานระหว่าง ข้ารัฐการกับรัฐบาล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้ารัฐการได้และนอกจากนี้แล้ว เมื่อกล่าวถึงการมี “สหภาพ” ก็เป็นที่เข้าใจกัยอยู่ทั่วไปว่าหมายความรวมถึง “การนัดหยุดงาน” (grève) ซึ่งเป็น “เครื่องมือ” ที่สหภาพนำมาใช้ในการเจรจาต่อรองปัญหากับเจ้าของกิจการหรือนายจ้าง ซึ่งการนัดหยุดงานดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ เพราะขัดต่อ “หลักว่าด้วยความต่อเนื่อง” (le principe de la continuité) ของการจัดทำบริการสาธารณะ ด้วยเหตุนี้เองที่ในฝรั่งเศสในช่วงก่อนปี ค.ศ.1946 จึงไม่ได้ให้สิทธิแก่ข้ารัฐการที่จะตั้งหรือเข้าร่วมกับสหภาพได้ นอกจากเหตุดังกล่าวแล้ว ปัญหาอีกประการหนึ่งของการไม่ให้ข้ารัฐการตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพอยู่ที่ปัญหาทางการเมืองด้วย เพราะสหภาพในอดีตนั้น สะท้อนให้เห็นภาพของการปฏิวัติ การเปลี่ยนระบบ การแข็งข้อ การแบ่งชนชั้น การต่อต้านทุนนิยม ซึ่งภาพต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้นำประเทศในสมัยก่อนไม่เห็นด้วยที่จะให้ข้ารัฐการตั้งหรือเข้าร่วมกับสหภาพได้ เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1924 แนวความคิดดังกล่าวก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนกระทั่งในปี ค.ศ.1945 ก็ได้มีการออกรัฐกำหนด (ordonnance) ให้ข้ารัฐการก่อตั้งสหภาพหรือเข้าร่วมกับสหภาพได้ ต่อมาในปี ค.ศ.1946 ก็มีกฎหมายตามออกมาอีกฉบับหนึ่งคือรัฐบัญญัติว่าด้วยสถานะทั่วไปของข้ารัฐการออกมาใช้บังคับ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 6 ว่า ข้ารัฐการมีสิทธิตั้งสหภาพ จากนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1946 ออกมาใช้บังคับ ก็ได้มีการกำหนดไว้ในวรรค 6 ของคำปรารภ (préambule) ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า ทุกคนอาจปกป้องสิทธิและประโยชน์ของตนโดยการรวมตัวกันเป็นสหภาพและเข้าร่วมในสหภาพที่ตนเลือกได้ ต่อมาก็มีกฎหมายระดับรัฐบัญญัติ (loi) ออกมาอีกหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ค.ศ.1958) ที่ยังคงรับรองหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับปีค.ศ.1946 และกฎหมายที่ออกมาในปี ค.ศ.1959 ที่ยอมรับสิทธิในการรวมตัวกันเป็นสหภาพของข้ารัฐการ โดยจะเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพเองหรือเข้าร่วมกับสหภาพที่มีอยู่แล้วก็ได้ จากผลของกฎหมายฉบับหลังนี้เองที่มีการหยิบยกเอามาตรา 411.1 แห่งประมวลกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดถึงการก่อตั้งสหภาพแรงงาน มาใช้ในการก่อตั้งสหภาพข้ารัฐการในเวลาต่อมา
       อำนาจหน้าที่ของสหภาพข้ารัฐการนั้น ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับด้วยกัน โดยกฎหมายระดับรัฐบัญญัติที่ออกในปี ค.ศ.1983 ได้กำหนดหน้าที่สำคัญของสหภาพข้ารัฐการไว้ว่า สามารถเป็นผู้ฟ้องคดีได้ในกรณีของการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎที่กระทบต่อสถานะของข้ารัฐการหรือกรณีที่มีการออกคำสั่ง คำวินิจฉัยที่มีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของข้ารัฐการ สหภาพข้ารัฐการทำหน้าที่เจรจากับรัฐบาลในเบื้องต้นเพื่อกำหนดเรื่องเงินเดือนเพื่อเจรจาปัญหาที่เกี่ยวกับเงื่อนไข (conditions) ในการทำงานของข้ารัฐการและปัญหาที่เกิดจากการจัดโครงสร้าง (organisation) ของระบบการทำงาน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีกฎหมายต่างๆ อีกมากมายที่เปิดโอกาสให้กับการดำเนินกิจกรรมของสหภาพข้ารัฐการ เช่น การกำหนดให้มีตัวแทนของสหภาพข้ารัฐการอยู่ในคณะกรรมการข้ารัฐการแห่งชาติ (le Conseil Supérieur de la fonction publique) การกำหนดให้สหภาพข้ารัฐการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ในกรณีที่มีกฎหรือระเบียบที่เกี่ยวกับสถานะของข้ารัฐการไปกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของข้ารัฐการ เป็นต้น นอกเหนือจากกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว ในทางกลับกัน ก็ปรากฏว่ามีกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งที่ออกมาสร้างข้อจำกัดให้กับการดำเนินงานของสหภาพข้ารัฐการ เช่น การกำหนดกรอบของการดำเนินการต่างๆ ของสหภาพข้ารัฐการ ว่าต้องเป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์ของสมาชิกส่วนรวมของสหภาพ การกำหนดห้ามสหภาพข้ารัฐการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง การห้ามข้ารัฐการบางประเภท เช่น ผู้ว่าการจังหวัด รองผู้ว่าการจังหวัด และทหาร ตั้งหรือเข้าร่วมกับสหภาพข้ารัฐการ เพราะข้ารัฐการเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การสั่งการโดยตรงอย่างเข้มงวดของรัฐบาล เป็นต้น
       สิ่งที่มาพร้อมๆ กับการรวมตัวในรูปของสหภาพ ก็คือสิทธิในการนัดหยุดงาน (le droit de grève) การนัดหยุดงานเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ในอดีตไม่มีการเปิดโอกาสให้ข้ารัฐการตั้งหรือเข้าร่วมกับสหภาพได้ เพราะการนัดหยุดงานจะกระทบต่อหลักว่าด้วยความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยก่อนหน้าปี ค.ศ.1946 การนัดหยุดงานของข้ารัฐการถือเป็นการกระทำอาชญากรรมต่อแผ่นดินและต่อกฎหมาย เลยทีเดียวครับ สิทธิในการนัดหยุดงานของข้ารัฐการนั้นไม่ได้กล่าวไว้ในกฎหมายฉบับปี ค.ศ.1946 ที่ให้ข้ารัฐการตั้งสหภาพได้ แต่ได้กล่าวไว้ในวรรค 7 ของคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1946 ที่ว่า “สิทธิในการนัดหยุดงานอาจใช้ได้ภายในขอบเขตของรัฐบัญญัติที่กำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องนั้น” เท่าที่ผมทราบ ปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการหยุดงานของข้ารัฐการออกมาโดยตรง แต่ที่ผ่านมาก็มีกฎหมายระดับรัฐบัญญัติและรัฐกำหนดหลายฉบับที่ออกมา “ห้าม” การนัดหยุดงานของข้ารัฐการบางประเภท เช่น ทหาร ตำรวจ ข้ารัฐการแห่งทัณฑสถาน ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ข้ารัฐการแห่งโรงพยาบาล ผู้ทำหน้าที่ควบคุมและจัดการจราจรทางอากาศ เป็นต้น ส่วนข้ารัฐการประเภทอื่นๆ นั้นโดยหลักที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็สามารถนัดหยุดงานได้ เช่นบรรดาครู อาจารย์ก็เคยเห็นหยุดงานกันอยู่บ่อยๆครับ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้สิทธิในการนัดหยุดงานอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญไปกระทบต่อหลักว่าด้วยความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นหลักตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหารจึงได้ออกกฎเกณฑ์มาเพื่อกำหนดถึงเรื่องการให้บริการขั้นต่ำ (le minimum service) เอาไว้ว่า จะนัดหยุดงานกันอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็ยังคงต้องวางมาตรการเสริมสำหรับการจัดให้มีการให้บริการสาธารณะขั้นต่ำเอาไว้ในขณะที่มีการใช้สิทธิพักหยุดงานนั้นด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนและเพื่อเป็นหลักประกันความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ
       การนัดหยุดงานของข้ารัฐการไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆครับ มีกฎหมายออกมากำหนดเกณฑ์เบื้องต้นในการนัดหยุดงานเอาไว้ว่า ก่อนที่จะมีการนัดหยุดงาน สหภาพข้ารัฐการจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงในการนัดหยุดงานของตนต่อหน่วยงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันก่อนที่จะถึงวันนัดหยุดงาน โดยในหนังสือจะต้องระบุเหตุผลหลักในการหยุดงาน สถานที่ที่จะใช้ในการชุมนุม วันและเวลาในการเริ่มต้นการนัดหยุดงานและระยะของการนัดหยุดงานที่ตั้งใจ ส่วนในช่วงเวลาที่มีการนัดหยุดงานนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคือสหภาพข้ารัฐการกับหน่วยงานก็จะต้องเจรจาหาข้อยุติในปัญหาที่เป็นเหตุผลในการนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานของข้ารัฐการต้องทำตามกติกาที่กล่าวไปแล้วอย่างเคร่งครัด ฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษ และนอกจากนี้ถ้าผมทราบมาไม่ผิด ข้ารัฐการที่หยุดงานจะถูกหักเงินเดือนสำหรับวันที่ตนหยุดงานด้วย เพราะเงินเดือนของข้ารัฐการมาจากภาษีของประชาชน วันไหนหยุดทำงานวันนั้นก็ไม่ได้เงินครับ !!!
       จริงๆ แล้วผมยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสหภาพข้ารัฐการของฝรั่งเศสที่จะนำมาเล่าให้ฟังได้ อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการนัดหยุดงาน แต่ก็ด้วยเนื้อที่และเวลาที่มีจำกัด ก็คงขอนำเสนอไว้เพียงแค่นี้ก่อน โดยส่วนตัวแล้ว แม้จะนำเสนอเรื่องสหภาพข้ารัฐการของฝรั่งเศสมาเสียยืดยาว แต่ผมก็ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับแนวความคิดในการตั้งสหภาพข้าราชการขึ้นมาในประเทศไทยด้วยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือผมไม่ทราบเจตนารมณ์ที่แน่ชัดของรัฐธรรมนูญมาตรา 64 วรรค 2 ว่าประสงค์อะไรกันแน่และหากจะให้มีการตั้งสหภาพข้าราชการขึ้นมาแล้วจะมีประโยชน์หรือเกิดผลอย่างไร ผมอยากจะขอฝากเป็นประเด็นให้กับผู้ที่พยายามจัดให้มีสหภาพข้าราชการของไทยด้วยว่ามีสิ่งที่ควรคำนึงถึงหลายประการ เช่น ควรมีสหภาพข้าราชการกลางหรือไม่และจะมีอำนาจหน้าที่อย่างไร เช่นเดียวกับสหภาพข้าราชการรายประเภทและอำนาจหน้าที่ การนัดหยุดงานและมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้กระทบต่อบทบัญญัติในมาตรา 64 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นครับ ควรหาคำตอบให้ชัดก่อนที่จะดำเนินการจัดตั้งสหภาพข้าราชการครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอจำนวน 3 บทความ บทความแรกคือบทความเรื่อง "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐปัญหาที่ถูกมองข้าม" ของอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย บทความที่สอง คือบทความเรื่อง"การควบคุมการเงินของพรรคการเมืองตามกฎหมายไทย" ของ คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง และบทความที่สามเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "อัปลักษณะแห่งกฎหมายเลือกตั้งว่าด้วยการห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุรา" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ และนอกจากบทความทั้งสามแล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่ที่น่าสนใจจำนวน 3 เล่ม หลังจากที่ว่างเว้นการแนะนำหนังสือมาเสียนาน สนใจลองเข้าไปดูได้ที่ “หนังสือตำรา” ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1203
เวลา 18 เมษายน 2567 23:51 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)