สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๘)

13 เมษายน 2551 19:40 น.

       (ข) elite ประเภทที่ (๒) “นักวิชาการในวงการทางกฎหมายของไทย” : elite กลุ่มสอง ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็คือ นักกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งคงไม่ใช่จำกัดเฉพาะแต่ นักกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ เท่านั้น แต่หมายถึงสภาพโดยรวมของนักกฎหมายไทย
       ผู้เขียนขอเรียนว่า ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์(ของต่างประเทศ) มักจะวิเคราะห์ “ความเจริญและความล้มเหลว”ของประเทศ โดยพิจารณาจาก สภาพและบทบาท ของ ชนชั้นนำ (elite) ในสังคมของประเทศ เพราะชนชั้นนำของประเทศเป็น พลังขับเคลื่อนของสังคม โดยรวม
       
       ในบทความที่ผ่านมา ผุ้เขียนได้กล่าวถึง การวิเคราะห์ เหตุการณ์รุนแรงของประเทศฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ ๑๘ ที่ผู้เชียวชาญทางประวัติศาสตร์ของเขาอธิบายไว้ว่า เกิดมาจากพฤติกรรมของ elite (ของฝรั่งเศส) ๒ กลุ่ม คือ “กลุ่มตุลาการ” หรือผู้พิพากษา ที่เรียกว่า parlementaire ของศาล parlement ซึ่งเป็นระบบศาลที่ผูกขาดอำนาจชี้ขาดคดีทั่วประเทศของฝรั่งเศสอยู่ในขณะนั้น โดยศาล parlement จะยอมรับและบังคับใช้ “กฎหมายของรัฐ”เฉพาะกฎหมายที่พวกตนลงทะเบียนไว้เท่านั้น ; กลุ่มตุลาการ parlementaire ไม่ยอม(ลงทะเบียน)รับ “กฎหมาย”ที่รัฐบาลของกษัตริย์ฝรั่งเศสตราขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เพราะเป็นกฎหมายที่ตนเองและพรรคพวกเสียประโยชน์ ประเทศฝรั่งเศสจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จนเหตุการณ์รุกลาม ฯลฯ กับ elite อีกกลุ่มหนึ่ง คือ “กลุ่มนักวิชาการ” ที่ทำตัวเป็นนักปราชญ์ “the philosophes” ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเอกชน แต่ไม่สนใจและไม่รับรู้ว่าสังคมจะแก้ปัญหาและบริหารประเทศไปได้อย่างไร
       ผู้เขียนคิดว่า เรา (ท่านผู้อ่านและผู้เขียน) ลองมาทดลอง วิเคราะห์ สภาพ “ปัญหาการเมือง”ของประเทศไทย บนพื้นฐานของสภาพและบทบาท ของ elite – ชนชั้นนำในสังคมไทยของเราในปัจจุบัน ดูบ้าง เพื่อที่จะได้คาดคะเนดูว่า อนาคตของประเทศไทย(อันไม่ไกลนัก) จะเป็นอย่างไร ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์
       
ใน ข้อ (ก) ที่แล้วมา ผู้เขียนได้วิเคราะห์บทบาทของชนชั้นนำ “ ประเภท นักการเมืองจำเป็น” ที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นเพียงการวิเคราะห์เฉพาะกิจ ที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เท่านั้น โดยผู้เขียนมีความเห็นว่า หลังจากที่ “นักการเมืองจำเป็น”คณะนี้ได้อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาความเสื่อมของการบริหารราชการแผ่นดิน( ที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร ในช่วง ๕ - ๖ ปีที่แล้วมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๔ – พ.ศ. ๒๕๔๙) ซึ่งปรากฎว่า หลังจากที่“นักการเมืองจำเป็น”ได้ใช้เวลา ไปประมาณ ๑ ปี ๓ เดือน “นักการเมืองจำเป็น” ก็ประสบความล้มเหลวอย่างบูรณาการ เพราะขาด “ความรู้”และ “ความเสียสละ”
       ต่อไปนี้ ในข้อ (ข) (ค) และ (ง) ผู้เขียนจะได้นำ สภาพและบทบาทของ elite กลุ่มที่เป็นพื้นฐานของสังคมไทยประเภท ( ได้แก่ นักกฎหมาย / นายทุนธุรกิจ ( นักเลือกตั้ง) / นักวิชาการประเภท “the philosophes”) มาลองวิเคราะห์อย่างรวบรัดสั้น ๆ ( เท่าที่จะทำได้ ) เพื่อศึกษาถึง “พฤติกรรม”และ “ความรู้” ของกลุ่ม elite ชนชั้นนำที่เป็นพื้นฐานของสังคม ของเรา ; โดยจะเริ่มต้นที่ elite ประเภทที่เป็น “นักกฎหมาย”ก่อน
       ผู้เขียนมีความเห็นว่า การที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาพการณ์ตามที่ปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้(เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑) เป็นเพราะนักกฎหมายและนักวิชาการของเราเขียน(ออกแบบ)กฎหมายไม่เป็น และนักกฎหมายและนักวิชาการของเราไม่มี “ความรู้”พอ ที่พาคนไทยออกจากวงจรแห่งความเสื่อม (vicious circle)ได้ และได้กลายเป็น “เครื่องมือ”ของนักธุรกิจนายทุนที่รวมทุนกันตั้งพรรคการเมือง เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ใน “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕) , รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
       
       ในการศึกษาถึง “พฤติกรรม” และ “ความรู้” ของนักกฎหมาย ผู้เขียนขอแยกนักกฎหมายออกเป็น ๒ จำพวก คือ นักกฎหมายทั่วไป จำพวกหนึ่ง และ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญ) รวมทั้งนักกฎหมายที่คิดว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกจำพวกหนึ่ง
       
       (๑) นักกฎหมายทั่วไป :
       ผู้เขียนคิดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่แปลก คือ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการอื่น ๆอย่างมากมาย เช่น การแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตย์กรรม เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ฯลฯ และทำให้เรา (คนไทย)เชื่อว่า เราก็มีความก้าวหน้าทาง “กฎหมาย” เช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่น ๆ
       ถ้าผู้เขียนจะบอกว่า ประเทศไทย (ที่มีคนไทย ๖๓ ล้านคนเศษ) เป็นประเทศล้าหลังในวิชากฎหมาย (ซึ่งบางที อาจจะถึงประมาณ ๑๐๐ ปี) ผู้เขียนก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะตกใจว่าเป็นไปได้อย่างไร ก็ในเมื่อบ้านเมืองเราเต็มไปด้วยนักกฎหมายมากมาย ; และนอกจากนั้น ก็คงจะมีนักกฎหมายและนักวิชาการจำนวนมากออกมาโต้แย้งว่า ผู้เขียนพูดไม่จริง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะล้าหลังได้ถึงขนาดนั้น ในเมื่อประเทศไทยมีผู้ที่ศึกษากฎหมายและจบ “ปริญญาเอก”ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก และจบสูงกว่าผู้เขียนเสียอีก และนอกจากนั้น ประเทศไทยก็มี “บทกฎหมาย”ที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศมากมาย ประเทศอื่นมีบทกฎหมายอะไร เราก็มีบทกฎหมายนั้น ๆ
       ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ผู้เขียนจะพิสูจน์หรือมีวิธีพิสูจน์ ให้ท่านผู้อ่าน “เห็น”ได้อย่างไร
       

       ผู้เขียนคงจะไม่พิสูจน์และ(ไม่)ให้”ความเห็น”ของผู้เขียนว่า นักกฎหมายไทยล้าหลังเพียงใด แต่ผู้เขียนจะขอกำหนด “ประเด็น” ให้เป็นข้อพิจารณา และจะขอให้ท่านผู้อ่านไปช่วยพิจารณา ชั่งน้ำหนักและมีความเห็นด้วยตัวของท่านเอง และในตอนสุดท้ายของหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะเก็บรวบรวม “ข้อเท็จจริง” (ที่เป็น “ปัญหากฎหมาย”ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึง “สภาพของนักกฎหมาย”ของเรา ณ ขณะนี้ - พ.ศ. ๒๕๕๑) ที่สำคัญ ๆมา บันทึกไว้ในบทความนี้ เพื่อให้ท่านผุ้อ่านมีเวลานำไป “คิด”ต่อไป
       และถ้าท่านผู้อ่านอยากจะทราบอย่างเคร่า ๆว่า นักกฎหมายไทย ล้าหลังจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ย้อนหลังไปไกลสักเพียงใด ก็ขอให้ท่านผู้อ่านก็ลองคำนวณดูว่า กว่าที่ประเทศไทยของเราจะเต็มไปด้วย “นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย” และ“นักกฎหมายประเภทนิติบริกร” เรา (ประเทศไทย)ได้ใช้เวลาสะสมมานานแล้วสักกี่สิบปี ; การที่ประเทศไทยของเราเต็มไปด้วย “นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย”และ“นักกฎหมายประเภทนิติบริกร”มานานเท่าใด ก็แสดงว่าประเทศไทยได้ละเลยและไม่สนใจใน “วิชากฎหมาย”มานานเท่านั้น
       
       (๑.๑) คำว่า “นักกฎหมายที่ได้รับ “ปริญญา(บัตร)” กับ คำว่า “นักกฎหมายที่มี “ความรู้” มีความหมายไม่เหมือนกัน
       เพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า ทำไม ผู้เขียนจึงกล่าวว่า ประเทศไทยล้าหลังในวิชากฎหมาย ( ซึ่งอาจจะกว่า ๑๐๐ ปี) ในขณะที่ท่านผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน เห็นว่า ประเทศไทยมีนักกฎหมายที่ได้รับ “ปริญญา”จำนวนมาก
       คำตอบจึงอยู่ที่ว่า “นักกฎหมายที่ได้รับ “ปริญญา(บัตร)” มีความหมายไม่เหมือนกับ “นักกฎหมายที่มีความรู้”; ทั้งนี้ โดยผู้เขียนจะยังไม่พูดถึงความแตกต่าง ระหว่าง มาตรฐานของ“ปริญญา(บัตร)”ที่นักกฎหมาย(ไทย)ได้รับ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “มหาวิทยาลัย”ภายในประเทศ หรือมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ (ไม่ว่าจะเป็นประเทศใกล้หรือไกลจากประเทศไทย) ที่ไม่เหมือนกัน ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่า มีข่าวปรากฏเป็นครั้งคราวว่า มหาวิทยาลัยของรัฐของเราบางแห่ง ได้ให้ “ปริญญา (เอก)” เพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม (นักการเมือง) หรือเพื่อมุ่งหมายในการหา“รายได้”(ให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัย) จากการเก็บค่าหน่วยกิจปริญญาเอก มากกว่าที่ (มหาวิทยาลัย)จะคำนึงถึง “มาตรฐานของปริญญาเอก”ของประเทศโดยรวม ; ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ ล้วนแต่จะเป็น “การเพิ่มเติม” ปัญหาของสังคม(ไทย)ในอนาคต ให้มากขึ้น
       ดังนั้น การที่ประเทศไทย มีผู้ที่เรียนจบ “ปริญญา(เอก)”ทางกฎหมาย (ไม่ว่าจากต่างประเทศหรือในประเทศไทย)เป็นจำนวนมากเท่าได จึงมิได้หมายความว่า ประเทศไทยจะมี นักกฎหมายที่เก่งกฎหมายเป็นจำนวนมาก (เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว)
       การเรียนจบปริญญา(เอก) มีความหมาย เพียงว่า เรา(ประเทศไทย)มี ผู้ที่สอบได้ปริญญา(เอก) โดยสอบผ่านหลักสูตรและการทำวิทยานิพนธ์เฉพาะเรื่อง(ตามที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศกำหนด) เป็นจำนวนมากเท่านั้น ; แต่ “ความเก่ง”หรือ “ความเชี่ยวชาญ”ของนักกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่จบปริญญาเหล่านั้นว่า จะขวนขวายพัฒนาความรู้ของตนเองได้ดี เพียงใด (หลังจากที่จบการศึกษาแล้ว)
       ท่านผู้อ่านคงต้องทบทวนปัญหานี้ด้วยการถามตัวท่านเอง เป็นคำถามต่อไป ว่า ในบรรดานักกฎหมายของเราที่สอบได้ปริญญา(เอก)จากต่างประเทศนั้น มีผู้ที่ขวนขวายพัฒนาความรู้ของตนเองเพิ่มเติมให้สูงขึ้น มีจำนวนมากน้อยเพียงใด สักกี่เปอร์เซ็นต์ของนักกฎหมายที่สอบได้ปริญญา(เอก)เหล่านั้น และลองเปรียบเทียบกับจำนวนนักกฎหมาย ที่อาศัยการมีปริญญาจากต่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับตนเอง (แต่ ไม่พัฒนาความรู้ของตนเอง) มีจำนวนมากน้อยเพียงใด
       นอกจากนั้น แม้ว่านักกฎหมายที่จบปริญญา(บัตร) ไม่ว่าจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศหรือจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จะมี“ความตั้งใจ”ที่จะพัฒนาตนเองมากเพียงใด แต่ความเก่งหรือความเชี่ยวชาญของนักกฎหมาย ก็ยังขึ้นอยู่กับ “โอกาส”ในการเข้าถึงตำรา (ดี ๆ) ของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขึ้นอยู่กับความรู้ใน“ภาษาต่างประเทศ”เพื่อที่จะไปอ่านตำราของประเทศที่พัฒนาแล้ว ; ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเอกราชมาโดยตลอด ดังนั้น นักกฎหมายของเราจึงมี “จุดอ่อน”ในด้านภาษาต่างประเทศ ; และท่านผู้อ่านควรต้องทราบด้วยว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่ประชาชนของเขาไม่รู้ภาษาต่างประเทศของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีไต้ จีน ประเทศเหล่านี้ (เขา)มีโครงการแปลตำราของประเทศที่พัฒนาแล้ว(หลายประเทศ - หลายภาษา)อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ประเทศไทยไม่มี [หมายเหตุ ประเทศญี่ปุ่น มีโครงการแปลตำราต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่ต่ำกว่า ๑๔๐ ปี]
       
       ปัญหาต่อมา ก็คือ ท่านผู้อ่านและบุคคลภายนอกทั่ว ๆ ไป จะมี”โอกาส”ทราบได้ อย่างไรว่า นักกฎหมายของเรามี “ความรู้”(จริง ๆ ) มากน้อย เพียงได ; ข้อที่ท่านผู้อ่านจะต้องพึงสังวรณ์ไว้ ก็คือ “ความเก่ง”หรือ “ความเชี่ยวชาญ”ของนักกฎหมาย มิได้ขึ้นอยู่กับการดำรง “ตำแหน่งในทางราชการ”ของนักกฎหมาย และมิได้ขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่วในการใช้ สำนวนโต้ตอบของนักกฎหมายในการโต้วาทีหรือการออก “รายการอภิปรายปัญหากฎหมาย” ทางวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชน ; แต่“ความเก่ง”หรือ “ความเชี่ยวชาญ”ของนักกฎหมาย จะแสดงออกให้เห็นได้จากความเห็น(ของนักกฎหมาย) ที่ปรากฏใน “ผลงาน(เขียน)”ของนักกฎหมาย ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถตรวจสอบและประเมินได้ ; ผลงาน(เขียน)เหล่านี้ ก็มีเป็นต้นว่า ตำรากฎหมายที่นักกฎหมายเขียน คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลที่เขียนโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการ บันทึกความเห็นทางกฎหมายของที่ปรึกษากฎหมาย หรือแม้แต่ร่างกฎหมายที่เขียน(ออกแบบ)โดยนักกฎหมาย
       แต่ทั้งนี้ ในการที่จะประเมิน “ความเก่งหรือความเชี่ยวชาญ”ของนักกฎหมายได้ ก็คงต้องมีเงื่อนไขว่า ท่านผู้อ่านหรือบุคคลภายนอก(ที่จะประเมินความรู้ของนักกฎหมาย) จะต้องมีความรู้พื้นฐานพอที่จะ”ประเมิน”ความรู้ของนักกฎหมายเหล่านั้นได้ ; ถ้าไม่มี ก็คงต้องอาศัยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมาช่วยตรวจสอบ วิเคราะห์และประเมินให้ ตามที่จะปรากฏให้เห็นได้จากบทความในวารสาร(วิชาการ)ทางกฎหมายหรือในสื่อมวลชน ; แต่ถ้าประเทศของเรายังไม่มี “นักวิชาการ(ในมหาวิทยาลัย)ประเภทนี้”มากพอ หรือว่านักกฎหมาย(ที่จะถูกประเมิน)ดังกล่าว กลายเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเสียเอง ก็คงต้องถือว่า เป็นความ “โชคร้าย”ของประเทศไทย และแสดงว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ต่ำลงมาอีกระดับหนึ่ง
       
ทำไม ประเทศไทยของเราจึงเต็มไปด้วย “นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย” ; ในขณะนี้ ถ้าท่านผู้อ่านฟังข่าวหรือหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน ท่านผู้อ่านคงพบว่า ประเทศไทยของเราเต็มไปด้วย “ปัญหากฎหมาย” และท่านผู้อ่านคงจะสับสนกับความเห็นทางกฎหมายของ “นักกฎหมาย(และนักการเมือง)”ของเรา ที่มีอยู่มากมาย ; และบรรดานักกฎหมาย(และนักการเมือง)ของเราเหล่านี้ ต่างคนต่างก็“อ้าง”เหตุผลของตนเอง จนเรา(คนไทย)ก็ไม่อาจทราบได้ว่า ความเห็นของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)คนใด เป็นเหตุผลที่“ถูกต้อง”
       เช่น ในขณะนี้ (เดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๕๑) เราก็จะพบว่า นักกฎหมาย(และนักการเมือง)ต่างคนต่างก็พูดว่า ตนแก้กฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และไม่มีใครสักคนเดียวที่จะพูดว่าตนเองแก้กฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)เพื่อประโยชน์ของตนเอง ; ปัญหามีว่า แล้วเรา(คนไทย) จะใช้ “เกณฑ์”อะไร มาวัดความถูกต้อง(ของคำพูด) ของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)เหล่านี้
       

       นอกจาก “เหตุผล”ของนักกฎหมายแบบศรีธนญชัยแล้ว ในปัจจุบันนี้ “เหตุผล”ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ จาก “นักกฎหมายและนักวิชาการ”ของเรา ที่นำมา “อ้าง”เพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็น(ของตน) อีกประหนึ่ง ก็คือ “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” หรือ “เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งทำให้เรา(คนไทย)คล้อยตามและเชื่อไปด้วยว่า ถ้าหากมีการเลือกตั้งเพื่อความเป็นประชาธิปไตยแล้ว หรือถ้าหากประชาชนได้มีส่วนร่วมแล้ว การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง”
       และในทางปฎิบัติ เราก็จะพบว่า นักการเมืองของเรา ก็จะจัดตั้ง “กลุ่มมวลชน”(ไม่ว่าจะจ้างมาหรือไม่จ้าง) เพื่อให้ “กลุ่มมวลชน”มาชุมนุมเรียกร้องและแสดงความเห็นสนับสนุนความเห็นของนักการเมือง เพื่อที่ตนเอง(นักการเมือง)จะได้อ้างว่า ตนเองมี “ความถูกต้อง”ตามหลักการของความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน
       ดูเหมือนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีสภาพเช่นนี้ ; ผู้เขียนไม่เคยพบสถานการณ์เช่นนี้ในสังคมของ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว”
       
       
แนวความคิดในเรื่อง “ความเป็นประชาธิปไตย” (หลักการแบ่งแยกอำนาจหรือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้แทน) ของ Montesquieu , Hobbes, และของนักปราชญ์อื่น ๆ เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน นั้น เป็น “แนวความคิด – concept” ที่ถูกนำมาใช้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้มี “สภาผู้แทนราษฎร” และในปัจจุบันนี้ (ต้นศตวรรษที่ ๒๑) วิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองดังกล่าว ได้จบสิ้นไปนานแล้ว
       
ปัจจุบันนี้ “ปัญหาของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย”ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ เป็นปัญหาใหม่ คือ เป็นปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชั่นของ “นักการเมือง”ที่มาจากการเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย ที่อาศัยความบกพร่องของ“รูปแบบของการปกครอง – form of government”ตามรัฐธรรมนูญ และอาศัย ความอ่อนแอและความหลากหลายของ “สภาพสังคม”ในการเลือกตั้ง เพื่อเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง
       ในช่วง ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่กลาง ศตวรรษที่ ๑๙) จนถึงปัจจุบัน( ต้นศตวรรษ ที่ ๒๑) ทฤษฎีกฎหมาย(นิติปรัชญา) / “แนวความคิด”ในการพัฒนารูปแบบของการปกครอง – form of government / การเขียน(ออกแบบ) กฎหมายที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ (ของประเทศที่พัฒนาแล้ว) ได้พัฒนาไปไกล และไกลมากจนนักกฎหมายและนักวิชาการของเรา(ประเทศไทย)ตามไม่ทัน
       “ การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในปัจจุบัน เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ที่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่ง“เหตุผล”ที่จะทำให้การบริหารประเทศ เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้มากที่สุด ; แต่ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” มิไช่ เป็น“เหตุผล”ในตัวของมันเอง ; และ เช่นเดียวกัน การที่ “การมีส่วนร่วมของประชาขนกลุ่มหนึ่ง”ที่มีจำนวนมวลชน (ไม่ว่าจะจ้างมาหรือไม่จ้างมา) มากกว่า“การมีส่วนร่วมของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง” ก็มิได้หมายความว่า ประชาชนกลุ่มที่มีจำนวนมวลชนมากกว่า จะมีเหตุผลที่ดีกว่า ประชาชนกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่า ทั้งนี้ เพราะความถูกต้องของเหตุผลขึ้นอยู่กับทความเป็นจริงในทางวิชาการ และ ขึ้นอยู่กับ “คุณภาพ(พฤติกรรม)”และ “ความรู้”ของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม
       
       ทำอย่างไร จึงจะทำให้ “นักกฎหมาย”ของเรา ไม่เป็น “นักกฎหมายแบบศรีธนญชัย (หรือเป็นลูกหลานของศรีธนญชัย)“ และทำอย่างไร นักกฎหมาย (และนักวิชาการ)ของเรา จึงจะพ้นจากการหลงวกวน อยู่กับ แนวความคิด “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน
       หลักการทางวิชาการในปัจจุบัน เขาใช้อะไร มาเป็น “เกณฑ์”วัดความถูกต้อง(ของเหตุผล)ของนักกฎหมาย(หรือของนักการเมือง) ซึ่งมิใช่เป็นการวัดด้วยจำนวนหัวของมวลชนที่มาชุมนุมกัน ไม่ว่ามวลชนเหล่านั้นจะถูกจ้างมาหรือไม่ ; และมิใช่ว่า ใครคอร์รัปชั่นไว้ได้มาก ก็มีเงินมาก และจ้างมวลชนได้มาก
       ผู้เขียนเห็นว่า ก่อนที่นักกฎหมายของเรา จะ “คิด”แก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศ และก่อนที่จะหา “ความรู้”จากกฎหมายมหาชน เพื่อนำมาแก้ปัญหาดังกล่าว (ซึ่งต้องใช้เวลา) ผู้เขียนคิดว่า นักกฎหมายของเรา คงจะต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบ “วิธีคิด”ของตนเองเสียก่อน เพราะ “วิธีคิด”เป็นงื่อนไขขั้นต้นของการหา “ความรู้” ; และวิชาที่สอน”วิธีคิด(ทางกฎหมาย)”ให้แก่เรา ก็คือ “นิติปรัชญา – ปรัชญาทางกฎหมาย” นั่นเอง ; วิชานิติปรัชญาสอนให้เรารู้ว่า ในโลกปัจจุบัน เขาใช้ “เกณฑ์”อะไร มาวัดความถูกต้องของเหตุผลของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)
       ท่านผู้อ่านที่เป็นนักกฎหมายหรือนักวิชาการ ลองทดสอบถามตัวท่านเองดูก็ได้ว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า แนวความคิดของนิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ มีอย่างไร ทั้งนี้โดยท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องบอก “ชื่อ”ของนักปราชญ์เหล่านี้ก็ได้ เพราะบางทีชื่อเหล่านี้ก็เรียกยากและยากที่จะจำ ; แต่แน่นอน นักปราชญ์เหล่านี้ คงไม่ใช่ชื่อ Montesquieu , Rousseau, Hobbes , etc.ที่เรารู้ ๆ กันอยู่ )
       
       การที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า “ประเทศไทยล้าหลังในวิชากฎหมาย ซึ่งอาจจะกว่า ๑๐๐ ปี” ซึ่งตามความจริงแล้ว ผู้เขียนกำหนด“ระยะเวลา”นี้ จากการพิจารณาดู “ความสนใจ”ในวิชานิติปรัชญาของนักกฎหมายและนักวิชาการของเรา นี้เอง ; และระยะเวลาที่ถูกต้องของความล้าหลังของนักกฎหมายไทย น่าจะเป็นประมาณสัก ๑๕๐ ปี ทั้งนี้ โดย ผู้เขียนพิจารณาดูจาก “แนวความคิด – concept”ของนักกฎหมายที่มาช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้แก่คณะปฎิรูปการปกครองฯ (ที่ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยนยน พ.ศ. ๒๕๔๙) และ พิจารณาดูจากเอกสาร “คำชี้แจงสาระสำคัญ ของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐” ที่เขียนโดย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย elite (นักกฎหมายและนักวิชาการ) ของสังคมไทยในปัจจุบันจำนวนมาก (โปรดย้อนไปดูการวิเคราะห์เอกสารเหล่านี้ จากบทความนี้ในตอนต้น)
       ผู้เขียนมีความเห็นว่า “แนวความคิดพื้นฐาน”ของนักกฎหมายและนักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ (รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ และรัฐธรรมนูญถาวรฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) ยังอยู่ภายไต้ “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย” ตั้งแต่สมัยของ Montesquieu etc.เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน และนักกฎหมายและนักวิชาการของเราในปัจจุบัน ยังไม่มีการรับรู้ หลักการของ “นิติปรัชญา ในยุคศตวรรษ ที่ ๒๐”(ที่เริ่มต้น ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๑๙)
       
       (๑.๒)“ ความรู้” กับ “พฤติกรรม (ของนักกฎหมาย)” เป็นของ ๒ สิ่งที่ ไม่เหมือนกัน
       
ผู้เขียนเห็นว่า การทำการวิเคราะห์หรือการวิจารณ์ “ความขัดแย้ง”หรือ “ความแตกต่าง”ในความคิดเห็น (ทางกฎหมาย) ในเรื่องต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นในหน้าสื่อมวลชน (เป็นประจำวัน) เป็น “รายกรณี - case by case) ไปนั้น ย่อมไม่สามารถแสดงให้เห็น “สภาพพิกลพิการทางกฎหมายของสังคม(ไทย)”ในภาพรวมได้
       ในหลาย ๆ กรณี จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งและความเห็น(ทางกฎหมาย)ที่แตกต่างกันนั้น เป็นความขัดแย้ง ในระหว่าง บุคคล (ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักวิชาการ) ที่ แก่งแย่ง “ผลประโยชน์”ในระหว่างกันเอง หรือ “แย่ง”อำนาจด้วยกันเอง และต่างฝ่ายต่างพยายามบิดเบือน “เหตุผล”ให้เข้าข้างตนเอง ดังนั้น การพยายามที่จะหา “เหตุผล”หรือกำหนดว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดและฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกเป็นรายกรณี (case be case) จึงเป็นการมอง “ปัญหา”ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง – reality เพราะว่า แม้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็มี “พฤติกรรม”ที่เหมือนกัน คือ ความเห็นแก่ตัว ; และดังนั้น การกำหนดว่า“ฝ่ายใดผิด”และ “ฝ่ายใดถูก” จึงไม่ใช่ “แนวทาง” ที่จะนำไปสู่ การแก้ปัญหาความเสื่อมในการบริหารประเทศ
       
การขัดแย้งหรือการมีความเห็น(ทางกฎหมาย)แตกต่างกัน ในหลาย ๆ กรณี มิได้เกิดจาก “ความรู้หรือความไม่รู้(กฎหมาย)”ของนักกฎหมาย แต่เกิดจาก “พฤติกรรม”ของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)ที่ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว และมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว ; ความรู้กับพฤติกรรม ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ; ในข้อที่ (๑.๑) เราได้พูดถึง “ความรู้”ของนักกฎหมายและนักวิชาการของเรามาแล้ว ดังนั้น ในข้อที่ (๑.๒) เราจะมาพิจารณาถึง “พฤติกรรม” หรือคุณภาพของนักกฎหมายและนักวิชาการ
       
       ความแตกต่างระหว่าง “ความรู้” กับ “ความดี” ; “ความรู้”เป็นสิ่งที่แสวงหามาได้จากการศึกษาและการเรียนรู้ แต่ “ ความดี”เป็นพฤติกรรมทางสังคมวิทยา -sociology ที่เป็นลักษณะธรรมชาติของคน ; พฤติกรรมของคน(มนุษย์) มีทั้งด้านดีและด้านเลว ; ด้านดีก็มี เช่น ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ หรือ ด้านไม่ดี(เลว)ก็มี เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อโกง ความอกตัญญู ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ ; “ความรู้”กับ“ความดี ” เป็นของสองสิ่งที่แตกต่างกัน ; คนที่มีความรู้ อาจเป็น “คนดี”ก็ได้หรือเป็น “คนไม่ดี”ก็ได้ และเช่นเดียวกัน คนที่ไม่มีความรู้ อาจเป็นคนดีก็ได้หรือเป็นคนไม่ดีก็ได้ ; หรือจะพูดในทางกลับกันก็ได้ว่า “คนดี” อาจเป็นคนที่มีความรู้ก็ได้ หรือเป็นคนที่ไม่มีความรู้ก็ได้ และ “คนไม่ดี” อาจเป็นคนที่มีความรู้ก็ได้ หรือเป็นคนที่ไม่มีความรู้ก็ได้
       ดังนั้น แม้ว่า จะสมมติว่า ประเทศไทยเรามีนักกฎหมายที่มีความรู้ที่เก่งและเชี่ยวชาญ (กฎหมาย) จำนวนมาก (ซึ่งความจริง ไม่มี) แต่ก็มิได้หมายความว่า นักกฎหมายนั้นจะเป็น “คนดี”เสมอไป นักกฎหมายจะเป็นคนดีหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของนักกฎหมาย ดังนี้ การที่ประเทศไทยเราเต็มไปด้วย “นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัยหรือนิติบริกร” จึงเป็นปัญหาทั้งในด้านความรู้(การศึกษา) และปัญหาในด้านสังคมวิทยา(พฤติกรรม)
       
       “กฎหมายมหาชน” คือ อะไร กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายแห่งยุคปัจจุบัน ที่สอนให้เรานำ “กฎหมาย”มาใช้ เพื่อประโยชน์ในวางกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกัน - social control ; และ “กฎหมายมหาชน” เป็นวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา ซึ่งหมายความว่า ในการเขียน(ออกแบบ)กฎหมายก็ดี และในการนำกฎหมายมาใช้ (the application of laws)ก็ดี จำเป็นจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง - facts ทางสังคมวิทยา (พฤติกรรมของคน – มนุษย์) ; ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า สภาพทางสังคมวิทยาในแต่ละประเทศ ย่อมแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพของชุมชนโดยทั่วไป และสภาพ(พฤติกรรม)ของ ชนชั้นนำ elite ของชุมชน ซึ่งเป็นพลังผลักดันสังคม
       ในการไปบรรยาย ณ ที่หลาย ๆ แห่ง เพื่อที่จะ ทำ “ความเข้าใจ”กับความหมายและขอบเขตของ “กฎหมายมหาชน”ให้กับท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายของผู้เขียน ผู้เขียนจะมี “ตัวอย่าง”อยู่ ๒-๓ ตัวอย่างสำหรับเล่าให้ท่านที่มาฟังการบรรยายฟัง ; ซึ่งเป็น “ตัวอย่าง”ที่ผู้เขียนใช้สำหรับแนะนำให้ผู้ที่มาฟังการบรรยายของผู้เขียนมองเห็นความสำคัญของ “สังคมวิทยา”ใน”กฎหมายมหาชน” และเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบดูว่า ท่านผู้ที่ฟังการบรรยาย ฯ ได้คิดถึง “กฎหมายมหาชน”จากด้านสังคมวิทยา มากน้อยเพียงใด
       ผู้เขียนขออนุญาตนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านไว้ในบทความนี้สำหรับคิดเล่นๆ อีกครั้งหนี่ง ซึ่งท่านผู้อ่านบางท่านอาจได้ฟังจากผู้เขียนมาแล้วหลายครั้ง ; และสำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยฟัง “ตัวอย่าง”เหล่านี้ ก็อาจทดสอบความคิดของท่านเองก็ได้ว่า ในการพิจารณาสภาพการเมืองของเราในปัจจุบันนี้ ท่านได้คำนึงถึงและวิเคราะห์สภาพทางสังคมวิทยา ของสังคมไทย มากน้อยเพียงใด
       
       ตัวอย่างที่ (๑) “ระบบสำคัญกว่าคน” หรือ “คนสำคัญกว่าระบบ” : ในตัวอย่างนี้ ผุ้เขียนได้ยกตัวอย่างว่า ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือในการวางระบบและควบคุมสังคม และดังนั้น “ระบบจึงสำคัญกว่าคน” ; แต่ในขณะที่ผู้เขียนกำลังพูดอยู่นี้ ได้มีผู้คัดค้านความเห็นของผู้เขียน โดยผู้ที่ค้าน มีความเห็นว่า“คนสำคัญกว่าระบบ” โดยให้เหตุผลว่า ถ้าคนเป็น “คนดี”แล้ว ระบบก็จะไม่มีความสำคัญอย่างใด ดังนี้ จึงควรเน้นที่การศึกษาศีลธรรม ฟังธรรม และ อบรมให้คนเป็นคนดี
       ผู้เขียนได้ขอให้ท่านผู้ที่ฟังการบรรยาย ออกความเห็น(โดยยกมือ) ว่า ท่านผู้ฟัง ฯ เห็นด้วยกับความเห็นฝ่ายใด “ระบบสำคัญกว่าคน”หรือ “คนสำคัญกว่าระบบ”; ซึ่งปรากฎว่า จะมีท่านผู้ฟังให้ความเห็นมาทั้งสองด้าน
       คำเฉลยที่ผู้เขียนบอกแก่ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ก็คือ คำตอบทั้งสองด้าน เป็นคำตอบที่ผิดทั้งคู่ เพราะคำถามที่ผู้เขียนถามไปนั้น เป็นคำถามที่ลวง เพราะเป็น “คำถาม”ที่ไม่ได้พิจารณาจากความเป็นจริง - realityในทางสังคมวิทยา; เพราะถ้าได้คำนึงถึงความเป็นจริงในทางสังคมวิทยาแล้ว ก็จะพบคำตอบดังนี้ คือ “ระบบสำคัญกว่าคน” เพราะระบบเป็นกฎเกณฑ์สำหรับความควบคุม “คนไม่ดี” (ซึ่งจะมีเป็นจำนวนมาก) แต่ในขณะเดียวกัน “คนสำคัญกว่าระบบ” เพราะ “คน”เป็นผู้ที่สร้างระบบ ถ้าไม่มี “คน”มาสร้างระบบ “ระบบ”ก็เกิดขึ้นไม่ได้ และคนที่สร้างระบบนั้น ย่อมจะต้องเป็น “คนดี”(ซึ่งจะมีเป็นจำนวนน้อย)
       ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในการตอบคำถามทั้งสองดังกล่าว ย่อมจะไม่สามารถตอบให้ถูกต้องได้เลย ไม่ว่าจะตอบในทางใด เว้นแต่ว่าในการตอบคำถามนั้น จะต้องตอบโดยระบุเงื่อนไขที่เป็นข้อสันนิษฐานทางสังคมวิทยาของคำตอบไว้ให้ชัดเจน
       ต่อจากนั้น ผู้เขียนก็กล่าวถึงความสำคัญของ “สังคมวิทยา”ในกฎหมายมหาชน โดยให้เป็นข้อสังเกตสำหรับท่านที่มาฟังการบรรยายของผู้เขียน ไว้ ๒ ประการ คือ ประการแรก นักกฎหมายมหาชนจะต้องรู้ว่า “เหตุผล”ของผู้ที่คัดค้าน (ผู้เขียน) ที่กล่าวว่า “ถ้าคนเป็นคนดีแล้ว ระบบก็ไม่มีความสำคัญอย่างใด”นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ; เพราะการที่จะทำให้ทุกคนในสังคมเป็นคนดี บำเพ็ญตนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และสละความโลภ โกรธ หลงได้โดยครบถ้วนทุกคน เป็นการ ขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน(มนุษย์) ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ; และในโลกเรานี้ “คนเห็นแก่ตัว”ย่อมมีมากกว่า “คนที่ไม่เห็นแก่ตัว” เสมอไป ; และประการที่สอง ในสังคม(ไทย)ของเรา เรายากที่จะหา “คนดี”ที่จะมาสร้างระบบ(ให้คนไทย) เพราะ “คนดี”ที่จะมาสร้างระบบให้นั้น ย่อมหมายความอยู่ในตัวว่า “คนดี”นั้นย่อมต้องอยู่ในตำแหน่งที่มี “อำนาจรัฐ”ในการสร้างระบบอยู่แล้ว ; ดังนั้น การที่จะสร้างระบบให้คนไทย จึงเป็นการตัดอำนาจของตนเอง(ผู้ที่สร้างระบบ) ; การสร้างระบบ จึงต้องการความเสียสละและความไม่เห็นแก่ตัวของผู้ที่จะสร้างระบบ ซึ่งขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของ Elite ของสังคมไทย และด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยเราจึง “ปฏิรูปการเมือง” ไม่ได้
       ในขณะนี้ (เดื่อนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑) การเมืองของประเทศกำลังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ; และไม่ว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขบางมาตรา ผู้เขียนเห็นว่า เรา(คนไทย)จะได้มี โอกาสที่จะได้ “รู้จัก”กับพฤติกรรมของนักการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง –นายทุนธุรกิจ )อีกครั้งหนึ่ง ; เพียงแต่ท่านผู้อ่านติดตามดูว่า นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ของเรา จะให้ “ใคร”เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ท่านก็จะสามารถทราบถึง “พฤติกรรม”ของนักการเมือง elite –ของสังคมไทย ของเราได้
       
       ตัวอย่างที่ (๒) ในตัวอย่างนี้ ผุ้เขียนได้ถามท่านผู้ที่ฟังการบรรยายของผู้เขียนว่า เรามักจะได้ยิน นักการเมืองและนักวิชาการของเรา พูดอยู่เสมอว่า “ระบอบประชาธิปไตย”ของเราจะดีขึ้น ถ้าประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น เพราะประชาชนจะรู้จักเลือก “คนดี” ; ผู้เขียนถามท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายว่า ท่านผู้ฟังเชื่อว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จริงหรือไม่
       ผู้เขียนอธิบายว่า การศึกษาไม่ได้ทำให้คนเป็น “คนดี” เพราะ “ความดี”กับ “ความรู้(จากการศึกษา)” เป็นของสองสิ่งที่ไม่เหมือนกัน; การพูดเช่นนั้นของนักการเมืองหรือของนักวิชาการ เป็นการพูดที่ทำให้คนไทยหลงทาง (และพูดโดยไม่สุจริตใจ) ; “ความเห็นแก่ตัว”เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน(มนุษย์) ; และไม่ว่าคนเราจะมีการศึกษาสูงขึ้นหรือไม่ “คนที่เห็นแก่ตัว”ก็ย่อมจะมีจำนวนมากกว่า“คนที่ไม่เห็นแก่ตัว”อยู่เสมอไป โดยไม่คำนึงว่า “คน”เหล่านั้น จะเป็นนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่ได้รับเลือกตั้ง / หรือเป็นนักกฎหมาย / หรือเป็นประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
       การศึกษาที่ดี อาจทำให้ “ความเห็นแก่ตัว”ของคน(มนุษย์)ลดน้อยลง และมีการใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากขึ้น แต่การศึกษาไม่อาจเปลี่ยนความคิดพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ได้ และมนุษย์แต่ละคนมีความสำนึกในการต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ และนั่นคือ ความเห็นแก่ตัว
       การศึกษาของประชาชน มิใช่เป็น “เงื่อนไข” ที่ทำให้นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)นำมาอ้างว่า ตนควรมีอำนาจใน “การผูกขาดการใช้อำนาจรัฐ”ตามรัฐธรรมนูญต่อไป จนกว่าประชาชนจะมีการศึกษาสูงขึ้น( เพื่อที่จะได้รู้จักเลือก “คนดี”) ; และ เช่นเดียวกัน การศึกษาของประชาชน ก็คงจะไม่ทำให้ “นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”เปลี่ยนพฤติกรรมของตน จากคนที่แสวงหาอำนาจและแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นจากทรัพยากรของชาติ กลายมาเป็น “คนดี” ที่ไม่ซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และเป็นคนที่เสียสละ ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น(เมื่อมีโอกาส) และไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตนเอง
       ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาของ “ประชาชน” ก็เป็นเรื่องการศึกษาของประชาชน ที่รัฐจะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ส่วนนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ของเราเคยมีพฤติกรรมอย่างไร ก็คงจะมีพฤติกรรมอย่างนั้น และเรา(คนไทย)คงจะต้องแสวงหามาตรการและรูปแบบของกฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)ที่มีประสิทธิภาพมาควบคุมพฤติกรรมของนักการเมือง นั่นก็คือ “การปฏิรูปการเมือง” ; ทั้งสองเรื่องนี้ ต้องพิจารณาแยกจากกัน และ ไม่ใช่ “เหตุผล”ที่เกี่ยวเนื่องกัน
       สิ่งที่เรา(คนไทย)ควรจะระลึกไว้ ก็คือ “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ได้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ”
       คำกล่าวนี้ เป็นตรรก (logic)ที่เป็นความจริงแท้ ที่ไม่มีกาลเวลา ; ปัญหาของเราคนไทย ก็คือ จะเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญอย่างไร จึงจะทำให้ “คนดี”ได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง และไม่ให้ “คนไม่ดี”มาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ; และแน่นอน ต้องไม่ใช่ “ระบอบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ” ฉบับเดียวในโลก ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย (พ.ศ. ๒๕๕๐) และ แน่นอนเช่นเคียวกัน โดยพฤติกรรมทางสังคมวิทยา “คนไม่ดี”ที่มีอำนาจรัฐอยู่แล้ว ย่อมไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ “คนดี”ได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง
       

       (๑.๓) “วิธีคิด” กับ การสอนวิชา “นิติปรัชญา - legal philosophy” ในมหาวิทยาลัยของไทย
       
ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงคิดเหมือนกับผู้เขียน คือ เราไม่(ค่อย)พบว่านักกฎหมายและนักวิชาการของไทยพูดถึง “วิชานิติปรัชญา” ; แม้ในขณะนี้ เมื่อพูดถึง “วิชานิติปรัชญา” ผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงถามว่า วิชานิติปรัชญาคือวิชาอะไร และเรียนไปทำอะไร ; และสำหรับผู้ที่เคยเป็นนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์และเคยเรียนวิชานิติปรัชญามาแล้ว ก็อาจพูดว่า เรียนไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เรียนไปเพื่อสอบเอาคะแนนเพื่อให้ได้ปริญญา(บัตร)เท่านั้น ; และ แม้แต่มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงบางแห่งของเราเอง ก็เพิ่งนำวิชานิติปรัชญามาบรรจุไว้ในหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ เมื่อสัก ๑๐ ปีเศษมานี้เอง
       ถ้าผู้เขียนพูดอย่างง่าย ๆว่า “วิชานิติปรัชญา” ได้แก่ วิชาที่สอน “วิธีคิด”ของนักกฎหมาย ให้แก่ “นักกฎหมาย” ; และเมื่อผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ก็คงจะมีผู้พูดต่อไปว่า คนเรา “คิด”เป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว “นักกฎหมาย”ก็คิดเหมือนกับคนอื่น ๆ ดูจะไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรจะต้องมาสอนให้นักกฎหมาย “คิด”กันอีก
       ผู้เขียนขอเรียนว่า เพราะการที่เรา(คนไทย)ไม่ให้ความสำคัญแก่วิชานิติปรัชญานี้เอง ที่เป็น “ต้นเหตุ”ของการที่ประเทศไทยเต็มไปด้วย “นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย” และ “นักกฎหมายประเภทนิติบริกร”จนล้นประเทศ และทำให้คนไทยคิดว่า “นักกฎหมายที่เก่ง” คือ นักกฎหมายที่มีความสามารถในการเล่นถ้อยคำสำนวน และสามารถหลบหลีกความรับผิดตาม(บท)กฎหมายได้ (ตามที่เห็น ๆ กันอยู่ ในกรณีต่าง ๆ ที่ คตส.กำลังตรวจสอบอยู่ในปัจจุบันนี้)
       บทความนี้ คงไม่ใช่บทความที่จะบรรยาย “วิชานิติปรัชญา” แต่ผู้เขียนขอเรียนอย่างสั้น ๆ ว่า ประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ “วิชานิติปรัชญา” มีอยู่ ๒ ด้าน คือ ด้านแรกเป็นด้านของนักกฎหมายเอง โดย การเรียนวิชานิติปรัชญา จะทำให้นักกฎหมายมี “วิธีคิด” อย่างมีเหตุผล(reasoning)และมีความสมเหตุสมผล(logical) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม และในด้านที่สองเป็นด้านของสังคม การเรียนรู้นิติปรัชญา จะทำให้สังคมและคนทั่วไป สามารถรู้ได้ว่า นักกฎหมายใดเป็น “คนดี”หรือไม่ดี เป็นนักกฎหมายที่ใช้วิชาชีพโดยสุจริตหรือไม่ หรือว่าเป็นนักกฎหมายประเภทที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว
       บรรดานักปราชญ์หรือนักคิดของคนเรา(โลก) ได้พยายามคิดนำ “กฎหมาย”มาใช้ในการวางระบบสังคม มาเป็นเวลานานนับเป็นร้อย ๆ ปี ; ความคิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “กฎหมาย”และ “ทฤษฎีกฎหมาย”มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับตามความเจริญทางวิทยาการของมนุษย์ จนถึงยุคปัจจุบัน(ศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑) ; และ ตำรานิติปรัชญา บอกกับเราว่า นิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ นี้ เป็นนิติปรัชญาที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา (พฤติกรรมของมนุษย์ ) - sociological approaches
       
       นิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ สอนให้เรารู้ว่า “กฎหมาย”เป็นเครื่องมือของสังคม มีจุดมุ่งหมาย (purpose) เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม และเพื่อประสานประโยชน์ระหว่าง “ประโยชน์ของปัจเจกชน(เอกชน)” กับ “ประโยชน์ของสังคม”; และนิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ บอกให้เราหาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของคน และทำการวิจัยสภาพทางสังคมวิทยาสำหรับการเขียน(ออกแบบ)กฎหมาย เพื่อที่จะทำให้การบังคับใช้ “กฎหมาย”(กฎเกณฑ์ของสังคม – social control) เกิดผลตาม “จุดมุ่งหมาย”ของกฎหมาย โดยมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ; นิติปรัชญาไม่ได้สอนให้นักกฎหมายของเราเป็น “ศรีธนญชัย” ที่อธิบายกฎหมายและตีความกฎหมาย เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์
       แต่ทำไม ผู้เขียนจึงไม่พบว่า นักกฎหมายของเราพูดถึงหลักนิติปรัชญาในยุค ศตวรรษ ที่ ๒๐ แต่เรากลับพบว่า นักกฎหมายและนักวิชาการของเรา(พ.ศ. ๒๕๕๐) พูดกันแต่ว่า “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” และการเป็นประชาธิปไตยต้องมี “เลือกตั้ง” ตามความคิดของ Montesquieu ฯลฯ เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน; ในขณะที่นักกฎหมายและนักวิชาการของประเทศอื่น ๆ เขาพูดถึงปัญหาว่า ทำอย่างไร กลไกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงจะมีประสิทธิภาพ (?) (?) (?)
       
       อ่านต่อ
       
       หน้า 29


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1207
เวลา 29 เมษายน 2567 03:26 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)