ครั้งที่ 186

12 พฤษภาคม 2551 00:05 น.

       ครั้งที่ 186
       สำหรับวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551
       
       “การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศฝรั่งเศส”
       
       ผมมาอยู่ประเทศฝรั่งเศสได้สองสัปดาห์แล้วครับ ในช่วงแรกมีเวลาว่าง 3-4 วันก็ได้พักผ่อนพอสบายตัวสบายใจบ้าง จากนั้นพอเริ่มทำงานทุกอย่างก็ดำเนินไปตามที่ควรเป็นครับ ผมยังคงอยู่ที่เมือง Aix-en-Provence อีกสองสัปดาห์และจะกลับประเทศไทยใกล้ๆปลายเดือนพฤษภาคมครับ
       ผมติดตามข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบ้านเราโดยผ่านทาง internet ทุกอย่างเป็นไปอย่างน่าสมเพช ขาดทิศทางที่แน่นอนและไม่มี “ผู้นำ” ในการแก้ไขครับ ผมได้เคยกล่าวไปในบทบรรณาธิการครั้งก่อนๆไปหลายครั้งแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญซื่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้นจะต้องมีทั้ง “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” ที่เหมาะสม กล่าวคือ ในส่วนของรูปแบบนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาก็ตาม แต่ถ้าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขครั้งใหญ่ที่ส่งผลให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญหรือเพื่อแก้ไขโครงสร้างสำคัญของระบบการปกครองของประเทศ ก็ไม่สมควรที่จะให้รัฐสภาเป็นผู้แก้เพราะหากการแก้ไขต้องกระทบระบบรัฐสภา รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แก้ไขก็คงจะต้อง “ปกป้อง” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็น “ธรรมชาติของมนุษย์” ที่ไม่มีใครต้องการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวเองครับ !! ด้วยเหตุนี้เองที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่จึงควรทำโดยองค์กรหรือบุคคลที่ไม่มีส่วนได้เสียกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญก็คือ จะต้องมี “ผู้ที่มีวิสัยทัศน์” ที่ได้รับความเชื่อถือและความเชื่อมั่นจากประชาชนและจากพรรคการเมืองที่มีอยู่มาเป็น “ผู้นำ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหาของการแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นอย่างที่ทราบกันอยู่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรทำบ่อย ถ้าจะทำก็ด้วยเหตุผลเพียงไม่กี่ประการที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ คือ เพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ หรือเพื่อสร้างกลไกใหม่ๆให้กับการปกครองประเทศที่ดี เช่น สร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น หรือเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพใหม่ๆให้กับประชาชน เหตุเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุที่เมื่อมองดูแล้วก็รู้ว่า “สมควร” ที่จะต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อมองย้อนมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาและสร้างความ “อึมครึม” และความ “สับสน” ทางการเมืองมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้แล้วก็จะพบว่า ความพยายามเพื่อจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรานั้นขาดทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่เหมาะสมครับ การที่ผู้คนจำนวนมากที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนซึ่งบุคคลเหล่านี้ส่วนหนึ่งแล้วเคย “ปฏิเสธ” รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตั้งแต่ตอนที่มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่ามีทั้ง “ที่มา” และ “เนื้อหา” ที่ไม่เหมาะสม การที่พรรคพลังประชาชนซึ่งเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กลับมาใช้เป็นส่วนใหญ่แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 แต่กลับ “เลือกใช้” กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในรัฐรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 คือ กระบวนการทางรัฐสภานั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ “น่าสนใจ” เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ “ง่าย” ต่อการควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลไกของรัฐสภา ส่วนวุฒิสภานั้น ในเวลานี้ ยังไม่ทราบอย่างชัดเจนเท่าไรนักว่าเสียงส่วนใหญ่จะ “เอียง” ไปทางด้านไหนของสังคมไทยที่แบ่งออกเป็น 2 ข้างอย่างชัดเจนเหลือเกินครับ ! ฉะนั้น การเลือกใช้กลไกของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับฝ่ายการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ เพราะสามารถที่จะ “คุม” เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขได้ ซึ่งหากมีการตั้งองค์กรพิเศษที่มีความเป็นกลางเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว การเข้าไปควบคุมเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญคงทำได้ลำบากพอสมควรครับ หากรูปแบบขององค์กรที่จะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 จึงน่าจะคาดเดาได้ว่าเป็นรูปแบบที่ไม่น่าจะทำให้เกิดความเป็นกลางในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ เพราะเมื่อฝ่ายการเมืองเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่า อย่างน้อยส่วนหนึ่งแล้ว คงมีการแก้ไขเพื่อให้ตนเองทำงานได้สะดวกขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ระบบการตรวจสอบทั้งหมดจะไม่เข้มข้นเหมือนเดิม เริ่มตั้งแต่กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง คือ การเลือกตั้งที่คงจะต้องมีการแก้ไขหลายๆเรื่องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมือง รวมไปถึงการยุบพรรคการเมืองด้วย ในขณะที่เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า กระบวนการตรวจสอบทั้งหมดจะถูกแก้ไขอย่างไรกันบ้างครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันนี้ที่เนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คงต้องระมัดระวังประเด็นหลอกกันให้ดี เพราะมีความเป็นไปได้เสมอหากสังคมกำลังโต้เถียงกันอย่างเมามันถึงประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ถูกปล่อย” ออกมาเป็นเป้า การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประเด็นก็อาจทำได้โดยไม่มีผู้คนให้ความสนใจมากนัก เพราะความสนใจไปอยู่ในประเด็นที่ถูกปล่อยออกมาเป็นสายล่อฟ้า ต้องระมัดระวังกันดีๆนะครับ
       คงบ่นยาวกว่านี้ไม่ไหวแล้วครับ เพราะหากจะสรุปกันจริงๆแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยครั้งนี้ ขาดทั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงครับ ทั้งหมดเริ่มจากฝ่ายการเมือง ทำโดยฝ่ายการเมืองและทำเพื่อฝ่ายการเมืองครับ ! ก็เป็นธรรมดาอีกเช่นกันของ “ผู้มีอำนาจ” ที่มักอยากจะทำอะไรก็ทำ ซึ่งดูๆแล้วบรรยากาศของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีความแตกต่างจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เท่าไรนัก เพราะทำโดยตามใจผู้มีอำนาจครับ !!!
       ขอกลับมาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสกันบ้างดีกว่า คงจำกันได้นะครับว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนเล่าให้ฟังถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 176 ที่เผยแพร่ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2550 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2551 ว่ามีกระบวนการอย่างไร ผมขอสรุปย่อๆให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบันนั้นประกาศใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ. 2501 จริงอยู่ที่แม้จะผ่านการแก้ไขมาหลายครั้ง แต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็ยังขาดความเป็นรัฐธรรมนูญในรูปแบบตามรัฐธรรมนูญสมัยใหม่อยู่ คือ ขาดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Nicolas Sarkozy เข้าสู่ตำแหน่งก็ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่าง ๆ ของสาธารณรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น” ขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางต่าง ๆ ในการแก้รัฐธรรมนูญ คณะกรรมการชุดนี้มี 10 กว่าคน ทั้งหมดเป็นนักวิชาการ และมีอดีตนายกรัฐมนตรี (ซึ่งก็เคยเป็นนักวิชาการมาก่อน) ทำหน้าที่เป็นประธานครับ 2 เดือนครึ่งผ่านไป คณะกรรมการก็ได้เสนอรายงานผลการศึกษาต่อประธานาธิบดีเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยรายงานผลการศึกษาประกอบด้วยเนื้อหาจำนวน 160 หน้าเศษ นำเสนอประเด็นและเหตุผลที่ขอเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวม 77 ประเด็นด้วยกันครับ เมื่อประธานาธิบดีได้รับรายงานผลการศึกษา ก็ได้ทำการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน องค์กรของรัฐและบรรดาพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายกันในวงกว้างครับ นี่คือสิ่งที่ผมได้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 176 ครับ
       ผมกลับมาฝรั่งเศสในครั้งนี้ ก็พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีและรัฐบาลได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรครับ โดยในคำอธิบายประกอบเหตุผลในการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (exposé de motifs) นั้น ก็ได้มีการกล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการไต่รตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆของสาธารณรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น และกล่าวถึงข้อเสนอที่ได้จากการทำงานของคณะกรรมการซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ที่มี 3 ประเด็นด้วยกันคือ การควบคุมการใช้อำนาจบริหารที่ดีกว่าเดิม รัฐสภาที่มีอำนาจมากขึ้น และสิทธิใหม่ๆสำหรับพลเมือง ซึ่งประเด็นทั้ง 3 นี้ ก็เป็นประเด็นที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ในรายงานของการทำงานของเขาครับ
       ผมจะขอสรุปสั้นๆถึงเนื้อหาของข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในครั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างที่ทราบนะครับว่า “ระบบ” การปกครองประเทศของเรากับของเขานั้น “แตกต่างกัน” ครับ เสนอไปเสนอมาเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนกับขบวนการ “Republic of Thailand” จะเดือดร้อนเปล่าๆครับ !!!
       ในข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนแรกที่เกี่ยวกับการควบคุมฝ่ายบริหารนั้น มีการลดอำนาจของประธานาธิบดีลงไปมาก เริ่มจากการห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกัน การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของประธานาธิบดีโดยแท้ ก็ถูกแก้ไขใหม่ให้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา ซึ่งจะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดจำนวนและวิธีการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วม มีการกำหนดให้ต้องออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดจำนวนของคณะรัฐมนตรีและประเภทของรัฐมนตรี ซึ่งแต่เดิมไม่มี รวมไปถึงมีการกำหนดให้ศาลตรวจเงินแผ่นดิน (la Cour des comptes) มีหน้าที่ช่วยรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในด้านการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินด้วย
       ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐสภานั้น มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า รัฐสภามีหน้าที่ในการจัดทำกฎหมายและควบคุมการทำงานของรัฐบาล มีการกำหนดมาตรการต่างๆที่ทำให้กระบวนการจัดทำกฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการเพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการของแต่ละสภา จาก 6 คณะ มาเป็น 8 คณะ รวมทั้งยังแก้ไขหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 ที่กำหนดให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากและฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจน้อย ในอีกหลายประการ เช่น เปลี่ยนตัวผู้กำหนดวาระการประชุมของรัฐสภาจากนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานของแต่ละสภา เป็นต้น และสำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิใหม่ๆของพลเมืองนั้น มีอยู่ 2 เรื่องที่เห็นได้ชัด เรื่องแรกคือ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร้องทุกข์ต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม (le Conseil Economique et Social) ได้โดยตรงในเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป เมื่อพิจารณาเรื่องร้องทุกข์แล้ว สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมก็จะทำความเห็นเสนอไปยังรัฐบาลและรัฐสภาต่อไป นอกจากนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำกับรัฐบาลในเรื่องที่เป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนสิทธิใหม่ๆของพลเมืองในเรื่องที่สองที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญคือ การเพิ่มหมวดว่าด้วย “ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง” (la Défenseur des droits des citoyens) เข้าไป  ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองเป็น “องค์กร” ใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี จากการเสนอชื่อของคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองมีหน้าที่รับคำร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ (le fonctionnement d’un service public) ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างมากรวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐและของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมดทุกประเภทครับ ในส่วนของผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองนี้ ก็จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาอีกเช่นกันเพื่อกำหนดวิธีการร้องเรียนของพลเมือง รวมไปถึงกระบวนการในการทำงาน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองด้วยครับ
       มีการแก้ไขอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการครับ เดิมในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ (le Conseil Supérieur de la Magistrature) แต่ในร่างใหม่นี้ กำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการครับ
       ที่เล่าให้ฟังไปนี้ก็เป็นเพียงประเด็นบางประเด็นของข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสครับ โดยประเด็นในการแก้ไขที่สำคัญคงอยู่ที่การลดอำนาจของฝ่ายบริหารลงและเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติมากขึ้น ซึ่งผมก็เดาไม่ออกเหมือนกันว่า หากนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะหากฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็น “พวกเดียวกัน” เหมือนในช่วงตอนท้ายของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้า ฝรั่งเศสแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนี้แล้วจะเกิด “อาการ” แบบของไทยที่ผ่านมาหรือไม่ครับ ในส่วนของกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของเขาในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร ผมลืมบอกไปว่า ฝรั่งเศสใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะไม่ใช่การแก้ไขใหญ่ครับ  กล่าวโดยสรุปสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสในครั้งนี้ให้ชัด ๆ อีกครั้งหนึ่งก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะมีที่มาจากฝ่ายการเมือง คือ ฝ่ายประธานาธิบดีและรัฐบาลเสนอขอให้มีการแก้ไข แต่ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกิดจากการทำงานของนักวิชาการที่มีความรู้และมีความเป็นกลาง ทำงานภายใต้บรรยากาศทางวิชาการ จัดทำข้อเสนอที่มีเหตุผลและมีคำอธิบายได้อย่างชัดเจน ผ่านการให้ความเห็นจากองค์กรของรัฐสภาและพรรคการเมือง มีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งฝ่ายที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่ายและฝ่ายประชาชนด้วยครับ ก็ลองพิจารณาเทียบเคียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้ก็แล้วกันครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 2 บทความมานำเสนอครับ บทความแรกเป็นบทความภาษาฝรั่งเศสจากอาจารย์ใหม่ด้านกฎหมายมหาชนแห่งมหาวิทยาลัย ปารีส 12 คือ ดร. Simon Gilbert เรื่อง “La publication de la jurisprudence administrative et le développement du droit administratif français” และบทความตอนต่อของ คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เรื่อง "การใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ:หนังสือสัญญาบางประเภทอันต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา" (ตอนที่2) ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2551
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1218
เวลา 20 เมษายน 2567 09:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)