การใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ:หนังสือสัญญาบางประเภทอันต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (ตอนที่ 3) โดยนาย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

25 พฤษภาคม 2551 21:28 น.

       ๓.๔ หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
       
       นอกจากหนังสือสัญญาทั้งสามประเภทที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังมีหนังสือสัญญาอีกสองประเภทซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาในการจะเข้าทำหนังสือสัญญา ซึ่งผู้เขียนจะขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือสัญญาทั้งสองประเภทไปพร้อมกัน ได้แก่
       หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
       หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
       หากพิจารณาโดยถ้อยคำทั่วไปประกอบกับบริบททางการเมืองก่อนการกระทำรัฐประหารอันนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ย่อมเข้าใจได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สามารถถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้มากยิ่งขึ้น เช่น กรณีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งได้มีความกังวลว่าขาดความโปร่งใสและมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงได้กำหนดขั้นตอนขอความเห็นชอบของรัฐสภาอีกทั้งยังมีการกำหนดขั้นตอนชี้แจง รับฟังความเห็น ให้ข้อมูล และช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายอีกด้วย เนื่องจากหนังสือสัญญาทั้งสองประเภทถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอเพียงตั้งข้อสังเกตทั่วในทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความที่เหมาะสมของลักษณะหนังสือสัญญาทั้งสองประเภท อันอาจเป็นประโยชน์ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่อาจมีการกำหนดนิยามต่อไป1 (ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๓ ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำภายในเวลา ๑ ปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา) หรือในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจต้องวินิจฉัยตีความในอนาคต2
       ผู้เขียนมีข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้
       
       ข้อสังเกตที่ ๑ – การตีความตามตัวอักษร บริบท เจตนารมณ์ และผลในความเป็นจริง
       หากตีความตามตัวอักษร หนังสือสัญญาทั้งสองประเภทนี้มีถ้อยคำอันเป็นเงื่อนไขสำคัญ คือ ถ้อยคำว่า “อย่างกว้างขวาง” และ “อย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งมีความหมายกว้างอีกทั้งถ้อยคำเหล่านี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนแต่อย่างใดในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และคงต้องอาศัยการออกกฎหมายหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องช่วยในการตีความให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยเทียบเคียงการใช้ถ้อยคำที่พอปรากฏใกล้เคียงกันในรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้แต่เพียงในส่วนคำปรารภที่ใช้ถ้อยคำว่า “...มีสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับสำหรับเป็นแนวทางการปกครองประเทศ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทุกขั้นตอน…” และในมาตรา ๒๒ ที่ใช้ถ้อยคำว่า “...การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗” ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่าด้วยบริบทที่แตกต่างกัน อีกทั้งข้อความในส่วนคำปรารภก็ยังอาจเป็นที่น่าเคลือบแคลงสำหรับผู้เขียนยิ่งนัก จึงมิอาจนำมาช่วยตีความได้
       หากพิจารณาจากคำแปลรัฐธรรมนูญ ฉบับภาษาอังกฤษ มาตรา ๑๙๐ วรรคสองก็ได้ใช้ถ้อยคำที่กว้างเช่นเดียวกันว่า
       “…A treaty which…has extensive impacts on national economic or social security or generates material commitments in trade, investment or budgets of the country, must be approved by the National Assembly…” 3
       
       ส่วนคำแปลฉบับไม่เป็นทางการโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ใช้คำที่มีความหมายกว้างเช่นกัน
       “…A treaty which…affects immensely to economic or social security of the country or results in the binding of trade, investment budget of the country significantly must be approved by the National Assembly…” 4
       
       โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นหนังสือที่จะกระทบสิทธิในทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลที่กฎหมายประกันไว้โดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หรือกระทบต่อบริการสาธารณะหรือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือมีการสร้างภาระทางการเงินจำนวนมหาศาล มีการเปลี่ยนแปลงทางภาษีและการเคลื่อนไหวในทางสินค้าและบริหารอันอาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในทางการแข่งขัน เป็นต้น
       หากพิจารณาจากบริบทของมาตรา ๑๙๐ เห็นได้ชัดว่ามีการกำหนดมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบสำคัญจากการจะตกลงหนังสือสัญญาซับซ้อนมากเป็นพิเศษ ดังนี้
       คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้นและเสนอต้องกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ
       มีการแยกขั้นตอนการลงนาม (Signature) ในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง ออกจากขั้นตอนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน (Expression of consent to be bound)
       คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น
       ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม
       ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
       นอกจากบริบทในมาตรา ๑๙๐ แล้ว ยังต้องพิจารณาบริบทจากบทเฉพาะกาลที่ยังได้กำหนดอีกชั้นว่า “...กฎหมายตามมาตรา ๑๙๐ วรรคห้า โดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภามีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงรวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยที่มีความเป็นอิสระซึ่งดำเนินการก่อนการเจรจาทำหนังสือสัญญา โดยไม่มีการขัดกันระหว่างประโยชน์ของรัฐกับผลประโยชน์ของผู้ศึกษาวิจัยไม่ว่าในช่วงเวลาใดของการบังคับใช้หนังสือสัญญา…”5
       หากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของผู้ร่าง ในชั้นยกร่าง คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ให้เหตุผลของการแก้ไข มาตรา ๑๙๐ ต่างไปจากมาตรา ๒๒๔ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาว่าเพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้รัฐทำสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อประเทศหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเสียหาย6 ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าร่างแรกที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้เผยแพร่รับฟังความคิดเห็นนั้น ปรากฏถ้อยคำว่า “มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างร้ายแรง” แต่มิได้กล่าวถึงการค้าการลงทุนแต่อย่างใด7 ต่อมาหลังได้มีการปรับแก้ถ้อยคำ สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้อธิบายถึงมาตรา ๑๙๐ ว่าเป็นการมุ่งขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม โดยสร้างดุลยภาพของอำนาจทางการเมืองมากขึ้น อีกทั้งเสริมอำนาจทางการเมืองให้กับประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำหนังสือสัญญา8
       หากนำการตีความตัวอักษร บริบท และความหวังดีของผู้ร่างรับธรรมนูญมาพิจารณา ประกอบกับความเป็นจริงในทางปฏิบัติแล้ว ผู้เขียนมีข้อคิดเห็นที่อาจถือเป็นข้อควรระวังดังนี้
       
       ประการแรก การกำหนดนิยามหรือลักษณะของหนังสือสัญญาทั้งสองประเภทจะต้องเฉพาะเจาะ ไม่กว้างจนเกินไปและต้องเป็นหนังสือสัญญาที่มีความเป็นได้ค่อนข้างมากที่จะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่สมสัดส่วนต่อการใช้เวลาและทรัพยากรในการดำเนินการตามมาตรา ๑๙๐ เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การกำหนดขั้นตอนที่เกี่ยวกับการดำเนินการจะต้องยืดหยุ่นพอสมควรและไม่ละเอียดจนเกินไป มิฉะนั้น ก็จะเป็นการอาศัยถ้อยคำในรัฐธรรมนูญมาบังคับให้การใช้อำนาจอธิปไตยที่ประชาชนคาดหวังจากคณะรัฐมนตรีเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเขี้ยวเล็บของมาตรา ๑๙๐ ที่แท้จริงนั้นจะปรากฏอยู่ในกฎหมายที่มีการออกตามมาตรา ๑๙๐ วรรคห้าต่อไป เนื่องจากยังไม่มีการออกกฎหมายมาจึงคงอาจแสดงความเห็นได้เพียงในทางทั่วไปเท่านั้น
       อนึ่ง ทุกฝ่ายควรตระหนักว่าประชาชนย่อมคาดหวังว่าอำนาจอธิปไตยในการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบหนังสือสัญญาการค้าการลงทุน หรือ หนังสือสัญญาอื่น ย่อมจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์อื่นๆ และในขณะเดียวกัน อำนาจอธิปไตยที่จะนำไปใช้ในการตรวจสอบถ่วงดุลย่อม ต้องมีพอประมาณ ไม่หนักหน่วงเกินไป และไม่อ่อนจนเกินไป ผู้เขียนเชื่อในความปรารถนาดีของผู้ร่างรัฐธรรมนูญแต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจแน่ใจว่ากระบวนทรรศในการร่างกฎหมายบนพื้นฐานของความหวาดระแวงนั้นจะส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน
       
       ประการที่สอง การกำหนดกฎเกณฑ์อย่างซับซ้อนนั้นอาจเกิดปัญหาตามมา เพราะกฎหมายสูงสุดที่เป็นเรื่องในทางปฏิบัติ เช่น การทำเจรจาตกลงหนังสือสัญญา สมควรจะต้องยืดหยุ่นรองรับได้กับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงโดยมิได้คาดหมายไว้ หากพิจารณามาตรา ๑๙๐ เห็นได้ว่าอาจเกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติได้ในกรณีต่อไปนี้
       การบังคับต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาอาจกระทำได้ลำบากในกรณีที่หนังสือสัญญามีความตกลงลักษณะที่เป็นความลับ หรือมีข้อมูลที่เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบอันกระทบประโยชน์ของประเทศชาติได้ และรัฐธรรมนูญก็มิได้ระบุข้อยกเว้นไว้แต่ประการใด
       การที่คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อรัฐสภาและเสนอต้องกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เป็นการกำหนดไว้กว้างๆ มิได้กล่าวถึงขอบเขตในการใช้อำนาจของรัฐสภา และน่าเป็นห่วงว่าการที่รัฐสภาจะเห็นชอบเพียงบางส่วนหรือไม่เห็นชอบนั้นจะเกิดผลอย่างไร หากไม่เห็นชอบตั้งแต่กรอบการเจรจาเสียแล้ว หรือเวลาผ่านไปเกือบ ๖๐วัน จะมีผลอย่างไร
       กรอบในการเจรจาที่ต้องขอความเห็นชอบนี้จะให้อิสระและความยืดหยุ่นแก่ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้เจรจามากน้อยเพียงใด เช่น หากในการเจรจาการค้าเสรีซึ่งมีสินค้าหรือบริการอยู่หลายรายการ เช่นตามตารางการเจรจาขององค์การการค้าโลก9 และผู้เจรจาต้องหยิบยกสินค้าบริการแต่ละรายการมาแลกเปลี่ยนประนีประนอมกันตามที่เป็นไปในทางการเจรจาการค้าแล้ว อาจเกิดประเด็นว่ารัฐสภาจะอาศัยกรอบเจรจามาผูกมัดผู้เจรจาได้มากน้อยเพียงใด
       หากรัฐบาลได้รับอนุมัติตามกรอบเจรจาแต่ต่อมาไม่สามารถปฏิบัติตกลงตามกรอบเจรจาได้ จะสามารถขอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบกรอบเจรจาใหม่ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขเวลาอย่างไร มีกรอบเจรจาลำดับรองได้หรือไม่
       การที่รัฐธรรมนูญแยกขั้นตอนการลงนาม (Signature) ในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง ออกจากขั้นตอนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน (Expression of consent to be bound) เสมือนเป็นการบังคับว่าหนังสือสัญญาที่จะทำได้ต้องอาศัยกระบวนการที่ใช้เวลาและมีขั้นตอนมากไปกว่าการตกลงหนังสือสัญญาในบางลักษณะที่สามารถตกลงผูกพันได้โดยเพียงการลงนามครั้งแรก และหากคณะรัฐมนตรีจะใช้วิธีการตกลงดังกล่าว แม้รัฐสภาจะเห็นชอบต่อหลักการในหนังสือสัญญา จะถือว่ามีปัญหาหรือไม่10
       หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว สมควรต้องมีกรอบเวลาหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลานานเกินกว่าที่คู่เจรจาจะเอื้อประโยชน์ให้ หรือมีเหตุให้ไม่สามารถทำการวินิจฉัยได้ทันถ่วงที จะเป็นการเสียประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่
       การที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ ได้บัญญัติเรื่องการการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาแยกจากบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในหมวด ๓ ของรัฐธรรมนูญนั้น11 หากประชาชนอ้างว่าการทำหนังสือสัญญาไปเป็นการละเมิดสิทธิของตน จะถือเป็นฐานทางกฎหมายที่ให้สิทธิประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่12
       
       ประการที่สาม การที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม และให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไปนั้น เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้หลังจากที่ได้มีการตกลงทำสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีว่ารัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่การจะเปิดช่องให้มีการชดใช้ เยียวยาได้นั้นจะต้องดำเนินการไปอย่างระมัดระวัง เพราะกฎหมายต้องอาศัยปัจจัยในเชิงเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรมมนุษย์มาพิจารณาด้วย เช่น หากมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีและมีเกษตรกรสองกลุ่มได้รับผลกระทบ หากกลุ่มแรกลงทุนและใช้ความพยายามอุตสาหะในการปรับตัวให้แข่งขันกับสภาพการเปิดตลาดและสามารถอยู่รอดได้ ก็น่ายินดี แต่หากเกษตรกรอีกกลุ่มไม่ลงทุนและไม่ใช้ความพยายามอุตสาหะในการปรับตัวให้แข่งขันได้ และเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายในที่สุด ย่อมเกิดคำถามตามมาว่ารัฐจะรับผิดชอบ ช่วยเหลือต่อเกษตรกรสองกลุ่มอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม
       นอกจากนี้ยังสมควรพิจารณาว่าการกล่าวถึงเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม จะเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ และต้องระมัดระวังมิให้ดำเนินการขัดต่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอีกด้วย13
       
       ประการที่สี่ วิธีการร่างรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนยังทำให้ผู้เขียนยังสงสัยอีกว่า รัฐธรรมนูญกำลังกำหนดสิทธิของบุคคลในการได้รับการเยียวยาตามเงื่อนไขของประเภทหนังสือสัญญา หรือตามเงื่อนไขของผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง และหากกฎหมายมีความไม่ชัดเจนก็ย่อมอาจเกิดการตีความที่แปลกประหลาดได้อีกเช่นกันว่าเป็นการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่14
       เช่น หากมีการทำหนังสือสัญญาฉบับหนึ่งอันมิได้เข้าข่ายหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ หรือ แม้ประชาชนได้เรียกร้องว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวไม่ควรตกลงทำไป แต่รัฐสภาก็มิได้ติดใจ หรือศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยต่อมาว่าไม่ถือเป็นหนังสือสัญญาลักษณะดังกล่าวเสียแต่แรกแล้ว ต่อมาหากตกลงทำหนังสือฉบับนั้นไปแล้วเกิดผลกระทบที่รุนแรงยิ่งไปกว่าผลกระทบที่เกิดจากหนังสือสัญญาอันกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน อย่างมีนัยสำคัญฉบับอื่นที่อาจได้ตกลงไปในเวลาใกล้เคียงกัน เช่นนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือสัญญาฉบับดังกล่าวจะอ้างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องการช่วยเหลือเยียวยาตลอดจนสิทธิต่างๆ ที่จะมีในกฎหมายตามมาตรา ๑๙๐ วรรคห้า ทั้งที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีมาจากหนังสือสัญญาที่มิได้เข้าข่ายอันต้องให้ความเห็นชอบมาแต่แรกได้หรือไม่ และอย่างไรจึงจะเป็นธรรม และอย่างไรจึงจะเป็นการตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นการขยายภาระหน้าที่ให้แก่รัฐเกินกว่าที่ได้มีบทกำหนดไว้
       
       ประการที่ห้า หากสมมติว่ารัฐสามารถดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบตามที่ตั้งข้อสังเกตไปในข้อที่สามและสี่โดยไม่มีปัญหาในมิติของกฎหมายในประเทศแล้ว (ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเห็นชอบและสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง) รัฐบาลไทยจะต้องพึงระมัดระวังถึงพันธกรณีการปฏิบัติเยี่ยงชาติ (National Treatment หรือ NT) ซึ่งอาจมีอยู่ตามพันธกรณีองค์การการค้าโลก หรือ ในหนังสือสัญญาเขตการค้าเสรี เพราะพันธกรณีเหล่านี้มีลักษณะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่รัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนในประเทศของตนเอง เช่นในรูปแบบการอุดหนุน การให้เงินช่วยเหลือ อันอาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเอื้อประโยชน์เพิ่มเติมให้กับต่างชาติเพื่อเป็นการปฏิบัติเท่ากับคนในชาติ อีกทั้งพันธกรณีนี้ยังเกี่ยวโยงกับพันธกรณีที่เรียกว่าหลักการปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation หรือ MFN) อันอาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติต่อต่างชาติจากทุกชาติให้เท่าเทียมกัน จะเลือกให้การปฏิบัติเป็นพิเศษต่อชาติใดชาติหนึ่งมิได้ และข้อพิพาททางการค้าอาจนำมาสู่การตอบโต้ในรูปแบบอื่นได้ ดังนั้น การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมต้องมีกลไกที่ระมัดระวังและต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎกติกาด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย15
       
       ประการที่หก สืบเนื่องจากข้อคิดเห็นประการที่ หนึ่ง สอง สาม และสี่ การที่รัฐธรรมนูญกำหนดกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนแต่อาจไม่ชัดเจน อาจต้องใช้เวลามากและก่อภาระให้แก่รัฐ ย่อมเกิดความลังเลทั้งในฝ่ายไทยที่จะเข้าทำการเจรจา และยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้คู่เจรจาหนังสือสัญญาลังเลและหันไปทำการตกลงหนังสือสัญญาการค้าการลงทุนกับประเทศอื่น ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการแข่งขันชิงคู่ค้าหรือโอกาสในการลงทุนหรือได้รับการลงทุน เช่น หากประเทศเพื่อนบ้านมีระบบกฎหมายที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนที่ดี อีกทั้งมีศักยภาพที่แข่งขันกับประเทศไทยได้ ประเทศคู่เจรจาย่อมอาจหันไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศขู่แข่งอื่นได้ ประเทศไทยก็อาจเสียประโยชน์ ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าต่อประโยชน์จากการตรวจสอบถ่วงดุลในท้ายที่สุด
       ในเรื่องการจัดการเวลาและการเจรจาอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยอาจลองศึกษาวิธีการทางกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกานำมาใช้ในการทำหนังสือสัญญาเขตการค้าเสรีโดยเฉพาะ ที่มักรู้จักทั่วไปว่า Trade Promotion Authority หรือ Fast Track Authority ซึ่งรัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย16เพื่อให้อำนาจประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างหนังสือสัญญาเจรจาการค้าให้สภาพิจารณา โดยกฎหมายจะมีขั้นตอนและวิธีการที่บังคับให้สภาต้องไม่ใช้เวลานานจนเกินไป17
       
       ประการที่เจ็ด ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีผู้ตั้งคำถามในทางวิชาการว่าเป็นการเหมาะสมเพียงไรที่จะให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่จำกัดเฉพาะสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เป็นผู้วินิจฉัยประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หากมีกฎหมายกำหนดนินามที่ชัดเจนจริงก็คงมิอาจเป็นปัญหา แต่ในตรรกะของมาตรา ๑๙๐ เองก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีปัญหาการตีความจึงต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราได้เห็นการตีความคำว่า “เขตอำนาจรัฐ” ซึ่งเป็นคำในกฎหมายระหว่างประเทศ และวันนึงอาจจะมีการตีความศัพท์ในทางการค้า การลงทุน หรือทางเศรษฐกิจที่อาจมาพร้อมกับข้อความในหนังสือสัญญาที่ส่งผลอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้
       ผู้เขียนเห็นว่าหากมีการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญในด้าน เศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญย่อมน่าจะเป็นประโยชน์ที่ยอมรับได้ วิธีการหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอื่นของไทยควรหันมาพิจารณาก็คือวิธีการรับเอกสารความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน องค์กรวิชาชีพ หรือแม้แต่องค์กรที่มีความสามารถในการให้คำแนะนำ อาทิ สภาที่ปรึกษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน การเปิดรับเอกสารนี้ในต่างประเทศว่า “amicus curiae” ซึ่งศาลมักเปิดรับในคดีที่มีความซับซ้อนนอกเหนือไปจากประเด็นกฎหมายทั่วไปพิจารณาข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านอันช่วยเสริมประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรม เช่น ในศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ18
       ประการที่แปด การทำหนังสือสัญญาสันติภาพ หรือสัญญาสงบศึก ซึ่งแต่เดิมได้บัญญัติแยกไว้ต่างหากจากหนังสือสัญญาวรรคที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา หากเกิดสถานการณ์ที่คาดคิดไม่ถึงและมีภาวการณ์ที่เร่งด่วนและบีบคั้นจนมีการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ หรือสัญญาสงบศึก ซึ่งมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือเกี่ยวกับผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อาจเกิดคำถามว่าฝ่ายบริหารสมควรจะต้องทำอย่างไรให้ทันต่อสถานการณ์
       
       ประการที่เก้า ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หนังสือสัญญาในมาตรา ๑๙๐ ต้องมีลักษณะตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญา19 แต่อาจมีผู้สงสัยว่าหากคณะรัฐมนตรีจะเข้าทำสัญญาซื้อขาย สัญญาการค้าการลงทุน หรือสัญญาให้สิทธิสัมปทานกับรัฐบาลต่างประเทศหรือแม้แต่เอกชนต่างประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามกฎหมายสนธิสัญญา หากกรณีเหล่านั้นมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญแล้ว จะอ้างให้นำขั้นตอนกระบวนการตามมาตรา ๑๙๐ มาใช้ได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญย่อมมิอาจทำได้ แต่อาจเป็นกรณีที่ต้องกระทำตามขั้นตอนกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕20
       
       และประการที่สิบ ผู้เขียนมีความเป็นห่วงว่ากฎหมายอาจถูกนำไปบิดเบือนเจตนารมณ์ทางการเมืองและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน มาตรา ๑๙๐ ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่ารัฐสภา หรือผู้แทนปวงชนย่อมสะท้อนความต้องการและความหวงแหนในผลประโยชน์ของกลุ่มที่ตนเป็นผู้แทนอันเกี่ยวข้องกับการเข้าทำหนังสือสัญญา มาตรานี้จึงเป็นเสมือนดาบที่มีหลายคม คือนอกจากจะทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของประชาชนแข็งแกร่งขึ้นแล้ว ก็ยังอาจเป็นการกล่าวอ้างที่หนักแน่นได้เช่นกันสำหรับนักการเมืองบางกลุ่มที่อาจพิจารณาหนังสือสัญญาโดยไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และเมื่อเห็นว่าหนังสือสัญญามิได้เป็นกรณีที่ต้องให้ความเห็นชอบ หรือแม้เห็นชอบผ่านไปแล้วก็ประหนึ่งว่าการดังกล่าวเป็นการสะท้อนความเป็นจริงหรือความยอมรับที่แท้จริงของประชาชนด้วย
       ดังนั้น สมควรเน้นเป็นประการสุดท้ายเกี่ยวกับ มาตรา ๑๙๐ ว่า ผู้ที่จะร่างกฎหมายออกตามมาก็ดี ผู้ที่จะนำอำนาจไปบังคับใช้ก็ดี หรือผู้ที่จะตีความควบคุมการใช้อำนาจก็ดี ต้องเข้าถึงปัญหาในมิติกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human rights approach) กล่าวคือต้องอาศัยบทบัญญัติในส่วนสิทธิ เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญไทยและหลักการสากลได้ประกันไว้เป็นเครื่องมือสำคัญ มิใช่จะอ้างหลักการในมิติการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว การจะตีความว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือทางสังคมจะเป็นไปอย่างไร หรือการการค้า การลงทุนจะผูกพันไปในทางใด มิได้พิจารณาจากการประชุมวินิจฉัยที่เกิดขึ้นก่อนการทำหนังสือสัญญา แต่เกิดขึ้นโดยผลแห่งความเป็นจริงหลังการทำหนังสือสัญญา มาตรา ๑๙๐ จึงต้องนำไปใช้บนพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพที่เกี่ยวโยงกันทั้งหลาย เช่น สิทธิและเสรีภาพในการศึกษาเพื่อให้คนไทยในทุกระดับพร้อมที่จะปรับตัวและแข่งขัน สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนเพื่อรู้เท่าทัน ไม่เสียเปรียบ สิทธิและเสรีภาพในทางสื่อสารมวลชนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหรือการเปิดโปงข้อเท็จจริง สิทธิในที่ดินและทรัพย์สินเพื่อใช้เป็นทุน สิทธิชุมชนเพื่อปกป้องท้องถิ่นที่อาจถูกกระทบ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ มีความก้าวหน้าทันสมัยที่จะช่วยให้บริการทางกฎหมายและการระงับข้อพิพาทในเรื่องใหม่ๆ เช่น คดีการค้าระหว่างประเทศ คดีอนุญาโตตุลากร สิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมและอนามัยที่ดี ฯลฯ พร้อมกันนี้รัฐต้องมีความจริงใจที่จะดำเนินการการตามแนวนโยบายแห่งรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การดูแลให้มีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม การปรับปรุงและพัฒนาระบบภาษีอากรเพื่อการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การส่งเสริมการออม หรือการมีสหกรณ์ในระดับชุมชน ฯลฯ ส่วนประกอบในทางสิทธิมนุษยชนทั้งหลายเหล่านี้เองที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่จะเกิดจากการทำหนังสือสัญญาหรือการดำเนินการใดๆ
       จากที่กล่าวมา หากพิจารณาจากข้อคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๑๙๐ ในเรื่องหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน อย่างมีนัยสำคัญแล้ว ผู้เขียนเกรงว่าเราอาจจะได้เห็นความแปลกประหลาดในการบังคับใช้หรือตีความกฎหมายอีกครั้งในอนาคต หากลองพิจารณาข้อคิดเห็นทั้งสิบประการที่ได้เสนอมาแล้ว อาจพอมีสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถนำไปพิจารณาในการแก้ไข ปรับปรุง มาตรา ๑๙๐ หรือ ในการออกกฎหมายตามมาตรา ๑๙๐ วรรคห้าได้ไม่มากก็น้อย
       นอกจากความเห็นของผู้เขียนแล้ว ยังได้มีผู้นำเสนอนิยามเกี่ยวกับหนังสือสัญญาอันสมควรกล่าวถึงดังต่อไปนี้
       
       ข้อสังเกตที่ ๒ - ร่างกฎหมายที่พิจารณาโดยฝ่ายบริหาร
       ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอ“ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพัน ด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ พ.ศ. ...” โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือการกำหนดนิยามคำว่า "หนังสือสัญญา" และ "หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพัน ด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ" นอกจากนี้ยังได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญา หลักเกณฑ์การแก้ไขหรือเยียวยา และคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติ และคณะรัฐมนตรีในสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชพระราชบัญญัติ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีข้อสังเกตสำคัญคือ รัฐสภาควรสามารถมอบอำนาจให้คณะรัฐมนตรีในการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาได้ เพื่อความคล่องตัวในการเจรจา และการนำหนังสือสัญญาที่ได้ลงนามแล้วเสนอรัฐสภารัฐสภาสามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบเท่านั้น จะแก้ไขเพิ่มเติมประการใดไม่ได้ นอกจากนี้ยังสมควรพิจารณาว่าการกำหนดให้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีความจำเป็นต้องกำหนดในร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ เนื่องจากมีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยเฉพาะอยู่แล้ว21
       ล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการพิจารณาแก้ไขร่างที่เสนอโดยกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ในการให้ข้อเสนอแนะ อาจพิจารณาจากถ้อยคำที่ได้เคยมีการนำเสนอว่าหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หมายถึง “หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ” และ หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ หมายถึง “หนังสือสัญญาที่ก่อให้เกิดพันธกรณีให้ต้องเปิดเสรีทางการค้า หรือการลงทุนเกินกว่าที่รัฐบาลไทยมีพันธกรณีตามความตกลงองค์การการค้าโลก หรือความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในภูมิภาค หรือกับรัฐต่างประเทศอื่น และส่งผลให้การจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นของรัฐบาลในปีที่หนังสือสัญญามีผลใช้บังคับแล้ว ลดลงเกินกว่าร้อยละ...เมื่อเทียบกับปีที่หนังสือสัญญายังไม่มีผลใช้บังคับ”
       
       ข้อสังเกตที่ ๓ – ความเห็นของภาควิชาการ
       คณะนักวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติหนังสือสัญญาการค้าการลงทุน พ.ศ. ...” ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่าหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง” หมายความว่า หนังสือสัญญาทางการค้า และการลงทุนที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้22
       “(๑) ต้องออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาโดย อาจออกเป็นกฎหมายใหม่ หรือออกกฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือออก กฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว
       (๒) มีการลดอัตราภาษีมากกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราภาษีที่กำหนดไว้ใน กฎหมาย ณ วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ เฉพาะอัตราภาษีที่กำหนดไว้มากกว่าร้อยละ ยี่สิบ
       (๓) มีผลกระทบต่อบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
       (๔) มีลักษณะอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
       

       ข้อสังเกตที่ ๔ – ข้อเสนอของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และเครือข่ายภาคประชาชน
       แม้ที่ผ่านมาผู้เขียนเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มิอาจเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน แต่ก็รู้สึกยินดีที่สามารถพิจารณาข้อมูลจากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (กลุ่ม FTA Watch) ที่ได้คอยเฝ้าระวังและเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นการทำหนังสือสัญญา ล่าสุดในเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ กลุ่ม FTA Watch ได้นำเสนอร่างกฎหมายและดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีการแก้ไขจากร่างเดิมที่เคยได้เสนอไปก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏข้อความเกี่ยวกับหนังสือสัญญาดังต่อไปนี้23
       “ “หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” หมายความรวมถึง หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยหรือส่วนราชการไทยในนามประเทศไทยหรือรัฐบาลไทยกับรัฐต่างประเทศหรือ รัฐบาลต่างประเทศหรือส่วนราชการของต่างประเทศในนามของรัฐบาลต่างประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ โดยก่อให้เกิดพันธกรณีแก่ประเทศไทยภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ อย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ
       “หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ”
หมายความว่า หนังสือสัญญาที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
       (๑) มีผลผูกพันด้านการค้าสินค้าและบริการมากไปกว่าที่ประเทศไทยมีพันธกรณีภายใต้ความตกลงกับองค์การการค้าโลก ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
       (๒) มีผลผูกพันด้านการลงทุนมากไปกว่าที่ประเทศไทยผูกพันไว้ภายใต้ ความตกลงเรื่องมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก หรือมีความแตกต่างหรือขัดแย้งกับบทบัญญัติที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการลงทุนของประเทศไทย ทั้งการลงทุน ระยะสั้นและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
       (๓) มีผลผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญามากไปกว่าที่ประเทศไทยผูกพันไว้ภายใต้ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าขององค์การการค้าโลก หรือมีผลขัดแย้งต่อพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สิน ทางปัญญาหรือด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยได้เป็นภาคี ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
       (๔) มีผลผูกพันด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลขัดแย้งต่อพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยเป็นภาคี ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
       (๕) มีผลผูกพันด้านแรงงานที่ขัดแย้งต่อพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ความตกลงระหว่างประเทศด้านแรงงานที่ประเทศไทยเป็นภาคี ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ มีผลใช้บังคับ
       (๖) มีผลผูกพันงบประมาณของประเทศในปริมาณที่มากกว่าร้อยละ ๐.๕ ของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเฉลี่ยย้อนหลังห้าปีนับจากวันที่รัฐบาลเสนอขอความเห็นชอบ กรอบการเจรจาต่อรัฐสภา
       (๗) ต้องออกพระราชบัญญัติด้านแนวทางการบริหารหรือแนวนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ สงคม หรือสิ่งแวดล้อมของรัฐ เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา
       (๘) มีลักษณะอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
       

       
       บทสรุปและข้อเสนอแนะ
       

       อธิปไตยคงอยู่ผ่านพ้นความท้าทายตามกาลเวลาได้ก็โดยการเปลี่ยนการใช้อำนาจที่เหมาะสมกับความเป็นจริงผู้เขียนเห็นว่าปัจจุบันคือยุคที่รัฐต้องหันมาร่วมมือกันมากขึ้น ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และต้องอาศัยกติกาสากลมาแก้ไขปัญหาและจัดสรรผลประโยชน์มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม คงหมดยุคไปเสียแล้วที่รัฐใดจะอ้างความสำคัญของอธิปไตยตนเองโดยไม่คำนึงถึงอธิปไตยอื่นหรือโอกาสที่อาจร่วมใช้อำนาจไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้ ประเทศไทยจึงพึงใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎหมายระหว่างประเทศบนพื้นฐานของความตกลงยินยอมเท่าเทียมกัน และมาตรา ๑๙๐ ก็สมควรเป็นเครื่องจัดสรรการใช้อำนาจภายในประเทศนี้ให้โปร่งใส สมดุลและมีประสิทธิภาพ และสมประโยชน์ปวงชนชาวไทยโดยจริง
       ความตกลงยินยอมนั้นจะมีรูปแบบใดและใช้ชื่ออย่างไร ก็จะถือว่าเป็นหนังสือสัญญา ตามมาตรา ๑๙๐ หากมีลักษณะครบสี่ประการคือ (๑) ได้ทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับรัฐอื่นหรือระหว่างประเทศไทยกับองค์การระหว่างประเทศ (๒) ความตกลงนั้นได้ทำเป็นหนังสือ (๓) ผู้ตกลงมีเจตนาก่อให้เกิดพันธะผูกพันทางกฎหมาย และ (๔) ความตกลงนั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวทำหนังสือสัญญาผูกพันประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐสภาไทยจะมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้ตรวจสอบถ่วงดุลและให้ความเห็นชอบก็เฉพาะแต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าตกลงทำหนังสือสัญญาทั้งสิ้นห้าประเภทเท่านั้น
       ประเภทแรก คือ หนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ซึ่งหมายถึง กรณีที่พื้นที่อันเป็นแผ่นดิน ทะเลอาณาเขต พื้นผิวทะเลและพื้นดินใต้ทะเลที่อยู่ในทะเลอาณาเขต และห้วงอากาศเหนือแผ่นดินและทะเลอาณาเขตเพิ่มขึ้น หรือลดลง มีข้อสังเกตว่าอาณาเขตที่เป็นแผ่นดินอาจไม่ต้องอยู่ติดกันเป็นอันเดียวก็ได้ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีแผ่นดินอาณาเขตติดกันเป็นผืนเดียว ตัวอย่างการทำหนังสือสัญญาสำคัญที่รัฐสภาไทยจะต้องต้องมีส่วนร่วมก็คือการปักปันเขตแดนและตกลงแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสี่ประเทศ หรือการตกลงเขตแดนทางทะเล
       ประเภทที่สอง คือ หนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งต้องเป็นกรณีที่มีการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของพื้นที่นอกอาณาเขตในทางรูปธรรม เช่น ลดขนาดของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ ขยายพื้นที่ของฐานทัพในต่างประเทศ เพราะย่อกระทบถึงผลประโยชน์สำคัญที่รัฐจะมีอยู่นอกเหนือไปจากการใช้อำนาจอธิปไตยในอาณาเขต ทั้งนี้ย่อมหนังสือสัญญาประเภทนี้ย่อมไม่รวมถึงกรณีที่กระทบเขตอำนาจรัฐ หรืออำนาจในทางนามธรรม ซึ่งเป็นคำที่กว้าง กำกวมตามที่เคยเป็นปัญหามาแต่ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันไม่อยู่ภายใต้ประเภทหนังสือสัญญาที่มาตรา ๑๙๐ กำหนดให้ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาแต่อย่างใด แต่หากเป็นกรณีที่กระทบเขตอำนาจรัฐและต้องออกกฎหมายตามมา หรือมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม หรือมีผลผูกพันทางการค้าการลงทุน หรืองบประมาณ ก็ต้องพิจารณาตามเกณฑ์ของหนังสือสัญญาประเภทอื่น
       
       ประเภทที่สาม คือ หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ซึ่งรวมถึงทั้งกรณีที่ต้องออกพระราชบัญญัติใหม่ หรือต้องมีการแก้ไข ปรับปรุงพระราชบัญญัติที่มีอยู่แล้วซึ่งก็ย่อมทำโดยการออกพระราชบัญญัติและย่อมต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา ทั้งนี้ เพื่อให้การแบ่งใช้อำนาจนิติบัญญัติเป็นระบบและไม่ถูกแทรกแซง อีกทั้งเป็นการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะถูกจำกัดได้ก็แต่โดยกฎหมาย อย่างไรก็ดี การขอความเห็นชอบของรัฐสภาไม่รวมถึงกรณีที่ฝ่ายบริหารมีกฎหมายให้อำนาจออกกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารมาปฏิบัติบังคับการไปตามหนังสือสัญญา หรือกรณีที่มีกฎหมายอยู่รองรับพร้อมอยู่แล้ว แม้ต่อมาฝ่ายบริหารอาจจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายก็ตาม
       หากพิจารณาเนื้อหาสาระของหนังสือสัญญาทั้งสามประเภทที่กล่าวมา เห็นได้ว่าเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภามาโดยตลอดไม่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญในอดีตของไทย อีกทั้งยังเป็นแนวปฏิบัติสากลโดยทั่วไปในต่างประเทศ ผู้เขียนเห็นว่าสมควรคงหลักการสำหรับหนังสือสัญญาทั้งสามประเภทไว้ดังที่ปรากฏในมาตรา ๑๙๐
       
       สำหรับหนังสือสองประเภทสุดท้าย คือ หนังสือสัญญาประเภทที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และหนังสือสัญญาประเภทที่จะมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญนั้นโดยถ้อยคำมีลักษณะที่กว้างและอาจเป็นที่กำกวม จึงจำเป็นจะต้องมีการออกกฎหมายตามมาตรา ๑๙๐ วรรคห้าตามมาอย่างรัดกุมและระมัดระวัง โดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นหนังสือที่จะกระทบสิทธิในทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลที่กฎหมายประกันไว้โดยตรงหรือโดยอ้อม หรือกระทบต่อบริการสาธารณะหรือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือมีการสร้างภาระทางการเงินจำนวนมหาศาล มีการเปลี่ยนแปลงทางภาษีและการเคลื่อนไหวในทางสินค้าและบริหารอันอาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในทางการแข่งขัน เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหนังสือสัญญานี้มีวัตถุประสงค์ที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ในเนื้อหายังสมควรมีการแก้ไขปรับปรุง โดยบางส่วนต้องให้มีความชัดเจนเฉพาะเจาะจง และขณะที่บางส่วนต้องยืดหยุ่นเพื่อป้องกันปัญหาในทางปฏิบัติ อีกทั้งการร่างกฎหมายตามมาควรมุ่งไปในมิติกฎหมายสิทธิมนุษยชน คือต้องมุ่งพิทักษ์ เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญประกันไว้ รวมถึงการกระจายโอกาสและรายได้อันเป็นปัจจัยในการปรับตัวและแข่งขันสำคัญที่ต้องมีควบคู่กับการถ่วงดุลอำนาจรัฐแต่เพียงอย่างเดียว
       ทั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะสำหรับพิจารณาปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม หลักการในมาตรา ๑๙๐ ดังนี้
       ประการแรก รัฐธรรมนูญไทยสมควรมีมาตรการเพิ่มความระมัดระวังไปถึงกรณีที่ประเทศไทยจะทำหนังสือสัญญายอมรับเขตอำนาจศาลระหว่างประเทศ หรือการออกคำแถลงฝ่ายเดียวในการยอมรับอำนาจศาลอันอาจเป็นผลให้เงื่อนไขตามหนังสือสัญญาที่เคยทำไว้เกิดผลผูกพัน ดังที่ได้ประเทศไทยได้ประสบมาในคดีเขาพระวิหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีผลเช่นเดียวกับการทำหนังสือสัญญาทั้งห้าประเภทที่กล่าวมาแล้ว เช่น เปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือ สูญเสียพื้นที่นอกอาณาเขตได้ ทั้งนี้อาจใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ หรือ อาจให้รัฐสภาต้องคอยตรวจตราสอบถามอย่างระมัดระวัง และควรระมัดระวังในการตั้งเงื่อนไขและข้อสงวนในการยอมรับอำนาจศาล
       ประการที่สอง กรณีที่จะตกลงหนังสือสัญญาและดำเนินการเกี่ยวกับการตกลงทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณที่ความเป็นเจ้าของไม่ชัดเจนก็จะต้องรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดข้ออ้างหรือข้อสงสัยว่าประเทศไทยยินยอมรับสิทธิของประเทศอื่นที่อาจเป็นผลคล้ายกับการทำหนังสือสัญญาประเภทที่หนึ่งหรือสองได้ ซึ่งรัฐสภาต้องคอยตรวจตราสอบถามอย่างระมัดระวัง
       ประการที่สาม เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะตีความอย่างกำกวมว่า หนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยต้องมีการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาทุกครั้ง เพราะหมายความว่าหากมีการอ้างว่าหนังสือสัญญาใดมีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย ก็จะต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา และหากได้ตกลงทำหนังสือไปเรียบร้อยแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวก็อาจจะถูกยกมาทำให้การที่ตกลงไปแล้ววุ่นวายได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะผู้เขียนไม่หวงแหนในอำนาจอธิปไตย แต่เพราะเป็นห่วงว่าการใช้คำที่มีความหมายกว้างยิ่งไปเสียกว่าคำว่าเขตอำนาจแห่งรัฐ หากตีความถ้อยคำว่า “การเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย” อย่างหลวมๆ แล้ว หนังสือสัญญาที่สร้างหน้าที่ให้คณะรัฐมนตรีต้องพยายามใช้อำนาจทางบริหาร (ซึ่งก็เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในทางหนึ่ง) เช่น ให้ความช่วยเหลือส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศ หรือ ที่จะพยายามเอื้ออำนวยกิจการทั้งหลาย หรือแม้จะไปตกลงการเป็นเจ้าภาพตกลงจัดการประชุมระหว่างประเทศ ก็อาจมีผู้นำไปตีความอย่างกำกวมว่ากระทบหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย (เช่น อ้างว่าแต่ก่อนมีอธิปไตยสมบูรณ์ไม่ต้องส่งข้อมูล ไม่ต้องพยายามเอื้ออำนวย หรือไม่ต้องยอมมาเป็นเจ้าภาพการประชุม ฯลฯ) ย่อมจะเกิดผลแปลกประหลาดว่าหนังสือสัญญาเกือบทุกฉบับย่อมต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ และต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา ฝ่ายบริหารก็จะขาดความคล่องตัว อีกทั้งยังจะส่งผลให้รัฐเกิดภาระมหาศาลที่จะต้องจัดการรับฟังความเห็น หรือให้ข้อมูลอีกด้วย จึงสมควรกลับไปพิจารณาหลักการเพียงว่าหนังสือสัญญานั้นจะเข้าลักษณะหนังสือสัญญาห้าประเภทหรือไม่ และมิอาจนำ “การเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย” มาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาว่าต้องออกกฎหมายทุกกรณีไปได้ ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาซ้ำดังเดิม หากจะมีการแก้ไขมาตรา ๑๙๐ ต่อไป ก็ควรบันทึกในเจตนารมณ์การแก้ไขให้เข้าใจถูกต้องเสียใหม่ว่า หนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยมิได้หมายถึงกรณีที่ต้องมีการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาเสมอไป
       ประการที่สี่
การตกลงทำหนังสือสัญญาประเภทที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และหนังสือสัญญาประเภทที่จะมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญอาจต้องอาศัยความสามารถและความคล่องตัวในการแข่งขัน เช่น ในกรณีที่ต่างชาติกำลังหาฐานในการลงทุน การมีกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนย่อมทำให้ทั้งฝ่ายไทยเองและฝ่ายต่างประเทศลังเลหรือคู่เจรจาก็จะหันไปหาประเทศคู่แข่งอันอาจทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ในที่สุด ดังนั้น จึงเสนอว่านิยามของหนังสือทั้งสองประเภทจะต้องกำหนดให้แน่ชัด ในขณะที่กระบวนการขั้นตอนในการเข้าตกลงทำสัญญาจะต้องยืดหยุ่นและสอดคล้องต่อหลักความเป็นจริง การลงนามและการแสดงความยินยอมผูกพันอาจมีให้รัฐสภาเห็นชอบให้กระทำในครั้งเดียวกัน หรือการกำหนดกรอบเจรจาอาจมีการตั้งคณะทำงานประสานความร่วมมือระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีให้สามารถปรับการเจรจาได้เท่าทันตามจำเป็น ฯลฯ
       ประการที่ห้า การกำหนดขั้นตอนการเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากหนังสือสัญญานั้นมีลักษณะที่แปลกคือกฎหมายยึดติดกับเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรณีที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบเท่านั้น ซึ่งหากจะให้สมเจตนารมณ์อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมแล้ว แม้จะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนังสือสัญญาที่เคยถูกพิจารณาว่าไม่ต้องให้ความเห็นชอบ ก็สมควรจะมีการแก้ไขถ้อยคำ หรือออกกฎหมายตามมาช่วยอุดความเหลื่อมล้ำไว้ อีกทั้งต้องระมัดระวังมิให้เกิดปัญหาขัดต่อพันธกรณี National Treatment หรือ Most-Favored Nation อันอาจทำให้ประเทศไทยเสียหายในภายหลัง
       ประการที่หก ควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน กฎหมายระว่างประเทศ เศรษฐกิจสังคม การค้าการลงทุนหรืองบประมาณมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเงื่อนไขและถ้อยคำในการเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศย่อมอาจมีกรณีที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหรือความเข้าใจเฉพาะศาสตร์ที่มากไปกว่าหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ตามกรณีที่เคยปรากฏมา ทางเลือกเบื้องต้นที่เป็นไปได้ก็คือการเพิ่มกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญให้มีการเปิดรับเอกสารของผู้เชี่ยวชาญ (amicus curiae) ซึ่งต้องเปิดรับอย่างทั่วถึง และไม่จำกัดเพียงการเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญมาสอบถาม
       ประการสุดท้าย ประเทศไทยควรมองไปถึงอนาคตและเตรียมกฎหมายให้สามารถรับมือกับเหตุที่คาดไม่ถึง โดยพิจารณาเกี่ยวกับกรณีที่หนังสือสัญญาที่อาจตกอยู่ในห้าประเภทที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภา และดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหลาย แต่หากมีสภาวการณ์พิเศษอันทำให้ไม่อาจดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา ๑๙๐ ได้ ก็สมควรต้องมีช่องทางในทางกฎหมายให้ดำเนินการได้อย่างเหมาะสม ได้สัดส่วนและทันถ่วงที เช่นกรณีที่หนังสือสัญญามีเนื้อหาที่เป็นความลับ หรือ มีข้อมูลที่ควรเก็บไว้เพื่อประโยชน์ทางการทหาร เศรษฐกิจ หรือทางเทคโนโลยี อันมิอาจเปิดเผยตามกระบวนในมาตรา ๑๙๐ ได้ ก็อาจใช้การประชุมลับของรัฐสภาแทนการเปิดเผยทุกขั้นตอน หรือ ในกรณีที่มีรัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนและมิอาจรอได้ และต้องตกลงหนังสือสัญญากับต่างประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศและได้ออกพระราชกำหนดบังคับไปตามนั้นโดยพลัน ก็สมควรมีช่องทางให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบย้อนหลังได้ หรือหากเป็นกรณีที่กระทบความมั่นคงปลอดภัย หรือ เอกราช ความเป็นอิสระที่เป็นการคาดคั้นให้ประเทศต้องยอมเสียประโยชน์ส่วนน้อยบางประการเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนหลักไว้ ก็สมควรมีช่องทางให้มีการดำเนินการตกลงหนังสือสัญญาในขั้นตอนที่เหมาะสมได้
       ผู้เขียนหวังเป็นที่สุดว่าไม่ว่าจะมีออกกฎหมายหรือการแก้ไขปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ ต่อไปอย่างไร พัฒนาการสำคัญในรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็จะนำไปใช้เป็นยาที่มีสรรพคุณตรงกับโรคที่ประเทศไทยมีอยู่ นั่นก็คือโรค “อวัฒนธรรมทางการเมือง” ที่ไม่นิยมการกระจายโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ที่ปล่อยปะละเลยไม่ใส่ใจกับหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด ที่เลือกจะหวงแหนสิทธิเสรีภาพเฉพาะของส่วนตนและมองข้ามของส่วนรวม และที่ยึดถือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ให้อยู่เหนือกฎกติกาและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การพัฒนากฎเกณฑ์ในเรื่องการทำหนังสือสัญญาก็สามารถเป็นยาขนานดีได้หากทุกฝ่ายหันมาสนใจกลุ่มชนชั้นในสังคมไทยที่รู้น้อยที่สุดเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาแต่มีส่วนได้เสียโดยตรงมากที่สุด หรือหากสมาชิกรัฐสภาจะระดมสำนึกในหน้าที่ของผู้แทนปวงชนชาวไทยซึ่งสำคัญกว่าการเป็นสมาชิกพรรคหรือสมาชิกกลุ่มที่มีอาจแนวทางในการพิจารณาหนังสือสัญญาอย่างไม่เหมาะสม หรือหากกลุ่มทุนธุรกิจจะร่วมขจัดวิธีการแสวงผลประโยชน์จากการค้าการลงทุนโดยไม่ใยดีต่อกฎหมายหรือความเป็นธรรมต่อผู้อื่น
       ทั้งนี้ โดยหวังอย่างยิ่งว่าอำนาจอธิปไตยจะไม่ถูกนำไปใช้ทำสัญญาของใครบางคน แต่เพื่อปวงชนชาวไทยทุกคน
       
       เชิงอรรถ
       1.รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ วรรคห้า :
       “ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป”
       2. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ วรรคหก :
       “ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม”
       3. อ้างแล้งในเชิงอรรถที่ ๑๑๖ (เน้นคำโดยผู้เขียน).
       4. อ้างแล้งในเชิงอรรถที่ ๑๑๗ (เน้นคำโดยผู้เขียน).
       5. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๓ (๓).
       6. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ, สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมตารางเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๔๐ ฉบับรับฟังความคิดเห็น, ๒๕๕๐, หน้า ๑๓๙.
       7. สภาร่างรัฐธรรมนูญ, ‘สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย’ ใน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงประชามติ (ฉบับปกเหลืองแจกจ่ายทั่วประเทศ), ๒๕๕๐, หน้า ๑๗๘.
       8. ผู้สนใจโปรดดู ทัชชมัย ฤกษะสุต, กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก (WTO): บททั่วไป, ๒๕๔๙; ทัชชมัย ฤกษะสุต,
       แกตต์ และองค์การการค้าโลก (WTO), ๒๕๔๙.
       9. โปรดดูเชิงอรรถที่ ๖๖ และ ๖๗.
       10. เช่น ในรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๕๖ และ ๕๗
       11. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๒
       “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
       การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”
       12. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๔.
       13. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐.
       14. ประเด็น NT และ MFN ดูเพิ่มใน Andreas F. Lowenfeld, International Economic Law, 2002; ทัชชมัย ฤกษะสุต, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๕๙; ศักดา ธนิตกุล, กฎเกณฑ์การแข่งขัน : ทางเลือกของไทยในองค์การการค้าโลก และการเจรจาทวิภาคี (โครงการวิจัย เศรษฐกิจไทยกับการเจรจาการค้าพหุภาคี), ๒๕๔๗.; สำหรับประเด็นการใช้อำนาจอธิปไตยในมิติกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศดู John Howard Jackson, Sovereignty, the WTO and changing fundamentals of international law, 2006.
       15. เช่น Trade Act of 2002; ดู United States Senate Committee on Finance, Trade Promotion Authority Annotated (Annotated by William G. Dauster), 2007 at http://finance.senate.gov/TradePromotionAuthority.pdf (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑);
       16. ดูเพิ่มใน Shapiro et. al., ‘Trade promotion authority formerly known as fast track: building common ground on trade demands more than a name change’, in George Washington International Law Review v. 35 no. 1 (2003) pp. 1-53; S. D. Murphy, ‘2002 Enactment of Trade-Promotion Authority’, in American Journal of International Law v. 96 no. 4 (October 2002), pp. 979-80.
       17. ดู M. Schachter, ‘The Utility of Pro Bono Representation of U.S.-based Amicus Curiae in Non-U.S. and Multi-national Courts as a Means of Advancing the Public Interest’, in Fordham International Law Journal v. 28 no. 1 (December 2004), pp. 88-144; Cawley, ‘Friend of the Court: How the WTO Justifies the Acceptance of the Amicus Curiae Brief from Non-Governmental Organizations’, in Penn State International Law Review v. 23 no. 1 (Summer 2004), pp. 47-78; V. E. Flango et. al., ‘Amicus Curiae Briefs: The Court's Perspective’, in The Justice System Journal v. 27 no. 2 (2006), pp. 180-190.
       18. อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๔๑ และ ๔๒
       19. ผู้สนใจโปรดดู นันทวัฒน์ บรมานันท์, สัญญาทางปกครอง, ๒๕๕๐, หน้า ๗๖.
       20. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพัน ด้านการค้า
       21. หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ พ.ศ. ...”, ข่าวที่ ๐๑/๑๑.
       22. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ คณะ, การปรับปรุงแก้ไขและเฝ้าระวังกฎหมาย, มกราคม ๒๕๕๑, บทที่ ๕, หน้า ๑๐๓.
       23. ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับประชาชน นำเสนอโดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและคณะ, ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๑, ที่ http://www.ftawatch.org (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1221
เวลา 28 เมษายน 2567 01:13 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)