ครั้งที่ 190

2 กรกฎาคม 2551 11:45 น.

       ครั้งที่ 190
       สำหรับวันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2551
       (เผยแพร่ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2551)
       
       “การกระทำทางรัฐบาล”
       

       สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ความวุ่นวายทางการเมืองในบ้านเราก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและก็ยังมีเรื่องต่างๆเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้ความวุ่นวายเพิ่มมากขึ้น ทางออกที่มีอยู่น้อยเต็มทีสำหรับปัญหาการเมืองก็ยิ่งน้อยลงไปอีกครับ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ควรจะเป็น ผิดบ้างถูกบ้างก็ต้องค่อยๆแก้กันไปครับ
       เรื่องปราสาทพระวิหารกลายมาเป็น “เรื่องใหญ่” ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ส่งผลหลายประการตามมา เริ่มจากการที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่งไปฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 หรือไม่ เช่นเดียวที่สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในประเด็นมาตรา 190 เช่นกัน
       ในการฟ้องศาลปกครองนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีดำเนินการใดๆในเรื่องที่ถูกฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งก็หมายความว่ามติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในแถลงการณ์ร่วม และแถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยัง “ใช้บังคับไม่ได้” จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว
       เมื่อผมได้อ่านคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวแล้วก็มีความคิดว่า ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนคนหนึ่งคงจะหลีกเลี่ยงลำบากที่จะไม่ “กล่าวถึง” คำสั่งดังกล่าวเพราะอย่างน้อยคำสั่งดังกล่าวก็ก่อให้เกิดประเด็นทางวิชาการที่ดีที่จะได้ทำการศึกษาค้นคว้ากันอย่างละเอียดต่อไปในอนาคต ผมจึงได้ให้สัมภาษณ์วิทยุ F.M. 100.5 ของ อสมท. ไปเมื่อตอนเที่ยงของวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน โดยผมแสดงความเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีที่นำมาฟ้องศาลปกครองเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่ไม่อยู่ในเขคอำนาจของศาลปกครองที่จะตรวจสอบ แต่เนื่องจากในวันนั้นเวลาที่ให้สัมภาษณ์มีเพียง 30 นาที จึงไม่สามารถอธิบายได้อย่างละเอียด บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงขอพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “การกระทำทางรัฐบาล” อันเป็นสิ่งที่ผมอยากพูดอยากเขียนมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสดีเช่นครั้งนี้ครับ ผมขอชี้แจงไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับว่า บทบรรณาธิการทุกครั้งไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแต่เป็นการเสนอความเห็นทางวิชาการอย่างอิสระโดยนักวิชาการคนหนึ่งครับ
       เพื่อจะเข้าสู่สิ่งที่เราเรียกกันในภาษาวิชาการว่า “การกระทำทางรัฐบาล” คงต้องเริ่มต้นจากการพูดถึงอำนาจหน้าที่ของ “คณะรัฐมนตรี” ก่อน คณะรัฐมนตรีมีสองสถานะคือ สถานะที่เป็นฝ่ายบริหาร และ สถานะที่เป็นฝ่ายปกครอง ในสถานะที่เป็นฝ่ายบริหารนั้น คณะรัฐมนตรีจะทำงานในลักษณะที่เป็นองค์กรกลุ่มคือทำงานร่วมกันในฐานะที่เป็นคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ในสถานะที่เป็นฝ่ายปกครองนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแต่ละคนจะทำงานหรือบริหารงานในลักษณะตัวบุคคลคือต่างคนต่างก็มีกระทรวงที่ตนเองรับผิดชอบและทำงานดังกล่าวไปตามอำนาจหน้าที่ของตนที่มีอยู่ตามกฎหมาย การทำงานในสถานะที่เป็นฝ่ายบริหารนั้น คณะรัฐมนตรีจะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเพื่อเป็นแนวทางในดำเนินการต่อไป โดยมติคณะรัฐมนตรีมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆคือ มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการซึ่งมีลักษณะเป็นงานประจำ มติคณะรัฐมนตรีประเภทแรกนี้ในทางทฤษฎีแล้วจะต้องถูกควบคุมและตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลปกครองและอยู่ภายใต้หลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีอีกประเภทหนึ่งคือมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินจะมีลักษณะเป็นงานนโยบาย มติคณะรัฐมนตรีประเภทหลังนี้ในทางทฤษฎีแล้วจะต้องถูกควบคุมและตรวจสอบทางการเมืองโดยรัฐสภาหรือโดยองค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินจึงไม่มีสถานะทางกฎหมายเป็น กฎ ข้อบังคับ หรือกฎหมายแต่อย่างใด และมติคณะรัฐมนตรีประเภทนี้อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเมื่อไรก็ได้ตามความเหมาะสมของเหตุการณ์ สรุปง่ายๆก็คือมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองประเภทมีสถานะที่แตกต่างกัน มติคณะรัฐมนตรีประเภทแรกซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกำหนดระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการซึ่งมีลักษณะเป็นงานประจำนั้น โดยทั่วไปแล้วคณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นๆ ดังนั้นผลที่เกิดจากการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีประเภทนี้จึงมีสถานะเป็น “การกระทำทางปกครอง” (acte administratif) ซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครอง ในขณะที่คณะรัฐมนตรีประเภทหลังซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยทั่วไปแล้วคณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผลที่เกิดจากการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีประเภทนี้จึงมีสถานะเป็น “การกระทำทางรัฐบาล” (acte de gouvernement) ซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐสภา หรือองค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ
       ในทางทฤษฎี การกระทำทางรัฐบาลสามารถแบ่งแยกได้เป็นสองประเภทคือ เป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภากับการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับต่างประเทศ
       
ลองมาดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสก่อนครับ ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสได้วินิจฉัยถึงการกระทำต่างๆของรัฐบาลว่าเป็นการกระทำทางรัฐบาลมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น ในปี ค.ศ. 1930 วินิจฉัยว่าการปฏิเสธไม่เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเป็นการกระทำทางรัฐบาล ค.ศ.1933 วินิจฉัยว่าการประกาศใช้บังคับกฎหมายล่าช้าเป็นการกระทำทางรัฐบาล ค.ศ.1989 วินิจฉัยว่าการยุบสภาเป็นการกระทำทางรัฐบาล ค.ศ. 1992 วินิจฉัยว่าการระงับการบังคับใช้สนธิสัญญาเป็นการกระทำรัฐบาล ค.ศ.1992 วินิจฉัยว่าการระงับความร่วมมือกับต่างประเทศเป็นการกระทำทางรัฐบาล เป็นต้นซึ่งการกระทำทางรัฐบาลทั้งหมดที่กล่าวไปแล้วศาลปกครองฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาวินิจฉัย ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ในฝรั่งเศสศาลปกครองฝรั่งเศสเองเห็นว่าตนเองมีอำนาจเฉพาะการวินิจฉัย “การกระทำทางปกครอง” ส่วน “การกระทำทางรัฐบาล” นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของรัฐสภาครับ
       ในประเทศไทยเรานั้น เมื่อพิจารณาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “การทำงาน” ของคณะรัฐมนตรีหลายฉบับก็ไม่พบว่ามีการ “แยก” การกระทำของรัฐบาลออกจากการกระทำทางปกครอง แม้กระทั่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 11 (2) ถึงอำนาจของศาลปกครองสูงสุดในการพิจารณา “คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” ก็ไม่มีการแยกประเภทของการกระทำของคณะรัฐมนตรีว่า การกระทำใดบ้างที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณา ด้วยเหตุนี้เองที่มีการนำมติคณะรัฐมนตรีหลายประเภทเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองในเวลาต่อมาซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
       ทุกวันนี้ แนวความคิดเรื่อง “การกระทำทางรัฐบาล” ยังเป็นสิ่งที่พูดถึงและศึกษากันน้อยมาก เท่าที่ผมทราบเคยมีการให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้บ้าง เช่น ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 40/2528 ว่า “ในระบบสภาแห่งรัฐ(Conseil d’Etat)จะมีอำนาจตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวกับงานประจำ ไม่ตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีเฉพาะในเรื่องที่มีลักษณะเป็นงานนโยบายเท่านั้น ทั้งนี้เพราะสถาบันรัฐสภาจะควบคุมงานนโยบายของคณะรัฐมนตรีตามวิถีของระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว”
       ต่อมาที่ผมเคยเห็นก็เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการกล่าวถึงการกระทำทางรัฐบาลไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ว่า “การยุบสภาเป็นการกระทำของรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารเป็นผู้ถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์เพื่อทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ที่กำหนดไว้ในระบบรัฐสภาเพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลหรือคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติกับรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร จึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ”
       
ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น นับเป็น “เอกสารทางวิชาการ” ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่ได้อธิบายถึงหลักว่าด้วยการกระทำทางรัฐบาลไว้เป็นอย่างดียิ่ง คำสั่งดังกล่าวน่าจะเป็น “ฝีมือ” ของรองศาสตราจารย์ ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นักกฎหมายมหาชนแถวหน้าของประเทศไทย อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด และเป็นตุลาการเจ้าของสำนวนในเรื่องดังกล่าวด้วย ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่178/2550 ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า “มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ผู้แทนไปลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศถือเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง” โดยในคำสั่งดังกล่าวได้ “อธิบาย” ถึง “การกระทำทางปกครอง” และ “การกระทำทางรัฐบาล” ไว้อย่างละเอียดสรุปความได้ว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ การกระทำไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเพื่อให้การดำเนินการทางปกครองตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดบรรลุผลถือได้ว่าคณะรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจทางบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญกระทำการใดๆไม่ว่าจะเป็นการกระทำในความสัมพันธ์กับรัฐสภาหรือการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ตาม คณะรัฐมนตรีหาได้กระทำในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ แต่กระทำในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
       
ที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยเกี่ยวกับ “แนวคิด” ในเรื่องการกระทำทางรัฐบาลครับ
       ย้อนกลับมาถึงคำสั่งศาลปกครองกลางที่ 984/2551 คดีปราสาทพระวิหารที่กำลัง “ร้อน” อยู่ในขณะนี้ ศาลปกครองเห็นว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อคณะรัฐมนตรีและการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมฯและเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีกระทำการในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครอง ดังที่ปรากฏในตอนหนึ่งของคำสั่งสรุปความได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและมีอำนาจบริหารราชการในกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีจึงมีฐานะเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาซึ่งนอกจากศาลปกครองกลางจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้วยังมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไว้ในคราวเดียวกันด้วย
       ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อตั้งประเด็นทางวิชาการถึงแนวคิดเกี่ยวกับ “การกระทำทางรัฐบาล” ว่าเป็นอย่างไรครับ เพราะเมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ศาลปกครองมอง “การกระทำ” เป็นหลัก โดยมองว่ามติคณะรัฐมนตรีที่เกิดจากการใช้อำนาจบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณา ในขณะที่คำสั่งศาลปกครองกลางที่ 984/2551 นั้น ศาลปกครองกลางมอง “องค์กร” เป็นหลัก โดยมองว่าการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
       
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวของผมที่มีต่อเรื่องดังกล่าวนั้น คำสั่งของศาลปกครองทั้ง 2 คำสั่ง คือคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 กับคำสั่งศาลปกครองกลางที่ 984/2551 มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในแง่ของแนวคิดทฤษฎีและเหตุผลที่นำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาซึ่งก็ส่งผลทำให้คำสั่งทั้ง 2 ออกมาในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการกระทำทางรัฐบาลที่ปรากฏอยู่ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 เพราะการกระทำของคณะรัฐมนตรีนั้นมีทั้งการกระทำทางปกครองอันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ กับการกระทำทางรัฐบาลอันเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เพราะหากเราไม่แยกการกระทำทางรัฐบาลออกจากการกระทำทางปกครองและมองว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะใช้อำนาจจากแหล่งใดก็ตามถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของศาลปกครองแล้ว ในวันข้างหน้าหากมีผู้นำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองตลอดเวลา รัฐบาลก็คงไม่สามารถทำงานอะไรได้อย่างราบรื่น ซึ่งก็จะส่งผลตามมาอีกมากมายหลายประการจนทำให้ในที่สุดระบบการแบ่งแยกอำนาจซึ่งประสงค์จะให้อำนาจทั้ง 3 ถ่วงดุลซึ่งกันและกันก็จะกลายมาเป็นอำนาจหนึ่งอยู่เหนืออีกอำนาจหนึ่งไปในที่สุด และในวันนั้น คณะรัฐมนตรีจะบริหารประเทศต่อไปได้อย่างไรครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสำคัญของประเทศหรือเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่หากศาลปกครองมีอำนาจที่จะเข้ามาตรวจสอบได้ ใครจะเป็นผู้ "บริหาร" ประเทศไทยที่แท้จริงกันแน่ครับ !
       ส่วนเรื่องคำสั่งของศาลปกครองทั้ง 2 กรณี ซึ่งมี “ประเด็น” คล้ายกันแต่ “ผล” ของคำสั่งกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้น เป็นไปได้ไหมครับที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจะได้ “วางเกณฑ์” ในการพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 11(2) แห่งกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองให้ชัดเจนว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีขอบเขตเช่นไร สมควรมีการแยกออกมา “การกระทำทางรัฐบาล” เช่นที่เคยปรากฏในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อให้คำสั่งหรือคำพิพากษาที่จะมีผลต่อไปในอนาคตเป็นไปในแนวทางเดียวกันครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความที่น่าสนใจมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความเรื่อง "ประชาธิปไตยกับอภิชนาธิปไตย" ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สองเป็นบทความของคุณบุญเสริม นาคสาร แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง "หลักประชาธิปไตยของพรรคการเมืองไทย" และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณชนินทร์ ติชาวัน เรื่อง "สิทธิเสรีภาพในสังคมไทย" ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2551 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1235
เวลา 29 มีนาคม 2567 22:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)