บทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เล่ม 2

20 กรกฎาคม 2551 13:32 น.

       หลังจากหนังสือบทวิเคราะห์ทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เล่ม 1 ของรองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี รูปสุวรรณ ได้เผยแพร่ออกไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนบัดนี้ในวงการหนังสือกฎหมายมหาชน ก็ยังคงไม่มีงานทางวิชาการที่อธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) อย่างเต็มรูปแบบแม้แต่เล่มเดียว หนังสือบทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้ง 2 เล่มนี้จึงเป็นหนังสือชุดเดียวในขณะนี้ที่นำเสนอเปรียบเทียบข้อเด่น – ข้อด้อยของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550
       
       ผู้เขียนได้วิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อจากในเล่ม 1 คือเริ่มจาก หมวด 6 รัฐสภา ไปจนจบที่บทเฉพาะกาล โดยเฉพาะในส่วนของหมวด 6 รัฐสภานั้น ในประเด็นที่โต้เถียงกันทั้งในวงวิชาการและทางการเมืองอย่างมากคือ ประเด็นที่มาและโครงสร้างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา ผู้เขียนได้นำเสนอความเห็นของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีความเห็นแยกเป็นหลายทาง มีการนำเสนอรูปแบบ (model) โครงสร้างของสภาอย่างหลากหลายและนำเสนอความเห็นของผู้เขียนเอง โดยในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้นผู้เขียนเห็นว่ารูปแบบที่มาของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มีหลักการที่ดีอยู่แล้วแต่ต้องแก้ปัญหาในบางประเด็น ส่วนรูปแบบที่มาของ ส.ว. นั้นควร “ทดลอง” รูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ไปก่อน แต่ต้องแก้ไขข้อบกพร่องบางประการ ส่วนบทบัญญัติในหมวดต่อมา ก็ได้วิเคราะห์โดยให้ “ข้อสังเกต” ทั้งในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยไว้ในทุกมาตราที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มหลักการใหม่ ๆ จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
       
       หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจประเด็นการศึกษาเปรียบเทียบข้อเด่น – ข้อด้อยของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550 ตลอดจนการนำเสนอความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอ “ทางวิชาการ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ต่อไป
       
       ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนที่ได้ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ครับ


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1245
เวลา 28 เมษายน 2567 06:40 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)