สามก๊ก ๒๕๕๑ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง

31 สิงหาคม 2551 22:34 น.

       สถานการณ์บ้านเมืองเราในปัจจุบันที่แบ่งแยกผู้คนออกเป็นหลายขั้วหลายกลุ่มทำให้ผมนึกถึงนิยายจีนอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก และแปลเป็นไทยโดยเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๔๕ ถือเป็นนิยายจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มแรกและเก่าแก่ที่สุดของไทย
       เรื่องราวของสามก๊กนี้คนไทยเราส่วนใหญ่มักจะอ่านมาแล้วบ้าง อย่างน้อยก็ในชั้นเรียน นิยายอิงประวัติศาสตร์ชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่ดีที่สุดในโลกก็ว่าได้เพราะประกอบไปด้วยคติสอนใจและกลศึกต่างๆ สามารถประยุกต์เข้ากับการบริหารงานและสถานการณ์บ้านเมืองได้ทุกยุคทุกสมัย จนมีผู้กล่าวว่า “ยังมิได้อ่านสามก๊ก อย่าพึงคิดการใหญ่” แต่หากอ่านมากไปก็อาจเป็นระแวงของคนอื่นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ใครอ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้”
       สามก๊กกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุค พ.ศ.๗๖๓ ถึง พ.ศ.๘๒๓ เริ่มจากสมัยพระเจ้าเลนเต้ได้ขึ้นครองราชย์ แต่ทรงครองราชย์อย่างไร้คุณธรรม ทำให้ราษฎรเดือดร้อน หิวโหยทุกหย่อมหญ้า ราษฎรทนไม่ไหวจึงรวมตัวกันเกิดเป็นกบฏโจรโพกผ้าเหลือง มีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แม้แต่กองทหารก็ต้านไม่ไหว จึงมีการประกาศหาอาสาสมัครปราบโจรดังกล่าวทุกหัวเมือง ซึ่งเป็นเหตุให้เล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย ได้มาพบกันและสาบานตนเป็น พี่น้องกันและร่วมปราบโจรโพกผ้าเหลือง
       ในการปกครองบ้านเมืองของจีนในยุคนั้น ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่มาก มีการแผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม แต่มาถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่างๆพากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองดังกล่าวขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่างๆทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนก็แตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และ ซุนกวนในการศึกที่ผาแดง โดยก๊กทั้งสามแบ่งเป็น
       ๑) วุยก๊ก เป็นก๊กที่ใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีนโดยโจโฉซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นราชวงศ์วุย ซึ่งภายหลังวุยก๊กถูกโจมตีและโค่นล้มโดยสุมาเอี๋ยนและสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนแล้วรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่างๆเข้าด้วยกัน
       ๒) จ๊กก๊ก ปกครองโดยเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรได้เพียง๔๒ ปีมีจักรพรรดิแค่ ๒ พระองค์ก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวของเล่าเสี้ยน
       ๓) ง่อก๊ก ปกครองโดยซุนกวน ครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณรอบๆเมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กเป็นอาณาจักรสุดท้ายที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยน
       เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์บ้านเมืองของไทยเราในปัจจุบันแล้วจะเห็นได้ว่า ในช่วงก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ บ้านเมืองเราแบ่งออกเป็น ๒ ก๊ก คือ
       ๑) ก๊กเอาทักษิณ
       ๒) ก๊กไม่เอาทักษิณ
       แต่พอเกิดการรัฐประหาร ๑๙ กันยาฯ ขึ้น บ้านเมืองเราแบ่งเป็น ๔ ก๊ก คือ
       ๑)ก๊กเอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร ได้แก่พวกไทยรักไทยเก่าหรือพลังประชาชน
       ๒)ก๊กเอาทั้งทักษิณและรัฐประหาร ได้แก่บางกลุ่มบางพวกของนักการเมือง และข้าราชการประจำตลอดจนนักวิชาการที่แสวงหาอำนาจและยศตำแหน่งทั้งหลาย
       ๓)ก๊กไม่เอาทักษิณ เอารัฐประหาร ได้แก่พวกพันธมิตรฯและแนวร่วม
       ๔)ก๊กไม่เอาทั้งทักษิณและไม่เอารัฐประหาร ได้แก่พวกที่เห็นพิษภัยของระบอบทักษิณและการรัฐประหาร
       แต่เมื่อ คมช.หมดอำนาจ บ้านเมืองเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ และได้รับการต่อต้านจากฝ่ายพันธมิตรฯที่ปักหลักประท้วงเป็นแรมเดือน บ้านเมืองก็เข้าสู่สภาวะแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ก๊กใหญ่ๆอย่างชัดเจน คือ
       ๑)ก๊กไม่เอาร่างทรงของทักษิณ ได้แก่พวกอำมาตยาธิปไตยผนวกเข้ากับราชาชาตินิยมนำโดยพันธมิตรฯและแนวร่วมที่ปักหลักประท้วงอยู่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์และกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆโดยมี เอเอสทีวีเป็นแกนในการถ่ายทอดร่วมกับวิทยุชุมชนบางสถานี
       ๒) ก๊กไม่เอาพันธมิตรฯ ได้แก่พวกประชานิยมประสมกับทุนสามานย์นำโดยพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลผนวกเข้ากับพวกที่ชื่นชอบทักษิณ
       ๓) ก๊กไม่เอาทั้งร่างทรงของทักษิณและไม่เอาทั้งพันธมิตรฯ (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพวก ๒ ไม่เอา – TWO NOs) ได้แก่ พวกที่เบื่อทั้ง ๒ ก๊กข้างต้นเต็มแก่ โดยเห็นว่าทั้ง ๒ ก๊กล้วนแล้วแต่สร้างความเดือดร้อนให้แก่บ้านเมืองทั้งสิ้น ไม่มีใครดีกว่าใคร
       ทั้ง ๓ ก๊ก ต่างอ้างแนวร่วมของตนเองว่ามีมากกว่าใครเพื่อน โดยก๊กแรกอ้างว่า มีแนวร่วมถึง ๒๐ กว่าล้านคนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ก๊กที่สองก็อ้างว่าตนเองมาจากการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากในสภาซึ่งมาจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๔๐ ล้านคน ส่วนก๊กที่สามก็ฮึ่มๆว่าตนเองนั้นคือพลังเงียบที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ทั้งประเทศซึ่งล้วนแต่เบื่อหน่ายต่อการหันกระบอกปืนใหญ่มายิงใส่กันด้วยความแค้นแต่ปางหลังของทั้งสองก๊กข้างต้น
       อย่างไรก็ตามเมื่อเราได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิยายอิงประวัติศาสตร์ของจีนเรื่องสามก๊กแล้ว เราจะเห็นได้ว่าในที่สุดมันก็มีผู้ชนะจนได้ แต่กว่าจะชนะหรือปราบทั้ง ๓ ก๊กให้รวมเป็นปึกแผ่นได้ต้องระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร
       แล้วสถานการณ์บ้านเมืองของเราจะเป็นไปอย่างไร
       เมื่อการเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ฉะนั้น เมื่อใดที่การจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ยังไม่ลงตัวความขัดแย้งก็จะยังเป็นไปอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อใดการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ลงตัวหรือเกี่ยเซียะกันได้แล้วความขัดแย้งก็จะทุเลาลง ขอแต่เพียงว่าใครอย่าจุดชนวนให้มีการเลือดตกยางออกหรือเกิดการจลาจลขึ้นก็แล้วกัน แม้ว่าล่าสุดฝ่ายพันธมิตรฯจะใช้ยุทธวิธีบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีและทำเนียบรัฐบาลแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการเริ่มโดยฝ่ายใดก็ตามก็จะยังสรุปไม่ได้ว่าใครแพ้ใครชนะ
       
       จุดเปลี่ยนที่จะชี้ผลแพ้ชนะอยู่ที่ใครจะมีความอึดมากกว่ากันที่จะไม่ใช้ความรุนแรงก่อน เพราะผู้ที่ใช้ความรุนแรงก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอ เพราะความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาทางการเมืองได้สำเร็จ
       โดยเฉพาะยิ่งอย่าให้เกิดมีพวกที่มักง่าย คิดสั้นทำหรืออยากให้มีการทำรัฐประหารใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะทำรัฐประหารเพื่อช่วยก๊กใดก็ตามก็จะยิ่งทำให้ประเทศ ตกลงไปในเหวลึกจนแหลกเละอย่างไม่มีวันฟื้นคืนมาได้อีกเลย

       
       ------------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1268
เวลา 29 เมษายน 2567 02:27 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)