ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ

7 กันยายน 2551 04:40 น.

       คำบรรยายกฎหมายปกครอง
       
       ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
       ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
       ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
       ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
       
       ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       
       สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลานานแล้ว การให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของรัฐ ซึ่งรวมไปถึงการบริหารงานในด้านต่างๆ ของรัฐด้วย และนอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการยังมีผลเป็นการสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชนได้อีกด้วย เพราะเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้ง่าย ประชาชนก็จะทราบถึงกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมทางปกครองได้ง่าย ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ฝ่ายปกครองระมัดระวังในการใช้อำนาจของคนมากขึ้น
       
       11.1 ความเป็นมาของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการในประเทศไทย(1)
       แนวคิดในการจัดทำกฎหมายข้อมูลข่าวสารในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกเมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงระบบบริหารราชการขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ยกร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. .... ขึ้น ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง จนกระทั่งต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 เมื่อนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารราชการแผ่นดินขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมาย กำหนดให้เอกชนมีสิทธิได้รู้ข่าวสารต่างๆ ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต่อมาก็พัฒนามาเป็นการจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการ ร่างกฎหมายดังกล่าวประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2540 เมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ร่างกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2540
       
       11.2 วัตถุประสงค์ของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       วัตถุประสงค์ของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการปรากฏอยู่ในเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ในระบอบประชาธิปไตย การให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง อันเป็นการส่งเสริมให้มีความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการโดยมีข้อยกเว้นอันไม่ต้องเปิดเผยที่แจ้งชัดและจำกัดเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือต่อประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงและจะยังผลให้ประชาชนมีโอกาสรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตนได้อีกประการหนึ่งด้วย ประกอบกับสมควรคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของราชการไปพร้อมกัน จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายฉบับนี้
       
       11.3 ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       
มีข้อพึงพิจารณา 2 ประการเกี่ยวกับขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ ขอบเขตของคำว่า “ข้อมูลข่าวสาร” และคำว่า “ราชการ”
       
       11.3.1 ข้อมูลข่าวสาร มาตรา 4 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ข้อมูลข่าวสาร” ไว้ 3 ลักษณะด้วยกัน คือ “ข้อมูลข่าวสาร” “ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ” และ “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล”
       ก. ข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือสิ่งใดๆ ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเองหรือโดยผ่านวิธีการใดๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ในรูปของเอกสาร แฟ้มรายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏ
       ข. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐ หรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน
       ค. ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรมหรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย
       
       11.3.2 ราชการ กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้กำหนดถึง “หน่วยงานของรัฐ” ที่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวไว้ในมาตรา 5 ว่า ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดี องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ หน่วยงานอิสระของรัฐและหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
       
       11.4 หลักของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน มาตรา 56 และมาตรา 57 ถึงหลักของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ดังนี้
       มาตรา 56 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
       การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ
       
       11.5 ผู้ที่จะข้อมูลข่าวสารของราชการ
       เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้อย่างกว้างขวาง กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการจึงได้กำหนดให้ผู้ขอข้อมูลไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือประโยชน์เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ขอ โดยไม่จำเป็นต้องชี้แจงหรือแสดงเหตุผลว่าทำไมจึงประสงค์ที่จะขอข้อมูลดังกล่าว โดยหลักดังกล่าวบัญญัติไว้ในกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ มาตรา 9 วรรค 3 แต่อย่างไรก็ตาม หลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นอยู่ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลหรือที่อยู่ในความควบคุมดูแลของทางราชการ ที่ผู้ขอจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเสียก่อน
       
       11.6 วิธีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ
       เนื่องจากข้อมูลข่าวสารของราชการมีอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทต่างก็มีลักษณะเฉพาะ ความสำคัญ และเนื้อหาที่แตกต่างกัน กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการจึงได้กำหนดประเภทของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการไว้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
       
       11.6.1 การเปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อมูลข่าวสารของราชการบางเรื่องเป็นเรื่องที่สมควรให้ประชาชนรับรู้ มาตรา 7 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการจึงกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลพื้นฐานที่กฎหมายกำหนด ไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ข้อมูลดังกล่าว ได้แก่
       (1) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
       (2) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
       (3) สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
       (4) กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบ แบบแผน นโยบายหรือการตีความ ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
       (5) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
       
       11.6.2 การเปิดเผยโดยจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู ข้อมูลข่าวสารของราชการนอกเหนือจากประเภทที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ยังมีข้อมูลบางประเภทที่มีความจำเป็นรองลงมาซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนรับรู้เช่นกัน กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 9 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ โดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีสถานที่สำหรับประชาชนสามารถใช้ในการค้นหาและศึกษาข้อมูลข่าวสารของราชการได้ ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 9 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ
       (1) ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
       (2) นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 7(4)
       (3) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ
       (4) คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
       (5) สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงมาตรา 7 วรรคสอง
       (6) สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
       (7) มติคณะรัฐมนตรี หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย
       (8) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
       
       11.6.3 การเปิดเผยตามคำขอ นอกจากข้อมูลข่าวสารทั้งสองประเภทดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประชาชนยังสามารถขอข้อมูลข่าวสารของราชการอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในสองประเภทข้างต้นได้โดย มาตรา 11 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้กำหนดไว้ว่า นอกจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาหรือที่จัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูหรือค้นคว้า หากบุคคลใดประสงค์จะขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการและคำขอของผู้นั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามสมควร ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
       
       11.7 ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย
       
กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการได้กำหนดข้อยกเว้นของข้อมูลข่าวสารของราชการที่เจ้าหน้าที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ 2 กรณีด้วยกัน คือ
       
       11.7.1 ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 14 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยมิได้
       
       11.7.2 ข้อมูลข่าวสารของราชการประเภทที่มีความสำคัญ มาตรา 15 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ กำหนดไว้ว่าข้อมูลข่าวสารของราชการบางประเภทหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้แก่ข้อมูลข่าวสารของราชการที่
       (1) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
       (2) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ตาม
       (3) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว
       (4) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
       (5) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
       (6) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผย หรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
       (7) กรณีอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา
       กรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการข้างต้นนั้น ในคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการจะต้องระบุไว้ด้วยว่าที่เปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใด และเพราะเหตุใด และให้ถือว่าการมีคำสั่งดังกล่าวเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามสายการบังคับบัญชาซึ่งผู้ขอสามารถอุทธรณ์คำสั่งไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้
       
       11.8 ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
       มีข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของบุคคลจำนวนมากที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการจึงได้กำหนดกระบวนการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ กระบวนการคือ
       
       11.8.1 การจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล มาตรา 23 แห่งกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้กำหนดหลักการสำคัญของการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไว้ ดังต่อไปนี้
       (1) ต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และยกเลิกการจัดให้มีระบบดังกล่าวเมื่อหมดความจำเป็น
       (2) พยายามเก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียโดยตรงของบุคคลนั้น
       (3) จัดให้มีการพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาและตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งดังต่อไปนี้
       (ก) ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้
       (ข) ประเภทของระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
       (ค) ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
       (ง) วิธีการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล
       (จ) วิธีการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
       (ฉ) แหล่งที่มาของข้อมูล
       (4) ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในความรับผิดชอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ
       (5) จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการนำไปใช้โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล
       ในกรณีที่เก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูล หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบล่วงหน้าหรือพร้อมกับการขอข้อมูลถึงวัตถุประสงค์ที่จะนำข้อมูลมาใช้ ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ และกรณีที่ขอข้อมูลนั้นเป็นกรณีที่อาจให้ข้อมูลได้โดยความสมัครใจหรือเป็นกรณีมีกฎหมายบังคับ
       หน่วยงานของรัฐต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในกรณีมีการให้จัดส่งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใดซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสารนั้นได้ เว้นแต่เป็นไปตามลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
       
       11.8.2 การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในกรณีดังต่อไปนี้
       (1) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตนเพื่อการนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น
       (2) เป็นการใช้ข้อมูลตามปกติภายในวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้น
       (3) ต่อหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านการวางแผนหรือการสถิติ หรือสำมะโนต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูล ข่าวสารส่วนบุคคลไว้ไม่ให้เปิดเผยต่อไปยังผู้อื่น
       (4) เป็นการให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยโดยไม่ระบุชื่อ หรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ เกี่ยวกับบุคคลใด
       (5) ต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เพื่อการตรวจดู คุณค่าในการเก็บรักษา
       (6) ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อการป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การสอบสวน หรือการ ฟ้องคดี ไม่ว่าเป็นคดีประเภทใดก็ตาม
       (7) เป็นการให้ซึ่งจำเป็นเพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคล
       (8) ต่อศาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อเท็จจริง ดังกล่าว
       (9) กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
       
       11.8.3 การตรวจดูข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลโดยเจ้าของข้อมูล เพื่อเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของข้อมูลที่จะตรวจดูข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ มาตรา 25 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการจึงได้กำหนดหลักการสำคัญไว้ว่า บุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะได้รู้ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนได้ โดยเมื่อบุคคลผู้นั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนบุคคลนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น และถ้าบุคคลใดเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนส่วนใดไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ก็มีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนนั้นได้ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามที่มีคำขอ บุคคลผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งไม่ยินยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสาร
       
       11.8.4 การคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ มาตรา 17 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ บัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดจะกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของผู้ใด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องให้เวลาอันสมควรที่ผู้นั้นอาจเสนอคำคัดค้านได้ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
       ผู้ที่ได้รับแจ้งหรือผู้ที่ทราบว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการอาจจะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตน มีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยทำเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบว่าไม่ประสงค์ที่จะให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
       ในกรณีที่มีการคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาคำคัดค้านและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า และในกรณีที่มีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นมิได้จนกว่าจะล่วงพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์คือ 15 วันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน และหากผู้คัดค้านอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา เจ้าหน้าที่ก็
       ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้จนกว่าคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะได้วินิจฉัยว่าให้หรือไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้
       
       11.9 เอกสารประวัติศาสตร์
       
กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการกำหนดถึงเอกสารประเภทที่เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ไว้ 2 กรณี โดยมีการแบ่งประเภทของเอกสารและวิธีการในการดำเนินการกับเอกสารดังกล่าวไว้ในมาตรา 26 ดังนี้คือ
       
       11.9.1 ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะเก็บรักษา ให้หน่วยงานของรัฐส่งมอบให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานของรัฐตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา เพื่อคัดเลือกไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
       
       11.9.2 เอกสารที่มีอายุครบกำหนดเวลา มาตรา 29 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       ได้กำหนเวลาให้หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการให้แกหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา เพื่อคัดเลือกไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปไว้ ดังนี้ คือ
       ก. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 14 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ เมื่อครบ 75 ปี
       ข. ข้อมูลข่าวสารตามข้อ 1.7.2 ข้างต้น เมื่อครบ 20 ปี
       กำหนดเวลาทั้ง 2 กรณี อาจขยายออกไปอีกได้ หากหน่วยงานของรัฐจำเป็นที่จะต้องเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารของราชการไว้เอง เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย โดยต้องจัดเก็บและจัดให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าตามที่ตกลงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น ยังไม่ควรเปิดเผย โดยมีคำสั่งขยายเวลากำกับไว้เป็นการเฉพาะราย แต่จะเกินคราวละ 5 ปีไม่ได้
       
       11.10 องค์กรตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       
กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการจัดตั้งองค์กรขึ้นมา 2 องค์กร เพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ถูกหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ต้องเปิดเผย บันทึกข้อมูลข่าวสารของบุคคลไว้ไม่ถูกต้องและไม่ยอมให้เจ้าของข้อมูลข่าวสารแก้ไข ฯลฯ องค์กรทั้งสองได้แก่ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       
       11.10.1 คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 23 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวน 14 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 9 คน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       
       คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการมีอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 แห่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ
       - สอดส่องดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       - ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่ได้รับคำขอ
       - เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงหรือระเบียบของคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       - พิจารณาและให้ความเห็นชอบเรื่องร้องเรียน กรณีหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลข่าวสารในราชกิจจานุเบกษา ไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ ไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารตามคำขอของบุคคล ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกำหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าหรือเห็นว่าไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุสมควร
       - จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม แต่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
       - ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       - ดำเนินการเรื่องอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
       
       11.10.2 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ มาตรา 35 กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแต่ละสาขา มาตรา 36 กำหนดให้ประกอบด้วยบุคคลตามความจำเป็น แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน และให้ข้าราชการที่คณะกรรมการแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
       คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีส่วนได้เสียกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผย
       
       เชิงอรรถ
       1. ชาญชัย แสวงศักดิ์ บรรเจิด สิงคะเนติ และสมศักดิ์ นวตระกูลพิสุทธ์, การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการกับข้อพิจารณาทางกฎหมายปกครอง, สำนักพิมพ์นิติธรรม, กรุงเทพฯ 2543, หน้า 13-23
       
       
       อ่านต่อ
       ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
       ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1273
เวลา 28 มีนาคม 2567 22:13 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)