บทความเขาพระวิหาร ๒ โดย ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

14 กันยายน 2551 23:56 น.

       หัวข้อที่ (๒) “ ถ้าสมมติว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคดีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารนี้ เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราคิดว่า “ ศาลปกครอง(ของประเทศที่พัฒนาแล้ว)” จะรับคดีพิพาทนี้ไว้พิจารณาพิพากษา หรือไม่ ฯลฯ” ; และถ้า(เขา)รับไว้พิจารณา เขาจะอธิบายด้วยเหตุผลอย่างไร
       
       หัวข้อที่ (๒) นี้ มีความสำคัญมากกว่า หัวข้อที่ (๑) และจะเป็นสาระที่แท้จริงที่ผู้เขียนตั้งใจจะเขียน
       แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ความเห็นของผู้เขียนต่อไป ปรากฏว่า ได้มีบทความบทหนึ่ง ที่เขียนโดย ท่าน ร.ศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยท่านอาจารย์เรียกว่า เป็นบทความที่เป็น “ปฏิกิริยา” ต่อบทความของผู้เขียนที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว(หัวข้อที่ (๑) ) ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนควรจะต้องชี้แจงข้อสงสัยที่ท่านอาจารย์ร.ศ. ดร. วรเจตน์ มีอยู่ในบทความส่วนแรกของผู้เขียนไว้ด้วยเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ และผู้เขียนต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์(ซึ่งต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอเรียก “ผู้วิจารณ์”) ที่ทำให้ผู้เขียนได้มี “โอกาส”เขียนอธิบายเพิ่มเติมข้อสงสัยของท่านผู้วิจารณ์ในบทความของผู้เขียนในหัวข้อที่ (๑)ให้ชัดแจ้ง ก่อนที่ผู้เขียนจะเขียนบทความในหัวข้อที่ (๒)นี้ ต่อไป
       
       ในที่นี้ ผู้เขียนจะไม่ขอย่อ “สาระ”บทวิจารย์ของท่านผู้วิจารย์ (อาจารวรเจตน์)ไว้ในบทความนี้(ซึ่งโดยปกติ ผู้เขียนจะย่อสาระไว้ เพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่าน) แต่จะขอชี้แจงรวมกันในประเด็นสำคัญที่ท่านผู้วิจารณ์ได้ยกขึ้นมา และผู้เขียนจะชี้แจงให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่ผู้เขียนจะได้เขียนบทความของผู้เขียนในหัวข้อที่ (๒) ต่อไป [โปรดดู “บทวิจารณ์”ของ อาจารย์ รศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรื่อง “การกระทำทางรัฐบาลกับคำสั่งศาลปกครองกลาง” ได้จาก www.pub-law.net ; บทวิจารณ์นี้ แบ่งเป็น ๗ หัวข้อ และมีเชิงอรรถอยู่ ๑๗ข้อ]
       ผู้เขียนขอชี้แจง โดยแยกเป็น ๔ ข้อดังนี้ (๑) ความหมายของ “คำ”ในทางภาษาศาสตร์ ; (๒) “สาระสำคัญ (ในบทความของผู้เขียน)” ที่ท่านผู้วิจารณ์มีความเห็นว่า ผู้เขียนตกหล่นไม่ได้ให้ความเห็นไว้ ; (๓) ความเห็นที่แตกต่างกันใน“สาระสำคัญ” ระหว่างท่านผู้วิจารณ์กับผู้เขียน และ (๔) ความแตกต่างของความเห็นฯ ในส่วนที่ไม่ใช่ “สาระสำคัญ”
       

       (๑) ความหมายของ “คำ” ในทางภาษาศาสตร์ ท่านผู้วิจารณ์ได้กล่าวถึง “คำ”ในภาษาต่างประเทศ (ที่ผู้เขียนใช้ในบทความในหัวข้อที่ (๑) ) อยู่ ๓ – ๔ แห่ง (คือในบทวิจารณ์ ข้อ ๑ และในเชิงอรรถที่ ๖, ๙ และ ๑๐) ซึ่งผู้เขียนจะขอรวมชี้แจงอย่างสั้น ๆ ไว้ในข้อเดียว ดังนี้
       (๑.๑)ท่านผู้วิจารณ์เห็นว่า(ข้อ ๑ ของบทวิจารณ์ ) คำว่า “acte de gouvernement” (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ต้องแปลว่า การกระทำของรัฐบาล) ท่านผู้วิจารณ์เห็นว่า ควรแปลว่า การกระทำทางรัฐบาล และถ้าหากจะแปลว่าเป็น การกระทำ ของรัฐบาล คำในภาษาฝรั่งเศส ควรใช้คำว่า “acte du (ไม่ใช่ de) gouvernement” และท่านผู้วิจารณ์เห็นว่า(เชิงอรรถ ที่ ๖) คำว่า “การกระทำของฝ่ายปกครอง” ที่ผู้เขียนใช้ภาษาฝรั่งเศสว่า “acte d’administration”นั้น อาจคลาดเคลื่อน และน่าจะต้องแปลว่า “acte de l’administration”
       ผู้เขียนขอชี้แจง ดังนี้ ในประการแรก ผู้เขียนเห็นว่า คำว่า “acte de gouvernement” กับคำว่า “acte du (มาจากde le ) gouvernement” ทั้งสองคำ จะมีคำแปลเหมือนกัน คือ ต้องแปลว่า “การกระทำของรัฐบาล” (ไม่ใช่การกระทำทางรัฐบาล) แต่ความแตกต่างระหว่างคำสองคำนี้ มีเพียงว่า ความหมายของคำว่า “รัฐบาล” ตามคำแรก จะมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “รัฐบาล”ในคำที่สอง ; เพราะตามหลักภาษาศาสตร์ คำว่า “gouvernement (ที่ไม่มีคำว่า le นำหน้า)” จะมีความหมายกว้างกว่า คำว่า“le gouvernement (ที่มีคำว่า le นำหน้า) ” โดยคำว่า“le gouvernement (ที่มีคำว่า le นำหน้า)” จะมีความหมายที่เฉพาะเจาะจง ; ส่วนปัญหาว่า เมื่อใดจะใช้คำว่า “le” นำหน้า “คำนาม” หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับข้อความหรือเจตนาของคนเขียนว่าประสงค์จะใช้คำนี้ โดยให้มีความหมายเฉพาะเจาะจงหรือไม่
       เช่นเดียวกัน คำว่า “การกระทำของฝ่ายปกครอง - acte d’administration (ที่ไม่มีคำว่า la นำหน้า)” กับ คำว่า“acte de l’administration (ที่มีคำว่า la หรือ l’ นำหน้า)” ทั้งสองคำนี้ ก็จะมีคำแปลเหมือนกัน คือ ต้องแปลว่า “การกระทำของฝ่ายปกครอง” (ไม่ใช่การกระทำทางปกครอง) แต่คำแรกจะมีความหมายกว้างกว่าคำที่สอง ด้วยเหตุผลเดียวกันตามที่กล่าวมาข้างต้น ; และดังนั้น ถ้า ประสงค์จะใช้คำว่า “ administration ” เพื่อให้มีความหมายตรงกับนัยของ คำว่า“gouvernement (ที่ไม่มีคำว่า le นำหน้า)” ก็จะต้องใช้คำว่า “administration (ที่ไม่มีคำว่า la นำหน้า)” เหมือน ๆ กัน และดังนั้น เมื่อรวมกันเข้ากับคำว่า acte จึงเป็น “acte d’administration (ที่ไม่มีคำว่า la นำหน้า)” ในทำนองเดียวกันกับคำว่า “acte de gouvernement (ที่ไม่มีคำว่า de le (หรือ du) นำหน้า)” แต่จะไม่ใช้คำว่า “acte de l’administration(ที่มีคำว่า la นำหน้า) ” เพราะจะทำให้ความหมายของคำว่า administration แตกต่างไปจากคำว่า gouvernement
       แต่ในที่นี้ คงไม่ใช่ที่ ที่จะมาพูดถึงเรื่องหลักภาษาศาสตร์ ผู้เขียนขอเรียนเพียงว่า คำว่า “acte d’administration(ที่ไม่มีคำว่า la นำหน้า)”นี้ เป็นคำที่ใช้อยู่ในตำรามาตรฐานอันมีชื่อเสียงของ Laferriere ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าจะถูกหรือผิด บางทีผู้ที่แต่งตำราอาจจะใช้ภาษาของเขาเองผิดไป ตามที่ท่านผู้วิจารณ์กล่าวก็ได้
       และเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอเรียนว่า ขอให้สังเกตว่า ทำไม คำว่า “acte administratif” (ซึ่งเราแปลว่า “การกระทำทางปกครอง” ) เขาจึงใช้ เป็น คำนาม (acte) + คำวิเศษณ์(administratif) ; คำตอบ ก็คงมีว่า คำว่า “acte administratif”(คำนาม + คำวิเศษณ์) นี้ จะมีความหมายกว้างกว่า คำว่า “acte d’administration” (หรือ คำว่า “acte de l’administration”) ซึ่งทั้งสองคำนี้ เป็นคำนาม + คำนาม ที่มีความหมายจำกัดว่า ต้องเป็น “การกระทำของฝ่ายปกครอง” เท่านั้น จะเป็นการกระทำของหน่วยงานอื่นไม่ได้
       กล่าวคือ คำว่า “acte administratif – การกระทำทางปกครอง ” (คำนาม + คำวิเศษณ์) แปลได้หลายความหมาย โดยอาจหมายความถึง การกระทำของฝ่ายปกครองเองก็ได้ หรืออาจหมายถึง การกระทำที่มีลักษณะในทางปกครองก็ได้ หรืออาจหมายถึงการกระทำที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายปกครอง ก็ได้ ทั้งนี้ โดยผู้ที่กระทำ “การกระทำ” ดังกล่าว อาจไม่ได้เป็นและไม่จำเป็นต้องเป็น “ฝ่ายปกครอง” ; “การกระทำทางปกครอง -“acte administratif” (คำนาม + คำวิเศษณ์)นี้ เป็นคำในระบบกฎหมาย (regime)ที่เน้นที่ “นิติกรรมทางปกครอง”หรือการกระทำที่มีลักษณะในทางปกครอง แต่ไม่ได้เน้นหรือบังคับว่า “การกระทำ” ดังกล่าว จะ ต้องเป็น “การกระทำของฝ่ายปกครอง” ( acte d’administration หรือ acte de l’administration) เท่านั้น
       ดังนั้น ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากจะต้องการแปลคำภาษาไทย “การกระทำทางรัฐบาล”ให้เป็นภาษาฝรั่งเศส โดยมีเจตนาจะให้มีความหมายอย่างกว้างในลักษณะเดียวกับคำว่า “acte administratif – การกระทำทางปกครอง” ก็คงต้องใช้(คำนาม + คำวิเศษณ์) คือ ใช้คำว่า “acte gouvernemental” ให้เหมือนกัน เพราะถ้าใช้คำว่า “ acte du (de le) gouvernement” หรือ “acte de gouvernement” (ซึ่งเป็น คำนาม + คำนาม) ก็จะแปลได้โดยมีความหมายเดียว คือ การกระทำของรัฐบาลเท่านั้น แปลอย่างอื่นไม่ได้ (ถ้าแปลอย่างอื่น ก็ผิดความหมาย)
       
       (๑.๒) มี “คำ”ภาษาอังกฤษอยู่คำหนึ่งที่ไม่ได้มาจากตำรา แต่ผู้เขียนแปลขึ้นเอง คือ คำว่า “การกระทำขององค์กรตามรัฐูธรรมนูญ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ โดยผู้เขียนแปลว่า “act of constitutional organizations” ซึ่งผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า เป็นคำแปลที่มีปัญหา (บทวิจารณ์ เชิงอรรถ ที่ ๑๐) โดยผู้วิจารณ์เห็นว่า คำว่า organization คือ คำว่า “องค์การ”(ไม่ใช่ องค์กร) ส่วนคำว่า องค์กร ต้องแปลว่า “organ”
       ผู้เขียนขอเรียนว่า คำว่า “organ” อาจแปลตรงไปตรงมาได้ว่าเป็น “องคาพยพ” หรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของชิ้นส่วนที่ใหญ่กว่า หรือเป็นอวัยวะของร่างกาย แต่ในที่นี้(ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐) ใช้คำว่า “องค์กร” โดยให้มีความหมายถึง “หน่วยงานของรัฐ”ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้เขียนจึงแปลให้ตรงกับ ความหมาย และใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า “organization” ซึ่งแปลว่า การจัดระบบการจัดองค์การ หรือแปลว่า “องค์การ(ที่มีการจัดระบบ)” และเจตนาไม่ใช้คำว่า organ ; และ โปรดสังเกตด้วยว่า คำว่า “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ”ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ กับคำว่า“องค์กรตามรัฐธรรมนูญ”ในชื่อของหมวด ๑๑ของรัฐธรรมนูญ (ซึ่งทางราชการแปลว่า constitutional organs) จะมีความหมายไม่ตรงกัน เพราะคำว่า “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด มีความหมายรวมถึง “คณะรัฐมนตรี” (และ “สภานิติบัญญัติ) ซึ่งเป็นสถาบันการเมืองด้วย แต่สถาบันการเมืองนี้ มิได้รวมอยู่ในความหมายของคำว่า “องค์กร” ในหมวด ๑๑ ของรัฐธรรมนูญ
       
       ข้อที่ (๑.๑) และ (๑.๒) ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือ “ความลึก” ทางภาษาศาสตร์ ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในส่วนแรกของบทความนี้ แต่ที่ผู้เขียนไม่ได้อธิบายความเห็นของผู้เขียนไว้ตั้งแต่ในส่วนแรก(ของบทความ) ก็เพราะเกรงว่า บทความของผู้เขียนจะยาวเกินไป ดังนั้น จึงต้องขอขอบคุณท่านผู้วิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสมาเขียนอธิบายเพิ่มเติม
       ท่านผู้วิจารณ์กล่าวไว้ว่า (บทวิจารณ์ ข้อ ๔) ผู้เขียนคิดสร้างถ้อยคำ ( “การกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ – act of constitutional organizations”)ขึ้นเอง เพื่อลดทอนความหมายของการกระทำทางรัฐบาล (ซึ่งศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPได้วางหลักไว้อย่างถูกต้องแล้ว) ; ผู้เขียนขอชี้แจงว่า ผู้เขียนไม่ได้คิดสร้างถ้อยคำขึ้นเอง แต่ในกฎหมายปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะพบว่า “ศัพท์เทคนิคเฉพาะ” จะกำหนดจากคำว่า “acte”เป็นหลักทั้งสิ้น (ไม่ว่าเราจะแปลคำว่า acte ว่าเป็น “นิติกรรม” หรือ “การกระทำ” ก็ตาม) โปรดดูคำดังต่อไปนี้ คำว่า acte administratif – การกระทำทางปกครอง ; acte judiciaire – การกระทำทางตุลาการ ; acte parlementaire – การกระทำทางสภา(นิติบัญญัติ) ; และคำว่า acte de gouvernement การกระทำของรัฐบาล ; และโปรดสังเกตว่า ในบรรดาศัพท์เทคนิคทั้ง ๔ คำนี้ ๓ คำแรกเขาจะใช้เป็นคำนาม + คำวิเศษณ์ ทั้งสิ้น และผู้เขียนจะแปลเป็นภาษาไทย ว่า “ทาง(ปกครอง) ฯลฯ” เพื่อให้มีความหมายอย่างกว้างตามคำขยายความที่เป็น “คำวิเศษณ์” ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่จะมีเพียงคำเดียวเท่านั้น ที่เขาใช้ คำนาม + คำนาม คือ คำว่า “acte de gouvernement (โดยไม่มี คำ du หรือ (de) le นำหน้า)” และ ดังนั้น ผู้เขียนจึงต้องแปลว่า “การกระทำของรัฐบาล” ไม่ใช่ “การกระทำทางรัฐบาล” (ซึ่งจะต้องเป็นคำนาม + คำวิเศษณ์) และผู้เขียนเห็นว่า คำนี้( คำนาม + คำนาม) แปลได้อย่างเดียว และในทาง grammaire จะ แปลอย่างอื่นไม่ได้
       นอกจากนั้น ท่านผู้วิจารณ์ยังมีความเห็น(เชิงอรรถ ที่๙)ว่า คำภาษาฝรั่งเศส acte de gouvernement ที่ผู้เขียนแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “act of government” นั้น ท่านผู้วิจารณ์เห็นว่า ควรจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “government act” น่าจะถูกต้องกว่า นั้น ; ซึ่งผู้เขียนก็อาจเห็นด้วยกับท่านผู้วิจารณ์ได้ แต่คงต้องรอให้ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษ เปลี่ยนคำว่า act of state เป็นคำว่า “state act”เสียก่อน ผู้เขียนก็จะถือตามได้
       
       (๒) “สาระสำคัญ (ในบทความของผู้เขียน)” ที่ท่านผู้วิจารณ์มีความเห็นว่า ผู้เขียนตกหล่นไม่ได้ให้ความเห็นไว้ ผู้เขียนขอเรียนชี้แจงว่า ท่านผู้วิจารณ์อาจไม่ได้สังเกต (หรือสังเกตเห็นแต่ไม่บอก) ว่า ในบทความของผู้เขียน ผู้เขียนได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่า บทความของผู้เขียนจะมี ๒ หัวข้อ และเขียนไปเพียงหัวข้อเดียว ดังนั้น บทความที่ท่านผู้วิจารณ์อ่านมานี้ เป็นเพียงบทความส่วนแรก (หัวข้อที่ (๑)) ของบทความของผู้เขียนเท่านั้น ; และในบทความส่วนแรกนี้ ผู้เขียนได้เขียนให้ความเห็นไว้เพียงประเด็นเดียว เท่านั้น คือ ประเด็นว่า เหตุผลและแนวความเห็นในคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘/๒๕๕๐ (กรณี JTEPA) มิใช่เป็นเหตุผลใน ทฤษฎี “acte de gouvernement”ของศาลปกครองของต่างประเทศ
       จะเห็นได้ว่า บทความของผู้เขียนในส่วนแรก (หัวข้อที่ (๑))นี้ ผู้เขียนยังไม่ได้เริ่มพิจารณาและให้ความเห็น ใน “ข้อเท็จจริง”ในคดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ของศาลปกครองกลางที่เป็นประเด็นในเรื่องนี้ว่า จะเป็น acte de gouvernement หรือไม่ แต่ประการใด
       ผู้เขียนได้ตั้งเป็น “ประเด็น”ที่จะเขียนต่อไปไว้ในหัวข้อที่ (๒)นี้ไว้ ว่า “ สมมติว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคดีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารนี้ เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว “ ศาลปกครอง(ของประเทศที่พัฒนาแล้ว)” จะรับคดีพิพาทนี้ไว้พิจารณาพิพากษา หรือไม่ ; และถ้าศาลปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้วจะรับคดีพิพาทนี้ไว้พิจารณา เขาจะอธิบายด้วยเหตุผลอย่างใด” ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตามชื่อหัวข้อที่ (๒)นี้ ผู้เขียนได้เปิดประเด็นสำหรับการวิเคราะห์ไว้อย่างกว้างขวาง และความจริง ก็เป็นความตั้งใจของผู้เขียนเช่นนั้น ; แต่ขณะนี้ ผู้เขียนก็ยังไม่ได้ให้ความเห็น(ของผู้เขียน)เลยว่า “ข้อเท็จจริง”ใน คดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ของศาลปกครองกลาง จะ เป็น “acte de gouvernement” ตามทฤษฎีของศาลปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่
       ฉะนั้น สิ่งที่ท่านผู้วิจารณ์ได้กล่าวใว้ในบทวิจารณ์ของท่าน ว่า (๑) ตลอดทั้งบทความของผู้เขียน ยังไม่ปรากฏเลยว่า ในทัศนะของผู้เขียน “ การกระทำของรัฐบาล - acte de gouvernement” คือ อย่างไร (โปรดดูบทวิจารณ์ ข้อ ๔ ) ; (๒) ผู้เขียนละเลยที่จะพูดถึง “อำนาจฟ้อง”ของผู้ฟ้อง และไม่มีคำอธิบายจากผู้เขียนว่า ผู้ฟ้องคดีจะอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและฟ้องคดีแทนปวงชนชาวไทยได้หรือไม่ ( ดูบทวิจารณ์ ข้อ ๕ และข้อ ๒ ) ; และ (๓) ผู้เขียนยังไม่ได้โต้แย้งเหตุผลสำคัญยิ่ง ที่คณาจารย์ทั้งห้าได้ชี้ให้เห็นว่า ดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อาจจะเสียไปโดยการที่ศาลปกครองกลางในคดีนี้ เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรี (ดูบทวิจารณ์ ข้อ ๗ )
       ผู้เขียนขอเรียนว่า “ความเห็น” ของผู้เขียนส่วนที่สองในหัวข้อ ที่ (๒) นี้ จะครอบคลุม “ประเด็น” ทั้ง ๓ ประเด็นนี้ทั้งหมด และอาจจะมากกว่าที่ท่านผู้วิจารณ์ คาดหมาย
       
       (๓) ความเห็นที่แตกต่างกันใน“สาระสำคัญ” ระหว่างท่านผู้วิจารณ์กับผู้เขียน ; ผู้เขียนขอสรุป”สาระ”ที่เป็นความแตกต่างระหว่างความเห็นของผู้เขียนกับท่านผู้วิจารณ์ ไว้ดังนี้
        ท่านผู้วิจารณ์ กล่าวไว้(ในบทวิจารณ์ ข้อ ๔)ว่า “ ศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA ได้วาง “หลัก”ไว้อย่างถูกต้องแล้ว” และกล่าวใน (ในบทวิจารณ์ ข้อ ๗ )ว่า “ ศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA ได้แสดงให้เห็นเป็น “ตัวอย่าง”ที่ดี การสร้างบรรทัดฐานนั้นจะต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจ ในระบบบริหารภาครัฐ อย่างถ่องแท้ และคำนึงถึงดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรของรัฐ ด้วย ”
       ผู้เขียนเห็นว่า “ ศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA ได้วาง “ หลัก”ที่ไม่(น่าจะ)เป็นบรรทัดฐานได้ เพราะคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด (ที่เขียนไว้ด้วย “ถ้อยคำ” ชัดเจนและไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้) ได้จำกัดเขตอำนาจของศาลปกครองไว้ โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า “การกระทำของรัฐบาล” ได้แก่ การกระทำของ“องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ) ดังนั้น จึงมีผลทำให้การตรวจสอบ“การกระทำทางปกครอง”ของศาลปกครอง ทำได้เฉพาะ“การกระทำทางปกครอง” ที่กระทำโดยองค์กร ที่ต้องไม่ใช่ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” (และไม่ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ) ; คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดนี้ ถ้าถือว่าเป็นบรรทัดฐาน ก็จะทำให้ “การกระทำทางปกครอง – acte administratif” ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ (ที่ไม่ใช่สถาบันทางการเมือง)จำนวนมากหลายองค์กร หลุดพ้นไปจาก “การตรวจสอบ” ของศาลปกครอง และไม่เป็นไปตาม ทฤษฎี acte de gouvernement ของศาลปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว
       ซึ่งในบทความส่วนแรก(หัวข้อที่ (๑))ของผู้เขียน ผู้เขียนได้คัดลอกและนำข้อความในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านแล้ว (ซึ่งเป็นข้อความไม่ยาวนัก เพียงหน้ากระดาษหน้าเดียว) และผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้ให้แล้ว และเพราะเหตุนี้เอง (การที่” ศาลปกครองสูงสุด”เอง ได้จำกัดอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบ acte administratif ) ที่ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถยอมรับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดนี้ ให้เป็นบรรทัดฐานได้ ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดย้อนกลับไปอ่าน “ถ้อยคำ”ในคำสั่งของศาลปกครองสูงสูดดังกล่าวดูอีกครั้งหนึ่ง
       ผู้เขียนได้กล่าวไว้ด้วยว่า ถ้าท่านผู้วิจารณ์และคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้ความเห็นในคำสั่งศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำ ที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ นี้ โดยไม่ต้องอ้าง คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ ( คดี JTEPA) แต่อ้างถึงเฉพาะทฤษฎี acte de gouvernement (ของศาลปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว)เพียงอย่างเดียว ความเห็นของท่านผู้วิจารณ์และคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะดูมีน้ำหนักมากกว่านี้
        ท่านผู้วิจารณ์มีความเห็น (ในบทวิจารณ์ข้อ ๖)ว่า ผู้เขียนไม่ได้ตรวจดูว่า สาระสำคัญใน “คดี JTEPA” ที่ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่า สาระสำคัญของเรื่องไม่ได้แตกต่างกับ“คดีประสาทพระวิหาร” ผู้เขียนขอชี้แจงว่า ผู้เขียนได้ตรวจดูแล้ว และเห็นว่า “สาระสำคัญ”ในสองคดีนี้มีความแตกต่างกัน(ดังจะได้กล่าวต่อไปในบทความนี้)
       และนอกจากนั้น ท่านผู้วิจารณ์ได้ให้ข้อมูลให้ผู้เขียนทราบว่า องค์คณะของตุลาการของศาลปกครองกลางใน “คดี JTEPA” (ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐) กับ องค์คณะใน“คดีประสาทพระวิหาร” (ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑) เป็นองค์คณะเดียวกัน(ตุลาการชุดเดียวกัน) แต่ตัดสินต่างกัน ; ผู้เขียนต้องขอขอบคุณที่ท่านผู้วิจารณ์ได้บอกข้อเท็จจริงนี้ให้ผู้เขียนทราบ ; แต่ถ้าทั้งสองคดีนี้ วินิจฉัยโดยองค์คณะเดียวกัน แต่ตัดสินต่างกัน ผู้เขียนก็ต้องขอชื่นชมกับท่านตุลาการของศาลปกครองกลาง( องค์คณะ)นี้ ที่มองเห็น “ความแตกต่าง”ในข้อเท็จจริงของคดีทั้งสองนี้ได้
       
       (๔) ความแตกต่างของความเห็นฯ ในส่วนที่ไม่ใช่ “สาระสำคัญ” ; โดยที่ท่านผู้วิจารณ์(ในบทวิจารณ์ ข้อ ๒ และข้อ ๓) ได้กล่าวถึงความเห็นของผู้เขียนในประเด็นที่ไม่ใช่ “สาระสำคัญ”ของเรื่อง ใน๒ – ๓ ประเด็น ซึ่งผู้เขียนขอชี้แจงยืนยัน อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
       (๔.๑) ในประการแรก ที่ผู้เขียนเห็นว่า คณาจารย์ทั้ง ๕ ท่านได้ “เติม”ข้อความบางประการลงในสรุปคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีดำที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ (ที่คณาจารย์สรุปเอง) คือได้เพิ่มคำว่า “ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ"ลงไป ซึ่งคำนี้ไม่มีปรากฏอยู่ในคำสั่งของศาลปกครองกลาง; โดยที่ “คำ”คำนี้ เป็นคำสำคัญใน การวิเคราะห์ความเห็นของ (ตุลาการ)ศาลปกครองสูงสุด (ที่ไม่ตรงกับทฤษฎี acte de gouvernement ของศาลปกครองของประเทศพัฒนาแล้ว) ดังนั้น ไม่ว่าคณาจารย์จะมี “ความเข้าใจ”และมีความแน่ใจว่า คำสั่งของศาลปกครองกลางมีความหมายเช่นนี้ (ตามที่ท่านผู้วิจารณ์ได้พยายามอธิบายไว้ในบทวิจารณ์) แต่คณาจารย์ก็คงจะต้องบอกกล่าว(แก่ท่านผู้อ่าน)ในบทความของคณาจารย์ว่า ข้อความที่ “เติม”เข้ามานี้ เป็นความเห็นของท่าน(คณาจารย์)เอง ที่มีความเข้าใจเช่นนั้น แต่คำนี้เป็นคำที่ไม่ปรากฏอยู่ในคำสั่งของศาลปกครองกลาง แต่คณาจารย์ไม่น่าจะเติมข้อความลงไปในการสรุปคำสั่งของศาลปกครองกลาง โดยไม่มีการบอกกล่าวแก่ท่านผู้อ่าน
       (๔.๒) ประการที่สอง ในส่วนที่เกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริง ”ที่ผู้ฟ้องคดีได้อ้างไว้ในคำขอว่า รมว.กระทรวงการต่างประเทศ บิดเบือนข้อเท็จจริงและไม่แสดงฐานะของแถลงการณ์ร่วม ฯลฯ ซึ่งคณาจารย์ไม่ได้กล่าวถึงไว้ในบทความของคณาจารย์ (แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรจะต้องกล่าวถึง) นั้น ท่านผู้วิจารณ์ได้อธิบายว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเพียง “ข้อกล่าวหา”ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งศาลปกครองกลางจะต้องไปตรวจสอบในภายหลัง โดยจะต้องพิจารณาตามขั้นตอนของการพิจารณาคดีว่า ผู้ฟ้องคดีมี “อำนาจฟ้อง”หรือไม่ และผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนไม่ได้สนใจในประเด็นเรื่อง “เขตอำนาจ” ของศาลปกครอง
       ผู้เขียนขอชี้แจงว่า “ข้อเท็จจริง”ดังกล่าว (การบิดเบือนข้อเท็จจริง ของ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ) เป็นข้อเท็จจริงที่ (ตุลาการ)ศาลปกครองกลางได้ยกขึ้นกล่าวในคำสั่ง โดยศาลปกครองกลาง ได้อ้างเป็น “เหตุผล”สำคัญ ส่วนหนึ่งใน “การรับฟ้อง” คดีนี้ของศาลปกครองกลาง (โปรดดูสรุป “สาระสำคัญ”ของคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ผู้เขียนจะสรุปไว้ให้ในบทความในหัวข้อที่ (๒) นี้ ) ดังนั้น ในการวิจารณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ และของท่านผู้วิจารณ์ในประเด็นเรื่อง “การรับฟ้อง”ของศาลปกครองกลาง จึงควรต้องกล่าวถึง “เหตุผล”ในการรับฟ้องของศาลปกครองกลางให้ครบถ้วน ทั้งนี้ไม่ว่าคณาจารย์จะมีความเห็นอย่างใด (จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ) คงมิใช่พิจารณาแต่ “ประเด็น” เรื่องอำนาจฟ้องของผู้ฟ้องคดีเพียงอย่างเดียว
       ผู้เขียนเห็นว่า ความสำคัญประการแรกในการที่นักวิชาการจะตรวจสอบการวินิจฉัยของ (ตุลาการ)ศาลปกครองกลางในการสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวว่า มีความสมบูรณ์ถูกต้องเพียงใด ก็คือ การเก็บ “ข้อเท็จจริง”ให้ครบถ้วนให้มากที่สุด ก่อนที่จะมาชั่งน้ำหนักและใช้ ดุลพินิจในการให้ความเห็นหรือตัดสินใจ (judgment)ในทางวิชาการ ; การวิจารณ์หรือการให้ความเห็น ไม่อาจสมบูรณ์และถูกต้องได้ ถ้าผู้ให้ความเห็น(ทางวิชาการ)พิจารณาและกล่าวถึงเพียงบางประเด็น
       
       สำหรับประเด็นเรื่อง “อำนาจฟ้อง”นี้ เป็นประเด็นสำคัญข้อหนึ่ง ที่ผู้เขียนจะให้ความเห็นในบทความต่อไปนี้ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว แต่ในการตรวจสอบเรื่องอำนาจใน “การรับฟ้อง”ของศาลปกครองกลางนี้ ผู้เขียนขอเรียนมิได้พิจารณาเฉพาะเรื่อง “อำนาจฟ้อง(ของผู้ฟ้องคดี)”เพียงประเด็นเดียว แต่ผู้เขียนได้ตรวจสอบ “เงื่อนไข”เกี่ยวกับ “อำนาจ”ในการรับฟ้องของศาลปกครองในประเด็นอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อำนาจการใช้ดุลพินิจในการตีความ”ของศาลปกครองในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจในการรับฟ้องของศาลปกครอง เช่น อำนาจของศาลปกครองในการตีความ คำว่า “ acte de gouvernement ” เป็นต้น ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วในบทความหัวข้อที่ (๑) ของผู้เขียน (ซึ่งในประเด็นนี้ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท่านผู้วิจารณ์ ไม่ได้กล่าวไว้ในบทความของคณาจารย์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ดังนั้น จึงทำให้ท่านผู้วิจารณ์ ต้องมาขออธิบาย”เพิ่มเติม”ในบทวิจารณ์ ข้อ ๕ ในภายหลังเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม
       ประเด็นนี้(อำนาจของศาลปกครองในการตึความ) ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงต่อไปในบทความนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเรียนให้ท่านผู้วิจารณ์ทราบล่วงหน้าว่า ประเด็นเรื่อง “อำนาจฟ้องของผู้ฟ้องคดี” นี้ จะเป็นประเด็นสุดท้าย ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องนี้ คือ จะมิใช่เป็น “ประเด็นแรก ๆ” ดังเช่นที่ท่านผู้วิจารณ์มีความเห็น(ในบทวิจารณ์ ข้อ ๕) ; และเมื่อท่านผู้วิจารณ์ได้อ่านบทความนี้ต่อไปแล้ว ท่านผู้วิจารณ์ก็จะทราบได้เองว่า เพราะเหตุใด ผู้เขียนจึงจัดประเด็นเรื่อง “อำนาจฟ้องของผู้ฟ้องคดี” ไว้เป็นประเด็นท้าย ๆ (?) และ คงจะทราบได้ว่า ประเด็นเรื่องอะไร ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึง เป็น ประเด็นแรก (?)
       
       (๔.๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับ “คำขอ” ของผู้ฟ้องคดีที่มีความผิดพลาด (โดยมีคำขอของผู้ฟ้องคดีบางข้อ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย ) ซึ่งท่านผู้วิจารณ์เห็นว่า ผู้เขียนให้ความ “ปกป้อง” คำขอของผู้ฟ้องคดี (บทวิจารณ์ ข้อ ๓) และท่านผู้วิจารณ์เห็นว่า การที่ผู้เขียนเขียนให้ความเห็นไว้ว่า “การสั่งการเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง ยังอยู่ในแนวที่ยอมรับได้” นั้น ท่านผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า ศาลปกครองกลางควรจะต้องสั่งเพียง การทุเลาการบังคับตามกฎหรือตามคำสั่งทางปกครอง(ในกรณีนี้ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ มิถุนายน ๒๕๕๐ ) เท่านั้น
        ผู้เขียนขอชี้แจงดังนี้ ในกรณี “คำขอ”ของผู้ฟ้องคดีที่มีความผิดพลาด ผู้เขียนคงไม่ต้องการ “ปกป้อง” ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง (reality) เนื่องจากเราคงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า คนธรรมดาจะรู้หลักกฎหมายและสามารถเขียนคำขอได้โดยถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อประเทศไทยยังเพิ่งพัฒนาระบบศาลปกครองขึ้นมา ; ผู้เขียนเพียงแต่เห็นว่า ถ้าหากคณาจารย์จะวิเคราะห์คำสั่งของ(ตุลาการ)ศาลปกครองกลาง คณาจารย์ก็ไม่ควรเขียนความเห็นในเรื่องข้อบกพร่องของผู้ฟ้องคดีในการเขียนคำขอ ปะปนอยู่กับ การวิจารณ์ “คำสั่ง”ของ (ตุลาการ)ศาลปกครองกลาง และควรจะต้องแยกออกให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ไม่สร้างความเข้าใจผิดให้กับท่านผู้ที่อ่านบทความของคณาจารย์ ว่า กรณีใดเป็นข้อบกพร่องของผู้ใด
       อันที่จริง คำขอของ”ผุ้ฟ้องคดี”ในคดีนี้ ( กรณีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. ๒๕๕๑) กับคำขอของ “ผู้ฟ้องคดี”ในคดี JTEPA (พ.ศ. ๒๕๕๐) มีสภาพไม่ต่างกัน(โปรดย้อนไปดูการสรุปย่อคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ ที่ผู้เขียนได้จัดทำไว้ให้ในบทความส่วนที่หนึ่ง) ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า มาตรฐานความรู้ทั่วไปของผู้ฟ้องคดีไม่ได้พัฒนาขึ้นแต่อย่างใด ; สิ่งที่จะทำให้กฎหมายปกครอง(กฎหมายมหาชน)ของเราพัฒนาไปข้างหน้าได้ ย่อมต้องอาศัย “คุณภาพ”ของคำวินิจฉัยของศาลปกครอง / “คุณภาพ”ของบทความของนักกฎหมายมหาชน / และมาตรฐานของตำราที่ใช้อยู่ในการเรียนการสอน(ระดับปริญญาตรี)ในมหาวิทยาลัยของเรา ; “คำขอของผู้ฟ้องคดี”ไม่ว่าในคดีใด ๆ เป็นแต่เพียงสิ่งที่สะท้อน ความจริง จากคุณภาพและมาตรฐานในสิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น ; ถ้ามาตรฐานของสิ่งที่กล่าวมาแล้ว ไม่ได้สอนหรือไม่ได้ให้ความรู้แก่ “ผู้ฟ้องคดี” ; คุณภาพของ “คำขอ”ของผู้ฟ้องคดี ก็จะพัฒนาขึ้นไม่ได้
        ในประเด็นที่เกี่ยวกับ “ความเห็น”ของผู้เขียนที่เขียนให้ความเห็นไว้ว่า คำสั่งของศาลปกครองกลาง (ที่กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราว)ว่า “ยังอยู่ในแนวที่ยอมรับได้” ; การที่ผู้เขียนใช้ “ถ้อยคำ”ดังกล่าว ย่อมหมายความว่า ผู้เขียนเห็นว่า คำสั่งนี้ เป็น “คำสั่ง”ที่สามารถทำให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย(ของศาลปกครองกลาง) ได้ และเป็นคำสั่งที่มีพื้นฐานตามกฎหมายพอสมควร ; ผู้เขียนขอเรียนว่า การที่ผู้เขียนมีความเห็นว่า คำสั่งของศาลปกครองกลาง”ยังอยู่ในแนวที่ยอมรับได้” ก็เพราะผู้เขียนได้อ่านและวิเคราะห์คำสั่งนี้ไว้แล้ว ซึ่งท่านผู้อ่านจะอ่านดูได้จาก “การสรุปย่อ” คำสั่งของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ ที่ผู้เขียนจะจัดทำไว้ให้ในบทความส่วนนี้ที่จะกล่าวต่อไป (โดยท่านผู้อ่านจะสามารถเปรียบเทียบการเขียนคำสั่งของศาลปกครองกลางนี้ กับการเขียนคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ คดี JTEPA ที่ผู้เขียนได้สรุปย่อไว้ให้ท่านแล้วในบทความส่วนแรก หัวข้อ ที่ (๑) นี้ได้ ) ; ส่วนการที่เราจะพัฒนาระบบของศาลปกครองต่อไปว่า คำสั่งควรจะอยู่ในรูปแบบใด และจะสั่งประการใดได้บ้าง และจะมีสภาพบังคับได้อย่างไร คงเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าที่จะพูดกันในที่นี้
       
       ในประการสุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากจะขอเรียนว่า บทความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ มิใช่เป็นบทความที่เป็น “ปฏิกิริยา”ต่อผู้ใด แต่เป็นบทความที่ประสงค์จะให้ “ความรู้” และให้ “ความเห็น”ของผู้เขียนแก่วงการวิชาการและแก่สังคมไทย ถ้านักวิชาการท่านใดอ่านบทความของผู้เขียนแล้ว และท่านคิดว่าท่าน(นักวิชาการ)มีความรู้มากกว่าผู้เขียน ท่านก็คงเสียเวลาอ่านไปบ้างโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าท่าน(นักวิชาการ) อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มเติม ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับตัวท่านเอง ในการที่จะค้นคว้าและศึกษาต่อไป
       แต่สิ่งที่ “สังคมไทย”จะต้องทำ เพื่อที่จะออกจากวงจรแห่งความเสื่อม (vicious circle)ทางการเมือง คือ การรู้จักตนเอง โดยสังคมไทยจะต้องรู้ว่า “วงการวิชาการ”ของตนเองนั้น มีความรู้อยู่ในระดับใด ( เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว) เพราะตามความเห็นของผู้เขียน เวลาที่เรา(สังคมไทย)มีสำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้นมีจำกัดและเหลือเวลาอีกไม่มากนัก และ หากล่วงเลยเวลานั้นไปแล้ว ประเทศไทยอาจเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต และด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ผู้เขียนต้องมาเขียนบทความ(ทั้งยาวและสั้น)เพื่อประเมินสภาพวิชาการทางกฎหมายของนักวิชาการของเราอย่างตรงไปตรงมา เพื่อปลุกให้สังคมไทยตื่น และรู้จักตนเอง เพราะเราอาจไม่มีโอกาสเป็นศรีธนญชัยได้อีกนานนัก หลังจากที่ฟ้าเปลี่ยนสี (ตามที่นักการเมืองบางคนได้กล่าวไว้)
       
       (ต่อจากนี้ไป ผู้เขียนจะได้เขียนบทความ ส่วนที่สองของผู้เขียนต่อไป)
       
       ผู้เขียนขอเรียนต่อท่านผู้อ่านว่า หัวข้อที่ (๑) ซึ่งเป็นส่วนแรกของบทความนี้และได้พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ซึ่ง มีความยาวประมณกว่า ๓๐ หน้าเศษ นั้น ผู้เขียนมีความมุ่งหมายที่จะให้ “ความเห็น” ใน ๒ประการ คือ ประการแรก ผู้เขียนมีความเห็นว่า คำสั่งของ(ตุลาการ)ศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ มิใช่ ทฤษฎี acte de gouvernement ของศาลปกครองของต่างประเทศ (ไม่ว่าจะเป็น ประเทศฝรั่งเศส / เยอรมันนี / อังกฤษ / หรือสหรัฐอเมริกา) แต่เป็นการพยายามของ(ตุลาการ)ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว ที่จะสร้างหลักการหรือทฤษฎีใหม่ ว่าด้วย “ การกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ - act of constitutional organizations” (ซึ่ง ตามความเห็นของผู้เขียน เป็น “หลักการ” ที่มิได้ทำให้ระบบกฎหมายมหาชนและมาตรฐานการบริหารประเทศของประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า และ ดูจะ “ย้อนหลัง”ไปจากทฤษฎี acte de gouvernement ของต่างประเทศในหลายประการ และประการที่สอง ผู้เขียนตั้งใจให้เป็นข้อสังเกตแก่ท่านผู้อ่านว่า ผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจมากที่พบว่า “นักกฎหมายมหาชนที่ดีที่สุด” ของเราจำนวนหนึ่ง ไม่ได้สังเกตเห็น ความแตกต่างระหว่างการให้เหตุผลและหลักการ ตาม“ ตำรากฎหมายปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว ว่าด้วยทฤษฎี acte de gouvernement ” กับ การให้ เหตุผลและหลักการที่(ตุลาการ)ศาลปกครองสูงสุดได้เขียนไว้ในคำสั่งของ(ตุลาการ)ศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ ดังนั้น จึงทำให้นักกฎหมายมหาชนเหล่านี้ อ้างอิงคำสั่งของ(ตุลาการ)ศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ ในฐานะที่ เป็นคำวินิจฉัยที่เป็น “บรรทัดฐาน” ว่าด้วยทฤษฎี acte de gouvernement ของประเทศไทย
       
       การที่นักกฎหมายมหาชนที่ดีที่สุดของประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถสังเกตเห็น “ความแตกต่างฯ”ในกรณีนี้ หลาย ๆ ท่าน อาจดูเหมือนว่า ไม่มีความสำคัญประการใด เพราะเป็นเรื่องของ “ความเห็น” ซึ่งนักวิชาการต่างคนต่างมี “ความเห็น” แตกต่างกันได้ และนักวิชาการย่อมมีความเป็นอิสระในทางวิชาการ และดังนั้น ความ เห็นแตกต่างกันของนักวิชาการ จึงเป็นเรื่องปกติ
       แต่สำหรับผู้เขียน(ซึ่งสนใจและกำลังทำการประเมินสภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย) ผู้เขียนเห็นว่า การไม่สามารถสังเกตเห็น”ความแตกต่าง”นี้ เป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่เป็นเงื่อนไข(ขั้นพื้นฐาน)ที่แสดงให้เห็นถึง “ความสามารถในการวิเคราะห์ และการทำการวิจัย(ทางกฎหมาย) ” ของนักกฎหมายมหาชนและของนักวิชาการของเรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้เขียนถือว่า ความไม่สามารถในการสังเกตเห็นความแตกต่างในประเด็นกฎหมาย (ที่ควรจะต้องเห็น)นี้ เป็น KPI หรือ “ ตัวชี้วัด” ที่แสดงให้เห็นถึงระดับความสามารถ (ใน การวิเคราะห์ และการทำงานวิจัย ของนักกฎหมาย ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีนี้ เป็น “เหตุบังเอิญ” ที่นักกฎหมายมหาชนที่ดีที่สุดของเรา หลายท่านและพร้อม ๆ กัน มีความเห็นตรงกัน (คือ สังเกตไม่เห็นความแตกต่างของการให้เหตุผล ) ; ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ ทำให้ผู้เขียน มีความรู้สึกกังวล และคิดว่า นักกฎหมายไทย (อาจ) มีจุดอ่อนใน “วิธีคิด - methodology of thinking” และ(อาจ)ขาดการศึกษาในด้าน “นิติปรัชญา ”แห่งยุคศวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยการกำหนดจุดหมายและเจตนารมณ์ของ “กฎหมาย”ในยุคปัจจุบัน [โปรดดู วิวัฒนาการของ “นิติปรัชญา”หลังจาก ยุคของ มองเตสกีเออฯ ( ๑๖๘๙ – ๑๗๕๕) ใน “บทความ”ขนาดยาวของผู้เขียน เรื่อง สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย ฯ ]
       “ความสามารถในการทำงานวิจัย (ทางกฎหมาย) ” (ที่ต่างระดับกับนักกฎหมายมหาชนของประเทศที่พัฒนาแล้ว)นี้ คงจะมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในกรณีคดีปราสาทพระวิหารนี้เท่านั้น แต่จะปรากฏให้เห็นได้จาก “มาตรฐาน”ของ เอกสารวิจัยทางกฎหมายและในการให้คำปรึกษาและความเห็นทางกฎหมายโดยทั่ว ๆ ไปของนักกฎหมายไทย ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดแจ้ง เมื่อนำเอกสารวิจัยและความเห็นทางกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วมาเปรียบเทียบกัน ; และด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราสามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใด นักกฎหมายของเราจำนวนมากจึงได้กลายเป็น นักกฎหมายประเภท “ศรีธนญชัย” ที่เล่นถ้อยเล่นคำ โดยไม่มีจุดหมาย ที่เป็น เจตนารมณ์ของกฎหมาย
       ผู้เขียนต้องขอเรียนย้ำว่า ถ้าหากประเทศไทยไม่สามารถ ยก “ระดับมาตรฐาน”ของวงการกฎหมายของเรา ให้เร็วที่สุด ประเทศไทยจะมีปัญหาอย่างยิ่งใน “การพัฒนาการบริหารประเทศ” และสิ่งนี้เป็น “เหตุ”ที่ทำให้ผู้เขียนยังต้องมาเขียน “บทความ”ให้ท่านผู้อ่านได้อ่าน จนถึงขณะนี้
       

       
       ในหัวข้อที่ (๒)นี้ จะเป็นความเห็นของผู้เขียน โดยผู้เขียนกำหนดชื่อหัวข้อไว้ว่า “ สมมติว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคดีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารนี้ เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว “ ศาลปกครอง(ของประเทศที่พัฒนาแล้ว)” จะรับคดีพิพาทนี้ไว้พิจารณาพิพากษา หรือไม่ ฯลฯ” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือว่า ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะให้ “ความเห็น” ว่า ถ้าเราจะนำ(apply) ทฤษฎีว่าด้วย acte de gouvernement ของศาลปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว (โดยไม่อ้างอิงคำสั่งของ(ตุลาการ)ศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐) มาปรับใช้ในกรณีคดีพิพาทปราสาทพระวิหารแล้ว จะเกิดผลอย่างไรกับระบบบริหารของประเทศไทย จะมีความแตกต่างกัน(ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศไทย) หรือไม่
       ในหัวข้อที่ (๒)นี้ ผู้เขียนจะมี “บทนำ ” เกี่ยวกับสภาพการเมืองและสภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชน(อย่างสั้น ๆ) และ ต่อจากนั้น ผู้เขียนจะให้ความเห็นโดยแยกเป็นหัวข้อย่อย ๔ ตอน คือ (๒.๑) ว่าด้วย ความทั่วไป (วิวัฒนาการของกฎหมายมหาชน) ; (๒.๒) ว่าด้วย แนวทางในการพัฒนากฎหมายปกครอง(กฎหมายมหาชน)ในประเทศไทย ; (๒.๓) ว่าด้วย กรณีสมมตว่า ถ้าข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคดีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารนี้ เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว “ ศาลปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว” จะรับคดีพิพาทนี้ไว้พิจารณาพิพากษา หรือไม่ และถ้าศาลปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้วจะรับคดีพิพาทนี้ไว้พิจารณา เขาจะอธิบายด้วยเหตุผลอย่างใด ; และข้อสุดท้าย (๒.๔) ว่าด้วย ถ้าเราจะพัฒนากฎหมายปกครอง(กฎหมายมหาชน)ของเราไปข้างหน้า เราควรจะต้องทำประการใด
       
       บทนำ ว่าด้วย “สภาพการเมือง” และ “สภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชน”
       ขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นมีการยึดทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม และมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่สนันสนุนรัฐบาล กับ กลุ่มพันธมิตรประชาชน จนกระทั่งมีการเสียชีวิต และได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในกรุงเทพมหานคร( ๒ กันยายน) และดูเหมือนว่า เรา(คนไทย)ยังไม่สามารถทราบได้ว่า สถานการณ์และความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศ จะสิ้นสุดลงอย่างไร
       ผู้เขียนคิดว่า ถ้าผู้เขียนจะเปลี่ยนแนวการเขียน “บทนำ”บทนี้ ซึ่งเดิมผู้เขียนตั้งใจจะเขียนอย่างสั้น ๆ โดยจะเขียนให้ยาวขึ้นสักหน่อย และให้มี “สาระ”ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง และนำ “แนวความคิด - concept” ในการแก้ปัญหาของประเทศ ที่ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ(ในบทความขนาดยาวที่ค้างอยู่) มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบไว้อย่างย่อ ๆ ; บางที “บทนำ”นี้ อาจมีประโยชน์ที่ทำให้เรา (คนไทย) “มอง”ปัญหาบ้านเมืองได้ไกลขึ้นและ “คิด”ได้กว้างขึ้น และอาจจะมองเห็น “ทางออก” ที่จะใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ได้ ไม่มากก็น้อย
       ผู้เขียนขอเรียนว่า สิ่งที่ผู้เขียนกลัวมากที่สุดและกลัวมานานแล้ว ก็คือ วงการวิชาการทางกฎหมายของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย จะเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนไทยหลงวนเวียนอยู่ใน “วงจรแห่งความเสื่อม - vicious circle” นี้เสียเอง และสำหรับผู้เขียน สภาพวิชาการทางกฎหมายของเรา ดูจะชัดเจนว่า นักกฎหมายไทยไม่อยู่ในระดับที่สามารถจะเสนอ “วิถีทาง” เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองให้แก่สังคมไทยได้
       
       ขั้นตอน ในการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทย
       “ขั้นตอน” ในการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้(เ ดือน กันยายน) ผู้เขียนคิดว่า น่า จะมี ๓ ขั้นตอน คือ (๑) เราต้องรู้ “สาเหตุ” แห่งปัญหา ; (๒) เราต้องรู้ “จุดหมาย”ของการแก้ปัญหา และ ; (๓) เราต้องรู้ “วิธีการ”ที่จะไปสู่ “จุดหมาย”
       
       ขั้นตอนที่ (๑) เราต้องรู้ “สาเหตุ” แห่งปัญหา
       
ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนแรกของส่วนที่สองนี้ว่า ท่านผู้วิจารณ์(รศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์) อาจไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ประเด็นเรื่องอะไร ที่ผู้เขียนจะนำมาพูดเป็น “หัวข้อแรก” ของบทความส่วนที่สองนี้ อันที่จริง ผู้เขียนคิด “เรื่อง” ที่ผู้เขียนจะเขียนไว้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อหัวข้อนี้ ว่าอย่างไรดี และกำลังจะจนปัญญา แต่บังเอิญได้มาอ่านบทวิจารณ์ของท่านผู้วิจารณ์(รศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์) ก็เลยคิดได้
       
       • ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ
       

       “คำ” คำนี้ ผู้เขียนขอยืมมาจากบทความของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (๕ ท่าน) และท่านผู้วิจารณ์(รศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์)นั่นเอง โดยผู้เขียนถือว่า เป็น “ประเด็น”สำคัญ ที่ผู้เขียนเห็นว่า ถ้านักกฎหมายและนักวิชาการมิได้ทำ “ความเข้าใจ”ในประเด็นนี้แล้ว เรา(คนไทย)จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของเราได้ อย่างแน่นอน
       ชื่อ “หัวข้อ”นี้ เป็นชื่อที่ผู้เขียนถูกใจมากที่สุด เพราะเป็น “ชื่อ”ที่สื่อความหมายในเรื่องที่วงการกฎหมายสนใจ และผู้เขียนต้องขอขอบคุณท่านผู้วิจารณ์ด้วยความจริงใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย
       ความจริง ผู้เขียนเองไม่ค่อยชอบ คำว่า “อำนาจอธิปไตย แบ่งเป็น ๓ อำนาจ” (อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ) หรือคำที่คล้ายคลึงกัน มากนัก เพราะผู้เขียนเห็นว่า เป็นคำที่ใช้พูดกันในยุโรปมานาน ๒๐๐ - ๓๐๐ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคการปรับเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีสภาผู้แทนราษฎร ที่มีสมาชิกเป็นผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ; ในการเขียนบทความต่างๆ ของผู้เขียนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาทางการเมือง ผู้เขียนจะพิจารณาดูที่ “ระบบสถาบันการเมือง - form of government”เป็นหลัก (ไม่ใช่พิจารณา ดูจากหลักเรื่อง “การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย” ของมองเตสกีเออ ) เพราะตามความเป็นจริงในยุคศตวรรษที่ ๒๐นี้ สถาบันทางการเมือง เพียง ๒ สถาบันเท่านั้น คือ รัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นสถาบันที่ใช้ “อำนาจสูงสุดของรัฐ” แทนประชาชน โดยสถาบันทางการเมืองสองสถาบันนี้จะมีอำนาจบริหารและมีอำนาจในการตรากฎหมาย รวมทั้งอำนาจในการแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการจัดตั้ง “องค์กรตุลาการ” ด้วย ดังนั้น ตามความเป็นจริง (reality) หลักการการถ่วงดุลอำนาจของ ๓ อำนาจ(หรือ ๓ องค์กร) จึงไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพของสังคมของแต่ละประเทศ
       
       คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท่านผู้วิจารณ์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ (บทวิจารณ์ ข้อ ๗)ว่า ผู้เขียนไม่ได้โต้แย้ง “เหตุผลอันสำคัญยิ่ง” ที่คณาจารย์ทั้งห้าได้ชี้ให้เห็นว่า “ดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ อาจจะต้องเสียไปโดยการที่ศาลปกครองกลางในคดีนี้ เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรี ทำให้ศาลปกครองโดยองค์คณะ ๓ คน กลายเป็นผู้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรีแม้ในงานที่เป็นเรื่องนโยบาย ฯลฯ” และ ท่านผู้วิจารณ์ได้กล่าวต่อไปว่า “การสร้างบรรทัดฐาน(ของศาลปกครอง)นั้น จะต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจในระบบการบริหารภาครัฐอย่างถ่องแท้ และคำนึงถึงดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรของรัฐ ด้วย ฯลฯ “
       ดังนั้น ในหัวข้อแรก (บทนำ)นี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจในระบบการบริหารภาครัฐอย่างถ่องแท้ ผู้เขียนขอพิจารณาถึงปัญหาว่าด้วย “ดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรของรัฐ “ ที่เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งก่อน ; ส่วนประเด็นเรื่องบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองว่า ควรจะมีเพียงได ผู้เขียนจะไปกล่าวในข้อหลัง ๆ ที่ว่าด้วย “เนื้อหา”ของ คำสั่งของศาลปกครองกลาง ในคดีดำหมายเลขที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ ต่อไป
       
       • ปัญหาสำคัญ มีอยู่ว่า “ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ” ที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง นั้น มีอยู่จริง (reality) ในประเทศไทย (หรือไม่) ? ? ?
       

       เพื่อที่จะตอบปัญหาสำคัญนี้ ผู้เขียนขอขึ้นต้นด้วย “คำถาม”ที่ขอให้ท่านผู้อ่านตอบแก่ตนเอง ว่า ทำไมประเทศไทย จึงมี “รัฐบาลหุ่นเชิด” หรือ “รัฐบาลโนมินี” ซึ่งประเทศอื่นไม่มี ; และ “รัฐบาลหุ่นเชิด” หรือ “รัฐบาลโนมินี” เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไม ในประเทศอื่นจึงไม่เกิด
       เพราะเหตุใด อดีตนักการเมืองที่อยู่นอกประเทศ จึงสามารถมีอิทธิพลเหนือนักการเมืองที่เป็น ส.ส.และ เป็นรัฐมนตรีที่(กำลัง)ดำรงตำแหน่งและมีอำนาจอยู่ในประเทศได้ / เพราะเหตุใด อดีตนักการเมืองที่อยู่นอกประเทศ จึงสามารถสั่งการแก่นักการเมืองเหล่านี้ได้ / และเพราะเหตุใด อดีตนักการเมืองที่อยู่นอกประเทศ สามารถทำให้นักการเมืองเหล่านี้ใช้อำนาจรัฐ เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเอง(อดีตนักการเมือง)ได้
       
       คำตอบสำหรับปัญหาดังกล่าว คงมีเพียงคำตอบเดียว คือ อำนาจของอดีตนักการเมืองนี้ มาจากอิทธิพลทางการเงิน ; การที่อดีตนักการเมืองที่อยู่นอกประเทศ สามารถมีอำนาจเหนือนักการเมืองที่เป็น ส.ส.และรัฐมนตรีที่อยุ่ในประเทศได้ ก็เพราะบุคคลหล่านี้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. และเป็นรัฐมนตรีได้ ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินจากอดีตนักการเมืองซึ่งเป็นนายทุนของพรรคการเมือง และแม้แต่ในขณะนี้ บุคคลเหล่านี้ก็ยังอาจได้รับเงินช่วยเหลือเฉพาะตัวเป็นรายเดือนจากอดีตนักการเมือง (อย่างที่สื่อมวลชนเรียกว่า “ท่อน้ำเลี้ยง”)อยู่ก็ได้ หรืออาจได้รับเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและพรรคพวกก็ได้
       คำตอบยังคงเป็นคำตอบเดียวกัน สำหรับคำถามต่อไปที่ว่า ทำไม ตำแหน่งรัฐมนตรีของประเทศไทย จึงแบ่งกันตามโควตาของกลุ่มนักการเมืองที่เป็นนายทุนของพรรคการเมือง / ทำไม ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะทำผิดกฎหมาย จึงสามารถกำหนดตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนตนเองได้ / และ ทำไม นักการเมืองที่ไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยตนเอง จึงสามารถนำเอาตำแหน่งของตนไปให้แก่ภริยาและบุตรได้
       
       สิ่งที่ผู้เขียนสนใจในทางวิชาการ ก็คือ ผู้เขียนไม่ทราบว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์( ๕ ท่าน) และท่านผู้วิจารณ์ ในฐานะที่เป็น “นักวิชาการ”ของสังคมไทย ได้เคย “คิด”ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ให้คนไทย บ้างหรือไม่ ว่า ทำไม “เงิน”จึงสามารถมีอิทธิเหนือนักการเมืองของไทยได้ ถึงขนาดนี้ / ทำไม นายทุน (ไม่ว่าจะนายทุนคนเดียวหรือหลายคน) จึงมารวมทุนกัน ตั้ง “พรรคการเมือง” และออกค่าใช้จ่าย ให้แก่ “ผู้สมัตรรับเลือกตั้ง”อื่น จำนวนมาก เพื่อให้พรรคการเมืองของตนมี ส.ส.มาก ๆ และควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และ เป็น “รัฐบาล”
       คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และท่านผู้วิจารย์(ร.ศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์) เชื่อหรือไม่ว่า บรรดานายทุนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่เสียสละ ยอมเสียเงินเสียทองตั้ง “พรรคการเมือง” และออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่น เพื่อให้ตนเอง(นายทุน)ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี พื่อทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม โดยไม่คิดที่จะมาแสวงหากำไร
       
       • “พรรคการเมือง” เป็น สถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ สำหรับผู้เขียน สำหรับคำถามที่ว่า ทำไม นายทุนจึงมารวมทุนกัน ตั้ง “พรรคการเมือง” นั้น มี“คำตอบ” ที่ชัดเจนว่า การที่บรรดานายทุนแต่ละกลุ่ม(ทั้งนายทุนท้องถิ่นและนายทุนระดับชาติ)รวมทุนกันจัดตั้ง “พรรคการเมือง”ขึ้นมา ก็เพื่อเข้ามา ผูกขาดอำนาจรัฐ ใน“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ที่รัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้ให้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ ( ตามที่ผู้เขียนได้อธิบายรายละเอียดมาแล้วในบทความก่อน ๆของผู้เขียน )
       รัฐธรรมนูญไทย ได้สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ในระบบรัฐสภา(parliamentary system)ขึ้น โดยบัญญัติให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้ “พรรคการเมือง” มีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ได้ / และกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น (คือหัวหน้าพรรคการเมือง) และ โดยที่หลักเกณฑ์ในระบบรัฐสภา มีอยู่ว่า พรรคการเมืองใด(พรรคเดียวหรือหลายพรรครวมกัน)คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองนั้นจะได้เป็นรัฐบาล(คณะรัฐมนตรี)ด้วย ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของไทย ได้สร้างให้ “พรรคการเมือง” เป็นสถาบันการเมือง ที่เป็น super organ คือ เป็น สถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ โดยมีอำนาจครอบงำทั้ง(สถาบัน)สภาผู้แทนราษฎรและ(สถาบัน) ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล
       
       ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ตามความเป็นจริงและตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดุลยภาพแห่งอำนาจ ระหว่าง “องค์กรนิติบัญญัติ” กับ “องค์กรบริหาร” จึงไม่มี เนื่องจากสถาบันทั้งสองนี้ ถูกครอบงำโดยอำนาจของ “พรรคการเมือง”
       

       ผู้เขียนได้เคยเปรียบเทียบไว้ในบทความก่อน ๆ ของผู้เขียนว่า การที่รัฐธรรมนูญของเรากำหนดให้ “พรรคการเมือง”มีอำนาจผูกขาดการใช้อำนาจรัฐตามที่กล่าวมาแล้ว เปรียบเสมือนเอา “ปลาย่าง”ไปแขวนไว้ เพื่อให้บรรดานายทุนรวมทุนกันตั้ง “พรรคการเมือง”และส่งคนสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ(ในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาล) และแสวงหากำไรโดยมิชอบ (จากการร่วมลงทุนจัดตั้งพรรคการเมือง) โดยการบิดเบือนอำนาจรัฐ(จากเจตนารมณ์ของการปกครอง)และทำการทุจริตคอร์รัปชั่น
       รัฐธรรมนูญไทย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” และด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไม ในประเทศอื่น จึงไม่มี “รัฐบาลหุ่นเชิด” หรือ “รัฐบาลโนมินี” / ทำไม ประเทศอื่น จึงไม่มีการแบ่งโควตาจำนวนตำแหน่งรัฐมนตรีในระหว่างนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง / ทำไม นักการเมืองของประเทศอื่น จึงเอาตำแหน่งรัฐมนตรีของตนไปให้แก่ภริยาหรือบุตร ไม่ได้ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ประเทศอื่น( เขา)ไม่มีรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และ ฯลฯ เหมือนกับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย นั่นเอง
       รัฐธรรมนูญของไทย จึงเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ไช่ “ระบอบประชาธิปไตย” เพราะ ในหลักการของระบอบประชาธิปไตย ส.ส.จะต้องมีอิสระในการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ตามมโนธรรมของตน โดยไม่อยู่ภายไต้อาณัติมอบหมายใด ๆ
       
       • “ ใคร” เป็นคนสร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ไว้ในรัฐธรรมนูญไทย
       “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. พ.ศ. ๒๕๓๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕) และเป็นระบบที่ใช้ อยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐
       อันที่จริง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” มิได้เกิดขึ้นสมบูรณ์แบบในวันเดียว แต่เป็นระบบที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วย “ความไม่รอบรู้”ของวงการวิชาการไทย ที่คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ นักกฎหมายและนักวิชาการ (นักรัฐศาสตร์)ในยุคนั้น อยากจะให้เอาใจและให้ “บริการ” แก่รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ด้วยการสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล ด้วยการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง
       “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” มาสมบูรณ์แบบในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยการ “เพิ่ม” บทบัญญัติลงไปว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ทำให้บรรดานายทุนพรรคการเมืองสามารถลงทุนในพรรคการเมืองได้ โดยมีความแน่ใจว่า จะไม่มี “บุคคลภายนอก”มาแย่งเป็นนายกรัฐมนตรี [ หมายเหตุ โปรดดู ที่มาและวิวัฒนาการของระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองของไทย ได้จากบทความขนาดยาวเรื่อง “ สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒” ของผู้เขียน ที่กล่าวมาแล้ว]
       ผู้ที่สร้าง“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ได้แก่ นายทุนธุรกิจในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของ “ทุน”ของพรรคการเมืองในระยะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๕) โดยหวังที่จะใช้การเลือกตั้ง( ภายไต้สภาพสังคมไทย ที่มีความอ่อนแอและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และแสวงหาประโยชน์แบ่งปันในระหว่าง “พรรคการเมือง”ของนายทุนระดับท้องถิ่นด้วยกัน
       แต่โอกาสของนายทุนธุรกิจในระดับท้องถิ่น” มีอยู่เพียงจนถึง พ.ศ. ๒๕๔๒ เท่านั้น เพราะหลังจากนั้น นายทุนธุรกิจระดับชาติ ได้มองเห็นการใช้ประโยชน์จาก “กลไกการผูกขาดอำนาจรัฐ” (ที่นายทุนธุรกิจในระดับท้องถิ่น ได้สร้างไว้เพื่อตนเอง) ; นายทุนธุรกิจระดับชาติ ได้เข้ามาจัดตั้ง “พรรคการเมือง”ด้วยจำนวนทุนที่มากกว่าและด้วยอิทธิพลที่เหนือกว่า โดยสามารถซื้อทั้ง “คน”และซื้อทั้ง “พรรค (ของนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่น)” และ เอาชนะการเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ และปี พ.ศ. ๒๕๔๖
       ในช่วงระยะหลังจากนั้น คือ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึง ปัจจุบัน (ยกเว้น ช่วงระยะเวลาหนึ่งปีของการรัฐประหารโดยนักการเมืองสมัครเล่น ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๐) “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ตามรัฐธรรมนูญของไทย ก็เปลี่ยนจากการผูกขาดอำนาจรัฐโดย พรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่นสองสามพรรครวมกัน(ผูกขาด) มาเป็น การผูกขาดอำนาจรัฐโดย พรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติเพียงพรรคเดียว
       การทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของส่วนรวมโดยมิชอบ โดยนักการเมือง (นายทุนธุรกิจ)ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็มากขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นกระทำการกันอย่างมโหฬารและไม่ละอาย (เนื่องจากเชื่อมั่นว่าพรรคการเมืองของตนสามารถควบคุม “ กลไกของรัฐ”ได้โดยเด็ดขาด) รวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ด้วยการตรา“กฎหมาย(พระราชบัญญัติ)”โดยใช้สภาผู้แทนราษฎร (ที่พรรคการเมืองของตนเองคุมเสียงข้างมาก) เป็น “เครื่องมือ”ในการคอร์รัปชั่น ที่เรียกกันว่า คอร์รัปชั่นทางนโยบาย
       
       สำหรับผู้เขียน สิ่งที่น่าสังเกตและน่าสนใจในทางวิชาการ ก็คือ บรรดานายทุน (ทั้งนายทุนระดับชาติและนายทุนท้องถิ่น) ประสบความสำเร็จในการชักชวนให้นักกฎหมายและนักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเรา เห็นว่า ““ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ตามรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของไทย เป็นระบอบประชาธิปไตย
       บรรดานายทุนเจ้าของพรรคการเมือง สามารถทำให้คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ช่วยนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) “หลอก”คนไทยทั้งประเทศได้ว่า ประเทศไทย เป็น“ประชาธิปไตย” ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่มี “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ”
       
       คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเรา ไม่มีความสามารถในทางวิชาการพอ ที่จะสังเกต เห็น ความแตกต่าง ร ะหว่างรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของไทย ที่มีบทบัญญํติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. / จำกัดให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น กับรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ไม่มีบทบัญญํติเหล่านี้
       คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเรา มองไม่เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้น “พรรคการเมือง” เป็น สถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด ที่ครอบงำอยู่เหนือสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล
       ใน “บทความ” เมื่อ วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ( ซึ่งเป็นเวลา ๑๖ ปีหลังจาก รธน. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕) เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๕ และท่านผู้วิจารณ์ ยังเชื่อมั่นว่า “รัฐธรรมนูญของไทย ยังมี “ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ”
       
       • มาตรฐานการสอน “ระบอบประชาธิปไตย” โคย คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของไทย (ไม่จำกัดเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
       
ผู้เขียนขอนำ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ (ฉบับที่สอง) คือ กว่า ๗๕ ปีมาแล้ว มาให้ท่านผู้อ่านและคนไทยได้อ่านดูเล่น ๆ สักนิด มาตรา ๒๐ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย มิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตั้งตนขึ้นมา ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ”
       ผู้เขียนลอกมาตรานี้มาลงไว้ในบทความนี้ เพื่อเตือน “ความทรงจำ”ให้แก่คณะจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๕ ท่าน) และท่านผู้วิจารณ์ ( รศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์)ของเรา ที่อาจจะ “ลืม” บทบัญญัติมาตรานี้
       ถ้าจะพิจารณาดูตัวบท รัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันสำหรับท่านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ของเราที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ ผู้เขียนก็ขอยกตัวอย่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่างประเทศสัก ๒ - ๓ ประเทศมาให้ท่านผู้อ่านดูเป็นตัวอย่าง คือ (๑) รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนี (ประเทศที่ท่านผู้วิจารณ์ไปศึกษาปริญญาเอก) มาตรา ๓๘ (๑) บัญญํติว่า “the Member of the German Bundestag shall be elected in general, direct, equal and secret elections. They shall be representatives of the whole people ; they shall not be bound by any instructions, only by their conscience.” ; (๒) รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส (ประเทศที่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายท่านไปศึกษามา) มาตรา ๒๗ บัญญัติว่า “ Any binding instruction is void , the right to vote of members is personal “; และขอ เพิ่มให้อีกหนึ่งประเทศ คือ (๓) รัฐธรรมนูญของประเทศเดนมาร์ก มาตรา ๕๖ บัญญัติว่า “ The Members of the Folketing shall be bound soly by their own consciences and not by any directions given by their electors”
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเยอรมัน (มาตรา ๓๘) และ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส (มาตรา ๒๗) วาง “หลักการ”ของความเป็นประชาธิปไตย ที่ตรงกันข้าม กับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของไทย ๓ มาตรา (การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส พ้นการสมาชิกภาพของ ส.ส. / จำกัดให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น) ซึ่งสร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง ”
       
       ปัญหาที่ผู้เขียนถามตัวเองอยู่ในใจว่า ท่านคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเรา ทราบหรือไม่ ว่า หลักการของความเป็นประชาธิปไตย( อันสำคัญยิ่ง)ของประเทศเหล่านั้น คือ ส.ส.จะต้องมีความอิสระในการปฏิหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตนเอง และจะต้องไม่ถูกผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ ทั้งนี้ โดยจะไม่พูดถึง “สิทธิเสรีภาพ” ของบุคคลในการเลือกสังกัดพรรคการเมืองและสมาคม ; ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ท่านคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเรา ทราบหรือไม่ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเราที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และให้พรรคการเมืองมีอำนาจไล่ ส.ส.ให้พ้นจากสมาชิกภาพของส.ส.ในกรณีที่ ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามมติพรรคนั้น เป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง ” และ รัฐธรรมนูญของเราในปัจจุบันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็น “ประชาธิปไตย”
       ดูเหมือนว่า มาตรฐาน“ ความเป็นประชาธิปไตย” ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของไทย เปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่ตัวบรัฐธรรมนูญจะเขียน ; รัฐธรรมนูญเขียนมาว่าอย่างไร ก็สอน “นักศึกษา(ทั้งประเทศ)” กันไปอย่างนั้น ไม่มีหลักการอะไรที่เป็นสากล ; และ นี่ คือ สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย
       
       โปรดดูการแปลี่ยนแปลงของตัวบทรัฐธรรมนูญของไทย ดังนี้ ประเทศไทย ยึด “หลักสากลของความเป็นประชาธิปไตย” (คือ ส.ส. มีความอิสระในการปฏิหน้าที่ได้ตามมโนธรรม และ ไม่ถูกผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ รวมทั้งสิ้น เป็นเวลา ๔๒ ปี ดังที่ปรากฎใน รธน. พ.ศ. ๒๔๗๕ (มาตรา ๒๐ ) ; รธน. พ.ศ. ๒๔๘๙ (มาตรา ๓๖ ); รธน. พ.ศ. ๒๔๙๐ (มาตรา ๔๔ ) ; รธน. พ.ศ. ๒๔๙๒ (มาตรา ๑๐๑ ); รธน. พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕ (มาตรา ๔๙ ) ; รธน. พ.ศ. ๒๕๑๑ (มาตรา ๙๗ ) ; และต่อมา ก็เริ่มยุคที่ “คณาจารย์คณะนิติศาสตร์” ให้บริการแก่นักการเมือง ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ. พ.ศ. ๒๕๑๗ (มาตรา ๑๒๗) จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้โดยไม่นับรวมธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร (โปรดดู เอกสารวิชาการ หมายเลข ๑ จากหนังสือ “กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒” ของผู้เขียน จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า พฤศจิกายน ๒๕๔๙)
       เท่าที่ผู้เขียนติดตามดู ท่านคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ของเรา ไม่เคยสอนให้ “นักศึกษา”ของเรา ใด้ทราบถึงหลักการของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ; คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของไทย ไม่เคยบอกแก่นักศึกษาของเราว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวกับ “หลักการของระบอบ ประชาธิปไตย” ในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของประเทศไทย มีวิวัฒนาการและมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเพราะเหตุใด ; และในปัจจุบันนี้ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์( ผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ) ไม่เคยให้ “ความเห็น” เลยว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทย เป็น “รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย “ หรือไม่ (ไม่ว่าท่านอาจารย์ผู้สอน จะเห็นในทางใด) ; และคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ของเรา ไม่เคยบอกแก่นักศึกษาเลยว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทย (ที่สร้างระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง) เป็นรัฐูรรมนูญฉบับเดียวในโลก
       ท่านคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเรา ปล่อยให้นักการเมือง(นายทุนพรรคการเมือง )หลอกคนไทยทั้งประเทศว่า รัฐธรรมนูญของเราเป็นประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)อาศัยอิทธิพลทางการเงิน ใช้ประโยชน์จาก “การเลือกตั้ง” (ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) เข้ามา ผูกขาดอำนาจรัฐใน “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร จนเกิดการแตกแยกวุ่นวาย แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และคนไทยหา “ทางออก”ไม่ได้ ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ (เดือนสิงหาคม กันยายน และต่อ ๆ ไป)
       
       นอกจากนั้น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ในระบบรัฐสภา - parliamentary system ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนุญของเรา (บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ / จำกัดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น) ได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่อยู่ในตำราของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงของประเทศของเขา(ในระบอบประชาธิปไตย ที่ส.ส.ของเขา มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตนเอง) ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
       ดังนั้น ถ้าหากว่า คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเราไม่ระมัดระวัง การอ้างอิงข้อความในตำราต่างประเทศ (ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในประเทศไทย) ก็จะเป็นการให้ “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่ถูกต้องแก่คนไทย และทำให้คนไทยเข้าใจผิดในสภาพ “ปัญหาบ้านเมือง” ของเรา และหลงผิดใน “เหตุผล” จากตำราต่างประเทศ
       ดูเหมือนว่า คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๕ ท่าน) และท่านผู้วิจารณ์ อาจเป็น “สาเหตุ” ที่ทำให้คนไทยหลงทาง และหา “ทางออก”จากวงจรแห่งความเสื่อม - vicious circle ไม่พบ เพราะคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเรา ยังคงสอนนักศึกษา(ทั้งประเทศ)ว่า ประเทศไทย มี “ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ”
       
       • สรุปขั้นตอนที่ (๑) ผู้เขียนขอสรุปว่า ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากไม่ยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ๓ มาตรา (บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง / ให้อำนาจพรรคการเมืองมีมติให้ ส.ส. พ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.ได้ / จำกัดนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า “ การให้นายกรัฐมนตรีลาออก” (และเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี) ก็ดี หรือ “ การยุบสภา” เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ดี ประเทศไทยย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองที่อยู่ในวงจรแห่งความเสื่อม (vicious circle)นี้ได้ เพราะ “การเลือกตั้ง”ในระบบเดิม ภายไต้สภาพสังคมที่ไม่เปลี่ยนแปลง (หรือเปลี่ยนแปลงน้อย) และในสภาพระบบบริหารพื้นฐานของประเทศที่พิกลพิการเช่นเดิม ผลที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ก็คือ ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้ง(ส่วนใหญ่) ก็จะได้แก่นายทุนคนเดิม(หรือภริยาบุตรญาติพี่น้องของนายทุนคนเดิม) หรือถ้าหากจะเป็นคนใหม่ ก็จะเป็น บุคคลประเภทนายทุนเช่นเดียวกันนั่นเอง
       
       ขั้นตอนที่ (๒) เราต้องรู้ “จุดหมาย”ของการแก้ปัญหา
       ในการแก้ปัญหาการเมือง ที่เกิดจาก “ระบบสถาบันการเมือง” ในรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ ก็คือ ต้องปรับรูปแบบ – rationalization “ระบบสถาบันการเมือง”ใหม่ ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทำมาแล้วเมื่อ ๖๐ ปีก่อน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
       ผู้เขียนไม่คิดว่า ประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหาการเมืองของเราได้ ด้วย “โมเดล – การเมืองใหม่” ในระบบ ๗๐ ต่อ ๓๐ ตามที่ได้มีการพูดกันอยู่ในขณะนี้ คือ เพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นร้อยละ ๗๐ และลดที่มาของผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเหลือร้อยละ ๓๐ เพราะวิธีการเหล่านี้ ย่อมจะนำไปสู่ “ปัญหาใหม่” ที่หลากหลายและยุ่งยากมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ก็คือ “ระบบสรรหา”จะถูกโต้แย้งว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย
       ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ปัญหา “การเลือกตั้ง” ที่มีการใช้เงินของกลุ่มนายทุน ไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยระบบการสรรหา (ซึ่งจะมีปัญหาตามมาอีกมาก) เพราะถ้าหากเราปรับ ”ระบบสถาบันเมือง”ที่มีการเลือกตั้ง โดยไม่ให้มี “การผูกขาดอำนาจ(เผด็จการ)โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกแล้ว การเลือกตั้งที่มีการใช้เงินของกลุ่มนายทุนก็จะหมดไปเอง (เพราะนายทุนจะไม่สามารถใช้ “พรรคการเมือง” เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ได้) และ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน(ในด้านต่าง ๆ) ก็จะเกิดขึ้นได้เอง ด้วยการออกกฎหมาย(พระราชบัญญัติ) ภายไต้ “ระบบสถาบันการเมือง”ที่ถูกต้อง
       การปรับรูปแบบระบบสถาบันการเมือง(rationalization) เป็นเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ ; การเขียน(ออกแบบ) รัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบัน คงมิใช่เป็นเรื่องการนำคนจำนวนมาก มาช่วยกันลงมติเขียนรัฐธรรมนูญ “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” ตามที่เราเข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้
       การออกแบบรัฐธรรมนูญ เป็นการกำหนด “กลไกการบริหารประเทศ” ที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลากหลาย ทั้งสภาพสังคมและสภาพการบริหาร(ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศและการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น) ซึ่งต้องการการวิเคราะห์และการออกแบบที่ต้องอาศัยความรู้ ความรอบรู้และความชำนาญการ; ส่วนการที่จะทำให้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ยกร่างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ เข้าสู่ กระบวนการรับรู้ที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรนั้น ก็จะเป็นเงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ และ ก็มี “แบบอย่าง” ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้เราเห็นอยู่แล้ว
       
       ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอนำ “รูปแบบรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้เขียนคิดว่า อาจเป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบไว้
       อันที่จริง ผู้เขียนตั้งใจจะเสนอ “รูปแบบ(โครงสร้าง)”ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย ในบทความขนาดยาวของผู้เขียน เรื่อง”สภาพทางวิชาการทางกฏหมายของประเทศไทย – สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ ” ที่ผู้เขียนได้เขียนไปแล้วประมาณ ๓๐๐ หน้าเศษ (และยังเขียนไม่จบ) ซึ่งในบทความดังกล่าว ผู้เขียนตั้งใจจะเสนอรูปแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมกับการให้ “ความรู้ (พื้นฐาน)”ของเหตุผลและการวิเคราะห์ เกี่ยวกับการออกแบบ(design)รัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบัน – rationalized systems
       แต่โดยที่ขณะนี้ เหตุการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนผู้เขียนรู้สึกว่า ผู้เขียนคงไม่มีเวลาพอที่จะเขียนบทความอธิบายเหตุผลของรูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ครบถ้วนก่อนการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้เขียนจึงจะนำสิ่งที่อยู่ในใจของผู้เขียนมาให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ไว้ เผื่อจะเป็น “ทางออก”ของคนไทยในขณะนี้ได้บ้าง
       
       • “หลักการ”ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( rationalized system)ของประเทศไทย ความจริง ผู้เขียนได้เคยให้ “แนวหลักการ” ของโครงสร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็น rationalized system ของเราไว้บ้างแล้ว ในบทความก่อน ๆ ของผู้เขียน โดยในการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย จะมี หลักการสำคัญ ๓ ประการ ดังนี้
       (๑) การยกเลิก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ; สิ่งที่เราจะต้องยกเลิกอย่างแน่นอน ก็คือ การยกเลิกบทบัญญํติ ๓ มาตรา ( การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค / การให้พรรคการเมือง มีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส. / และ การจำกัดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น) เพราะบทบัญญัติเหล่านี้ เป็นบทบัญญัติที่เป็น “ต้นเหตุ” ที่ทำให้นายทุน(ทั้งนายทุนท้องถิ่นและนายทุนระดับชาติ)รวมทุนกัน จัดตั้ง “พรรคการเมือง” และใช้อิทธิพลทางการเงินในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ในระบบที่พรรคการเมืองควบคุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาล(ในระบบรัฐสภา) โดยมีหัวหน้าพรรค (เจ้าของทุนใหญ่ของพรรคการเมือง) เป็น “นายกรัฐมนตรี”
       บทบัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญไทย(รัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก) ทำให้เกิด “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” และ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
       (๒) การสร้าง “ระบบสถาบันการเมือง” ที่รัฐบาลมีเสถียรภาพ จากการศึกษาวิเคราะห์ “ระบบรัฐธรรมนูญยุคใหม่ - rationalized systems ของประเทศที่พัฒนาแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบในระบบ semi – parliamentary system ของประเทศเยอรมันนี ( รธน. ค.ศ. ๑๙๔๘ ) ก็ดี หรือ ระบบ semi – presidential system ของประเทศฝรั่งเศส (รธน. ค.ศ. ๑๙๕๘) ก็ดี ทั้งสองระบบนี้ ต่างมุ่งไปสู่ “หลักการ”เดียวกัน คือ การทำให้ฝ่ายบริหาร มีตัวบุคคลที่เป็นผู้นำและ เป็นเงื่อนไข ( factor)ของการทำให้ “ฝ่ายบริหาร”มีเสถียรภาพ และมีความรับผิดชอบที่แน่ชัด ทั้งสิ้น โดยทั้งสองประเทศนี้ ได้นำ “แนวความคิด”นี้ มาจาก “ระบบประธานาธิบดี - presidential system” (ที่มีประธานาธิบดี เป็น “a single leader” โดยได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะตัว ที่แยกออกจาก “การเลือกตั้ง”สมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่และบทบาทในการถ่วงดุลและตรวจสอบ “ประธานาธิบดี ) ; และในปัจจุบัน “แนวความคิด”นี้ เป็น แนวความคิดที่ได้รับการยอมรับในการเขียนรัฐธรรมนูญยุคใหม่ของประเทศต่าง ๆ
       สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญไทย ก็คือ ฝ่ายบริหาร ที่มี “ ผู้นำเพียงคนเดียว - a single leader” โดยผู้นำนี้ จะต้องไม่มี อำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร เป็น “องค์กร” ที่ถ่วงดุลและตรวจสอบฝ่ายบริหาร ; กล่าวคือ ต้องไม่ทำให้ “พรรคการเมือง” (ในระบบรัฐสภา – parliamentary system) กลายเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด(super organ) ที่ครอบงำทั้งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร
       (๓) “ข้อจำกัด” ในการการออกแบบ(เขียน)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ประเทศไทยมีข้อจำกัดที่ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญของไทย ไม่สามารถลอกเลียนระบบ rationalized systems ของประเทศที่พัฒนาแล้วมาใช้ในประเทศไทยได้ เพราะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์(ที่ดีที่สุดในโลก) เป็นองค์พระประมุขของประเทศ และตามประเพณีของเรา เราไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้แก่ “ประมุขของประเทศ”ได้ดังเช่นประเทศอื่น ดังนั้น แนวทางการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย เราจึงจะต้องออกแบบของเราเอง
       แนวทางการปรับ (rationalization)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย ที่น่าจะเป็นไปได้ ก็คือ การทำให้ “นายกรัฐมนตรี ”( ที่มาจาก “การเลือก”ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร )เป็น หัวหน้าฝ่ายบริหารที่เป็น strong Prime Minister เพื่อให้เป็นผู้นำของ “รัฐบาล”ได้อย่างมีเสถียรภาพ (และมีความรับผิดชอบที่แน่ชัด) แต่ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจะต้องไม่มีอำนาจเหนือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็น “องค์กร” ที่ถ่วงดุลและคอยตรวจสอบ “นายกรัฐมนตรี”
       นี่คือ หลักการสำคัญ ๓ ประการ ของการ rationalization ในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย
       ปัญหาจึงเหลืออยุ่ว่า จะออกแบบ(design) รัฐธรรมนูญใหม่ของเราให้มีกลไก – mechanism อย่างไร (?) จึงจะทำให้ “นายกรัฐมนตรี ” ( ที่มาจาก “การเลือก”ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบรัฐสภา - parliamentary system) เป็น strong Prime Minister คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”จะต้องไม่พ้นจากตำแหน่งได้โดยง่าย เพราะสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ใว้วางใจ(ด้วยเสียงข้างมาก) ทั้ง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจใด ๆ เหนือ ส.ส. และเหนือพรรคการเมือง (ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดียวหรือหลายพรรครวมกัน)ที่มี ส.ส. เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
       
       • รุปแบบของ “ระบบสถาบันการเมือง” ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ซึ่งอาจเรียกว่า เป็น “ระบบ semi – parliamentary system” ของไทย น่าจะอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ ดังนี้
       (ก) “ที่มา” ของฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี )
       
- นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกโดยเสียงข้างมาก ของ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) โดยไม่มีการจำกัดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ; ไม่มี รธน.ของประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศใด ทั้งในยุโรป และอเมริกา ที่มีบทบัญญัติกำหนดบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เพราะ “การเมือง”ย่อมต้องพัฒนาไปตามสภาพของสังคม และโดยปกติ ตามพฤติกรรม ส.ส. ก็ย่อมจะต้องเลือกบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี จาก กลุ่ม ส.ส.เองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีการบัญญัติบังคับไว้
       [ หมายเหตุ บทบัญญัติที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญไทย เพราะ “ความเห็นแก่ตัว” ของบรรดานายทุนระดับท้องถิ่นเจ้าของพรรคการเมืองในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ไม่ต้องการให้ “บุคคลภายนอก”มาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากที่ตนเองได้ “ลงทุน”ในพรรคการเมือง (ที่มีระบบผูกขาดอำนาจ)ไปแล้ว และเกิดขึ้นด้วยความสนับสนุนจาก คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ และนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ตาม “มาตรฐาน(ความรู้)” แบบไทย ๆ ในยุคนั้น ]
       - รัฐมนตรี รัฐมนตรียังคงมี “ที่มา” ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คือ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และถอดถอน ฯลฯ
       
       (ข) “ที่มา” ของฝ่ายนิติบัญญัติ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา)
       
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาจากการเลือกตั้ง (ระบบเขตเดียวคนเดียว) ; ไม่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัด “พรรคการเมือง” โดย ส.ส. จะสังกัดพรรคการเมืองก็ได้ หรือไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ได้ ตามแต่จะสมัครใจ ; ส.ส. ปฎิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ ตามมโนธรรม- conscience ของตนเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยและตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
       “พรรคการเมือง” ยังคงมีอยู่และจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ แต่พรรคการเมืองจะไม่มี “อำนาจ” มีมติให้ ส.ส. ต้องพ้นจากตำแหน่ง(ส.ส.) เพราะไม่ปฏิบัติตามมติของพรรค ; พรรคการเมือง จะเกิดขึ้นและมีวิวัฒนาการตามสภาพของสังคม เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
       
       - สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถ้า “ระบบสถาบันการเมือง” (ความสัมพันธ์ ระหว่างฝ่ายบริหารกับ “สภาผู้แทนราษฎร” ดังจะได้กล่าวต่อไป) เป็นไปได้ด้วยดี “ข้อพิจารณา”ว่า จะให้มีหรือไม่มีวุฒิสภา หรือในกรณีที่จะให้มีวุฒิสภา จะมีอย่างไร ย่อม มี “ทางเลือก”ได้มากมาย ; เช่น อาจมีเพียงสภาเดียวหรือสองสภาก็ได้ หรือถ้ามีสองสภา สมาชิกวุฒิสภาอาจมาจากการเลือกตั้งผู้ที่เป็นหรือเคยเป็น “สมาชิกสภาท้องถิ่น” ก็ได้ หรือมาจาก “การสรรหา”ก็ได้ ; ดังนั้น จึงยังไม่จำเป็นต้องพิจารณาในขณะนี้ เพราะไกลเกินไปที่จะตั้งสมมติฐาน
       
       (ค) “ความสัมพันธ์” ระหว่าง ฝ่ายบริหาร กับ สภาผู้แทนราษฎร(ฝ่ายนิติบัญญัติ) ; หัวข้อนี้ เป็นหัวข้อสำคัญที่สุดในการสร้าง“ระบบ strong Prime Minister” ที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีเป็น a single leader
       การสร้าง strong Prime Minister จำเป็นต้องแยก “อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร” ใน
       การตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ให้แตกต่างกับการตรวจสอบรัฐมนตรี และดังนั้น ความสัมพันธ์
       ระหว่างฝ่ายบริหารกับสภาผู้แทนราษฎร จะมีดังนี้
       
       - การตรวจสอบ “นายกรัฐมนตรี” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิลงมติไม่ไว้วาง
       “นายกรัฐมนตรี”ได้ แต่ถ้า ส.ส.มีมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะมีการยุบสภาไปพร้อมกัน ; และ
       โดย “มาตรการ”นี้ เป็นที่คาดหมาย ว่า ส.ส.จะลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีน้อยมาก (เพราะโดย
       พฤติกรรมทางสังคมวิทยา ส.ส. คงไม่ประสงค์จะต้องกลับออกไปเลือกตั้งใหม่) ดังนั้น นายกรัฐมนตรี
       และรัฐบาล จึงน่าจะมี “เสถียรภาพ”
       ในทางกลับกัน เพื่อป้องกันมิให้ “นายกรัฐมนตรี” กระทำการทุจริตคอร์รัปชันและแสวงหา
       ประโยชน์โดยมิชอบ ส.ส.จะต้องตรวจสอบนายกรัฐมนตรี โดย”วิธีการ”ยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบ
       การกระทำของนายกรัฐมนตรี โดยผ่าน “กลไก”ทางกระบวนการยุติธรรมระดับสูง(ที่มิใช่กลไกทางการ
       เมือง) คือ “ป.ป.ช”. และ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ดังเช่นที่เป็นอยู่ใน
       รัฐธรรมนูญปัจจุบัน
       และในกรณีที่มีการรับฟ้องในกระบวนการนี้ นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทน โดย“ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”จะต้องวินิจฉัยคดีให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่รวดเร็วตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ; และในกรณีที่มีการใช้ “วิธีการ”ทางกระบวนการยุติธรรมนี้ จะไม่มีการยุบสภา และส.ส.ไม่ต้องออกไปสมัครรับเลือกตั้งใหม่
       
       - การตรวจสอบ “รัฐมนตรี” ; โดยหลักการ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการทำงานของ
       “รัฐมนตรี” ทุกคน เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่คัดเลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็น ”รัฐมนตรี”ด้วยตนเอง
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิลงมติไม่ไว้วาง “รัฐมนตรี”(และรองนายกรัฐมนตรี)ได้ทุกคน
       และถ้ารัฐมนตรีคนใดไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฏร นายกรัฐมนตรีต้องถอดถอนและ
       เปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีใหม่
       [หมายเหตุ กลไกในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี)อย่างอื่นนอกจากที่
       กล่าวมาแล้ว ในหลักการ จะยังคงเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน]
       
       เท่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นเพียงการเสนอเฉพาะ “โครงสร้าง” ของระบบสถาบันการเมือง ที่ผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็น “รูปแบบ”ที่แก้ปัญหาให้คนไทยได้ แต่ทั้งนี้ มิใช่ว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น จะสมบูรณ์แบบและแก้ไขปัญหาทางการเมืองของเราได้ครบถ้วน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า สภาผู้แทนราษฎรยังมีอำนาจในการเสนอและตรากฎหมาย รวมทั้งอำนาจในการให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายอยู่ด้วย
       ปัญหาจึงยังมีอยู่ว่า จะทำอย่างไร a strong Prime Minister ของเรา จะไม่มีปัญหากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเราที่ (อาจ)ไม่ให้ความร่วมมือกับ Prime Minister ในเรื่องดังกล่าว และนอกเหนือจากนั้น เรายังมีปัญหาอยู่ว่า จะทำอย่างไร การ ยกร่างและการตรากฎหมายของเราจึงจะมี “คุณภาพ” เพราะในโลกปัจจุบันนี้ การตรากฎหมายมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและมีความยากในการออกแบบ(กลไก) เกินกว่า ส.ส. จะพิจารณาได้โดยลำพังหรือเป็นเอกเทศ
       อย่างไรก็ตาม ถ้านักกฎหมายและนักวิชาการของเรา จะศึกษา “กลไก”ในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้วและศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบอย่างพอเพียงแล้ว ก็คงจะพบ แบบอย่างของ “มาตรการ”ต่างๆในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ที่เป็น“ คำตอบ”ของปัญหาเหล่านี้ได้
       นอกจากนั้น ตามที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนา เนื่องจากประเทศไทยเป็นเอกราชมาโดยตลอดโดยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ ดังนั้น โครงสร้างของ (กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ จึงพิกลพิการ เพราะเราไม่เคยได้รับการถ่ายทอด “รูปแบบ” มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ; ด้วยเหตุนี้ “การปฏิรูปการเมือง”ของ ประเทศไทย จึงมีขอบเขตกว้างกว่าและมีเรื่องที่ต้องทำมากกว่า “การปฏิรูปการเมือง”ของประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ ๖๐ ปีก่อน โดยเรา(ประเทศไทย) คงจะต้องปฏิรูปกฎหมายที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ ไปพร้อมกับการปฏิรูป “ระบบสถาบันการเมือง” อีกด้วย
       
       • สรุปขั้นตอนที่ (๒) สรุป ก็คือ โครงสร้างของ “ระบบสถาบันการเมือง”ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะไม่ทำให้เกิด “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ” และจะไม่มีนายทุนของพรรคการเมืองใด (ไม่ว่าจะเป็นนายทุนคนเดียว หรือนายทุนหลายคนรวมกลุ่มกัน) “ลงทุน”ในพรรคการเมือง เพราะนายทุนดังกล่าว จะไม่สามารถใช้ “พรรคการเมือง” เป็นเครื่องมือในการทุจริตคอร์รัปชั่นและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบได้ ; แต่ “ เสถียรภาพของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่สามารถจะดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ (ไม่ว่าจะเป็น ๔ ปี หรือ ๖ ปีถ้าจะขยายเวลาออกไป สำหรับการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบบริหารพื้นฐาน ในระยะแรก) ตราบเท่าที่ “นายกรัฐมนตรี”นั้นไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและถูกลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมระดับสูง
       “แนวทาง”ในการออกแบบ(design)ระบบสถาบันการเมืองนี้ จะตรงกันระบบประธานาธิบดี (presidential system) และระบบรัฐธรรมนูญยุคใหม่ (rationalized systems)
       
       ขั้นตอนที่ (๓) เราต้องรู้ “วิธีการ”ที่จะไปสู่ “จุดหมาย”
       
เนื่องจากผู้เขียนมีความรู้สึกว่า สภาพบ้านเมืองของประเทศ (ไทย)ในขณะนี้ อยู่ในสภาพที่ผู้เขียนไม่สามารถยอมรับได้ และผู้เขียนก็ไม่เคยคิดว่า จะมีประเทศใดในโลก ที่มีสภาพการเมืองเช่นเดียวกับประเทศไทยในขณะนี้ ; สิ่งที่จะทำให้เราคนไทยหา “ทางออก”ได้ ก็คือ คนไทยจะต้องเผชิญกับความจริง – reality และดังนั้น ผุ้เขียนจึงต้องขออภัยที่ผู้เขียนจำเป็นต้องขอพูดอย่างตรงไปตรงมา
       
       เมื่อ ๖ - ๗ เดือนก่อน(เดือนมีนาคม) ผู้เขียนได้ให้ความเห็นไว้ในการปาฐกถาพิเศษ ที่สำนักงานศาลปกครอง (บทความ เรื่อง “ปัญหาชนชั้นนำ ของสังคมไทย”) ว่า ปัญหาของประเทศไทย เกิดจาก “คุณภาพ”ของ ชนชั้นนำ – elite ของสังคมไทย และ ผู้เขียนเห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารและ ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ จนทำให้สังคมมีความสับสนและเกิดความแตกแยกกันแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ตามที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ เกิดจาก “ความไม่มีคุณภาพ” ของชนชั้นนำ ๒ ประเภท คือ “นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ” และ “นักวิชาการ”
       “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ในรัฐธรรมนูญไทย เกิดขึ้นเพราะ “ความเห็นแก่ตัว” ของนักการเมืองที่เป็นนายทุนของพรรคการเมือง (ที่ครอบงำการเมืองของประเทศ) ต้องการผูกขาดอำนาจรัฐ โดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯลฯ และ “หลอก”ให้คนไทยทั้งประเทศเชื่อว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทย เป็น รัฐธรรมนูญที่เป็น “ประชาธิปไตย”
       ประกอบกับ “ความไม่รู้”ของ คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย นักกฎหมาย และนักวิชาการของเราเอง ที่คิดเพียงง่าย ๆ ว่า การเขียนรัฐธรรมนูญให้ ส.ส. สังกัดพรรค ฯลฯ ก็เพียงเพื่อช่วยทำให้รัฐบาลมี “เสถียรภาพ” โดยมิได้คำนึงถึงว่า การผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองของนักการเมืองนายทุนธุรกิจ จะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารของนักการเมือง
       
       โดยที่ในขั้นตอนที่ (๑) เราได้รู้ “สาเหตุ”ของปัญหามาแล้ว และในขั้นตอนที่ (๒) เรารู้ “จุดหมาย”ของการแก้ปัญหาแล้ว และดังนั้น ในขั้นตอนที่ (๓)นี้ เราจะมาพิจารณาดูว่า “ใคร” จะเป็นผู้มาช่วยแก้ปัญหาให้คนไทย
       
       • ชนชั้นนำประเภทแรก ที่จะนำมาพิจารณา ก็คือ นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองอยุ่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะนำเราไปสู่ “จุดหมาย” คือ การปฏิรูปการเมือง หรือไม่
       สิ่งแรกที่ “คนไทย” จะต้องคำนึงถึง ก็คือ “พฤติกรรม”ทางสังคมวิทยา( sociology) ของนักการเมือง(ทั้งนายทุนท้องถิ่นและนายทุนระดับชาติ) และดังนั้น เป็นที่คาดหมายได้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ใน “พรรคการเมือง”พรรคใด นักการเมือง(นายทุนธุรกิจเหล่านี้) ย่อมประสงค์จะเป็น “รัฐบาล”ด้วยกันทั้งสิ้น และนักการเมืองเหล่านี้ ย่อมไม่ประสงค์จะแก้ไขรูปแบบของ “ระบบสถาบันการเมือง” ที่เป็นฐานของการเลือกตั้งของตน
       นักการเมืองในแต่ละพรรคการเมืองขณะนี้ ต่างมีความหวังอยู่ว่า ให้พรรคการเมืองอื่นเพลี่ยงพล้ำ(ไม่ว่าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง) เพื่อพรรคการเมืองของตนจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล(และผูกขาดอำนาจ)บ้าง ; ผู้เขียนไม่คิดว่า นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในพรรครัฐบาล(และพรรคร่วมรัฐบาล) หรือนักการเมืองในพรรคฝ่ายค้านขณะนี้ จะปฏิรูปการเมืองและแก้รัฐธรรมนูญให้คนไทยได้
       
       ลองศึกษา “พฤติกรรม”ของนักการเมืองของเรา ที่แสดงออกให้ปรากฏเมื่อเร็ว ๆ นี้ดูบ้างว่า เราพบอะไรบ้าง
       
นักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล(นายกรัฐมนตรี) ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ ๔ กันยายน นี้เอง)ว่า จะไม่ลาออก และไม่ยุบสภา แต่จะอยุ่ทำหน้าที่เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมือง อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “ ; ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ในขณะนี้ นักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ยังพยายาม ให้คนไทย เชื่อว่า รัฐธรรมนูญใน “ระบอบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” เป็น ระบอบประชาธิปไตย (ประเทศเดียวในโลก) และพยายามอ้างอิง “สถาบัน” เพื่อการดำรงอำนาจของตนเอง
       นอกจากนั้น รัฐบาลยังกำหนดว่า จะให้มีการออกเสียงประชามติใน “ปัญหาการเมือง”ที่แบ่งเป็นสองฝักสองฝ่ายอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมว่า นักการมืองในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ต้องการจะนำเอา “สภาพสังคมไทยที่อ่อนแอและขาดประสบการณ์ทางการเมือง” มาเป็นเตรื่องมือ ในการต่ออายุและปกป้อง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ” ตามรัฐธรรมนูญไทย (ฉบับเดียวในโลก) ต่อไป
       
       และถ้าหันมาดู นักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายค้านดูบ้าง ก็จะพบว่า นักการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างกับนักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด ; นักการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ไม่เคยพูดถึงการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”แต่อย่างใด และนักการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายค้ายังย้ำอยู่เสมอว่า รัฐธรรมนูญ(ระบอบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง) เป็นระบอบประชาธิปไตย และดูเหมือนว่า นักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายค้าน กำลังรอคอยให้ “ประชาชน”ช่วยกันล้มนักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล เพื่อตนเองจะได้เข้ามาผูกขาดอำนาจแทน อยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ
       
       • ชนชั้นนำประเภทที่สอง ลองหันมาดูนักวิชาการของเราดูบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ว่า จะช่วยให้คนไทยเข้าใจ ความหมายของ “ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ได้ดีขึ้นหรือไม่ ; คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเรา จะช่วยทำให้คนไทยมองเห็นว่า “ความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการทำปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตน” เป็น หลักการสำคัญและเป็นเงื่อนไขของความเป็นประชาธิปไตย ได้หรือไม่
       บังเอิญเมื่อ ๒ – ๓ เดือนที่ผ่านมานี้เอง (เดือนกรกฎาคม) มี” บทความ”ของ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๕ ท่าน) มาให้ผู้เขียนได้ศึกษาวิเคราะห์ (ตามที่ได้กล่าวมาแล้วใน ขั้นตอนที่ (๑)) ซึ่ง
       ปรากฏว่า
       คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน ๕ ท่าน และท่านผู้วิจารณ์ ดังกล่าว ไม่สามารถสังเกตเห็น ความแตกต่าง ระหว่าง รัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ประเทศเยอรมัน และ ประเทศฝรั่งเศส) ที่มีบทบัญญัติให้ ส.ส. (ของเขา) มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตน กับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ที่เป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ที่มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ / และจำกัดนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น
       หรือมิฉะนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ท่านคณาจารย์ดังกล่าวสังเกตเห็น แต่ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๕ท่าน) อาจเข้าใจว่า บทบัญญัติที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีความสำคัญ ที่สมควรจะได้รับการพิจารณา เพราะ ท่านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีความเห็นยืนยันว่า ประเทศไทย ยังมีดุลยภาพแห่งอำนาจ ของ องค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ (เหมือนกับข้อความในหนังสือตำราต่างประเทศ) และท่านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมองไม่เห็นอำนาจสูงสุดของ “พรรคการเมือง” (ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไทย) ที่มีอยู่เหนือสถาบันสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในระบบรัฐสภา - parliamentary system เนื่องจากผู้เขียนไม่พบว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๕ท่าน) และท่านผู้วิจารณ์ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ ในที่ใด
       จนบัดนี้ เรา(คนไทยและผู้เขียน) ก็เลยยังไม่มีความเห็นจากคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และจากนักวิชาการ ว่า หลักการของระบอบประชาธิปไตย คืออย่างไร ; รวมทั้งไม่อาจทราบว่า “สาเหตุ” ของการคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารของนักการเมือง และความเสื่อมโทรมของการบริหารประเทศ เกิดขึ้น จากอะไร
       ทั้งนี้ แม้ว่า จะปรากฏว่า การคอร์รัปชั่นของประเทศที่ผ่านมาไม่นานมานี้ จะกระทำ ด้วยการที่ “รัฐบาล – ฝ่ายบริหาร” แก้กฎหมาย (เพื่อให้นักการเมืองเจ้าของพรรคการเมือง ขายทรัพย์สินที่เป็นสิทธิในสัมปทานของชาติ ให้แก่ต่างชาติ) โดยอาศัย “สภาผู้แทนราษฎร – ฝ่ายนิติบัญญัติ” เป้นเครื่องมือ ที่เรียกกันว่า คอร์รัปชั่นทางนโยบาย
       แต่คณาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(จำนวน ๕ ท่าน) ก็ยังบอกกับคนไทยและสอนนักศึกษา (ทั้งประเทศไทย) ว่า “ประเทศไทยมี ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ”
       
       และด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงไม่คิดว่า คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย นักกฎหมายและนักวิชาการ จะช่วยให้คนไทย ได้มองเห็น”ทางออก”ในการแก้ปัญหาทางการเมืองของเราในขณะนี้ ได้
       
       • “ใคร” จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คนไทย ; คำถามนี้ ผู้เขียนคงตอบไม่ได้ ผู้เขียนคงยืนยันได้เพียงด้านเดียวว่า นักการเมือง(นายทุน)ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองพรรคใด (ทั้งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน) ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คนไทยได้ เพราะขัดกับประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง
       และไม่ว่าจะเป็น “ใคร”ก็ตาม ที่จะมาปฏิรูปการเมืองให้คนไทย ใครผู้นั้นจะต้องทราบว่า “การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี”ก็ดี และ “การยุบสภา”ก็ดี มิใช่เป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ตราบใดที่ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญของเรา ซึ่งเป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ยังคงอยู่
       ระบบเผด็จการและการผูกขาดอำนาจนี้ จะเป็น “สิ่งล่อใจ” ที่ทำให้บรรดานายทุนรวมทุนกันตั้ง “พรรคการเมือง” และอาศัย “การเลือกตั้ง” (ใน สภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและขาดประสบการณ์ทางการเมือง ) เป็นเครื่องมือในการเข้ามา “ผูกขาดอำนาจรัฐ” เพื่อแสวงหาประโยชน์ ; ดังนั้น ในการเลือกตั้งภายไต้ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา ก็จะได้แก่ “พรรคการเมือง” ของนายทุนคน เดิม หรือ ภริยาญาติพี่น้องพรรคพวก และตัวแทนของนายทุนคนเดิม หรือมิฉะนั้น ก็เป็นนายทุนที่ลงทุนเพื่อหากำไรประเภทเดียวกัน ; และ ประเทศไทยก็จะอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อม – vicious circle ต่อเนื่องกันไป จนกว่า “ประเทศจะเสื่อมสลาย”
       
       “ใคร”ก็ตาม ที่จะมาปฏิรูปการเมืองให้คนไทย ผู้นั้นจะต้องกำหนด “จุดหมาย"ของการแก้ปัญหาทางการเมืองให้แน่ชัด กล่าวคือ จะต้องศึกษาและบอกแก่คนไทยให้ได้ ว่า รัฐธรรมนูญ (ระบบสถาบันการเมือง)ฉบับใหม่ของไทย จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพราะคนไทยจะได้ทราบว่า “จุดหมาย”ของการเปลี่ยนแปลงนั้น คือ อะไร ดีกว่ารัฐธรรมนูญเดิมอย่างไร และคาดหมายได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา จะแก้ปัญหาการเมืองในปัจจุบันของคนไทย ได้อย่างไร
       ผู้ที่จะมาปฏิรูปการเมืองให้แก่คนไทยได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะเป็น “รัฐบุรุษ – statesman” (ตามความเป็นจริง) คือ มีความเสียสละ มีความรอบรู้ และจะต้องบังเอิญอยู่ใน “ตำแหน่งและฐานะ”ที่จะเป็น ผู้นำให้แก่คนไทยได้ ซึ่งบุคคลนี้ ดูเหมือนจะยังหาไม่พบ จากคนไทยจำนวน ๖๔ ล้านคน
       ดูเหมือนว่า ประเทศไทยมีแต่ ผู้ที่ “ดำรงตำแหน่ง” แต่ไม่มีความเสียสละและไม่มีความรอบรู้ หรือ มีผู้ที่ “มีความเสียสละและมีความรอบรู้” แต่ไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเป็นผู้นำให้แกคนไทยได้
       ดูจะไม่แปลกประหลาดอย่างใด ที่มีการพูดว่า “การเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง” และดูจะไม่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง เช่นเดียวกัน ที่มีการคาดหมายว่า “นักการเมือง(นายทุนเจ้าของ “พรรคการเมือง) จะสละอำนาจและผลประโยชน์ของตน จากการผูกขาดอำนาจใน “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ตาม รัฐธรรมนูญของไทย (ฉบับเดียวในโลก)” ทั้งนี้ เพราะว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสงสาร
       
       (วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑ ผู้เขียนขอจบ “บทนำ”ในหัวข้อที่ (๒) เพียงเท่านี้ และผู้เขียนจะกลับมาเขียนบทความ เรื่อง คำสั่งของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำ ที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ ต่อไป)


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1275
เวลา 20 เมษายน 2567 08:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)