การยุบพรรคการเมืองเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้บริหารพรรคการเมืองเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย โดย คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

14 กันยายน 2551 23:56 น.

       ความนำ
       พรรคการเมืองนั้นเป็นองค์กรทางการเมืองประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง จริงอยู่ที่การยุบพรรคการเมืองนั้นสามารถกระทำได้หากมีกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่การกระทำดังกล่าวควรนำมาใช้ต่อเมื่อกรณีจำเป็นที่สุดเท่านั้น เพราะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรง
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกโต้แย้งอย่างมาก ทั้งในด้านความชอบธรรมและตัวเนื้อหาเองซึ่งถูกมองว่าจะนำสังคมไทยไปสู่วิกฤติทางการเมืองในที่สุด ซึ่งความกังวลดังกล่าวเริ่มปรากฏขึ้นภายในเวลาไม่นานหลังจากกระบวนการต่างๆตามรัฐธรรมนูญเริ่มดำเนินไปได้
       หนึ่งในปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ควรพิจารณา คือ มาตรา ๒๓๗ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นในการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       บทบัญญัติดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย เพราะมีปัญหาเรื่องการลงโทษบุคคลทั้งที่ไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย กระทบสิทธิทางการเมืองของบุคคลจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยเอง
       ในบทความต่อไปนี้ จะพยายามชี้ให้เห็นถึงภาพความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาธิปไตยว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร และการยุบพรรคการเมืองนั้นมีเหตุสนับสนุนและคัดค้านกันอย่างไรบ้าง ตลอดจนการชี้ให้เห็นปัญหาจากการยุบพรรคการเมืองเนื่องจากผู้บริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นในการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และข้อเสนอแนะ
       บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ตามหลักวิชานิติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาปราศจากอคติโดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ในทางวิชาการเท่านั้น มิใช่ความคิดเห็นหรือเครื่องมือทางการเมืองของฝักฝ่ายใด
       
       ความหมายของพรรคการเมือง(1)
       มีผู้ให้ความหมายของพรรคการเมืองไว้มากมาย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ความคิดเห็นของแต่ละบุคคล(2) แต่โดยสรุปแล้ว พรรคการเมืองต้องมีลักษณะพื้นฐานอยู่สามประการ ดังนี้(3)
       ๑. เป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามารวมตัวกัน ร่วมมือกัน จัดตั้งเป็นสมาคมองค์กร ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ ต้องมีการจัดตั้งและกฎเกณฑ์ในการเข้ามารวมตัวกันด้วย
       ๒. มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน ตรงนี้อาจพิจารณาได้ว่าสมาชิกมีความเห็นส่วนใหญ่ของตนในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในแนวทางกว้างๆคล้ายๆกัน(4) เพราะคงไม่อาจหาผู้มีความคิดคล้ายกันในทุกด้าน พรรคการเมืองเพียงแต่ทำให้ทุกคนสละความเห็นอันไม่ตรงกันเล็กๆน้อยๆเพื่อมาความคิดเห็นร่วมกันในส่วนที่สำคัญกว่า(5)
       ๓. มีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ หรือการเข้าบริหารประเทศ ลักษณะประการนี้สำคัญยิ่งเพราะโดยธรรมชาติในสังคมอาจมีการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิดเห็นทางสังคม เศรษฐกิจ หรือลัทธิการปกครองเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นลักษณะสองประการข้างต้นของพรรคการเมือง หากแต่กลุ่มดังกล่าวไม่ประสงค์จะเข้ามาบริหารประเทศแล้วไซร้ ย่อมขาดลักษณะประการสุดท้ายและไม่ใช่พรรคการเมือง อาจเป็นสหภาพแรงงาน สมาคม หรือมูลนิธิเท่านั้น พรรคการเมืองต้องประสงค์ให้ได้มาซึ่งอำนาจมหาชน และใช้อำนาจนั้นดำเนินการให้อุดมการณ์ที่พวกตนมีร่วมกันนั้นเป็นจริงขึ้นมาให้ได้(6) ลักษณะประการที่สามนี้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การได้มาซึ่งอำนาจรัฐคงหมายความได้แต่เพียงเฉพาะการได้มาผ่านวิถีทางตามรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น มิเช่นนั้น นิยามดังกล่าวก็อาจใช้ได้กับคณะรัฐประหารต่าง ๆ ด้วย
       ในมาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัตินิยามของพรรคการเมืองในระบบกฎหมายไทยไว้ดังนี้
       “พรรคการเมือง หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง โดยได้รับการจดแจ้งการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมุ่งที่จะส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่นอย่างต่อเนื่อง”
       จากนิยามของพรรคการเมืองในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สามารถเห็นได้ว่าสอดคล้องกับลักษณะพื้นฐานสองประการจากสามประการข้างต้น คือ เป็นคณะบุคคลที่มุ่งส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็หมายความว่าประสงค์จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐนั่นเอง
       ในส่วนของอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันระหว่างสมาชิกนั้น โดยกว้างที่สุดคงเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด คือ เป็นไปตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อุดมการณ์ที่แตกต่างกันไประหว่างแต่ละพรรคนั้น ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายจะบัญญัติไว้ได้ แต่เป็นลักษณะที่ต้องเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติเมื่อกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมมีความเห็นที่แตกต่างกันจึงเข้ามารวมตัวกันเอง แต่น่าสังเกตว่าในความเป็นจริง พรรคการเมืองไทยไม่มีความชัดเจนเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง นโยบายหรือแนวคิดของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นที่รวบรวมอุดมการณ์ของพรรคการเมือง(7) ส่วนมากนั้นซ้ำกันโดยเสนอสิ่งที่ตนเชื่อว่าประชาชนนิยมเท่านั้น แม้ในระยะหลัง จะเริ่มมีพรรคการเมืองบางพรรคที่มีนโยบายของพรรคที่โดดเด่นแสดงแนวคิดที่เป็นตัวของตัวเอง แต่โดยภาพรวม แนวคิดของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังคงในสภาพไม่ชัดเจนโดดเด่นแต่อย่างใด(8) และสมาชิกพรรคการเมืองอาจไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ(9) หรือหากสมัครใจ ก็ไม่ได้คำนึงถึงอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นหลักใหญ่ เพียงแต่ถูกชักชวนจากหัวคะแนนนักการเมืองเท่านั้น
       เมื่อพรรคการเมืองไทยปราศจากอุดมการณ์ร่วมกันเสียแล้ว ในความเป็นจริง วัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งอำนาจมหาชนเพื่อใช้อำนาจดำเนินการตามอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น พรรคการเมืองย่อมไม่ได้ประสงค์จะใช้อำนาจมหาชนเพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์ของตนแต่อย่างใด
       นอกจากนี้ นิยามพรรคการเมืองที่กล่าวมายังไม่ได้กล่าวถึงลักษณะที่สำคัญที่สุดอีกประการของพรรคการเมืองไทย คือ ต้องตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น พรรคการเมืองถูกมองด้วยความหวาดระแวงของผู้มีอำนาจ จึงไม่อนุญาตให้ตั้งขึ้นได้นอกเสียจากจะมีกฎหมายรับรองเฉพาะแยกจากสมาคมอื่นๆ กฎหมายจึงถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการเป็นพรรคการเมือง ซึ่งเดิมให้ใช้วิธีจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ และปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีจดแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และพรรคการเมืองก็ยอมรับมาตลอดถึงสภาพการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย (legal creature) ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ(natural creature)(10) ของตน ฉะนั้นแล้วสมาคมหรือกลุ่มที่มีลักษณะสามประการครบถ้วนดังข้างต้นก็ยังไม่เป็นพรรคการเมืองในทางกฎหมายของไทย จนกว่าจะได้ไปจดแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองก่อน
       โดยสรุป ความหมายของพรรคการเมือง คือ กลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกันโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะยึดกุมอำนาจรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เข้าเป็นรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์ของตนให้สัมฤทธิ์ผล นิยามดังกล่าวให้ไว้แก่ลักษณะที่ควรจะเป็นของพรรคการเมืองโดยทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาถึงพรรคการเมืองไทย ต้องพิจารณาข้อแตกต่างดังที่กล่าวมาข้างต้นไว้ด้วย(11)
       
       หน้าที่ของพรรคการเมือง
       เช่นเดียวกับความหมายของพรรคการเมือง มีผู้แบ่งแยกหน้าที่ของพรรคการเมืองออกเป็นหลายประการด้วยกัน ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถแยกหน้าที่หลักของพรรคการเมืองออกเป็นสองประการใหญ่ๆ(12) หน้าที่อื่นๆนั้นเพียงแต่แยกย่อยออกจากหน้าที่หลักทั้งสองประการนี้เท่านั้น หน้าที่ของพรรคการเมือง คือ
       ๑. พรรคการเมืองเป็นตัวกลางเชื่อมความต้องการและบทบาทของประชาชนกับรัฐบาล
       ลำพังประชาชนแต่ละคนนั้นย่อมไม่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล หากแต่ถ้าประชาชนที่มีความเห็นตรงกันมารวมตัวกันเข้า ทำความคิดเห็นของตนให้เป็นปึกแผ่นเป็นนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อเสนอต่อประชาชนคนอื่นๆพิจารณาเลือกตั้งพรรคของตน(13) ความต้องการของประชาชนจึงจะมีน้ำหนักขึ้น พรรคการเมืองจะเป็นผู้รวบรวม คัดเลือก และส่งผ่านประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆที่เป็นฐานเสียงของตนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐ และผลักดันให้รัฐบาลนำความต้องการดังกล่าวไปปฏิบัติ ทำให้รัฐบาลมีโอกาสได้สื่อสารกับประชาชนผ่านตัวกลาง เพื่อให้รัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมที่จะปกครองประชาชน เนื่องจากมีการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ถูกปกครอง(14)
       นอกจากนี้ ในแง่ตัวกลางเชื่อมบทบาทของประชาชนกับรัฐบาล พรรคการเมืองยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมือง โดยคัดเลือกผู้มีความสามารถมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อชิงชัยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐบาลแทนประชาชนส่วนใหญ่(15) โดยในหน้าที่นี้ พรรคการเมืองต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านการเมืองการปกครองประเทศด้วย(16)
       ๒. พรรคการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมือง
       หากพรรคการเมืองสามารถได้มาซึ่งอำนาจมหาชนจนกลายเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแล้ว พรรคการเมืองย่อมเป็นผู้กำหนดนโยบายและปฏิบัติตาม ตลอดจนวินิจฉัยกฎหมาย จากตัวกลางระหว่างรัฐบาลและประชาชน พรรคการเมืองกลายเป็นผู้นำความต้องการของประชาชนมาปฏิบัติให้เกิดผลด้วยตนเอง นอกจากนี้ การใช้อำนาจพรรคการเมืองยังหมายรวมถึงการที่พรรคการเมืองไม่อาจได้เสียงข้างมากในสภา จึงเป็นฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถาม พิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นอกจากนี้ ยังสามารถวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผ่านสื่อมวลชน การประชุมสัมมนา และช่องทางอื่น ๆ(17)
       
       ความสำคัญของพรรคการเมืองต่อประชาธิปไตย
       
คำถามที่สำคัญที่สุด คือ เราจะมีประชาธิปไตยโดยไม่มีพรรคการเมืองได้หรือไม่ และคำถามต่อมา คือ พรรคการเมืองจะเกิดขึ้นโดยไม่มีประชาธิปไตยได้หรือไม่ อย่างไร ทั้งสองคำถามนี้จะช่วยให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งชัดเจนขึ้น
       ประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองระบอบเดียวที่ได้รับการยอมรับว่าชอบธรรม กฎหมายมหาชนที่ศึกษากันในทุกวันก็เป็นเรื่องของการใช้อำนาจและควบตุมการใช้อำนาจของรัฐภายใต้ระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง ดังนั้น ความสำคัญของพรรคการเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่นักกฎหมายมหาชนไม่ควรมองข้ามไป
       สำหรับคำถามแรก เมื่อพิจารณาถึงสภาพที่ประชาธิปไตยแรกเริ่มเกิดมาในหมู่ชาวกรีกยุคโบราณ พรรคการเมืองไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด ประชาชนชาวเอเธนส์ที่เป็นชาย และเป็นไทแก่ตนสามารถตัดสินใจเรื่องราวต่างๆได้ด้วยตนเองในการประชุมสภาประชาชน(18) แม้แต่ในตอนเริ่มต้นของประชาธิปไตยสมัยใหม่ พรรคการเมืองก็ยังถูกมองว่าไม่มีความจำเป็น ในทางตรงข้ามกลับเป็นสิ่งที่ขัดขวางประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้แทนของประชาชนนั้นควรปฏิบัติหน้าที่ของตน ตัดสินใจเรื่องราวต่างๆเพื่อประชาชนที่เลือกตนเข้ามา หากผู้แทนนั้นสังกัดพรรคการเมือง การตัดสินใจนั้นย่อมไม่เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน หากแต่เป็นความต้องการของพรรค ด้วยเหตุนี้ เจตจำนงร่วมกันของประชาชนจึงถูกบิดเบือนด้วยพรรคการเมือง(19) ในสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาได้รับรองสิทธิในการชุมนุมของประชาชนไว้ในบทแก้ไขเพิ่มเติมที่หนึ่ง (First Amendment) แต่ก็มิได้กล่าวถึงพรรคการเมือง สิ่งที่คล้ายคลึงกับพรรคการเมืองที่สุดปรากฏในเอกสาร Federalist Paper No. 10 คือ Faction หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่มุ่งให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของตนโดยต้นทุนของสาธารณะ ซึ่งมีความหมายเป็นลบ(20) นอกจากนั้นในเอกสารฉบับเดียวกัน เจมส์ เมดิสัน ผู้เขียน ยังเตือนว่าพรรคการเมืองยังอาจทำให้ชาติแตกแยกได้(21)
       แต่ในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เมื่อสังคมสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น การให้ประชาชนทุกคนมาตัดสินใจในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ในเอเธนส์เอง ก็มีเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ได้เข้ามาออกเสียงในสภา(22) ปวงชนจึงหันมาเลือกตัวแทนประชาชนเข้าไปตัดสินใจเรื่องราวต่างๆแทนประชาชน เกิดเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนขึ้น แต่ในระยะนี้ พรรคการเมืองเองก็ยังไม่ถูกมองว่าสำคัญแต่อย่างใด ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสเองก็มีอคติต่อพรรคการเมืองตามความคิดของรุสโซที่ให้ความสำคัญเฉพาะกับประชาธิปไตยทางตรงโดยประชาชนเท่านั้น(23) ส่วนซีเอเยส์ แม้จะสนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน แต่ซีเอเยส์ก็ยังเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนถูกเลือกมาโดยประชาชน จึงเป็นผู้แทนของชาติ ผู้แทนควรเข้าประชุมโดยปราศจากคำสั่งหรือคำแนะนำใดๆ ความเห็นของผู้แทนจะเกิดขึ้นก็เมื่อพวกเขาได้เขาประชุมถกเถียงอภิปรายกันอย่างอิสระ ผลของการอภิปรายนี้เองจึงเกิดเป็นเจตจำนงร่วม ได้ปรากฏความเห็นที่ดี และกำจัดความเห็นที่ไม่ดีออกไป(24) ในระยะนี้ พรรคการเมืองเองก็ยังไม่ถูกมองว่าสำคัญต่อประชาธิปไตยแต่อย่างใด
       ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ เองก็แสดงให้เห็นความเห็นเชิงที่ว่า จึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐ ว่า การตัดสินใจใดๆของผู้แทนต้องทำตามความเห็นตนโดยสุจริตใจ ไม่อยู่ในอาณัติใดๆ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้และต่อๆมาไม่ได้บัญญัติให้ผู้แทนต้องสังกัดพรรคการเมืองไปอีกเป็นระยะเวลาพอสมควร
       อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุด ความจำเป็นที่จะต้องมีพรรคการเมืองก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น เพราะโดยธรรมชาติ เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นธรรมดา และย่อมมีการแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายโดยธรรมชาติ เป็นพรรคการเมืองขึ้นมาโดยสภาพธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Federalist และ Anti-federalist หรือกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการปฏิวัติฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ อำนาจการเมืองของประเทศตะวันตกต่าง ๆ ได้ย้ายไปอยู่ที่รัฐสภา และการขยายตัวของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง(25) พรรคการเมืองจึงยิ่งมีความสำคัญและความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ผู้แทนอิสระนั้นมีความคิดเห็นต่างๆได้หลากหลายกันออกไป การรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองโดยยอมทิ้งความเห็นเล็กน้อยที่ไม่ตรงกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันที่สำคัญกว่าจะช่วยลดความสับสนในการเลือกผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มีตัวเลือกที่น้อยลงและชัดเจนมากยิ่งขึ้น(26) ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเคยกล่าวไว้ว่า “ในความเป็นจริงของสังคมขนาดใหญ่ที่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ เจตจำนงร่วมของประชาชนสามารถแสดงออกมาได้ก็โดยผ่านพรรคการเมือง ในฐานะที่เป็นหน่วยการเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เท่านั้น(27) ”
       ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการของประชาชนจะทวีความสำคัญก็เมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มดังที่ได้อธิบายไว้ในเรื่องหน้าที่ของพรรคการเมือง อันที่จริงมีผู้กล่าวว่าความสามารถของปัจเจกในการส่งอิทธิพลถึงรัฐบาลนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำร่วมกันของกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น(28) การจัดตั้งขึ้นเป็นพรรคการเมืองนั้นทำให้การเรียกร้องของประชาชนดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่ขึ้นอยู่กับปัจเจกแต่ละคน เพราะแม้ว่าผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองจะตายไป พรรคการเมืองก็ไม่สิ้นสุดลงไปด้วย หากแต่สามารถถูกรับช่วงต่อไปโดยสมาชิกพรรคคนอื่นๆ(29)
       ในด้านการใช้อำนาจนิติบัญญัติ การถกเถียงอย่างอิสระของซีเอเยส์นั้นใช้เวลามากเพราะผู้แทนแต่ละคนย่อมมีความคิดแตกต่างกันไป การถกเถียงย่อมไม่ทันต่อปริมาณงานของฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบัน เมื่อเกิดพรรคการเมือง ความเห็นที่แตกต่างเหล่านั้นจะถูกพิจารณากลั่นกรองโดยถี่ถ้วนภายในพรรคการเมืองก่อน จึงเสนอต่อสภา(30) การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติรวดเร็วทันเหตุการณ์และรอบคอบมากขึ้น
       พรรคการเมืองทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายในทางใดก็สามารถรู้ได้ว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยังสนับสนุนตนอยู่เท่าใด เพราะผู้แทนเหล่านั้นสังกัดในพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน หากผู้แทนคนใดจะกระทำตนนอกลู่นอกทางก็ยังมีวินัยพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่คอยควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง
       ปัจจุบัน หน้าที่ต่างๆที่พรรคการเมืองเคยมีอาจเริ่มถูกแทนที่ด้วยสถาบันอื่น อาทิ สื่อ หรือ องค์การภาคประชาชน เข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนพรรคการเมือง และในบางคราว อาจทำได้ดีกว่าพรรคการเมือง หรือ การที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองได้โดยตรง อาทิ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองไม่ได้มีบทบาทเท่าเดิมเช่นที่เคยมีมา แต่โดยสภาพสังคมปัจจุบัน พรรคการเมืองยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งหากประชาชนต้องการธำรงประชาธิปไตยไว้
       คำถามที่สองนั้น ซับซ้อนกว่าเล็กน้อย เพราะแม้แต่ในการปกครองระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังสามารถมีสถาบันที่ถูกอ้างว่าเป็นพรรคการเมืองได้ อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยม แต่เมื่อพิจารณาเข้าจริงๆ พรรคการเมืองที่ถูกอ้างเหล่านั้นไม่สามารถทำหน้าที่พรรคการเมืองตามทฤษฎีได้ เพราะพรรคเหล่านั้นมิได้เป็นตัวกลางเสนอความต้องการของประชาชนให้แก่รัฐบาล หรือนำเสนอนโยบายของตนให้ประชาชนเลือก ตลอดจนมิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองแต่อย่างใด ในส่วนการใช้อำนาจรัฐ พรรคการเมืองเหล่านั้นมิได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้แก่ประชาชนดังเช่นที่พรรคการเมืองควรทำ
       จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองจะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ก็แต่ในภาวะพหุนิยม หรือภาวการณ์มีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมแข่งขันกัน อันจะเกิดได้ก็เมื่อมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งรับรองความเสมอภาค สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล สิทธิในการชุมนุม สิทธิในแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง(31) ในประเทศที่มีประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ความสำคัญของพรรคการเมืองอาจไม่ชัดเจนเท่าใดเนื่องจากระบบกฎหมายของประเทศนั้นมิได้กล่าวถึงพรรคการเมืองมากเท่าใดนัก แต่ตัวอย่างนี้จะเห็นชัดในประเทศที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ดังจะเห็นว่า ในยุค ค.ศ. ๑๙๗๐-๑๙๘๐ ประชาชนชาวยุโรปตะวันออกได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้มีการเปิดกว้างทางสังคม ยอมรับสิทธิเสรีภาพต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น และท้ายที่สุด คือ ให้สิ้นสุดการผูกขาดอำนาจการเมืองของผู้ปกครอง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครอง(32) แสดงว่าพรรคการเมืองนั้นจะไม่อาจเกิดขึ้นได้จนกว่าจะมีประชาธิปไตยรองรับ ภายหลังจากระบอบเผด็จการที่ปกครองด้วยพรรคเพียงพรรคเดียวในประเทศเหล่านี้ล่มสลายลง สิ่งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยบัญญัติไว้ คือ การรับรองพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ
       ตัวอย่างในเรื่องนี้ คือ ประเทศฮังการี พรรคการเมืองในฮังการีไม่สามารถก่อตั้งขึ้นได้จนกระทั่งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยอมออกกฎหมายให้มีการชุมนุมแสดงความคิดเห็นและเกิดภาวะพหุนิยมขึ้นในปี ๑๙๘๙ จากนั้นจึงเกิดพรรคการเมืองต่างๆขึ้นมา อาทิ Association of Free Democrats, Hungarian Democratic Forum และ Independent Smallholder Party(33)
       โดยสรุปจากคำถามทั้งสองประการข้างต้น พรรคการเมืองและประชาธิปไตยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่อย่างใกล้ชิด ปราศจากประชาธิปไตยรองรับเสียแล้ว พรรคการเมืองย่อมไม่สามารถถือกำเนิดขึ้น หรือหากเกิดมีพรรคการเมืองขึ้น พรรคการเมืองก็ไม่อาจทำหน้าที่รับใช้ประชาชนได้ และหากไม่มีพรรคการเมืองเสียแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันย่อมเต็มไปด้วยความยุ่งยาก ทั้งด้านประสิทธิภาพของฝ่ายนิติบัญญัติ เสถียรภาพของรัฐบาล ตลอดจนการพยายามสื่อสารกันระหว่างรัฐบาลผู้ปกครองและประชาชนผู้ถูกปกครอง เพราะฉะนั้นการดำรงอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของพรรคการเมืองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยอยู่เสมอ
       
       สิทธิในการจัดตั้งและเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
       
สิทธิในการจัดตั้งและเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น เป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน โดยเริ่มมาจากสิทธิที่กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนเข้าชื่อร้องทุกข์ต่อรัฐสภาได้(34)
       แม้สิทธิดังกล่าวจะไม่ได้ถูกบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในเอกสารประกาศสิทธิใดๆ แต่สิทธิดังกล่าวถูกรับรองโดยปริยายไว้ในสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการรวมตัวกันของพลเมืองในเอกสารประกาศสิทธิที่สำคัญฉบับต่างๆ เพราะสิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั้น ย่อมไร้ประโยชน์หากประชาชนที่มีความคิดเห็นดังกล่าวไม่สามารถเข้ามารวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น(35) ซึ่งคือการจัดตั้ง และเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั่นเอง
       สิทธิเหล่านี้แต่เดิมนั้นถูกรับรู้เพียงในระดับประเทศเท่านั้น แต่ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องสิทธิดังกล่าวได้กลายเป็นเรื่องสากลและถูกยอมรับในเอกสารประกาศสิทธิต่างๆทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับนานาชาติ ที่สำคัญที่สุดมีสองฉบับ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
       ข้อที่ ๒๐ (๑) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) รับรองไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะชุมนุมและสมาคมกันอย่างสงบ”(36)
       ในข้อ ๒๒ (๑) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on civil and Political Rights) ได้บัญญัติขยายความออกไปอีกว่า
       “ข้อ ๒๒ (๑) บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในการสมาคมกับผู้อื่น รวมถึงการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง”
       และข้อ ๒๒ (๒) บัญญัติข้อจำกัดไว้ คือ “ข้อ ๒๒ (๒) การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ความในข้อนี้ไม่ห้ามการวางข้อจำกัดอันชอบด้วยกฎหมายในการใช้สิทธินี้ของทหารและตำรวจ”(37)
       แม้ว่าในเอกสารทั้งสองฉบับจะไม่กล่าวถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยชัดแจ้ง แต่สิทธิในทางการเมืองที่ปรากฏอยู่เอกสารประกาศสิทธิทั้งสองฉบับเหล่านี้เป็นที่มาที่สำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย(38) ซึ่งปัจจุบันถูกยอมรับว่าเป็นการปกครองรูปแบบเดียวที่ชอบธรรม(39) ซึ่งขอบเขตของสิทธิในการสมาคมนั้นหมายความรวมถึง สิทธิในการจัดตั้งหรือสิทธิในการเข้าร่วมพรรคการเมืองด้วย จากคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ศาลได้อ้างสิทธิในการสมาคมขึ้นมาปกป้องการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการสมาคมที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินไปของสังคมประชาธิปไตย(40)
       สำหรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้น มีลักษณะเป็นข้อแนะนำมากกว่า แต่สำหรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้นมีผลผูกพันรัฐที่เข้าร่วมเป็นภาคีให้ปฏิบัติตาม(41) คือ ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ปรากฏอยู่ในตัวกติกา และจะจำกัดหรือแทรกแซงสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้เพียงเท่าที่มีข้อจำกัดให้ไว้
       สำหรับประเทศไทยนั้น เข้าร่วมเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามกติกาดังกล่าวด้วย ซึ่งในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศนั้นได้ยอมรับสิทธิในการสมาคมมาโดยตลอด เพียงแต่ได้แยกสิทธิในการสมาคมตามปกติออกจากสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมือง เนื่องจากในประวัติศาสตร์พรรคการเมืองของประเทศไทยนั้น รัฐเห็นว่าพรรคการเมืองนั้นไม่ควรใช้กฎหมายในการจัดตั้งและดำเนินการเช่นเดียวกับสมาคมทั่วไป ควรมีกฎหมายพิเศษต่างหาก
       
       เหตุผลสนับสนุนการยุบพรรคการเมือง
       
จริงอยู่ที่พรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน และรัฐควรเคารพสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชนให้มากที่สุด แต่ทว่าบางครั้ง การยุบพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องจำเป็นหากต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยโดยส่วนรวมสามารถอยู่รอดได้ เพราะโดยหลักการพื้นฐานที่สุดของแนวคิดเสรีนิยม อันเป็นที่มาของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น มิได้หมายความถึงการให้สิทธิเสรีภาพแก่สมาชิกในสังคมโดยปราศจากขอบเขต ในทางตรงกันข้าม นักปรัชญาผู้ริเริ่มแนวคิดเสรีนิยม ทั้ง จอห์น ล็อค และ รุสโซ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสิทธิเสรีภาพที่ไม่จำกัดนั่นเอง ที่เป็นผลร้ายต่อมนุษย์ เพราะมีผู้ใช้เสรีภาพของตนไปกระทบเสรีภาพของผู้อื่น เป็นเหตุให้บุคคลรวมตัวเข้าเป็นสังคมโดยยอมสละสิทธิเสรีภาพส่วนหนึ่งของตนเสียเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่มั่นคงปลอดภัยจากการข่มเหงกันเอง(42)
       เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองจึงอาจถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ ในฐานะเป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม หากการใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปกระทบบุคคลอื่น ก่อให้เกิดความเดือดร้อน
       เหตุผลอีกประการหนึ่งของการยุบพรรคการเมืองได้ คือ การป้องกันตนเองของระบอบประชาธิปไตย ในกรณีนี้ ผู้พิพากษา Aharon Barak ประธานศาลฎีกาประเทศอิสราเอลให้ความเห็นไว้ว่า
       “ประชาธิปไตยนั้นไม่จำต้องฆ่าตัวตายเพื่อแสดงออกถึงการดำรงอยู่ นอกจากนั้นแล้ว ผู้ซึ่งปฏิเสธหรือประสงค์จะเปลี่ยนแปลงคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่อาจขอเข้าร่วมในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเขาผู้นั้นปฏิเสธ(43) ”
       ในความเห็นของ Barak ประชาธิปไตยนั้นจำต้องทนต่อสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็จริง แต่ก็ต้องปกป้องตนเองด้วย โดยไม่จำต้องทนต่อการถูกล้มล้าง(44)
       อย่างไรก็ดี Barak ยอมรับว่าการยุบพรรคการเมืองนั้นมิใช่จะกระทำได้โดยง่าย หากแต่จะกระทำเพียงเมื่อการกระทำของพรรคการเมืองนั้นร้ายแรงอย่างยิ่ง เพราะ ”ประชาธิปไตยนั้นจะไม่เป็นกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ที่ไม่ได้กระทำการเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยเอง” การกระทำที่ถือว่าร้ายแรงนั้นไม่ใช้เพียงแค่เป้าหมายของพรรคการเมือง แต่ต้องแสดงออกมาเป็นการกระทำ(45)
       
       เหตุผลคัดค้านการยุบพรรคการเมือง
       
แม้ว่าความเห็นส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการปกป้องประชาธิปไตยโดยการยุบพรรคการเมืองที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองเป็นดำรงอยู่ในขณะนั้นไปเสีย ในอีกแง่มุมหนึ่ง การยุบพรรคการเมืองนั้นถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเองด้วย เพราะการยุบพรรคการเมืองเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน และไม่เป็นไปตามหลักการเคารพเสียงข้างมากพร้อมทั้งปกป้องเสียงข้างน้อย
       ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ผู้ปกครองย่อมเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาทำให้เจตจำนงของประชาชนเป็นจริงขึ้นมาเท่านั้น(46) ดังนั้นระบอบดังกล่าวจึงควรเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น รวมทั้งเจตจำนงของตนได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนคนอื่นได้เลือกความคิดเห็นเหล่านั้นโดยอิสระ ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยเองหรือไม่(47) หากประชาชนส่วนใหญ่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเดิมที่มีอยู่ เพื่อไปใช้อีกระบอบหนึ่ง เหตุไฉนกฎหมายจึงไม่อนุญาตให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเลือกเช่นนั้น
       การยุบพรรคการเมืองเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ปิดกั้นตัวเลือกของประชาชน หากตัวเลือกนั้นเป็นตัวเลือกที่เสียงส่วนใหญ่ในสังคมเห็นชอบด้วย การปิดกั้นนั้นเท่ากับว่าไม่เคารพในเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และหากตัวเลือกนั้นเป็นตัวเลือกที่เสียงส่วนน้อยในสังคมเห็นชอบด้วย แม้ว่าประชาชนเสียงข้างน้อยจะไม่สามารถดำเนินการให้ตัวเลือกดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่การปิดกั้นตัวเลือกดังกล่าวก็เป็นการไม่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยในสังคมเช่นกัน ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการใช้เสียงส่วนใหญ่ข่มเหงเสียงข้างน้อย
       การที่ในรัฐใดไม่มีพรรคการเมืองที่มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองเดิมนั้น มิได้หมายความว่าในรัฐนั้นไม่มีผู้ที่คิดเช่นนั้นอยู่ เพียงแต่ในรัฐนั้น ไม่เปิดช่องทางให้บุคคลดังกล่าวใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนสิทธิในทางการเมืองอื่นๆ
       
       ตัวอย่างเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองในประเทศเยอรมนี
       
ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่เคยได้รับผลร้ายจากการที่พรรคการเมืองมีสิทธิเสรีภาพมากเกินไป ในรัฐธรรมนูญฉบับไวมาร์ พรรคการเมืองไม่อาจถูกยุบได้นอกจากจะทำผิดกฎหมายอาญา คือ การใช้กำลังเข้ายึดรัฐ(48) ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดคือพรรคการเมืองแฝงตัวเข้ามาตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อทำลายประชาธิปไตย ประกอบกับการเคารพหลักเสียงข้างมาก ทำให้พรรคสังคมนิยมแห่งชาติ หรือ นาซีสามารถอ้างการเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนดำเนินการต่างๆที่เป็นผลร้ายกับประชาธิปไตย ทั้งการออกกฎหมายห้ามให้มีพรรคการเมืองอื่น กฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล จนนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการได้ ทั้งๆที่พรรคนาซีได้รับการเลือกตั้งมาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด
       ปัจจุบัน เยอรมนีใช้ระบบสภาคู่ และเป็นประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี(49) รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีใช้ชื่อว่ากฎหมายพื้นฐาน และมีรัฐบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะแยกออกมาจากกฎหมายว่าด้วยการสมาคม จากผลร้ายที่เกิดจากพรรคนาซี เยอรมนีจึงให้ความสำคัญกับกฎหมายพรรคการเมืองมาก และมีเนื้อหาละเอียดครอบคลุมกินวงกว้าง ทั้งการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ และการยุบพรรคการเมือง และส่งอิทธิพลถึงกฎหมายพรรคการเมืองของประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ในเวลาต่อมา(50)
       เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองในเยอรมนีนั้น บัญญัติไว้ในกฎหมายพื้นฐาน มิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลำดับรองแต่อย่างใด โดยมาตรา ๒๑ (๒) ของกฎหมายพื้นฐานบัญญัติไว้ดังนี้(51)
       “ไม่ว่าโดยเป้าหมายของพรรคการเมืองเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของบรรดาผู้ที่ฝักใฝ่ในพรรคแล้ว พรรคการเมืองใดมีความมุ่งหมายเพื่อขัดขวางการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน พรรคการเมืองนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
       ในประโยคต่อมา กฎหมายพื้นฐานให้อำนาจองค์กรที่จะตัดสินเรื่องนี้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์“ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เป็นผู้พิจารณาพิพากษาปัญหาการขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้”
       ในรัฐบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น จะไม่บัญญัติถึงเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองซ้ำอีก โดยจะบัญญัติไว้แต่วิธีการบังคับตามคำวินิจฉัยของศาลเท่านั้น(52)
       จากกฎหมายพื้นฐาน จะเห็นว่าการยุบพรรคการเมืองในประเทศเยอรมนีนั้น จะกระทำลงก็ต่อเมื่อต้องปกป้องคุณค่าสำคัญสองประการ หนึ่งคือ ระบอบประชาธิปไตย และสอง คือ การดำรงอยู่ของรัฐ ซึ่งเหตุแห่งการตราบทบัญญัติดังกล่าวนั้น เกิดจากความพยายามป้องกันอุดมการณ์ทางการเมืองสองประเภท(53) คือ ลัทธินาซี ซึ่งเป็นต้นเหตุของสงครามโลกครั้งที่ผ่านมา และลัทธิคอมมิวนิสม์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามเยอรมนีแบบใหม่ภายหลังจากที่รัสเซียเข้ามาปกครองเยอรมนีบางส่วนได้
       ในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์เพื่อขอให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองสองพรรค คือ Sozialistische Reichspartei หรือ SRP และ Kommunistische Partei Deutschlands หรือ KPD พรรคการเมืองแรกนั้นเป็นพรรคการเมืองที่รับช่วงต่ออุดมการณ์ของนาซี และพรรคที่สองแสดงอุดมการณ์คอมมิวนิสม์ ซึ่งทั้งสองเป็นภัยคุกคามเยอรมนีทั้งคู่
       ในคดีแรก ศาลรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นว่าตนได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นสองขั้น ขั้นแรก คือ ศาลรัฐธรรมนูญรับรู้ถึงความไร้ผลของสาธารณรัฐไวมาร์ในการต่อต้านนาซี ซึ่งเข้ากุมอำนาจรัฐโดยวิธีการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และขั้นที่สอง คือ การเข้าสู่อำนาจรัฐโดยวิธีที่ไม่เป็นมิตร ไม่ว่าจะจากฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาในสังคม ล้วนเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องหลีกเลี่ยงทั้งสิ้น(54)
       ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค SRP โดยในคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญตอบคำถามว่าอะไร คือ การปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมาตรา ๒๑ (๒) ปกป้อง(55) และสรุปว่าพรรคการเมืองนี้มีลักษณะองค์กรไม่เป็นประชาธิปไตย และมีการเชื่อมโยงกับพรรคนาซีอย่างชัดแจ้ง อาทิ การรับสมาชิกเฉพาะผู้จงรักภักดีต่อนาซีเดิม
       ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินตามบรรทัดฐานเดียวกันในคดีพรรค KPD เพียงแต่ได้เพิ่มเติมขึ้นว่า เพียงแต่ความคิดต่อต้านการปกครองนั้นไม่เพียงพอในการจะบอกว่าพรรคการเมืองนั้นขัดรัฐธรรมนูญ หากแต่ต้องมีการกระทำที่ไม่เป็นมิตรและมุ่งต่อผลด้วย(56) เพียงแต่การกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเพียงพอที่จะยุบพรรคได้นั้น ไม่ต้องถึงขั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่พรรคการเมืองต้องมีความพยายามเช่นนั้นก็เพียงพอแล้ว(57)
       เมื่อพิจารณาแล้ว แม้เยอรมนีจะเคยได้รับผลร้ายจากพรรคการเมืองจนต้องมีกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองที่ละเอียดครอบคลุม แต่เยอรมนีก็มิได้ทำให้การยุบพรรคการเมืองนั้นเป็นไปได้โดยง่าย เยอรมนีตระหนักในความสำคัญของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันทางการเมืองสถาบันหนึ่ง และพยายามสร้างสมดุลระหว่างสิทธิทางการเมืองของประชาชนกับการดำรงอยู่ของรัฐและประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงลักษณะหรือจิตวิญญาณของพรรคการเมืองนั้นให้ถ่องแท้ว่าพรรคการเมืองดังกล่าวขัดต่อการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตยจริง มีทั้งการกระทำตลอดจนอุดมการณ์พรรคและโครงสร้างพรรคที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
       
       สรุปแนวคิดเรื่องการยุบพรรคการเมือง
       แม้ว่าแนวคิดในเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นจะมีทั้งผู้สนับสนุน และคัดค้าน แต่ปัจจุบัน เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าการยุบพรรคการเมืองนั้นเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดกว้างให้แก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองของตน แม้ว่าความเห็นนั้นอาจไม่เป็นที่พอใจของรัฐ แต่รัฐต้องเคารพเสียงข้างมากของประชาชน
       อย่างไรก็ดี เสียงข้างมากเพียงอย่างเดียวมิใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง มิเช่นนั้น จะปรากฏผู้อ้างเสียงข้างมากของประชาชนในการสร้างความชอบธรรมให้การกระทำทุกอย่างของตน รวมทั้งข่มเหงเสียงข้างน้อยด้วย ประชาธิปไตยยังมีหลักการพื้นฐานประการอื่นรวมอยู่ด้วย อาทิ หลักนิติรัฐ หลักเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งหลักการเคารพเสียงข้างมากและคุมครองเสียงข้างน้อย ดังนั้น การใช้ข้ออ้างเรื่องเจตจำนงของประชาชนจึงต้องใช้ด้วยความเป็นธรรม โดยเคารพในคุณค่าร่วมกันบางประการของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าเสียงข้างมากจะท่วมท้นเพียงใดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงคุณค่าเหล่านั้นได้(58)
       พรรคการเมืองที่ประสงค์จะแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยนั้นจำต้องเคารพกติกาแห่งการแข่งขัน ซึ่งนั่นรวมถึงการเคารพหลักการข้างต้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยจึงมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองจากการกระทำที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานที่ต้องธำรงไว้เหล่านี้ รัฐควรยอมวางตัวเป็นกลางในทางการเมืองและยอมให้จัดตั้งพรรคการเมืองที่มีแนวคิดไม่เห็นพ้องกับระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา โดยถือว่าเมื่อประชาชนส่วนมากประสงค์เช่นนั้นก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่เมื่อปรากฏว่าพรรคการเมืองนั้นดำเนินการทำลายหลักการพื้นฐานดังกล่าว จึงจะสามารถยุบพรรคการเมืองนั้นได้(59) เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยยังสามารถอยู่รอดต่อไป
       โดยสรุป การยุบพรรคการเมืองจึงสามารถกระทำได้ในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยเหตุจำเป็นที่ต้องปกป้องระบอบดังกล่าวไว้ เพียงแต่การยุบพรรคการเมืองดังกล่าวต้องกระทำโดยระมัดระวังอย่างที่สุด
       
       ที่มาของการยุบพรรคการเมืองจากการกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมือง
       แต่เดิมนั้น การที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ไม่เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมืองแต่อย่างใด ผลร้ายของการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น มีเพียงการลงโทษอาญา และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลเท่านั้น
       ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ประเทศไทยได้ประสบวิกฤติทางการเมืองเนื่องจากการไม่พอใจการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย วิกฤติดังกล่าวยืดเยื้อจนกลายเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ของประชาชนเป็นผลให้มีออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ และกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหม่ ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙
       อย่างไรก็ดี การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้ มีพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่โดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากให้เวลาพรรคของตนน้อยเกินกว่าจะเตรียมตัวแข่งขันกับพรรครัฐบาลได้ทัน จึงไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผลให้พรรคไทยรักไทยเกิดความกังวลขึ้น เนื่องจากมาตรา ๗๔ แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น กำหนดให้ในกรณีที่มีผู้สมัครในเขตใดเพียงคนเดียว ผู้สมัครรายดังกล่าวจะถูกประกาศให้เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น มิเช่นนั้น คณะกรรมการการการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตดังกล่าว
       เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องคะแนนเสียงร้อยละยี่สิบดังกล่าว กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยบางคนจึงได้ให้เงินสนับสนุนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีการมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว และพรรคไทยรักไทยยังร่วมมือกับพรรคพัฒนาชาติไทยและพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยเพื่อให้สามารถลงสมัครับเลือกตั้งได้อีกด้วย
       ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยได้รับเงินจากกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและเกี่ยวข้องกับการแก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยเพื่อให้สามารถลงสมัครับเลือกตั้งได้ ส่วนหัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยได้รู้เห็นยินยอมให้มีการรับเงินดังกล่าว และออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เป็นความผิดตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๗๔ และมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑
       นอกจากการกระทำดังกล่าวของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งสามพรรคจะเป็นความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งแล้ว นายทะเบียนพรรคการเมืองยังเห็นว่าการกระทำของพรรคไทยรักไทยนั้นเป็นความผิดตามมาตรา ๖๖ (๑) และ (๓) ส่วนการกระทำของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยนั้นเป็นการกระทำผิดมาตรา ๖๖ (๒) และ (๓) แห่งประราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อนายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุดแล้วและอัยการสูงสุดเห็นสมควรจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้งสาม และศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
       ต่อมา วิกฤติการเมืองได้รุนแรงขึ้น จนในที่สุด คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ทำการรัฐประหารขึ้น แม้การรัฐประหารครั้งนี้จะไม่มีการประกาศยุบพรรคการเมืองดังเช่นที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ก็ส่งผลให้ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราวไม่อาจเดินทางกลับได้ และให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง แต่คดีดังกล่าวมิได้สิ้นสุดลง หากแต่เข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญต่อไป(60)
       ในที่สุด คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ๓-๕/๒๕๕๐ เห็นว่าการกระทำของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย และหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยนั้น แม้จะไม่มีมติที่ประชุมพรรคมอบอำนาจให้ทำ แต่ก็ไม่ใช่การกระทำส่วนตัวของบุคคลดังกล่าว เพราะการกระทำเหล่านั้น ดูจากลักษณะแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองทั้งสามพรรคเอง ประกอบกับเป็นการกระทำที่ไม่อาจเปิดเผยได้ จึงไม่อาจมีมติพรรคเห็นชอบ หากแต่จากพฤติการณ์แล้วแสดงว่าพรรคการเมืองย่อมเห็นชอบกับการกระทำนั้น การกระทำของบุคคลดังกล่าวจึงผูกพันพรรคการเมืองทั้งสามพรรค พรรคการเมืองดังกล่าวจึงกระทำการที่เข้าลักษณะมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ เห็นควรให้ยุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรค(61)
       ต่อมา ในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีผู้เสนอให้ใส่บทบัญญัติในเรื่องการยุบพรรคการเมืองเนื่องมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวมีขึ้นเพื่อลงโทษผู้ทุจริตการเลือกตั้ง โดยถือว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนนิติบุคคล และกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้มีอำนาจบริหารพรรค ฉะนั้นหากสมาชิกพรรคกระทำผิด บุคคลดังกล่าวทั้งหมดควรรับผิดชอบในการกระทำนั้นด้วย(62)
       หลักการดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรกที่ปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญ โดยปรากฏขึ้นในการประชุมครั้งที่ ๓๔/๒๕๕๐ (เป็นพิเศษ) วันอังคารที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐(63) และได้กลายมาเป็นมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ในข้อที่ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีใจความดังนี้
       มาตรา ๒๓๗ “ถ้าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
       ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา ๖๘ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
       ต่อมา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้นำไปบัญญัติไว้ดังนี้
       มาตรา ๑๐๓ วรรคสอง“ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้นในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
       บทบัญญัติดังกล่าวขยายขอบเขตความรับผิดของพรรคการเมืองออกไปยิ่งกว่าคำวินิจฉัยที่ ๓-๕/๒๕๕๐ เพราะไม่เพียงแค่พรรคต้องรับผลร้ายจากการกระทำของกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคเท่านั้น หากแต่ต้องรับผลร้ายแม้ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวเพียงแค่รับรู้การกระทำดังกล่าวของผู้สมัครับเลือกตั้งด้วย
       การยุบพรรคการเมืองจากการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีที่มาจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดย คปค. ว่าการกระทำของกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นไม่จำต้องให้พรรคการเมืองเห็นชอบด้วยโดยชัดแจ้ง หากแต่เมื่อได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองนั้นก็ย่อมผูกพันพรรค และถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นภัยต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมืองได้ และสภาร่างรัฐธรรมนูญได้นำแนวคิดนี้มาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยมุ่งหวังให้กระบวนการทางการเมืองของไทยนั้นมีความสุจริตโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งบทบัญญัติได้ถูกนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา
       
       ผลกระทบของการยุบพรรคการเมืองจากการกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       กับดักประการหนึ่งของประชาชน คือ ความเข้าใจที่ว่าการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตย ถ้ามองในรูปแบบ การปกครองใดๆย่อมเป็นประชาธิปไตยแน่นอน เพราะทุกรัฐต้องมีกฎหมายสูงสุดฉบับหนึ่งในการปกครองประเทศ การมีรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้บอกว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตย บอกเพียงแค่ว่าประเทศดังกล่าวมีการปกครองโดยกฎหมายเท่านั้น ส่วนกฎหมายจะเป็นธรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง(64) ดังเช่น อดล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญไวมาร์ในการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี และกลายเป็นรัฐบาลที่ครอบงำกระบวนการออกกฎหมาย และบัญญัติเนื้อหาเป็นผลร้ายแก่ประชาชน คือ The Law for the Relief of the People and the Reich จำกัดสิทธิของประชาชน(65) จนนำไปสู่ภาวะเผด็จการและเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด
       สิ่งที่สำคัญกว่ารูปแบบ คือ เนื้อหาของกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เพราะว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น กฎหมายมิใช่เพียงลายลักษณ์อักษรที่ออกตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายอย่างเดียว เพราะเมื่อพิจารณาถึงภายในของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นที่มา ผู้มีอำนาจในการตราที่แท้จริง ตลอดจนเนื้อหาสาระแล้ว อาจไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้ รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยต้องตราขึ้นโดยสอดคล้องกับและเคารพคุณค่าบางประการที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของระบอบดังกล่าวด้วย คุณค่าเหล่านั้น อาทิ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หลักการแบ่งแยกและตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตย รวมทั้ง หลักเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นต้องมีเนื้อหาดังกล่าวด้วยจึงจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งรูปแบบและเนื้อหา
       ถ้าจะวิเคราะห์มาตรา ๒๓๗ กับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราคงจะต้องหันกลับมาดูว่าอะไรคือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรากฐานของกฎหมายมหาชนในยุคใหม่นี้
       เหตุที่นักคิดต่าง ๆ ได้พยายามเสนอทฤษฎีสัญญาประชาคมก็ดี ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจก็ดี หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม อันกลายมาเป็นแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและนำมาซึ่งระบบกฎหมายมหาชนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ทั้งสิ้นทั้งปวงนั้น ย่อมมาจากความพยายามที่จะจำกัดการใช้อำนาจของรัฐผู้ปกครอง มิให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ใต้ปกครองจนเกินขอบเขต
       ผลของความคิดดังกล่าวประการหนึ่ง คือ หลักการที่ว่าบุคคลไม่พึงรับโทษ เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด แสดงว่าบุคคลนั้นจะถูกรัฐลงโทษได้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำหนึ่งเป็นความผิด และสอง คือ บุคคลได้กระทำความผิดนั้น ๆ เพราะฉะนั้น หากบุคคลไม่ได้กระทำการอันเป็นความผิด กฎหมายก็ไม่พึงบัญญัติลงโทษบุคคลนั้นได้
       นักนิติศาสตร์ชาวอังกฤษ A. V. Dicey(66) ได้เขียนไว้ในหนังสือของตนว่า “No man is punishable or can lawfully be made to suffer in body or goods except for a distinct breach of law …”(67) บุคคลจะถูกลงโทษก็แต่เฉพาะเมื่อได้กระทำการอันเป็นความผิดทางกฎหมายเท่านั้น จะถูกลงโทษด้วยเหตุอื่นมิได้(68) Dicey ยืนยันหลักดังกล่าวว่าเพื่อปกป้องบุคคลจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจดังที่เป็นอยู่ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ ๑๘(69) และหนังสือดังกล่าวได้เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของหลักนิติธรรมในระบบกฎหมายจารีตประเพณีต่อมา
       ส่วนในฝรั่งเศสนั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชน (แต่ละคน) และพลเมือง (แต่ละคน) ข้อ ๘ ตอนท้ายบัญญัติไว้เช่นเดียวกันว่า “...บุคคลหาอาจต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันฝ่าฝืนกฎหมายที่ตราขึ้นและประกาศใช้ก่อนการกระทำความผิด และการบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย”(70) แสดงถึงความคิดที่ว่าการลงโทษประชาชนนั้น ต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ก่อน และโทษนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตนของบุคคลนั้น ผู้ใดทำผิดถึงจะถูกลงโทษได้
       ในหลักนิติรัฐ หลักย่อยประการหนึ่ง คือ ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ หากไม่มีกฎหมาย (nullum crimen, nulla poena, sine lege) นั้น วางอยู่บนพื้นฐานสี่ประการ หนึ่งในพื้นฐานนั้น คือ หลักการกระทำ ตามหลักนิติรัฐ กฎหมายอาญาย่อมผูกกับการกระทำ ไม่ใช่ความคิด ดังนั้น การกำหนดความผิดหรือกำหนดโทษจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการกระทำ(71) หลักการนี้มิได้ใช้จำกัดเฉพาะโทษอาญา แต่ยังรวมถึงในการใช้กฎหมายเป็นโทษแก่ประชาชนในกรณีอื่น ๆ อีกด้วย
       เหตุที่การจะลงโทษบุคคลใดได้ก็ต่อเมื่อเขาผู้นั้นกระทำการอันเป็นความผิดก็เพราะว่าการลงโทษนั้น ไม่ว่าโทษอาญาหรือโทษอื่น อาทิ โทษทางปกครอง ย่อมกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น การกระทำอันเป็นผลร้ายแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงต้องกระทำโดยผ่านผู้แทนของประชาชนในฝ่ายนิติบัญญัติ หากบุคคลไม่ได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดย่อมไม่อาจถูกลงโทษได้
       นอกจากบุคคลจะต้องถูกลงโทษก็ต่อเมื่อกฎหมายระบุให้การกระทำนั้นเป็นความผิดแล้ว บุคคลนั้นจะต้องถูกลงโทษก็ต่อเมื่อเป็นผู้กระทำการดังกล่าวเองด้วย เพราะบุคคลผู้ควรถูกลงโทษนั้นต้องเป็นผู้ที่รับทราบว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับผลร้าย และเมื่อคิดคำนวณใคร่ครวญระหว่างผลร้าย คือ โทษที่ตนจะได้รับ กับผลดี คือ ประโยชน์จากการกระทำผิดนั้นแล้ว จึงเจตนากระทำการนั้น จึงสมควรถูกลงโทษ หากบุคคลต้องถูกลงโทษเพราะการกระทำของผู้อื่นแล้วไซร้ ย่อมขัดต่อสำนึกเรื่องความยุติธรรม อันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่มีความเป็นธรรมและไร้เหตุผล โทษต้องเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ลงต่อผู้กระทำผิดเอง มิใช่ลงต่อบุคคลบริสุทธิ์
       แนวคิดดังกล่าวได้หยั่งรากลึกลงในระบบกฎหมายไทยด้วย ดังตัวอย่างที่เห็นชัด คือ โทษอาญา ซึ่งปัจจุบันถือว่าความผิดอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัว บุคคลย่อมถูกลงโทษเพราะการกระทำของตนเองเท่านั้น มาตรา ๓๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้คดีอาญาสิ้นสุดลงด้วยความตายของผู้กระทำผิด แสดงให้เห็นแนวคิดเรื่องโทษเป็นเรื่องเฉพาะตัวในกฎหมายไทย แนวคิดเรื่องการรับผิดเพื่อการกระทำของผู้อื่นจึงลดลงเหลือไว้เพียงในบางกรณีเท่านั้น อาทิ นายจ้างต้องรับผิดในการกระทำของลูกจ้าง หรือบิดามารดารับผิดเมื่อบุตรหลานกระทำผิด (vicarious liability) เพราะบุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ต้องระมัดระวังในการดูแลผู้อยู่ปกครองของตน แต่ก็ไม่มีกรณีใดที่กฎหมายจะลงโทษขยายไปจนถึงนิติบุคคลทั้งหมดดังเช่นที่จะลงโทษแก่พรรคการเมือง ทั้งที่หากจะใช้แนวคิดนี้จริง การลงโทษควรจะลงแก่ผู้แทนนิติบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลลูกพรรคของตนเท่านั้น มิใช่คนทั้งหมด
       ปัญหาที่ต้องพิจารณาในมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญ คือ การกระทำตามมาตรา ๒๓๗ ดังกล่าวเป็นการกระทำของพรรคการเมืองจริงหรือไม่ หากการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำพรรคการเมืองย่อมสมควรถูกลงโทษ หรือกลับกันฉันใดก็ฉันนั้น
       พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้นการพิจารณาว่าการกระทำใดจึงจะถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองได้นั้น จึงต้องพิจารณาโดยใช้หลักกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่พรรคการเมืองอาจถูกลงโทษยุบพรรคเช่นนี้ จำต้องพิจารณาการกระทำในกรณีดังกล่าวเทียบเคียงกับหลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล
       นิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่ได้เช่นเดียวกับบุคคลตามธรรมชาติ เพียงแต่เมื่อนิติบุคคลไม่ใช่บุคคลจริงๆ สิทธิหน้าที่ของนิติบุคคลจึงมีอยู่เพียงเท่าที่กฎหมายและข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งกำหนดเท่านั้น การกระทำของนิติบุคคล โดยเฉพาะในกฎหมายแพ่ง จึงถูกจำกัดให้กระทำได้เท่าที่กฎหมายหรือข้อบังคับดังกล่าวบัญญัติไว้(72) สำหรับการกระทำผิดกฎหมายอาญานั้น ในวงการนิติศาสตร์ไทยเป็นที่ยุติลงแล้วว่า นิติบุคคลสามารถตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ถูกลงโทษตามกฎหมายได้อีกด้วย(73) เพียงแต่นิติบุคคลนั้นเป็นเพียงสิ่งสมมติขึ้นตามกฎหมายไม่อาจกระทำการใดๆเองได้จริง การแสดงเจตนาทางอาญาของนิติบุคคลจึงแสดงออกผ่านทางผู้แทนนิติบุคคล และการแสดงเจตนานั้นจะผูกพันนิติบุคคลก็เมื่อผู้แทนนั้นแสดงเจตนาซึ่งอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล(74) หาไม่แล้ว การแสดงเจตนาดังกล่าวย่อมผูกพันเฉพาะผู้แทนเป็นการส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับในกฎหมายแพ่งเรื่องการแสดงเจตนาของนิติบุคคลนั่นเอง(75)
       เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองจะกระทำผิดได้ก็ต่อเมื่อวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ วิถีทางของประชาธิปไตย หรือ การดำรงอยู่ของรัฐไทย และผู้แทนของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นความผิดในฐานะผู้แทนพรรคการเมือง
       สำหรับการพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ เป็นการลำบากที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำของพรรคการเมือง และการกระทำใดเป็นการกระทำส่วนตัวของสมาชิกพรรคการเมือง เพราะในกรณีนี้ วัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองนั้นยากที่จะพิจารณาจากข้อบังคับพรรคการเมืองตามตัวอักษร คงไม่มีพรรคการเมืองใดที่จดแจ้งวัตถุประสงค์เพื่อจะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ ฝ่าฝืนบทบัญญัติในเรื่องการเลือกตั้ง หรือ มุ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นแน่ เนื่องจากนายทะเบียนย่อมไม่ยอมรับจดแจ้งเป็นอันขาด เช่นเดียวกับนิติบุคคลอื่นๆที่ย่อมไม่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระทำผิดกฎหมายอาญา(76) หากแต่เราอาจพิจารณาวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองโดยพิจารณาลึกลงไปถึงอุดมการณ์ของพรรคนั้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่พรรคใช้เพื่อรวบรวมสมาชิกและเพื่อเป็นนโยบายต่อสู้ทางการเมือง มิใช่เพียงลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
       สำคัญไปกว่านั้น คือ การลงโทษ ต้องลงโทษพรรคการเมืองที่การกระทำ มิใช่ที่วัตถุประสงค์ลอยๆที่เป็นนามธรรม พรรคการเมืองนั้นจะถูกลงโทษได้ก็ต่อเมื่อได้พยายามเปลี่ยนความคิดของตนให้กลายมาเป็นความจริงผ่านการลงมือกระทำเท่านั้น(77) การกระทำของพรรคต้องมีเจตนาให้บรรลุวัตถุประสงค์อันมิชอบด้วยกฎหมายของตน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การกระทำเหล่านั้น คือ การกระทำเช่นใดบ้างจึงจะถือว่าแสดงออกซึ่งวัตถุประสงค์อันไม่เป็นประชาธิปไตย และการกระทำนั้นจะกระทำผ่านผู้ใดได้บ้าง จึงจะถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมือง
       การกระทำอันแสดงออกซึ่งวัตถุประสงค์อันไม่เป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองนั้น คงแสดงออกได้หลายหนทาง หลายวิธี ซึ่งอาจจะพิจารณาตัวอย่างของพรรคการเมืองในเยอรมนีร่วมด้วย คือ พรรคการเมืองจัดโครงสร้างภายใน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ไม่เป็นประชาธิปไตย รับสมัครสมาชิกเฉพาะบุคคลที่มีแนวความคิดต่อต้านระบอบการปกครองปัจจุบัน มีการแสดงนอกต่อภายนอกให้เข้าใจได้เช่นนั้น อาทิ การปราศรัยสาธารณะที่แสดงความคิดดังกล่าว การทุจริตการเลือกตั้งก็เป็นการกระทำหนึ่งซึ่งขัดต่อหลักประชาธิปไตยแน่นอน เนื่องจากทำให้การแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งของผู้แทนประชาชนเป็นไปโดยไม่เสมอภาค ไม่สุจริตเที่ยงธรรม
       เมื่อเทียบการกระทำต่าง ๆ ข้างต้น จะพบว่าการรับสมัครสมาชิกพรรคหรือการปราศรัยสาธารณะนั้น ไม่มีปัญหาว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองนั้น เพราะผู้แทนพรรคการเมือง ในฐานะผู้บริหารพรรค ย่อมต้องรู้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากเป็นเรื่องของกฎระเบียบ ซึ่งผู้บริหารพรรคการเมืองนั้นต้องเป็นผู้ตรา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทราบ หรือการปราศรัยนั้น เนื้อหาก็คือนโยบายของพรรคการเมืองนั้น ผู้ปราศรัย คือ สมาชิกที่ผู้บริหารพรรคการเมืองได้เลือกให้ลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ตลอดจนหัวหน้าและบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองนั้น ๆ ดังนั้น ปัญหาคือการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งอาจเป็นการกระทำส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละราย หรือเป็นการกระทำของพรรคการเมืองก็ได้ คำถามที่เหลือ คือ ใครบ้างที่กระทำการเหล่านี้แล้วผูกพันพรรคการเมือง เพราะการกระทำที่จะถือได้ว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมือง ไม่ใช่เพียงการกระทำหรือแสดงออกของสมาชิกเพียงส่วนหนึ่ง แม้ว่าพรรคการเมืองจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น หากแต่ต้องเป็นการกระทำที่กระทำลงโดยหัวหน้าพรรคการเมือง หรือ การกระทำที่กระทำลงโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรืออย่างน้อยที่สุด คือ คณะกรรมการบริหารพรรคต้องรับรู้ และยินยอมโดยปริยาย(78)
       สำหรับคำถามดังกล่าว คงจะต้องนำบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ๓-๕/๒๕๕๐ มาพิจารณากัน ผู้ที่สามารถกระทำการผูกพันพรรคการเมืองได้นั้น ในมาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๙ บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะดำเนินกิจการของพรรคการเมือง และในวรรคสอง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนในกิจการอันเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก โดยอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองทำแทนตนก็ได้ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอธิบายว่าบทบัญญัติดังกล่าวใช้ได้เฉพาะกับการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายามปกติทั่วไปเท่านั้น แต่กิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้น โดยสภาพแล้วย่อมไม่อาจเปิดเผยได้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจะมีมติหรือหัวหน้าพรรคการเมืองจะมีหนังสือมอบหมายให้ใครไปกระทำการนั้น เพราะฉะนั้น หากยึดตามบทบัญญัติมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น หากมีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมืองมอบหมาย ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจด้วย การดำเนินกิจการนั้นย่อมมีผลผูกพันพรรคการเมือง(79)
       ในส่วนของพรรคไทยรักไทยนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้กระทำความผิดนั้นเป็นกรรมการบริหารพรรคระดับสูงและกระทำการอันเป็นประโยชน์ต่อพรรคของตนทั้งที่ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าวโดยตรง และท้ายที่สุด คือ เมื่อมีการกล่าวหากันขึ้น พรรคไทยรักไทยก็ไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งที่ข้อหาดังกล่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงเชื่อได้ว่าก่อนการดำเนินการดังกล่าว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน และการกระทำนี้ผูกพันพรรคไทยรักไทย(80)
       เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เกณฑ์เรื่องตำแหน่งของบุคคลที่กระทำผิด ผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดนั้น และสุดท้าย คือ ความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรค แม้จะไม่เป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายก็ตามที
       โปรดสังเกตว่า ในกรณีของกรรมการบริหารพรรคการเมือง การกระทำจะควรจะผูกพันพรรคได้ก็ต่อเมื่อกระทำลงในนามของคณะกรรมการพรรคการเมือง มิใช่กรรมการบริหารพรรคการเมืองเพียงผู้ใดผู้หนึ่ง เช่นเดียวกับลักษณะการทำงานของนิติบุคคลอื่น อาทิ บริษัทจำกัด ที่ต้องทำการในนามของคณะกรรมการเท่านั้นจึงจะผูกพันนิติบุคคล ไม่เช่นนั้น ย่อมเป็นเพียงการกระทำส่วนบุคคลของกรรมการแต่ละคน ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแต่อย่างใด หากปรากฎข้อเท็จจริงว่ากรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยพียงคนเดียวกระทำผิดแล้วคณะกรรมการบิรหารพรรคไม่ปรากฎพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ารู้เห็น อาทิ มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง หรือเตรียมการต่อสู้คดี ผลของคำวินิจฉัยอาจผิดไปเป็นอีกแนวหนึ่งก็ได้
       จากหลักกฎหมายเรื่องการกระทำผิดของนิติบุคคล พรรคการเมืองจะกระทำผิดได้ ก็ต่อเมื่อมีวัตถุประสงค์ขัดต่อประชาธิปไตย หรือ ขัดต่อการดำรงอยู่ของรัฐ และหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำการอันเป็นความผิด หรืออย่างน้อย ต้องมีส่วนรู้เห็นด้วยภายในนามพรรคการเมือง การลงโทษพรรคการเมืองไม่ควรลงโทษเพียงเพราะการกระทำของบุคคล ต้องลงโทษเพราะการกระทำของพรรคการเมืองนั้นเอง(81) หากพรรคการเมืองมิได้รับรู้ แต่เป็นการกระทำผิดส่วนตัวของบุคคลเพียงไม่กี่คนในพรรคการเมืองนั้นแล้ว เราจะลงโทษพรรคการเมืองทั้งพรรคได้อย่างไร เพราะเมื่อลงโทษยุบพรรคการเมืองจริง ๆ แล้ว ถามว่า ผลเสียอยู่ที่ใครกันแน่ แน่นอนว่าจริง ๆ ย่อมมิใช่พรรคการเมือง ซึ่งเป็นนิติบุคคล ถูกสมมติขึ้นตามกฎหมาย แต่เป็นสมาชิกทั้งหลายในพรรคการเมืองนั้นเองที่โดนลิดรอนสิทธิในทางการเมืองต่าง ๆ ไป
       มาตรา ๒๓๗ นั้น ผิดไปจากกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เพราะกำหนดว่าหัวหน้าพรรค หรือ กรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น ซึ่งกว้างกว่าการกระทำผิดของพรรคการเมือง เนื่องจากมิได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง พิจารณาเพียงในแง่การกระทำว่าการกระทำของหัวหน้าพรรค หรือ กรรมการบริหารพรรคการเมือง มีส่วนรู้เห็น ซึ่งถ้อยคำว่ากรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น อาจหมายถึงเพียงแค่บุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนอื่นมิได้รับทราบถึงการกระทำผิดนั้นเลย จึงไม่ควรเป็นการกระทำที่มีผลผูกพันพรรคการเมืองได้ ดังนั้น การกระทำความผิดตามมาตรา ๒๓๗ นั้นจึงอาจเป็นความผิดที่กระทำลงโดยพรรคการเมือง หรือเป็นความผิดส่วนตัวของกรรมการบริหารพรรคการเมืองแต่ละบุคคลโดยไม่อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองเลยก็เป็นได้
       เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การลงโทษยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการลงโทษพรรคการเมืองทั้งพรรค เพียงเพราะการกระทำผิดเป็นการส่วนตัวของบุคคลบางคนในพรรคการเมืองนั้นเท่านั้น เป็นการบัญญัติกฎหมายอย่างกว้างขวางคลุมเครือ ไม่เป็นธรรมแก่พรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลเอง และแก่สมาชิกพรรคการเมืองคนอื่นๆที่ไม่ได้รู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วย กลับต้องถูกลงโทษ ถูกกระทบสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการสมาคม และในกรณีของกรรมการบริหารพรรคการเมืองคนอื่นที่ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดนั้น ผลร้ายที่ได้รับรวมไปถึงการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทำให้สูญเสียสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ด้วย กฎหมายที่ลงโทษประชาชน ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเช่นนี้ ทั้งที่ขัดต่อหลักการกระทำผิดของนิติบุคคลเช่นนี้ สมควรให้มีอยู่ต่อไปในระบบกฎหมายไทยหรือไม่
       
       ผลกระทบของการยุบพรรคการเมืองจากการกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
       
นอกจากผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยตรงแล้ว การยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นในการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นยังเป็นผลร้ายต่อการบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน ผลร้ายดังกล่าวเริ่มแสดงให้เห็นแล้ว จากกรณีพรรคการเมืองซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนสามพรรคอยู่ในข่ายต้องถูกยุบพรรคการเมืองเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา(82)
       แม้ว่าการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของผู้สมัครจะปรากฏความขึ้นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง แต่กระบวนการต่างๆเพื่อนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นอาศัยเวลาพอสมควรทั้งในการพิจารณาวินิจฉัยเหตุดังกล่าวโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอต่ออัยการสูงสุด และให้อัยการสูงสุดมีความเห็นสมควรยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกินระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลรับรองผู้สมัครที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนกระบวนการทางการเมืองต่างๆต่อจากนั้น อาทิ การเลือกนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี รวมถึงบริหารราชการแผ่นดินของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารเพื่อให้อุดมการณ์ของพรรคการเมืองต่างๆที่ถูกรับเลือกตั้งเข้ามานั้นเป็นความจริงในที่สุด
       เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเริ่มปฏิบัติของตนตามที่ได้รับเลือกตั้งมาแล้ว การถูกยุบพรรคการเมือง ซึ่งทำให้สมาชิกบางส่วน ทั้งผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งไป ความวุ่นวายย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาจต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาผู้มาแทนในตำแหน่งที่ขาดไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนคะแนนเสียงในสภา ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนในที่สุด ซึ่งนำไปสู่ความสับสนในการบริหารประเทศ เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวข้าราชการการเมืองในตำแหน่งสำคัญฝ่ายบริหารหลายตำแหน่ง
       ในสภาพการณ์เช่นนี้ การบริหารประเทศย่อมเป็นไปด้วยดีไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ต้องคอยระแวงตลอดเวลาว่าพรรคการเมืองของตนอาจจะถูกยุบ ตนเองอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและพ้นจากตำแหน่งไปในเวลาอันรวดเร็ว ความร่วมมือร่วมใจกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีน้อย เพราะพรรคร่วมรัฐบาลก็คอยกังวลว่าการเมืองอาจเปลี่ยนขั้วไปได้หากพรรคแกนนำรัฐบาลถูกยุบ จึงต้องคอยหาทางหนีทีไล่กับพรรคฝ่ายค้านไว้เสมอ พรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่อยากร่วมมือกับพรรคแกนนำเต็มที่ ส่วนพรรคแกนนำก็ไม่อาจไว้ใจพรรคร่วมรัฐบาลได้เนื่องจากระแวงว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจทิ้งรัฐบาลไปหากเห็นว่าพรรคแกนนำจะถูกยุบ
       นอกจากนี้ มาตรา ๒๓๗ วรรคสอง อาจกลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากขอเพียงปรากฏว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็อาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้
       
       ข้อเสนอแนะ
       การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพในทางการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพประการอื่น ๆ ก็ดี ล้วนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของหลักนิติธรรม(83) ซึ่งหลักนิติธรรมนี้ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ วรรคสอง ว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” แสดงว่ากฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรมนี้ จะใช้บังคับมิได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ นี้
       แต่บทบัญญัติเรื่องการยุบพรรคการเมืองเนื่องจากการกระทำผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มิใช่พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือการกระทำอื่นใดขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๗ เอง ดังนั้น ปัญหา คือ แล้วใครเล่าจะเป็นผู้ชี้ขาดว่ามาตรา ๒๓๗ นั้นขัดต่อหลักนิติธรรมในมาตรา ๓ หรือไม่ เพราะแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็สามารถพิจารณาได้เพียงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น มิใช่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดและให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมา และระหว่างบทบัญญัติสองมาตรานี้ เมื่อขัดกันแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร เพราะทั้งสองมาตรานี้ต่างอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีลำดับศักดิ์เท่าเทียมกันทั้งคู่
       หากยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว วิธีการแก้ไขปัญหาจากการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๒๓๗ อย่างหนึ่ง คือ การที่มาตรา ๒๓๗ นั้น เชื่องโยงกับมาตรา ๖๘ ในการขอให้พรรคการเมืองหยุดการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และอาศัยดุลพินิจศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองนั้น
       มาตรา ๖๘ บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
       ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว”
       มาตรา ๖๘ วรรคสาม ใช้คำว่า “อาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้” ถ้อยคำนี้ทิ้งไว้ในเป็นดุลพินิจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมควรยุบพรรคการเมืองที่กระทำผิดดังกล่าวหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญนำวิธีการวินิจฉัยเรื่องการกระทำความผิดของนิติบุคคลเข้ามาพิจารณาประกอบด้วยว่าควรยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองนั้น วิธีการนี้ก็สามารถป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองของประชาชนสมาชิกพรรคการเมืองได้
       ปัญหาประการเดียวของวิธีการนี้ คือ ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้มีมากน้อยเพียงใดและสามารถใช้ได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๗ บัญญัติว่า “ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” คำถาม คือ ถ้อยคำดังกล่าวย่อมเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดว่าการที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองบางคนรู้เห็นในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นการกระทำของพรรคการเมืองนั้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ช่วยพิทักษ์รัฐธรรมนูญจะสั่งไม่ยุบพรรคการเมืองได้หรือ ในเมื่อการกระทำดังกล่าวรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเป็นการกระทำผิดของพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิทักษ์ไว้อย่างแน่นอน ถ้อยคำในมาตรา ๒๓๗ นั้น ไม่เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของพรรคการเมืองซึ่งสมควรลงโทษหรือไม่ ในขณะเดียวกัน เมื่อเรื่องดังกล่าวดำเนินมาถึงมาตรา ๖๘ รัฐธรรมนูญกลับให้ดุลพินิจศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางจนอาจเรียกได้ว่าไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใด ๆ เลย สิ่งนี้จึงแสดงให้เห็นความไม่พอดีในบทบัญญัติเหล่านี้ คือ เมื่อจะจำกัดการใช้ดุลพินิจ ก็จำกัดเสียจนดุลพินิจนั้นไม่อาจใช้ได้ ต้องสันนิษฐานไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อเปิดให้ใช้ดุลพินิจก็กลายเป็นไม่มีหลักเกณฑ์ใด ๆ พอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เป็นแนวทางได้
       คำถามสำคัญ คือ เราจะฝากทุกอย่างไว้กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียวหรือ เพราะเราต้องอย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอำนาจในการตีความให้บังเกิดผลขึ้น (Authentic interpretation) การตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้นอันที่จริงอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใช้จริงก็ย่อมได้ หากการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญว่าสมควรยุบพรรคการเมืองใดหรือไม่นั้นขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร ก็เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังเขียนรัฐธรรมนูญในความเป็นจริงขึ้นมาใหม่โดยขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน
       เพื่อรักษาหลักนิติธรรม อันเป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจของรัฐมิให้ข่มเหงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในกรณีนี้ การยุบพรรคการเมืองเพียงเพราะเหตุว่ามีกรรมการบริหารพรรคการเมืองจึงควรถูกทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการกระทำผิดของนิติบุคคลให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่ผู้ที่ได้รับผลร้ายจากการลงโทษยุบพรรคการเมืองนั้น จะมีเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดนั้น ๆ และสมควรถูกลงโทษอย่างแท้จริง มาตรา ๒๓๗ จึงสมควรบัญญัติให้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยุบพรรคการเมืองนั้นได้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองนั้นมีวัตถุประสงค์อันไม่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และควรระบุให้ชัดเจนครบถ้วนว่าการกระทำอันจะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นการกระทำผิดหรือมีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดของบุคคลผู้เป็นผู้แทนหรือสามารถกระทำการผูกพันพรรคการเมืองนั้นได้
       
       บทสรุป
       
“ปฏิญญาสากลอันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนี้ ข้าพเจ้าก็ยังนับถือเชิดชูอยู่เสมอ ...แต่ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าจะต้องรักษาเสถียรภาพ เอกราชและความมั่นคงของชาติอยู่เสมอ ดังเช่นที่ข้าพเจ้าปฏิบัติอยู่แล้วในทุกวันนี้”(84)
       จากคำกล่าวข้างต้น ผู้ที่กล่าวประโยคนี้ได้นำประเทศเข้าสู่ยุคแห่งการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรงที่สุดยุคหนึ่ง ผู้พูดได้พยายามอ้างเสถียรภาพของชาติเหนือกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเป็นอุทาหรณ์อันดีสำหรับผู้ที่คิดจะอ้างคุณค่าอื่นขึ้นเหนือกว่าหัวใจของประชาธิปไตย
       เช่นเดียวกัน ในปัจจุบัน สิทธิเสรีภาพต่างๆของปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมพรรคการเมืองได้ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก ซึ่งหมายถึงว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และเจตนารมณ์ของปวงชนได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย โดยการอ้างความสุจริต เที่ยงธรรม และการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยเองโดยไม่คำนึงถึงเนื้อหา
       การลงโทษพรรคการเมืองที่กระทำผิดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น หากประชาธิปไตยยังต้องการคงอยู่ได้ แต่บทบัญญัติที่อนุญาตให้ยุบพรรคการเมืองได้เพียงเพราะการกระทำส่วนบุคคลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งอาจไม่มีผลผูกพันพรรคการเมือง ได้ทำให้การยุบพรรคการเมืองกระทำได้โดยง่าย และเป็นผลร้ายกับประชาชน ไม่ว่าจะโดยการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองของประชาชนแต่ละราย หรือ การกำจัดตัวกลางในการสื่อสารกับรัฐบาลและผู้แทนของปวงชนชาวไทย สร้างความวุ่นวายบั่นทอนเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ตลอดจนเป็นการลิดรอนสภาพความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยโดยรวมทั้งหมด
       เหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาในช่วงสองสามปีมานี้ ทำให้พรรคการเมืองถูกมองอย่างหวาดระแวงจากประชาชน บทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ สะท้อนความไม่ไว้วางใจของประชาชนได้อย่างชัดเจน หากทว่าพรรคการเมืองนั้นยังคงเป็นสถาบันสำคัญสถาบันหนึ่งในการผดุงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากปัญหาเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นยังมิได้รับการแก้ไข มาตรา ๒๓๗ จะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองและทำลายประชาธิปไตยลงได้ ตลอดจนนำประเทศไทยมุ่งหน้าเข้าสู่ความขัดแย้ง
       
       เชิงอรรถ
       1.ทั้งนี้ไม่รวมถึงพรรคทางเลือกที่สาม หรือ Third Party ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงลักษณะพิเศษต่าง ๆ อาทิ ไม่มุ่งหวังจะให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ หรือชนะการเลือกตั้ง
       2.John Kenneth White, What is a Political Parties, Handbook on Party Politics, edited by Richard Katz and William Crotty, Sage Publications, 2006, p. 6-7.
       3.สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๘), หน้า ๑๕๙.
       4.ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ อ้างถึงใน กนก วงศ์ตระหง่าน, พรรคการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๖), หน้า ๓๘.
       5.หยุด แสงอุทัย, พรรกการเมือง, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดวงกมล, ๒๕๑๗), หน้า ๙.
       6.เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๑.
       7.สีดา สอนศรี และคณะ, พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศึกษาเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย, (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๕) หน้า ๒๘๔.
       8.เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๘๔-๒๘๗.
       9.กนก วงศ์ตระหง่าน, พรรคการเมืองไทย, หน้า ๓๘.
       10.เพิ่งอ้าง, หน้า ๔๐.
       11.ผู้สนใจสามารถศึกษาลักษณะที่แตกต่างของพรรคการเมืองในประชาธิปไตยไทยได้จาก กนก วงศ์ตระหง่าน,พรรคการเมืองไทย, หน้า ๖๑-๑๐๐.
       12.กนก วงศ์ตระหง่าน, พรรคการเมืองไทย, หน้า ๔๘-๕๒.
       13.สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐, หน้า ๑๖๑.
       14.Majorie Randon Hershey, Political Parties as Mechanisms of Social Choice, Handbook of Party Politics, p. 79.
       15.สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐, หน้า ๑๖๑.
       16.เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๖๒.
       17.ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร, รัฐศาสตร์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๕) ๒๕๕๐ หน้า ๑๓๘.
       18.บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๙) หน้า ๒๙-๓๐.
       19.Yigal Mersel, The dissolution of political parties: The problem of internal democracy, International Journal of Constitutional Law, 1 Jan 2006, p.3. www.westlawinternational.com
       20.Susan E. Scarrow, The Nineteenth-Century Origins of Modern Political Parties: The Unwanted Emergence of Party-based Politics, Handbook of Party Politics, p.16-17, 19, 21.
       21.William Crotty, Party Origins and Eveolution in The United States, Handbook of Party Politics, p. 25.
       22.อมร รักษาสัตย์ และคณะ, ประชาธิปไตย อุดมการณ์ หลักการ และแบบอย่างการปกครองหลายประเทศ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๕๑.
       23.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๖), หน้า ๖๘-๖๙ และ Susan E. Scarrow, The Nineteenth-Century Origins of Modern Political Parties: The Unwanted Emergence of Party-based Politics, p 17.
       24.หยุด แสงอุทัย, พรรคการเมือง, หน้า ๓๐.
       25.Susan E. Scarrow, The Nineteenth-Century Origins of Modern Political Parties: The Unwanted Emergence of Party-based Politics, p. 17.
       26.Yigal Mersel, The dissolution of political parties: The problem of internal democracy, p.4.
       27.Government Commits to Seeking a Ban of the Extreme Right-Wing National Democratic Party of Germany (NPD). German Law Journal No. 2, 1 November 2000.
       28.Yigal Mersel, The dissolution of political parties: The problem of internal democracy, p.3.
       29.หยุด แสงอุทัย, พรรคการเมือง, หน้า ๗๙-๘๐.
       30.เพิ่งอ้าง, หน้า ๘๐-๘๑.
       31.Yigal Mersel, The dissolution of political parties: The problem of internal democracy, p.3.
       32.Oscar Gruenwald, Toward an open society: The enigma of the 1989 revolution in Eastern Europe, Journal of Interdisciplinary Studies, vol. 18, no. 1-2, 2006, p. 26, wilsonweb.com
       33.Jozsef Bayer, The process of the change of the political system in Hungary; Deepening crisis, emerging opposition, East European Quarterly, vol.39, no.2, June 2005, p. 131-132. wilsonweb.com
       34.Susan E. Scarrow, The Nineteenth-Century Origins of Modern Political Parties: The Unwanted Emergence of Party-based Politics, p 19.
       35.Alexander de Torgueville, Democracy in America อ้างถึงใน Redlich, Norman et al., Understanding constitutional law, New York : M Bender, 1999, p. 370.
       36.Richard Clayton and Hugh Tomlinson, The Law of Human Right, New York, Oxford University Press, 2000, p.1146.
       37.คำแปลจาก http://www.deksalween.com
       38.Christian Tomuschat, Human Rights Between Idealism and Realism, New York, Oxford University Press, 2003, p. 52.
       39.Ibid, p. 53.
       40.Richard Clayton and Hugh Tomlinson, the Law of Human Right, p. 1171.
       41.Henry J. Steiner and Philip Alston, International Human Rights in Context Law, Politics, Morals, New York, Oxford University Press, 2000, p 142.
       42.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๖), หน้า ๖๕-๖๙.
       43.Aharon Barak, The Judge in a Democracy, Princeton University Press, p.30.
       44.Ibid, p 30.
       45.Ibid, p 30.
       46.บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, หน้า ๒๕๕.
       47.Barak, The Judge in a Democracy, p. 29.
       48.บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, การเลือกตั้งและพรรคการเมือง : บทเรียนจากเยอรมัน, (กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, ๒๕๔๒), หน้า ๙๐.
       49.Chau Pak-kwan, The Regulatory Framework of Political Parties in Germany, the United Kingdom, New Zealand, and Singapore, Research and Library Services Division, Legislative Council Secretariat, 2004, p. 3, http://www.legco.gov.hk/yr03-04/english/sec/library/0304rp05e.pdf
       50.Wolfgang C. Müller and Ulrich Sieberer, Party Law, Handbook of Party Politics, edited by Richard S. Katz & William Crotty, p. 438.
       51.บุญศรี, การเลือกตั้งและพรรคการเมือง : บทเรียนจากเยอรมัน, หน้า ๙๑.
       52.รัฐบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับภาษาอังกฤษสามารถดูได้จาก http://www.bundestag.de/htdocs_e/parliament/function/legal/politicalparties.pdf
       53.Peter Niesen, Anti-Extremism. Negative Republicanism, Civic Society: Three Paradigms for Banning Political Parties-Part I, German Law Journal No.7, 2 July 2002,
       54.Ibid.
       55.Ibid.
       56.Ibid, โปรดดูความพยายามในการยุบพรรค NPD ของรัฐบาลเยอรมนีในปัจจุบันใน Government Commits to Seeking a Ban of the Extreme Right-Wing National Democratic Party of Germany, German Law Journal No. 2, 1 November 2000.
       57.Government Commits to Seeking a Ban of the Extreme Right-Wing National Democratic Party of Germany.
       58.บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, หน้า ๒๕๖.
       59.หยุด แสงอุทัย, พรรคการเมือง, หน้า ๑๖๓.
       60.ตามความในมาตรา ๓๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
       61.คำวินิจฉัยนี้ยังมีปัญหาอื่นอยู่อีก อาทิ ปัญหาการใช้กฎหมายย้อนหลัง ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมาก
       62.คณะกรรมการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ, เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐, (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๕๐) หน้า ๒๒๗-๒๒๘
       63.เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๒๘.
       64.อมร รักษาสัตย์ และคณะ, ประชาธิปไตย อุดมการณ์ หลักการ และแบบอย่างการปกครองหลายประเทศ, หน้า ๗.
       65.Alex Carroll, Constitutional and Administrative Law, Pearson Education Limited, 2003, p.40.
       66.ข้อเขียนของ Dicey ในเรื่องหลักนิติธรรมนั้นต้องถูกพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้เพราะ Dicey ได้ถูกวิจารณือย่างมากมายในเรื่องการโจมตีการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง Dicey ไม่เห็นด้วยกับการให้ฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจได้ โดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน แต่ในเรื่องหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรมนั้น ข้อเขียนของ Dicey ยังเป็นข้อเขียนที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป สำหรับข้อวิจารณ์ข้อเขียนของ Dicey สามารถดูได้จาก ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศาสนต์, กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, (กรุงเทพฯ : สื่อปัญญา, ๒๕๔๐)
       67.A. V. Dicey, Introduction to the Study of the Law of the Constitution, English Language Book Society and Macmiliian & co. ltd., p. 188.
       68.ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, เหลียวหลังดูกฎหมายและความยุติธรรม, หน้า ๒๒.
       69.A. V. Dicey, Introduction to the Study of the Law of the Constitution, p. 189.
       70.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๑, หน้า ๗๑.
       71.บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๔๓), หน้า ๓๒
       72.ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติบุคคลและความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๒) ๒๕๔๙, หน้า ๙๔-๙๗.
       73.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค ๑, หน้า ๑๓๐.
       74.ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติบุคคลและความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล, หน้า ๒๕๓.
       75.ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๘๗-๗๘๘/๒๕๐๖ และข้อโต้แย้งการนำหลักกฎหมายแพ่งมาใช้ในกฎหมายอาญาในกรณีนี้ใน สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับคำพิพากษฎีกาที่ ๓๔๔๖/๒๕๓๗ เรื่อง ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล
       76.ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติบุคคลและความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล, หน้า ๒๕๓.
       77.Aharon Barak, p. 32.
       78.ดูคำสัมภาษณ์ของ วรเจต ภาคีรัตน์, www.thaipost.net วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๐
       79.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๓๓ ก วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐, หน้า ๘๔-๘๕.
       80.หน้า ๘๕-๘๙.
       81.ผู้สนใจโปรดดูแนวทางในการลงโทษพรรคการเมือง จากข้อที่ ๑๓ ของ Guidelines on Prohibition and Dissolution of Political Parties and Analogous Measure จัดทำขึ้นโดย Venice Commission ใน European Commission of Democracy.
       82.๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐
       83.โปรดดูคำอธิบายเรื่องหลักนิติธรรมนี้ ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, หลักนิติธรรมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย, ใน สองปีสถาบันรพีพัฒนศักดิ์ สองปีนิติศาสตร์เสวนา, (กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลยุติธรรม, ๒๕๕๑) หน้า ๔๖.
       84.คำปราศรัยในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชน ๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๔, ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. ๒๕๐๗ อ้างใน เสนห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนูษยศาสตร์, ๒๕๔๙) หน้า ๒๖๐.


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1276
เวลา 19 เมษายน 2567 08:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)