ครั้งที่ 198

27 ตุลาคม 2551 03:54 น.

       ครั้งที่ 198
       สำหรับวันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม ถึงอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน 2551
       
       “คณะกรรมการปฎิรูประบบท้องถิ่นของฝรั่งเศส”
       
       ผมเดินทางมายังประเทศฝรั่งเศสได้หลายวันแล้วครับ ช่วงนี้ก็เลยไม่มีโอกาสได้ติดตามข่าวคราวทางการเมืองของประเทศไทยมากเท่าไหร่เพราะยุ่งเกือบทุกวัน แต่ความเครียดที่ติดตัวมาจากเมืองไทยก็ไม่หมดไปง่ายๆ เพราะเพื่อนๆชาวฝรั่งเศสทั้งที่เป็นอาจารย์และไม่ได้เป็นอาจารย์ต่างก็สนใจถามไถ่ปัญหาเกี่ยวกับการเมืองของไทยกันมาก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล  ทุกคนที่ตั้งคำถามต่างก็แปลกใจไปตามๆกันว่า ทำไมเราจึงปล่อยให้ประชาชนเข้าไปยึดสถานที่ทำงานของทางราชการไว้ได้เป็นเวลานานโดยรัฐไม่ดำเนินการอะไรเลย เพื่อนอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเป็นนักกฎหมายมหาชนถึงกับบอกว่าขนาด “สมบัติ” ของรัฐเอง รัฐยังไม่สามารถคุ้มครองได้แล้ว “สมบัติ” ของประชาชนจะเป็นอย่างไร รัฐจะให้ความมั่นใจกับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหนว่ารัฐจะ “คุ้มครอง” ทรัพย์สินและประชาชนได้ ฟังแล้วก็ได้แต่อึ้งไปเพราะผมเองก็ไม่ทราบว่าจะให้ความเห็นอะไรได้ ดูๆแล้วทุกวันนี้น่าจะใกล้ถึง “ทางตัน” เข้าไปทุกทีแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออกและไม่ยอมยุบสภา เพราะมั่นใจว่าปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือสภาผู้แทนราษฎร แต่ประชาชนที่ชุมนุมอยู่มีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ ทหารก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ วันนี้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็คงต้องปล่อยไป “ตามเวรตามกรรม” ดูกันไปวันต่อวันโดยไม่สามารถคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ ความล่มสลายของทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเราครับ เราคงมองไปไกลถึง “อนาคต” ของประเทศไทยไม่ได้หรอกครับ คงทำได้แต่คิดว่า วันพรุ่งนี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปเท่านั้นเอง !!!
       
ผมมาประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้ก็เพื่อเข้าร่วมในการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่งที่ผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมของวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวครับ โดยก่อนหน้าที่จะทำการสอบนักศึกษาดังกล่าว 1 วัน ก็มีการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาชาวฝรั่งเศส 1 คนที่ผมรู้จักเป็นอย่างดีด้วย ก็เลยทำให้ผมได้เข้าร่วมการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ 2 ครั้งติดต่อกัน  การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของฝรั่งเศสในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากสมัยที่ผมสอบมาก เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกกรรมการสอบซึ่งก็มีการกำหนดไว้ว่าจะต้องประกอบด้วยบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าบุคคลภายในมหาวิทยาลัย วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาไทยมีการตั้งกรรมการสอบ 5 คน โดยมาจากมหาวิทยาลัยอื่นอีก 2 คน และอีก 1 คน คือ ผมที่มาจากต่างประเทศครับ การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์จะเริ่มได้ต้องมีการให้คณะกรรมการสอบส่งรายงานการอนุมัติการสอบอย่างเป็นทางการมาก่อนล่วงหน้าว่าให้สามารถให้ดำเนินการสอบได้   โดยในวันสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ การสอบเริ่มต้นเมื่อกรรมการมาครบ และกรรมการทุกคนต้องสวมชุดครุยสีดำแดง ประธานกรรมการสอบกล่าวแนะนำกรรมการให้กับนักศึกษา และผู้เข้าร่วมรับฟัง ซึ่งส่วนใหญ่โดยทั่วไปก็จะเป็นเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องของผู้สอบ หรือผู้ที่สนใจเพราะเป็นการสอบที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปมารับฟังได้ ผู้สอบมีเวลา 15 นาทีที่จะสรุปงานของตนที่ทำมาตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี ต่อคณะกรรมการ เมื่อผู้สอบสรุปผลงานของตนเสร็จ อาจารย์ที่ปรึกษาก็จะกล่าวถึงวิธีการทำงานร่วมกันของตนกับนักศึกษา กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ต่อมาก็จะเป็นการซักถามจากกรรมการแต่ละคน


       เมื่อการซักถามเสร็จสิ้น ประธานการสอบก็จะกล่าวสรุปและคณะกรรมการก็จะออกจากห้องไปประชุมกันในห้องข้างๆเพื่อสรุปผลการสอบและ “ระดับ” ของเกียรตินิยมที่จะได้รับ พร้อมลงนามร่วมกันในเอกสารต่างๆหลายชิ้น เมื่อเสร็จกระบวนการ คณะกรรมการก็ทยอยกลับเข้ามาในห้องสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อแจ้งผลการสอบต่อผู้สอบว่าสำเร็จผลการศึกษาระดับปริญญาเอก และได้รับเกียรตินิยมระดับใด เมื่อประธานแจ้งผลการสอบเสร็จ ผู้เข้าร่วมฟังการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ก็พร้อมใจกันปรบมือโห่ร้องแสดงความยินดีต่อผู้สอบ ทุกคนมีความสุข ตัวผู้สอบเองก็เช่นกัน จากนั้นผู้สอบก็จะกล่าวขอบคุณคณะกรรมการ  โดยธรรมเนียมปฎิบัติจะมีการจัดงานฉลองเล็กๆใกล้ห้องสอบโดยเพื่อนฝูงของผู้สอบต่างก็นำอาหารว่างและขนมมาร่วมฉลองกัน และที่ขาดไม่ได้ คือ การดื่มแชมเปญเพื่อแสดงความยินดีต่อ “ชัยชนะ” ของผู้สอบครับ

       การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาไทยที่ผมมาร่วมด้วย ก็เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น จะที่เพิ่มเติมก็คือ อาจารย์ที่ปรึกษาหลักชาวฝรั่งเศสได้กล่าวในตอนเริ่มต้นของการสอบว่า ผู้สอบเป็นคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขากฎหมายมหาชนด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็หมายความว่าผู้สอบได้ผ่านการศึกษารายวิชาต่างๆและทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาฝรั่งเศสเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยดังกล่าว เหตุผลที่อาจารย์ที่ปรึกษาหลักกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะในอดีตที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย Nantes และมหาวิทยาลัยอื่นได้มีการสร้าง “รอยด่าง” ให้กับระบบการศึกษาระดับปริญญาเอกของฝรั่งเศสเอาไว้ด้วยการยอมให้นักศึกษาจากบางประเทศนำวุฒิการศึกษาของประเทศตนมาเทียบ และบางมหาวิทยาลัยก็ยอมให้บางคนทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกได้โดยไม่ต้องทำการศึกษารายวิชาต่างๆก่อน บางมหาวิทยาลัยก็ยอมให้ “ผู้ที่มาแสวงหาเฉพาะใบปริญญา” บางคนทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอื่นที่มิใช่ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งกรณีต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสไม่ยอมรับ เพราะการศึกษารายวิชาซึ่งจะต้องมีการสอบด้วยนั้นเป็นส่วนสำคัญสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้เองที่ในการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา อาจารย์ที่ปรึกษาหลักชาวฝรั่งเศสจึงได้กล่าวแสดงการ “ยอมรับ” ผู้สอบในวันดังกล่าวว่าเป็นคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขากฎหมายมหาชนด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นครับ
       ในปัจจุบัน การศึกษาระดับปริญญาเอกของประเทศฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัยบางแห่งมีปัญหาจากการยอมให้มีการนำวุฒิการศึกษามาเทียบหรือยอมให้มีการทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอื่น ซึ่งก็เป็นเรื่องยาวและเป็นเรื่องปัญหาของระบบการศึกษาที่สำคัญ คงต้องหาเวลามาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดต่อไปครับ
       ข่าวด้านการเมืองของฝรั่งเศสในช่วงเวลาที่ผมมาอยู่ก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไรนัก แต่มีอยู่ข่าวหนึ่งซึ่งผมสนใจและก็น่าจะนำมาเล่าให้ฟังอย่างสั้นๆ เพราะด้วยเวลาที่มีอย่างจำกัดของผมกับข้อมูลที่ไม่มีเวลาหาเพิ่มเติม ก็ทำให้ผมสามารถทำได้แค่นี้จริงๆครับ
       คงจำกันได้ว่า ผมได้เคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อประธานาธิบดี Sarkozy เข้าสู่ตำแหน่งได้ไม่นาน ก็ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆของสาธารณะรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลย์ยิ่งขึ้น” เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าวก็นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายๆมาตราเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Sarkozy ก็ได้รุกคืบเข้าไปอีกระดับหนึ่งด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการปฎิรูประบบท้องถิ่น ขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของฝรั่งเศส คณะกรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วย นาย Edouard Balladur อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธาน คณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆของสาธารณะรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลย์ยิ่งขึ้น ทำหน้าที่เป็นประธาน กรรมการอื่นอีก 10 คน มาจากสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล 2 คน ซึ่ง 1 ใน 2 คนเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและเป็น “เจ้าของ” กฎหมายกลางเกี่ยวกับการกระจายอำนาจของประเทศฝรั่งเศสฉบับปี ค.ศ.1982 ซึ่งถือกันว่าเป็นกฎหมายที่นำประเทศฝรั่งเศสไปสู่การกระจายอำนาจที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนกรรมการอื่นอีก 6 คน ก็มาจากผู้ว่าการจังหวัด 2 คน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน สมาชิกสภาแห่งรัฐ และอาจารย์มหาวิทยาลัยประเภทละ 1 คน ซึ่งทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งก็มีการระบุบชื่อทั้งหมดครับ คณะกรรมการชุดนี้มีเวลาในการทำงาน 3 เดือน โดยงานที่ต้องทำก็คือ การทบทวนระบบการกระจายอำนาจและหารูปแบบกับโครงสร้างที่เหมาะสม โดยประธานาธิบดีได้กล่าวย้ำกับคณะกรรมการว่า ไม่ได้ต้องการแค่รายงานผลการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมที่สามารถนำมาปฎิบัติได้ด้วย
       ปัญหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสก็มีอยู่มาก แม้ฝรั่งเศสจะมีการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากว่า 200 ปีแล้วก็ตาม แต่การกระจายอำนาจของฝรั่งเศสก็เพิ่งจะเป็นรูปธรรมมาเมื่อไม่นานนี้เอง โดยกฎหมายกลางเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ค.ศ.1982 ถือว่าเป็นกฎหมายที่นำประเทศฝรั่งเศสไปสู่การกระจายอำนาจที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น จากนั้นก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจตามมาอีกหลายฉบับ รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้ประเทศฝรั่งเศสเป็น “สาธารณรัฐที่ใช้ระบบการกระจายอำนาจ” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่การแก้ไขกฎหมายทั้งหมดก็ไม่ช่วยให้ระบบการกระจายอำนาจของฝรั่งเศสดีขึ้น เพราะปัญหาต่างๆของระบบการกระจายอำนาจนั้นมีมาก และเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆมากมาย ด้วยเหตุนี้เองที่ประธานาธิบดี Sarkozy ได้ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา โดยกำหนดกรอบของการศึกษาไว้ 4 กรอบใหญ่ด้วยกันคือ ศึกษาโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ โดยในปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ระดับคือ ภาค 26 ภาค จังหวัด 100 จังหวัด และเทศบาลอีก 36,782 เทศบาล การมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสัมพันธ์หรือค่าใช้จ่ายต่างๆที่มีจำนวนสูงมาก ซึ่งก็มีเสียงเรียกร้องให้ยุบจังหวัดเสีย และสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นให้มากขึ้น ศึกษาอำนาจหน้าที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาระบบการเงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ เพราะปัจจุบันมีขั้นตอนในการอนุมัติอนุญาตที่ยุ่งยากและซับซ้อนจนทำให้การแก้ปัญหาต่างๆขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้า และศึกษาระบบภาษีท้องถิ่นใหม่ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ทั้งจากการสนับสนุนของรัฐและจากการจัดสรรสัดส่วนภาษีอากรต่างๆเพิ่มมากขึ้นครับ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลงานของคณะกรรมการชุดนี้จะ “ดี” เหมือนผลงานของคณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆของสาธารณะรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลย์ยิ่งขึ้น หรือไม่
       ขอกลับมาเหตุการณ์ของประเทศไทยเล็กน้อยครับ จริงๆแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการประเภทดังกล่าวแบบฝรั่งเศสขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาของประเทศก่อนที่จะคิดแก้หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะไม่ลองนำข้อเสนอของผมไปทบทวนดูหน่อยหรือครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียวครับ บทความนี้เป็นบทความที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "ข้อสงสัยในวิธีพิจารณาคดีแบบไต่สวนกรณีคดีที่ดินรัชดาฯ" ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1296
เวลา 25 เมษายน 2567 04:27 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)