ครั้งที่ 199

10 พฤศจิกายน 2551 00:29 น.

       ครั้งที่ 199
       สำหรับวันจันทร์ที่ 10 ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2551
       
       “สสร. 3 คือทางออกแก้วิกฤต ???”
       
       ผมกลับมาจากฝรั่งเศสได้ 2 สัปดาห์แล้วครับ แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไรแต่เหตุการณ์ภายในบ้านเมืองของเราก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คนที่ “ท้าทาย” ก็ยังคงท้าทายอยู่ คนที่ “ทำผิดกฎหมาย” ก็ยังคงทำผิดกฎหมายอยู่ รัฐบาลและฝ่ายปกครองที่ “ไม่ยอมทำอะไรเลย” และ “ไม่กล้าทำอะไรเลย” ก็ยังคงไม่ยอมทำอะไรเลยและไม่กล้าทำอะไรเลยอยู่เหมือนเดิม รวมความแล้ว ปัญหาของประเทศไทยก็ยังคงมีอยู่ต่อไป จะหนักจะเบาก็เป็นไปตามเหตุการณ์ในแต่ละวันที่เกิดขึ้นเอง และที่สร้างกันขึ้นมาครับ
       ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความพยายามของคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองซึ่งผมก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ความพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองนั้นจริง ๆ แล้วมีวัตถุประสงค์ใดแอบแฝงอยู่หรือไม่ หรือว่าบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ที่จะเข้ามาดำเนินการ เพราะบางครั้งในฐานะของนักกฎหมาย ข้อเสนอประเภท “เจรจา” กับผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ชัดแจ้งและถาวร ไม่น่าจะเป็นข้อเสนอที่ “ถูกต้อง” เท่าไรนักครับ อย่างน้อยหากผู้ที่ทำผิดกฎหมาย “เลิก” ทำผิดกฎหมายก่อน การเจรจาจึงเป็นสิ่งที่ “อาจ” ตามมาครับ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอประเภท “สานเสวนา” รวมไปถึง “แถลงการณ์” หรือ “อภิปราย” ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในเวลานี้ จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศออกจากวิกฤติได้ เพราะการดำเนินการเหล่านั้นไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของปัญหา ปัญหาที่แท้จริงในวันนี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มคน 2 กลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอย่างไรแน่นอน แต่ที่ทราบแน่นอนก็คือกลุ่มคนทั้ง 2 ต่างก็ยึด “ทฤษฎีว่าด้วยความคิดเห็นตรงกันข้าม” มาเป็นหลักในการดำเนินการทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองของตน กล่าวคือ ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งจะคิดเห็นหรือพูดอะไร อีกฝ่ายหนึ่งก็จะคิดเห็นหรือพูดในสิ่งที่ตรงกันข้ามในทุกเรื่องโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ภายใต้ทฤษฎีว่าด้วยความคิดเห็นตรงกันข้าม หากรัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงใครเลยและมุ่งมั่นที่จะคิดอย่างไม่ไตร่ตรองให้ละเอียดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกแก้วิกฤตของประเทศ ก็คงต้องขอแสดงความเสียใจไว้ล่วงหน้าว่าอีกฝ่ายหนึ่งคงออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งหากรัฐบาลยังดึงดันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป การคัดค้านก็คงจะมากขึ้นและหนักขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่การระดมกำลังมาต่อสู้กันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้คงจะมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นและบ้านเมืองก็จะวุ่นวายหนักขึ้น แค่นึกก็เครียดแล้วครับ
       ส่วนข้อเสนอของกลุ่มที่จะใช้วิธี “สานเสวนา” ที่คิดว่าการเจรจาอาจเป็นทางออกแก้วิกฤตนั้น ดู ๆ ไปแล้วไม่น่าจะทำได้ดีเท่าที่ทางกลุ่มตั้งใจไว้ เพราะเท่าที่ฟังข่าว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคงไม่ยอมเจรจากับกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเหตุผลก็คงอาจเป็นเพราะ “ไม่ไว้ใจ” ก็ได้นะครับ ผมว่าถ้าจะให้เป็นไปได้ หากคิดว่าการเจรจาจะแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศไทยได้ คณะผู้เจรจาคงจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าไปก่อนว่าจะเจรจาเรื่องอะไร เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะมูลเหตุของการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นมีอยู่มากมายเหลือเกิน และมูลเหตุต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปทุกวันและเพิ่มมากขึ้นทุกวันตามวัน เวลาและเหตุการณ์ที่ผ่านไป ที่ถูกควรจะต้องทำการ “เก็บรวบรวมบรรดาข้อเรียกร้องและข้อคัดค้าน” ต่าง ๆ ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ครบถ้วนเรียบร้อยเสียก่อน แล้วส่งให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตรวจสอบบรรดาข้อเรียกร้องทั้งหมดว่ายังมีอยู่หรือไม่ จะแก้ไขเพิ่มเติมข้อเรียกร้องอะไรอีกหรือไม่ เมื่อได้ข้อยุติเรื่องดังกล่าวแล้วจึงค่อยไปเตรียมหาคำตอบ หาทางออก หรือหาทางแก้ไขบรรดาข้อเรียกร้องและข้อคัดค้านเหล่านั้นให้ได้ แล้วจึงค่อยมา “สานเสวนา” ร่วมกันเพื่อหาข้อยุติปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมของเราต่อไปครับ ไม่ทราบว่า “ข้อเสนอ” ของผมข้างต้นจะมีใครพอทำได้ไหม ผมคิดว่า หากไม่เป็นไปตามข้อเสนอข้างต้นก็คงเจรจากันลำบากเพราะไม่รู้ว่าจะเจรจาเรื่องอะไรกันอย่างแน่นอน สู้ทำบัญชีข้อเรียกร้องและข้อคัดค้านกันก่อนแล้วค่อยมาหาทางออกกันทีละข้อจะเป็นไปได้มากกว่า ก็อย่างที่เราทราบนะครับว่าปัญหาของประเทศในวันนี้อยู่ที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแต่เพียงฝ่ายเดียว ยิ่งเห็นท่าทีว่าจะไม่ยอมรับอะไรเลยแถมยังจะคัดค้านไปทุกเรื่องด้วยแล้วก็ยิ่งมองไม่เห็นทางออกของวิกฤติการณ์ครั้งนี้เลยครับว่าจะเป็นไปในทางใด นอกจากนี้ “ภาคส่วน” ต่าง ๆ ในสังคมของเราก็ค่อนข้างที่จะ “มองไม่เห็น” สิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ทำลงไปไม่ว่าจะเป็นการใช้สถานีโทรทัศน์ “ส่วนตัว” โจมตี หมิ่นประมาท ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด การเข้ายึดสถานที่ราชการเป็นเวลานาน การกีดขวางทางจราจรอย่างต่อเนื่องหลายเดือน การเดินขบวน ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ดู ๆ ไปแล้วสังคมไทยเราค่อนข้างที่จะ “เพิกเฉย” และ “ไม่ให้ความสำคัญ” กับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่กลับไปให้ความสำคัญอย่างมากมายและเอาเป็นเอาตายกับ “ความเห็นที่มีลักษณะปลุกระดม” ของคนบางคนครับ ก็ดูว่าขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ในวันนี้กำลัง “หนี” อยู่ต่างประเทศโทรศัพท์เข้ามาร่วมรายการก็เอามาตีความและตรวจสอบกันวุ่นวายไปหมดจนถึงขนาดสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้คนและสื่อมวลชนจำนวนมากจนกระทั่งกลายเป็น “ความผิดฉกรรจ์” เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ข้อหาและก็ตามมาถึงข้อเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับความผิดฉกรรจ์นั้น !! แต่ทำไมความผิดฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นและเห็นอยู่ตำตาจึงไม่มีใครเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดบ้างก็ไม่ทราบได้ ในวันนี้หากจะให้เกิดสันติภาพในสังคมของเรา ที่ถูกทุกฝ่ายควรจะต้องหยุดการกระทำทุกประเภทที่น่าจะ “เป็นภัย” ต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เลิกชุมนุม และออกนอกสถานที่ราชการและทางสาธารณะ กลับเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามปกติ ใครทำผิดอะไรก็ต้องว่ากันไปตามนั้น ล้างตัวให้สะอาด ตั้งสติให้ดี ๆ แล้วค่อยมาดูกันต่อไปว่า “จะแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวกันอย่างไร”
       ผมมองดูความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาของประเทศในครั้งนี้แล้วมีข้อสงสัยอย่างมากว่า แท้ที่จริงแล้วรัฐบาลต้องการอะไรกันแน่ มีความเกี่ยวโยงกับ “ประโยชน์ส่วนตัว” บ้างไหม เพราะในสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายใต้ทฤษฎีว่าด้วยความคิดเห็นตรงข้าม หากรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีโจทย์ที่ชัดเจนแน่นอน ความขัดแย้งก็ต้องปรากฏอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวไปแล้วข้างต้นในเรื่องของการ “เจรจา” ที่ถูกที่ควรก็ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ให้จบสิ้นก่อน แล้วก็ค่อยมาพิจารณาดูว่า จะแก้รัฐธรรมนูญไหม แก้เพื่ออะไร แก้ไขเรื่องอะไรบ้าง และมีเหตุผลอย่างไรที่จะแก้ไขในเรื่องเหล่านั้น การตั้ง สสร. 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นที่แน่นอนว่าคงต้องสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมแน่ ๆ เริ่มตั้งแต่ตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็น สสร. จำนวน 120 คน ที่มาจากตัวแทนของทุกจังหวัดรวม 76 คน นักวิชาการ 24 คน และตัวแทนสาขาอาชีพอีก 20 คน ซึ่งก็จะต้องถูกตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นพวกใคร ปัญหาประการต่อมาก็คือ สาระของรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขซึ่งก็เช่นเดียวกับเรื่องแรกคือ ต้องมีข้อสงสัยว่า แก้ไปทำไม แก้เพื่อใคร ตอนจบทราบว่าจะนำออกมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติอีกนี่ยิ่งร้ายเข้าไปใหญ่ เพราะนอกจากจะต้องเสียเงินจำนวนมากมายมหาศาลภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย การออกเสียงประชามติยังจะมีผลไปตอกย้ำความแตกแยกในสังคมให้แตกแยกมากขึ้นไปอีก จากเหตุผลสั้น ๆ อย่างกว้าง ๆ ข้างต้นที่ผมต้องขอให้รัฐบาลหยุด การดำเนินการที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อจัดตั้ง สสร. 3 เอาไว้ก่อนจนกว่าจะแก้ไขความขัดแย้งในสังคมได้ และในขณะเดียวกันพร้อม ๆ กันไปเพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาข้อเสนอของผมที่ปรากฏอยู่ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 196 และ 197 ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อศึกษาวิเคราะห์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลา 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญหรือเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ (อย่าลืมทาบทามคุณชวน หลีกภัย มาเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ให้ได้นะครับ !!!) เมื่อได้คำตอบจากคณะทำงานแล้วจึงค่อยมาดูกันต่อไปว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไปไกลถึงขนาดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือสร้างระบบการเมืองใหม่กันครับ ก็ขอฝากข้อเสนอทั้งหมดเอาไว้ด้วยนะครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 3 บทความมานำเสนอด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง "การปฎิรูปการเมือง(ของคนไทย) ครั้งที่ ๓ จะสำเร็จหรือล้มเหลว (?)" โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบรูณ์ และบทความอีกสองบทความนั้นเป็นบทความของผู้เขียนคนเดียวกัน คือ คุณพิเชฎฐ์ เพชรรัตน์ เรื่อง"การกระทำของป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน และ ค.ต.ส. ที่ใช้อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” และ บทความเรื่อง “ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้หรือไม่” ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1298
เวลา 29 มีนาคม 2567 05:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)