ครั้งที่ 200

23 พฤศจิกายน 2551 21:34 น.

       ครั้งที่ 200
       สำหรับวันจันทร์ที่ 24 ถึงวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 2551
       
       “รัฐสัตว์”
       
       ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ความสับสนวุ่นวายทางการเมืองลดระดับความ “ร้อนแรง” ลงไป เพราะเป็นช่วงพระราชพิธีสำคัญ โดยก่อนหน้าพระราชพิธีไม่กี่วัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้ชี้มูลความผิดกรณีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อรถ – เรือดับเพลิง ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ลาออกจากตำแหน่งทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะได้รับเลือกตั้งมาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง การลาออกของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีผู้ออกมา “ชื่นชม” กันเหลือเกินว่าทำดี เป็นมาตรฐานที่ดีสำหรับนักการเมืองอื่น ๆ ซึ่งก็มีหลายคนเห็นตรงข้ามเพราะจริง ๆ แล้ว การลาออกเป็นเพียง “ปลายเหตุ” ซึ่งก็ไม่ได้เกิดผลดีอะไรกับใครทั้งนั้น ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็ควรจะดูที่ “ต้นเหตุ” มากกว่า เพราะทั้งเจ้าตัวและพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ต่างก็ทราบแล้วว่า ตนนั้นมี “คดี” อยู่ในระหว่างการพิจารณาและจะ “ทราบผล” ในระยะเวลาอันใกล้ จะเป็นที่น่าชื่นชมและสมควรชื่นชมเป็นอย่างยิ่งหากจะตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตั้งแต่แรก เพราะต้องการรอให้ทุกอย่างจบสิ้นก่อน แต่นี่กลับลงสมัครรับเลือกตั้ง เสียงบประมาณไปมากกว่า 150 ล้านบาท ประชาชนเสียเวลาไปเลือกตั้ง ผู้เกี่ยวข้องเสียเวลาไปจัดการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ๆ ก็เสียทั้งเวลาเสียทั้งเงิน ผ่านไปไม่กี่วันก็ต้องมาเลือกตั้งกันใหม่อีกรอบ ควรหรือไม่ที่จะต้อง “ชื่นชม” กับการลาออกครับ!!! ที่ถูกต้อง ทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพรรคการเมืองต้องออกมา “ขอโทษ” ชาวกรุงเทพมหานครสำหรับการกระทำดังกล่าวและควรจะหาทาง “ชดใช้” สิ่งที่เสียไปกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย รวมทั้งควร “อธิบาย” ให้ชัดเจนด้วยว่า ทำไมจึงเชื่อมั่นในตัวเองเหลือเกินว่าจะ “รอดพ้น” จากการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มากกว่าจะ “รอ” ให้กระบวนการจบสิ้นก่อน กรณีดังกล่าวน่าเสียดายที่ในทางกฎหมายแล้วคงไม่มีทางทำอะไรได้ ก็ขอฝากไว้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายด้วยว่า วันข้างหน้าสมควรหรือไม่ที่จะนำแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นในส่วนที่หากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายมาใช้ พูดง่าย ๆ ก็คือต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดจากการเลือกตั้ง บทบัญญัติแบบนี้ก็คงจะช่วยให้คนไม่ “ชะล่าใจ” กันมากเกินไปครับ
       ส่วนเหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะ “ข้ามปี” หรือไม่ และจะจบลงอย่างไรครับ !!
       ช่วงที่ผ่านมาผมรู้สึกเบื่อ ๆ กับเรื่องการเมืองของเรามาก ก็ด้วยเหตุที่ไม่สามารถมองเห็น “อนาคต” ของประเทศได้ จึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะหลุดออกจากปัญหาทั้งหมดได้อย่างไร ในช่วงนี้ผมจึงงดให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆ มาหลายสัปดาห์แล้วครับ และเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาพอมีเวลาว่างก็จัดเก็บหนังสือในห้องใหม่ พบหนังสือเก่าเล่มหนึ่งที่เคยอ่านไปแล้วเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมาก็เลยหยิบมาอ่านใหม่เพราะคิดว่าน่าจะได้อะไรบ้าง หนังสือเล่มนั้นคือ Animal Farm ของ George Orwell ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1945 และได้รับการแปลไปหลายภาษา สำหรับภาษาไทยก็มีคนแปลหลายคนและใช้ชื่อต่างกันไป เช่น “การเมืองของสัตว์” หรือบางเล่มก็ใช้ “รัฐสัตว์” ครับ หนังสือเล่มนี้ให้แง่คิดทางด้านการเมืองการปกครองหลายอย่าง การใช้สัตว์เป็นตัวละครในเรื่องก็ทำให้มีผู้นำไปแปลความว่า สัตว์ตัวใดใช้แทนผู้ใด ซึ่งเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องที่สุดกับหนังสือดังกล่าว ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้ แต่ผมจะขอให้สรุปให้ฟังถึงเนื้อเรื่องของ “รัฐสัตว์” ก่อน จากนั้นเราค่อยมาดูกันว่าได้อะไรบ้างจากงานเขียนเก่า ๆ เรื่องนี้ครับ


       เรื่องเริ่มตรงที่ว่ามีฟาร์มแห่งหนึ่ง เจ้าของฟาร์มมีสัตว์หลายประเภทอยู่ในความครอบครอง เจ้าของฟาร์มใช้สัตว์เหล่านี้ทำงานเพื่อตนเอง สัตว์ทั้งหมดทำงานหนักเพื่อให้มนุษย์ได้ผลผลิตจากการทำงานของตน ซึ่งก็ทำให้สัตว์จำนวนหนึ่งรู้สึกไม่พอใจ วันหนึ่งเมื่อเจ้าของฟาร์มลืมให้อาหารสัตว์ สัตว์โมโหหิว ทนไม่ไหวจึงเข้าไปพังโรงเก็บเสบียงทำให้เกิดการ “ทะเลาะกัน” ระหว่างสัตว์กับเจ้าของฟาร์ม ในที่สุดสัตว์ที่หมดความอดทนในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ก็เลยลุกฮือขับไล่เจ้าของฟาร์มออกไปจากฟาร์ม จากนั้นบรรดาสัตว์ก็เข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของฟาร์มแทนมนุษย์ นี่คือ “การปฏิวัติของสัตว์” เมื่อสัตว์ทุกตัวเป็นเจ้าของฟาร์ม ก็พากันนำเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นกับตนเมื่อมนุษย์เป็นเจ้าของฟาร์มมาบัญญัติเป็น “ธรรมนูญ” ของฟาร์มซึ่งมีอยู่ 7 ประการด้วยกัน คือ
       1. สิ่งที่เดินสองขาเป็นศัตรู
       2. สิ่งที่เดินสี่ขาหรือมีปีกเป็นมิตร
       3. สัตว์ต้องไม่สวมเสื้อผ้า
       4. สัตว์ต้องไม่นอนบนเตียง
       5. สัตว์ต้องไม่ดื่มของมึนเมา
       6. สัตว์ต้องไม่ฆ่าสัตว์อื่น
       7. สัตว์ทุกตัวต้องเสมอภาคกัน
       ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นเจ้าของฟาร์มร่วมกัน สัตว์ทุกตัวมีความสุขเพราะได้ส่วนแบ่งอาหารมากขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สัตว์ทุกตัวขยันขันแข็งทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยเพราะรู้ว่าผลผลิตที่เกิดจากแรงงานของตนจะไม่ตกไปเป็นของมนุษย์เหมือนเดิมและสัตว์ทุกตัวจะได้รับการปันส่วนอาหารเท่า ๆ กัน การทำฟาร์มจึงเป็นไปอย่างดีและสัตว์ทุกตัวก็มีความสุข ในบรรดาหมู่สัตว์มีหมูสองตัวที่มีความฉลาดกว่าสัตว์อื่น นโปเลียนและสโนบอลล์ เป็นกำลังสำคัญในการปฏิวัติขับไล่มนุษย์ออกไปจากฟาร์ม ซึ่งต่อมาหมูทั้งสองก็กลายมาเป็น “ผู้นำ” ของสัตว์ทั้งหลายในฟาร์มโดยสัตว์ต่างก็ให้การยอมรับหมูทั้ง 2 เป็นหัวหน้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ไม่นาน หมูทั้ง 2 ก็เริ่มใช้ความเป็นหัวหน้าเอาเปรียบสัตว์อื่นด้วยการ “ยักยอก” อาหารดี ๆ บางอย่าง เช่น นมและแอปเปิ้ลบางส่วนไปเป็นของตนโดยอ้างว่าการเป็นผู้นำต้องใช้สมองในการคิดมากกว่าสัตว์อื่น ๆ จึงจำเป็นต้องกินดีกว่าสัตว์อื่น หากหมูไม่ได้อาหารที่ดีก็จะไม่สามารถดูแลฟาร์มให้ดีได้ และในที่สุดมนุษย์เจ้าของฟาร์มก็จะหวนกลับมาเอาฟาร์มคืน แล้วสัตว์ก็จะต้องกลับไปตกอยู่ในสภาพเดิม ข้ออ้างดังกล่าวถูกถ่ายทอดโดยสควีลเลอร์ หมูสอพลอซึ่งตลอดทั้งเรื่องทำหน้าที่เป็น “โฆษก” ของ “ผู้นำ” คอยถ่ายทอดแนวคิดของผู้นำไปยังสัตว์อื่น ๆ รวมไปถึงการสร้างภาพที่น่าสะพรึงกลัวต่าง ๆ ให้กับสัตว์อื่น ๆ ด้วย
       ไม่นานมนุษย์ก็กลับมาทวงฟาร์มคืน สโนบอลล์นำหมู่สัตว์ออกมารบปกป้องฟาร์มอย่างแข็งขันจนมนุษย์ต้องพ่ายแพ้ไปอีกครั้ง ต่อมาสโนบอลล์ก็ได้นำเสนอโครงการใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาฟาร์มให้ดีขึ้นเพื่อให้สัตว์ทุกตัวใช้แรงงานน้อยลงแต่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ความโดดเด่นของ สโนบอลล์กลายเป็นภัยกับตัวเอง เพราะแม้สัตว์อื่นจะรักและชื่นชมในตัวสโนบอลล์ แต่นโปเลียนซึ่งก็ต้องการเป็นผู้นำของฟาร์มเช่นกันไม่สามารถยอมรับได้ ด้วยเหตุนี้เองวันหนึ่งนโปเลียนซึ่งแอบนำลูกสุนัข 9 ตัวมาเลี้ยงไว้จนโตก็ใช้กำลังของสุนัขทั้ง 9 ขับไล่สโนบอลล์ออกไปจากฟาร์มและสถาปนาตนเองเป็นผู้นำสูงสุดของฟาร์มที่มีสุนัขทั้ง 9 ตัวเป็นองค์รักษ์คุ้มกัน นโปเลียนใช้สควีลเลอร์จอมสอพลอออกไปปล่อยข่าวให้สัตว์ต่าง ๆ หวาดกลัวว่ามนุษย์จะกลับมายึดฟาร์มคืนอีกครั้งโดยสร้างเรื่องไปไกลถึงขนาดที่ว่า สโนบอลล์ที่หนีออกจากฟาร์มไปเข้าร่วมกับมนุษย์เพื่อที่จะกลับมายึดฟาร์มและนำสัตว์กลับไปเป็นทาสแบบเดิม ยุทธการปล่อยข่าวสร้างความหวาดกลัวถูกใช้ไปพร้อม ๆ กับการสร้างแรงผลักดันให้สัตว์รีบเร่งทำงานอย่างหนัก เวลาผ่านไปนโปเลียนก็เปลี่ยนไป มีส่วนร่วมในการทำงานน้อยลง หาความสุขมากขึ้น ธรรมนูญ 7 ประการก็เริ่มถูกละเมิด โดยนโปเลียนได้ย้ายจากโรงนาเข้าไปนอนในบ้านของมนุษย์เจ้าของฟาร์มโดยอ้างว่าตนเองเป็น “มันสมอง” ของฟาร์ม ต้องมีที่เงียบ ๆ เพื่อทำงานให้เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของผู้นำ นโปเลียนได้แก้ธรรมนูญข้อที่ 4 ที่ว่าสัตว์ต้องไม่นอนบนเตียงมาเป็นสัตว์ต้องไม่นอนบนเตียงที่มีผ้าคลุม ต่อมานโปเลียนก็เริ่ม “บ้าอำนาจ” สร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ให้รุนแรงขึ้นเพื่อให้สัตว์ทั้งหลายวิตกกังวลเพื่อที่ตนจะได้เป็นผู้นำต่อไปนาน ๆ เริ่มมีการฆ่าสัตว์อื่นที่เป็นศัตรูและฆ่าสัตว์ที่ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ตามมาด้วยการแก้ธรรมนูญข้อที่ 6 ที่ว่าสัตว์ต้องไม่ฆ่าสัตว์อื่นเป็นสัตว์ต้องไม่ฆ่าสัตว์อื่นโดยปราศจากเหตุผลเมื่อนโปเลียนเริ่มกินเหล้าก็มีการแก้ธรรมนูญข้อที่ 5 สัตว์ต้องไม่ดื่มของมึนเมาเป็นสัตว์ต้องไม่ดื่มของมึนเมามากเกินไป ตลอดเวลาที่นโปเลียนเข้ามาเป็นผู้นำ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนโปเลียนมีความสุขมากขึ้น มีทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะที่สัตว์อื่น ๆ ต่างก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และก็มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่า สักวันหนึ่งมนุษย์กับสโนบอลล์จะกลับมายึดฟาร์มคืนและจะนำสัตว์ไปเป็นทาส


       เรื่องสโนบอลล์เป็นเรื่องที่ถูกนำมาใช้ในการข่มขู่สัตว์ทั้งหลายในฟาร์มอยู่ตลอดเวลา มีการแต่งเติมเสริมสิ่งต่าง ๆ เข้าไป อะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็โยนให้เป็นความผิดหรือไม่ก็อ้างว่ามาจากสโนบอลล์จนสโนบอลล์กลายเป็นสิ่งที่น่าสพรึงกลัวของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ในตอนจบของเรื่อง นโปเลียนเปลี่ยนไปคบกับมนุษย์โดยทำธุรกิจค้าขายผลิตผลจากฟาร์มของตนกับมนุษย์ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบสัตว์อื่นและเป็นการทำลายหลักการสำคัญของการปฏิวัติสัตว์ที่ต้องการให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากแรงงานของสัตว์เป็นของสัตว์ด้วยกัน ไม่ใช่ทำงานหนักเพื่อให้ผลผลิตตกไปเป็นของมนุษย์เจ้าของฟาร์มซึ่งในขณะนี้ก็คือนโปเลียนผู้นำของฟาร์มนั่นเอง เมื่อคบมนุษย์นโปเลียนก็กลายเป็นมนุษย์ไปด้วยโดยสวมใส่เสื้อผ้า ซึ่งละเมิดธรรมนูญข้อที่ 3 อ่านหนังสือพิมพ์ สูบยาเส้นและที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับสัตว์คือ นโปเลียนหัดเดิน 2 ขา ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดธรรมนูญข้อที่ 1 ส่วนธรรมนูญข้อสุดท้ายในที่สุดก็ถูกแก้จากสัตว์ทุกตัวต้องเสมอภาคกันเป็นสัตว์ทุกตัวต้องเสมอภาคกัน แต่มีสัตว์บางตัวเสมอภาคกันมากกว่าสัตว์ตัวอื่น ตอนจบของเรื่อง นโปเลียนกับมนุษย์อื่นเท่าเทียมกัน นั่งโต๊ะอาหารด้วยกัน เล่นไพ่ ดื่มเหล้า ทะเลาะวิวาทกัน ในขณะที่สัตว์อื่น ๆ ก็ยังอยู่ในฟาร์มและต้องทำงานหนักเหมือนเดิมไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ด้วยกันจะเป็นเจ้าของฟาร์ม
       

       นี่คือเรื่อง Animal Farm อย่างย่อ ๆ ที่ผมคงจะเก็บมาเล่าให้ฟังไม่ครบถ้วนทั้งหมด ข้อแนะนำก็คือลองไปหาหนังสือมาอ่านดูจะสนุกมากกว่าที่ผมเล่ามากครับ ทราบมาว่ามีการนำเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นหนังทั้งหนังธรรมดาและหนังการ์ตูนด้วยครับ


       หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมมองเห็นภาพสะท้อนทางการเมืองระดับ “สากล” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลายเรื่อง เรื่องแรกที่ “ตรงใจ” ผมที่สุดก็คือ กฎทั้งหลายมีไว้เพื่อให้ผู้มีอำนาจลบล้าง สิ่งที่เป็นกฎที่ทุกคนต้องเคารพยึดถือและปฏิบัติตามอาจถูก “เลี่ยง” ได้หากผู้ที่ต้องการเลี่ยงกฎเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจ นี่คือสิ่งแรกที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอให้คิดพิจารณาเพราะในตอนต้นของเรื่อง สัตว์ทั้งหลายต่างก็พากันกำหนดธรรมนูญในการปกครองฟาร์มเพื่อที่พวกตนจะได้ “อยู่ดีมีสุข” แต่ต่อมาไม่นานเมื่อมีการสถาปนาระบบ “ผู้นำ” ผู้นำซึ่งเดิมเคยอยู่ภายใต้กฎก็กลายมาเป็นผู้อยู่เหนือกฎเพราะตนเป็นผู้มีอำนาจ อำนาจจึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างใน “รัฐสัตว์” เปลี่ยนแปลงไป ความเสมอภาคเท่าเทียมกันกลายมาเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับปฏิบัติเพราะเกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “เสมอภาคกันมากกว่า” ขึ้นมา เพราะฉะนั้นสำหรับผู้มีอำนาจแล้วกฎทั้งหลายมีไว้เพื่อให้ได้รับการยกเว้น ซึ่งเมื่อเรามาพิจารณาดูโดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยด้วยแล้ว ก็คงมองเห็น “ความเหมือน” ระหว่างเหตุการณ์จริงกับนิยายที่ถูกเขียนขึ้น นโยบายต่าง ๆ ที่ผู้นำประเทศสร้างขึ้นมาแม้ในตอนต้นจะมีการวางนโยบายต่าง ๆ เพื่อสังคม แต่เมื่อเสพอำนาจเข้าไปจนได้ที่ คำว่าสังคมก็แคบเข้ากลายมาเป็นจำกัดอยู่เฉพาะตนเองและพวกพ้อง นโยบายต่าง ๆ รวมไปถึงกฎที่มีอยู่ก็เลยเปลี่ยนไป กลายเป็นสิ่งที่ “สนอง” อำนาจของผู้นำในที่สุดครับ
       เรื่องที่ผมชอบอีกเรื่องหนึ่งจากนิยายเรื่องนี้คือ การสร้างภาพ การสร้างภาพให้สัตว์ทั้งหลายหวาดกลัวมนุษย์และสโนบอลล์เป็นยุทธวิธีที่ “ผู้นำ” นำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการกลับมาของศัตรูของตนและเพื่อทำให้ตนอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป นโปเลียนโชคดีที่มีหมูอย่าง สควีลเลอร์ทำหน้าที่เป็นโฆษกคอยปล่อยข่าวรายวันให้สัตว์ในฟาร์มหวาดกลัวและต้องเชื่อผู้นำ เพราะหากไม่เชื่อผู้นำแล้ววันหนึ่ง “มนุษย์” หรือ “สโนบอลล์” จะกลับมาครอบครองฟาร์มและทำให้สัตว์ลำบาก ซึ่งสัตว์เองก็หลงเชื่อโดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักเลยว่าการที่ตนเองต้องทำงานหนักเพื่อมนุษย์เจ้าของฟาร์มกับการที่ตนเองต้องทำงานหนักเพื่อสัตว์เจ้าของฟาร์มนั้น มีความแตกต่างกันหรือไม่?? สัตว์ในเรื่องไม่เลือกที่จะใช้สมองคิดแต่เลือกที่จะเชื่อสิ่งที่ตนได้ยินจากผู้อื่นมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หมูอย่างนโปเลียนจะก้าวเข้าไปมีอำนาจสูงสุดในฟาร์มได้ไม่ยาก เพราะมีสมุนคู่ใจคอยสร้างภาพให้สัตว์ทุกตัวหวาดกลัวว่าสักวันหนึ่งเมื่อมนุษย์หรือ สโนบอลล์กลับมา สัตว์ทั้งหลายจะพบกับความลำบาก!!
       
เรื่องสุดท้ายที่ผมชอบก็คือ “ความลืมตัว” เมื่อครั้งเจ้าของฟาร์มเป็นมนุษย์ ก็ใช้อำนาจและใช้ความเป็นมนุษย์ทารุณสัตว์ ต่อมาสัตว์ปฏิวัติและเห็นด้วยว่าต้องแก้ปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาค สัตว์ก็สามารถทำให้ตนเองเสมอภาค เท่าเทียมกันได้ ไม่มีใครใช้อำนาจข่มเหงกันได้ ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปสัตว์ที่มีภาวะผู้นำก็เริ่มสร้างความไม่เสมอภาค เมื่อตนเองขึ้นสู่จุดสูงสุดก็ประพฤติปฏิบัติเหมือนกับสิ่งที่ตนเองเคย “ล้มล้าง” มาแล้ว นี่คืออาการของคนลืมตัว หลงมัวเมาในอำนาจ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังคมครับ
       อำนาจเท่านั้นที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นใน “รัฐสัตว์”!!! จริง ๆ แล้วผมอยากจะนำนิยายเรื่องนี้มา “เทียบเคียง” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราเหลือเกิน แต่ก็ “กลัว” ครับว่าจะไปกระทบใครเข้าจึงของดเว้นดีกว่า! เอาเป็นว่าใครว่าง ๆ ก็ลองไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะครับ หากอ่านแล้วอยากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์ของบ้านเราบางอย่างกับสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ก็ลองเปรียบเทียบกับยุทธการที่ถูกสร้างขึ้นมาจนน่ากลัวว่า “ระวังสโนบอลล์จะกลับมา” ก็แล้วกันครับ!!!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความ คือ บทความเรื่อง “ชะตากรรมรัฐธรรมนูญไทย” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง และบทความเรื่อง “เหตุเกิดที่...”เชียงราย” : บทวิพากษ์การตีความของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กลาง)” ของคุณณัฐกร วิทิตตานนท์ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1304
เวลา 16 เมษายน 2567 18:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)