ครั้งที่ 202

21 ธันวาคม 2551 21:50 น.

       ครั้งที่ 202
       สำหรับวันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2551 ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2552
       
       “นักเลือกตั้งอาชีพไม่มีวันตาย”
       

       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เราได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่หลาย ๆ คนตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ส่วนเหตุการณ์วุ่นวายต่าง ๆ ในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานพอสมควรก็สงบลงไปอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้รวดเร็วขนาดนี้ ผมไม่อยากคาดเดาว่าในเวลาต่อจากนี้ไป ความวุ่นวายแบบเดิมจะกลับมาเกิดขึ้นอีกไหม และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะสามารถนำพาประเทศไทยให้ “รอดพ้น” จากปากเหยี่ยวปากกา หรือจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ปกติไปได้หรือไม่ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
       เส้นทางการเข้าสู่อำนาจรัฐของนายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้กลายมาเป็นหัวข้อสนทนาที่ “ร้อนแรง” ที่สุดในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งแล้วคงต้องยอมรับว่านับแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน เรายังไม่ได้เห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยในระยะยาวจากพรรคประชาธิปัตย์กันอย่างละเอียดและชัดเจน สิ่งที่พบเห็นบ่อยก็คือการวิพากษ์รายวันและการวิพากษ์รายเหตุการณ์ในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชาชนและอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ดูเหมือนกับว่าจะเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างถาวรที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็มองตรงกันข้ามกันไปหมด แต่สิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นก็คือนโยบายหรือข้อเสนอที่เตรียมเอาไว้ล่วงหน้าสำหรับวันที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างไร เมื่อมองย้อนหลังไปถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกครั้ง การยึดทำเนียบรัฐบาลและการยึดสนามบินทั้ง 2 แห่ง ก็แทบจะไม่ได้ยินเสียงคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่บรรดาข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายอย่างนั้น “สอดคล้อง” กับความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นข้อเสนอ “ห้ามแก้รัฐธรรมนูญ” เป็นต้น เพราะฉะนั้นในวันนี้ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คำถามสำคัญที่ควรมีคำตอบอย่างรวดเร็วที่สุดก็คือ จะแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไร คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลที่จะแถลง “อย่างเป็นทางการ” ต่อรัฐสภาในโอกาสต่อไป แต่อยู่ที่นโยบาย “อย่างไม่เป็นทางการ” ที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำมาใช้ในการบริหารประเทศมากกว่า ซึ่งในประเด็นเรื่องนโยบายอย่างไม่เป็นทางการนี้จะเป็นสิ่งที่ชี้ชัดถึงอนาคตในทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในวันข้างหน้าต่อไป
       ทำไมผมถึงพูดถึง “นโยบายอย่างไม่เป็นทางการ” ครับ? เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการจัดทำนโยบายของรัฐบาลนั้นต้องเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 75 ถึงมาตรา 87 เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นปัญหาที่ “รุนแรง” และ “ร้ายแรง” ที่ “เคย” เกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้และ “อาจ” เกิดขึ้นได้ใหม่นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว เช่นเดียวกับการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้กระทำผิดกฎหมายในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลชุดก่อนที่ผ่านมาที่นำไปสู่ความสูญเสีย การยึดสถานที่ราชการ การยึดสนามบิน สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงหลาย ๆ มิติให้กับประเทศไทย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งเป็นแกนนำของการชุมนุมดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่ “น่าจะ” อยู่ในนโยบายอย่างไม่เป็นทางการของรัฐบาลด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ผมจึงให้ความสนใจกับ “นโยบายอย่างไม่เป็นทางการ” ของรัฐบาลมากกว่าว่าจะมีหน้าตาอย่างไร ซึ่งในวันนี้ก็สุดจะคาดเดาได้ เพราะดูจาก “ที่มา” ของการจัดตั้งรัฐบาลแล้วก็น่าเป็นห่วงเพราะเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นมีคะแนนเสียงไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้จึงต้อง “อาศัย” เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาเป็นเสียงสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เสียงสนับสนุนเหล่านั้นบางส่วนก็เป็นผู้ที่เคยถูกด่า ถูกว่า ถูกกล่าวหาอย่างสาดเสียเทเสียมาแล้วว่าไม่จงรักภักดีบ้าง ขายชาติบ้าง ทุจริตบ้าง มีหลายคนที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกตัดสิทธิทางการเมือง บางคนก็เคยถูกพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยข้อหาที่ร้ายแรงเกี่ยวกับบุพการี เกี่ยวกับวุฒิการศึกษามาแล้ว เพราะฉะนั้นในวันนี้เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งเคยเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความ “เจ็บปวด” ทางการเมืองเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงน่าห่วงเป็นอย่างยิ่งว่า ความแตกแยกจะมาเยือนเมื่อใด จะสามารถรักษา “มิตรภาพ” ในวันนี้ไว้ได้นานแค่ไหน เพราะอายุของรัฐบาลก็คืออนาคตของประเทศครับ หากรัฐบาลอายุยาวเพราะกลุ่มการเมืองและบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายตั้งใจเสียสละความรู้สึกส่วนตัวระยะยาวเข้าทำงานกับรัฐบาล ประเทศเราก็จะหลุดพ้นจากวิกฤตเร็วขึ้นเท่านั้นครับ
       สำหรับความรู้สึกส่วนตัวของผมที่มีต่อรัฐบาลใหม่นั้นยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนัก เพราะในวันที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ ผมยังไม่เห็นรูปร่างหน้าตาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ผมยังไม่เห็นทั้งนโยบายอย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการของรัฐบาล แต่สิ่งที่ผมห่วงนั้นมีอยู่หลายเรื่องหลายประเด็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่มีคนบางคนพยายามยกประเด็น “เล็ก ๆ” บางประเด็นมาใช้เป็นข้อต่อสู้ทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลหรือไม่ก็เพื่อเอานายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง อันที่จริงแล้วหากรัฐบาลทำอะไรที่ “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” ก็คงจะดูดีและรอบคอบกว่านี้เพราะในบางครั้งความ “รีบเร่ง” อาจทำให้ไม่ไปถึงดวงดาวได้ ตัวอย่างเช่นการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมามีความ “สมบูรณ์” หรือไม่ก็ยังเป็นปัญหาที่นักกฎหมายมหาชนและนักกฎหมายธรรมดามีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายังคงมีสมาชิกภาพอยู่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนนั้นถือว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง” ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนก็จะต้องจบลงไปพร้อม ๆ กับพรรคการเมืองนั้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมก็เห็นด้วยกับฝ่ายหลังเพราะ party list ต้องยึดโยงกับ political party ครับ หากมีการให้คำตอบอย่างเป็นทางการจากองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ว่าที่ถูกคือความเห็นของฝ่ายหลัง รับรองได้ว่ายุ่งแน่ ๆ และมีผลกระทบโดยตรงต่อการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาด้วยครับ หรือตัวอย่างอีกกรณีก็คือ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง 3 พรรคไปแล้ว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนยังไม่ได้ดำเนินการสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ในวันที่มีการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพราะมีเวลาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค คำถามก็คือ เป็นไปได้หรือไม่อย่างไรที่เราจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งครับ เพราะรัฐธรรมนูญของเราบังคับว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง ในยามปกติอาจไม่เท่าไรแต่เมื่อต้องใช้เสียงของบุคคลเหล่านั้นมาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นที่น่าสนใจคิดต่อไปว่า เสียงเหล่านั้นในทางกฎหมายมีอยู่หรือไม่ จากตัวอย่างทั้งสองนี้เองที่ผมคิดว่า การรีบเร่งดำเนินการทำอะไรก็ตามจริงอยู่ในบ้างครั้งก็อาจก่อให้เกิดผลดีได้ แต่ในบางครั้งหากมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ และเมื่อถึงคราวได้คำตอบ คำตอบอาจเป็นบวกหรือเป็นลบ ผมว่าค่อย ๆ ทำอย่างถูกต้องและชัดเจนจะดีกว่าครับ
       ผมมีโอกาสได้ฟังนักกฎหมายคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า ส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้นเขียนขึ้นมาเพื่อ “ปรับพฤติกรรม” ของนักเลือกตั้ง ซึ่งแม้ผมเองจะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และไม่เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่างอย่างไม่เป็นระบบ แต่ก็ “แอบ” เอาใจช่วยให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ปัญหา “พฤติกรรมของนักเลือกตั้ง” ได้สักที อย่างไรก็ดี เมื่อมองการเมืองในวันนี้แล้วก็เชื่อครับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ไม่สามารถปรับพฤติกรรมของนักเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักเลือกตั้งคนนั้นเป็นนักเลือกตั้งอาชีพ คำว่านักเลือกตั้งอาชีพนั้นจะมีที่มาอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ทราบผลของคำดังกล่าวว่า นักเลือกตั้งอาชีพจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาได้และก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เข้ามาสู่ศูนย์กลางของอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นนักเลือกตั้งอาชีพจึงกลายมาเป็น “ตัวแปร” ที่สำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นไปได้อย่างไรที่ทำงานการเมืองกันคนละขั้ว มองปัญหาต่างกันเป็นขาวกับดำ พฤติกรรมในการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ก็ต่างกัน ต่อสู้กันทางการเมืองอย่างดุเดือดมาตลอด วันหนึ่งก็กลับมากอดคอกัน เอาดอกไม้ไปมอบให้ถึงบ้านถึงที่ทำงานพร้อม ๆ กับมีคำกล่าวที่ว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เมื่อผมเห็นภาพอดีตกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทยที่สวมกอดกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็คงเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไปจำนวนหนึ่งที่สงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ยินได้ฟังว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยผู้นั้นมีข้อเสนอ 4 ข้อเกี่ยวกับทิศทางการแก้ปัญหาของประเทศก็รู้สึกตกใจเป็นอันมากที่ทั้งภาพและข้อเสนอเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำไปแล้วก็จะถูกครหาได้ง่าย การเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้ผมต้องกลับมานั่งทบทวนว่า ในที่สุดแล้วการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมและจำเป็นหรือไม่ และอุดมการณ์ของตัวเองที่ชัดเจนเช่นเป็นพรรคการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม พรรคแรงงาน พรรคสังคมนิยม พรรคสิ่งแวดล้อมนิยม ผู้ที่อยู่ในพรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองธรรมดาหรือสมาชิกพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปอยู่ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ก็จะต้องมี “อุดมการณ์” เดียวกับ “อุดมการณ์” ของพรรคการเมืองซึ่งก็หมายความว่าการเปลี่ยนพรรคการเมืองหรือการจับขั้วกันชุลมุนแบบบ้านเราคงไม่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่ในทางกลับกันในวันนี้เราบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ไม่มี “อุดมการณ์” ที่ชัดเจนและแตกต่างกันเช่นพรรคการเมืองส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เราจึงเห็นภาพการจับขั้วแบบไร้อุดมการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นและก็ยังคงเห็นภาพในลักษณะนี้ต่อไป และท้ายที่สุดเราก็คงจะต้องมองเห็นภาพตรงกันว่านักเลือกตั้งนั้นจะไม่มีวันตาย ฝ่ายไหนเป็นรัฐบาลก็เข้าร่วมกับเขาได้หมดครับ
       ก่อนจะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ขอฝากไปถึง “ผู้มีอำนาจ” ทางการเมืองทั้งหลายว่าหากมีเวลาว่างบ้าง หนังสือเรื่อง The Prince ของ Machiavelli ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1532 นั้นน่าอ่านมาก โดยเฉพาะในบทที่ 7 ที่กล่าวถึง การได้ตำแหน่งและอำนาจมาโดยโชคชะตาและกำลังของผู้อื่นว่า ผู้ได้ตำแหน่งและอำนาจจะต้องเรียนรู้วิธีรักษาตำแหน่งและอำนาจนั้นเอาไว้ ส่วนจะรักษาตำแหน่งและอำนาจเอาไว้ได้อย่างไรนั้น คงต้องไปอ่านเพื่อค้นหาคำตอบกันเอาเองครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญไทยกฎหมายสูงสุดที่ไม่สูงสุด” ที่เขียนโดย คุณพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บทความที่สองได้แก่บทความเรื่อง “นายกฯรักษาการยุบสภาได้ไหม สส.แบบบัญชีรายชื่อหมดสมาชิกภาพเมื่อพรรคถูกยุบหรือไม่” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สาม “ปัญหาของระบบรัฐสภาไทย” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ส่วนบทความสุดท้ายคือบทความเรื่อง “วังวนของทหารในการเมืองไทย : ศึกษาผ่านโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ” โดย คุณมรุต วันทนากร นักศึกษาระดับปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยวาเดะ ประเทศญี่ปุ่น ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       บทบรรณาธิการนี้เป็นบทบรรณาธิการ “สุดท้าย” ของปี พ.ศ. 2551 ที่ว่ากันว่าเป็นปีที่สร้างความหายนะให้กับโลกและกับประเทศไทยเป็นอันมาก เมื่อปีเก่าที่ผ่านไปและปีใหม่ พ.ศ. 2552 เข้ามา ผมขออวยพรให้ผู้ใช้บริการ www.pub-law.net ทุกคนมีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานและในชีวิตส่วนตัว มีสุขภาพที่ดี พร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ได้อย่างแน่วแน่ มั่นคงและได้ชัยชนะในที่สุดครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1310
เวลา 25 เมษายน 2567 19:11 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)