การดำเนินคดีกับผู้ที่ยึดสนามบินคือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทยที่ดีที่สุด โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง

18 มกราคม 2552 21:24 น.

       ความเสียหายจากการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในปลายปีที่ผ่านมานั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่าได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อประเทศไทย แต่ภายหลังจาก การเปลี่ยนขั้วการเมืองแล้ว แทนที่เราจะได้เห็นการเร่งกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาด้วยการเร่งดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด แต่กลับเห็นแต่การเร่งให้สถานทูตไทยในประเทศต่างๆชี้แจงภาพลักษณ์ของไทยต่อต่างประเทศ ซึ่งแทบจะไม่ได้ผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับมาเลย เพราะคำถามต่างๆที่นานาประเทศติดใจนั้นไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด
       คำถามที่ว่านี้ก็คือรัฐบาลจะจัดการอย่างไรกับผู้กระทำความผิดนั่นเอง เพราะระยะเวลาตั้งแต่เหตุเกิดจนปัจจุบันก็ล่วงเลยมาพอสมควรแล้วที่จะทำให้การสร้างความเชื่อมั่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุแห่งการนิ่งเฉยของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่นับตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาล ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต่างพากันใส่เกียร์ว่าง มิหนำซ้ำบางคนยังใส่เกียร์ถอยหลังเปลี่ยนสีเข้าไปประจบประแจงผู้มีอำนาจหรือผู้มีพระคุณที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้นได้เสียอีก
       ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯหรือจากกรุงเทพฯไปหัวหินก็ตาม คำถามจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอันดับแรกที่จะต้องได้รับคำตอบก็คือ จะดำเนินการอย่างไรกับผู้ที่ยึดสนามบิน คำตอบที่ใช้เป็นปกติที่ว่าปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมนั้นย่อมไม่เพียงพอต่อความข้องใจของผู้ถามอย่างแน่นอน เพราะต้นธารของกระบวนการยุติธรรมอยู่ในอำนาจการดำเนินการของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่จะเป็นผู้ดำเนินการ หากต้นธารนิ่งเฉยเสียแล้วก็ย่อมยากที่จะไปถึงปลายลำธารซึ่งก็คือการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดนั่นเอง
       ในทางสากลนั้น เขาให้ความสนใจประเด็นการยึดสนามบินมากที่สุด เพราะไปกระทบต่อพลเมืองของเขาที่เดือดร้อน คงจำกันได้ว่าสื่อมวลชนต่างประเทศทั้งอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ต่างพากันโจมตีพันธมิตรฯและผู้หนุนหลังในเรื่องนี้พร้อมเพรียงกันสอดรับกับทูตของ ๖ ชาติคือสหรัฐ อียู ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดาก็ออกแถลงการณ์เรื่องนี้ในวันที่ ๔ ธ.ค.๕๑ คือต้องเอาผิดกับผู้ที่กระกระทำผิดในการยึดสนามบิน และตราบจนปัจจุบันที่เขียนบทความนี้จีนและญี่ปุ่นยังไม่ยกเลิกการเตือนภัยแก่ประชาชนของเขาที่จะเดินทางมาเมืองไทยเลย
       หลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ผูกมัดผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจนไม่ว่าพันธมิตรฯจะอ้างว่าเขาไม่ได้ปิดสนามบินแต่การท่าฯเป็นผู้ประกาศปิดเองเท่านั้นฟังไม่ขึ้นนอกเหนือจากการยึดหอบังคับการการบินที่ทำให้อากาศยานไม่สามารถขึ้นลงได้อีกประเด็นหนึ่งแล้วยังปรากฏ รูปถ่ายเป็นหลักฐานมากมาย ที่สำคัญที่สุดก็คือรูปถ่ายพิธีการส่งมอบของพลตรีจำลองในวันสลายการชุมนุมนั่นเองที่มัดตัวอย่างแน่นหนาเพราะหากไม่ได้ยึดหรือปิดสนามบินฯแล้วส่งมอบคืนทำไม
       ป่วยการที่รัฐบาลจะประกาศทุ่มงบฯถึง ๗ แสนล้านบาทมาฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใน ๒ ปีหรือการพยายามสร้างภาพด้วยการโหมโฆษณาในสื่อต่างประเทศให้สิ้นเปลืองเงินทองของชาติ เพราะตราบใดที่ผู้กระทำความผิดไม่ถูกดำเนินคดี ตราบนั้นความเชื่อมั่นของ นักลงทุนต่างประเทศย่อมไม่มีทางเรียกคืนกลับมา และยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าไปก็ยิ่งเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ยากยิ่งหลายเท่าทวีคูณ
       ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter F. Drucker) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Managing in A Time of Great Change โดยในบทที่ ๕ ที่ว่าด้วย กฎทั้งหกสำหรับประธานาธิบดี(สหรัฐอเมริกา) คือ
       กฎข้อที่ ๑ จะต้องไม่ดื้อดึงที่จะทำแต่ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แม้มันจะเป็นสิ่งที่ตนเคยหาเสียงมาก่อนก็ตาม
       กฎข้อที่ ๒ จงมีสมาธิ
       กฎข้อที่ ๓ อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน
       กฎข้อที่ ๔ ไม่เข้าไปยุ่งกับรายละเอียดจนเกินไป
       กฎข้อที่ ๕ ไม่มีคำว่าเพื่อนในฝ่ายบริหาร
       กฎข้อที่ ๖ จงหยุดการหาเสียง(เพื่อตัวเอง)
       จากกฎทั้งหกข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎข้อที่ ๑ และข้อที่ ๖ฉะนั้น ถามว่าจำเป็นไหมที่รัฐบาลในปัจจุบันนี้จะต้องดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้หรือไม่
       ๑) หาตัวผู้ปาไข่ใส่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล
       ๒) การชำระบัญชีกับทักษิณและพลพรรคเสื้อแดงที่กระทำความผิด อาทิ การทุบทำลายรถยนต์ฝ่ายรัฐบาลในวันโหวตเลือกนายกฯ หรือรุมทำร้ายบิดาของแกนนำเสื้อเหลืองเชียงใหม่จนเสียชีวิต เป็นต้น
       ฯลฯ
       แน่นอนว่าคำตอบที่ได้ก็คือ “จำเป็น” แต่ย่อมมิใช่ “จำเป็นเร่งด่วนสูงสุด” ซึ่งความจำเป็นเร่งด่วนสูงสุดที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือการแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ด้วยเหตุปัจจัยทั้งภายนอกซึ่งเกิดจากการล้มละลายของสถาบันการเงินของอเมริกาและปัจจัยภายในซึ่งก็คือผลพวงจากการยึดสนามบินนั่นเอง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระบบ ทุนนิยมนั้น ความเชื่อมั่นถือได้ว่าเป็นปัจจัยในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญสูงสุด
       หากเรายังแก้ปัญหาความเชื่อมั่นที่สูญเสียไปจากการยึดสนามบินนี้ไม่ได้ ย่อมไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสนี้ได้อย่างแน่นอน และนอกจากจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้แล้ว ยังมีปัญหาของการยอมรับนับถือของประเทศเราในสังคมการเมืองระหว่างประเทศว่าไทยเราเป็นนิติรัฐ (Legal State)และปกครองด้วยนิติธรรม (Rule of Law) ที่บุคคลต่างเสมอภาคกันในเบื้องหน้าของกฎหมาย(equal before the law) และให้ความสำคัญต่อกฎหมายมากกว่าตัวบุคคลมากน้อยเพียงใด
       
       รัฐบาลนี้มีที่มาจากการเปลี่ยนขั้วภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยเมื่อ ๒ ธ.ค.๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งหลายฝ่ายโดยเฉพาะ อย่างยิ่งภาคธุรกิจได้ให้โอกาสแก่ขั้วใหม่นี้ เพราะเบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งที่ไม่รู้จักจบสิ้น หากรัฐบาลไม่รีบแก้ปัญหาความเชื่อมั่นด้วยการนำผู้กระทำความผิด มาลงโทษโดยไม่เห็นแก่ว่าเป็นเสื้อสีใดแล้ว โอกาสที่รัฐบาลนี้จะอยู่บริหารชาติบ้านเมืองต่อไปย่อมเป็นไปได้ยากด้วยเหตุที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานอารยประเทศ เพราะเราไม่สามารถยืนอยู่เพียงลำพังในสังคมโลกได้ อีกทั้งจะเป็นการนำประเทศเราร่วงสู่หุบเหวแห่งความหายนะที่ยากจะกลับฟื้นขึ้นมาได้อีกอย่างแน่นอน
       ----------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1322
เวลา 4 พฤษภาคม 2567 01:14 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)