ครั้งที่ 206

14 กุมภาพันธ์ 2552 16:47 น.

       ครั้งที่ 206
       สำหรับวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552
       
       “ก็แค่การใช้อำนาจตุลาการธรรมดา ๆ”
       
       ช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวของนักวิชาการและนักการเมืองออกมาพูดถึงเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” กับอยู่หลายรายด้วยกันซึ่งผมก็รู้สึกแปลกใจปนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นหรือไม่จึงได้มีการ “ปลุก” กระแสตุลาการภิวัตน์กันขึ้นมาอีก
       โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัตน์” มาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุที่ผมเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจกับ “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” ที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้มากว่า 200 ปี และในประเทศไทยมากว่า 75 ปีแล้วว่า อำนาจอธิปไตยแต่ละอำนาจต่างก็มีขอบเขตของอำนาจและหน้าที่ที่แยกจากกัน แม้จะมีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้ แต่อำนาจตุลาการก็ยังเป็นอำนาจที่มีข้อจำกัดอยู่หลายประการและผู้ใช้อำนาจก็ต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจของตนมากเป็นพิเศษ ดังนั้น สำหรับผม “ตุลาการภิวัตน์” จึงเป็นเพียงถ้อยคำที่ประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างสวยงาม เพื่อใช้สนับสนุนความคิดเห็นหรือมุมมองของคนบางคนที่มีต่อการกระทำบางอย่างเท่านั้นเอง
       ผมเคยคิดที่จะเขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับ “ตุลาการภิวัตน์” มาหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่ได้เขียนสักทีเนื่องมาจากไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรเพราะผมไม่ได้ “เชื่อถือ” ในเรื่องดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงนี้มีผู้คนออกมาพูดกันมาก ผมก็เลยถือโอกาสนี้เขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องตุลาการภิวัตน์บ้างเพื่อแสดงความคิดเห็นและมุมมองของผมครับ
       คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ให้ช่วยแก้วิกฤตของบ้านเมือง กระแส “ตุลาการภิวัตน์” ก็ค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้นโดย 2 วันต่อมาคือในวันที่ 27 เมษายน 2549 ประมุขของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมและศาลปกครองได้นัดประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เลขาธิการประธานศาลฎีกาได้ออกมาแถลงผลการหารือของประมุข 3 ศาลว่า ทั้ง 3 ศาลจะเร่งพิจารณาพิพากษาคดีและดำเนินการในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลแต่ละศาลให้เร็วที่สุด ทันต่อความจำเป็นของความเร่งด่วนในแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่ว่าคดีความจะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลใด การใช้กฎหมายและตีความกฎหมายบทเดียวกันจะต้องระมัดระวังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน เพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน ส่วนการดำเนินการของแต่ละศาลต้องยึดถือความเป็นอิสระของศาลตามเขตอำนาจของแต่ละศาลให้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยความสุจริตยุติธรรม
       จากนั้นเป็นต้นมา กระแสตุลาการภิวัตน์ก็เริ่มดังกระหึ่มขึ้น โดยมีนักวิชาการสายรัฐศาสตร์เป็นผู้สร้างคำว่า “ตุลาการภิวัตน์” ขึ้นมาเพื่อใช้เรียกการดำเนินการของฝ่ายตุลาการที่เข้าไปใช้อำนาจตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร (judicial review) ตามมาด้วยผลของการพิจารณาคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่นในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นโมฆะ ต่อมา ศาลอาญาก็ได้พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้น เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นใช้บังคับ ก็มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาทำหน้าที่เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 แต่มีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ให้ประกอบด้วยตุลาการศาลปกครองและผู้พิพากษาศาลฎีกา ต่อมาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวก็ได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย ผลคำวินิจฉัยดังกล่าวตอกย้ำกระแส “ตุลาการภิวัตน์” ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้กระแสตุลาการภิวัตน์จะได้รับการยกย่องและชื่นชมสรรเสริญจากคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นธรรมดาที่เมื่อมีคนเห็นด้วยก็ย่อมมีการคัดค้าน โดยนักวิชาการจำนวนหนึ่งต่างก็แสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับการที่ผู้พิพากษาและตุลาการเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเพราะเกรงว่าจะกระทบถึงสถานะขององค์กรตุลาการในวันข้างหน้าได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามกระแส “ตุลาการภิวัตน์” ก็ยังคงมีอยู่และท้ายที่สุดที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อไม่นานมานี้เองก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ซึ่งก็ส่งผลทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องพ้นสภาพตามไปด้วย การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลด้วยการยึดสถานที่ราชการก็จบสิ้นลงไปด้วยเช่นกันครับ ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนหนึ่งยก “เครดิต” ให้กับ “ตุลาการภิวัตน์” ครับ
       ที่ผมเล่าไปข้างต้นนั้นเป็นเพียง “บางส่วน” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ดูเหมือนกับว่าฝ่ายตุลาการได้เข้ามา “แก้ไข” ปัญหาของบ้านเมืองจนทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขและสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างปกติสุขครับ
       ผมมองดูการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา 2 – 3 ปี ด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความรู้ความสามารถอันจำกัด ผมคงไม่อาจออกมายืนยันได้ว่า ในบรรดาประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วนั้นเขามีวิธีการในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศของเขากันอย่างไร สำหรับประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการนำเอาทฤษฎีว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจมาใช้ก็คงจะมีรูปแบบการบริหารจัดการประเทศที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนฝ่ายตุลาการก็มีหน้าที่ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งตามความเข้าใจของผมนั้นหากประเทศใดที่มีระบบศาลเดี่ยว ศาลดังกล่าวก็จะทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับเอกชนและระหว่างเอกชนต่อเอกชน ส่วนประเทศที่มีระบบศาลคู่ ศาลปกครองก็จะทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ในขณะที่ศาลยุติธรรมก็จะดูแลข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน สำหรับประเทศที่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้น ศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบางประเทศเช่นประเทศไทยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยแต่ก็เป็นอำนาจอย่างจำกัดครับ ดังนั้น การแก้ปัญหาของประเทศตามความเข้าใจของผมจึงไม่น่าจะไปอยู่ที่อำนาจตุลาการนะครับ เพราะอำนาจตุลาการก็คืออำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเท่านั้นเองครับ
       ในทางวิชาการ คงเคยได้ยินคำว่า การกระทำทางนิติบัญญัติ การกระทำทางบริหาร และการกระทำทางตุลาการมาบ้างแล้ว ง่ายที่สุดที่จะกล่าวถึง การกระทำทางนิติบัญญัติก็คือการออกกฎหมาย การกระทำทางบริหารมีอยู่สองแบบคือการกระทำทางรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องนโยบายสำคัญกับการกระทำทางปกครองซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานตามปกติ ส่วนการกระทำทางตุลาการก็คือการพิจารณาพิพากษาคดี การกระทำทางตุลาการมีข้อแตกต่างจากการกระทำประเภทอื่นๆ ของอำนาจทั้ง 3 อยู่มาก เพราะในส่วนของการกระทำทางตุลาการนั้น ตุลาการไม่สามารถที่จะเริ่มกระบวนการได้เอง จะต้องมีคนมาฟ้องร้องเสียก่อนตุลาการจึงจะเริ่มกระบวนการพิจารณาได้ และนอกจากนี้ ในการพิจารณาพิพากษา ตุลาการต่างก็มี “กฎเหล็ก” จำนวนมากที่วางกรอบเอาไว้ให้ตุลาการต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่บอกว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในหลักการ การดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจึงเป็นไปไม่ได้ที่ศาลจะ “ละเมิดกฎ” ด้วยการตัดสินคดีอย่างไม่เป็นไปตามกฎหมาย ใช้ความรู้สึก ใช้อารมณ์ ของตนเองมาเป็น “เกณฑ์” ในการพิจารณาพิพากษาคดี เพราะความยุติธรรมที่ศาลจะนำมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีได้นั้นจะต้องเป็นความยุติธรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายเท่านั้น จะเป็นความยุติธรรมที่เกิดจากความรู้สึกหรืออารมณ์ของตนเองไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลด้วยแล้ว ศาลยิ่งจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากกับการใช้อำนาจของตน เพราะมิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นศาลเข้าไป “ยุ่งเกี่ยว” กับการเมืองซึ่งก็จะส่งผลกระทบในเวลาต่อมาในหลาย ๆ เรื่องรวมไปถึงหลักว่าด้วย “ความเป็นกลาง” ของศาลครับ
       การแก้ปัญหาของประเทศชาตินั้น ไม่ว่าปัญหาจะหนักหนาสาหัสเพียงใด การแก้ปัญหาก็ต้องดำเนินไปตามระบบที่ถูกวางเอาไว้ ผมเชื่อว่าผู้คนจำนวนมากคงไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารออกมาทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองทั้ง ๆ ที่หน้าที่ของทหารก็คือการป้องกันประเทศจากภัยรุกรานทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีกฎหมายกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจนแน่นอนตายตัวแล้ว เช่นเดียวกับศาลที่มีหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนแน่นอนตายตัวแล้วว่าทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดี ดังนั้น การที่ทหาร “ก้าว” ออกมานอกกรอบอำนาจหน้าที่ของตนด้วยการเข้ามาทำรัฐประหารโดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาการเมืองตามแนวความคิดของตน จึงน่าจะเป็นสิ่งที่มีลักษณะเดียวกันกับการที่ศาลหรือตุลาการ “ก้าว” ออกมานอกกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเพื่อแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจ และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วมีบางคนออกมา “สร้าง” ความสำคัญของการดำเนินการต่าง ๆ ว่ามาจาก “ตุลาการภิวัตน์” จึงน่าจะเป็นเพียงการ “สร้างความสำคัญ” ให้กับบุคคลหรือองค์กรของตนมากกว่าเพื่อสร้างความสำคัญให้องค์กรทั้งหมดทุกองค์กรหรือเพื่อยกย่ององค์กรทั้งหมด และในใจผมก็เชื่อว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่คิดเช่นนี้ ไม่เชื่อลองถามทหารทุกคนดูก็ได้ว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่ หรือถามตุลาการทุกคนดูว่าเห็นด้วยกับตุลาการภิวัตน์หรือไม่ ผมว่ายังมีคนจำนวนมากที่ยังสมัครใจทำงานของตนตามกรอบอำนาจที่มีกฎหมายกำหนดมากกว่ากระโดดออกมานอกกรอบเพื่อสร้างความสำคัญให้กับตนเองนะครับ
       โดยส่วนตัวของผมนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นในหลักและแนวคิดของการแบ่งแยกอำนาจ และเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ตุลาการเป็นบุคคล “พิเศษ” ที่แทบจะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับ “พระ” เลยทีเดียวครับ คือ มีความเป็นกลาง ยุติธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต สมถะ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง สมัยผมเรียนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเพื่อนหลายคนที่มีบิดาเป็นตุลาการซึ่งผมก็เห็นถึงคุณสมบัติที่กล่าวไปแล้วอย่างครบถ้วน เพราะฉะนั้นจากความเชื่อของผมนี่เองที่ทำให้ผม “ไม่เชื่อมั่น” ในคำว่า “ตุลาการภิวัตน์” ที่นำมาใช้กันอยู่เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ตุลาการซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีด้วยกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดจะ “พาตัวเอง” ออกมานอกกรอบที่ “บรรพตุลาการ” ได้วางเอาไว้มาเป็นเวลาช้านานแล้วครับและในขณะเดียวกันผมก็กลับไปคิดในอีกมุมหนึ่งว่า คำว่า “ตุลาการภิวัตน์” นี้ไม่น่าจะนำมาใช้ในความหมายที่มีลักษณะ “เชิงบวก” กับสถาบันตุลาการเสียด้วยซ้ำไป เพราะหากเรายึดมั่นในหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา197 ประกอบกับจริยธรรม คุณธรรม และวินัยของตุลาการที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว การอ้างว่าศาลเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าวข้างต้นแม้ในวันนี้จะทำให้ปัญหาของบ้านเมืองยุติลงได้และทำให้ตุลาการจำนวนหนึ่งกลายเป็น “วีรบุรุษ” แต่ในวันข้างหน้าเมื่อการเมืองเข้ามา “เอากลับคืน” ด้วยการไม่เคารพข้อจำกัดอำนาจของตนตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและตามรัฐธรรมนูญบ้าง วันนั้นวีรบุรุษเหล่านั้น (ซึ่งอาจเกษียณอายุไปแล้วก็ได้) ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายระบบตุลาการเพราะเป็นผู้ “ลาก” เอาระบบตุลาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองครับ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ผมจึงไม่เชื่อว่า “ตุลาการภิวัตน์” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ส่วนการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นการใช้อำนาจตุลาการธรรมดาๆ ตามปกติเท่านั้นเองครับ ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษไปอย่างที่เข้าใจกัน เพียงแต่ช่วงเวลาที่มีการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นช่วงเวลาที่ดี และส่งผลทำให้ปัญหาวิกฤตของประเทศมีทางออก ส่วนใครที่จะบอกว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์มีอยู่จริงเพราะอะไรก็สุดแล้วแต่ ก็ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตว่า การกระทำดังกล่าวจะย้อนกลับมาทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบตุลาการหรือไม่อย่างไรครับ
       ไหน ๆ พูดเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” แล้วก็จะขอพูดแถมท้ายด้วยการพูดเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล” ต่อครับ การละเมิดอำนาจศาลเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้คนพูดกันมากเหลือเกินเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาล” นั้น ผมเห็นว่า “การแสดงความเห็นทางวิชาการ” ต่อคำพิพากษาของศาลเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในบริบทของการแสดงความเห็นทางวิชาการที่มิได้ไปกระทบหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้ทำคำพิพากษาครับ บทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลที่ใช้กันอยู่มีขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้พิพากษาจากการดูหมิ่น หรือว่าร้ายด้วยถ้อยคำหยาบคายมากกว่า เราสามารถแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาของศาลที่เราไม่เห็นด้วยได้ด้วยความสุจริตและมีเหตุมีผลทางวิชาการเพราะการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลครับ!!!
       
       
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอบทความเดียว คือบทความเรื่อง "ระบอบประธานาธิบดี" ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งผมขอขอบคุณคุณชำนาญฯ ไว้ ณ ที่นี้ และนอกจากนี้เราก็ยังมีการ "แนะนำหนังสือใหม่" ของสถาบันพระปกเกล้าและของสำนักพิมพ์วิญญูชนอีกจำนวนหนึ่งครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1328
เวลา 25 เมษายน 2567 01:56 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)