ครั้งที่ 209

29 มีนาคม 2552 21:01 น.

       ครั้งที่ 209
       สำหรับวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2552
       
       “ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49”
       
       แม้รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาทำงานได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่บรรยากาศทางการเมืองก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเท่าไรนัก ประชาชนยังถูก “แย่งชิง” โดยขั้วการเมือง 2 ขั้วอย่างหนักหน่วง ขั้วการเมืองที่เป็น “รัฐบาล” ก็พยายามลดแลกแจกแถมทุกอย่างและหายุทธวิธีซื้อใจประชาชนใหม่ ๆ ในขณะที่อีกขั้วการเมืองหนึ่งก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้อำนาจกลับคืนมาเป็นของตน ในช่วงแรก ๆ ของสงครามแย่งชิงประชาชนนั้นผมรู้สึก “สงสาร” ประชาชนที่ “ตกเป็นเหยื่อ” ของทุกฝ่าย แต่ในปัจจุบันผมชักไม่แน่ใจแล้วว่าควรจะสงสารประชาชนไหมเพราะท่ามกลางบรรยากาศของการแย่งชิงประชาชนนั้น จะพบว่าประชาชนมีแต่ “ได้” กับ “ได้” เพราะขั้วการเมืองทั้งหลายต่างก็มี “ข้อเสนอที่น่าสนใจ” สำหรับประชาชน ซึ่งบรรดา “ข้อเสนอที่น่าสนใจ” เหล่านั้นต่างก็ต้องใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลที่บรรดา “ผู้ยื่นข้อเสนอ” ก็ไม่เคยบอกประชาชนตาดำ ๆ อย่างผมว่าจะเอาเงินเหล่านั้นมาจากไหนกัน ภาษีก็เก็บไม่ได้ นักท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยจะกล้ามาเท่าไรนัก สงสัยคงหนีไม่พ้นต้องไประดมกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้ ก็คงต้องย้อนกลับมาสงสาร “ประเทศไทย” และ “ประชาชนชาวไทย” กันดีกว่าที่ต้องไปเป็นหนี้ต่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้บรรดา “นักการเมือง” ได้เอาไป “อวดอ้าง” ว่านี่คือประชาชนที่อยู่ข้างตน!!!
       ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมคงขอที่จะ “เลี่ยง” ไม่พูดเรื่องการเมืองในปัจจุบันเพราะยังไง ๆ ก็คงไม่มีอะไร “ดีขึ้น” เท่าไรนัก แต่ผมจะขอนำเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ฟังเพื่อที่จะได้เกิดประเด็นถกเถียงและศึกษาวิเคราะห์กันต่อไป ผมคงไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวเพราะความเห็นของผมอาจกลายเป็นความเห็น “ชี้นำ” ได้ แต่ผมจะขอเล่าแต่เพียงข้อเท็จจริงให้ฟังอย่างคร่าว ๆ หากผู้ใดสนใจก็ไปค้นหาเพื่อขยายความต่อกันเอาเองครับ
       คงจำกันได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลาง และศาลอาญา ได้มีคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สรุปความได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 เฉพาะมาตรา 4 ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเลือกตั้งดังกล่าวจึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนศาลปกครอง ก็ได้มีคำพิพากษาที่ 607 – 608/2549 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ว่าการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติกำหนดให้ดำเนินการปรับแผนผังที่เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยจัดเรียงคูหาเลือกตั้งจากเดิมที่ให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหลังให้ผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง มาเป็นให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง ทำให้การออกเสียงลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับทั้งในทางข้อเท็จจริงและในความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นเหตุให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองจึงได้พิพากษาให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดในทุกเขตเลือกตั้งและการกระทำต่อมาภายหลังอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 จากนั้นไม่นานศาลอาญาก็ได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.2343/2549 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 พิพากษาว่ากรรมการเลือกตั้ง 3 คน มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุกคนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี
       ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยและคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น ก็ได้มีผู้ยื่นคำร้องขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการเรียกให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เนื่องจากทำให้ทางราชการต้องสูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ
       ในปัจจุบัน การดำเนินการต่าง ๆ ก็ยังไม่เสร็จสิ้นและยังมีปัญหาข้อกฎหมายตามมามากมาย เพราะเมื่อกระทรวงการคลังได้รับคำร้องดังกล่าวก็ได้ส่งคำร้องไปให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้มีความเห็นแจ้งกลับไปที่กระทรวงการคลังว่า การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธานไม่เข้าลักษณะกรณีเจ้าหน้าที่กระทำต่อเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กระทรวงการคลังจึงได้หารือประเด็นดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นว่า ความเสียหายอันเกิดจากการออกกฎหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธานไม่เข้าลักษณะ “ความเสียหาย” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดว่า “ความเสียหาย” หมายความว่า ความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดอย่างใด ๆ แต่ไม่รวมถึงการออกคำสั่งหรือกฎ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหายจึงมีหน้าที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะตอบได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดหรือเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
       ภายหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นเพื่อตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ตลอดจนการจัดการเลือกตั้งภายหลังที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเลือกตั้งวันดังกล่าวว่า เกิดความเสียหายหรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด และเป็นการกระทำละเมิดในทางส่วนตัวหรือเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ทำงานอยู่ประมาณ 6 เดือนเศษ จึงได้นำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากก็ได้มีความเห็นว่า การดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ร้ายแรง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันจึงได้มีหนังสือแจ้งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวไปยังกระทรวงการคลัง
       เรื่องนี้ยังไม่จบแค่นี้ครับเพราะเมื่อกระทรวงการคลังได้รับแจ้งจากประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงได้หารือต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้มีความเห็นยืนตามความเห็นเดิมคือ กรณีดังกล่าวสามารถพิจารณาหาตัวผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เสียหายเป็นผู้มีอำนาจเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเนื่องจากกรณีดังกล่าวความเสียหายที่เกิดจากการเพิกถอนการเลือกตั้งเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการออกกฎเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และไม่อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่จะรับไว้พิจารณา กระทรวงการคลังจึงไม่สามารถเสนอรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งพิจารณาได้ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานกลางด้านการเงินการคลังของรัฐสามารถพิจารณารายงานการสอบสวนดังกล่าวโดยอาจมอบหมายให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณารายงานการสอบสวนหรืออาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาพิจารณาก็ได้ ต่อมา กระทรวงการคลังจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนขึ้นมาชุดหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการพิจารณาเสร็จแล้ว กระทรวงการคลังก็ได้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งสรุปความได้ว่า จากจำนวนของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนที่มีรวม 7 คนนั้น มีกรรมการ 4 คนเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน เป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายประมาทเลินเล่อในระดับไม่ร้ายแรง ส่วนกรรมการอีก 2 คนเห็นว่า เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และกรรมการอีก 1 คนเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับความเสียหาย ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงมีความเห็นตามกรรมการเสียงข้างมากคือ การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน เป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายประมาทเลินเล่อในระดับไม่ร้ายแรง
       ขณะนี้ เรื่องดังกล่าวถูกส่งมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเรียกค่าเสียหายครับ
       มีข้อมูลน่าสนใจจากรายงานความเห็นของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนอยู่หลายประการ เช่น ความเสียหายที่เกิดจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 คือ 1,772 ล้านบาทเศษ การกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้นชอบด้วยกฎหมาย ส่วนประเด็นการจัดคูหาเลือกตั้งที่หันคนละด้านกับที่เคยทำมานั้น กรรมการเสียงข้างมากจำนวน 4 คนเห็นว่า การจัดคูหารูปแบบใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเจตนาโดยสุจริตและมุ่งหมายให้เกิดความเที่ยงธรรม จึงไม่อาจถือได้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจงใจทำต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยผิดกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับความเสียหาย
       ขอให้ข้อมูลทางด้านกฎหมายไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า มาตรา 8 วรรคแรก แห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ซึ่งหากผลการสอบสวนออกมาปรากฏว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ถือเป็นการกระทำที่อยู่ในข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดดังกล่าวก็จะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเกือบ ๆ 2000 ล้านบาทครับ
       ก็คงจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 2,000 ล้านบาทหรือไม่ อย่างไรครับ!!!

       
       
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียวคือบทความเรื่อง "ความรักชาติ (Patriotism)" ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1351
เวลา 25 เมษายน 2567 23:54 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)