“จดหมายชี้แจง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

7 มิถุนายน 2552 21:21 น.

       Passau, Germany
       
       ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒
       
       เรื่อง ชี้แจงการถูกพาดพิงจากบทความที่เผยแพร่ใน www.pub-law.net
       เรียน ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ บรรณาธิการเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย
       
       เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย (www.pub-law.net) ได้เผยแพร่บทความของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทร- สมบูรณ์ เรื่อง คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ บทความทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒ มีข้อความที่พาดพิงถึงผม โดยเหตุที่ข้อความที่พาดพิงถึงผมนั้นมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงต่อความจริง หากปล่อยไว้ ผู้อ่านที่ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นมาอาจเข้าใจผิดได้ จึงจำเป็นที่ผมต้องเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน อนึ่งโดยที่บทความของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ มีความคลาดเคลื่อนในทางวิชาการอยู่ด้วย ผมจึงขอถือโอกาสนี้อธิบายความไปในคราวเดียวกัน ดังนี้
       
       ๑. ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ท่านผู้เขียนบทความ”) ได้เขียนบทความว่าการที่คนไทยมองไม่เห็นปัญหาที่ท่านเรียกว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” นั้นเป็นเพราะความล้มเหลวของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา โดยท่านเห็นว่าข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวดังกล่าวสามารถยืนยันได้จากบทความของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์จำนวน ๕ ท่านของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในบทความที่อ้างถึงข้างต้น ท่านได้เขียนดังนี้ “ท่านคณาจารย์ฯได้กล่าวไว้ในบทความของท่านว่า ท่าน(คณาจารย์)เห็นว่า ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ; ทั้งที่ตามความเป็นจริง (reality) แล้ว ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ลายลักษณ์อักษร) ของประเทศไทย ระบบสถาบันการเมืองของเรา ไม่มีดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างองค์กรนิติบัญญัติกับองค์กรบริหารแต่อย่างใด”
       
บทความที่ท่านผู้เขียนบทความกล่าวถึงนี้ ที่จริงแล้ว คือ แถลงการณ์ของอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน ๕ ท่าน ซึ่งออกไปเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางที่รับคำฟ้องกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไว้พิจารณาและกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยผู้เขียนเป็นหนึ่งในห้าอาจารย์ที่ออกแถลงการณ์ดังกล่าว ข้อความในแถลงการณ์ที่ท่านผู้เขียนบทความได้กล่าวพาดพิงถึงนั้นปรากฏอยู่ในหัวข้อที่ ๑๖ ของแถลงการณ์ ความว่า “คณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งห้าดังมีรายนามตอนท้าย ตระหนักในความสำคัญของหลักการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองโดยองค์กรตุลาการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความห่วงใยในดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ว่าอาจจะเสียไปโดยการที่ศาลปกครองในคดีนี้เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจทางบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎรตามวิถีทางในทางประชาธิปไตยอยู่แล้ว อีกทั้งคำสั่งในคดีนี้ยังขัดแย้งกับแนวทางที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวางไว้ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘/๒๕๕๐ ที่คณาจารย์เห็นว่าสอดคล้องกับหลักนิติรัฐอีกด้วย จึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีนี้ผ่านแถลงการณ์ฉบับนี้”
       
ท่านบรรณาธิการคงจะเห็นว่าในแถลงการณ์ฉบับนี้ไม่ปรากฏข้อความตอนใดของแถลงการณ์ ที่คณาจารย์ทั้งห้าเขียนดังที่ท่านผู้เขียนบทความได้สรุปไว้ ในทางความเป็นจริงดุลยภาพแห่งอำนาจทั้งสามจะมีหรือไม่ จะมีมากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นหนึ่งที่อาจจะอภิปรายในมิติและแง่มุมต่างๆได้มากมาย แต่ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในทางกฎหมายในคดีนี้มีอยู่ว่าการที่ศาลปกครองเข้าไปวินิจฉัยชี้ขาดการใช้อำนาจบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีในเขตอำนาจของตนหรือไม่ การรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้นต้องด้วยเงื่อนไขที่ปรากฏตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ หรือไม่ หากใครคนใดคนหนึ่งสรุปเอาเองง่ายๆว่า ไม่มีดุลยภาพดังกล่าว จึงไม่ต้องสนใจหลักการพื้นฐานในทางกฎหมายเสียแล้ว เราจะเรียนและสอนวิชานิติศาสตร์กันอย่างไร หากท่านผู้เขียนบทความเห็นว่าในทางความเป็นจริงดุลยภาพขององค์กรนิติบัญญัติและองค์กรบริหารไม่มีอยู่ (ซึ่งอาจจะโต้แย้งได้อีกในหลายแง่มุม โดยเฉพาะในแง่พัฒนาการของการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะถ้าใช้ตรรกะของท่านผู้เขียนบทความแล้ว โดยเหตุที่คณะรัฐมนตรีจะบริหารราชการแผ่นดินได้ก็โดยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายข้างมากย่อมเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็จะไม่มีวันมีดุลยภาพในความเข้าใจของท่านได้ ) ก็จะต้องเสนอว่าจะทำให้ดุลยภาพตลอดจนการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรทั้งสองเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างไร แต่จะพาลเอาเหตุนี้ไปทำลายหลักการในทางนิติศาสตร์ที่จะต้องใช้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไม่ได้ สำหรับเรื่องนี้อันที่จริงอาจชี้ให้ท่านผู้เขียนบทความแยกแยะมิติของกฎหมายในแง่ของบรรทัดฐานที่กำหนดสิ่งที่ควรจะต้องเป็น (Sollen) กับกฎหมายในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางข้อเท็จจริง ระหว่างนิติศาสตร์โดยแท้ (Rechtsdogmatik; Legal dogmatics) กับสังคมวิทยากฎหมาย (Rechtssoziologie; Sociology of law) ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Verfassungsrecht; Constitutional law) กับสังคมวิทยาการเมือง (Politische Soziologie; Political sociology)ได้อีก แต่จะทำให้จดหมายฉบับนี้ยาวเกินไป ในชั้นต้นนี้ผมต้องการชี้แจงให้ท่านบรรณาธิการเห็นการสรุปความที่คลาดเคลื่อนและการกล่าวหาห้าอาจารย์อย่างไม่เป็นธรรมเท่านั้น
       อนึ่ง ในบทความเกี่ยวกับคดีประสาทพระวิหารซึ่งผมและท่านผู้เขียนบทความได้โต้แย้งกันและเคยเผยแพร่ในเว็บไซต์แห่งนี้มาแล้วนั้น ผมได้อธิบายโต้แย้งประเด็นทางกฎหมายกับท่านผู้เขียนบทความหลายประเด็น แต่ไม่ปรากฏว่าท่านผู้เขียนบทความได้อธิบายประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นอำนาจฟ้องคดี ประเด็นการวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีในชั้นของการคุ้มครองชั่วคราว ฯลฯ เลย
       
       ๒. ท่านผู้เขียนบทความได้อ้างถึงคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน ๕ ท่านเป็นตัวอย่าง (ตามความเห็นของท่าน) ว่าไม่รู้จักระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะอาจารย์ที่เรียนกฎหมายและจบปริญญาเอกทางกฎหมายจากเยอรมนี ซึ่งในบรรดาอาจารย์ทั้งห้านั้น มีผมเพียงคนเดียวที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากเยอรมนี จึงอาจอนุมานได้ว่าท่านผู้เขียนบทความมุ่งหมายถึงตัวผม ท่านผู้เขียนบทความได้ยกตัวอย่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคการเมือง และให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระตามมโนธรรมสำนึกของตน เป็นเครื่องสนับสนุนความเห็นของท่าน พร้อมกับกล่าวว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษากฎหมายจากประเทศเยอรมนีควรจะต้องรู้เรื่องนี้ ผมขอเรียนท่านบรรณาธิการว่าผมทราบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไม่บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองในระบบกฎหมายของเยอรมันดีพอที่จะทำให้ทราบว่าท่านผู้เขียนบทความมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวนี้ ท่านผู้เขียนบทความเข้าใจว่าบทบัญญัติในกฎหมายพื้นฐาน (Grundgesetz; Basic Law ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญเยอรมัน) ที่กำหนดอย่างชัดแจ้งให้ ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตนนั้นเป็นมาตรการที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีเขียนขึ้นเพราะเกรงว่าจะเกิดระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองซ้ำอีก (กล่าวคือจะซ้ำรอยฮิตเลอร์ที่ขึ้นครองอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง นำรัฐเยอรมันไปสู่ความเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จและพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด) อันที่จริงแล้วบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวมีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรก่อนที่ฮิตเลอร์จะขึ้นมามีอำนาจในเยอรมัน หาใช่เป็นบทบัญญัติที่เป็นนวัตกรรมของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ (กฎหมายพื้นฐาน) ค.ศ. ๑๙๔๙ ไม่ และในช่วงที่ฮิตเลอร์กำลังจะขึ้นมามีอำนาจนั้น บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวก็ใช้บังคับอยู่ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ ส.ส.เป็นผู้แทนของปวงชน ไม่ต้องผูกพันกับอาณัติหรือคำสั่งของผู้ใดนั้น ปรากฏขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๑ ซึ่งเป็นปีที่บิสมาร์คได้รวมอาณาจักรเยอรมันสำเร็จ (ในทางประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวความคิดดังกล่าวนี้สืบสาวกลับไปได้ถึงรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ.๑๗๙๑ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส) ท่านบรรณาธิการอาจตรวจสอบเรื่องนี้ได้ในมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรเยอรมัน ค.ศ.๑๘๗๑ หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับถัดมาที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญไวมาร์ (ค.ศ.๑๙๑๙) ก็บัญญัติข้อความไว้ทำนองเดียวกันในมาตรา ๒๑ และได้เพิ่มความขึ้นมาอีกว่า ส.ส.พึงจำนนต่อมโนธรรมสำนึกของตนเท่านั้น บทบัญญัติทำนองนี้ ปรากฏขึ้นอีกครั้งในกฎหมายพื้นฐานหรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๙ (และเพิ่งมีการเฉลิมฉลองครบรอบหกสิบปีแห่งการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้) ในมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หลักการพื้นฐานของบทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญสามประการ คือ ๑. ส.ส. ต้องเป็นผู้แทนปวงชน (ไม่ใช่ผู้แทนของเขตเลือกตั้งหรือของผู้ที่เลือกตนเข้ามาเท่านั้น) ๒. ส.ส. ไม่ผูกพันกับอาณัติหรือคำสั่งของผู้ใด ๓. ส.ส.จำยอมเพียงแต่มโนธรรมสำนึกของตนเท่านั้น
       ผมไม่เคยให้ความเห็นในที่แห่งใดเลยว่าผมเห็นด้วยกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่เคยสรุปและยึดถือเป็นสรณะว่า รากเหง้าของปัญหาในระบบการเมืองไทยทั้งหมด มาจากการที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง หากปฏิรูปการเมืองโดยอาศัย Statesman มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้แล้ว จะแก้ปัญหาทางการเมืองได้ ผมเห็นว่าสิทธิของปัจเจกบุคคลในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ควรถูกจำกัดทั้งในแง่ของการบังคับให้สังกัดพรรค หรือเงื่อนไขประการอื่น เช่น การบังคับให้ต้องสำเร็จการศึกษาในชั้นปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงหลักความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนของ ส.ส.แล้ว จะต้องอภิปรายถึงการรักษาวินัยของพรรคการเมืองในกรณีที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัดพรรคการเมือง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคะแนนเสียงที่ประชาชนออกเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความนิยมชมชอบในนโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นสังกัด จะต้องพูดถึงการสร้างความเข้มแข็งและการทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมืองพร้อมกันไปด้วย ใครก็ตามที่จะพูดถึงหลักดังกล่าว จะต้องคิดถึงประสิทธิภาพของพรรคการเมืองและการทำงานของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องพูดถึงมโนทัศน์ว่าด้วยกลุ่มการเมืองในสภา (Fraction) จะต้องพูดถึงสิทธิของ ส.ส.ที่ไม่สังกัดกลุ่มการเมืองในสภา (หรือไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง – ส.ส.อิสระ) ว่าต่างจาก ส.ส.ที่สังกัดกลุ่มการเมืองในสภาอย่างไร เช่น ส.ส.ที่ไม่สังกัดกลุ่มการเมืองในสภา (หรือไม่มีพรรคการเมืองสังกัด) จะไม่สามารถเป็นกรรมาธิการต่างๆได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องพูดและอภิปรายกันในภาพใหญ่ จะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ในกฎหมายรัฐสภาและกฎหมายพรรคการเมืองไปพร้อมกัน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้
       อนึ่ง ในแง่โครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ผมเป็นผู้หนึ่งที่ได้วิพากษ์วิจารณ์บทบัญญัติบางเรื่องของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นปีที่ผมสำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนี และกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผมมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็น แต่ในขณะเดียวกันผมไม่เคยสนับสนุนวิธีการนอกระบบในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และไม่อาจยอมรับวิธีการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญได้
       
       ๓. ท่านผู้เขียนบทความได้พยายามกล่าวถึงการวิเคราะห์ปัญหาสภาพการเมืองไทยโดยอาศัย “สังคมวิทยา” และกล่าวในทำนองว่าผู้อื่น (คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั้งห้า โดยเฉพาะอาจารย์ที่จบปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี) มองไม่เห็นเหตุผลในทางสังคมวิทยา (ที่ท่านเรียกว่านิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐) ดังที่ท่านเห็น จึงปล่อยให้เกิดการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและนำไปสู่ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง ผมอยากเรียนท่านบรรณาธิการว่าการกล่าวอ้างสังคมวิทยาการเมือง หรือสังคมวิทยากฎหมายมาเป็นเหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของตนอย่างง่ายๆ ปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นทั่วไป เช่น เมื่อมีการให้ความเห็นไปตามหลักการที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป แต่ไม่ต้องด้วยความเห็นของตน ก็จะบอกว่าผู้ให้ความเห็นไม่เข้าใจสภาพสังคมวิทยาของเมืองไทย ทั้งๆที่ผู้พูดเองต่างหากที่ไม่เข้าใจทั้งเนื้อหาสาระ และวิธีการของวิชาสังคมวิทยาการเมืองและสังคมวิทยากฎหมาย และด้วยความไม่เข้าใจ ไม่มีวิธีวิจัยตามทฤษฎีว่าด้วยวิธีการที่เป็นศาสตร์หรือวิธีวิทยา (Methodologie) ในการศึกษาปัญหานี่เองจึงทำให้ท่านผู้เขียนบทความสรุปปรากฏการณ์ของการยึดอำนาจในประเทศไทยว่า “และเท่าที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรของชาติ โดย “เผด็จการทหาร” มีน้อยกว่า “เผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” นี่หรือ คือ สังคมวิทยาของท่านผู้เขียนบทความ บทสรุปนี้ท่านสรุปจากอะไร มีข้อมูลในเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือสนับสนุนความเห็นของท่านอย่างไร ถ้าไม่มี นั่นก็เป็นเพียงความเชื่อของท่านเท่านั้น
       ผมอยากเรียนท่านบรรณาธิการว่า การวิเคราะห์สภาพปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะต้องนำสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทุกกลุ่มทั้งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อพิจารณาว่าสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร การกระจายผลประโยชน์ในทางการเมืองบนพื้นฐานของกติกาประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่การวิเคราะห์เฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้หากจะวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยให้เป็นวิชาการจริงๆแล้ว ผู้วิเคราะห์จะต้องวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ในทางการเมืองของสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านี้ทั้งหมด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรี นักการเมืองและพรรคการเมือง บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี ผู้พิพากษาตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทหาร ข้าราชการ พนักงานของรัฐ รวมตลอดถึงนักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชนตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เพราะหากการวิเคราะห์ไม่ได้กระทำอย่างรอบด้านแล้ว ก็อาจนำไปสู่บทสรุปที่ผิดพลาดได้ เช่น การเปรียบเทียบระบอบนาซีเยอรมันกับการปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ “หยาบ” อย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ บรรทัดฐานทางกฎหมายและสังคม การดำรงอยู่ของสถาบันทางการเมือง ทัศนคติ อารมณ์และความรู้สึกของคนในชาติ ฯลฯ การปกครองทั้งสองกรณีนี้ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย ผมมีข้อสังเกตว่าท่านผู้เขียนบทความอาจจะไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชาติเยอรมันสมัยฮิตเลอร์เรืองอำนาจและตัวบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้นอย่างละเอียดลึกซึ้งมากนัก ดังจะเห็นได้จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับที่มาของบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระของ ส.ส.โดยไม่ขึ้นอยู่กับอาณัติของผู้ใด (freies Mandat) ที่ผมได้ชี้ให้เห็นข้างต้น เมื่อไม่ได้ศึกษาความเป็นมาเป็นไปของระบอบนาซีเยอรมันให้ถ่องแท้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ท่านผู้เขียนบทความเพียงแค่เห็นว่าฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งเหมือนกัน ก็กระโจนไปสู่บทสรุปอย่างง่ายดายว่าผลของการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ก็จะต้องออกมาในลักษณะที่เป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองเหมือนกัน และขยายเป็นความเชื่อตามๆกันไป การยกเอาระบอบนาซีเยอรมันขึ้นมาเปรียบเทียบจึงไม่สามารถจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากผู้ที่เปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามหยิบ “หน้ากาก” ทางวิชาการขึ้นมาสวม เพื่อตอบสนอง “ธง” หรือ “การเคลื่อนไหว” ทางการเมืองของตนเท่านั้น
       
       ๔. ในตอนหนึ่งของบทความท่านผู้เขียนบทความกล่าวว่า “มนุษย์ทุกคน ต่างมี “ความเห็นแก่ตัว” เป็นธรรมชาติ (ของมนุษย์)” น่าเสียดายที่ท่านผู้เขียนบทความใช้สมมติฐานข้อนี้ไปวิเคราะห์เฉพาะพรรคการเมืองกับนักการเมือง สมมติฐานข้อนี้ ถ้าท่านผู้เขียนบทความจะใช้ก็พึงใช้ให้เสมอกันกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ Statesman ของท่าน เว้นแต่ท่านผู้เขียนบทความจะคิดว่า Statesman ไม่ใช่มนุษย์ ถ้าเช่นนั้นก็สุดที่ผมจะอภิปรายให้เหตุผลกับท่านผู้เขียนบทความได้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีผลประโยชน์ในทางการเมือง กลุ่มที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีผลประโยชน์ในทางการเมืองเช่นกัน ปัญหาจึงมีอยู่แต่เพียงว่าผลประโยชน์อันใดเป็นผลประโยชน์อันชอบธรรมที่บุคคลพึงได้รับ และจะจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่บุคคลตลอดจนกลุ่มประโยชน์ต่างๆให้ยุติธรรมได้อย่างไร ภายใต้หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
       
       จึงเรียนมาเพื่อท่านบรรณาธิการได้โปรดพิจารณาเผยแพร่จดหมายฉบับนี้ใน www. pub-law.net ให้ท่านผู้อ่านเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทยได้ทราบเรื่องราวโดยถูกต้องตามความเป็นจริงด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
       
       ขอแสดงความนับถือ
       
       นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์
       
       อ่าน บทความ "คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร" ตอนที่หนึ่ง และ "คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร" ตอนที่สอง โดย ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1366
เวลา 29 เมษายน 2567 08:11 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)