ครั้งที่ 221

13 กันยายน 2552 20:36 น.

       ครั้งที่ 221
       สำหรับวันจันทร์ที่ 14 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2552
       
       “3 ปี รัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย”
       

       วันที่ 19 กันยายนปีนี้ เป็นวันครบรอบ 3 ปีของการทำรัฐประหาร “ครั้งล่าสุด” ในประเทศไทยครับ
       สภาพบ้านเมืองในวันนี้ คงไม่มีใครบอกได้ว่าเราไม่มีปัญหาอะไรอีกแล้ว เพราะ “วิกฤต” ต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ แถมยังแตกแขนงออกไปอีกหลายสาขา ดังนั้น ในวันนี้ หลังจากที่ 3 ปีผ่านไป จึงน่าจะถือโอกาสประเมิน “ผลสำเร็จ” ของการกระทำรัฐประหารว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะระยะเวลา3 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำการประเมินได้เนื่องจากพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทุก ๆ ด้านที่เป็นผลพวงอันเกิดมาจากการรัฐประหารย่อมสะท้อนให้เห็นถึง “ผลสำเร็จ” ของการทำรัฐประหารได้ไม่ยากนัก
       ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ก่อนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในวันนั้นแม้เราจะพบว่ามีความขัดแย้งในสังคม แต่ความขัดแย้งดังกล่าวก็มิได้มีความ “รุนแรง” เท่ากับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น คณะรัฐประหารและรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ได้แสดงให้เราเห็นภาพของ “ความปรารถนาดี” ที่มีต่อบ้านเมืองและในทางกลับกันก็ได้ “ฉายภาพ” ของความเลวร้ายที่เกิดจากรัฐบาลที่ผ่านมา สิ่งที่ตามมาก็คือการล้มเลิกโครงการหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลที่ผ่านมา
       รัฐบาลของคณะรัฐประหารพยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ “ดูดี” และ “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศไม่ใช่ “ของง่าย ๆ” ที่ใครจะลุกขึ้นมาทำก็ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่เรามองเห็น “ความล้มเหลว” ในการบริหารประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งในด้านการออกกฎหมายโดย “สนช.” ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารด้วย!!! จากความรู้สึกของผมน่าจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ล้มเหลวก็คือ กระบวนการตรวจสอบรัฐบาลที่ผ่านมาที่ทำงานกันอย่างขมักเขม้นและประสานเสียงกันอย่างน่าชื่นชม มีการฉายให้เห็น “ภาพร้าย” ของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกวันจนทำให้บางครั้งอดนึกไม่ได้ว่า ทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาถึงได้ “ร้าย” ขนาดนี้!!! ข่าวต่าง ๆ มีมากมายรายวันจนแทบไม่น่าเชื่อ ยังจำกันได้ไหมว่า 2 – 3 วันหลังการรัฐประหารก็มีข่าวการทุจริตเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการว่า เกิดการทุจริตกันมากทุกรูปแบบ รันเวย์ร้าวและทรุดจนไม่น่าจะใช้การได้ แถมมีบางคนออกมาให้ข่าวว่าคงเปิดใช้สนามบินไม่ได้อีกแล้วและสมควรเก็บไว้เป็น “สุสาน” ของอดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมาด้วย!!! ส่วนกระบวนการตรวจสอบอื่น ๆ ก็ดู “น่ากลัว” ทั้งนั้น ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง ถูกสังคมประณามว่าทุจริตทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิสูจน์ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่สร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้กับนักการเมืองในรัฐบาลที่ผ่านมาจนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีโอกาสได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียวครับ
       เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะรัฐประหารก็สามารถ “เอาใครก็ไม่รู้” มาร่างรัฐธรรมนูญได้ ดู ๆ แล้วไม่น่าเชื่อว่าจะทำอย่างนี้ได้กับกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตัวอย่างดี ๆ มีให้เห็นทั่วโลกก็ไม่เอามาใช้กลับสร้างแบบของตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญที่มีมาตรา 309 พ่วงท้ายมาด้วย คงไม่มีที่ใดในโลกนี้อีกแล้วที่ทำอย่างนี้ได้ครับ! ด้วยเหตุนี้เอง “ใครก็ไม่รู้” ที่มาร่างรัฐธรรมนูญที่บางคนก็เข้ามาเพราะ “มีตำแหน่ง” บางคนก็เข้ามาเพราะ “มีพรรคพวก” จึงช่วยกันผลิตรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย “ใหญ่” รัฐบาลหรือแม้กระทั่งผู้เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญด้วยบางคนต้องออกมาบอกกับประชาชนก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติว่า “รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง” น่าอายไหมครับกับผลงานที่มีตำหนิ!!
       เมื่อรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกมาใช้บังคับ เกิดการเลือกตั้งขึ้น เกิดปัญหาจากบทบัญญัติที่หลาย ๆ มาตราในรัฐธรรมนูญนำมาซึ่งความวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่ในวันนี้ อาจสรุปได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมาก็ว่าได้ ผมจะขอพูดถึงวิกฤตต่าง ๆ เพียง 3 วิกฤตที่ผมคิดว่ามีความสำคัญและเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารอย่างคร่าว ๆ ก็แล้วกันนะครับ
       วิกฤตแรกสำหรับผมก็คงเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เราจะพบได้ในชีวิตประจำวันว่า เรามีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกันมากรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มี “หลายมาตรฐาน” ด้วยครับ!! ลองสังเกตดูในช่วงชีวิตประจำวันก็ได้ ทางเท้าสำหรับคนเดินกลายเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซด์และเป็นที่ขายของ บนถนน รถเมล์และรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งตามกฎหมายจะต้องวิ่งชิดขอบทางด้านซ้าย ก็ออกมาวิ่งเผ่นผ่านเต็มพื้นที่ถนนไปหมด สองตัวอย่างนี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าทั้งผู้อยู่ใต้กฎหมายและผู้รักษากฎหมายต่างก็ละเลยการบังคับใช้กฎหมายกันไปหมด ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อมีการจับพ่อค้าขายของปลอมแถวพัฒน์พงษ์ เราจึงเห็นภาพการขัดขืนการจับกุมและการบุกชิงของกลางที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างไม่สะทกสะท้านครับ! ส่วนเรื่องเก่า ๆ ที่หลายต่อหลายคนพูดถึงก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันต่อไป การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงจนถึงวันนี้เราก็ยังหาตัวคนทำผิดมาลงโทษไม่ได้ แต่พอมีข่าวการตัดต่อเทปเสียงนายกรัฐมนตรี เพียงไม่กี่ชั่วโมงเราก็ทราบข้อมูลชัดเจนแล้วว่ามีการตัดต่อกี่จุด เอาเสียงเหล่านั้นมาจากไหน แถมยังรู้ไปไกลกว่านั้นอีกว่าทำและเผยแพร่มาจากที่ใดด้วยครับ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คำว่า “สองมาตรฐาน” เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายครับ
       รวมความแล้ว สำหรับวิกฤตของการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายว่าอยู่คู่กับประเทศไทยมาจะครบ 3 ปีแล้ว และก็ยังมองไม่เห็นว่า ณ จุดใด เราจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้อง เป็นธรรมและยุติธรรม ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงอยู่เสมอ ๆ ถึงการปกครองในระบบ “นิติรัฐ” ครับ!!
       วิกฤตต่อมา ก็คงหนีไม่พ้นปัญหา “อมตะ” ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยกว่า 50 ปีแล้ว และเรียกได้ว่าเป็น “เหตุใหญ่” ที่ใช้อ้างกันสำหรับการรัฐประหารแทบทุกครั้ง นั่นคือเรื่อง “การทุจริตคอรัปชั่น” ครับ !!! การดำเนินการตรวจสอบของกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารและโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้วางมาตรการต่อเนื่องที่เพียงพอในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ เราก็ได้ยินเรื่อง “ปลากระป๋องเน่า” ที่ไม่รู้ว่าวันนี้ตรวจสอบไปถึงไหน ตกลงแล้วมีใครทุจริตหรือไม่ ตามมาด้วยการเช่ารถเมล์ 4,000 คันที่แพงยิ่งกว่าการซื้อหลายเท่าที่ไม่รู้เช่นกันว่าวันนี้ผลการพิจารณาไปถึงไหน ปิดท้ายด้วยโครงการอภิมหาทุจริตชุมชนพอเพียงที่มีข่าวว่าเกิดการทุจริตจำนวนมากมายหลายโครงการย่อย ที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากและประชาชนก็ได้ “ของไม่ดี” ไปใช้ ที่ในวันนี้ก็เช่นเดียวกันที่เรื่องเงียบหายไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่า 3 ตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟังนี้เขาเรียกว่า “การทุจริต” หรือไม่ครับ เพราะถ้าใช่ ก็คือการเอาเงินของประเทศชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่น่าจะต้อง “ลากคอ” คนทำผิดมาลงโทษ เช่นเดียวกับการที่เรา “สะใจ” กับการลงโทษอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ผ่านมาในข้อกล่าวหาเดียวกันนะครับ นอกเหนือจากการทุจริตที่เป็นตัวเงินและทรัพย์สินที่กล่าวไปแล้ว วันนี้เราก็ยังคงพบการทุจริตรูปแบบดั้งเดิมที่ไม่ว่าจะรัฐประหารกันกี่ครั้งก็ไม่เห็นหมดสิ้นไปเสียที นั่นก็คือการใช้อำนาจเข้าไป “แทรกแซง” ระบบราชการประจำที่บางคนพยายามเรียกว่า “การทุจริตเชิงอำนาจ” ลองดูเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายก็แล้วกันครับดูมีปัญหาไปหมดตั้งแต่การแต่งตั้งที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในกระทรวงอีกบางกระทรวง รวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยที่เหมือนในหน่วยงานจะ “ไม่พอใจ” แต่ก็ไม่กล้า “ขัดขืน” ด้วยเกรงว่า หากรัฐบาลอยู่ยาวตนเองจะลำบากครับ
       หากการทุจริตคอรัปชั่นและการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงระบบราชการประจำเป็น “เงื่อนไขหลัก” ที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ก็ขอให้ลองพิจารณาดูเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็แล้วกันนะครับว่า เข้าเงื่อนไขที่จะทำการรัฐประหารแล้วหรือยัง?
       วิกฤตสุดท้าย ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นวิกฤตใหญ่ที่ควรจะกล่าวถึงไปแล้วตั้งแต่ต้นแต่ก็นำมากล่าวถึงเป็นวิกฤตสุดท้ายด้วยเหตุที่ว่า น่าจะเกิดปัญหาขึ้นเร็ว ๆ นี้ และปัญหาน่าจะรุนแรงเพราะเป็น “วิกฤตสะสม” ที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารโดยตรงครับ นั่นก็คือวิกฤตรัฐธรรมนูญครับ
       คงจำกันได้ว่า “รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง” เป็นคำพูดที่แม้จะมีคนนำมาอ้างถึงมากแต่ในทางปฏิบัติก็เป็นไปไม่ได้สักครั้ง เพราะว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตา “คัดค้าน” การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “สาระที่จะขอแก้ไข” เลย คนเหล่านั้นพยายามทำให้ภาพของรัฐธรรมนูญดูเป็นของ “ศักดิ์สิทธิ์” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ทุกคนต้องให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็น “สัญลักษณ์” ของความเป็นประชาธิปไตย คนเหล่านั้นจึง “คัดค้าน” การแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการเสนอขอแก้ไขโดยไม่ฟังเสียงใด ๆ ทั้งสิ้นครับ
       จริง ๆ แล้ว ผมเองก็เห็นด้วยกับการ “ไม่แก้” รัฐธรรมนูญในช่วงนี้เพราะเมื่อพิจารณาจาก “ข้อเสนอ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์แล้วก็ไม่เห็นว่าประชาชนหรือประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไรมากมายนัก คงมีเพียงนักเลือกตั้งและนักการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าหากจะแก้กันจริง ๆ แล้ว น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาและหาทางสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมืองให้ดีกว่านี้ ประเทศชาติก็จะได้ประโยชน์มากกว่าครับ
       ดู ๆ ไปแล้ว หากเดาไม่ผิด เราคงต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีกนานทีเดียวครับ ก็ "พลังหลัก" ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็น “พลังหลัก” ที่ค้ำยันรัฐบาลอยู่ ยังไงเสียก็คงต้องฟังกันบ้าง ใช่ไหมครับ!!!
       มีอะไรอีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารแต่ผมคงจะขอไม่กล่าวถึงแล้วครับ ในวันนี้หากจะประเมินผลการรัฐประหารคงไม่ยากที่จะให้คะแนน การรัฐประหารที่ผ่านมาถือว่า “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิงเพราะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไม่ได้เลย และในทางกลับกันกลับสร้างปัญหาสำคัญขึ้นมาให้กับประเทศอีก นั่นก็คือความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรงที่ดู ๆ แล้วน่าจะยากที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น ความล้มเหลวของการรัฐประหารยังแสดงออกมาโดยผ่านทางนักการเมืองหน้าเก่าที่แม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ก็สามารถส่ง “ตัวแทน” เข้ามาร่วมอยู่ในรัฐบาล ในองค์กรของรัฐต่าง ๆ แถมบางคนก็ยังมีบทบาทสูงในการ “ชี้นำ” การเมืองของประเทศในวันนี้อย่างชัดเจนอีกด้วยครับ ส่วนการจัดการกับการทุจริตคอรัปชั่นทั้งที่เป็นทรัพย์สินเงินทองหรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก็เห็นได้ชัดว่า “ล้มเหลว” เพราะวันนี้ก็ยังมีอยู่และดูท่าทางจะ “แยบยล” กว่าเดิมอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการกระทำที่ “สูญเปล่า” ครับ
       บทสรุปสำหรับ “3 ปีรัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย” ก็คือในวันนี้ระบบเศรษฐกิจของเราพังพินาศไปมาก สังคมมีความแตกแยกสูง การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง การเมืองอ่อนแอ คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ประเทศชาติได้รับความเสียหายจากการรัฐประหารไปมากน้อยเพียงใด ส่วนใครได้นั้นก็คงต้องไปดูกันเอาเองจากตำแหน่งหน้าที่ ฐานะการงาน บทบาทต่าง ๆ ที่บางคนได้มาจากการสนับสนุนการรัฐประหาร จากการเป็น สนช. จากการเป็นเนติบริกร จากการเข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญ ลองพิจารณากันเอาเองแล้วกันครับ
       ในวันนั้น หากไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นและปล่อยให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาการเมืองกันเอง ในวันนี้เราจะเป็นอย่างไร คงเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เรา “ลอง” มองดูบ้างครับ
       ความผิดพลาด “ครั้งใหญ่” ของคณะรัฐประหารก็คือ เมื่อขึ้นมาแล้วไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่าง “เด็ดขาด” ปัญหาต่าง ๆ จึงยังคงอยู่ครบทั้งหมด!!!


       ขอแสดงความไว้อาลัยให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ถูกฆ่าทิ้งไป เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ครับ
       ท้ายที่สุด ขอฝากคำถามถึงผู้สนับสนุนการรัฐประหาร ผู้เข้าไปช่วยเหลือการรัฐประหารและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อมาทั้งหมด รวมไปถึงผู้ที่เอาดอกไม้ไปแสดงความยินดีกับการรัฐประหารว่า คิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ หากมองด้วยสายตาที่เป็นธรรมคงเห็นต้องตรงกันนะครับว่าเป็น 3 ปีที่ประเทศเราต้องถอยหลังเข้าคลองไปมากครับ!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือ บทความเรื่อง “แทรกแซงสื่อ ขัดรัฐธรรมนูญ” ของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ โอกาสนี้ครับ นอกจากนี้ เรายังมีหนังสือใหม่จากสถาบันพระปกเกล้ามาแนะนำอีกด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1386
เวลา 26 เมษายน 2567 05:16 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)