ครั้งที่ 223

9 ตุลาคม 2552 16:15 น.

       ครั้งที่ 223
       สำหรับวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2552
       
       “ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน (2)”
       
       ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเป็นประเด็นใหญ่ให้ถกเถียงกันอยู่ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร ล่าสุดเท่าที่ได้ฟังมาก็คือคงต้องมีการทำประชามติด้วยแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำประชามติในขั้นตอนใด ผมมองดูความ “สับสน” ทางความคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วยความ “เสียใจ” เป็นอย่างยิ่ง ทำไมประเทศไทยเราถึงได้ “โชคร้าย” ซ้ำซาก! วนเวียนอยู่กับความ “ไม่รู้”!! วนเวียนอยู่กับนักการเมืองที่คิดอะไรทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง!!! ไม่ว่าจะทำอะไรก็ดู “ติดขัด” ไปเสียทุกอย่าง จริงๆ แล้วการปฏิรูปการเมืองที่ดีไม่ควรจะเริ่มต้นจาก “นักการเมือง” เสียด้วยซ้ำไปครับ แค่ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ ของนักการเมืองก็มองเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าเป็นข้อเสนอของนักการเมือง “เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง” ทั้งสิ้นครับ ภาคประชาชนน่าจะลองคิดดูนะครับว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้นักการเมืองเข้ามาวางกติกาต่างๆ สำหรับตัวเองที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองครับ ผมว่าไม่คุ้มค่าเลยสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามที่นักการเมืองต้องการและหากต้องทำประชามติด้วยแล้วก็ยังไม่คุ้มค่ากันใหญ่สำหรับเงินที่จะต้องเสียไปกับการทำประชามติที่ผลออกมาแล้ว “เห็นด้วย” กับการที่นักการเมืองแก้กฎกติกาเพื่อประโยชน์ของตัวเองครับ หากคิดจะทำประชามติก็ควรจะต้อง “เลือก” ทำประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของประเทศชาติ หรือประโยชน์ของประชาชนมากกว่า ประโยชน์ของนักการเมืองครับ!
       ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว (ครั้งที่ 222) ผมได้นำเสนอภาพรวมของระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประเทศฝรั่งเศสโดยผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ (le Médiateur de la République) และองค์การมหาชนอิสระอื่น ๆ โดยได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน รวมทั้งความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐกับองค์การมหาชนอิสระบางองค์กรด้วย ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะได้นำเสนอถึงรูปแบบขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศอื่นจำนวนหนึ่ง โดยผมจะไม่ทำการศึกษาเปรียบเทียบเพราะจะทำให้บทบรรณาธิการครั้งนี้ยาวเกินไป แต่จะใช้วิธีนำเสนอรูปแบบของแต่ละประเทศอย่างสั้น ๆ โดยองค์กรที่ผมจะนำเสนอนี้ส่วนใหญ่แล้วมีอำนาจหน้าที่คล้าย ๆ กันคือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายปกครอง สามารถเข้าไปตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานของฝ่ายปกครอง แต่องค์กรเหล่านั้นจะไม่มีอำนาจในการบังคับหรือตัดสินอะไรทั้งนั้น ทำได้เพียงให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายปกครองหรือขอความร่วมมือ บางประเทศอาจให้องค์กรของตนมีอำนาจในการขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายได้ครับ
       เริ่มต้นที่ประเทศต้นแบบก่อน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดน (Ombudsman) ถือได้ว่าเป็น “ต้นแบบ” ให้กับประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วยโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้ให้อำนาจรัฐสภาในการตั้ง “องค์กรเสริม” ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนนั้นเกิดขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1809 และดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ โดยกฎหมายฉบับปี ค.ศ. 1986 บัญญัติให้รัฐสภาแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจำนวน 4 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ทำหน้าที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารในการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองตามแนวทางที่รัฐสภากำหนด โดยมีคณะกรรมาธิการของรัฐสภาคอยติดตามการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เดิมนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีเพียง 1 คน แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1915 ก็มีการเพิ่มจำนวนเป็น 2 คนและกลายเป็น 3 คนในปี ค.ศ. 1967 ปัจจุบันมีจำนวน 4 คนตามกฎหมายฉบับปี ค.ศ. 1975 แต่ละคนมีอำนาจหน้าที่แยกกันอย่างชัดเจน คนแรกรับผิดชอบดูแลองค์กรของรัฐและให้คำแนะนำในการดำเนินกิจกรรม ดูแลปัญหาเรื่องภาษีอากร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของฝ่ายปกครองและการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ คนที่สองรับผิดชอบดูแลสถาบันยุติธรรม อัยการ ตำรวจและเรือนจำ คนที่สามรับผิดชอบดูแลกองทัพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คนที่สี่รับผิดชอบดูแลด้านสวัสดิการสังคมและการคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน นอกจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่สภาเป็นผู้แต่งตั้งแล้ว ในสวีเดนปรากฏว่ายังมีผู้ตรวจการแผ่นดินอีกจำนวนหนึ่งที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีหน้าที่เฉพาะด้าน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านคนพิการ และล่าสุดในปี ค.ศ. 1993 มีการตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินด้านเด็กขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลสิทธิต่างๆ และผลประโยชน์ของเด็กและวัยรุ่นให้เป็นไปตามข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก
       วัตถุประสงค์ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนอยู่ที่การตรวจสอบการจัดทำบริการสาธารณะทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นโดยมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทุกประเภทรวมทั้งผู้เข้าร่วมงานกับฝ่ายปกครอง (เช่น ผู้รับสัมปทาน) ทุกประเภท แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำของรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้ว่าการธนาคารชาติได้ การเสนอเรื่องร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตรวจสอบต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาหากเรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาล เว้นแต่เป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลหรือคดีที่ศาลไม่ตัดสินภายในระยะเวลาอันควร นอกจากนี้แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายังมีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายปกครองได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องเรียน รวมทั้งมีอำนาจในการฟ้องศาลได้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐสภากำหนด แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจในการยกเลิก เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่ง ไม่มีอำนาจสั่งการฝ่ายปกครอง ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ทำผิดได้ยอมรับผิดและเสนอค่าทดแทนความเสียหายให้แก่เอกชน กรณีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถเข้าไปช่วยกำหนดค่าทดแทนความเสียหายพร้อมดอกเบี้ยได้โดยจะทำหน้าที่คล้ายศาล กล่าวโดยสรุป สำหรับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนก็คือตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองแล้วรายงานเอาไว้ใน “รายงานประจำปีของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” ถ้าเห็นความบกพร่องหรือการทำงานที่มีปัญหาก็สามารถเสนอขอให้มีการแก้ไขกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารที่มีปัญหาได้ รวมทั้งยังสามารถเสนอให้ฝ่ายปกครอง แก้ไขปรับปรุงวิธีการทำงานได้ด้วย
       ผู้ปกป้องประชาชนของสเปน (Defensor del pueblo) นั้นตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1978 เพื่อให้ความคุ้มครองและเป็นหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน โดยมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1981 กำหนดวิธีการดำเนินงานของผู้ปกป้องประชาชนเอาไว้
       ผู้ปกป้องประชาชนของเสปนมีจำนวน 1 คน มาจากการเลือกของรัฐสภาโดยต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของแต่ละสภา รัฐสภาสามารถถอดถอนผู้ป้องประชาชนได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ผู้ปกป้องประชาชนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และมีผู้ช่วย 2 คน ซึ่งรัฐสภาเป็นผู้เลือกเช่นกัน ผู้ปกป้องประชาชนมีหลักประกันในการทำงานที่ดี เพราะไม่อาจถูกฟ้องร้องและตัดสินการกระทำในหน้าที่ของตนได้ เว้นแต่เป็นคดีอาญาที่จะต้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา รัฐสภาทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของผู้ปกป้องประชาชนด้วยการที่แต่ละสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูแลการทำงาน ในปี ค.ศ. 2008 ผู้ปกป้องประชาชนได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน 15 ล้านยูโร (750ล้านบาท) และมีเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน 256 คน
       ผู้ปกป้องประชาชนมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบดูแลการทำงานของฝ่ายปกครองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้ปฏิบัติและเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยผู้ปกป้องประชาชนจะรับคำร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่ฝ่ายปกครองจัดทำบริการสาธารณะด้านกระบวนการยุติธรรมไม่ดี ซึ่งในกรณีดังกล่าวผู้ปกป้องประชาชนสามารถร้องขอต่ออัยการหรือคณะกรรมการตุลาการให้เข้ามาพิจารณาหาทางให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ นอกจากนี้ ผู้ปกป้องประชาชนสามารถยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญหากพบว่ามีกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอขอให้มีการพิจารณาเรื่องที่ผู้หนึ่งผู้ใดถูกจองจำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยเร็วจากศาล เป็นต้น
       ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อผู้ปกป้องประชาชนได้โดยตรงและไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนเสปนหรือเป็นผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้แล้วสมาชิกรัฐสภาก็สามารถร้องเรียนต่อผู้ปกป้องประชาชนแทนประชาชนได้ด้วย มีข้อห้ามสำหรับการดำเนินงานของผู้ปกป้องประชาชนอยู่บ้างคือ ห้ามเข้าไปตรวจสอบเรื่องที่ยังไม่ได้มีการทบทวนภายในฝ่ายปกครอง ห้ามเข้าไปตรวจสอบข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชน และห้ามเข้าไปตรวจสอบเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับทราบเรื่องดังกล่าวมาแล้วเกินกว่า 1 ปี
       การทำงานของผู้ปกป้องประชาชนของเสปนคล้ายกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนคือ สามารถมีข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายปกครองให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ สามารถเสนอขอแก้ไขกฎหมายไปยังรัฐสภาได้ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ให้ความร่วมมือในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสถานที่หรือเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เว้นแต่เพียงมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่ผู้ปกป้องประชาชนไม่สามารถบังคับให้ส่งให้ตนได้
       นอกเหนือไปจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนและผู้ปกป้องประชาชนแห่งเสปนซึ่งถือว่าเป็น “สถาบันใหญ่” ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ดีแล้ว ยังมีประเทศอื่น ๆ ในโลกอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีสถาบันหรือองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกับองค์กรทั้งสอง คือ
       ประเทศคานาดา ในระดับประเทศไม่มีผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีอำนาจในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกลางกับประชาชน แต่มีผู้ตรวจการประจำกระทรวงซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีประจำกระทรวงและมีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครองกับประชาชน โดยรัฐมนตรีจะเป็นผู้ร้องขอให้ผู้ตรวจการประจำกระทรวงเป็นผู้ตรวจสอบ ส่วนในระดับท้องถิ่นก็มีผู้ตรวจการท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ว่าการจังหวัดจากคำเสนอแนะของสภาท้องถิ่น ผู้ตรวจการท้องถิ่นทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นกับประชาชนผู้ใช้บริการ
       ประเทศเดนมาร์ก ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1996 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แม้จะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภา แต่รัฐสภาก็ไม่สามารถกำหนดแนวทางในการทำงานหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ แต่ในทางกลับกันรัฐสภาสามารถถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาออกจากตำแหน่งได้หากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาทำให้รัฐสภาไม่ไว้วางใจ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายปกครองให้เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่คุมขัง เรือนจำ พูดคุยกับนักโทษหรือผู้คุมได้ ฝ่ายปกครองต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินในการให้ข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเสนอขอแก้ไขกฎหมายได้โดยเสนอแนะรัฐสภาหรือเสนอฝ่ายปกครองเพื่อขอให้แก้ไขกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครองได้เช่นกัน ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้โดยตรง ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินเองก็สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเรียนได้
       ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1981 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแต่งตั้งโดยรัฐสภาจากการเสนอชื่อของคณะกรรมการพิเศษซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของประเทศ เช่น รองประธานสภาแห่งรัฐ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีสถานะเสมือนสมาชิกรัฐสภา ทำหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับองค์กรที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทุกประเภท โดยประชาชนสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาหรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถยกเรื่องขึ้นพิจารณาเองก็ได้ ในการทำงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบสถานที่และให้คำแนะนำหรือให้ข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายปกครองเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน
       ประเทศอิตาลี ไม่มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในระดับชาติแต่ในระดับท้องถิ่นจะมีผู้ปกป้องประชาชน (Defensore civico) ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การมหาชนอิสระ มาจากการเลือกตั้งของสภาท้องถิ่น ทำหน้าที่ดูแลให้ฝ่ายปกครองของท้องถิ่นปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ล่าช้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎต่าง ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างสาธารณะ สวัสดิการสังคม ภาษี ขนส่ง ผังเมือง โดยผู้ปกป้องประชาชนสามารถติดต่อขอความร่วมมือฝ่ายปกครอง ขอดูเอกสาร ขอให้แก้ไขคำสั่งที่มีปัญหา รวมไปถึงทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครองท้องถิ่นกับประชาชนด้วย โดยประชาชนสามารถร้องเรียนผู้ปกป้องประชาชนได้โดยตรง
       ยังมีตัวอย่างของประเทศเล็ก ๆ อีก 4 ประเทศมาเล่าให้ฟังครับ ในประเทศโปแลนด์นั้น กฎหมายลงวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1987 ได้กำหนดให้ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง (Défenseur des droits civiques) ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีหน้าที่ดูแลสถานที่คุมขัง ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังและเรือนจำได้แต่ต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ให้ข้อเสนอแนะฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถานที่คุมขังและผู้ถูกคุมขังได้ รวมทั้งสามารถฟ้องต่อศาลทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองได้ในกรณีพบว่ามีการกระทำของฝ่ายปกครองต่อผู้ถูกคุมขังที่กระทบต่อสิทธิของพลเมือง ส่วนในกรณีสาธารณรัฐเช็ค ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) เกิดขึ้นตามกฎหมายลงวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ได้รับการเลือกตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรจากบุคคล 4 คนที่วุฒิสภาและประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอ ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการกระทำของฝ่ายปกครองและจากการออกกฎและคำสั่งของฝ่ายปกครองที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการเข้าไปตรวจสถานที่คุมขังได้ด้วย ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ให้ความร่วมมือในการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถเสนอขอแก้ไขกฎหมาย กฎ คำสั่ง รวมทั้งขั้นตอนในการทำงานของฝ่ายปกครองที่ไม่ถูกต้องได้ โดยผู้ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้โดยตรงหรือร้องเรียนผ่านสมาชิกรัฐสภา ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเองก็สามารถหยิบยกเรื่องที่ตนเห็นว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนขึ้นมาพิจารณาเองได้ สำหรับในประเทศรูมาเนียนั้น ทนายความของประชาชน (Avocat du peuple) เกิดขึ้นตามกฎหมายปี ค.ศ. 1997 โดยผู้ที่จะเป็นทนายความของประชาชนจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายปกครอง สามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้หากพบว่ามีร่างกฎหมายหรือกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ในการให้ความร่วมมือกับทนายความของประชาชน ประชาชนผู้เดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองเท่านั้นที่จะสามารถร้องเรียนต่อทนายความของประชาชนได้ สำหรับประเทศสุดท้ายคือประเทศเอสโตเนียนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1983 กำหนดให้มี “ผู้รักษาสิทธิ” (Chancelier du droit) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐสภาจากการเสนอของประธานาธิบดี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ทำหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายปกครองให้เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดูแลสถานที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่น เรือนจำ บ้านพักคนชรา สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทำหน้าที่สอบสวนกรณีการที่ฝ่ายปกครองเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ควบคุมกฎและคำสั่งของฝ่ายปกครองไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย รวมทั้งยังสามารถเสนอให้มีการสอบสวนทางวินัยตุลาการได้ ในการทำงานฝ่ายปกครองต้องให้ความร่วมมือและให้เอกสารต่าง ๆ ตามที่ผู้รักษาสิทธิร้องขอ ประชาชนผู้เดือดร้อนจากการกระทำของฝ่ายปกครองสามารถร้องเรียนต่อผู้รักษาสิทธิได้และผู้รักษาสิทธิเองก็มีอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องที่จะเป็นปัญหาขึ้นมาพิจารณาได้เองด้วย ส่วนในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกานั้น แม้จะไม่มีสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินดังเช่นประเทศอื่น ๆ ในยุโรป แต่ในกระทรวงยุติธรรมก็มีการตั้งแผนกสิทธิพลเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 แล้วประธานของแผนกสิทธิพลเมืองคือที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งประธานาธิบดีแต่งตั้งหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้วแผนกสิทธิพลเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายปกครองให้เคารพต่อสิทธิของพลเมือง สามารถทำการสอบสวนและติดตามการทำงานของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ไม่เคารพต่อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติได้ โดยผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายสามารถร้องเรียนต่อแผนกสิทธิพลเมืองได้โดยตรง
       ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็คือ “ตัวอย่าง” ขององค์กรหรือสถาบันในต่างประเทศที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองและรักษาสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง
       ในบทบรรณาธิการคราวหน้า ผมจะนำเสนอโครงสร้างอำนาจหน้าที่และวิธีการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน (Défenseur des droits) ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นองค์กรใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณไกรพล อรัญรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนบทความเรื่อง “กฎหมายควบคุมการชุมนุมสาธารณะ : พัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการชุมนุมในประเทศไทย” ส่วนบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "วิพากษ์คำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวฯ กรณีระงับ ๗๖ โครงการ ที่มาบตาพุด" ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1392
เวลา 29 มีนาคม 2567 08:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)