วิพากษ์คำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวฯ กรณีระงับ ๗๖ โครงการ ที่มาบตาพุด

9 ตุลาคม 2552 16:14 น.

       จาการที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและประชาชนชาวมาบตาพุด กับพวก รวม ๔๓ รายได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ๙๐๘/๒๕๕๒ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันออกคำสั่งโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น ตลอดจนละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       โดยเฉพาะตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่กำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเสียก่อน
       แต่ภายหลังรัฐธรรมนูญ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดยังคงรับเรื่องพิจารณา หรือให้ความเห็นชอบ อนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพในพื้นที่จังหวัดระยองตามปกติเหมือนที่เคยทำมา มีจำนวนถึงกว่า ๗๖ โครงการ โดยไม่สนใจว่าจะต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายมาไปปฏิบัติในทันที ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีให้ระงับ ๗๖ โครงการ เพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุดไปเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ ไปแล้วนั้น ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมากมาย ผู้เขียนจึงจะนำประเด็นต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อความเจริญงอกงามในเชิงวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่จะต้องคำนึงถึงความสมดุลย์ของประโยชน์รัฐกับเอกชน
       จากคำสั่งของศาลปกครองกลางที่สำนักงานศาลปกครองได้จัดทำเป็นเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์สรุปได้ว่า
       ในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกับพวก ได้ยื่นคำขอมาพร้อมกับคำฟ้องโดยขอให้ศาลกำหนด
       มาตรการหรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม จำนวน ๗๖ โครงการ ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียงจังหวัดระยอง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คู่กรณีมาฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และมีคำสั่งให้คู่กรณีจัดส่งเอกสารและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และได้นัดไต่สวนเพื่อฟังคำชี้แจงของคู่กรณีและฟังถ้อยคำของผู้มีส่วนได้เสียเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ เพื่อรับฟังคำชี้แจงและการให้ถ้อยคำด้วยวาจาประกอบเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว
       กรณีความเดือดร้อนเสียหายของผู้ขอที่ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราว
       ศาลพิเคราะห์คำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๔๓ ประกอบรายงานการประชุมของ
       ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ รวมทั้งการประกาศเขตควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ แล้ว
       ข้อเท็จจริงรับกันและรับฟังได้ว่า ในเวลาที่ผ่านมาและในปัจจุบันปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณชุมชนมาบตาพุดมีอยู่จริงและมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จึงต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ จึงเห็นว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีตามที่ขอมาใช้ได้ และผู้ขอจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปหากมีการอนุญาตให้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
       กรณีความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เป็นบทบัญญัติที่ได้รับการกำหนดไว้ใน หมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และเป็นสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่สำคัญประการหนึ่งที่บัญญัติรับรองไว้ตั้งแต่ประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เป็นต้นมา เพื่อรับรองและคุ้มครองให้ชนชาวไทยสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน โดยรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ซึ่งตามหลักสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญทำให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัตรการให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน และศาลปกครองต้องผูกพันในการใช้บังคับและการตีความกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ตามมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ๒๕๕๐ ที่บัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้ง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
       บทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มีสาระสำคัญว่า สิทธิในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน เพื่อเป็นเจตจำนงให้การบริหารราชการแผ่นดินต้องตระหนักถึงสิทธิในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี และเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว ได้บัญญัติรับรองสิทธิที่เป็นกระบวนการเพื่อสนับสนุนการ
       คุ้มครองสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตราเดียวกัน ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
       โดยความในมาตรา ๖๗ วรรคสอง ได้ยืนยันหลักในการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวไว้ว่าห้ามดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ และกำหนดเป็นบทยกเว้นไว้ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ การศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และการให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
       แต่หลักเกณฑ์ที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อยกเว้น จึงต้องได้รับการปฏิบัติโดยเคร่งครัด คือ เมื่อจะออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อน นอกจากนี้ มาตรา ๖๗วรรคสาม ได้บัญญัติมาตรการซึ่งเป็นสภาพบังคับเพื่อให้มีการปฏิบัติให้เป็นบทบัญญัติมาตรา ๖๗ คือการรับรองสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้
       เมื่อบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีเจตนารมณ์ให้มีการ
       กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อแต่ละโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวจะได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด
       ไว้ตามหลักการป้องกันล่วงหน้า มิใช่มีเจตนารมณ์ให้ออกใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงก่อน แล้วใช้หลักการควบคุมหรือหลักการเยียวยาหากเกิดความเสียหายขึ้นในภายหลัง เนื่องจากหลักการควบคุมหรือหลักการเยียวยาไม่ใช่หลักประกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด
       ในการคุ้มครองสิทธิการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขใน
       ภายหลังหลายประการ
       ดังนั้น จึงกำหนดหลักการป้องกันล่วงหน้า ทั้งที่เป็นกระบวนการไว้ในบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ การมีส่วนร่วม การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและจากองค์กรต่างๆ เป็นต้น และกำหนดหลักการซึ่งเป็นสภาพบังคับทางกฎหมายไว้ในบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสาม ว่า การฟ้องคดีเพื่อบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้ว
       เห็นได้ว่า คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐต้องผูกพันในการใช้อำนาจเพื่อกำหนดว่าประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ธรรมชาติและสุขภาพ ในทันทีที่บทบัญญัติมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ครบถ้วนก่อนที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะพิจารณาออกใบอนุญาตตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
       
       ศาลได้พิเคราะห์คำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ภายหลังจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับเมื่อ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ แล้ว มีการออกใบอนุญาตให้แก่
       โครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารคำท้ายฟ้อง โดยยังไม่ได้มีการกำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ รวมทั้ง ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐
       ศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่มีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัญหาว่า การกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี อาจเกิดปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดและถ้อยคำของผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารท้ายคำฟ้องหรือไม่ นั้น
       ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาให้ลดน้อยลงได้ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ และการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน
       นอกจากนั้น บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐ ซึ่งปรากฏในมาตรา ๓ วรรคสอง ให้รัฐดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมตามหลักนิติธรรม และมาตรา ๓/๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้กำหนดหลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไว้ด้วย
       ศาลเห็นว่า เมื่อมีกรณีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับความ
       รับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่เป็นเนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ การกระทำทางการปกครองใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องตระหนัก
       เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของโรงงาน
       อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงซึ่งรวมกันอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศมีอยู่จริงและส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จึงมีเหตุจำเป็นและเป็นการยุติธรรมและสมควรตามหลักนิติธรรม หลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และหลักการบริหารงานของรัฐอย่างยั่งยืนเพื่อการ
       พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี  จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารหมายเลข ๗ ท้ายคำฟ้อง ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่าง
       อื่น ยกเว้น โครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นประเภทโครงการ
       หรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวง
       ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้อง
       จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทาง
       การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการ
       ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       พุทธศักราช ๒๕๕๐
       จากคำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า
       มาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองบัญญัติว่าในกรณีที่ศาลปกครองเห็นสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วก่อนการพิพากษาคดี ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ ให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
       การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย
       จะเห็นได้ว่าในการกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆเพื่อบรรเทาทุกข์แก่คู่กรณีนั้น กฎหมายบัญญัติให้คำนึงปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย แต่ศาลได้ให้เหตุผลว่าปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาให้ลดน้อยลงได้ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ และการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องเพราะนอกจากผลกระทบที่ตามมามากมายจากคำสั่งดังกล่าวตามที่ปรากฎตามสื่อสารมวลชนแล้ว ผู้เขียนยังเห็นว่าน่าจะเป็นก้าวล่วงข้ามแดนของการใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหารในการใช้อำนาจบริหาร ซึ่งศาลจะสามารถตรวจสอบได้เพียงในแง่ของความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่ในแง่ของความเหมาะสมหรือเป็นการกำหนดนโยบายให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยตามหลักนิติรัฐซึ่งมีสาระสำคัญ ๓ ประการ คือ
       (๑) บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ
       (๒) บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       (๓) การควบคุมไม่ให้การกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรขอรัฐฝ่ายตุลาการซึ่งมีความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารและองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ
       ฉะนั้น การควบคุมหรือตรวจสอบฝ่ายบริหารของฝ่ายตุลาการจึงสามารถทำได้ในแง่ของความชอบด้วยกฎหมาย มิใช่การควบคุมในแง่ของความเหมาะสม
       อนึ่ง กรณีของมาบตาพุดนี้แตกต่างจากกรณีของการขายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้ขายหุ้นเพราะหากมีการเปิดขายหุ้นไปแล้วย่อมที่จะยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง แต่กรณีกลับกันในกรณีมาบตาพุดนี้เมื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วกลับทำให้เกิดความยากลำบากในการบริหาราชการแผ่นดิน และหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องย่อมยากที่แก้ไขเยียวยาให้การบริหารหรือภาวะเศรษฐกิจการลงทุนกลับสู่สภาพเดิม
       อย่างไรก็ตามแม้ว่ากรณีมาบตาพุดนี้ศาลเห็นว่าการกระทำทางการปกครองใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จนเป็นเหตุให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวฯขึ้น แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการวินิจฉัยว่าฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะยังต้องมีการพิจารณาพิพากษาจนถึงที่สุดเสียก่อน
       จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงเป็นการชอบแล้วที่ฝ่ายรัฐและผู้มีประโยชน์ได้เสียจะได้อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานต่อไป
       

       --------------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1394
เวลา 27 เมษายน 2567 19:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)