ครั้งที่ 225

8 พฤศจิกายน 2552 22:07 น.

       ครั้งที่ 225
       สำหรับวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ 22 พฤศจิกายน 2552
       
       “พักโทษอดีตรัฐมนตรี”
       

       เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงได้ดูหรืออ่านข่าวเกี่ยวกับการที่กรมราชทัณฑ์ได้อนุมัติพักการลงโทษคุณรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจาก “ติดคุก” มากว่า 5 ปี
       คงจำกันได้นะครับว่าคุณรักเกียรติ สุขธนะ เป็น “รัฐมนตรีคนแรก” ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 15 ปี ด้วยความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น!!!
       เมื่อคุณรักเกียรติฯ ออกจากคุก ก็มีข่าวและความเห็นต่าง ๆ มากมายหลายแง่มุมที่ผมก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากมายนัก แต่มีความเห็นหนึ่งที่ทำให้ผมต้องเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็เพราะมีผู้ไปสัมภาษณ์ “นักการเมืองใหญ่” คนหนึ่งที่บอกว่าเป็น “เพื่อน” กับคุณรักเกียรติฯ ได้กล่าวชื่นชมคุณรักเกียรติฯ ที่ยอม “ติดคุก” เพื่อรับผิดในสิ่งที่ได้ทำไปจนกระทั่งพ้นโทษออกมา ไม่เหมือน “บางคน” ที่ทำผิดแล้วหนีไม่ยอมรับโทษ!
       ผมว่าคนไทยเรา “ลืม” ง่ายเหลือเกินแต่ไม่รู้ว่า “ลืมจริง ๆ” หรือ “แกล้งลืม” กันแน่ครับ เพื่อบันทึกไว้เป็น “ความทรงจำ” ถึงผลงานอันยิ่งใหญ่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็จะขอกล่าวถึงเรื่องของคุณรักเกียรติฯ ไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ
       คุณรักเกียรติฯ เป็นใคร มาจากไหน มีฐานะส่วนตัวอย่างไร ความสามารถระดับใด ผมไม่ทราบและก็ไม่ได้พยายามสืบค้นด้วย แต่เท่าที่ได้ยินมา คุณรักเกียรติฯ เข้ามาอยู่ในวงการเมืองโดยเคยทำงานร่วมกับคุณมนตรี พงษ์พาณิชย์ กับคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน มาก่อน ผิดถูกอย่างไรก็ขออภัยไว้ด้วยนะครับ เมื่อคุณรักเกียรติฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2540 ก็ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกการกำหนดราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งต่อมาเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนก็ได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโดยอ้างว่า การยกเลิกการกำหนดราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งผลทำให้ไม่มีราคากลาง เป็นช่องทางเอื้อประโยชน์แก่บริษัทผู้จำหน่ายยาที่เป็น “พรรคพวก” ให้สามารถจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่าง ๆ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในราคาแพงสูงกว่าปกติมาก และนอกจากนี้ก็ยังมีการเรียกและรับเงินจากบริษัทผู้จำหน่ายยาและเวชภัณฑ์สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อเป็นการตอบแทนจากการที่ได้ประกาศยกเลิกราคากลางของยาดังกล่าวฯลฯ ซึ่งต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้มีมติว่าคุณรักเกียรติฯ กระทำผิด จึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินเงินสดจำนวน 233,880,000 บาทตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ พร้อมทั้งขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาลงโทษทางอาญาต่อคุณรักเกียรติฯ เนื่องจากการกระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น
       ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1 /2546 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2546 เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน พิพากษาให้ทรัพย์สินของคุณรักเกียรติฯ จำนวน 233,880,000 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนการกระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม. 2/2546 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2546 เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พิพากษาลงโทษจำคุกคุณรักเกียรติฯ เป็นเวลา 15 ปี โดยในตอนท้ายของคำพิพากษาหลัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ทั้งปวง ตลอดจนคำนึงถึงว่าจำเลยอาสารับใช้ชาติบ้านเมือง โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ปี 2526 รวม 7 สมัย ทั้งได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 5 ครั้ง ประกอบกับคุณรักเกียรติฯ สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีทางกฎหมายโดยประกอบอาชีพทนายความอีกด้วย แต่กลับมากระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นเช่นนี้ จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก”
       
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษา ก็ปรากฏว่าคุณรักเกียรติฯ ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงออกหมายจับและปรับนายประกันเป็นจำนวนเงิน 2 ล้าน 5 แสนบาทและได้สั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2546 แต่คุณรักเกียรติฯ ก็ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาอีก ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง
       คุณรักเกียรติฯ หลบหนีอยู่ 1 ปีเศษ ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2547 มีผู้พบคุณรักเกียรติฯ เดินออกกำลังอยู่ในสวนสมเด็จย่า ตรงข้ามโรงพักปากเกร็ด ไว้หนวดและใส่หมวก จึงได้แจ้งไปยังตำรวจให้มาจับกุมและต่อมาก็ได้ส่งตัวคุณรักเกียรติฯ ไปคุมขังไว้ที่เรือนจำกลางอุดรธานี ในช่วงเวลาที่ถูกคุมขัง คุณรักเกียรติฯ ได้รับการลดโทษ 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 คุณรักเกียรติฯ ได้รับลดโทษให้เหลือโทษจำคุก 4 ปี 4 เดือน 17 วัน
       ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 กรมราชทัณฑ์ได้อนุมัติให้ย้ายคุณรักเกียรติฯ มาคุมขังในเรือนจำกลางคลองเปรมตามคำขอของคุณรักเกียรติฯ ซึ่งทำเรื่องขอย้ายเรือนจำเนื่องจากป่วยเป็นโรคเบาหวาน จำเป็นต้องพบแพทย์เป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์ จึงขอย้ายมารับโทษจำคุกที่เรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อความสะดวกในการรักษาพยาบาลในทัณฑสถานโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์
       ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ก็มีข่าวออกมาว่ากรมราชทัณฑ์ได้อนุมัติให้พักการลงโทษคุณรักเกียรติฯ เนื่องจากคุณรักเกียรติฯ ได้รับโทษจำคุกมากกว่า 5 ปี เหลือโทษจำคุกจริงอีก 2 ปี 6 เดือน หรือประมาณ 1 ใน 3 จึงถือว่ามีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์การขอพักการลงโทษซึ่งคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคุณรักเกียรติฯ ประพฤติตัวดี ไม่ก่อปัญหาหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบของเรือนจำ จึงอนุมัติให้พักการลงโทษ โดยในระหว่างการพักการลงโทษจำคุกกว่า 2 ปีนี้ คุณรักเกียรติฯ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการคุมประพฤติโดยจะต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติทุก 1 เดือน และจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิดใด ๆ มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดเงื่อนไขในการพักการลงโทษซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องนำตัวกลับมารับโทษเท่าที่ได้รับการพักโทษไว้ให้ครบจำนวน
       ทั้งหมดที่กล่าวไป คือ ความเป็นมาส่วนหนึ่งของกรณีคุณรักเกียรติฯ ที่คงต้องนำมาเสนอไว้เพื่อให้บรรดาผู้ที่ “ลืมง่าย” ได้ทบทวนความจำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่คุณรักเกียรติฯ ไม่มาฟังคำพิพากษา หลบหนีและถูกจับได้ในที่สุดครับ
       ผมมีความรู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างในเรื่องของคุณรักเกียรติฯ ความรู้สึกแรกคือ ความรู้สึกชื่นชมใน “พลัง” ของภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบนักการเมืองจนนำไปสู่การที่ศาลพิพากษาจำคุกนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ความรู้สึกต่อมาก็คือความรู้สึกชื่นชม “กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจ” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ทำให้เกิดการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรมและได้ผลชะงัด ก็ต้องขอปรบมือให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำคดีของคุณรักเกียรติฯ อีกครั้งหนึ่งที่ทำให้กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างแท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทยครับ
       แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกอื่นผมก็มีนะครับ คุณรักเกียรติฯ เป็นนักการเมืองระดับสูงคนแรกของไทยที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี พร้อมยึดทรัพย์อีก 200 กว่าล้าน ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ รวมทั้งยังเป็นเหตุให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกหลายครั้ง ทำไมในเมื่อเราอุตส่าห์จับคนทุจริตได้ และศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว คุณรักเกียรติฯ ถึงได้รับการลดโทษและพักโทษ จนทำให้ในที่สุดแล้วคุณรักเกียรติฯ ถูกจำคุกอยู่เพียง 5 ปีเศษแค่นั้นเองครับ!!! นี่เป็นสิ่งที่เราคงต้องมานั่งคิดกันใหม่แล้วว่า บรรดาความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศหรือความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นรวมไปถึงความผิดอื่นๆ ที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว สมควรที่บุคคลนั้นจะได้รับการลดโทษหรือพักโทษหรือไม่ครับ ความผิดร้ายแรงดังกล่าวผู้ทำน่าจะถูกจัดว่าเป็น “ศัตรูของประเทศชาติ” หรือ “ศัตรูของระบอบประชาธิปไตย” อย่างแท้จริงที่เมื่อกระทำผิดไปแล้วก็ควรจะต้องได้รับโทษเต็มตามจำนวนที่ศาลพิพากษา อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับผู้อื่นต่อไปครับ!!!
       กรณีคุณรักเกียรติฯ จึงเป็น “ตัวอย่าง” ที่จะต้องทำการศึกษากันต่อไปว่าการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในบางส่วนมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดสำหรับประเทศไทยครับ
       มีอยู่ส่วนหนึ่งที่ผมไม่มีข้อมูล ใครทราบข้อมูลก็ช่วยกรุณาแจ้งมาให้ผมทราบด้วยก็จะเป็นพระคุณ คือ ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินจำนวน 200 กว่าล้านของคุณรักเกียรติฯ ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ไม่ทราบว่าในที่สุดแล้วสามารถยึดทรัพย์ได้ครบถ้วนตามจำนวนดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรครับ ข้อมูลนี้น่าจะเป็นข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องควรที่จะนำออกมาเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ
       ขอฝากไปยังองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นคนเริ่มเรื่องให้มีการตรวจสอบการทุจริตกรณีคุณรักเกียรติฯ ด้วยว่า น่าจะเฝ้าติดตามดูการประพฤติปฏิบัติตัวของคุณรักเกียรติฯ และผู้ใกล้ชิดต่อไปนะครับ คงไม่ต้องบอกเหตุผลนะครับว่าทำไมจึงควรทำเช่นนั้น!!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกคือ บทความเรื่อง “ข้อสังเกตบางประการ ในถ้อยคำ “ประโยชน์แก่ส่วนรวม ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542” ของคุณนิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ที่เขียนโดยคุณศิวาวุธ สิทธิเวช นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่สี่ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบทความสุดท้ายคือบทความเรื่อง "บ้านชุ่มเมืองเย็น เมื่อแดงกับเหลืองพูดคุยกัน"  ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง   ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1403
เวลา 26 เมษายน 2567 21:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)