การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอเฉพาะราย (ตอนที่๒)

20 ธันวาคม 2552 22:36 น.

       บทที่ ๒
       การใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       
       เมื่อประชาชนขอข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐเป็นการเฉพาะราย ประชาชนผู้ขอเป็นผู้มีสิทธิที่จะขอข้อมูลข่าวสารและหน่วยงานของรัฐมีข้อมูลข่าวสารที่ขออยู่ในความครอบครอง และมิใช่ข้อมูลข่าวสาร
       ที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นที่เป็นข้อมูลข่าวสารลับ จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อมูลข่าวสารตามที่ขอนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยหรือไม่
       ๑. อำนาจดุลพินิจ
       อำนาจดุลพินิจคือความสามารถในอันที่จะตัดสินใจออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาคำสั่งหลายๆ อย่าง ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ออกได้เพื่อดำเนินการให้บรรลุเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมาย(13) ดังนั้น การใช้ดุลพินิจ
       คืออำนาจที่กฎหมายมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งในทางเลือกที่จะออกคำสั่งตั้งแต่ ๒ ทางขึ้นไป ซึ่งตามกฎหมายแล้วล้วนออกคำสั่งได้ทั้งสิ้น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องตัดสินใจว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้เกิดขึ้น ตนสมควรจะออกคำสั่งไปในทางใดและมีเนื้อความอย่างไร กล่าวโดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอ
       ของประชาชน ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐
       บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       อยู่ในมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็ได้ซึ่งรวมหมายถึงอาจมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ขอก็ได้ จึงเป็น
       การที่กฎหมายบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจที่จะตัดสินใจออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ขอ โดยข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจใช้ดุลพินิจหรือข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบส่วนเหตุ
       คือข้อเท็จจริงที่กฎหมายบัญญัติอยู่แต่เพียงเฉพาะในมาตรา ๑๕ (๑) - (๖)
       ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เท่านั้น กล่าวคือ
       ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะ
       (๑) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจในการคลังของประเทศ
       (๒) การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ
       หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกัน
       การปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือรู้แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสาร
       หรือไม่ก็ตาม
       (๓) ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว
       (๔) การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัย
       ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
       (๕) รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผย
       จะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
       (๖) ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผยหรือ
       ข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น
       ดังนั้น หากข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
       มิใช่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นตามมาตรา ๑๕ (๑) - (๖) แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ประชาชนขอหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งในทางตำราเรียกว่า “อำนาจผูกพัน”
       อำนาจผูกพัน คือ อำนาจที่กฎหมายมอบให้แก่องค์กรของรัฐ
       ฝ่ายปกครององค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยบัญญัติบังคับไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กำหนดไว้เกิดขึ้น องค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรนั้นจะต้องออกคำสั่ง และจะต้องออกคำสั่งที่มีเนื้อความตามที่ได้กำหนดไว้ (14) ซึ่งก็คือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
       อำนาจผูกพันหรือหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ บัญญัติไว้ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อื่นนั้น แยกออกได้เป็นสองลักษณะคือ
       ประการแรก การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ตามที่ขอ มาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ บัญญัติว่า “ข้อมูลข่าวสารของ
       ราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยมิได้”
       บทบัญญัติในมาตรานี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อาจ
       ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น สำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เป็นต้น เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจดุลพินิจที่จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       ของราชการที่อยู่ในความครอบครองได้ แต่อย่างไรก็ตามอาจมีประเด็นถกเถียงหรือ
       มีความเห็นแตกต่างกันได้ว่าข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่ประชาชนร้องขอนั้นเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ อันเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยองค์ประกอบส่วนเหตุว่าตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นการตีความองค์ประกอบทางกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบส่วนเหตุและการสรุปความหมายองค์ประกอบส่วนเหตุดังกล่าว
       มีความหมายอย่างไร และการปรับข้อเท็จจริงคือข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐ
       มีไว้ในครอบครองเข้ากับองค์ประกอบทางกฎหมายในองค์ประกอบส่วนเหตุนั้นว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่ถ้าตีความองค์ประกอบตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบส่วนเหตุแล้วปรับข้อเท็จจริงเข้ากับองค์ประกอบทางกฎหมายว่า
       ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐมีไว้ในครอบครองอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
       มีหน้าที่เพียงประการเดียวคือปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนตามที่ขอ
       ประการที่สอง หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใด
       ขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการ และคำขอของผู้นั้นระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ
       ในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควร ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร” และมาตรา ๕๖ ของรัฐธรรมนูญ
       
       แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูล
       หรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นเว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อ
       ความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้น หากข้อมูลข่าวสารตามที่ประชาชนขอมิใช่ข้อมูลข่าวสารที่บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจใช้ดุลพินิจ ตามมาตรา ๑๕ (๑) - (๖) และมิใช่ข้อมูลข่าวสารที่ห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา ๑๔ แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอ เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจหรือสิทธิใดๆ ที่จะปฏิเสธ
       ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้แก่ประชาชนตามที่ขอได้ แต่ในทางปฏิบัติ ยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากปฏิเสธไม่เผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้แก่ประชาชนตามที่ขอ ทั้งๆ ที่ไม่อำนาจปฏิเสธได้
       อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนหนึ่งกล่าวอ้างว่าตนเองมีดุลพินิจ
       ที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอหรือไม่ก็ได้นั้น เมื่ออำนาจดุลพินิจเป็นอำนาจที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตัดสินใจอย่างอิสระ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงมีสิทธิที่จะไม่ตัดสินใจออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเลยก็ได้ ข้อกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นนี้เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะการใช้ดุลพินิจมิได้หมายถึงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจโดยไม่ตัดสินใจออกคำสั่งอย่างใด
       อย่างหนึ่งเลย ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอำนาจการใช้ดุลพินิจหมายถึง
       การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องตัดสินใจออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาคำสั่ง
       หลายคำสั่งหรือคำสั่งตั้งแต่สองคำสั่งขึ้นไป โดยมีอำนาจที่จะตัดสินใจเลือกได้
       อย่างอิสระว่าจะออกคำสั่งไปในทางใดทางหนึ่ง อำนาจในการใช้ดุลพินิจไม่ใช่สิทธิหรือเสรีภาพที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะตัดสินใจว่าจะใช้ดุลพินิจหรือไม่ใช้ดุลพินิจก็ได้
       แต่อำนาจดุลพินิจเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องตัดสินใจอย่างอิสระภายหลังจากที่ได้ทราบข้อเท็จจริงของเรื่องแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ออกคำสั่งอย่างใดๆ จึงเป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช้อำนาจตามที่กฎหมายมอบหมายให้ซึ่งคือการละเลย
       ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง หรือการที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือมีระเบียบห้ามไม่ให้เปิดเผย จึงเป็นการไม่ใช้ดุลพินิจ เช่นเดียวกัน
       
       ๒. หลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ
       เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติ
       วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติ
       วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองด้วย และนอกจากนั้น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร
       ของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติก่อนเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสาร ดังนี้
       ๒.๑ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       ของราชการตามที่ประชาชนยื่นขออาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใดเจ้าหน้าที่
       ของรัฐต้องแจ้งให้ผู้นั้นทราบเพื่อให้ผู้นั้นมีโอกาสคัดค้าน โดยกำหนดระยะเวลา
       ให้ทำคำคัดค้านมาได้ภายในเวลาที่กำหนด แต่เจ้าหน้าที่ต้องกำหนดระยะเวลา
       ให้ทำคำคัดค้านไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง (15)
       และเมื่อผู้ได้รับแจ้งนั้นได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้แก่ประชาชนผู้ขอ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องแจ้งผลการพิจารณาให้
       ผู้คัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า และเปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใน ๑๕
       นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งนั้น ซึ่งภายในระยะเวลาที่ผู้คัดค้านมีสิทธิ
       ยื่นอุทธรณ์นั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องยังไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นจนกว่าจะ
       พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ไปแล้ว และหากมีการยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต้องรอจนกว่าจะได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเสียก่อนว่าจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนผู้ขอได้หรือไม่
       ๒.๒ ในกรณีที่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลหน่วยงานของรัฐ
       จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองควบคุมดูแลของตน
       ต่อผู้ขอ โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ได้ให้ความยินยอมไม่ได้และการให้ความยินยอมที่ว่านี้ต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือเท่านั้นจะให้ความยินยอมด้วยวาจาไม่ได้ แต่เจ้าของข้อมูลอาจจะให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าก็ได้ เช่น แบบฟอร์มการขอใช้หมายเลขโทรศัพท์
       จะให้ผู้ขอกรอกว่าจะยอมให้นำชื่อที่อยู่ของผู้ขอลงตีพิมพ์ในสมุดบัญชีรายชื่อ
       ผู้ใช้โทรศัพท์หรือไม่ หรือการให้ความยินยอมในขณะนั้น เช่น ลงลายมือชื่อยินยอมให้บริษัทประกันชีวิตขอประวัติการตรวจรักษาของตนจากแพทย์หรือโรงพยาบาล
       ที่ทำการตรวจรักษาไปประกอบการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือพิจารณา
       ที่จะรับประกันชีวิตหรือไม่ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร
       ของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดข้อยกเว้นว่าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อผู้ขอได้ โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้นก่อน หากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๔ (๑) - (๙)
       อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลจะไม่ให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของตนก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ
       ยังมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่จะมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลนั้นได้
       ตามมาตรา ๑๕ (๖) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
       ๓. การควบคุมการใช้ดุลพินิจ
       ในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะมีคำสั่งมิให้เปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสาร หรือมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจ
       ออกคำสั่งว่าให้คำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน ดังนั้น
       การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่เจ้าหน้าที่จึงต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว จากหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นเมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารและหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความเหมาะสมในการออกคำสั่ง
       ทางปกครองในหลักแห่งความได้สัดส่วนแล้วพอจะแบ่งแนวทางในการควบคุม
       การใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้เป็นประเด็นย่อยๆ ดังต่อไปนี้
       ๓.๑ หลักแห่งความเหมาะสม หลักแห่งความเหมาะสมนี้
       ในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้วพิจารณาจากเหตุผลที่หน่วยงานของรัฐ
       หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นด้วยเหตุผลที่เหมาะสมหรือไม่ หรือเหตุผลที่กล่าวอ้างมาเพื่อปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นเหตุผลที่เป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ดังตัวอย่าง
       (๑) นายชรัสนิสิตปริญญาโทผู้ช่วยวิจัยโครงการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอตรวจค้นเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและรายงาน
       การประชุมของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
       ได้มีหนังสือปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าในรายงาน
       การประชุมของคณะกรรมาธิการฯ เป็นการประชุมเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการใช้คำพูดพาดพิงถึงหน่วยงานหรือบุคคลอื่น ซึ่งการเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ตามมาตรา ๑๕ (๔) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ นายชรัสจึงได้มีหนังสือ
       ยื่นอุทธรณ์ต่อประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการโดยอ้างว่าการประชุม
       เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นการจัดทำตามกติกาของประชาชนเพื่ออยู่ร่วมกันของคนไทย
       ทุกคนอันเป็นประโยชน์สาธารณะที่คนไทยพึงรับทราบ อีกทั้งการประชุมดังกล่าว
       ได้มีการถ่ายทอดสดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
       จึงไม่มีเหตุผลที่จะปกปิดข้อมูลดังกล่าว ในที่สุดคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย พิจารณาแล้วเห็นว่าการปฏิเสธมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโดยอ้างว่าหากเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดนั้นไม่อาจรับฟังได้ จึงมีมติให้เปิดเผยรายงานการประชุม
       ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้แก่นายชรัส (16)
       ตามข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช้ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับนายชรัสนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลเพราะในการประชุมของคณะกรรมาธิการได้มี
       การถ่ายทอดสดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงไปแล้ว ดังนั้นหากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดย่อมจะเกิดขึ้นในขณะที่
       มีการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงหรือในภายหลังในระยะเวลา
       อันใกล้ชิดนั้น การเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการให้กับนายชรัสย่อมไม่เป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใด เหตุผล
       ที่ให้ดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลที่ไม่เหมาะสม
       (๒) กรมบัญชีกลางมีคำสั่งลงโทษไล่นาย ก. ออกจากราชการฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ นาย ก. ได้ยื่นหนังสือขอคัดเอกสารรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการการสอบสวน บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคล และหนังสือร้องเรียนตลอดจนพยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสำเนาบันทึกปากคำของพยานบุคคล
       ในสำนวนคดีวินัยที่ตนเองถูกไล่ออกจากราชการ กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งให้นาย ก. ทราบว่า กรมบัญชีกลางอนุญาตให้นาย ก. คัดสำเนารายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย (สว. ๖) และเอกสารบันทึกคำให้การของนาย ก. ไปแล้ว สำหรับการขอคัดสำเนาบันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานหลักฐานอื่นๆ
       เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล กรมบัญชีกลางปฏิเสธไม่เปิดเผยโดยให้เหตุผลว่า
       เพื่อเป็นการคุ้มครองพยานและบุคคลผู้ให้ข้อมูล นาย ก. จึงได้ยื่นอุทธรณ์
       การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่ากรมบัญชีกลางได้เปิดเผยสรุปสำนวนสอบสวนคณะกรรมการทางวินัย (สว.๖) จำนวน ๑๔ หน้า ให้แก่นาย ก. ผู้อุทธรณ์ทราบแล้ว และในสรุปสำนวนสอบสวน (สว.๖) นั้นได้มีการระบุรายละเอียดชื่อนามสกุลของพยานตลอดจนสรุปคำให้การของพยานแต่ละคนในลักษณะที่ทำให้นาย ก. ผู้อุทธรณ์ทราบได้ว่าพยานบุคคลใดให้การในลักษณะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อนาย ก. ผู้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ได้ทราบรายละเอียดดังกล่าวแล้วจึงไม่จำเป็นต้องปกปิดชื่อ
       พยานบุคคลแต่อย่างใด จึงมีมติให้กรมบัญชีกลางเปิดเผยและคัดสำเนาสำนวน
       การสอบสวนทางวินัยที่ผู้อุทธรณ์ขอเพิ่มเติมให้แก่นาย ก. ผู้อุทธรณ์ (17)
       ตามข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในเรื่องนี้เหตุผลที่กรมบัญชีกลางอ้างไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสำนวนสอบสวนทางวินัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้แก่นาย ก. ผู้อุทธรณ์ (ผู้ขอ) เนื่องจากเพื่อคุ้มครองป้องกันความปลอดภัยของพยาน
       แต่ในทางความเป็นจริงแล้วกรมบัญชีกลางได้ให้สำเนาสรุปสำนวนสอบสวน (สว.๖) ซึ่งได้ระบุรายละเอียดชื่อนามสกุลของพยานตลอดจนสรุปคำให้การของพยาน
       แต่ละคนแล้ว นาย ก. ผู้อุทธรณ์ซึ่งถูกลงโทษทางวินัยย่อมทราบดีว่าบุคคลใดให้การเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตน หากมีความประสงค์ที่จะทำร้ายพยานย่อมดำเนินการได้ทันที ดังนั้นเหตุผลที่อ้างไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพื่อคุ้มครองพยานจึงเป็นเหตุผลที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เป็นเหตุผลที่ให้โดยไม่เหมาะสมแต่อย่างใด
       ๓.๒ หลักแห่งความจำเป็น หลักแห่งความจำเป็นนี้ในแง่ของ
       การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว เป็นการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องว่า แม้จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์สาธารณะต้องคำนึงถึงการกระทบกระเทือนถึงประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้อง หรือการก้าวล่วงเข้าไปรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของเอกชนอื่น หรือเป็นการกระทบกระเทือนต่อประโยชน์หรือความปลอดภัยของเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีผลกระทบต่อเอกชนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด หรือหากก่อให้เกิดประโยชน์กับ
       ผู้ขอข้อมูลข่าวสารต้องคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐว่า จะเกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติราชการมากน้อยเพียงใด และต้องพยายามให้ประโยชน์ของราชการที่เกี่ยวข้องกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุดดังตัวอย่างเช่น
       (๑) นายวิจิตรา ข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ ๗ สมัครเข้ารับการคัดเลือกพร้อมผู้สมัครรายอื่นอีก ๔ คน เพื่อคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาล ผลการคัดเลือกปรากฏว่า นางอุบลรัตน์ ได้รับคะแนนการประเมินสูงสุด และได้รับเสนอให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาล นางวิจิตรา ผู้อุทธรณ์เห็นว่า
       การคัดเลือกดังกล่าวไม่โปร่งใสจึงขอข้อมูลข่าวสารคือ ใบสมัครสอบคัดเลือกของผู้สมัครอื่นอีก ๓ คน ผลคะแนนการสอบสัมภาษณ์ของผู้สมัคร ๔ คน และหนังสือ ก.พ. ๗ ของผู้สมัคร ๔ คน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิเสธที่จะเปิดเผยใบสมัครสอบคัดเลือกของผู้สมัครอื่นอีก ๓ คน และหนังสือ ก.พ. ๗ ของผู้สมัครทั้ง ๔ คน
       นางวิจิตรา จึงได้ยื่นอุทธรณ์ ในที่สุดคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยว่า ข้อมูลข่าวสารในส่วนใบสมัครสอบคัดเลือกของผู้สมัครอื่น ๓ คน
       มีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติการศึกษา ประวัติการรับราชการ และข้อมูลอื่นๆ
       ของผู้สมัครแต่ละคน แม้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลแต่ก็เป็นข้อมูลโดยทั่วๆ ไป ซึ่งการเปิดเผยไม่น่าจะเป็นการลุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ส่วนข้อมูลข่าวสาร
       ที่เป็นหนังสือ ก.พ. ๗ ของผู้สมัคร ๔ คน ซึ่งรวมทั้งของนางวิจิตรา ผู้อุทธรณ์ด้วยนั้น กรรมการวินิจฉัยฯ เห็นว่าหนังสือ ก.พ. ๗ เป็นเอกสารที่บันทึกข้อมูลประวัติของข้าราชการโดยละเอียดในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การรับราชการ การได้รับโทษทางวินัย ซึ่งถือเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อุทธรณ์
       ที่ต้องการข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ประกอบการร้องเรียนขอความเป็นธรรมในการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาล และประโยชน์ของเจ้าของข้อมูลประกอบกันแล้ว เห็นสมควรให้เปิดเผยหนังสือ ก.พ. ๗ เฉพาะของผู้อุทธรณ์และ
       นางอุบลรัตน์ ผู้ได้รับการคัดเลือก ส่วนของผู้สมัครอีก ๒ คน ไม่สมควรให้เปิดเผยเพราะจะเป็นการลุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร (18)
       ตามข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อุทธรณ์ซึ่งต้องการข้อมูลข่าวสารไปใช้ประกอบร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้อง คือ
       การคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของเอกชนรายอื่น เมื่อผู้สมัครอีก ๒ คน
       มิได้เป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดๆ ที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารประวัติข้าราชการโดยละเอียด (ก.พ. ๗) ให้แก่ผู้อุทธรณ์ เพราะผู้อุทธรณ์ไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากประวัติของผู้สมัครรายอื่นที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเพื่อใช้ร้องเรียนแต่อย่างใด
       (๒) นายออมสิน ได้ยื่นขอข้อมูลข่าวสารองค์การบริหาร
       ส่วนตำบลแห่งหนึ่ง จำนวน ๒ รายการ คือ สำเนาฎีกาพร้อมเอกสารประกอบฎีกาหรือสำเนาสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างซึ่งมีนายสาครเป็นผู้รับจ้างในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ ถึงปัจจุบัน และสำเนาฎีกาพร้อมเอกสารประกอบฎีกาหรือสำเนาสัญญาจ้างโครงการก่อสร้าง ซึ่งมีห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งเป็นผู้รับจ้างในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ ถึงปัจจุบัน เพื่อจะใช้ประกอบในการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง แต่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งนั้นได้ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าผู้รับจ้างทั้งสองรายคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร นายออมสินจึงได้ยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสาร เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ
       การดำเนินการตามโครงการก่อสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบล อันเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ตามกฎหมายหน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผย
       และบางส่วนต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ เมื่อการก่อสร้างตามโครงการ
       ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและองค์การบริหารส่วนตำบลได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้กับ
       ผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อ
       การดำเนินงานตามโครงการหรือผู้เข้าร่วมประมูลงานแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่า
       มีข้อมูลข่าวสารส่วนใดที่เป็นความลับทางการค้า ซึ่งหากเปิดเผยแล้วจะก่อให้เกิด
       ความเสียหายแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูล การที่ผู้รับจ้างทั้งสองคัดค้านการเปิดเผยโดยอ้างว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นคู่กรณี
       ในศาลโดยตรง จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องเปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ได้ทราบเพื่อใช้สิทธิโต้แย้งชี้แจงและปกป้องสิทธิของตนต่อไปได้ ดังนั้นข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอจึงเปิดเผยให้ทราบได้ เว้นแต่ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลคือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผย (19)
       ตามข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การที่ฝ่ายผู้รับจ้างทั้งสองรายคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารว่าฎีกาเบิกจ่ายเงิน
       ตามโครงการของผู้คัดค้านได้อยู่ในสำนวนการสอบสวนของอำเภอเมืองภูเก็ต
       และข้อมูลดังกล่าวได้จัดส่งให้ศาลปกครองแล้วหากมีข้อสงสัยประการใดศาลปกครองจะเป็นผู้พิจารณาแจ้งให้หน่วยงานจัดส่งเพิ่มเติมได้อีก และเป็นข้อมูลข่าวสาร
       ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนั้นเมื่อการก่อสร้างตามโครงการได้ดำเนินการ
       แล้วเสร็จแล้วองค์การบริหารส่วนตำบลได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว เมื่อชั่งน้ำหนักเหตุผล ประโยชน์ของผู้ขอข้อมูลข่าวสาร และผู้รับจ้างที่คัดค้านแล้วการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการของผู้รับจ้างแต่อย่างใด และไม่มีข้อมูลข่าวสารส่วนใดที่เป็นความลับทางการค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวยังได้มีการยื่นต่อศาลแล้วด้วย ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้อุทธรณ์ขอทราบข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้สิทธิโต้แย้งชี้แจง
       และปกป้องสิทธิของตนแล้วประโยชน์ได้เสียของผู้อุทธรณ์และผู้รับจ้างแล้วประโยชน์ของผู้รับจ้างไม่ได้รับความกระทบกระเทือนแต่อย่างใด จึงสมควรจะเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ขอมากกว่า
       ๓.๓ หลักแห่งความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ หลักแห่งความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบนี้ในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว พิจารณาจากเหตุผลที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยให้เหตุผลว่า เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเช่น ป้องกันความเสียหายต่อความมั่นคงทางทหารหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือ จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ กับประโยชน์สาธารณะอื่นคือความโปร่งใสและสิทธิของประชาชนที่จะได้รู้เพื่อตรวจสอบ
       การตัดสินใจการบริหารราชการแผ่นดิน ดังตัวอย่าง
       (๑) อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งมีหนังสือถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิด
       ทางละเมิด กรณีการปกป้องค่าเงินบาท กรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ และกรณีการช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน
       ที่อยู่ในความครอบครองหรือที่อยู่ในความควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
       ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปฏิเสธโดยแจ้งว่า การสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดังกล่าวได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
       พ.ศ. ๒๕๓๙ การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ และเอกสารฉบับดังกล่าว ยังเป็นเอกสารของข้าราชการที่มีชั้น (ลับมาก) ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๗ และคณะกรรมการศึกษารายงาน ศปร.ไม่ประสงค์ให้มีการยกเลิก
       ชั้นความลับและเผยแพร่เอกสารดังกล่าว นอกจากนี้อาจเป็นการละเมิดสิทธิ
       และเสรีภาพบุคคลตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอาจกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       ที่ปฏิบัติงานไปตามกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ อาจารย์ผู้ขอข้อมูลข่าวสาร
       จึงได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมแสดงเหตุผลว่าที่ประสงค์จะได้ข้อมูลข่าวสารนั้นเนื่องจากว่า
       เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
       ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายรวมทั้งประชาชนได้รับภาระหนี้สาธารณะ
       ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากประชาชนจึงควรได้รับทราบข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
       
       เพื่อตรวจสอบ การขอข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไม่เจตนาจะทำให้ผู้ใดได้รับ
       ความเสียหายจึงได้ขอข้อมูลเฉพาะรายงานการสอบข้อเท็จจริงเท่านั้นไม่รวมถึงเอกสารประกอบ และธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปิดชื่อผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ตามแต่จะเห็นสมควร คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์และสาธารณะ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ตรวจสอบดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ
       ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจและการเงินการคลังของประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างมากในวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์ในการดำเนินการอันจะเป็นบทเรียนการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
       ส่วนคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นศาลซึ่งเกรงว่าจะทำให้เกิดผลกระทบ
       หากมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์ นอกจากนี้เกี่ยวพันถึงการกำหนด
       ชั้นความลับในเอกสารเรื่องนี้ด้วยนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยฯ เห็นว่าข้อมูลข่าวสาร
       ซึ่งเป็นรายงานของคณะกรรมการศึกษารายงาน ศปร. มีการเปิดเผยสาธารณะ
       โดยสื่อสารมวลชนและอีกทั้งคดียังได้มีการฟ้องร้องทางแพ่งต่อศาลแล้วด้วย
       การเปิดเผยจะสร้างความน่าเชื่อถือแก่หน่วยงานในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของประเทศให้เป็นที่ย่อมรับต่อไปด้วย คณะกรรมการวินิจฉัยฯ
       จึงมีมติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรายงาน
       การสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด
       กรณีปกป้องค่าเงินบาท กรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ และกรณีการช่วยเหลือสถาบันการเงินไทยโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถานการณ์การเงิน
       ตามอุทธรณ์แก่ผู้อุทธรณ์โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจใช้ดุลพินิจในการ
       ปิดชื่อบุคคลได้ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้อุทธรณ์หากเห็นว่าจะทำให้เกิด
       ผลกระทบต่อบุคคลนั้น (20)
       ตามข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะทั้งสองทางคือ ประโยชน์สาธารณะในเรื่องของความมั่นคง และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อหาผู้รับผิดทางละเมิดกับความโปร่งใสและการตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐรวมถึงบทเรียนที่เกิดขึ้นอันจะเป็นประโยชน์
       ในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป จึงเห็นสมควรที่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอ
       (๒) ผู้อุทธรณ์กับพวกรวม ๑๑๑ คน ซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่บริเวณบึงวงฆ้อง ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีมีกลุ่มผู้ร้องเรียนว่า ผู้อุทธรณ์กับพวกได้บุกรุกที่ดินบริเวณ “บึงวงฆ้อง” สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาท จึงได้ดำเนินการรังวัดที่ดินสาธารณะประโยชน์และได้ส่งเรื่องการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินเขตบึงวงฆ้องให้กรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนฯ โดยใช้หลักฐานการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นตัวกำหนดแนวเขต
       บึงวงฆ้อง ผู้อุทธรณ์จึงต้องการสำเนาเอกสารการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ของสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาท ซึ่งได้ขึ้นทะเบียน
       ที่สาธารณะประโยชน์บึงวงฆ้องและบึงลาดค้าวระบุอาณาเขตข้างเคียงของบึงทั้งสองแห่งติดต่อกับที่นาของราษฎรและติดป่าไผ่ ผู้อุทธรณ์จึงต้องการเอกสารการอ่าน
       แปลภาพถ่ายทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อนำไปประกอบ
       เป็นหลักฐานในการพิสูจน์สิทธิครอบครองของผู้อุทธรณ์ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอดตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเรื่อยมาจนได้รับเอกสารสิทธิ์ คือ สค. ๑ น.ส.๓ ก. และโฉนดที่ดิน โดยผู้อุทธรณ์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวก่อนที่จะ
       มีการขึ้นทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ พ.ศ. ๒๔๗๗ และก่อนที่จะมีการถ่ายภาพทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง พ.ศ. ๒๔๙๕ และสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาท
       ได้ให้ผู้อุทธรณ์ตรวจดูเอกสารอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว แต่ไม่อนุญาตให้สำเนาเอกสารดังกล่าวซึ่งมีรายละเอียดระบุว่าพื้นที่บริเวณบึงวงฆ้องส่วนใดเป็นพื้นดินหรือพื้นน้ำและในการอ่านแปลภาพถ่าย
       ทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้องต้องอ่านคู่กับภาพถ่ายทางอากาศด้วย โดยให้เหตุผลสรุปสาระสำคัญได้ว่า เนื่องจากมีการบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์บึงวงฆ้อง จังหวัดชัยนาทจึงแจ้งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาทประสานกับกรมที่ดินเพื่อที่จะทำการรางวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เมื่อมีการทำรางวัดและออก นสล. แล้ว ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์กับพวกได้คัดค้านการออก นสล. จังหวัดชัยนาท
       จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินของราษฎร
       และพิสูจน์สิทธิว่าที่ดินที่มีการคัดค้านนั้นอยู่ในเขตที่สาธารณะประโยชน์บึงวงฆ้องหรือไม่ เพื่อนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ต่อมาจังหวัดชัยนาทได้พิจารณาผลการอ่านแปลภาพถ่ายแล้วมีมติให้กำหนดแนวเขตพื้นที่สาธารณะประโยชน์บึงวงฆ้อง
       ตามแนวเขตที่มีการอ่านแปลภาพถ่าย ปรากฏว่าได้มีการครอบคลุมพื้นที่ของราษฎรที่มีเอกสารสิทธิ์รวมอยู่ด้วย จึงต้องมีการพิสูจน์สิทธิการครอบครองทำประโยชน์
       ของผู้ครอบครองที่มีเอกสารสิทธิ์ และสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาทปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์เพราะภาพถ่ายทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ระบุข้อเตือนใจว่า “ภาพถ่ายทางอากาศนี้เป็นเอกสารปกปิดของทางราชการ
       ผู้ใช้พึงระวังรักษาเพื่อความปลอดภัยของประเทศ” โดยสำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาทมิได้หารือกรมที่ดิน กรมแผนที่ทหาร (หน่วยงานซึ่งถ่ายภาพทางอากาศ) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
       คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ พิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินบริเวณบึงวงฆ้องมิได้เป็นเขตที่ตั้งของทหารหรือเขตยุทธศาสตร์ทางทหารหรือเขตชายแดน
       ของประเทศ แต่เป็นเพียงพื้นที่บึง ทุ่งนาและแหล่งน้ำ การเปิดเผยภาพถ่าย
       ทางอากาศและการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ จึงไม่กระทบต่อความมั่นคง
       ของประเทศ และภาพถ่ายทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง พ.ศ. ๒๔๙๕
       แม้จะปรากฏข้อเตือนใจว่า “รูปถ่ายทางอากาศนี้เป็นเอกสารปกปิดของทางราชการผู้ใช้พึงระวังรักษาเพื่อความปลอดภัยของประเทศ” แต่เป็นเพียงข้อเตือนใจมิใช่เป็นชั้นความลับของทางราชการแต่อย่างใด และตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ ชั้นความลับระดับปกปิดได้ยกเลิกแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่า
       กรมแผนที่ทหารกำหนดปรับระดับชั้นความลับขึ้นใหม่จึงถือว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวไม่เป็นความลับของทางราชการอีกต่อไป อีกทั้งการเปิดเผยภาพถ่ายทางอากาศและเอกสารการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง ย่อมเป็นประโยชน์
       แก่ผู้อุทธรณ์ในการนำไปใช้พิสูจน์สิทธิการครอบครองของตน จึงวินิจฉัยให้สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาทเปิดเผยภาพถ่ายทางอากาศและเอกสารการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศที่ดินบริเวณบึงวงฆ้อง พ.ศ. ๒๔๙๕ แก่ผู้อุทธรณ์พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (21)
       ตามข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้ให้ความหมายของ “ความมั่นคง
       ของประเทศ” ว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด เมื่อไม่มีผลกระทบต่อ
       ความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์อื่นแล้ว
       จึงสมควรที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้อุทธรณ์
       กล่าวโดยสรุปการที่กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ เนื่องจากข้อมูลข่าวสารของราชการมีความหมายกว้างขวางโดยรวมทั้งข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐ และข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับเอกชนซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐด้วย การเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น จึงอาจมีผลกระทบหรือผลดีผลเสียต่อประโยชน์ของบุคคลแต่ละฝ่ายต่างกัน และมีผลกระทบต่อหน่วยงานของรัฐด้วย การตัดสินใจเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่ คือการชั่งน้ำหนัก ประโยชน์ได้เสีย เช่น
       การขอให้เปิดเผยรายงานการแพทย์ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ขอให้เปิดเผยแต่อาจมีผลกระทบต่อประโยชน์ของผู้ป่วยซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล การขอให้เปิดเผยบันทึกถ้อยคำพยานหรือที่ผู้ร้องเรียนย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ถูกกล่าวหา
       ในการแก้ข้อกล่าวหาหรือข้อร้องเรียน แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือ
       ความปลอดภัยของพยานหรือผู้ร้องเรียน และอาจมีผลทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ การขอให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินประจำการต่อสู้อากาศยานย่อมก่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
       เป็นต้น กฎหมายจึงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารนั้นพิจารณา
       ชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีผลเสียหรือผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยกำหนดเป็นหลักการในบทบัญญัติของกฎหมายว่าให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่
       ตามกฎหมายของหน่วยงาน ประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาประมวลถึงผลดีผลเสียหรือผลกระทบต่างๆ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ แล้วชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียดังกล่าวทุกด้านที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของผู้ขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารและผู้ที่ได้รับผลกระทบ
       จากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้วจึงตัดสินใจเลือกว่าควรจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ขอหรือไม่
       
       บทที่ ๓
       การออกคำสั่งและการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       
       เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับคำขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นการเฉพาะรายแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพิจารณาเหตุและผลว่า
       ควรจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอได้หรือไม่แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่
       แจ้งผลการพิจารณาให้แก่ผู้ขอโดยเร็ว โดยลักษณะการพิจารณาคำขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ กรณีคือ เปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอ หรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอ
       ๑. กรณีมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น
       เจ้าหน้าที่อาจพิจารณามีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ขอทั้งหมด หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอแต่เพียงบางส่วน หรือเปิดเผยโดยมีเงื่อนไข
       การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเหล่านี้หมายถึงกรณีใด มีข้อพิจารณาดังนี้
       ๑.๑ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหมด เมื่อประชาชนยื่นขอข้อมูลข่าวสารและข้อมูลข่าวสารที่ขอไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ (๑) – (๖) ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ อันเป็นข้อมูลข่าวสาร
       ที่ใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนตามที่ขอ และมิใช่
       ข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผยเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหมด ดังตัวอย่างเช่น
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๑๒/๒๕๔๖
       วินิจฉัยว่า “ผู้อุทธรณ์ ขอบันทึกรายงานการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล
       สมัยวิสามัญ และหนังสือรับรองมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่พิจารณาให้
       ผู้อุทธรณ์พ้นจากตำแหน่งพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง แม้ว่าที่ประชุมสภา
       องค์การบริหารส่วนตำบลจะมีมติให้เป็นการประชุมลับ แต่ข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ต้องการเป็นข้อมูลข่าวสารที่กระทบส่วนได้เสียของผู้อุทธรณ์โดยตรงและผู้อุทธรณ์
       อยู่ในที่ประชุมด้วย ดังนั้น รายงานการประชุมจึงไม่เป็นความลับสำหรับผู้อุทธรณ์ ประกอบกับขณะนี้ผลการพิจารณาเป็นที่ยุติแล้วคือผู้อุทธรณ์พ้นจากการเป็น
       สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อุทธรณ์จึงมีสิทธิที่จะได้รับทราบ
       ข้อมูลข่าวสารเพื่อปกป้องสิทธิของตน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของรายงานการประชุมก็ไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อความใดที่เข้าข่ายมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงวินิจฉัยให้องค์การบริหารส่วนตำบลเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายงานการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และรายงานการประชุมที่รับรองรายงานการประชุมดังกล่าวพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้แก่
       ผู้อุทธรณ์”
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๑๔/๒๕๔๖
       วินิจฉัยว่า “คำขอสัมปทานเหมืองแร่หินปูนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดหาญกิตติชัย ยื่นขอ
       ประทานบัตรเป็นข้อมูลข่าวสารที่ผู้ยื่นคำขอได้กรอกข้อความตามแบบพิมพ์ที่
       ทางราชการกำหนดโดยมิได้มีข้อความอื่นใดที่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
       ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลข่าวสารของทางราชการทั่วไปที่ประชาชน
       สามารถขอได้ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ
       พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยไม่กระทบต่อประโยชน์ได้เสียของห้างหุ้นส่วนจำกัดหาญกิตติชัย ส่วนประทานบัตรเหมืองแร่หินปูนที่กรมทรัพยากรธรณีออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดหาญกิตติชัย นั้น เป็นข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานหรือสัญญา
       ที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอนตามนัยมาตรา ๙ (๖) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งจะต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ถึงแม้จะมีการกำหนดให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารลับตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ ก็ไม่ตัดอำนาจคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารฯ ที่จะมีการวินิจฉัยให้เปิดเผยตามข้อ ๒๔ ของระเบียบดังกล่าว
       จึงมีคำวินิจฉัยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กรมทรัพยากรธรณีเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอแก่ผู้อุทธรณ์”
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๒๑/๒๕๔๖ วินิจฉัยว่า “การที่ผู้อุทธรณ์ต้องการเอกสารรายการประเมินราคาเครื่องสีข้าว
       เพื่อนำไปประกอบการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ในการร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน แต่แขวงการทางลพบุรี ที่ ๑
       ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่า เอกสารรายการประเมินราคาที่เจ้าหน้าที่ยึดเทียบเคียงกับ
       เครื่องสีข้าวอื่น เป็นเอกสารที่ไม่ใช่เอกสารที่สำรวจจากเครื่องสีข้าวเครื่องที่ ๑
       ของผู้อุทธรณ์ จึงถือว่าไม่ใช่เอกสารข้อเท็จจริงที่จะนำไปอ้างอิงได้นั้น เอกสารประเมินราคาเครื่องสีข้าวที่ผู้อุทธรณ์ขอนั้นจะเทียบเคียงประเมินราคาจาก
       เครื่องสีข้าวของผู้อุทธรณ์ได้หรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ เอกสารรายการประเมินราคาเครื่องสีข้าวอยู่ในความครอบครองของแขวงการทางลพบุรี ที่ ๑ นั้น เป็นข้อมูลข่าวสารของราชการทั่วไปซึ่งสามารถเปิดเผยได้และการเปิดเผยจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
       เมื่อผู้อุทธรณ์ประสงค์จะใช้ประกอบการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
       ในการร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างของผู้อุทธรณ์
       ที่ถูกเวนคืนย่อมมีเหตุอันสมควรจะขอให้เปิดเผย จึงมีคำวินิจฉัยให้แขวงการทางลพบุรี ที่ ๑ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์แก่ผู้อุทธรณ์” ตามตัวอย่างคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวข้างต้นเป็นการวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ขอตามที่ผู้ขอได้ร้องขอทั้งหมด อาจจะเนื่องด้วย
       ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่มีเหตุไม่อาจเปิดเผยได้ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือเป็นการใช้ดุลพินิจให้เปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารกับผู้ขอ
       ๑.๒ การเปิดเผยเพียงบางส่วน เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจขีดฆ่า ปิด ลบ ข้อมูลข่าวสารบางส่วน เช่น ชื่อพยานหรือผู้มาให้ถ้อยคำหรือไม่เปิดเผยข้อความที่เป็นการกระทบข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับความลับ
       ทางการค้า ดังตัวอย่างเช่น
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       สาขาการแพทย์และสาธารณสุข ที่ พส ๓/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า “ข้อมูลข่าวสารที่ขอแม้ว่าบางส่วนจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการปฏิบัติงานในการรักษาพยาบาลนายสิทธิชัย
       จึงมิใช่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของบุคคลอื่นๆ แต่อย่างใด รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายงานการสืบสวนนี้ก็มิได้เป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลเกินสมควร ยกเว้นในรายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงบางส่วนที่เป็นรายงานเกี่ยวกับการตรวจบุคคลอื่น รักษาบุคคลอื่น ซึ่งรวมอยู่ในรายงานการสืบสวนด้วย หากการเปิดเผย
       จะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นก็ให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด
       เพื่อไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเฉพาะในส่วนนั้นได้”
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       สาขาเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ ที่ สค ๖/๒๕๔๕ “คณะกรรมการวินิจฉัย
       มีมติให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามรายการที่ ๑๓ คือรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการศึกษา
       กรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการกีดกันธุรกิจเบียร์และสุรา ครั้งที่ ๙/๒๕๔๓ และครั้งที่
       ๑๐/๒๕๔๓ และรายงานการประชุมของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ครั้งที่ ๓/๒๕๔๓ วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๓ และครั้งที่ ๔/๒๕๔๓ วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๓ แก่ผู้อุทธรณ์พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง โดยให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสามารถใช้ดุลพินิจปิดลบข้อความเฉพาะที่เห็นว่าอาจทำให้กระทบต่อการออกความเห็นโดยอิสระของคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้เฉพาะ
       ไม่เกินไปกว่าที่ได้มีการหารือและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัย
       การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทย ในช่วงก่อน
       มีคำวินิจฉัยแล้วเท่านั้น”
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๑๕/๓๕๔๖ “คณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีมติให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยข้อมูลข่าวสารหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์พยายามจับผิดและร้องเรียนผู้ใต้บังคับบัญชา ใช้วาจาไม่สุภาพและไม่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีอันเป็นเหตุให้
       ผู้อุทธรณ์ได้รับการลงโทษภาคทัณฑ์ ตามคำสั่งสำนักงานการประถมศึกษา
       จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์ โดยอาจใช้ดุลพินิจลบหรือตัดทอน หรือทำด้วยประการอื่นใด ที่ไม่เป็นการเปิดเผยชื่อบุคคล
       ในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว”
       หรือคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๑๖/๒๕๔๖ ที่วินิจฉัยว่า “คะแนนสอบสัมภาษณ์ของคณะกรรมการแต่ละท่านเป็นข้อมูลข่าวสาร
       ที่เปิดเผยได้ โดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูลอาจใช้ดุลพินิจตามสมควรในเรื่องการปกปิดชื่อหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เปิดเผยชื่อกรรมการผู้ให้คะแนนเพื่อมิให้กระทบความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นหรือการให้คะแนนของกรรมการแต่ละท่านได้ ทั้งนี้ให้เปิดเผยได้เฉพาะของผู้สอบผ่านเกณฑ์ที่ขึ้นบัญชีไว้” ตามตัวอย่างคำวินิจฉัย
       
       ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารวินิจฉัยให้ปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อของบุคคลซึ่งอาจเป็นพยานหรือผู้ร้องเรียนเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยหรือผลกระทบความเป็นอิสระในการดำเนินการหรือตัดสินใจของบุคคลเหล่านั้น
       ๑.๓ การเปิดเผยโดยมีเงื่อนไข เจ้าหน้าที่อาจมีคำสั่งเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารโดยมีเงื่อนไขได้ โดยพิจารณาได้เป็น ๒ ประการคือ การกำหนดเงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น ว่าจะเปิดเผยได้เมื่อใด กับกำหนดเงื่อนไขให้กับประชาชนผู้ขอว่า เมื่อได้รับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว ผู้ได้รับการเปิดเผย
       มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
       ๑.๓.๑ เงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐอาจกำหนดเงื่อนไขของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารว่า
       ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะเปิดเผยได้เมื่อใด ดังตัวอย่างเช่น
       หน่วยงานของรัฐจัดส่งข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา ๑๕ เมื่อครบ ๒๐ ปี ให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เมื่อไม่ประสงค์จะเก็บรักษาหรือมีอายุครบยี่สิบปี(22) ดังนั้น หากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เห็นว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
       เป็นข้อมูลข่าวสารที่ควรจัดให้ประชาชนศึกษาค้นคว้าก็สามารถดำเนินการเปิดเผยได้ทันที เพราะหากข้อมูลข่าวสารนั้นยังมีความจำเป็นที่ยังไม่ควรจะเปิดเผย หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการขยายเวลาตามมาตรา ๒๖ วรรคสาม (๒) และในกรณีเมื่อมีการขยายเวลาก็ไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูลข่าวสารนั้นไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร การจัดส่งข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาตามมาตรา ๑๕ ให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร จึงเป็นการที่หน่วยงานของรัฐมีเจตนาให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้ ถ้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เห็นว่า ควรคัดเลือกจัดข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้ประชาชนศึกษาค้นคว้า
       ในกรณีเอกสารที่เสนอเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ปกติแฟ้มระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีจะกำหนดในชั้นลำดับ “ลับมาก” ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๗ (23) เอกสารต่างๆ ในวาระนั้น
       จะถูกถือว่าเป็นชั้นลับมากตามไปด้วย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้ว
       
       (ใช้ระยะเวลาส่งเอกสารจนจบการประชุมคณะรัฐมนตรีประมาณ ๖ วัน นับตั้งแต่
       วันพฤหัสบดีวันเริ่มต้นส่งเอกสารจนถึงวันอังคารวันประชุมคณะรัฐมนตรี ยกเว้น
       เรื่องที่เป็นวาระจร) จะลดลำดับชั้นลงมาเท่ากับเรื่องเดิมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี เช่น เอกสารเดิมเป็นชั้นปกปิดก็ลดลงมาเป็นชั้นปกปิด หรือเอกสารเดิมเป็นเอกสารธรรมดาก็จะลดลงมาเป็นเรื่องที่ไม่มีชั้นความลับ เป็นต้น ซึ่งก่อนหรือหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ลำดับชั้นความลับของเรื่องจึงเป็นไปตามเรื่องที่เสนอมาตั้งแต่กระทรวง ทบวง กรมเดิม ช่วงระยะเวลาดังกล่าว เอกสารเหล่านั้นจะถูกจัดเป็นข้อมูลข่าวสารลับและอยู่ในชั้นความลับใดหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพเอกสารและตามสภาพการพิจารณาปรับเปลี่ยนเรื่อง หากเป็นเรื่องที่ไม่มีสภาพเป็นความลับก็ดำเนินการไปตามปกติ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่า (24) ในภาพรวมคณะรัฐมนตรีต้องการให้เอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เตรียมไว้ก่อนมีการประชุมต้องเก็บรักษาเป็นความลับ
       เพื่อมิให้ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนในการนำข้อความ
       หรือเอกสารไปเปิดเผยก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณา อันจะเป็นแรงกดดันหรือ
       ชี้นำในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็สอดคล้องกับนานาประเทศที่ได้ดำเนินการในลักษณะนี้ มติคณะรัฐมนตรีนี้เป็นการวางแนวปฏิบัติในหลักการให้สอดคล้องกับระเบียบและกฎหมาย เพื่อให้การประชุมคณะรัฐมนตรี
       เป็นเอกภาพโดยไม่จำเป็นต้องระบุถึงรายละเอียดของแต่ละเอกสาร ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายอยู่แล้ว เพราะลักษณะ
       ของเรื่องเป็นการผสมผสานรวมเข้าด้วยกันระหว่างเอกสารของหน่วยงานเจ้าของเรื่อง ผู้เสนอความเห็นและของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดังที่กล่าวมาแล้ว จึงเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างพิจารณา หากยังไม่แล้วเสร็จก็สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งขณะประชุมคณะรัฐมนตรี
       การเปิดเผยเอกสารก่อนมีมติคณะรัฐมนตรีอาจกระทำให้ผู้ได้ข้อมูลนั้นเข้าใจในสาระคลาดเคลื่อนได้ดังที่เคยปรากฏความเสียหายมาแล้ว สมควรให้คณะรัฐมนตรี
       ได้พิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบเรื่องนั้นๆ ก่อนจะทำให้ข้อมูลที่เสนอคณะรัฐมนตรี
       มีจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องว่าเรื่องใดเป็นนโยบายที่เป็นทางการอันจะก่อให้เกิดสิทธิรับรู้ตามกฎหมายตามมา อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับระบบการประชุมคณะรัฐมนตรีทั่วๆ ไป
       
       ในนานาประเทศที่ว่า เรื่องในระหว่างวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรียังไม่สมควร
       เปิดเผยจนกว่าจะมีมติแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า เนื้อหาสาระของมติคณะรัฐมนตรี
       ข้อ ๒.๔ (ห้ามมิให้เปิดเผยเอกสารที่เสนอเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนการประชุม)
       มีความเหมาะสมถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการประชุมระดับบริหารสูงสุดของประเทศและเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการแล้ว
       แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพิจารณาลงมติของคณะรัฐมนตรีแล้วเอกสารการประชุมที่เสนอคณะรัฐมนตรีก่อนมีการประชุมนั้นจะเปิดเผยได้แค่ไหนเพียงไร คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๖ (25) ให้ความเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ถือปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการปรับชั้นความลับและยกเลิก
       ชั้นความลับสำหรับเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนด ดังนี้
       (๑) การเสนอเรื่องทั่วไป
       ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องระบุอย่างชัดเจนในท้ายหนังสือนำส่งเรื่องไปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ (หรือเห็นชอบ หรือรับทราบ) ตามที่เสนอแล้ว ให้ยกเลิกชั้นความลับ หรือปรับชั้นความลับ จาก “.....” เป็น “.....” ตั้งแต่เมื่อใด เช่น ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เป็นต้น พร้อมแสดงข้อความการปรับชั้นความลับไว้ที่หน้าแรกของหนังสือนำส่งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีบริเวณใกล้กับเครื่องหมายแสดงชั้นความลับเดิมว่า “ให้ยกเลิกชั้นความลับนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ” หรือ “ให้เพิ่มชั้นความลับเป็น.....นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ” หรือ “ให้ลดชั้นความลับเป็น.....นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ” ด้วย
       ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะถือเป็นหลักปฏิบัติทุกเรื่องว่าหากเรื่องดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ เช่น คณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติตามที่เสนอทั้งหมด หรือให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็จะยังไม่ปรับปรุงหรือยกเลิกชั้นความลับตามที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องเสนอ จนกว่าหน่วยงานเจ้าของเรื่องจะแจ้งการปรับปรุงหรือยกเลิกมาอีกครั้งหนึ่ง
       (๒) การเสนอร่างกฎหมาย
       ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องระบุอย่างชัดเจนในท้ายหนังสือนำส่งเรื่องไปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีว่า ให้ยกเลิกชั้นความลับ หรือปรับชั้นความลับจาก “.....” เป็น “.....” ตั้งแต่เมื่อใด โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ถือปฏิบัติสำหรับการยกเลิกชั้นความลับร่างกฎหมาย ดังนี้
       (๒.๑) ร่างพระราชบัญญัติจะยกเลิกชั้นความลับเมื่อนำเสนอรัฐสภาแล้ว หากประสงค์จะยกเลิกชั้นความลับในขั้นตอนดังกล่าวสมควรใช้ความว่า “ให้ยกเลิกชั้นความลับนับแต่วันที่ส่งรัฐสภา”
       (๒.๒) ร่างกฎหมายอื่นๆ เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกา
       ร่างกฎกระทรวง และร่างประกาศต่างๆ จะยกเลิกชั้นความลับเมื่อประกาศ
       ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากประสงค์จะยกเลิกชั้นความลับในขั้นตอนดังกล่าวสมควรใช้ความว่า “ให้ยกเลิกชั้นความลับนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
       พร้อมนี้ หน่วยงานเจ้าของเรื่องจะต้องแสดงข้อความ
       การปรับชั้นความลับไว้ที่หน้าแรกของหนังสือนำส่งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี
       บริเวณใกล้กับเครื่องหมายแสดงชั้นความลับเดิมด้วยเช่นเดียวกับข้อ (๑)
       เห็นได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการให้หน่วยงานของรัฐกำหนดเงื่อนไขในการยกเลิกชั้นความลับอันหมายถึงว่าเมื่อมีการยกเลิกชั้นความลับดังกล่าวแล้วข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีสามารถที่จะเปิดเผยให้กับประชาชนได้ อันเป็นการวางเงื่อนไขของหน่วยงานของรัฐเองที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนได้เมื่อใด
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจและการคลังประเทศ ที่ ศ.ค. ๑/๒๕๔๒ วินิจฉัยว่า “นางสาวจิตติมา
       มีหนังสือถึงองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อขอทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับชื่อผู้ประมูลและราคาประมูลที่ผู้ประมูลทุกรายยื่นเสนอซื้อสินเชื่อธุรกิจมูลค่า ๓.๗ แสนล้านบาทของสินทรัพย์ ปรส. ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๑ ปรส. ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า การประมูลสินเชื่อธุรกิจมูลค่า ๓.๗ แสนล้านบาท ยังไม่สิ้นสุด ยังมีสินทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ปรส. จะต้องนำออกประมูลครั้งที่สองในวันที่
       ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๒ ดังนั้น ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการประมูลเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๑ จึงไม่สามารถเปิดเผยได้จนกว่าจะเสร็จสิ้นการประมูลเนื่องจากการเปิดเผย
       ข้อมูลดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อกลยุทธการขายและการแข่งขันของสินเชื่อแต่ละกลุ่ม
       ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาการประมูลครั้งต่อไปได้ คณะกรรมการวินิจฉัยเห็นว่า
       การทราบรายชื่อผู้ประมูลเดิมไม่ได้ทำให้การเสนอราคาประมูลครั้งต่อไป
       ได้ราคาต่ำลงแต่อย่างใด แต่การเปิดเผยราคาผู้เข้าประมูลเสนอจะมีผลกระทบต่อ
       กลยุทธการขาย และการแข่งขันของสินเชื่อแต่ละกลุ่ม ซึ่งอาจส่งผลต่อราคา
       การประมูลครั้งต่อไปว่าได้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะได้ อันจะกระทบถึงความมั่นคง
       ทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามมาตรา ๑๕ (๑) จึงวินิจฉัยให้ ปรส. เปิดเผยรายชื่อของผู้เข้าประมูลทุกรายตามคำขอของนางสาวจิตติมา และเปิดเผยราคาประมูล
       ผู้เข้าประมูลทุกราย หลังจากที่ได้มีการประมูลสินทรัพย์มูลค่า ๓.๗ แสนล้านบาท เสร็จสิ้นหนึ่งวัน” คำวินิจฉัยดังกล่าวได้วางเงื่อนไขให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผย
       ข้อมูลข่าวสารเมื่อใด
       ๑.๓.๒ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดสำหรับผู้ขอข้อมูลข่าวสาร เมื่อหน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอ หน่วยงานของรัฐอาจวางเงื่อนไขหรือข้อจำกัดแก่ผู้ขอ
       ข้อมูลข่าวสารให้ต้องปฏิบัติตามได้ เช่น จำกัดวิธีการเปิดเผยว่าให้เปิดเผยให้แก่
       ผู้ยื่นขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ผู้ขอเปิดเผยจะนำไปเผยแพร่ต่อบุคคลอื่น
       ต่อไปไม่ได้ หรือข้อจำกัดในแง่ของการนำไปใช้ว่าผู้ขอข้อมูลข่าวสารจะนำไปใช้ได้
       แต่เฉพาะการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนในชั้นการพิจารณาของศาล หรือกำหนดข้อจำกัดว่าห้ามมิให้นำไปเปิดเผยต่อสื่อมวลชนอีกชั้นหนึ่ง เป็นต้น
       ๑.๔ การทำสำเนาและรับรองสำเนาถูกต้อง เมื่อหน่วยงานของรัฐ
       หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยให้ทั้งหมด
       หรือเปิดเผยบางส่วนก็ตาม หากผู้ขอขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องในข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยให้กับผู้ขอ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องถ่ายสำเนาหรือมีคำรับรองสำเนาถูกต้องให้กับประชาชนผู้ขอด้วย(26) โดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
       ได้มีประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การเรียกค่าธรรมเนียมการขอสำเนา หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารของราชการ
       โดยกำหนดค่าธรรมเนียมการทำสำเนาโดยเครื่องถ่ายเอกสารที่หน่วยงานของรัฐสามารถจัดเก็บได้ในอัตราดังต่อไปนี้ ขนาดกระดาษ A๔ หน้าละไม่เกิน ๑ บาท
       ขนาดกระดาษ F๑๔ หน้าละไม่เกิน ๑.๕๐ บาท ขนาดกระดาษ B๔ หน้าละไม่เกิน ๒ บาท ขนาดกระดาษ A๓ หน้าละไม่เกิน ๓ บาท เป็นต้น ส่วนการเรียกค่าธรรมเนียม
       การให้คำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารให้คิดได้ในอัตราคำรับรองละไม่เกิน ๕ บาท ในกรณีที่ผู้ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย หน่วยงานของรัฐจะพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมหรือลดค่าธรรมเนียมให้ตามควรแก่กรณีได้ การเรียกค่าธรรมเนียมการทำสำเนาโดยเครื่องถ่ายเอกสารในขนาดหรืออัตรา
       ที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ หรือการขอสำเนาที่เป็นสื่อประเภทอื่น หน่วยงานของรัฐ
       จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเสียก่อน
       เว้นแต่เป็นการเรียกค่าธรรมเนียมที่ไม่เกินต้นทุนอันแท้จริง (27)
       ๒. การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลอื่น ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น ประมวลกฎหมายแพ่ง
       และพาณิชย์ มาตรา ๔๒๓ วรรคหนึ่ง “ผู้ใดกล่าว หรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความ
       อันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี
       หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี
       ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้” วรรคสอง “ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้น
       มีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้
       ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่” หรืออาจเป็นความผิดทางอาญาต้องรับโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๓
       วรรคหนึ่ง “ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงาน
       ผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชี หรือโดยเหตุที่เป็น
       ผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้น แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิด
       ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน
       หนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” วรรคสอง “ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าว
       ในวรรคแรก เปิดเผยความลับของผู้อื่นอันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น
       ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน” พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๑๐๐ “ผู้ใดเปิดเผยข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับกิจการของนายจ้างอันเป็นข้อเท็จจริงที่ตามปกติวิสัยของนายจ้างจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ซึ่งตนได้มาหรือล่วงรู้เนื่องจากการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
       ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่การเปิดเผยในการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือ
       เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองแรงงาน หรือการสอบสวน หรือการพิจารณาคดี”
       ประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐ “เจ้าพนักงานผู้ใดโดยหน้าที่ราชการตามลักษณะนี้
       ได้รู้เรื่องกิจการของผู้เสียภาษีอากร หรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้นำออกแจ้ง
       แก่ผู้ใดหรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธีใด เว้นแต่จะมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบ
       ด้วยกฎหมาย” มาตรา ๑๓ “เจ้าพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๐ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ”
       และทางวินัยหรือฝ่าฝืนจริยธรรมแห่งวิชาชีพต้องถูกลงโทษทางวินัย เช่น ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๒๗
       “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย หรือผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งตนทราบมาเนื่องจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่ได้รับความยินยอมโดยชอบ
       ด้วยกฎหมาย หรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่” แต่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ มาตรา ๒๐ ได้บัญญัติให้ การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ไม่ต้อง
       รับผิดกล่าวคือไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย หากเป็นการกระทำโดยสุจริตในกรณีดังต่อไปนี้
       ๒.๑ เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยความลับของทางราชการ กล่าวคือ ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนมาขอตรวจดูนั้นเป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารลับ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขเช่นใด ย่อมต้องเป็นเจ้าหน้าที่
       ที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารลับชิ้นนั้นได้ เพราะหากมิใช่เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารลับชิ้นนั้น เจ้าหน้าที่ย่อมจะไม่มีโอกาสได้เห็นข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
       จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นหรือไม่ ซึ่งระเบียบ
       ว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๗ ได้กำหนดตัวบุคคล
       ที่จะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารลับว่า “ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รักษาข้อมูลข่าวสารลับในหน่วยงานของตนและอาจมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวได้ตาม
       ความจำเป็นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือให้แก่ราชการส่วนภูมิภาคในกรณีที่สามารถ
       มอบอำนาจได้ตามกฎหมาย” วรรคสอง “ผู้มีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ต้องรักษา
       ข้อมูลข่าวสารลับให้ปลอดภัย การให้บุคคลใดเข้าถึงข้อมูลข่าวสารลับ หรือ
       การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับแก่ผู้ใดต้องกระทำโดยระมัดระวัง ในกรณีจำเป็นให้กำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติให้เหมาะสมแก่กรณี โดยคำนึงถึงการรักษาความลับ
       และประสิทธิภาพในการดำเนินการตามระเบียบนี้” และข้อ ๕ ได้ให้ความหมาย “หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า
       (๑) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล สำหรับ
       ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้หมายความรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ
       ที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรมราชองครักษ์ กองบัญชาการ
       ทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ
       (๒) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับราชการส่วนภูมิภาค
       (๓) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกองค์การบริหาร
       ส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี ประธานสภาตำบล ประธานกรรมการบริหาร
       องค์การบริหารส่วนตำบล นายกเมืองพัทยา หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น
       ที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน แล้วแต่กรณี สำหรับราชการส่วนท้องถิ่น
       (๔) ผู้บริหารกิจการของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สำหรับงานของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
       และเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธิเข้าถึงชั้นความลับดังกล่าวเห็นควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอต้องดำเนินการปรับชั้นความลับ โดยยกเลิก
       ชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารนั้น ตามข้อ ๒๓ (28) ของระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่ถ้าข้อมูลข่าวสารลับที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยโดยไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใด ให้ถือว่าข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้ว เว้นแต่มีการฟ้องคดีต่อศาล
       และศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น(29) เพราะโดยสภาพของข้อมูลข่าวสารเมื่อได้รับการเปิดเผยแล้วย่อมไม่เป็นความลับต่อไปเพราะเป็นข้อมูลข่าวสาร
       ที่รับทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว และไม่เป็น “ข้อมูลข่าวสารลับ” ในความหมายของ
       ข้อ ๔ ของระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔
       ที่ให้ความหมาย “ข้อมูลข่าวสารลับ” หมายความว่า “ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ ที่มีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยและอยู่ในความครอบครองหรือควบคุม
       ดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือ
       ที่เกี่ยวกับเอกชน ซึ่งมีการกำหนดให้มีชั้นความลับเป็น ชั้นลับ ชั้นลับมาก หรือ
       ชั้นลับที่สุด ตามระเบียบนี้โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
       และประโยชน์แห่งรัฐประกอบกัน” ดังนั้น ถึงแม้หน่วยงานของรัฐที่ครอบครองดูแล
       ข้อมูลข่าวสารนั้นจะนำมากำหนดชั้นความลับอีกก็ไม่อาจทำให้ข้อมูลข่าวสารนั้น
       เป็นข้อมูลข่าวสารลับได้จริง เพราะในทางข้อเท็จจริงข้อมูลข่าวสารนั้นได้รับ
       การเปิดเผยแล้ว เว้นแต่หน่วยงานของรัฐมีเหตุผลและความจำเป็นที่อาจแสดงได้ว่า ถึงแม้ข้อมูลข่าวสารนั้นจะเปิดเผยไปแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนด
       ชั้นความลับกับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวต่อไป
       ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารลับแล้วไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ
       หรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้รับผิดชอบในการกำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารหรือได้รับมอบอำนาจตามกฎหมาย หรือราชการส่วนภูมิภาค
       ที่ได้รับมอบหมาย (30) โดยมีการปรับชั้นความลับยกเลิกชั้นความลับของข้อมูล
       ข่าวสารลับนั้นแล้ว
       ๒.๒ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เป็นผู้มีคำสั่ง
       ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ เจ้าหน้าที่อาจใช้ดุลพินิจในการมีคำสั่งให้เปิดเผยหรือมิให้เปิดเผยก็ได้ เนื่องจากว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเหล่านั้นมีผลกระทบต่อความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัย
       ของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
       จะวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จึงควรเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับสูงเพียงพอที่จะมีวิจารณญาณและมีความรับผิดชอบได้ที่จะวินิจฉัยว่าข้อมูลข่าวสารใดควรเปิดเผยให้กับประชาชนผู้ขอ มาตรา ๒๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงบัญญัติให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีให้ออกกฎกระทรวงกำหนดระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้จะมีอำนาจเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ และให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นซึ่งใช้ดุลพินิจวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้นเป็นการส่วนตัว โดยได้มีการตรากฎกระทรวงฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๒) กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ แล้ว
       ไม่ต้องรับผิดหากเป็นการกระทำโดยสุจริต ดังต่อไปนี้ “ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการครู ข้าราชการรัฐสภา หรือข้าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้น และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๖ ขึ้นไป ข้าราชการทหารหรือข้าราชการตำรวจซึ่งมีหน้าที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้น และเป็นผู้ซึ่งมีชั้นยศตั้งแต่พันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี หรือพันตำรวจตรีขึ้นไป แล้วแต่กรณี ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ ซึ่งมีหน้าที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้น และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ชั้น
       ๒ ขึ้นไป ผู้บริหารท้องถิ่นหรือปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานสภาตำบล ซึ่งมีหน้าที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารแล้วแต่กรณี บุคคลหรือ
       คณะบุคคลซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
       ซึ่งมีหน้าที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้น และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่หัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานอิสระของรัฐ หรือผู้บริหารระดับเลขาธิการ ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งอื่น
       ที่มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกันของหน่วยงานอิสระของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานอิสระ
       ของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่ครอบครองหรือควบคุมดูแล
       ข้อมูลข่าวสารนั้น บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานขององค์กรควบคุม
       การประกอบวิชาชีพ หรือหัวหน้าสำนักงานขององค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ
       หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้น” เป็นต้น (31)
       ๓. หน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิด
       แม้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ครอบครอง หรือควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารและเป็นผู้อยู่ในระดับตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๒) แล้วก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น
       ไม่ต้องรับผิดหากเป็นการกระทำโดยสุจริต แต่การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       ของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวอาจเป็นการรอนสิทธิประโยชน์ของเอกชนบางประการ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ดังนั้น ย่อมต้องมีการเยียวยาความเสียหายให้กับเอกชนซึ่งได้รับผลกระทบดังกล่าว พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๐ วรรคสอง จึงบัญญัติให้หน่วยงานของรัฐ
       ยังต้องรับผิดชอบตามปกติ หากจะมีความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นแก่เอกชนจริง
       แม้เจ้าหน้าที่จะต้องไม่รับผิดชอบเป็นการส่วนตัวแต่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้เสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงอาจฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐได้
       ๔. กรณีมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
       เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณาคำขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว
       เห็นว่า ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ขอเนื่องจากเป็นข้อมูลข่าวสาร
       ตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ
       พ.ศ. ๒๕๔๐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแจ้งคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนผู้ขอทราบ และเนื่องจากคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องแจ้งสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ให้ผู้ขอทราบโดยผู้ขอนั้น
       อาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใน ๑๕ วัน
       นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร
       ของทางราชการ (32) และเหตุผลในการปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องให้เหตุผลระบุว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดและเพราะเหตุใดตามลักษณะของข้อมูลข่าวสารที่บัญญัติ
       อยู่ในมาตรา ๑๕ (๑) – (๖) เท่านั้น หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา ๑๔ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิเสธ
       การไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้วยเหตุผลอื่น เช่น เป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับของทางราชการ กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่แจ้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลา
       ในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น มีผลให้ระยะเวลาสำหรับ
       การอุทธรณ์ขยายเป็น ๑ ปี นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครองไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น เว้นแต่ได้มีการแจ้งใหม่ และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่า ๑ ปี (33)
       
       เชิงอรรถ
       13. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ “การควบคุมการใช้ดุลพินิจทางปกครองโดยองค์กรตุลาการ” ๖๐ ปี ดร. ปรีดิ์ เกษมทรัพย์ หน้า ๒๐๐
       14. เพิ่งอ้าง หน้า ๑๙๙
       15โปรดดูพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๑๗
       คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย
       16. ที่ สค.๑๖/๒๕๔๐
       17. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่น และการบังคับใช้กฎหมาย
       ที่ สค ๒๑/๒๕๔๓
       18. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย
       ที่ สค ๙/๒๕๔๘
       19. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๖๓/๒๕๔๘
       20. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาเศรษฐกิจ และการคลังของประเทศ ที่ ศค ๔/๒๕๔๕
       21. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศ และความมั่นคงของประเทศ ที่ ตม. ๑/๒๕๔๘
       22. โปรดดู พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖
       23. ปัจจุบัน คือ ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.๒๕๔๔
       24. หนังสือบันทึกข้อความสำนักนิติธรรม ส่วนงานกฎหมายและรัฐสภา ที่ นร. ๐๒๐๔/๑๖๓๗ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม
       ๒๕๔๒ เรื่อง มติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของเอกสารในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
       25. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๖ ในเรื่องแนวทางปฏิบัติในการปรับชั้นความลับสำหรับเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีเดิม (๑๖ เมษายน ๒๕๓๔) เรื่อง การปรับชั้นความลับและยกเลิกชั้นความลับ ซึ่งมอบให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาปรับชั้นและยกเลิกชั้นความลับ เรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติแล้วได้ตามความเหมาะสม
       26. พระราชบัญญัติข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๙ วรรคสอง ประกอบกับมาตรา ๑๑ วรรค ๕
       27. โปรดดูรายละเอียดในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการทำสำเนาได้จากประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การเรียกค่าธรรมเนียมการขอสำเนา หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารของราชการในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๓๔ง วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒
       28. ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง “การปรับชั้นความลับ
       ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจกำหนดชั้นความลับของหน่วยงานเจ้าของเรื่อง” วรรคห้า “การแก้ไขชั้นความลับ ให้ขีดฆ่าเครื่องหมายแสดง
       ชั้นความลับเดิมแล้วแสดงเครื่องหมายชั้นความลับที่กำหนดใหม่ (ถ้ามี) ไว้ใกล้กับเครื่องหมายแสดงชั้นความลับเดิมบนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว และให้จดแจ้งการปรับชั้นความลับนั้นไว้ในทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับด้วย ในกรณีที่เห็นสมควร หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะกำหนดให้จดแจ้งการปรับชั้นความลับไว้ที่หน้าแรกของเอกสารหรือที่แสดงชั้นความลับตามข้อ ๒๒ (๓) แล้วแต่กรณี”
       29. ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๔
       30. ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔
       ข้อ ๑๖ ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดชั้นความลับพร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบการกำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารลับนั้นด้วยว่าเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใด และเพราะเหตุใด ในการนี้อาจมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวได้
       ตามความจำเป็นให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือให้แก่ราชการส่วนภูมิภาค ในกรณีที่สามารถมอบอำนาจได้ตามกฎหมาย
       ข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง “การปรับชั้นความลับ ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจกำหนดชั้นความลับของหน่วยงานเจ้าของเรื่อง”
       31. โปรดดูรายละเอียด “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่ไม่ต้องรับผิดตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในราชกิจจานุเบกษา
       เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๖๔ ก่อนวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒
       32. โปรดดูพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๘
       33. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๐


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1417
เวลา 28 เมษายน 2567 13:51 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)