ครั้งที่ 228

20 ธันวาคม 2552 22:40 น.

       ครั้งที่ 228
       สำหรับวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2552 ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม 2553
       
       “ปีแห่งการท้าทายกฎหมาย”
       
       บทบรรณาธิการครั้งนี้เป็นบทบรรณาธิการครั้งสุดท้ายสำหรับปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเมื่อได้วิเคราะห์ทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีก็จะพบว่าปี พ.ศ. 2552 ยังคงเป็นปีที่ “ไม่มีอะไรดีขึ้น” ไปจากปี พ.ศ. 2551 ครับ
       ปี พ.ศ. 2551 อาจถือได้ว่าเป็นปีที่ “เลวร้ายที่สุด” อีกปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ว่าได้ มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นมากมายต่อเนื่องมาจากปี พ.ศ. 2550 และเป็นเหตุการณ์ที่ “ท้าทาย” กับทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเว้น ผมคงไม่ขอพูดถึงเรื่องทุกเรื่องที่ถูก “ท้าทาย” แต่อยากจะพูดถึงเพียงเรื่องของการท้าทาย “กฎหมาย” ครับ คงจำกันได้ว่าปี พ.ศ. 2550 เป็นปีแห่งสารพัด mob ผู้คนไม่เคารพต่อกฎหมายและวางตัวเป็นปฏิปักษ์กับกฎหมายอย่างชัดเจนและออกนอกหน้า เกิดการกระทำที่ “ท้าท้าย” กฎหมายด้วยการบุกเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินแห่งชาติทั้ง 2 สนามบิน ทำให้ประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่ภาวะ “รัฐที่ไร้อำนาจ” รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรกับกลุ่มบุคคลที่เข้าไปยึดสถานที่สำคัญเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้น เพียงแค่เรื่องดังกล่าวก็ทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแล้วครับ
       ต้นปี พ.ศ. 2552 เราได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงาน เป็นรัฐบาลที่ว่ากันว่าเกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันและความร่วมมือร่วมใจของหลาย ๆ ฝ่าย ความจริงแล้วเราได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 และรัฐบาลได้แถลงนโยบายไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ดังนั้น ที่ผ่านมาในช่วงเวลา 1 ปีของรัฐบาลที่เข้ามา “เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ” ก็เป็นที่น่าสนใจและน่าคิดตามว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศได้หรือไม่ ซึ่งในวันนี้ 1 ปี ที่ผ่านมา พวกเราก็คงประเมินกันได้แล้วว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศได้หรือไม่
       
นอกเหนือไปจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็น “ปัญหาร่วม” ของหลายๆประเทศ และปัญหา “การเมือง” ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะของประเทศแล้ว ปัญหาภายในประเทศที่ผมมองว่าเป็นวิกฤติของประเทศนั้นมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ วิกฤติเสื้อเหลือง - เสื้อแดง วิกฤติรัฐธรรมนูญ และวิกฤติของการบังคับใช้กฎหมายครับ แต่ก่อนที่จะไปพิจารณาถึงปัญหาวิกฤติของประเทศทั้งสาม คงก็ต้องขอกล่าวถึง “รูปแบบ” ของคณะรัฐมนตรีเสียก่อน เพราะรูปแบบของคณะรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่กำหนด “ภาวะความเป็นผู้นำ” ของนายกรัฐมนตรี ไม่เชื่อลองดูสมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลก็ได้ครับ จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียวและยังมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย จึงทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีภาวะความเป็นผู้นำสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคและกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม ด้วยเสียงที่ “ไม่มาก” ของพรรคประชาธิปัตย์จึงทำให้นายกรัฐมนตรีมีภาวะความเป็นผู้นำน้อย เพราะฉะนั้น จึงเกิดปัญหาขึ้นตลอดเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาไม่ว่าเป็นการตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ “ถูกฝาถูกตัว” ทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศและการนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตเป็นไปอย่างช้าๆ หรือการแต่งตั้งบุคคลให้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำได้ตามที่ตนเองต้องการ เช่น การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ด้วยรูปแบบของคณะรัฐมนตรีที่มาจาก “สัดส่วน” ของพรรคและกลุ่มการเมือง และไม่ได้มาจาก “ความเก่ง” ส่วนบุคคลของผู้มาเป็นัฐมนตรี จึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างมืออาชีพ รวมไปถึงการทำงานที่ไม่ประสานกันและเกิดข้อขัดแย้งขึ้นบ่อยครั้ง จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศไม่ได้ผลเท่าที่ควร
       ปัญหาวิกฤติของประเทศที่สำคัญที่สุดคือปัญหา “เสื้อเหลือง - เสื้อแดง” ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่มีทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เราคงต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเช่นนี้ต่อไปอีกนาน สังคมแห่งการแบ่งข้างกลายเป็นสังคมปกติในชีวิตของคนไทยไปแล้ว คุยกับใครก็ต้องระวังปากระวังคำไม่พูดพาดพิงถึงเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ผู้คนต่างอยู่ด้วยความระแวงและระวังถึงภัยที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการแบ่งฝ่ายที่ชัดเจน รัฐบาลเองก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เพราะรัฐบาลเองก็เป็นหนึ่งในการแบ่งฝ่ายเหมือนกัน สังเกตได้จากการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมามักจะให้ความสำคัญกับ “เสื้อแดง” อย่างมาก แค่เสื้อแดงบอกจะชุมนุมรัฐบาลก็เตรียมการต่าง ๆ ไว้มากมายแล้วครับ เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้จึงมองว่ารัฐบาล “อยู่คนละข้าง” กับเสื้อแดง ด้วยเหตุนี้เองที่ผมถึงได้กล่าวไปข้างต้นว่า ไม่มีทางแก้ไขปัญหาเสื้อเหลือง - เสื้อแดงในบ้านเราได้ เพราะรัฐบาล “เป็นเสียเอง” ครับ
       ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจับตามอง คงไม่ต้องกล่าวถึงประวัติอันพิศดารของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เอาเป็นว่าประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่ถูกตั้งขึ้นมาศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอเป็นประเด็นที่ “ไม่น่าสนใจ” สำหรับนักการเมืองเท่าไรนัก และนอกจากนี้ การใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพรรคการเมืองบางพรรคหรือนักการเมืองบางคน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเชื่องช้า และเมื่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านออกมาประกาศว่าจะไม่ร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นที่คณะกรรมาธิการเสนอก็ “เข้าทาง” ของผู้ที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การ “ตีปี๊บ” เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีมาตลอดปี 2552 เป็นการกระทำที่สูญเปล่าครับ 1 ปีผ่านไปก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้กลไกของรัฐสภาเป็นผู้ทำการศึกษา หรือเนื้อหาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าสนใจเลย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2552 ไม่มีทางเป็นไปได้ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ครับ
       เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมได้กล่าวถึงไปหลายครั้งแล้วในบทบรรณาธิการที่ผ่านๆมา ในวันนี้ ผมก็ยังมีความเห็นเช่นเดิมว่า รูปแบบของการศึกษาเนื้อหาข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปโดยใช้ “นักการเมือง” เป็นสิ่งที่ผิด!!! การใช้กลไกของรัฐสภาในการศึกษาไม่มีทางสำเร็จเพราะในรัฐสภาก็มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีการให้ความสำคัญกับประเด็นที่ผลกระทบโดยตรงต่อตนเองหรือต่อการดำเนินกิจกรรมของตนเองมากกว่าประโยชน์สาธารณะ จะเห็นได้จาก 6 ประเด็นที่คณะกรรมาธิการของรัฐสภาเสนอให้มีการแก้ไขเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐสภาและรัฐบาลเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของประเทศชาติ ประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของประชาชนเลย ดังนั้น แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นดังกล่าวได้ก็คงตอบคำถามไม่ได้ว่า “ประเทศชาติและประชาชนได้อะไรจากการแก้ไปรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น” ครับ
       มีข้อเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ข้อเรียกร้องก็คือข้อเรียกร้องนะครับ อยากจะฝากบอกผู้เรียกร้องไปด้วยว่า เรียกร้องกันมาเป็นปีแล้วแต่ทำไมถึงไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเสียที ก่อนที่เราจะบอกว่าของอย่างหนึ่งดีกว่าของอีกอย่างหนึ่งได้ เราคงต้องทำการเปรียบเทียบของทั้ง 2 อย่างก่อน เปรียบเทียบทั้งรูปแบบ เนื้อหาสาระ และประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นไปแล้วจากการใช้งาน เราถึงจะบอกว่าของชิ้นไหนดีกว่ากัน ฉันใดก็ฉันนั้น การพูดแต่เพียงว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เป็นสิ่งที่ง่าย แต่สังคมต้องการการพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมครับ
       ถ้าจะตั้งท่ากันใหม่ รัฐบาลควรจะตั้งคนกลางหรือมอบให้สถาบันกลางเข้ามาทำการศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับก่อนว่าฉบับไหน “น่าจะ” ดีกว่ากัน จากนั้น เมื่อตัดสินใจเลือกฉบับไหนแล้วก็มาดูกันต่อไปว่า จะแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนใดบ้าง เพื่อให้เราได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด ข้อเสนอของผมทำได้ไม่ยากหรอกครับ เพียงแต่ไม่มีใครอยากทำเท่านั้นเองเพราะหากผู้ศึกษาเป็นคนดี คนกลาง ข้อเสนอออกมาดีสำหรับประเทศชาติและประชาชน เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนั้น รับรองนักการเมืองคงต้องลำบากมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน อย่างนี้แล้วใครจะไปยอมให้แก้ครับ !!!
       วิกฤติสุดท้ายที่ผมจะขอกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ วิกฤตของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผมจะขอแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศและส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายกับต่างประเทศครับ
       ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามี 2 มาตรฐานจริง ๆ ดังที่กล่าวอ้างกันอยู่ แต่ผมคงไม่พูดถึงเรื่องนี้เพราะมีคนพูดกันมากแล้ว แต่ที่อยากจะพูดก็คือ เรามีกฎหมายมากมายเหลือเกิน แต่กลับไม่นำมาใช้ ลองศึกษาดูจากเหตุการณ์ของการชุมนุมเป็นตัวอย่าง เมื่อ “เสื้อแดง” เตรียมตัวที่จะชุมนุม รัฐบาลก็ประกาศใช้ “กฎหมายพิเศษ” เพื่อควบคุมการชุมนุมทันที ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายต่างๆ มากมายที่จะนำมาใช้กับการชุมนุมได้ถ้าเกิดปัญหาขึ้น แถมการกระทำดังกล่าวก็ยังมีเค้าว่าจะขัดกับสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนด้วย ในเมื่อรัฐบาล “เป็นเสียเอง” กับการบังคับใช้กฎหมาย แล้วเราจะอยู่กันอย่างมีสิทธิและเสรีภาพครบถ้วนได้อย่างไรครับ ยังมีควันหลงที่เกิดจากการชุมนุมอีกมากมายที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นหมัน เช่นการกล่าวร้ายหมิ่นประมาทผู้อื่นในระหว่างการชุมนุม เป็นต้น นึกอยากจะด่าก็ด่ากันไปแต่กว่าจะสั่งฟ้องได้เวลาก็ผ่านไปเป็นปีครับ!!! นอกจากนั้นแล้วในวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกรณียึดทำเนียบ ยึดสนามบิน และการจลาจลเมื่อช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเป็นเพียง “บางส่วน” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาจึงพอสรุปได้ว่า เรามีปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายซึ่งก็ส่งผลทำให้ประเทศเราต้องตกอยู่ในสภาพที่ “ไม่แน่นอน” และ “ไม่ปลอดภัย” ในสายตาของต่างชาติครับ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายกับต่างประเทศนั้น คงไม่ต้องพูดมากเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อไม่กี่วันมานี้เองที่ “เขมร” กล้า “ท้าทาย” ประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันซึ่งมีผลเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเรานะครับ!!!
       เราจะแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างไร คำตอบคงอยู่ที่ว่าเราต้องทำให้ระบบกฎหมายภายในประเทศของเรา “ศักดิ์สิทธิ์” ก่อน หากเราสามารถใช้กฎหมายจัดการแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และตรงไปตรงมา ต่างประเทศก็จะหันกลับมาเชื่อมั่นและยอมรับในระบบกฎหมายของเราไปเองครับ จริง ๆ แล้วสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต่างชาติ “อาจ” มองประเทศเราว่ามีปัญหาก็คือ “ตุลาการภิวัตน์” ที่คุยกันนักคุยกันหนาว่าเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง ต่างประเทศก็เลยมองว่าการตัดสินคดีบางคดีเกี่ยวโยงกับการเมืองทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องการเมืองไปหมด!!!
       ปัญหาวิกฤตของประเทศที่กล่าวไปข้างต้นยังจะคงเป็นปัญหาที่ “หนักหนาสาหัส” สำหรับประเทศไทยต่อไปในปี พ.ศ. 2553 ครับ
       จริง ๆ แล้วปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นปัญหาที่น่าจะสร้างผลกระทบให้กับประเทศอย่างมากในปี พ.ศ. 2553 นะครับ แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ไปกู้เงินมาเป็นแสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้สำเร็จหรือเปล่า เพราะไม่ว่าจะเป็นโครงการเช็คช่วยชาติ ต้นกล้าอาชีพ รวมไปถึงโครงการปลดหนี้ ก็เป็นโครงการระยะสั้นที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แค่ “ไม่กี่นาที” เองครับ การแก้ปัญหาระยะยาวคงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องรีบทำ และนอกจากนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจก็คือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น น่าแปลกใจที่รัฐบาลนี้มีหน้าที่หลักในการไล่ล่าทักษิณเหมือนกับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวยิวไล่ล่านาซี!!! ในขณะที่โครงการของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น ปลากระป๋องเน่า ชุมชนพอเพียง มีข่าวว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างมโหฬาร เรื่องกลับเงียบ จริง ๆ แล้วการไล่ล่าผู้ทุจริตในโครงการเหล่านี้ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ร่วมรัฐบาลด้วยกันน่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า และเป็นรูปธรรมมากกว่าการไล่ล่าทักษิณนะครับ
       เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมการสัมมนาทางวิชาการประจำปี ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “กฎหมายและการเปลี่ยนแปลงของโลก” ในงานดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “The Role of Court in the Development of Rule of Law in Thailand” ปาฐกถาดังกล่าวมีสาระที่น่าสนใจ ผมจึงได้ขอบทความดังกล่าวจาก ศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน มาลงเผยแพร่เป็นบทความในครั้งนี้ ผมขอกราบขอบพระคุณศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ และนอกจากนี้แล้ว เรายังมีบทความที่น่าสนใจมานำเสนออีก 3 บทความ บทความแรกเป็นตอนที่ 2 และเป็นตอนจบของบทความเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอเฉพาะราย" ของคุณสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองกลาง บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542เพิ่มเติม" ที่เขียนโดยคุณนิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร เป็นบทความที่สืบเนื่องจากบทความเรื่อง "ข้อสังเกตต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542”" ที่ได้ลงเผยแพร่ไปแล้วเมื่อสองสัปดาห์ก่อน บทความสุดท้ายคือบทความเรื่อง “สิทธิที่จะตาย (Right to Die)” โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       ผมขออวยพรให้ผู้ใช้บริการทุกคนมีความสุขความเจริญ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี พร้อมที่จะฟันฝ่าปี พ.ศ. 2553 ไปด้วยกันครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1418
เวลา 25 เมษายน 2567 02:51 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)