ครั้งที่ 238

10 พฤษภาคม 2553 00:56 น.

       ครั้งที่ 238
       สำหรับวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2553
       
       “รัฐที่ไร้อำนาจ”
       
       ผมมาเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale เมือง Brest ประเทศฝรั่งเศสได้สองสัปดาห์แล้วครับ


       อยู่ที่นี่แม้จะมีโอกาสติดตามข่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับรู้อะไรมาก เพราะหนังสือพิมพ์ต่างประเทศไม่ค่อยให้ความสำคัญกับปัญหาในบ้านเรานัก ที่พอจะได้รับรู้ข้อมูลอยู่บ้างก็จากโทรทัศน์ และเมื่อนายกรัฐมนตรีของไทยเสนอ “แผนปรองดองกู้วิกฤติชาติ” ก็เป็นข่าวพอสมควร จนทำให้ผมต้องขวนขวายหาคำสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีมาอ่านครับ
       ผมไม่ค่อยอยากวิพากษ์วิจารณ์แผนปรองดองกู้วิกฤติชาติเท่าไรนักเพราะสังคมของเรามี “คนเก่ง” อยู่เป็นจำนวนมากพอแล้ว เข้าใจว่ากว่าบทบรรณาธิการนี้จะออกเผยแพร่ ก็คงมีคนให้ความเห็นกันอยู่มากแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้รับทราบเนื้อหาของ “แผนปรองดองกู้วิกฤติชาติ” ก็อดนำมาคิดต่อไม่ได้ว่า แผนดังกล่าวจะแก้วิกฤติชาติได้จริงหรือ หรือจะทำให้ชาติวิกฤติมากขึ้นไปอีก คิดไปคิดมาก็เลยเขียนเรื่องนี้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ
       ผมคงไม่ต้องนำเอาประเด็นทั้ง 5 ประเด็นที่อยู่ใน “แผนปรองดองกู้วิกฤติชาติ” มานำเสนอในที่นี้ แต่จะขอแสดงความคิดเห็นเป็นรายประเด็นตามประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอไปแล้ว โดยในประเด็นแรก ที่ว่าจะต้องไม่ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่มากๆของสังคมไทย ที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือมีการนำเอาเรื่องความจงรักภักดีหรือเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้ในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า เรื่องดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการ “สร้างความชอบธรรม” ในการทำลายคนได้อย่างดีเยี่ยมและเห็นผลทันตา ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไมในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นตลอดเวลา ผมไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากนักเนื่องจากขณะนี้ผมยังอยู่ต่างประเทศ แต่เท่าที่ผมจำได้ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สถาบันกษัตริย์กับการเมืองแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก กลับมีความพยายามที่จะนำเอาสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องดูอื่นไกล สมัยที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็เคยกราบบังคมทูลขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานมาแทน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาแล้ว ตอนนั้นคง “ไม่คิด” นะครับว่าการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีเป็นการดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมาคณะรัฐประหารก็ยังต้องใช้ชื่อที่ต่อท้ายว่า “...อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ภายหลังการรัฐประหาร ก็ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกับประธานองคมนตรี ผมเข้าใจเอาเองว่านี่คือ การดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง เพราะอย่างที่ทราบกันอยู่ว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดและสามารถเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ การรัฐประหารย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ฯ เป็นอย่างมาก การเข้าเฝ้าในยามวิกาลและนำเสนอภาพข่าวเพื่อให้คนเข้าใจว่าคณะรัฐประหารได้รับการยอมรับ จึงเป็นการดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุดครับ !!! จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารเข้ามาทำงาน ข้อกล่าวอ้างเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เกิดขึ้นมากมายหลายกรณีจนนับไม่ถ้วน แม้กระทั่งในปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความรู้สึก “ต่อต้าน” พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคนเสื้อแดง ข้อกล่าวอ้างทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นการดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งนั้นครับ ล่าสุดที่รับไม่ได้จริงๆ ก็คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐสถานีหนึ่งพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า คำว่า “อำมาตย์” ที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำมาใช้ในการชุมนุมหมายถึงสถาบันกษัตริย์ ทั้งๆที่คำดังกล่าวเป็นคำโบราณ ใช้กันมานมนานหลายร้อยปีแล้วว่า หมายถึง “ลูกน้องของกษัตริย์” ครับ ก็เรียกได้ว่า พยายามกันทุกรูปแบบที่จะใช้เรื่องความจงรักภักดีหรือเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือในการทำลายคู่แข่งทางการเมือง ในขณะที่เรื่องที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่มีคนมอง เช่น ในบางกรณีที่มีการพูดถึงองคมนตรี ก็มักจะมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า องคมนตรีใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ การพูดถึงองคมนตรีทำให้กระทบกับสถาบันกษัตริย์ แต่การที่องคมนตรีเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เช่นกรณีม้าและจ๊อกกี้ สมัย พ.ต.ท. ทักษณิ ชินวัตร กรณีพูดรับรองว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนดี หรือแม้กระทั่งกรณีองคมนตรีปลูกบ้านในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายของประเทศ กลับเป็นสิ่งที่ไม่มีคนโจมตีว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะจริงๆแล้ว ตามความเข้าใจของผม องคมนตรีน่าจะเหมือน “พระ” ที่ต้องตัดขาดจากโลกปกติไปแล้ว เนื่องจากโดยสถานะของตัวเองนั้นไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆทั้งนั้นกับการเมืองหรือไม่ควรที่จะทำผิดกฎหมาย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ได้ เพราะฉะนั้น ในประเด็นแรกนี้เองที่หากนายกรัฐมนตรีตั้งใจว่าจะให้เกิดความปรองดองในชาติ รัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาล ควรจะหยุดนำเรื่องความจงรักภักดีมาใช้ในทางการเมืองเสียที ส่วนถ้าหากมีใครที่มีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลก็ต้องดำเนินการใน “ทางลับ” ใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการกับคนเหล่านั้นเป็นกรณีๆไปโดยไม่ต้องแหกปากตะโกนไปทั่วโลกเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้ครับ !!!
       ประเด็นที่สองที่เกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปประเทศไทยและรัฐสวัสดิการนั้น จริงๆแล้วผมได้พูดเรื่องพวกนี้ไปหลายครั้งแล้วในบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้ สิ่งที่ผมสงสัยในตอนนี้ก็คือ รัฐบาลมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เพราะหากจะต้องทำการปฏิรูปประเทศไทยทั้งระบบพร้อมกับปรับให้เป็นรัฐสวัสดิการ สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และกำหนดเรื่องโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดของระบบการเมืองการปกครองเอาไว้ ต้องทำการศึกษาระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนทุกระดับ ต้องปรับปรุงระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ เป็นกลาง ปลอดจากการชี้นำและปลอดสีเข้าไปทำงาน รวมทั้งระบบศาลก็ต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ส่วนเรื่องรัฐสวัสดิการก็คงต้องกำหนดประเภทของสวัสดิการทุกประเภทไว้ในรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งกำหนดประเภทของภาษีก้าวหน้าที่จะต้องเก็บเพิ่มเอาไว้เพื่อนำมาใช้ในการจัดให้มีสวัสดิการตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลจริงใจในประเด็นนี้ ก็ต้องนำเสนอรูปแบบขององค์กรหรือตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมูญใหม่ทั้งฉบับครับ แค่นี้ก็ยากแล้วนะครับที่จะหาคนเก่ง คนดีและเป็นกลางมาทำเรื่องดังกล่าวครับ ส่วนประเด็นที่สาม ที่พูดถึงเรื่องสื่อที่ถูกนำไปใช้ในทางการเมืองนั้น วันนี้เราเห็นได้ชัดเจนว่า คนเสื้อเหลืองก็เป็นเจ้าของสื่อ คนเสื้อแดงก็เป็นเจ้าของสื่อ ต่างฝ่ายต่างก็ใช้สื่อของตนให้ข้อมูลที่ตนอยากให้กับประชาชน ดูๆแล้วก็น่าจะ “ยุติธรรม” ดีนะครับ แต่ที่ดูแล้วไม่ยุติธรรมก็คือ สื่อของรัฐบาลที่ถูกใช้เพื่อโจมตีผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อันนี้แย่นะครับ เพราะสื่อของรัฐบาลใช้เงินภาษีอากรของประชาชนมาโจมตีประชาชน !!! ถ้าจะให้ความยุติธรรมจริงๆ เบื้องต้นก็คงต้องมีสื่อของตัวเองก่อนและใช้สื่อของตัวเองเพื่อให้ข้อมูลที่ตัวเองต้องการกับประชาชน ประชาชนเลือกได้ครับ รับรองได้ว่าคงมีคนเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลด้านเดียวที่สื่อแต่ละสื่อนำเสนอ ไม่ควรไปยุ่งกับสื่อของรัฐที่ควรเป็นกลางและนำเสนอข้อมูลทุกด้านอย่างตรงไปตรงมาให้กับประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจริงใจในประเด็นนี้ ก็ต้องเลิกยุ่งกับสื่อของรัฐ เลิกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารฝ่ายตรงข้ามเสียที แล้วก็ถ้าอยากจะมีกระบอกเสียงของตัวเองบ้าง ก็รีบๆทำเลยครับ !!!
       ในเรื่องที่สื่ เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมานั้น ผมเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่จะต้องตรวจสอบความจริงที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบข้อเท็จจริงกับความรับผิดชอบทางการเมือง เป็นคนละเรื่องกันและต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ในปัจจุบัน แม้การตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่รัฐบาลก็สามารถแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองได้ ผมได้เสนอไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วว่า ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพราะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ และไม่สามารถดูและรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งไม่สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ นายกรัฐมนตรีจึงต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออกนะครับ ลองเปรียบเทียบดูกับกรณีก่อนหน้านี้ก็ได้ที่รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งแจกปลากระป๋องเน่าให้ประชาชน ก็ยังแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง แต่กรณี 10 เมษายนนี้ ร้ายแรงกว่ากรณีปลากระป๋องเน่ามากมายนะครับ ก็ไม่ทราบจะว่าอย่างไรแล้วครับ สงสัยคงต้องศึกษาประวัติของรัฐมนตรีคนนั้นเปรียบเทียบกับของนายกรัฐมนตรีดูเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของความเป็นสุภาพบุรุษทางการเมืองกันซักหน่อยนะครับ !! ส่วนในเรื่องสุดท้ายนั้น ความไม่เป็นธรรมในสังคมที่เกิดขึ้นในบ้านเราคงแก้ไขไม่ได้ง่ายๆตราบใดก็ตามที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคง “เลือกข้าง” กันอย่างชัดเจนเช่นนี้ มันก็คงจะหลีกเลี่ยงที่จะ “เข้าข้าง” กันไม่ได้หรอกครับ การเข้าข้างจึงนำมาซึ่งเรื่อง “สองมาตรฐาน” ในเรื่องนี้ผมจะขอนำไปกล่าวไว้ในตอนท้ายของบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ
       ก็ไม่ทราบว่า 5 ประเด็นที่อยู่ในแผนปรองดองกู้วิกฤติชาติที่นายกรัฐมนตรีนำเสนอเพื่อให้เกิดความปรองดองในชาติ จะทำได้สำเร็จสมกับชื่อหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ
       ในส่วนตัวของผมนั้น ผมมองว่าแผนปรองดองกู้วิกฤติชาติคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เพราะ “ไม่มีอะไรเลย” !!! จริงๆครับ เป็นเพียงแนวคิดที่กว้างมากๆและไม่มีความชัดเจนในทุกๆเรื่อง ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าแผนดังกล่าวกลับจะส่งผลให้เพิ่มวิกฤติให้กับชาติมากขึ้นซ้ำไปหากแผนดังกล่าวไม่มีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและหากรัฐบาลยังมุ่งหน้าที่จะแก้ปัญหาในลักษณะเดิมๆและภายใต้พฤติกรรมแบบเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นแรกและประเด็นที่สามครับ และยิ่งหากจะมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้แลัว ยังไม่ได้จัดทำประเด็นที่สองและประเด็นที่ห้าอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นก็คงเป็นความสูญเปล่าของชาติอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่ยากกว่าที่นายกรัฐมนตรีเสนอในลักษณะกว้างๆก็คือ ทำอย่างไรจะให้สิ่งเหล่านั้นเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ครับ !!!
       ผมคงไม่ตอบ เพราะผมไม่ใช่ผู้นำเสนอ แต่สำหรับผมแล้ว ประเด็นทั้ง 5 ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีนำเสนอแม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังมีเรื่องที่สำคัญมากไปกว่านั้นที่จะต้องมีข้อยุติก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง หาไม่แล้วความวุ่นวายต้องเกิดขึ้นต่อไปไม่รู้จบครับ เรื่องสำคัญที่ผมจะกล่าวต่อไปก็คือ เรื่องที่เป็นคำถามสำคัญที่ว่าในปัจจุบัน อำนาจรัฐยังคงมีอยู่หรือไม่ และถ้าหากยังมีอยู่ อำนาจนั้นได้ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนหรือไม่
       
เพื่อที่จะตอบคำถามข้างต้น คงต้องมาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2549 ตามมาด้วยรัฐบาลของคุณสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลของคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลของคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปัจจุบัน ช่วงเวลา 4 ปีของ 4 รัฐบาลนี้ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวมได้ โดยกฎหมายที่ว่านี้ มีหลายระดับทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายธรรมดาและกฎหมายพิเศษ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงและกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่าที่เกิดขึ้น มีประชาชนทำผิดกฎหมายแต่ผู้รักษากฎหมายก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆได้ทั้งนั้น ที่ทำได้ก็คือปล่อยให้มีการทำผิดกฎหมายต่อไป สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมากและสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติด้วย รัฐบาลทั้ง 4 รัฐบาลที่ผ่านมาจึงอยู่ในสภาพของการไม่มีอำนาจและและไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวของตัวเองเลยครับ
       ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายได้ ทำอย่างไรจึงจะนำเอาระบบกฎหมายที่มีอยู่กลับมาใช้ได้อย่างปกติ ทำอย่างไรจึงจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการปกครองประเทศเหมือนกับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ จึงเป็นคำถามที่รัฐบาลก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ต้องทำให้มีคำตอบที่ชัดเจนก่อน หาไม่แล้ว แม้จะเลือกตั้งอีก 100 ครั้ง ก็จะมีผู้ไม่ยอมรับการเลือกตั้งออกมาชุมนุม คัดค้าน ความโกลาหลวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นอีกและรัฐบาลก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้เลย เช่นเดียวกับ 4 รัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งหากจะให้ความเห็นในเรื่องนี้นั้น ในเบื้องต้นผมคิดว่าเราคงต้องมาเริ่มต้นในการจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่ก่อนนั้น ก็คือ ต้องค้นหาสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรมในสังคมให้เจอโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่พูดกันมากเหลือเกินคือ “สองมาตรฐาน” ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องพร้อมใจกันทำให้เกิดความชัดเจน โดยไม่ต้องคำนึงถึงหรือยึดติดกับสิ่งใดทั้งสิ้น กล่าวคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการทั่วๆไป หรือศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่ในความรับผิดชอบ หากประสงค์จะช่วยแก้วิกฤติของชาติ ก็จะต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่า ข้อพิพาทต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของตนหรือของตนเอง ในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนไหน และคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยเมื่อใด เพราะในวันนี้ คำว่า “สองมาตรฐาน” ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางกฎหมายและรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรม คงต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่คดีที่กรรมการการเลือกตั้ง 3 คนถูกดำเนินคดีอยู่ในศาลเกี่ยวกับการหันคูหาเลือกตั้ง ไปจนถึงคดีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินดองเมืองและยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้ แม้เวลาล่วงเลยมานานแล้ว แต่เราก็ไม่ทราบกันเลยว่า อยู่ในขั้นตอนใดและจะจบเมื่อใด หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้คำตอบที่ชัดเจนว่าเรื่องดำเนินการไปถึงไหนและคาดว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด เรื่องสองมาตรฐานก็จะมีความชัดเจนขึ้นว่า ตกลงแล้วมีสองมาตรฐานหรือไม่ในสังคมไทยครับ เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ชัดเจนก่อน จากนั้น จึงค่อยมาดูกันต่อไปว่า ทำอย่างไรอำนาจรัฐจึงจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา อำนาจรัฐได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนและจับต้องไม่ได้ไปแล้วครับ ทุกคนมักจะอ้างว่าคนอื่นทำมาแล้วและรัฐบาลในช่วงนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันหากทำแบบเดียวกันก็ต้องทำได้เช่นกัน !!! สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้อำนาจรัฐหมดไปครับ
       ผมคงไม่มีคำตอบสำหรับคำถามทั้งหมด แต่จะขอฝากเอาไว้ว่า ในการปกครองประเทศ รัฐต้องมีอำนาจรัฐนะครับ ยามใดก็ตามที่คนไม่เคารพกฎหมาย ปัจเจกชนไม่เคารพประโยชน์สาธารณะ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้คนเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงเคารพต่อประโยชน์สาธารณะด้วย ซึ่งหน้าที่ของรัฐในที่นี้คงไม่ใช่การท่องคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด “ต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก” อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้นะครับ ทุกอย่างต้องมี “ขอบเขต” การชุมนุมปิดทางสาธารณะ 1 วัน อาจยอมกันได้ แต่ 1 เดือนนี้นานมากเกินไปแล้ว ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ก็หมายความว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับใช้กฎหมายและก็นำมาสู่การที่รัฐบาลไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศ คำตอบที่ง่ายที่สุดสำหรับรัฐบาลประเภทนี้ก็คือ “ต้องไป” ครับ เพราะหาไม่แล้ว หากยังอยู่ต่อแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ความเคยชินกับสถานการณ์ของการไม่เคารพต่อกฎหมายและการไม่เคารพต่อประโยชน์สาธารณะก็จะทำให้ประเทศของเรากลายเป็นประเทศที่ไร้กฎหมายและไร้กฎเกณฑ์และต้องประสบกับความวิบัติในที่สุดครับ
       จริงๆแล้ว ผมยังมีเรื่องที่อยากจะพูดต่ออีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหาของประเทศที่สำคัญที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ด้วยข้อจำกัดทางเนื้อที่ ก็คงต้องขอเก็บเอาไว้ต่อในโอกาสต่อไปครับ
       ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ขอฝากคำถามไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยนะครับว่า เมื่อไรจะพอเสียทีครับ กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ยังทำร้ายประเทศชาติและประชาชนคนไทยไม่พออีกหรือครับ !!! วันนี้คงต้องยอมรับแล้วนะครับว่า พลังมวลชนของกลุ่มคนเสื้อแดง “ยังไม่เพียงพอ” ที่จะ “คว่ำ” รัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นควรต้องยอมรับสภาพและ “ถอยกลับไปตั้งหลักใหม่” ได้แล้วครับ การรีบเร่งดำเนินการต่างๆ “ด้วยความเร็วสูง” โดยไม่ดู “ความพร้อม” ของตัวเอง ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงตกอยู่ในสภาพ “ตาบอด” เดินผิดทิศผิดทาง สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชนอื่นในการดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ จนกระทั่งในที่สุดก็ย้อนกลับมาทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงเองเดือดร้อน เสียแนวร่วมและถูกต่อต้านมากขึ้นไปเรื่อยๆ หากไม่ “รีบถอย” ก็ “ยากที่จะกลับมาใหม่” นะครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความ เรื่อง “ผู้ต้องหาก่อการร้ายมุ่งล้มสถาบันกับผู้ต้องหาศาลอาญาระหว่างประเทศ” ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “แด่ปัญญาชน โดยเฉพาะนักกฎหมาย ใน “อภิมหาพรรณนา” (Meta - narrative) กรณีศึกษาจาก “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ของคุณพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ในวันนี้มีการพูดถึงกันมากว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายที่น่าจับตามองคนหนึ่ง (หากผ่านมาแถวคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าลืมแวะมาพูดคุยกันบ้างนะครับ) ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2553
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1459
เวลา 19 เมษายน 2567 02:30 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)