หลักกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง (ตอนจบ)

1 สิงหาคม 2553 20:51 น.

       4. ขั้นตอนการพิจารณายุบพรรคการเมือง
       การประกาศว่าพรรคการเมืองใดมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคการเมืองเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ (Bundesverfassungsgericht) เท่านั้น(81) ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ ได้ดังนี้
       
       4.1 การริเริ่มคดียุบพรรคการเมือง
       สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ สภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์ หรือรัฐบาลแห่งสหพันธ์ต่างมีอำนาจร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประกาศว่าพรรคการเมืองใดมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ โดยต้องไม่คำนึงถึงเขตพื้นที่ที่พรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินการ ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลของมลรัฐใดมลรัฐหนึ่งจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมของพรรคเฉพาะแต่ในเขตมลรัฐนั้น ๆ เท่านั้น(82) คำว่ารัฐบาลของมลรัฐ ณ ที่นี้ หมายความรวมถึง รัฐสภาของมลรัฐด้วย(83) ส่วนบุคคลหรือองค์กรอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ไม่สามารถเสนอคำร้องได้(84) นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่องค์กรต่าง ๆ เหล่านี้เป็นองค์กรกลุ่ม (Collective Body) การเสนอคำร้องจึงต้องกระทำในรูปมติ (Resolution) ขององค์กร(85) โดยคำร้องต้องทำเป็นหนังสือ ระบุเหตุแห่งการร้อง และพยานหลักฐานที่อ้างอิงในคดี (86) เช่นในคดีล่าสุดที่มีการเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี ค.ศ. 2001 กรณีพรรคชาติประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี หรือ NPD นั้น รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และสภาที่ปรึกษาของสหพันธต่างก็ได้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ(87)
       ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาในชั้นนี้ก็คือ การจะยื่นคำร้องว่า พรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นอำนาจผูกพัน/หน้าที่ (Mandatory Power/Duty) หรือเป็นดุลพินิจ (Ermessen – Discretion) ขององค์กรต่าง ๆ ดังกล่าว ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็น “ดุลพินิจทางการเมือง” (Political Discretion) ขององค์กรนั้น ๆ ซึ่งศาลจะไม่เข้าไปควบคุมตรวจสอบ(88) อย่างไรก็ดี นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง กลับเห็นว่า องค์กรที่มีสิทธิริเริ่มคดี โดยเฉพาะรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพฤติการณ์ชัดแจ้งว่าพรรคการเมืองนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญและมีพยานหลักฐานแน่นหนาเพียงพอ มิเช่นนั้นแล้ว พรรคการเมืองดังกล่าวย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและอาจใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐเพื่อการทำลายคุณค่าพื้นฐานของรัฐธรรมนูญนั้นเสียเอง(89)
       
       4.2 การพิจารณารับคำร้อง
       
การดำเนินคดีเพื่อประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองหรือคดียุบพรรคนี้อยู่ในอำนาจขององค์คณะที่สองของศาลรัฐธรรมนูญ (Second Senate) ประกอบด้วยตุลาการ 8 ท่าน โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม(90) เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องแล้ว ศาลต้องแจ้งบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนพรรคการเมืองที่ถูกร้องให้ทราบถึงเหตุแห่งการร้อง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลดังกล่าวยื่นคำคัดค้านภายในเวลาที่ศาลกำหนด โดยปกติ ผู้แทนพรรคการเมืองนี้ได้แก่ คณะกรรมการบริหารพรรค ประธานพรรค หรือบุคคลอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับพรรค ในกรณีที่ไม่อาจระบุตัวบุคคลผู้รับผิดชอบได้ บุคคลดังกล่าวไม่อยู่หรือละทิ้งพรรคหลังจากที่ได้รับสำเนาคำร้องจากศาลแล้ว ให้บุคคลใด ๆ ก็ตามที่ดูแลบริหารงานของพรรคตามความเป็นจริง ณ ขณะเวลานั้น ทำหน้าที่ผู้แทนพรรคการเมืองดังกล่าวได้(91)
       ในชั้นนี้ ศาลอาจสั่งให้มีการค้นตัวบุคคลหรือเคหสถาน หรือแม้แต่จับกุมบุคคล ยึด หรืออายัดทรัพย์สินที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิพากษาคดีตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (Strafprozeßordnung) ได้(92) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเวลาที่ผู้แทนพรรคการเมืองได้รับแจ้งเหตุตามคำร้องดังกล่าว(93) จากนั้น ศาลต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า จะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ หากเห็นว่า คำร้องดังกล่าวไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ (inadmissible) เช่น ผู้ร้องมิใช่ผู้มีสิทธิริเริ่มคดี คำร้องดังกล่าวปราศจากเหตุผลอย่างสิ้นเชิง หรือผู้ถูกร้องมิใช่ “พรรคการเมือง” ในความหมายของรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง ดังเช่นกรณีพรรค FAP ที่ศาลได้วินิจฉัยว่าสิ้นสุดสถานะ “พรรคการเมือง” ไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่รัฐบาลแห่งสหพันธ์เสนอคำร้อง(94) ศาลจะสั่งปฏิเสธไม่พิจารณาคำร้องดังกล่าวก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องกระทำโดยมติเอกฉันท์(95)
       
       4.3 การสืบข้อเท็จจริงก่อนกระบวนพิจารณาหลัก
       เมื่อศาลสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาจสั่งให้มีการสืบข้อเท็จจริงโดยตุลาการท่านหนึ่งก่อนที่องค์คณะจะเริ่มต้นดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวาจา (Oral Hearing) ก็ได้ แต่ต้องกระทำโดยตุลาการที่มิได้อยู่ในองค์คณะที่สองซึ่งจะได้ทำการพิจารณาคดียุบพรรคต่อจากนั้นไป(96) ขั้นตอนนี้มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้การพิจารณาคดีเป็นไปแบบภาวะวิสัย (Objective) มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้(97)
       
       4.4 การกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว
       ในช่วงเวลาใด ๆ ก่อนหรือระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาหลัก เมื่อคู่ความหรือผู้มีสิทธิเป็นผู้มีส่วนร่วมในคดีมีคำขอ(98) ศาลรัฐธรรมนูญอาจกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวให้ใช้บังคับได้ หากศาลเห็นว่า มีกรณีที่จำเป็นต้องกระทำอย่างเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดแก่คู่ความหรือแก่สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างอื่น วิธีการคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลกำหนดนี้มีผลใช้บังคับไม่เกิน 6 เดือน เว้นแต่จะมีการขยายเวลาออกไปอีกด้วยคะแนนเสียงสองในสามขององค์คณะ(99) ตัวอย่างเช่น ในคดีพรรค SRP ศาลมีคำสั่งต่อเนื่องกันไปหลายครั้งห้ามมิให้พรรค SRP ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทางการเมืองตลอดการพิจารณาคดี(100) หรือในคดีพรรค NPD ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สำนักงานอัยการกรุงเบอร์ลินคืนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงให้แก่นาย Horst Mahler ทนายความที่แก้ต่างให้แก่พรรค NPD ซึ่งถูกศาลอาญาออกหมายจับในคดีละเมิดกฎหมายว่าด้วยการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech Law) เพื่อคุ้มครองสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมของพรรค NPD(101)
       
       4.5 การดำเนินกระบวนพิจารณาหลัก
       ศาลมีหน้าที่ค้นหาความจริงโดยการไต่สวน และเพื่อประโยชน์ในการค้นหาความจริงแห่งคดี ศาลมีอำนาจกำหนดว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดควรนำเข้าสู่การพิจารณา โดยไม่ต้องผูกพันอยู่กับคำร้องของผู้มีส่วนร่วมในคดี(102) “นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังอาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอื่นได้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วดังกล่าวจะต้องได้มาในกระบวนวิธีพิจารณาที่ศาลเป็นผู้ค้นหาความจริงตามหน้าที่ (von Amts wegen)”(103) โดยศาลมีอำนาจระงับการดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นการชั่วคราวเพื่อรอคำพิพากษาของศาลอื่นซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้
       อนึ่ง การที่ศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวาจาเท่ากับเป็นการบังคับให้ศาลต้องออกนั่งพิจารณาคดี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมในคดีสามารถให้การและแถลงข้อความต่าง ๆ ได้ เว้นแต่ผู้มีส่วนร่วมทุกคนจะสละการดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวาจา(104) อย่างไรก็ดี ทางปฏิบัติที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญถือตามข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลอื่นและนำมาใช้เป็นฐานในการวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง(105) และศาลก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวาจาคดียุบพรรคทุกคดีที่ขึ้นสู่ศาล(106)
       
       4.6 การประชุมปรึกษาเพื่อลงมติและทำคำวินิจฉัย
       
ในการประชุมปรึกษาเพื่อลงมติและทำคำวินิจฉัยนั้น ต้องมีตุลาการอย่างน้อย 6 ท่านจากตุลาการในองค์คณะที่มีทั้งหมด 8 ท่านมาประชุม จึงจะครบองค์ประชุมและสามารถดำเนินการประชุมได้(107) ทั้งนี้ ต้องเป็นตุลาการที่ได้พิจารณาคดีดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นจึงจะมีสิทธิอยู่ในที่ประชุม และด้วยเหตุที่คดีการประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองหรือคดียุบพรรคที่เคยขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 คดี ล้วนแล้วแต่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวาจา ดังนั้น เฉพาะแต่ตุลาการท่านที่ออกนั่งพิจารณาเท่านั้นที่จะมีสิทธิประชุมปรึกษาชี้ขาดคดี และในกรณีที่จำนวนตุลาการเหลืออยู่ไม่พอที่จะประชุม จะต้องเรียกตุลาการจากอีกองค์คณะหนึ่งมาเสริม และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยวาจาตั้งแต่ต้นใหม่(108)
       ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่มีหลายประเด็น การลงมติต้องกระทำไปทีละประเด็นเป็นลำดับ โดยเริ่มจากประเด็นเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาเช่น คำร้องที่ยื่นมายังศาลนั้นเสนอโดยผู้มีสิทธิริเริ่มคดีโดยถูกต้องหรือไม่ เป็นคดีที่มีการฟ้องซ้ำหรือไม่ จากนั้น จึงจะวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี(109) เริ่มต้นจาก
       (ก) ข้อเท็จจริงตามคำร้องและข้อเท็จจริงที่ได้ในทางพิจารณารับฟังได้เป็นที่ยุติเช่นไร ซึ่งอาจมีการลงมติวินิจฉัยประเด็นย่อยเป็นรายประเด็นไป
       (ข) เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของพรรคและพฤติการณ์หลาย ๆ อย่างของบรรดาสมาชิกของพรรคการเมืองผู้ถูกร้องมีลักษณะเข้าข่ายการพยายามล้มล้างหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือไม่
       (ค) หากศาลเห็นจริงเช่นนั้น ศาลต้องลงมติต่อไปว่าจะประกาศให้พรรคการเมืองหรือเฉพาะแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดของพรรคการเมืองนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ จำกัดไว้เฉพาะแต่กรณีที่ส่วนดังกล่าวมีอิสระทั้งในทางกฎหมายและในเชิงโครงสร้างแยกออกจากพรรคการเมืองนั้นได้เท่านั้น ในการนี้ ศาลต้องสั่งยุบพรรคการเมืองหรือส่วนของพรรคการเมืองดังกล่าวด้วย(110)
       จากนั้นท้ายที่สุด ศาลจะลงมติว่า (ง) จะให้ยึดทรัพย์สินของพรรคการเมืองดังกล่าวหรือไม่ พร้อม ๆ กับการสั่งห้ามมิให้การจัดตั้งหรือการใช้พรรคการเมืองอื่นทดแทนพรรคที่ถูกยุบไปแล้วในคำวินิจฉัยของศาลด้วย(111)
       อนึ่ง เนื่องจากกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่า การลงมติทุกขั้นตอนในการดำเนินคดียุบพรรคการเมือง(112) หากเป็นวินิจฉัยชี้ขาดในลักษณะที่มีผลเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง มติดังกล่าวต้องอาศัยเสียงข้างมากพิเศษ (Qualified Majority) คือ มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนตุลาการทั้งหมดในองค์คณะ ซึ่งเท่ากับอย่างน้อยต้องได้ 6 เสียงจากทั้งหมด 8 เสียง เงื่อนไขคะแนนเสียงข้อนี้ไม่จำกัดเฉพาะการลงมติในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีเท่านั้น หากแต่รวมถึงการลงมติในประเด็นเกี่ยวกับวิธีพิจารณาด้วย ดังกรณีตัวอย่างล่าสุดคือ ในคดีพรรค NPD นั้น ตุลาการในองค์คณะมีฉันทามติร่วมกันว่า ในกรณีที่พบเหตุบกพร่องร้ายแรงเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(113) และพรรคการเมืองผู้ถูกร้องมีคำขอให้ยุติการพิจารณาคดี เช่นนี้ ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดียุบพรรคต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อ มีคะแนนเสียงเห็นชอบสองในสามเท่านั้น(114)
       ในคดีพรรค NPD นี้ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่นำไปใช้เพื่อพิสูจน์เหตุยุบพรรคมาจากสายข่าว (V-Mann – Intelligent Sources) ซึ่งได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรจากสำนักงานพิทักษ์รัฐธรรมนูญทั้งระดับสหพันธรัฐและระดับมลรัฐ(115) สายข่าวนี้มีหลายสิบคน คิดเป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนกรรมการบริหารพรรคส่วนกลางระดับสหพันธรัฐและกรรมการบริหารสาขาพรรคระดับมลรัฐจำนวน 16 แห่ง ส่งผลทำให้มีข้อบกพร่องในเชิงวิธีพิจารณาหลายประการ(116) ประเด็นแรกคือ ข้อสงสัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานจากสายข่าวดังกล่าว ประเด็นที่สอง เรื่องความเที่ยงธรรมในการดำเนินคดี กล่าวคือ แม้ภายหลังจากที่มีการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว สายข่าวดังกล่าวยังคงดำรงตำแหน่งบริหารในพรรคและให้ข่าวแก่ทางการเรื่อยมา และมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการส่งข่าวเกี่ยวกับแนวทางในการต่อสู้คดีของพรรค NDP ให้รัฐบาลผู้ร้องได้รับทราบ และประเด็นต่อมาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน เพราะไม่อาจจำแนกได้แน่ชัดว่า คำพูดหรือการกระทำของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อพิสูจน์เหตุยุบพรรคนั้น เป็นคำพูดหรือการกระทำของสายข่าวเองหรือไม่ หรือเป็นผลจากการยุยงของสายข่าวหรือไม่ พยานหลักฐานจึงน่าจะมีน้ำหนักอ่อนมาก และประเด็นสุดท้าย ภาครัฐได้ปฎิเสธไม่ยอมเปิดเผยตัวตนของสายข่าว ซึ่งต้องด้วยข้อสงสัยว่าเท่ากับเป็นการปฏิเสธสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ พรรค NPD ผู้ถูกร้องจึงได้ยื่นคำขอให้ศาลยุติการดำเนินกระบวนพิจารณา ในการนี้ ตุลาการเสียงข้างมาก 4 ท่านเห็นควรให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ฝ่ายข้างน้อย 3 ท่านเห็นควรให้ยุติการพิจารณา แต่ด้วยเงื่อนไขคะแนนเสียงสองในสาม การดำเนินคดีดังกล่าวจึงต้องยุติลง(117)
       
       4.7 การขอให้ศาลพิจารณาใหม่
       
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีผลเป็นเด็ดขาดผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กรทั้งระดับสหพันธรัฐและระดับมลรัฐ(118) อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาข้อเท็จจริงตามคำร้องแล้วจึงสั่งปฏิเสธไม่รับคำร้องไว้พิจารณา หรือรับคำร้องไว้พิจารณาแต่กลับมิได้วินิจฉัยว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมีเป้าหมายหรือการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือเป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ว โดยหลัก ย่อมไม่อาจมีการเสนอคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นอีกได้ เว้นแต่เป็นคำร้องที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งข้อเท็จจริงใหม่(119)
       
       4.8 การบังคับตามคำวินิจฉัย(120)
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พรรคการเมืองหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพรรคการเมืองไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคหรือส่วนของพรรคดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลมลรัฐต้องใช้มาตรการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลและตามวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเพิ่มเติม เพื่อการนี้ ให้องค์กรสูงสุดในมลรัฐหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจเต็มที่ในการออกคำสั่งแก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่มลรัฐผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสาธารณะ ในกรณีที่พรรคการเมืองหรือส่วนของพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินการในพื้นที่ที่ครอบคลุมมากกว่าหนึ่งมลรัฐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์กำหนดแนวทางปฏิบัติ (Directive) ใด ๆ อันจำเป็นเพื่อให้การบังคับตามคำวินิจฉัยของศาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ หากศาลสั่งให้ยึดทรัพย์ของพรรคการเมืองด้วย ก็ให้นำบทบัญญัติมาตรา 10 ถึงมาตรา 13 ของกฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz - Act on Associations) มาใช้บังคับโดยอนุโลม(121)
       อย่างไรก็ดี เพราะเหตุที่มาตรการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำสั่งทางปกครองประเภทหนึ่งจึงอาจมีการร้องคัดค้านหรือฟ้องเพิกถอนการกำหนดมาตรการบังคับดังกล่าวต่อศาลปกครองได้ กฎหมายศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์จึงบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวย่อมไม่มีผลเป็นการทุเลาการบังคับ และในกรณีที่การพิจารณาของศาลปกครองเกี่ยวข้องกับประเด็นพื้นฐานสำคัญเพื่อการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลปกครองหยุดการพิจารณาคดีดังกล่าว และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ในการนี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านที่เกี่ยวข้องกับลักษณะพฤติการณ์ของมาตรการบังคับพิเศษที่ศาลได้กำหนดไว้ก่อนหน้านั้นให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติไปพร้อม ๆ กับประเด็นดังกล่าวด้วย(122)
       อนึ่ง การฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลหรือมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลถือเป็นความผิดตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน (Strafgesetzbuch)
       
       5. ผลของการสั่งยุบพรรคการเมือง
       

       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์พิพากษาว่า พรรคการเมืองมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นแล้ว คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมส่งผลทางกฎหมายดังนี้
       
       5.1 สถานะ “พรรคการเมือง” สิ้นสุดลง
       
สถานะความเป็น “พรรคการเมือง” ของพรรคดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลงโดยผลแห่งกฎหมาย (Gesetzeskraft / Ipso Jure – by statutory force) นับแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ(123) ซึ่งจะมาพร้อมกับการสั่งยุบพรรคการเมืองหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในพรรคการเมือง และการห้ามการจัดตั้งหรือใช้องค์กรอื่นแทนที่พรรคหรือส่วนของพรรคที่ถูกยุบไป และโดยผลแห่งคำวินิจฉัย พรรคการเมืองดังกล่าวจะไม่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจากรัฐอีกต่อไป(124) ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินของพรรคการเมืองนั้นด้วย ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นของรัฐบาลแห่งสหพันธ์ หรือหากพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินการในเขตมลรัฐใดมลรัฐหนึ่งแต่เพียงมลรัฐเดียวย่อมตกเป็นของรัฐบาลแห่งมลรัฐนั้น โดยรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต้องนำทรัพย์สินที่ริบได้ไปใช้เพื่อการสาธารณกุศล(125)
       อนึ่ง ในคดีพรรค SRP และ KPD ที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ศาลได้สั่งยุบพรรคการเมืองและสาขาของพรรคดังกล่าวทั้งหมด และให้ริบทรัพย์สินของพรรคตกเป็นของรัฐบาลแห่งสหพันธ์(126)
       
       5.2 การห้ามมิให้มีพรรคการเมืองอื่นแทนที่พรรคที่ถูกยุบไป
       กฎหมายกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามมิให้มีการจัดตั้งหรือใช้องค์กรอื่นแทนที่พรรคการเมืองที่ถูกยุบไป(127) โดยในการพิจารณาว่า พรรคการเมืองหรือองค์อื่นใดมีลักษณะเป็นองค์กรแทนที่ (Ersatz / Substitute Organization) หรือไม่นั้น จะพิเคราะห์จากอุดมการณ์ เป้าหมาย และกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือองค์กรนั้น ๆ และจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ของสมาชิก หากองค์กรแทนที่เป็นพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค หรือเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็น ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์หรือในสภามลรัฐ กรณีดังกล่าวจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ โดยนำกระบวนการยุบพรรคการเมืองในกรณีปกตินับแต่ขั้นตอนการริเริ่มเสนอคำร้องไปจนถึงขั้นตอนการบังคับคดีมาใช้โดยอนุโลม(128) ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงพรรคการเมืองเดียวคือ พรรค KPS (Kommunistische Partei Saar – Saarland Communist Party) ที่ถูกยุบตามกระบวนการนี้ เนื่องจากเป็นพรรคที่เข้ามาแทนที่พรรค KPD ซึ่งถืออุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน แม้ว่า ณ ขณะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค KPD ไปนั้น ดินแดนมลรัฐ Saarland ที่พรรคดังกล่าวตั้งอยู่ยังไม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเลยก็ตาม(129)
       อย่างไรก็ดี หากเป็นพรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นหรือเป็นองค์กรอื่นที่อยู่ภายใต้บทนิยามคำว่า “สมาคม” ตามกฎหมายว่าด้วยสมาคม(130) อันได้แก่ (ก) พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นภายหลังวันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคต้นแบบดั้งเดิม (Original Party) และมิได้มี ส.ส. ในสภา(131) (ข) องค์กรอื่น ๆ ที่ถือเป็น ”สมาคม” ตามกฎหมายสมาคม และ (ค) พรรคการเมืองที่สูญเสียสถานะความเป็น “พรรคการเมือง” ไปแล้ว(132) แต่ยังมีลักษณะตามข้อ (ข) ก็จะนำกฎหมายว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับกับการยุบพรรคการเมืองหรือองค์กรดังกล่าวโดยอนุโลม กรณีเช่นนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์หรือมลรัฐ แล้วแต่กรณี(133)
       ตัวอย่างเช่น พรรคชาตินิยมหัวรุนแรง (National Offensive – Nationale Offensive) หรือพรรค NO ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคนาซีใหม่ (neo-Nazi) ตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1990 มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ เนรเทศคนต่างด้าว และสนับสนุนแนวคิดเผ่าพันธุ์อารยันอันบริสุทธิ์ (Pure Aryan Blood) ซึ่งรังเกียจคนต่างเผ่าพันธุ์ (Xenophobia) และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) มีหัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคหลายคนเป็นผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาการดำเนินการต่อไปซึ่งพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้พรรคได้ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งมลรัฐ Baden-Württemberg ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1992 แต่ก็ไม่ได้ ส.ส. เพราะได้คะแนนเสียงเพียงร้อยกว่าเสียง เช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะตาม (ก) ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์จึงสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายสมาคมสั่งยุบพรรค NO ได้(134)
       
       5.3 สมาชิกภาพของ ส.ส. และสมาชิกสภาทุกระดับที่สังกัดพรรคการเมืองอาจสิ้นสุดลง
       ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้วางบรรทัดฐานไว้ในคดียุบพรรค SRP(135) เมื่อปี ค.ศ. 1952 ว่า เมื่อศาลประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองใดแล้ว พรรคการเมืองนั้นย่อมสูญสิ้นอำนาจรัฐในกลไกรัฐสภาที่พรรคได้รับมาจากประชาชน (Parliamentary Mandate) กล่าวคือ ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นทั้งในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์และในสภาของมลรัฐต้องสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามไปด้วย โดยศาลอธิบายว่า “ลำพังเพียงแค่การยุบพรรค แต่อุดมการณ์ของพรรคยังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนได้ ย่อมมิใช่การบังคับตามคำวินิจฉัยของศาลอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขจัดอุดมการณ์ดังกล่าว ออกจากกระบวนการสร้างเจตจำนงทางการเมือง”(136) “มิเช่นนั้น พวกเขา [ส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบไป – เพิ่มโดยผู้วิจัย] จะอยู่ในสถานะที่สามารถทำงานต่อไปเพื่อทำให้เป้าหมายอันชั่วร้ายของพรรคกลับกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้” (137) นี่คือเหตุผลในเชิงสิทธิป้องกันตนเองของระบอบประชาธิปไตย (Right to Democratic Self-defence)(138)
       ส่วนข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหลักความเป็นผู้แทนของปวงชน (The Principle of Representation – Repräsentationsprinzip) ที่ว่า ส.ส. ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นผู้แทนของประชาชนทั้งปวง และไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใด(139) และเมื่อ ส.ส. ได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ย่อมเป็นอิสระจากพรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัด(140) กลับมิได้รับการยอมรับจากศาล ด้วยเหตุผลว่า หลักการดังกล่าวไม่รวมถึงผู้แทนที่มาจากพรรคการเมืองที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคการเมืองดังกล่าวไม่มีสิทธิที่จะส่งตัวแทนเข้าสู่การเลือกตั้งอยู่แล้วมาตั้งแต่ต้น แม้ว่าประชาชนจะเลือกตั้งบุคคลนั้น ๆ ให้เป็น ส.ส. ก็ตาม แต่การให้ ส.ส. ดังกล่าวพ้นสมาชิกภาพก็หาได้ละเมิดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่เลือกบุคคลผู้นั้นแต่ประการใดไม่ เพราะแม้แต่ประชาชนเองก็มิอาจใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งรวมทั้งสิทธิเลือกตั้งในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยได้(141) ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐกำหนดเหตุแห่งการสิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุข้อนี้ไว้เป็นการเฉพาะก็ตาม แต่การสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะเหตุที่พรรคการเมืองที่ผู้นั้นสังกัดถูกประกาศว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็อนุมานได้โดยตรงจากความในมาตรา 21 (2) ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้(142)
       ด้วยเหตุนี้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งโดยการเสนอชื่อลงสมัครในนามของพรรค SRP จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง และแม้ต่อมาได้ลาออกจากพรรค SRP แล้ว แต่เมื่อสถานะความเป็นผู้แทนได้มาในนามของพรรค SRP สมาชิกภาพ ส.ส. ก็ไม่อาจมีอยู่ต่อไปได้ และยิ่งไปกว่านั้น สำหรับ ส.ส. ผู้ที่ ณ วันเลือกตั้งไม่ได้สังกัดพรรค SRP แต่ภายหลังได้เข้าเป็นสมาชิกพรรค หากยังคงดำรงสถานะสมาชิกพรรคดังกล่าวอยู่จนถึงขณะเวลาที่มีการเสนอคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรค ส.ส. ผู้นั้นก็ย่อมต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย(143) อย่างไรก็ดี ผลที่ตามมาจากการยุบพรรคในข้อนี้มีลักษณะเป็นการทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงกรณีหรือตัวบุคคล ดังนั้น การปรับใช้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ศาลกำหนดไว้นี้ให้มีผลเป็นการเฉพาะรายกับ ส.ส. ผู้หนึ่งผู้ใดที่เกี่ยวพันกับพรรค SRP จึงเป็นเรื่องที่องค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะต้องไปพิเคราะห์ข้อเท็จจริงเฉพาะรายอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีการลาออกก่อนศาลจะมีคำพิพากษา จะต้องพิเคราะห์ลักษณะความเกี่ยวพันของบุคคลนั้นกับพรรค SRP โดยละเอียด เพื่อประเมินว่า การแสดงเจตนาลาออกดังกล่าวเป็นเพียงพฤติกรรมอำพรางหรือไม่(144)
       อนึ่ง ณ ปัจจุบัน กฎหมายเลือกตั้งสหพันธ์และกฎหมายเลือกตั้งยุโรปจึงกำหนดให้ การประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและที่มาจากแบบสัดส่วน(145) และสมาชิกรัฐสภายุโรปที่มาจากเขตเลือกตั้งในประเทศเยอรมนี(146) ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองดังกล่าว สิ้นสุดลง หากสมาชิกสภาผู้นั้นยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดช่วงเวลาที่มีการเสนอคำร้องไปยังศาลจนถึงเวลาที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าว(147) ทั้งนี้ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะมนตรีอาวุโสประจำสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (The Council of Elders of the Bundestag – Der Ältestenrat aus dem Bundestag) วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ผู้หนึ่งผู้ใดจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าวหรือไม่เป็นรายกรณี ๆ ไป(148)
       เมื่อคณะมนตรีอาวุโสตัดสินให้สมาชิกผู้ใดพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. แล้ว คำตัดสินดังกล่าวย่อมมีผลในทันที(149) โดยที่สมาชิกผู้นั้นมีเวลา 2 สัปดาห์นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำตัดสินที่จะร้องคัดค้านต่อสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ตามกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้ง(150) และยังอาจอุทธรณ์คำตัดสินของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้อีกชั้นหนึ่งด้วย(151)
       อนึ่ง ในส่วนของมลรัฐนั้น กฎหมายเลือกตั้งของมลรัฐทั้ง 16 แห่งล้วนแล้วแต่บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันกับกฎหมายเลือกตั้งของสหพันธ์ดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการ เช่นเดียวกับสภาท้องถิ่นในมลรัฐต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า สมาชิกพรรค SRP ที่เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่พ้นจากตำแหน่งโดยผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ(152) แต่ฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐทั้ง 16 มลรัฐต่างก็เห็นพ้องว่า สมควรจะให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญพ้นจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปด้วยเช่นกัน(153)
       
       5.4 บัญชีรายชื่อและสถานะผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคการเมืองย่อมสิ้นสุดลง
       
เมื่อพรรคการเมืองใดถูกยุบไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะไม่มีการเลื่อนบุคคลในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นขึ้นมาเป็น ส.ส. ทั้งระดับสหพันธ์และมลรัฐ สมาชิกรัฐสภายุโรป และสมาชิกสภาท้องถิ่น(154) เพราะบัญชีรายชื่อดังกล่าวย่อมสิ้นสภาพลงตามไปด้วยโดยปริยาย และโดยตรรกะเดียวกัน ผู้วิจัยเห็นว่า หากการยุบพรรคเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองและสถานะผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เสนอชื่อโดยพรรคการเมืองนั้น ก็ย่อมสิ้นสภาพด้วย(155)
       
       5.5 การยุบพรรคมิได้มีผลเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของกรรมการและสมาชิกพรรคการเมือง
       ในคดียุบพรรค SRP ศาลรัฐธรรมนูญวางหลักไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลย่อมมีผลกระทบกระเทือนอำนาจที่ผู้แทนได้รับมาจากประชาชน (Parliamentary Mandate) หรือสถานะของ ส.ส. ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปเท่านั้น(156) ส่วนจะมีผลทางกฎหมายอื่นเกิดขึ้นแก่บรรดากรรมการบริหารและสมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าวหรือไม่ ย่อมเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะไปกำหนด อีกทั้งยังอธิบายเปรียบเทียบการเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐาน (Forfeiture of Basic Rights) ของบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนเพื่อล้มล้างหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยตามมาตรา 18 ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 39 ของกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ด้วยว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐานสูญเสียสิทธิเลือกตั้งและสิทธิที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งตามไปด้วย(157) แต่สำหรับการสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. โดยผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลที่สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น หาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิมิให้บุคคลดังกล่าวลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกแต่อย่างใดไม่(158) ดังนั้น จึงต้องถือว่า การยุบพรรคมิได้มีผลเป็นการตัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของกรรมการและสมาชิกพรรคการเมืองนั้น
       อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาบทบัญญัติกฎหมายเลือกตั้งสหพันธ์กลับพบข้อยกเว้นหลักการข้างต้น กล่าวคือ บุคคลผู้ที่เคยเป็น ส.ส. ในนามของพรรคหรือเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไปตามคำตัดสินของคณะมนตรีอาวุโสประจำสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ ย่อมไม่มีสิทธิลงสมัครเฉพาะในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ว่างลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการยุบพรรคการเมืองดังกล่าว(159) นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่กรรมการหรือสมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าวอาจถูกดำเนินคดีเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งรวมถึงสิทธิทางการเมืองได้ โดยต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจกระทำก่อนหรือหลังจากที่ศาลสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นแล้วก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิเคราะห์เฉพาะลักษณะพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำของกรรมการและสมาชิกพรรคผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการเฉพาะราย อาทิ การฟ้องเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐานของรองประธานพรรคนาซี SRP ในระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดียุบพรรค ซึ่งหลายปีต่อมา ศาลก็ได้ตัดสินยกฟ้องเพราะพฤติการณ์ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า บุคคลดังกล่าวยังคงใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญต่อไปอีก หลังจากที่ศาลสั่งยุบพรรคดังกล่าวแล้ว(160)
       
       5.6 การห้ามมิให้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ อันเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองใดแล้ว นับตั้งแต่ขณะเวลานั้นเป็นต้นไป บุคคลใด ๆ ที่ยังคงข้องเกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมืองนั้นต่อไป(161) ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้าสาย ผู้สนับสนุน หรือสมาชิกพรรคย่อมมีความผิดตามกฎหมาย เว้นแต่ได้ให้ความร่วมมือกับทางการในการยับยั้งการดำรงอยู่ต่อไปของพรรคการเมืองดังกล่าว(162) เช่นที่เคยมีการดำเนินคดีแก่ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกหรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์นับหมื่นคนหลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค KPD ในปี ค.ศ. 1956(163) ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังห้ามบุคคลใด ๆ มิให้โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป(164) โดยกฎหมายมุ่งเป้าไปที่พรรคนาซีโดยเฉพาะ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า ส่งออก เก็บรักษา หรือแจกจ่ายเครื่องหมายของพรรคการเมืองนั้น ๆ ให้แก่ผู้อื่น หรือใช้เครื่องหมายดังกล่าวในการประชุมหรือในงานเขียน โดยห้ามเครื่องหมายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธง ตราสัญลักษณ์สวัสดิกะ ชุดเครื่องแบบ คำขวัญ คำทักทาย และสิ่งอื่นที่สื่อความในทำนองเดียวกัน เว้นแต่เป็นการให้ความรู้แก่พลเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงเป้าหมายอันมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ การวิจัย การสอน การรายงานข่าวสถานการณ์ปัจจุบัน หรือเพื่อการอย่างอื่นในทำนองเดียวกัน(165)
       
       6. ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการยุบพรรคการเมือง
       
แม้ว่าการยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ เป็นหลักการที่รับรองไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 21 (2) ของรัฐธรรมนูญเยอรมัน แต่กระนั้น ก็ยังมีประเด็นโต้แย้งในคดียุบพรรคคอมมิวนิสต์ KPD เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีประเด็นน่าพิจารณาดังนี้
       
       6.1 ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
       เคยมีข้อเสนอทางวิชาการและประเด็นโต้แย้งในคดีที่เสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ว่า บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ (Fundamental Principles of the Constitution) ย่อมใช้บังคับมิได้(166) และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะเพิกถอนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ล้ำเส้นขอบเขตแห่งหลักความยุติธรรมตามกฎหมายที่สูงกว่า (the higher law principle of justice) โดยอธิบายว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ว่าในส่วนที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง(167) หรือโดยปริยาย ทำให้อนุมานได้ว่า ในบรรดาบทบัญญัติเหล่านั้นย่อมมีลำดับศักดิ์สูงต่ำไม่เท่ากัน บทบัญญัติใดมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าย่อมต้องตีความหรือบังคับใช้ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า(168) ตัวอย่างเช่น ในบรรดาบทบัญญัติทั้งหลาย บทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ย่อมมีคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Value) สูงกว่าบทบัญญัติอื่น ๆ ในฐานะที่เป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับแนวความคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า กรณีเช่นนี้ย่อมต้องตีความตามบทบัญญัติเฉพาะ เพราะ “...เป็นธรรมชาติของอำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองที่จะกำหนดข้อยกเว้นสำหรับหลักการพื้นฐานของตัวรัฐธรรมนูญเอง...” (169)
       
       6.2 การยุบพรรคคอมมิวนิสต์ KPD มิได้ละเมิดหลักการรวมชาติเยอรมนี
       เหตุผลประการแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์ KPD กล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 21 (2) ขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญก็คือ การยุบพรรค KPD นั้นละเมิดหลักการรวมชาติเยอรมัน (German Reunification) อันเป็นเป้าหมายหลักของรัฐธรรมนูญซึ่งมีชื่อเรียกตามรูปศัพท์ว่า “กฎหมายพื้นฐาน” (Grundgesetz)(170) เนื่องจากพรรค KPD อาจทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออก การยุบพรรค KPD จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการรวมชาติ อย่างไรก็ดี จริงอยู่ ศาลยอมรับว่าหลักการรวมชาติเยอรมันเป็นคุณค่าพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญซึ่งอนุมานได้จากคำปรารภ(171) มาตรา 23(172) และมาตรา 146(173) ของรัฐธรรมนูญ(174) แต่ศาลกลับไม่พบความขัดแย้งในการปรับใช้มาตรา 21 (2) เพื่อยุบพรรค KPD กับเป้าหมายแห่งการรวมชาติเยอรมนี แต่อย่างใด โดยศาลให้เหตุผลว่า วิธีการที่จะใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผล โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาเลือกใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสมเพื่อนำไปสู่การรวมชาติเยอรมัน การดำรงอยู่ต่อไปของพรรค KPD มิใช่เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการรวมชาติ และที่สำคัญกว่านั้น แม้ว่าการรวมชาติจะเป็นเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ หากแต่มิได้สลักสำคัญยิ่งไปกว่าการคุ้มครองหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย(175)
       
       6.3 มาตรการยุบพรรคการเมืองมิได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
       
พรรค KPD ชี้ประเด็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมาตรการยุบพรรคการเมือง โดยอ้างว่าละเมิดสาระสำคัญแห่งสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เสรีภาพในการรวมกลุ่ม (Freedom of Association) และเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression)(176) อันเป็นหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่สูงกว่าบทบัญญัติมาตรา 21 (2) แต่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์กลับมิได้เห็นพ้องด้วยเช่นนั้น เพราะศาลเห็นว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 21 (2) มิได้ขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานของเสรีภาพทั้งสองประการดังกล่าว อีกทั้งยังมีสถานะและคุณค่าทางรัฐธรรมนูญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน(177) และที่สำคัญ หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้นจะดำรงอยู่ได้ก็แต่โดยการจำกัดเสรีภาพของบรรดาผู้ที่จะทำลายมัน ความข้อนี้ปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญมาตรา 9 (2) วรรคสองซึ่งห้ามการรวมกลุ่มที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและมาตรา 18 ซึ่งให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก หากมีการใช้เสรีภาพดังกล่าวโดยมิชอบและเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย(178) ยิ่งไปกว่านั้น ศาลอธิบายแนวทางการประสานความสมดุลของเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก และการธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ดังความว่า
       “ณ ขั้นต่ำที่สุด บรรดาผู้เข้าร่วมในการสร้างเจตจำนงร่วมกันของปวงชนต้องเห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันในการยืนยันคุณค่าพื้นฐานของรัฐธรรมนูญนี้ แม้มีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองหนึ่ง ๆ ซึ่งปฏิเสธและต่อต้านหลักการพื้นฐานดังกล่าวอาจดำรงอยู่ต่อไปและดำเนินการในฐานะที่เป็นกลุ่มสังคม-การเมือง (Sociopolitical group) แต่ไม่มีทางที่พรรคการเมืองนั้น ๆ จะเข้าร่วมในกระบวนการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้”(179)
       
       7. มาตรการอื่นในการควบคุมพรรคการเมือง
       มาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมพรรคการเมืองตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมัน ได้แก่ การให้พรรคการเมืองต้องส่งคืนเงินอุดหนุนที่ได้รับไปเพราะความผิดพลาดเกี่ยวกับข้อมูลที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณการจัดสรรเงิน หากบัญชีการเงินพรรคการเมืองไม่ถูกต้อง พรรคการเมืองนั้นต้องถูกปรับสองเท่าของจำนวนเงินที่ลงบัญชีไม่ถูกต้องหรือของจำนวนเงินบริจาคที่ไม่ลงบัญชี แต่ถ้าข้อมูลในบัญชีที่ไม่ถูกต้องนั้นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้นในบริษัท พรรคการเมืองต้องถูกปรับเป็นเงินในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สิน ส่วนการรับบริจาคโดยไม่ถูกต้องในกรณีอื่น ๆ พรรคการเมืองต้องถูกปรับ 3 เท่าของเงินบริจาคนั้น(180) นอกจากนี้ ยังมีการสั่งลงโทษคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วยโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 250 – 1500 ยูโร หากไม่ดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด(181) เหล่านี้คือ สภาพบังคับทางกฎหมายที่ลงโทษพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง
       ส่วนการกระทำความผิดกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นจะลงโทษเฉพาะผู้กระทำผิด ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้น ๆ เป็นราย ๆ ไป อันได้แก่ (1) ความผิดเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง เป็นต้นว่า ปกปิดแหล่งที่มาของเงินบริจาค ปกปิดการใช้จ่ายเงินอุดหนุน ฝ่าฝืนไม่เปิดเผยบัญชีการรับบริจาคต่อสาธารณะ ยื่นบัญชีและรายงานการเงินไม่ถูกต้อง แบ่งเงินรับบริจาคเป็นก้อนเล็ก ๆ เพื่อไม่ต้องลงบัญชี รับเงินบริจาคแล้วไม่เอาเข้าพรรคการเมือง เหล่านี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือต้องโทษปรับ(182) และ (2) ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น ขัดขวางการเลือกตั้ง โกงผลการเลือกตั้ง ลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ยินยอมให้มีการเสนอชื่อตนลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ทั้งรู้ว่าตนไม่มีสิทธิสมัคร ละเมิดหลักการเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยลับ (Secret Ballot) บังคับข่มขู่หลอกลวงให้เลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใดหรือพรรคการเมืองใด ซื้อสิทธิขายเสียง การกระทำเหล่านี้ย่อมมีความผิดอาญาเสี่ยงต่อโทษปรับและจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี(183)
       นอกจากนี้ ในกรณีที่ศาลสั่งจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปในหลาย ๆ ฐานความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งสาธารณะ สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้แต่สิทธิเลือกตั้งได้(184) เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันถือว่าการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเหล่านี้เป็น“ผลข้างเคียงของโทษทางอาญาหลัก” (Collateral Consequences – Nebenfolgen)(185) ซึ่งหมายถึง “ผลในทางกฎหมายตามกฎหมายอาญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดอาญาที่ไม่ได้มีลักษณะของโทษทางอาญา ผลข้างเคียงอื่น ๆ นี้จะมีลักษณะที่คล้ายกับโทษทางอาญาข้างเคียงในแง่ที่ว่า จะลงโทษผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้ก็ต่อเมื่อมีการลงโทษทางอาญาหลักด้วย”(186) กล่าวโดยสรุป โดยทั่วไป ต้องถือว่าการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองในประการต่าง ๆ ดังกล่าวในระบบกฎหมายเยอรมันมักจะเกิดขึ้นในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา
       อนึ่ง นอกเหนือจากการพิจารณาคดีอาญาข้างต้น ยังมีอีกกรณีที่อาจมีการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของประชาชนได้ นั่นก็คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์พิพากษาเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ (Forfeiture of Basic Rights) ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง และสิทธิในการดำรงตำแหน่งสาธารณะด้วยก็ได้(187) การพิจารณาคดีเช่นนี้ ถือเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์แต่เพียงองค์กรเดียว โดยมีวิธีพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์(188) อันเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในแง่องค์กรและในแง่วิธีพิจารณาที่ไม่ย่อหย่อนไปกว่ามาตรฐานการคุ้มครองสิทธิในคดีอาญาเลยทีเดียว ทั้งนี้ เท่าที่ผ่านมา เคยมีการฟ้องคดีการเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เพียง 2 คดีเท่านั้น อันได้แก่ คดีรองประธานคนที่สองของพรรค SRP และคดีหัวหน้าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Deutsche Nationalseitung ซึ่งศาลก็ยกฟ้องทั้งสองคดีเพราะเห็นว่าพฤติการณ์ยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ(189)
       
       _________________________
       
       เชิงอรรถ
       
       81. ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (Verfassungsorgan) และเป็นศาลแห่งสหพันธ์ที่มีความเป็นอิสระ แบ่งเป็นสององค์คณะแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ละองค์คณะมีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ประกอบด้วยตุลาการ 8 ท่าน รวมสององค์คณะเท่ากับ 16 ท่าน มีวาระดำรงตำแหน่ง 12 ปีและดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว; BVerfGG, §§ 1 – 4. [Sections 1 to 4 of the Federal Constitutional Court Act – Bundesverfassungsgerichts-Gesetz] ผู้สนใจโปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ: ศึกษาเปรียบเทียบกรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศกับศาลรัฐธรรมนูญไทย, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2546), น. 21 – 27; และ บรรเจิด สิงคะเนติ, ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2544), น. 72 – 89.
       82. BVerfGG, §43; อนึ่ง กฎหมายใช้ถ้อยคำว่า “organization” หรือ “องค์กร” แต่มีผู้อธิบายว่าคือ “activities” หรือ “กิจกรรม” โปรดดู Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 235;
       นอกจากนี้ เคยมีนักกฎหมายไทยเขียนอธิบายว่า “ในบางกรณีการริเริ่มคดียุบพรรคการเมืองเป็นของรัฐบาลมลรัฐเท่านั้น” ด้วยความเคารพต่อท่านผู้เขียน ผู้วิจัยกลับเห็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 43 ของกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ประกอบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรค KPS [BVerfGE 6, 300] ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเขตมลรัฐ Saarland เท่านั้นแต่กลับถูกรัฐบาลแห่งสหพันธ์เป็นผู้เสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ แสดงให้เห็นได้ชัดว่า โดยหลักแล้ว รัฐบาลแห่งสหพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ และสภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์ มีอำนาจเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ ส่วนอำนาจของรัฐบาลมลรัฐนั้นถือเป็นข้อยกเว้น โปรดดู หัวข้อ 5.2 (ถัดไป) และโปรดดู สุนทรียา เหมือนพะวงศ์, “ทฤษฎีกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง,” หนังสือพิมพ์ประชาไท วันที่ 29 พฤษภาคม 2550.
       83. Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 376; ตัวอย่างเช่น สภาแห่งนครรัฐ Hamburg เคยเสนอคำร้องขอให้ยุบพรรค Nationale Liste ซึ่งเป็นพรรคนาซีใหม่ที่ดำเนินการในเขต Hamburg แต่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เพราะเหตุว่า พรรคดังกล่าวมิใช่ “พรรคการเมือง” ตามบทนิยามในกฎหมายพรรคการเมือง; BVerfGE 91, 262; โปรดดู Donald P. Kommers, เรื่องเดิมในเชิงอรรถที่ 27, น. 236; และ Hans-Heinrich VOGEL, “Prohibition of Political Parties in Germany,” เอกสารประกอบการประชุมเรื่อง “CONSTITUTIONAL RESTRICTIONS ON FREEDOM OF ASSOCIATION” BELGRADE, SERBIA, 2 JUNE 2009 โดยคณะกรรมาธิการเวนิส รหัสเอกสาร CDL-JU(2009)052 Engl. Only
       
       84. วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 45 – 46.
       85. Report on Ongoing and Planned Measures and Activities of the Federal Government Aimed at Combating Right-wing Extremism, Xenophobia, Anti-Semitism and Violence pursuant to Subpara. 21 of the Resolution by the German Bundestag of 30 March 2001 (Doc.No. 14/5456), น. 76.
       86. BVerfGG, §23 (1).
       87. แต่เนื้อหาในคำร้องทั้ง 3 ฉบับ และพยานหลักฐานที่อ้างอิงใกล้เคียงกันมาก โปรดดู “Federal Constitutional Court Issues Temporary Injunction in the NPD Party Ban Case,” German Law Journal, Vol. 2 Issue 13 (August, 2001). โปรดดู เว็บไซต์วารสารกฎหมายเยอรมัน
       88. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 235; ตัวอย่างเช่น หลังจากเกิดเหตุระเบิดสังหารหมู่ชาวยิวที่เมือง Düsseldorf และอาชญากรรมเพราะความเกลียดชัง (Hate Crime) อื่น ๆ ต่อชาวต่างชาติซึ่งพัวพันกับกลุ่มนาซีใหม่ (neo-Nazi group) ในอีกหลาย ๆ เมืองตลอดช่วงปี ค.ศ. 2000 รัฐบาลพรรคสังคมประชาธิปไตยนำโดยนายกรัฐมนตรีเกอฮาร์ด ชโรเดอร์ จึงพยายามที่จะหาเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรในการเสนอคำร้องกรณีพรรค NPD ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นกลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร (Fraction) ของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตยหรือ CDU ประกาศจะคัดค้านญัตติดังกล่าว แต่หลังจากที่มีประชาชนกว่า 200,000 คนเดินขบวนในกรุงเบอร์ลินในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เพื่อรำลึกและไว้อาลัยต่อการประหัตประหารชาวยิวของพรรคนาซีเมื่อปี ค.ศ. 1938 และกระแสสังคมเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับพรรค NPD จนในที่สุด ส.ส. พรรค CDU ก็ได้ร่วมโหวตผ่านมติให้มีการเสนอคำร้องในนามสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ โปรดดู “Government Commits to Seeking a Ban of the Extreme Right-Wing National Democratic Party of Germany (NPD),” German Law Journal, Vol. 1 Issue 2 (November, 2000). และ Thilo Rensmann, เรื่องเดิม, น. 1120.
       89. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 235 – 237.
       90. BVerfGG, §14 (2) และ §15 (1); Decision of 15 November 1993 by the Plenum of the Federal Constitutional Court in accordance with Article 14 paragraph 4 of the Law on the Federal Constitutional Court โปรดดู เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ เข้าถึง ณ วันที่ 5 เมษายน 2553.
       91. BVerfGG, §§ 44 – 45; และ PartG, §11 (2).
       92. BVerfGG, §§ 47, 38 (1); คดีพรรค SRP และคดีพรรค KPD ศาลรัฐธรรมนูญสั่งออกหมายค้นสำนักงานพรรคและบ้านของแกนนำพรรค; BverfGE 2, 1 (30 – 38) และ BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 602 และ 621.
       93. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 238.
       94. ในปี ค.ศ. 1994 รัฐบาลแห่งสหพันธ์เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้สั่งยุบพรรค FAP เนื่องจากมีอุดมการณ์และนโยบายคล้ายคลึงกับพรรค SRP ที่ศาลเคยประกาศแล้วไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคไปแล้ว แต่ด้วยเหตุที่พรรค FAP สิ้นสุดสถานะ “พรรคการเมือง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 21 (1) และตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 2 (1) ไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงชี้ขาดเบื้องต้น สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา; BVerfGE 91, 276; Judith Wise, เรื่องเดิม, น. 315 – 316; โปรดดู หัวข้อ 2.3.1 (ก่อนหน้านี้)
       95. BVerfGG, §24 และ §45; ในคดีทั่วไปรวมทั้งคดียุบพรรคการเมืองเช่นนี้ การพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาต้องกระทำโดยองค์คณะ (Senate) ต่างจากคดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญที่การการพิจารณารับ/ไม่รับคำร้องจะกระทำโดยองค์คณะย่อย (Chamber) ซึ่งมีตุลาการ 3 ท่าน; BVerfGG, §93b และโปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 50 – 51.
       96. BVerfGG, §47 และ §38 (2).
       97. BVerfGE 2,1 (7); BVerfGE 5,85 (107). อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 238.
       98. BVerfGE 71, 350 (352) อ้างถึงใน วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 66.
       99. BVerfGG, §32 (1), (6).
       100. BVerfGE 2, 1 (8) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 238.
       101. “Federal Constitutional Court Issues Temporary Injunction in the NPD Party Ban Case,” German Law Journal, Vol. 2 Issue 13 (August, 2001).
       102. เรียกว่า หลักการค้นหาความจริงโดยการไต่สวน (Inquisitorial system – Untersuchungsgrundsatz) ตรงกันข้ามกับวิธีพิจารณาในคดีแพ่งซึ่งเป็นหลักกล่าวหา (Accusatory system – Beibringungsgrundsatz) ที่การวินิจฉัยคดีของศาลย่อมถูกจำกัดบนพื้นฐานของพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่คู่ความนำเสนอต่อศาล โปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 33 – 34; และ บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, น. 269 – 270.
       103. วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 34.
       104. BVerfGG, §25; และ วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 35 – 36.
       105. ส่วนคดียุบพรรค KPS (Kommunistische Partei Saar – Saarland Communist Party) ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองแทนที่พรรค KPD ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ศาลรัฐธรรมนูญอ้างอิงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอง; BVerfGE 6, 300; อนึ่ง คำวินิจฉัยคดียุบพรรค SRP นั้น ยาว 79 หน้า คดีพรรค KPD ยาว 308 หน้า และคดีพรรค NPD ซึ่งแม้ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีแต่ก็ยาวถึง 59 หน้า ล้วนแล้วแต่มีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงกว่าร้อยละ 80 ของเนื้อหาคำวินิจฉัยทั้งหมดซึ่งมักจะได้มาจากการไต่สวนของศาล.
       106. BVerfGE 2,1 (7); BVerfGE 5,85 (107); BVerfGE 107, 339; นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า การพิจารณาบางคดีใช้ระยะเวลายาวนานมากเช่น คดีพรรค KPD มีการเสนอคำร้องโดยรัฐบาลแห่งสหพันธ์ของนายกรัฐมนตรีคอนราด อเดนาว์ ในเวลาใกล้เคียงกับคำร้องคดีพรรค SRP ในปี ค.ศ. 1951 ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินให้ยุบพรรคในเดือนตุลาคมปีต่อมา แต่คดีพรรค KPD นั้น ศาลตัดสินยุบพรรคในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1956. โปรดดู Felix Hanschmann, “Federal Constitutional Court To Review NPD Party Ban Motion,” German Law Journal, Vol. 2 Issue 17 (November, 2001)
       107. BVerfGG, §15 (2).
       108. วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 60.
       109. เรื่องเดียวกัน, น. 62.
       110. BVerfGG, §46; “การสั่งยุบพรรคการเมืองเป็นผลตามธรรมชาติของการที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” โปรดดู Donald P. Kommers, เรื่องเดิมในเชิงอรรถที่ 27, น. 223.
       111. BVerfGG, §46; BVerfGE 2,1; BVerfGE 5,85; นอกจากนี้ ศาลยังอาจสั่งลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของกรรมการบริหารหรือสมาชิกพรรคการเมืองที่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 18 ได้; BVerfGG, §47 และ §39; โปรดดูรายละเอียดในหัวข้อ 5.5 (ถัดไป)
       112. BVerfGG, §15 (4) และ §13 (2); การวินิจฉัยชี้ขาดที่มีลักษณะคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับคดีอาญาหรือมีลักษณะเป็นการตัดสิทธิของบุคคล อันได้แก่ การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน การยุบพรรคการเมือง การถอดถอนประธานาธิบดี ผู้พิพากษา หรือตุลาการของสหพันธ์หรือของมลรัฐออกจากตำแหน่ง ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยคะแนนเสียงสองในสามของตุลาการในองค์คณะ
       113. GG, §103 (1).
       114. BVerfGE 107, 339 (ย่อหน้าที่ 52 – 63); อย่างไรก็ดี มีผู้วิจารณ์ว่า การวินิจฉัยชี้ขาดกรณีข้างต้นนั้น แท้ที่จริงแล้ว อาศัยเพียงเสียงข้างมากปกติ (Simple Majority หรือ Plurality) หาใช่เสียงข้างมากพิเศษแต่อย่างใดไม่ โปรดดู Thilo Rensmann, เรื่องเดิม, น. 1122 – 1125.
       115. Alexander Hanebeck, “FCC Suspends Hearing in NPD Party Ban Case,” German Law Journal, Vol. 3 Issue 2 (February, 2002).
       116 Felix Hanschmann, “Another Test in Proceduralizing Democracy: The Oral Proceedings in the NPD Party Ban Case before the Federal Constitutional Court,” German Law Journal, Vol. 3 Issue 11 (November, 2002).
       117. Thilo Rensmann, เรื่องเดิม, น. 1122.
       118. BVerfGG, §31 (1); โดยหลักแล้ว “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ผูกพันบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกฎหมายเอกชน” โปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เรื่องเดิม, น. 71.
       119. BVerfGG, §47 และ §41.
       120. Susanne Walter, “The Execution of the decisions of the Federal Constitutional Court of Germany,” The Transcript of Seminar ON “THE EFFICIENCY OF CONSTITUTIONAL JUSTICE IN A SOCIETY IN TRANSITION,” YEREVAN, ARMENIA, 6-7 OCTOBER 2000.
       121. PartG, §32 (1), (2), (5).
       122. PartG, §32 (3), (4).
       123. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 239; และ Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 63.
       124. PartG, §18 (8).
       125. BVerfGG, §46 (3); PartG, §33 (1).
       126. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 239.
       127. BVerfGG, §46 (3); Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 232.
       128. PartG, §33 (2); Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 232.
       129. BVerfGE 6, 300 (306 – 309); พรรค KPS จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1946 และมี ส.ส. ในสภาของมลรัฐ Saarland 2 คน แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า นับแต่คดีพรรค KPS ในปี ค.ศ. 1957 เป็นต้นมา รัฐบาลแห่งสหพันธ์ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อยุบพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในฐานะองค์กรแทนที่พรรค KDP อีกเลย ดังเช่นพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (German Communist Party – Deutsche Kommunistische Partei/ DKP) ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1698 ในทางตรงกันข้าม กลับมีความพยายามที่จะยุบองค์กรแทนที่พรรคนาซีมาอย่างต่อเนื่องตลอดมา. โปรดดู Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 63 ในเชิงอรรถที่ 68; Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 375 – 376, และ Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 626.
       130. BVerfGE 13, 174 (176-177) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 220.
       131. ด้วยเหตุที่ พรรค NPD ซึ่งมีอุดมการณ์ในแนวเดียวกันกับพรรคนาซี ดังคำเรียก neo-Nazi ในบรรดาสื่อมวลชน มี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรระดับมลรัฐในหลายมลรัฐ อาทิ ในการเลือกตั้งสภาของมลรัฐ Saxony เมื่อปี ค.ศ. 2004 มี ส.ส. 8 ที่นั่ง เมื่อปี ค.ศ. 2009 ได้ ส.ส. 4 ที่นั่ง หรือในการเลือกตั้งสภาของมลรัฐ Mecklenburg-Vorpommern เมื่อปี ค.ศ. 2006 ได้ ส.ส. 6 ที่นั่ง ส่งผลทำให้ไม่อาจใช้กฎหมายว่าด้วยสมาคมสั่งยุบพรรค NPD ได้ หากแต่จะต้องเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามกระบวนการยุบพรรคกรณีปกติเท่านั้น
       132. PartG, §2 (2) และ §(3); ตัวอย่างเช่นพรรค FAP [BVerfGE 91, 276] นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ยังเคยวินิจฉัยว่า การที่องค์กรนิติบัญญัติของมลรัฐตัดสินว่า สมาคมการเมืองแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นผู้สืบทอดของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ศาลเคยประกาศว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปแล้ว โดยที่ไม่ได้เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งนั้น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โปรดดู BVerfGE 16, 4 อ้างถึงใน David Currie, เรื่องเดิม, 220.
       133. PartG, §33 (3); VereinsG, §2 และ §8 (2) และ Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 240.
       134. “GERMANS BAN THIRD NEO-NAZI GROUP,” The Province (Vancouver, B.C.), Wednesday, Dec. 23, 1992 โปรดดู เว็บไซต์ United Press International เข้าถึง ณ วันที่ 11 เมษายน 2553.
       135. Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 58; นอกจากนี้ ในคดีพรรค KPD ศาลก็ตัดสินตามแนวทางเดียวกัน ส่งผลให้สมาชิกพรรค KPD สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์และของมลรัฐ โปรดดู Donald P. Kommers, เรื่องเดิมในเชิงอรรถที่ 27, น. 223.
       136. BVerfGE 2,1 (73) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 58; อนึ่ง ในขณะที่ศาลมีคำวินิจฉัยนั้น พรรค SRP มี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ 2 คนได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเมือง Bonn และมี ส.ส. ในสภาของมลรัฐหลายแห่งอีกหลายสิบคน
       137. BVerfGE 2,1 (79) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216.
       138. Samuel Issacharoff, เรื่องเดิม, น. 1450.
       139. GG, §38 (1); BVerfGE 2,1 (75); และ Helmut Steinberger, เรื่องเดิม, น. 122 – 130.
       140. แม้ว่า ส.ส. ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยการเสนอชื่อของพรรคการเมือง แต่ ส.ส. ที่ลาออกหรือถูกขับออกจากพรรค ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน ก็หาได้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะเหตุดังกล่าวไม่ โปรดดู BWG, §46; และ Helmut Steinberger, เรื่องเดิม, น. 129, 155 – 156.
       141. GG, §18.
       142. BVerfGE 2,1 (77) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 239 – 240.
       143. BVerfGE 2,1 (71 - 72) อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 607.
       144. BVerfGE 2,1 (78 - 79); อย่างไรก็ดี คดียุบพรรค KPD ใน 5 ปีต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวอีก เนื่องจากพรรค KPD มี ส.ส. ในสภาของมลรัฐ Bremen และ Lower Saxony ซึ่งเป็นมลรัฐที่มีบทกฎหมายกำหนดให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ที่สังกัดพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะแล้ว โปรดดู BVerfGE 5, 85 (392).
       145. BWG, §46 (1) 5; and AbgG, §1 [Article 1 of the Members of the Bundestag Act – Abgeordnetengesetz]
       146. EuAbgG, §1 [Section 1 of the Members of the European Parliament Act – Europaabgeordnetengesetz] และ EuWG, §22 (2) No. 5; อนึ่ง ในกรณีที่สมาคมการเมือง (ซึ่งไม่ใช่พรรคการเมืองตามบทนิยามของกฎหมายพรรคการเมือง) ที่สมาชิกรัฐสภายุโรปสังกัดถูกสั่งยุบไปตามกฎหมายว่าด้วยสมาคม สมาชิกภาพของผู้นั้นจะสิ้นสุดลงด้วย หากยังคงเป็นสมาชิกสมาคมการเมืองดังกล่าวอยู่ ณ ขณะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหพันธ์สั่งยุบพรรค โปรดดู EuWG, §22 (2) No. 6 และ §22 (4) (5).
       147. BWG, §46 (4); EuWG, §22 (4).
       148. BWG, §47 (1) No. 2, (3); EuWG, §23 (1) No. 2, (3); อนึ่ง ในการเลือกตั้งสมัยที่ 16 (ปัจจุบัน) คณะมนตรีอาวุโสประจำสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์มีสมาชิกจำนวน 30 คน ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ รองประธานสภาทั้ง 6 ท่าน และกรรมการอื่นอีก 23 ท่านซึ่งแต่งตั้งจากกลุ่ม ส.ส. ในสภา (parliamentary groups)
       เข้าถึง ณ วันที่ 12 เมษายน 2553.
       149. แต่ในกรณีของสมาชิกรัฐสภายุโรป คำตัดสินของคณะมนตรีอาวุโสจะมีผลทันทีที่ผู้นั้นได้รับแจ้ง; EuWG, §23 (3).
       150. BWG, §47 (3); และ WPrüfG, §§ 1 – 2 [Law on the Scrutiny of Elections – Wahlprüfungsgesetz]
       151. GG, §41; WPrüfG, §16 (3) และ §17 [Section 16 (3) and Section 17 of the Law on the Scrutiny of Elections – Wahlprüfungsgesetz] และ BVerfGG, §13 (3) และ §48.
       152. BVerfGE 2,1 (76); ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์อธิบายว่า เฉพาะ ส.ส. ของสหพันธ์และมลรัฐเท่านั้นที่สิ้นสมาชิกภาพโดยผลแห่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รวมถึงสมาชิกสภาท้องถิ่น เนื่องจากเจตจำนงทางการเมืองเกิดขึ้นเฉพาะองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ กำหนดนโยบายการบริหารประเทศ ส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเพียงองค์กรที่ใช้อำนาจทางบริหารเท่านั้น.
       153. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 240.
       154. BWG, §46 (4); EuWG, §22 (4); และ BVerfGE 2,1 (78) อ้างถึงในและ Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 240 – 241.
       155. เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้วิจัยที่สรุปตามสุภาษิตการตีความกฎหมายที่ว่า “ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น” (a fortiori) กล่าวคือ ก็ในเมื่อบัญชีรายชื่อที่พรรคได้รับเลือกตั้งและได้ ส.ส. จากบัญชีนั้นไปแล้วยังสิ้นสภาพเพราะการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค แล้วเหตุใดบัญชีรายชื่อของพรรคที่เพิ่งจะยื่น และต่อมาถูกศาลสั่งยุบพรรคไปก่อนวันเลือกตั้ง จะไม่สิ้นสภาพตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้วิจัยยังไม่พบบทบัญญัติกฎหมายรองรับข้อสรุปดังกล่าว
       156. BVerfGE 2,1 (78 – 79); Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 607.
       157. GG. §18; BVerfGG, §13 (3) และ §39; อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว กลับพบว่ามิใช่บทบังคับ หากแต่ศาลอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สิทธิที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง และสิทธิในการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะด้วยก็ได้.
       158. BVerfGE 2,1 (78 – 79).
       159. กรณีสมาชิกรัฐสภายุโรป ไม่มีประเด็นข้อนี้ เนื่องจากเป็นระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนทั้งหมด; EuWG, §2. ส่วนกรณี ส.ส. ในสภาของมลรัฐและสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้น ผู้วิจัยไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิง จึงไม่อาจระบุได้
       160. BVerfGE 11, 282 อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 214; คดีนี้รัฐบาลแห่งสหพันธ์ฟ้องคดีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิขั้นพื้นฐานของรองประธานพรรค SRP ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1952 ก่อนที่ศาลจะตัดสินว่าพรรค SRP มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญใน 6 เดือนต่อมา แต่กว่าที่ศาลจะตัดสินยกฟ้องก็ล่วงไปถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1960 โปรดดู Jochen A. Frowein, “How to Save Democracy From Itself,” ใน Yoram Dinstein et al. (editors), Israel Yearbook on Human Rights: 1996 Volume 26, (Massachusetts: Kluwer Law International, 1997) น. 201 – 202.
       161. BVerfGE 12, 296 อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 65 – 66.
       162. StGB, §84. [Section 84 of the Criminal Code – Strafgesetzbuch] ส่วนมาตรา 85 ห้ามในทำนองเดียวกับมาตรา 84 สำหรับกรณีพรรคการเมืองและสมาคมที่ถูกยุบโดยคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เช่น พรรค FAP; Judith Wise, เรื่องเดิม, น. 325 – 326
       163. Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 375.
       164. ในช่วงทศวรรษที่ 1950 – 1990 มีการยึดเอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ผลิตในเยอรมันตะวันตก นำเข้ามาจากเยอรมันตะวันออกและประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ หลายล้านชิ้นเลยทีเดียว โปรดดู Donald P. Kommers, เรื่องเดิมในเชิงอรรถที่ 27, น. 224.
       165. StGB, §§ 86 – 86a; ผู้สนใจโปรดดู Andreas Stegbauer, “The Ban of Right-Wing Extremist Symbols According to Section 86a of the German Criminal Code,” German Law Journal, Vol. 8 No. 2 (2007) น. 173 – 184; และ Dieter Grimm, “The Holocaust Denial Decision of the Federal Constitutional Court of Germany,” ใน Ivan Hare และ James Weinstein (eds.), Extreme Speech and Democracy, (New York: Oxford University Press, 2009) น. 557 – 561.
       166. BVerfGE 1, 14 (32 – 33) [ข้อโต้แย้งในคดีการรวม 3 มลรัฐเข้าเป็นมลรัฐ Baden-Württemberg] อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 219; บางท่านเรียกว่า “หลักการที่เหนือกว่าบทบัญญัติ” (Supra-positive principles of law) โปรดดู Donald P. Kommers, “Germany: Balancing Rights and Duties,” เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 72, น. 189; หรือ “บรรทัดฐานที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ” (Supra-constitutional Norms) โปรดดู Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 59 – 60. ; อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักนิติศาสตร์ที่ยึดถือสำนักความคิดปฏิฐานนิยมหรือสำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (Legal Positivism) อย่างมาก โปรดดู Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 59 และ 60 ในเชิงอรรถที่ 47.
       167. GG, §79 (3), §1, และ §20.
       168. David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 218 – 219;
       169. BVerfGE 1, 14 (32 – 33) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 219.
       170. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเยอรมันปี ค.ศ. 1949 ตั้งใจเลือกใช้คำกลาง ๆ คือ “กฎหมายพื้นฐาน” (Grundgesetz) เรียกกฎหมายสูงสุดของประเทศแทนคำว่า “รัฐธรรมนูญ” (Verfassung) ซึ่งฟังดูยิ่งใหญ่และสมศักดิ์ศรีกว่า เนื่องจากว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการเน้นย้ำลักษณะชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่านของเยอรมันตะวันตก และเป้าหมายการรวมชาติเยอรมันต่อไปในภายภาคหน้า โปรดดู Manfred G. Schmidt, Political Institutions in the Federal Republic of Germany, (New York: Oxford University Press, 2003), น. 9 – 11; Donald P. Kommers, “Germany: Balancing Rights and Duties,” เรื่องเดิมในเชิงอรรถที่ 72, น. 161 – 167; และ นรินทร์ อิธิสาร, “60 ปี กฎหมายพื้นฐาน – 60 Jahre Grundgesetz,” เว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย, วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552.
       171. คำปรารภที่ปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบันเป็นผลจากการแก้ไขเพิ่มเติมโดยสนธิสัญญารวมชาติเยอรมัน ลงวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1990 (Unification Treaty of August 31, 1990) และรัฐบัญญัติแห่งสหพันธ์ลงวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1990 (BGBl. II S. 885) ส่วนคำปรารภเดิมนั้นมีเนื้อความในภาษาอังกฤษว่า
       “Conscious of its responsibility before God and mankind, filled with the resolve to preserve its national and political unity and to serve world peace as an equal partner in a united Europe, the German people in the Laender Baden, Bavaria, Bremen, Hamburg, Hesse, Lower Saxony, North Rhine-Westphalia, Rhineland-Palatinate, Schleswig-Holstein, Wuerttemberg-Baden and Wuerttemberg-Hohenzollern has, by virtue of its constituent power, enacted this Basic Law of the Federal Republic of Germany to give a new order to political life for a transitional period.
       
       It acted also on behalf of those Germans to whom participation was denied.
       
       The entire German people is called upon to accomplish, by free self-determination, the unity and freedom of Germany.” [ส่วนที่ขีดเส้นใต้ – เน้นโดยผู้วิจัย]
       172. มาตรา 23 ปัจจุบันซึ่งเกี่ยวกับสหภาพยุโรปนั้นมาจากการบัญญัติเพิ่มขึ้นใหม่โดยรัฐบัญญัติแห่งสหพันธ์ลงวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1992 (BGBl. I S. 2086) [BGBl = Bundesgesetzblatt – Official Publication of Federal Session Laws] ส่วนมาตรา 23 เดิมซึ่งถูกยกเลิกโดยเอกสารที่ระบุไว้ในเชิงอรรถที่แล้วนั้น มีเนื้อความในภาษาอังกฤษดังนี้
       “For the time being, this Basic Law shall apply in the territory of the Laender Baden, Bavaria, Bremen, Greater Berlin, Hamburg, Hesse, Lower Saxony, North Rhine-Westphalia, Rhineland-Palatinate, Schleswig-Holstein, Wuerttemberg-Baden and Wuerttemberg-Hohenzollern. It shall be put into force for other parts of Germany on their accession.” [ส่วนที่ขีดเส้นใต้ – เน้นโดยผู้วิจัย]
       173. มาตรา 146 ปัจจุบัน แก้ไขเพิ่มเติมโดยเอกสารที่ระบุในเชิงอรรถที่ 192 (ก่อนหน้านี้) มีเนื้อความในภาษาอังกฤษดังนี้
       “This Basic Law shall become invalid on the day when a constitution adopted in a free decision by the German people comes into force.” [ส่วนที่ขีดเส้นใต้ – เน้นโดยผู้วิจัย]
       174. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 2, น. 10 และ 7 – 20.
       175. BVerfGE 5, 85 (125 - 132) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 61; Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 375 ในเชิงอรรถที่ 195; Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 626; และ Walter F. Murphy, เรื่องเดิม, น. 181.
       176. GG, §9, §5; BVerfGE 5, 85 (125 – 137) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 59; หมวด 1 ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญเยอรมันเริ่มตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 19 ส่วนมาตรา 21 ที่รับรองสถานะพรรคการเมืองอยู่ในหมวด 2 ว่าด้วยสหพันธรัฐและมลรัฐ.
       177. BVerfGE 5, 85 (137) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62;
       178. GG, §9 (2) และ §18; BVerfGE 5, 85 (137 – 139) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 219.
       179. BVerfGE 5, 85 (134) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62;
       180. PartG, §§ 31a – 31c.
       181. PartG, §38.
       182. PartG, §31d.
       183. StGB §§ 107 – 108b.
       184. StGB §108c.
       185. StGB §45 (2), (5); อนึ่ง ผลข้างเคียงของโทษอาญา (Nebenfolgen) นั้นมิใช่ “โทษอาญาข้างเคียง” (Nebenstrafe) ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน ณ ปัจจุบัน เหลืออยู่เพียงประการเดียวอันได้แก่ การห้ามขับขี่ยานพาหนะ ส่วนโทษอาญาหลัก (Hauptstrafe) มี 2 ประการคือ โทษจำคุกและโทษปรับ โปรดดู ณรงค์ ใจหาญ และคณะ, “รายงานสรุปโครงการวิจัย เรื่อง “ศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดชั้นโทษและการนำไปปรับใช้ในประมวลกฎหมายอาญา,” ดุลพาห, เล่ม 2 ปีที่ 53 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2549), น. 29 – 31; เปรียบเทียบกับระบบกฎหมายไทย โปรดดู คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2551), น. 381.
       186. ณรงค์ ใจหาญ และคณะ, เรื่องเดิม, น. 31.
       187. GG. §18; BVerfGG, §13 (3) และ §39 (2).
       188. BVerfGG, §§ 36 – 42; BVerfGE 11, 282 อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 214, 219
       189. BVerfGE 11, 282 และ BVerfGE 38, 23 ตามลำดับ; โปรดดู Jochen A. Frowein, “How to Save Democracy From Itself,” เรื่องเดิม, น. 201 – 202; ทั้งนี้ เป็นข้อมูลถึง ค.ศ. 2004 โปรดดู Marten Burkens แก้ไขเพิ่มเติมโดย Jan van Schagen และแปลโดย Kath Starsmore, “The Federal Republic of Germany,” ใน L. Prakke et. al., Constitutional Law of 15 EU member states, (Deventer: Kluwer Legal Publishers, 2004) น. 357.


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1484
เวลา 29 เมษายน 2567 22:52 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)