ครั้งที่ 245

15 สิงหาคม 2553 22:05 น.

       ครั้งที่ 245
       สำหรับวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2553
       
       “สองมาตรฐาน”
       
       หากจะว่ากันไปแล้ว คำว่า “สองมาตรฐาน” ไม่ใช่คำที่เกิดขึ้นใหม่แต่เป็นคำที่ถูกหยิบยกเอามาใช้กันมากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากคำดังกล่าวเป็นคำที่ต้องการ “ข้อพิสูจน์” ที่เป็นรูปธรรม ผมจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่าไรนัก เพราะการพิสูจน์เรื่องแต่ละเรื่องที่มีการอ้างว่า “สองมาตรฐาน” ก็จะมีการอ้างข้อมูลที่แตกต่างกันไปและไม่สามารถกำหนดได้ว่าอะไรคือ “มาตรฐาน” ที่ว่านี้ ผมก็เลยไม่ได้นำเรื่อง “สองมาตรฐาน” มาพูดหรือมาเขียน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสได้อ่านการ์ตูนของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังคนหนึ่งในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งที่ออกมาเล่นเรื่อง “สองมาตรฐาน” ที่ดูๆ แล้วขนาดการ์ตูนก็ยัง “สองมาตรฐาน” ผมจึงคิดว่าคงต้องเขียนเรื่องนี้บ้างเพื่อไม่ให้ตกขบวนครับ
       คำว่า “สองมาตรฐาน” หรือ “double standard” เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกบรรดาการกระทำ การดำเนินการหรือการบริหารจัดการในเรื่องเดียวกัน แต่ต่างกลุ่มเป้าหมายกันและผลที่เกิดขึ้นตามมาก็แตกต่างกัน โดยผู้กระทำ ผู้ดำเนินการ หรือผู้บริหารจัดการเรื่องดังกล่าวอาจมีเจตนาหรือไม่ก็ได้ อาจทำโดยไม่รู้ก็ได้ อาจทำโดยหย่อนความสามารถก็ได้ หรืออาจทำโดยตั้งใจก็ได้ครับ คำดังกล่าวเป็นคำยอดนิยมในปัจจุบันและถูกนำมาใช้ในเรื่อง “การเมือง” กันมาก โดยนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นคุณเป็นโทษกับคน โดยปกติทั่วไปแล้ว ผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำ “สองมาตรฐาน” ก็มักจะไม่รู้สึกอะไรกับเรื่องดังกล่าวเพราะคิดว่านี่คือ “สิทธิพิเศษ” ที่เกิดขึ้นกับตน ทำให้ตนได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่ดีกว่า จึงไม่เรียกร้องอะไรเพราะตนเป็นผู้ได้รับประโยชน์ แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายที่ได้รับการปฏิบัติที่ด้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็มักจะเรียกร้องหา “มาตรฐาน” เพราะสิ่งที่ตนได้รับนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเองมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้น หากเมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการหรือเกิดการกล่าวอ้างว่า “สองมาตรฐาน” ก็หมายความว่า จะมีผู้หนึ่งหรือฝ่ายหนึ่ง “ได้ประโยชน์” ส่วนอีกผู้หนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งก็จะเป็นผู้ “เสียประโยชน์”
       “สองมาตรฐาน” ไม่ได้เป็นศัพท์ด้านนิติศาสตร์ แต่ถ้าหากจะหาศัพท์ด้านนิติศาสตร์มาใช้ก็คงหนีไม่พ้นคำว่า “เลือกปฏิบัติ” ส่วนถ้าจะใช้ศัพท์ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็คงเรียกการกระทำสองมาตรฐานว่าเป็นการ “ลำเอียง” ก็ได้นะครับ
       “สองมาตรฐาน” ไม่ได้เป็นประเด็นด้านนิติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของตัวบทกฎหมาย แต่เกิดจากการที่ “ผู้มีอำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกที่จะใช้อำนาจหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่แตกต่างกันภายใต้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์เดียวกัน
       ในชีวิตประจำวัน เรื่อง “สองมาตรฐาน” ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกเพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ที่มีการรวมกลุ่ม มีความเชื่อ มีสังคม มี “รุ่น” ต่างๆ ร่วมกัน ก็ย่อมมีความผูกพันเป็นธรรมดา และเมื่อเราอยากให้คนที่เราผูกพันได้รับความสะดวกสบาย หรือได้รับสิ่งที่ “ดีๆ” อาการสองมาตรฐานก็จะเกิดขึ้นตามมาครับ นอกจากนี้แล้ว สภาพสังคมและวัฒนธรรมก็ยังเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด “สองมาตรฐาน” ไม่ต้องดูอื่นไกลนะครับ เด็กกับผู้ใหญ่ทำสิ่งเดียวกัน คนรวยกับคนจนทำสิ่งเดียวกัน เจ้านายกับลูกน้องทำสิ่งเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกันอย่างแน่นอนครับ โดยเฉพาะเด็กกับผู้ใหญ่นี่เป็น “วัฒนธรรม” ที่ทำให้เกิด “สองมาตรฐาน” จนกลายเป็น “ความชาชิน” ของสังคมในปัจจุบัน ลองนึกตัวอย่างดูเอาเองก็ได้ครับเพราะผมเชื่อว่า แต่ละคนก็เคยประสบกับ “สองมาตรฐาน” มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะประสบในครั้งที่ยังเป็น “เด็ก” ผู้ถูกกระทำหรือเมื่อเป็นผู้กระทำที่เป็น “ผู้ใหญ่” แล้วครับ เด็กทำอะไรก็ผิดไปหมดในขณะที่ผู้ใหญ่ทำอย่างเดียวกันแต่กลับไม่ผิด !! ความเคยชินเหล่านี้ในบางครั้งผู้ถูกกระทำก็ต้องยอมรับเพราะวัฒนธรรมและสภาพสังคมต่างก็มีส่วนทำให้ผู้ถูกกระทำ “ต้องยอมรับ” และ “ไม่มีปากไม่มีเสียง” ครับ แต่ในใจของทุกคน ผู้ถูกกระทำทุกคนรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกัน รู้สึกถึงการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันครับ !!!
       ในทางกฎหมาย ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แม้จะไม่มีคำว่า “สองมาตรฐาน” แต่เราก็สามารถนำคำว่า “เลือกปฏิบัติ” มาใช้แทนได้ การเลือกปฏิบัตินี้ก็เป็นสิ่งที่ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้กล่าวเอาไว้ โดยในมาตรา 30 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กล่าวไว้ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” และนอกจากนี้แล้ว ในมาตรา 9 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ก็ยังกำหนดให้การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
       
ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มีกรณีของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมที่น่าสนใจหลายเรื่องด้วยกัน แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือกรณีของนาย ศิริมิตร บุญมูล ทนายความพิการด้วยโรคโปลิโอที่ไปสมัครสอบเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยแต่ทางหน่วยงานไม่รับสมัคร เนื่องจากเห็นว่ามีร่างกายพิการ ต่อมา นายศิริมิตร บุญมูล ก็ได้นำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการอัยการที่มีมติไม่รับสมัคร นายศิริมิตร บุญมูล ในการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย โดยเรื่องดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ได้เขียนบทความลงใน www.pub-law.net ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ก็ต้องลองไปอ่านดูนะครับ
       ในทางการเมือง ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในวันนี้คือ การแตกแยกในทางความคิดอันนำไปสู่ความขัดแย้งระดับชาติ มีการแบ่งขั้ว แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันในทุกที่ ทุกกลุ่ม อย่างชัดเจน มีการแบ่งเป็นพวกใครพวกมันในทุกระดับชั้นของสังคม ฝ่ายหนึ่งไปอีกฝ่ายหนึ่งมา คำว่า “สองมาตรฐาน” จึงถูกนำมาใช้สำหรับการดำเนินการที่ไม่เท่าเทียมกันที่ “อีกฝ่ายหนึ่ง” เป็นผู้ทำครับ
       ผมคงไม่ต้องยกตัวอย่างอะไรมากมายนักเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้คนพยายามออกมาบอกว่า “สองมาตรฐาน” ถ้าเรามองอย่างใจเป็นธรรม เราก็คงรู้เอง เพราะอย่างที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้นว่า สองมาตรฐานไม่สามารถวัดได้ด้วยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการมากกว่าเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของตัวบทกฎหมาย สังคมเราในวันนี้เกิดการบังคับใช้กฎหมายและการใช้อำนาจทางการเมืองแบบที่แตกต่างกัน ไม่ต้องดูอื่นไกลนะครับ ล่าสุดที่เกิดขึ้น ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เด็กนักเรียนเขียนป้ายที่มีข้อความกระทบกับการเมืองก็ถูกจับเข้าสถานพินิจเด็กและเยาวชน ประชาชนผูกผ้าแดงที่ป้ายสี่แยกก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย ในขณะที่คนเป็นร้อยชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ต่อมาย้ายไปชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินนอก มีการตั้งเวทีปราศรัย ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ผิดพระราชกำหนดดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง กลับไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นตัวอย่าง “เล็กๆ” ที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อไม่กี่วันนี้เองครับ ส่วนตัวอย่าง “ใหญ่ๆ” อีกเรื่องหนึ่งที่ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบอยู่ก็คือ ผู้ชุมนุมยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ ปิดล้อมรัฐสภา ตำรวจใช้กำลังสลาย ถูกสอบสวนโดนไล่ออก ส่วนกรณีผู้ชุมนุมยึดสี่แยกราชประสงค์ ทหารใช้กำลังเข้าสลาย คนตายร่วมร้อย บาดเจ็บหลายพันกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ
       ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่ผมคงไม่ต้องหยิบยกมาพูดให้สะเทือนความรู้สึก และสร้างความ “น้อยใจ” ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจาก “สองมาตรฐาน” เพราะจริงๆ แล้ว คนไทยทุกคนในฐานะผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ต่างก็มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจากหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเงินภาษีเหล่านี้ก็คือ “ค่าจ้าง” ที่ประชาชน “จ้าง” พวกคุณมาบริหารประเทศ มาเป็นตำรวจ มาเป็นทหาร เพื่อดูแลทุกข์สุขให้กับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เพื่อ “ดูแล” หรือ “รับใช้” คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะนะครับ !!!
       เราจะแก้ปัญหา “สองมาตรฐาน” ได้ไหม ? เป็นคำถามที่หลายๆ คนอยากรู้กันมาก
       ผมเคยเสนอผ่าน “ผู้มีอำนาจ” ไปแล้วหลายครั้งว่า อะไรที่ใครบอกว่าสองมาตรฐานก็ต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบออกมาชี้แจงว่าทำไมถึงเข้าใจกันไปว่าสองมาตรฐาน ลองยกตัวอย่างดูก็ได้ว่า หากมีฝ่ายหนึ่งบอกว่า เรื่องของอีกฝ่ายหนึ่งค้างอยู่ที่ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ป.ป.ช. กกต. ฯลฯ มาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนเรื่องของฝ่ายตนเองบรรดาองค์กรเหล่านั้นก็รีบดำเนินการ ไม่ยากหรอกครับ ทำแบบ ศอฉ. แถลงข่าวก็ได้ เอาผู้ที่เกี่ยวข้องและสามารถให้ข้อมูลได้ออกมานั่งกันให้เต็มจอทีวี อธิบายว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด ช้าเพราะเหตุใด และคาดว่าจะเสร็จเมื่อไร ชี้แจงให้เป็นระบบและชัดเจน ผมว่าคนคงหายสงสัยไปได้มากนะครับ นี่คือวิธีการแก้ปัญหาของสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้องแก่ประชาชน และให้ประชาชนรับทราบด้วยว่า “น่าจะ” ใช้เวลาในการดำเนินการอีกนานเท่าไรสำหรับแต่ละเรื่อง ส่วนในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินการที่มีลักษณะสองมาตรฐานอีก หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะต้องพยายามมีความเป็นกลางทางการเมืองให้มากขึ้น หยุดที่จะฟังและทำตามนักการเมืองโดยละเลยกับหลักนิติรัฐ หลักของความเป็นข้าราชการที่ดี คงต้อง “สำนึก” ให้มากขึ้นว่า มีงานทำและมีเงินใช้ได้ทุกวันนี้ก็เพราะภาษีจากประชาชนทั้งประเทศ ในการทำงานควรทำด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว ชัดเจน มีคำตอบ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เสนอข้อเท็จจริง ข้อเสนอ “เชยๆ” ที่กล่าวไปแล้วนี้ไม่ล้าสมัยหรอกครับ เพราะยังเป็นสิ่งที่เราไม่ให้ความสนใจที่จะทำอย่างเสมอต้นเสมอปลายต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานจนทำให้ความแตกแยกในสังคมขยายออกไปกว้างมากขึ้นทุกวัน
       ฝ่ายประชาชน ผู้ที่มั่นใจว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่มีลักษณะ “สองมาตรฐาน” ก็น่าจะลองใช้สิทธิทางศาลยุติธรรมด้วยการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อไป หรือไม่ก็ใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรา 72 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 คือปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนดในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หลายๆ คนอาจ “ส่ายหน้า” ว่าการใช้สิทธิทางศาลกว่าจะรู้ผลก็ต้องใช้เวลานาน แต่ผมก็ยังเห็นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุดเพราะเป็นการ “ต่อสู้” ตามกฎหมายครับ ฟ้องกันมากๆ ให้มีข่าวออกมามากๆ ผู้มีอำนาจที่จะใช้วิธี “สองมาตรฐาน” ก็จะต้องระวังตัวมากขึ้นที่จะใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าว ไม่ช้าไม่นานสถานการณ์ก็คงจะดีขึ้นไปเองครับ เพียงแต่ต้องอาศัย “ความกล้า” และ “เวลา” เท่านั้นเองครับ !!
       สำหรับฝ่ายการเมือง ผมว่าหยุดได้แล้วที่จะใช้ “สองมาตรฐาน” เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง แค่นี้ก็ไม่รู้แล้วว่าจะหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างไรครับ ควรหยุดแทรกแซงและสั่งการฝ่ายข้าราชการประจำและในขณะเดียวกันก็ควรหาทางให้มีการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และต้องพยายามหาทางทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาสู่มาตรฐานเดียวให้ได้ รัฐบาลสองมาตรฐานคงไม่สามารถนำความสงบสุขและความปรองดองกลับมาสู่ประเทศได้อย่างแน่นอนครับ !!!
       ข้อเขียนนี้คงไม่สมบูรณ์ หากจะไม่กล่าวถึง “สื่อ” ที่ในวันนี้ก็สองมาตรฐานกันเสียเหลือเกิน ขนาดการ์ตูนก็ยังสองมาตรฐานเลยครับ !!! คงจะต้องหันกลับมาปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ร่ำเรียนกันมาใหม่นะครับ พยายามทำตัวให้เป็นกลาง อย่าเลือกข้าง นำเสนอสิ่งที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนให้มากที่สุดและดีที่สุด ต้องไม่ลืมว่าสื่ออยู่เหนือการเมืองนะครับ ไม่ใช่อยู่กับการเมือง อยู่ในการเมืองหรืออยู่ใต้การเมืองครับ
       หากยังปล่อยให้บ้านเมืองของเราอยู่ในสภาวะ “สองมาตรฐาน” ต่อไป ความแตกแยกก็ต้องมีมากขึ้น จนในที่สุดระบบต่างๆ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสังคมและประเทศก็จะต้อง “ล่มสลาย” เมื่อถึงวันนั้น ผู้คนจะไม่มีความเชื่อถือในรัฐบาล ไม่มีความเชื่อถือในเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ ไม่มีความเชื่อถือในทหาร ไม่มีความเชื่อถือในตำรวจ และไม่มีความเชื่อถือในฝ่ายตุลาการ แล้วประเทศเราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไรครับ บ้านเมืองที่ไร้กฎเกณฑ์ ไร้กติกาคงไม่ใช่สิ่งที่พวกเราอยากเห็นหรืออยากให้เกิดขึ้นครับ !!!
       หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 9” ยังคงมีแจกอยู่นะครับ ใครสนใจก็รีบติดต่อมาได้ตามเงื่อนไขที่ได้นำเสนอไว้ในกรอบข้างบนนี้ครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอรวม 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณไกรพล อรัญรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง “สภาพบังคับของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” บทความที่สอง เป็นบทของอาจารย์ปิติเทพ อยู่ยืนยง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เรื่อง “The UK’s legal ability to adapt to climate change” บทความที่สามได้แก่บทความเรื่อง “การพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน (คุณหญิงจารุวรรณฯ)” ที่เขียนโดย คุณนรินทร์ อิธิสาร และบทความสุดท้าย “เผด็จการหรือไม่ ดูตรงไหน” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1487
เวลา 20 เมษายน 2567 19:56 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)