เผด็จการหรือไม่ ดูตรงไหน

15 สิงหาคม 2553 21:51 น.

       การเมืองไทยภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯมีปรากฏการณ์ประหลาดๆเกิดขึ้นมากมาย ผู้ที่ไม่ชอบก็บอกว่านี่เป็นการปกครองในระบอบเผด็จการชัดๆ ผู้ที่ชื่นชอบก็บอกว่าถูกต้องแล้วประเทศไทยต้องใช้มาตรการแบบนี้แหละถึงจะเหมาะสม ไม่ใช่เผด็จการสักหน่อย ก็เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่ออินเตอร์เน็ต
       การปกครองในระบอบเผด็จการ(dictatorship)นั้นเป็นระบอบการปกครองที่มีมาอย่างยาวนานแทบจะเรียกใด้ว่าเป็นรูปแบบการปกครองแรกเริ่มของมนุษย์ ซึ่งผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมทุกอย่างในสังคม แต่ในสมัยโรมันการปกครองแบบเผด็จการจะถูกนำมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ในช่วงวิกฤติการณ์สังคมโรมันจะเปิดโอกาสให้ผู้นำที่มีความเข้มแข็งเข้ามาทำงานรับใช้ชาวโรมันเป็นระยะเวลา ๖ เดือน เพื่อสร้างกฎระเบียบและรับประกันความมีเสถียรภาพของบ้านเมืองในช่วงคับขัน เช่นภาวะสงคราม โรคระบาด ฯลฯ เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้นำคนนั้นก็ต้องคืนอำนาจเบ็ดเสร็จนั้นให้แก่ประชาชน
       เราสามารถแบ่งการปกครองแบบเผด็จการได้เป็นสองระดับ คือ แบบอำนาจนิยม(authoritarianism) กับ แบบเบ็ดเสร็จ(totalitarianism)
       เผด็จการแบบอำนาจนิยม(authoritarianism) มาจากคำว่า อำนาจหน้าที่ หรือ authority ซึ่งเป็นการสร้างอำนาจอย่างเป็นทางการ(formal) โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
       ๑)ปกครองโดยคนกลุ่มน้อย
       การตัดสินใจทุกอย่างทางการเมืองมาจากผู้ปกครองกลุ่มเดียวที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวก ผู้ปกครองกลุ่มนี้ไม่ยอมให้ให้อำนาจของตนเองต้องถูกลดลง หรือไม่ยินยอมให้กลุ่มการเมืองอื่นเข้ามาท้าทายอำนาจของตนเอง จึงทำให้ฝ่ายค้านถูกจำกัดบทบาทหรือแทบจะไม่มีฝ่ายค้านในสภาเลย
       ๒)ไม่ต้องการผู้ที่ไม่เห็นด้วย
       
ฝ่ายค้านหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือคนนอกกลุ่มจะถูกกีดกันออกจากการเมือง โดยอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำผิดกฎหมาย รวมทั้งการจับกุม ปิดสถานที่ทำการ ปิดสื่อสารมวลชน รายการวิทยุโทรทัศน์หรือนิตยสารใดๆที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง ทำลายการต่อต้านอย่างสันติและจับกุมผู้ที่ต่อต้าน
       ๓)ใช้กำลังเข้าข่มขู่
       
นักการเมืองที่เป็นเผด็จการจะแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงพลังอำนาจผ่านทาง”กองทัพ”หรือ”ตำรวจลับ”หรือหน่วยพิเศษต่างๆซึ่งถือได้ว่าเป็นมือขวามือซ้ายของตนเลยทีเดียว ทั้งนี้ เพื่อเข้ากดดันโดยใช้มาตรการรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การทรมาน การกดดันทางเศรษฐกิจ และการใช้มาตรการทางจิตวิทยา โดยมักจะอ้างกับประชาชนว่ากระทำไปเพื่อเสถียรภาพและความมั่นคง
       ๔)ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ประชาชนสนันสนุน
       มีการใช้การโฆษณาชวนเชื่อ(propaganda)อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองมากกว่าที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชน
       ๕)สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน
       
ผู้นำเผด็จการเชื่อว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะจะทำให้ไม่มีความสามัคคี และยังทำให้กระทบต่อระเบียบและความสงบเรียบร้อยของรัฐ ประชาชนอาจจะมีเสรีภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่บ้างแต่อยู่ในขอบเขตจำกัด
       ส่วนเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ(totalitarianism)นั้น เป็นเผด็จการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะนำสังคมไปสู่สังคมที่สมบูรณ์แบบ(perfect society) โดยมีหลักการทั้งหมดของเผด็จการแบบอำนาจนิยมผนวกรวมเข้ากับหลักการดังต่อไปนี้
       ๑)ควบคุมอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบความคิด
       ผู้ปกครองจะจะควบคุมประชาชนทุกด้านของชีวิต ผู้นำจะสร้างรูปแบบของอุดมการณ์แบบเบ็ดเสร็จและบังคับให้ประชาชนต้องยึดมั่น เช่น อุดมการณ์คอมมิวนิสม์ อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ฯลฯ
       ๒)มีพรรคการเมืองพรรคเดียว
       พรรคอื่นนอกจากพรรคของผู้นำเองไม่สามารถก่อตั้งขึ้นอย่างถูกกฎหมายได้ เช่น ในสหภาพโซเวียตในอดีตหรือจีนและเกาหลีเหนือ เป็นต้น
       ๓)มีการใช้ความรุนแรงและการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ
       มีการใช้ตำรวจลับเพื่อควบคุมกิจกรรมทั้งปวงของฝ่ายตรงกันข้ามอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเผด็จการแบบอำนาจนิยม
       ๔)มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการควบคุมรัฐ
       ในรัฐเผด็จการยุคใหม่ต่างๆเหล่านี้จะใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อการควบคุมโดยกำลังทหารและมีการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจและควบคุมสื่อสารมวลชนอย่างเด็ดขาด
       จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้อ่านคงพอที่จะเปรียบเทียบได้ว่าการปกครองของไทยเราในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบใดระหว่างประชาธิปไตย เผด็จการแบบอำนาจนิยม หรือเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ หรือว่าคละเคล้าปะปนกันไป โดยที่ผมคงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างให้เห็นในแต่ละกรณีๆไป
       
       ไม่ได้กลัวว่าจะถูกจับกุมคุมขังอะไรหรอกครับเพราะผมเชื่อว่ายังมีสายตาจับจ้องจากหลายฝ่ายอยู่ทั้งในและนอกประเทศ แต่กลัวต้องถูกส่งเข้าบำบัดจิตน่ะครับ เพราะแม้แต่เด็กนักเรียนท่านยังไม่เว้นเลย
       
       --------------------------


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1489
เวลา 4 พฤษภาคม 2567 10:47 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)