ครั้งที่ 252

20 พฤศจิกายน 2553 21:45 น.

       ครั้งที่ 252
       สำหรับวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม 2553
       
       “ฉีกบัตรเลือกตั้ง”
       
                 จนถึงวันนี้ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้สังคมได้รับทราบจากทั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง คงมีแค่การ “แก้เกี้ยว” แบบ “เดิม” ที่ใช้กันอยู่ในหลายวงการและใช้กันมาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาคือ พอเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลหรือองค์กรระดับสูง “ในเชิงลบ” ก็มักจะมีข่าวการลอบสังหาร ข่าวที่พยายามโยงไปให้ถึงคนที่อยู่ต่างประเทศและที่ขาดไม่ได้ก็คือพยายามโยงไปให้ถึงสถาบันระดับสูงเพื่อ“กลบ” ข่าวที่เกิดขึ้นกับองค์กรหรือกับตนเองการสร้างหรือให้ข่าวลักษณะนี้แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษอยู่เลยก็ตาม แต่ก็ทำให้องค์กรหรือบุคคลที่มีปัญหา “รอด” ไปได้ทุกครั้งครับ ฉะนั้น ในวันนี้คงเดากันได้ว่า อีกไม่กี่วันเรื่องที่เป็นปัญหาจริง ๆ ก็จะค่อย ๆ เงียบหายไป ก็อย่างที่ผมได้เคยคาดเดาไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 250 ว่า เลือกที่จะอยู่เงียบ ๆ ปล่อยให้เรื่องผ่านไปโดยตัวเองก็ยังคงมีงานทำมีเงินใช้ต่อไป สบายกว่าลาออกเป็นไหน ๆ ครับ
                 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพระโขนงได้อ่านคำพิพากษา “สำคัญ” คำพิพากษาหนึ่ง เป็นคดีระหว่างโจทก์คือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กับจำเลยคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีฉีกบัตรเลือกตั้งที่เป็นข่าวครึกโครมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน
                 ผมเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อได้อ่านดูแล้วคิดว่าเป็นคำพิพากษาที่น่าสนใจ จึงขอนำมา “เล่า” ให้ฟัง ณ ที่นี้ โดยมีข้อพึงสังวรส่วนตัวว่าต้องให้ความระมัดระวังมาก ๆ มิฉะนั้น ภัยโดยชอบด้วยกฎหมายจะเข้ามาเยือนอย่างไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น หากนักวิจารณ์หรือนักวิชาการคนใดอ่านบทบรรณาธิการของผมครั้งนี้แล้วคิดว่าผมยังไป “ไม่สุด” หรือ “ไม่กล้า” ก็อย่าวิพากษ์วิจารณ์ผมเลย แต่ขอให้ลองไปเขียนเองแล้วกันเพราะผมยังไม่ค่อยมีความมั่นใจใน “ความยุติธรรม” ที่ยังหลงเหลืออยู่ว่าจะเป็น “หลักประกันที่เพียงพอ” สำหรับผมในการให้ความเห็นทางวิชาการที่ “บริสุทธิ์” หรือไม่ครับ !!! และอีกอย่าง การเขียนบทบรรณาธิการในเรื่องนี้แม้ผมจะอึดอัดอยู่บ้าง แต่ก็ต้องเขียนและก็มิได้มีเจตนาที่จะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือประสงค์ร้ายต่ออาจารย์ไชยันต์ฯ เพราะผมกับอาจารย์ไชยันต์ฯ เป็นเพื่อนกัน เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญบางรักมาด้วยกันครับ หากใครอ่านบทบรรณาธิการนี้แล้วคิดว่าความเห็นของผมไม่ตรงกับผลของคำพิพากษาก็มิได้หมายความว่าผมประสงค์ร้ายต่อเพื่อนนะครับ !!!  เป็นเพียงต้องการให้สาธารณชนเห็นอีกมุมมองหนึ่งของ “ความถูกต้อง” ผ่านสายตาของผมเท่านั้นเองครับ
                 คงต้องเริ่มในส่วนข้อเท็จจริงกันก่อน เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 62 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ในวันดังกล่าวเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อ.ไชยันต์ฯ ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แสดงตัวต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมา 2 ใบ คือแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นก็เดินเข้าคูหากาเครื่องหมายในช่องไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วเดินออกมาหน้าหน่วยเลือกตั้งและฉีกบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ต่อหน้าสื่อมวลชน เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมอ.ไชยันต์ฯ
                 อาจารย์ไชยันต์ฯ ต่อสู้คดีในชั้นศาลว่า การยุบสภาของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมิได้มีสาเหตุมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ไปสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ซักฟอกการกระทำที่มิชอบของตน  การยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและจะใช้ผลการเลือกตั้งฟอกความผิดของตนเอง และกำหนดวันเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การฉีกบัตรเลือกตั้งดังกล่าวจึงมีเจตนาที่จะต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเจตนาทำลายบัตรเลือกตั้ง
                 จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลพระโขนงได้นำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่ตัดสินว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในสองสาเหตุคือ การกำหนดวันเลือกตั้งกับการจัดคูหาเลือกตั้ง จึงมีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวมาเป็นหลักในการพิจารณาคดีนี้ โดยศาลพระโขนงเห็นว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่าการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการเลือกตั้ง จึงมีผลเท่ากับว่าในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 มิใช่ “วันเลือกตั้ง” ตามบทนิยามมาตรา 4 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา บัตรเลือกตั้งที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปในวันดังกล่าวจึงมิใช่บัตรเลือกตั้งแต่เป็นเพียง “แบบพิมพ์บัตรเลือกตั้ง” การกระทำของอาจารย์ไชยันต์ฯ จึงไม่อาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ ส่วนการฉีกแบบพิมพ์บัตรเลือกตั้งเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 258 หรือไม่นั้น ศาลได้วินิจฉัยว่า เนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้ว และการกระทำของอาจารย์ไชยันต์ฯ เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งในเรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 กรณียุบพรรคไทยรักไทยไว้แล้วว่า การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยการเลือกตั้งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือเป็นไปโดยไม่สุจริต ย่อมถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปัญหาจึงมีว่าการที่อาจารย์ไชยันต์ฯ ฉีกแบบพิมพ์บัตรเลือกตั้งเป็นการต่อต้านโดยสันติวิธีตามรัฐธรรมนูญตามที่อาจารย์ไชยันต์ฯกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ศาลใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มาเป็นเกณฑ์ในการค้นหาความหมายของคำว่า “ต่อต้าน” “ป้องกัน” “สันติ” “สงบ” “สันติวิธี” และในที่สุดศาลก็ได้ให้ความเห็นว่า การที่อาจารย์ไชยันต์ฯ มาใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วฉีกเฉพาะบัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับมาทั้งสองใบนั้นต่อหน้าสื่อมวลชนอย่างเปิดเผยเพื่อสื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม ฯลฯ การกระทำของอาจารย์ไชยันต์ฯ มีเจตนาเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่ชอบธรรม ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิป้องกันหรือต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการต่อต้านโดยสันติวิธี ส่วนบัตรเลือกตั้งที่ฉีกนั้น ศาลเห็นว่า เป็นทรัพย์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้ในการกระทำผิดในการจัดการเลือกตั้งและมีราคาเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองของประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว การกระทำของอาจารย์ไชยันต์ฯ พอสมควรแก่เหตุจึงเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามความมุ่งหมายมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 การกระทำของอาจารย์ไชยันต์ฯ ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่ฟ้อง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง
                 ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสรุปย่อคำพิพากษาของศาลพระโขนงที่ผมพยายามนำเอาเฉพาะส่วนสำคัญมาเล่าให้ฟังก่อน อย่างน้อยก็จะได้เป็นการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า การฉีกบัตรเลือกตั้งมีหรือไม่มีความผิดตามกฎหมายอย่างไร
                 อ่านคำพิพากษาแล้วก็ไม่รู้สึกแปลกใจอะไรนัก ด้วยเหตุที่ว่า คาดเดาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าผลของคำพิพากษาจะเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 สมาชิกสภาเทศบาลตำบลคนหนึ่งฉีกบัตรเลือกตั้ง แม้ว่าศาลจังหวัดพิจิตรจะมีคำพิพากษาจำคุก 2 เดือนผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งโดยไม่รอลงอาญาพร้อมตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยมีเหตุผลว่า ผู้ฉีกบัตรจงใจและเจตนาฉีกบัตรเลือกตั้ง ตัวผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งก็มีตำแหน่งทางการเมืองและมีการศึกษาระดับสูง จึงไม่รอลงอาญาก็ตาม  แต่ต่อมา ศาลจังหวัดสงขลาก็ได้สร้างแนวทางใหม่ขึ้นมาโดยได้พิพากษาเรื่องการฉีกบัตรเลือกตั้งไว้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยมีเหตุผลสำคัญคือ การฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นการต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับการฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรที่ยังไม่ได้ลงคะแนน จึงพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาหลังนี้เองที่ทำให้ผม “เชื่อมั่น” มาตลอดว่า เพื่อนผมรอดแน่ ๆ แล้วก็จริงอย่างที่ผมเชื่อครับ !!!
                 ผมจะไม่ขอพูดถึงผลของคำพิพากษา แต่ผมมีข้อสงสัยมากมายหลายอย่างหลังจากที่ได้ “พิเคราะห์” เนื้อหาของคำพิพากษาคดีอาจารย์ไชยันต์ฯ  เรื่องแรกที่คงต้องมีคำตอบให้ชัดเจนก็คือ บทบัญญัติในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” นั้น หมายความว่าอย่างไรกันแน่ จากสาระที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษา มาตราดังกล่าวประกอบด้วย 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อต้านโดยสันติวิธีนั้น เมื่อแรกเริ่มที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ ผมเข้าใจมาโดยสุจริตตลอดว่า บทบัญญัติดังกล่าวใช้กับการต่อต้านในรูปแบบและวิธีการที่ทำกันอยู่ในต่างประเทศ เช่น การชุมนุมโดยสงบหรือการอดอาหารประท้วงซึ่งต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขัดหรือแย้งกับตัวบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ แต่ผมไม่เคยคิดเลยเถิดไปไกลถึงการฉีกบัตรเลือกตั้งว่าเป็นการต่อต้านโดยสันติวิธีเพราะการฉีกบัตรเลือกตั้ง ยังไง ๆ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วครับ ส่วนเรื่องที่สองคือ การกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ผมก็เข้าใจมาโดยสุจริตตลอดเช่นเดียวกันว่า น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหาร แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า กำหนดวันเลือกตั้งเร็วเกินไปและการหันคูหา (ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ขึ้นอยู่กับวิธีการลงคะแนนและรูปร่างของแต่ละบุคคลที่จะทำให้การเลือกตั้ง “ลับ” หรือ “ไม่ลับ” ไม่ใช่ “ข้อกฎหมาย” ที่จะนำมาใช้กับการเลือกตั้งทั่วประเทศได้) ทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมไม่คิดจริง ๆ ว่าด้วยเหตุผล “แค่นี้เอง” ที่ทำให้การเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ครับ !!!  นี่เป็นกรณีแรกที่ “น่าจะ” มีใครซักคนมาอธิบายให้ชัดเจนกว่านี้ว่า “เป็นไปได้อย่างไร” ครับ !!! อย่างน้อย เวลาสอนหนังสือหรือต้องไปอภิปรายจะได้พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าอะไรเป็นอะไรครับ และนอกจากนี้ ผู้อธิบายคงต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า ทำไมการปฏิวัติรัฐประหารถึงยังคงทำได้ตามปกติและไม่เคยเป็นความผิดตามกฎหมายเสียทีครับ แถมองค์กรอย่างศาลยุติธรรมก็เคยออกมายอมรับและรับรองการปฏิวัติรัฐประหารและอำนาจของคณะรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์เอาไว้ในหลายคำพิพากษาฎีกา เช่น 1662/2505, 105/2506, 1352/2506, 341-350/2507 และ213/2508 เป็นต้น น่าจะมีคำตอบในเรื่องพวกนี้นะครับ
                 เรื่องต่อมาที่ผมสงสัยและอยากให้มีใครสักคนออกมาอธิบายให้ชัดเจนก็คือเรื่องมูลค่าของบัตรเลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมอ่านคำพิพากษายังไงก็ไม่เข้าใจอยู่ดี บัตรเลือกตั้งกลายมาเป็นแบบพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และในที่สุดก็กลายมาเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดแต่การทำลายทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งเป็น “ทรัพย์สินของทางราชการ” และผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายไปทำลาย ถามจริง ๆ เถิดครับว่า มีความผิดหรือไม่เพราะแม้ทรัพย์สินของทางราชการที่ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและมีราคาเพียงเล็กน้อยก็จริง แต่ถ้าหากต้องทำลายทรัพย์สินดังกล่าว การทำลายคงไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะสามารถทำลายทรัพย์สินของทางราชการได้ เท่าที่ทราบเรื่องดังกล่าวมีกระบวนการกำหนดเอาไว้แล้ว เรื่องนี้คงต้องถาม “ผู้ปฏิบัติ” ในส่วนราชการทั่วประเทศว่าทุกคนสามารถทำลายทรัพย์สินของทางราชการได้หรือไม่ครับ คงมีคำตอบที่ชัดเจนกว่าที่อ่านพบในคำพิพากษาเป็นแน่ !! เพราะไม่เช่นนั้นหากใครก็ได้นึกจะทำลายเอกสารของทางราชการเมื่อใดก็ทำได้คงสนุกแน่ ๆ ครับ
                 สมัยผมรับราชการใหม่ ๆ ได้รับการอบรมสั่งสอนจากหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ว่าต้องช่วยกันประหยัด รักษาทรัพย์สินของทางราชการ ผมยังจำได้ดีว่า ดินสอแม้จะใช้จนสั้นกุดแต่หน่วยงานก็มีด้ามต่อดินสอไว้ให้ใส่ดินสอที่เหลือสั้น ๆ เพื่อที่จะใช้งานต่อไปได้อีก ไม่ทราบว่าวันนี้ยังคงคิดอย่างนี้อยู่หรือเปล่านะครับ หรือว่าพอตัวเองคิดเอาเองว่าทรัพย์สินของทางราชการมีราคาเพียงเล็กน้อยก็โยนทิ้งหรือทำลายกันได้แล้ว !!!  “ราคา” กับ “ความเป็นทรัพย์สินของทางราชการ” ไม่น่าจะเป็น “เรื่องเดียวกัน” นะครับ !!!
                 ผม “เป็นห่วง” ผลที่เกิดจากคำพิพากษาเรื่องนี้มากเพราะอาจทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานให้คนรุ่นใหม่นำไปใช้ต่อไปในวันข้างหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิในการต่อต้านโดยสันติวิธีที่ไม่ควรขยายขอบเขตออกไปมากจนเกินไป มากจนทำให้สิทธิดังกล่าวอยู่เหนือตัวบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งก็จะส่งผลและสร้างปัญหาต่อไปในอนาคตอย่างมาก กระทบต่อการเลือกตั้ง กระทบต่อระบอบประชาธิปไตย กระทบต่อระบบความยุติธรรมของประเทศ
                 ที่ผ่านมา ระบบที่ถูกต้องและที่ควรเป็นของเราไปผูกติดกับคำพิพากษาศาลยุติธรรมหลายคำพิพากษาจนทำให้ระบบที่สำคัญของเรา “รวน” ไปและยังหาทางแก้ไม่ได้ เช่น บรรดาคำพิพากษาที่รับรองอำนาจของคณะรัฐประหารที่ยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลยุติธรรมที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบางเรื่องที่ทำให้นักกฎหมายมหาชนและนักรัฐศาสตร์ต้อง “อึ้ง” ไปกับเหตุผลและสภาพที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างมาก เป็นสภาพที่คงไม่มีใครกล้าพูดได้ว่าเราเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ นอกจากนี้แล้ว คำพิพากษาศาลยุติธรรมอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ระบบที่สำคัญของเรารวนก็คือคำพิพากษาเกี่ยวกับความเป็นนิติบุคคลของรัฐซึ่งในทางปฏิบัติจะพบว่ารัฐไทยเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับรัฐอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ในทางกฎหมาย คำพิพากษาฎีกาที่ 724/2490 กลับบอกว่ารัฐไทยไม่เป็นนิติบุคคล เรื่องดังกล่าวจึงทำให้เกิด “บรรทัดฐาน” ที่ขัดต่อหลักวิชาการ หลักประชาธิปไตย หลักรัฐศาสตร์ และหลักอื่น ๆ อีกมากมายรวมทั้งยังสร้างปัญหาให้เกิดกับระบบบริหารราชการแผ่นดินและน่าจะเป็นที่มาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการทุจริต     คอร์รัปชันในสังคมไทยที่มีอยู่อย่างมากทุกวันนี้ เพราะองค์กรของรัฐทั้งหมดและเกือบจะทุกระดับเป็นนิติบุคคล มีอำนาจตามกฎหมายรวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถทำได้เองเพราะเป็นนิติบุคคลครับ !!!
                 เรื่องสุดท้ายที่อยากได้คำตอบจากผู้รู้ก็คือ จะทำอย่างไรกับคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยที่หากปล่อยเอาไว้ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปไม่รู้จบรวมทั้งยังสร้างความสับสนให้กับวงการนิติศาสตร์อย่างมากอีกด้วยครับ !!!
                 ก่อนจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้พจนานุกรมนะครับ ผมไม่ทราบว่าทำไมในคำพิพากษาที่สำคัญ ๆ ในระยะหลังมักจะอ้างความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมาเป็นส่วนประกอบของการพิจารณาคดีทั้ง ๆ ที่ความหมายดังกล่าวเป็นความหมายที่มีลักษณะเป็นการ “ทั่วไป” ไม่ใช่ความหมาย “เฉพาะ” ในทางนิติศาสตร์หรือศาสตร์อื่น ๆ ซึ่งก็มีพจนานุกรมเฉพาะทางเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จริง ๆ แล้วสำหรับผม พจนานุกรมยังมีความสำคัญอีกหลายอย่าง เช่นใช้ตรวจคำที่เราไม่แน่ใจในการเขียนหรือการสะกดว่า เราเขียนหรือสะกดถูกต้องหรือไม่ ซึ่งการใช้พจนานุกรมในแบบหลังนี้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากอีกเช่นกันและสามารถใช้ได้กับคำทุกคำที่ต้องการโดยไม่ต้องดูว่าจะเป็นคำทั่วไปหรือคำเฉพาะ หากคำดังกล่าวปรากฏอยู่ในพจนานุกรม แต่ผมไม่คิดว่าการใช้พจนานุกรมเพื่อตรวจคำสะกดจะมีคนใช้กันมากมายนัก เพราะไม่เช่นนั้น ในคำพิพากษาคดีอาจารย์ไชยันต์ฯ ในหน้าที่ 7 บรรทัดที่ 9 ตอนท้าย คงไม่เขียนคำว่า “สุจริต” เป็น “สุดจริต” เป็นแน่ครับ !!!
                 ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอบทความเดียว คือบทความเรื่อง “ขายตัวเป็นโสเภณี แล้วไง” ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความครับ และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้ให้สัมภาษณ์ผ่านวิทยุ เอฟเอ็ม 100.5 รายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" เรื่อง "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" และหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ได้ทำการเผยแพร่ไว้ในวันเดียวกัน ผมจึงได้ขออนุญาตนำเอามาลงไว้ใน www.pub-law.net ด้วยครับ  นอกจากนี้เรายังมีหนังสือใหม่จากสถาบันพระปกเกล้ามาประชาสัมพันธ์ด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2553
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1529
เวลา 27 เมษายน 2567 00:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)