ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50

21 พฤศจิกายน 2553 23:06 น.

       ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์ในรายการช่วยกันคิด ทิศทางข่าว สถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 อสมท. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ ว่า เข้าใจได้ว่าเป็นกรรมการคณะนี้แต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมีเหตุผลส่วนตัวและหลายเรื่องเท่าที่ได้ทราบข้อมูลคิดว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่มีแต่นักวิชาการและนักกฎหมายด้วยกัน เป็นการแก้ทั้งระบบ แต่พอได้ทราบชื่อเห็นว่ามีคนที่ไม่ได้เป็นนักกฎหมายก็มีคนที่เคยเป็นตัวตั้งตัวตีเขียนรัฐธรรมนูญฉบับเก่าแถมยังมีโจทย์ที่จะดูแค่ 6 ประเด็นจึงไม่ได้เข้าประชุม
       
       ผู้ดำเนินรายการถามว่ากรอบของอาจารย์นันทวัฒน์ใหญ่กว่านั้นไม่ใช่แค่ 6 ประเด็น
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ต้องไปดูก่อนว่านายกฯตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ซึ่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากที่มีปัญหา และตั้งมาในระยะเวลาใกล้เคียงกับคณะปรองดองทั้งหลาย คำถาม คือว่า การแก้รัฐธรรมนูญทำให้เกิดการปรองดองได้จริงหรือเปล่าเพราะเอาไปผูกติดกันเข้าก็ต้องลองดู ถ้าสังคมออกมาพูดว่าเราต้องปรับโครงสร้างประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการซึ่งหมายความว่า ต้องรื้อรัฐธรรมนูญใหม่ต้องดูหลายๆเรื่อง การวางระบบสวัสดิการ งบประมาณ ซึ่งประเทศที่เขามีรัฐสวัสดิการเขาวางหมวดกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแยกเป็นหมวดสวัสดิการ แต่พอโจทย์มันเหมือนกับชุดที่นายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ทำมันจึงไม่ใช่การแก้เพื่อจะปรองดองหรือยุติปัญหามันก็ไม่มีประโยชน์
       
       ผู้ดำเนินรายการถามจาก 6 ประเด้นของอาจารย์สมบัติ ทำให้รัฐบาลเลือกไปแค่ 2 ประเด็นในการแก้จริงๆในรอบนี้คือเรื่องเกี่ยวกับเขตเลือกตั้งใหญ่ไปสู่เล็กและมาตรา 190 เรื่องสนธิสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา 2 ประเด็นนี้คิดว่าเอาอยู่หรือไม่ในแง่การขออนุมัติจากสภา
       
       "ผมไม่แน่ใจว่าสภาคิดยังไง ในฐานะประชาชนถามว่าผมเห็นด้วยหรือไม่ ผมตอบได้เลยว่าไม่เห็นด้วยเพราะสองประเด็นนี้ไม่คิดว่ามันจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องปรองดองและเรื่องปฏิรูปการเมืองเลย เพราะว่าโจทย์ใหญ่จริงๆมันไปไกลกว่านั้นเยอะ ถ้าเราดูปัญหาของประเทศตามรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเห็นว่ามีแต่คนบอกว่าดี แต่กลไกการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้ไม่ได้เลย และกลไปที่ใช้ไม่ได้ก็มีที่มีจาก 2-3 ฐาน ซึ่งมีที่มาจากฐานที่ 1 คือ วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ฐานที่ 2 ให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งแต่งตั้งคนให้เข้าไปอยู่ในองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ปัญหาของประเทศกันจริงๆต้องเข้าไปดูในจุดนี้ ไม่ได้ไปดูว่าเลือกตั้งแบบเขตเดียวหรือคนเดียวรวมทั้งมาตรา 190 คิดว่าประชาชนและประเทศชาติจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะมันเป็นการแก้เลือกเรื่องตั้งเพื่อการเมืองเพราะก็ไม่มีแบบไหนที่จะดีกว่ากันเพราะแต่ละประเทศก็ใช้ต่างกัน เหมือนกับการปกครองในบ้านเรา บางประเทศก็มีวุฒิสภามาจากท้องถิ่นและอื่นๆ ระบบเลือกตั้งเหมือนกันขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆว่าจะดีไซน์ออกมาแบบไหน ผมไม่คิดว่ามันจะมีปัญหาอะไรทั้งนั้น ผมตอบไม่ได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะเลือกหรือไม่เลือกเพราะมันไม่มีเกณฑ์เลยว่าถูกผิด ขาวหรือดำ เพราะทั้งสองระบบเขาใช้กันทั้งนั้น ส่วนมาตรา 190 เข้าใจว่าถ้ารีบออกกฎหมายมาตั้งแต่ต้นป่านนี้ก็คงจบแล้ว ตั้งแต่ออกรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือถ้าแย่กว่านั้นถ้าออกไม่ได้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องสนธิสัญญามากที่สุดก็ทำบัญชีออกมาว่าสนธิสัญญาประเภทใดบ้างที่ควรเข้าสภาหรือตกลงได้เลย ทั้งสองประเด็นไม่มันได้เป็นการแก้ปัญหาของประเทศเลยในความเห็นของผม" ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าว
       
       พิธีกรถามว่าเป็นไปได้ไหมว่าจริงๆอยากเอาสองประเด็นขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนส่วนประเด็นภาพรวมให้ไปว่ากันในชุดของคณะอาจารย์ นพ.ประเวศ วสี และนายอนันท์ ปันยารชุน
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า มันไม่ใช่การแก้ปัญหาเลย ถ้าบอกว่าแก้เพื่อปรองดองอันนี้ไม่ใช่เด็ดขาด มันไม่เกี่ยวอะไรกับปรองดอง เพื่อปฏิรูปประเทศก็ไม่ใช่ เพื่อแก้ปัญหาประเทศก็ไม่ใช่ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญเรายังไม่ได้มีการวิเคราะห์กันอย่างชัดเจนเลย แม้กระทั้ง ส.ว.เขาอาจจะไม่ใช่ปัญหาประเทศก็ได้ที่นำไปสู่การรัฐประหารปี 2549 ต้องดูให้ละเอียดมากกว่านี้ต้องตั้งโจทย์ให้ชัดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไปเพื่ออะไร มีช่วงเวลาหนึ่งของการทำงานภายใต้หน้าตาขึงขังไปทำโน่นทำนี่ฟังความคิดเห็น แต่ในฐานะผู้เสียภาษีเสียดายเงินเพราะไม่ได้นำเงินไปทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติเลย เพราะกรรมการชุดของนายดิเรก ก็ได้ไปทำเรียบร้อยแล้ว แถมไม่ได้ต่างกันเลย แถมยังไปไกลกว่านั้น การที่รัฐบาลนำแต่ 2 ประเด็นมาแก้คณะกรรมการชุดต่างๆจะว่ากันอย่างไร ทำกันแทบเป็นแทบตามหมดเงินประเทศไปเท่าไร น่าจะมาดูเหมือนกันว่าทั้งเบี้ยประชุมการจัดสัมมนาต่างจังหวัดรับฟังความคิดเห็นใครต่อใครเยอะแยะไปหมด แต่ที่รัฐบาลแก้แค่ 2 ประเด็นแล้วมันต่างกับชุดของนายดิเรก ขนาดไหน ซึ่งการตั้งคณะกรรมการมันง่าย เพราะบางประเทศตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อเวลาทำให้อะไรก็ได้ไม่มีข้อยุติ แต่ปัญหา คือว่า ระบบแบบนี้มันแก้ปัญหาของประเทศได้หรือไม่
       
       ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่าตอนที่จะให้ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 มาคือการขอประชามติ แล้วการแก้จำเป็นหรือไม่ที่ต้องไปขอประชามติอีกครั้ง
       
       "มันผิดตั้งแต่ขอรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้มาจากความประสงค์ของประชาชนเลย และรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวแทนประชาชนมากกว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ด้วยซ้ำไป ฉะนั้นการขอประชามติปี 2550 ภายใต้แรงกดดันแรงคัดค้าน คือ แม้แต่คนร่างรัฐธรรมนูญยังบอกให้รับไปก่อนแล้วมาแก้ทีหลังคิดว่ามันต้องถาวรทำให้คุณค่าน้อยมาก เพราะผ่านการเขียนมาที่ไม่เป็นระบบ เขียนมายังไงก็แก้ปัญหาไม่ได้ ในบางประเทศเขาขอเสียงประชามติจากประชาชนแต่ไม่ได้ออกเสียงประชามติแล้วค่อยแก้ แต่ต้องแก้เสร็จแล้วถึงไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ไม่ใช่ถามประชาชนแก้หรือไม่ ในเมืองรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาเป็นคนแก้ก็แก้ไป แต่ก่อนที่จะมีผลใช้บังคับแล้วให้ประชาชนลงมติเห็นสมควรในการบังคับใช้ตามที่แก้หรือไม่ " ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า
       
       ผู้ดำเนินรายการถามว่าในฐานะที่อาจารย์เป็นนักวิชาการจะเอาอะไรดีระหว่างรธน.50 หรือทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญ
       
       "เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ผมเข้าใจว่ามีนักการเมืองและนักวิชาการหลายคนที่ฟัง อาจารย์หลายคนที่พูดมีนักวิชาการหลายคนที่พูดแต่บังเอิญนักวิชาการที่พูดกับคิดและนักการเมืองที่ฟังดันเป็นคนที่อยู่นอกกรอบอำนาจทั้งหมด ฉะนั้นเวลาที่จะเลือกเขาจะเลือกนักวิชาการที่แก้รัฐธรรมนูญตรงกับใจเขาไปทำ จริงๆมีหลายกลุ่มที่มีแนวความคิดว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างไรบ้าง ถ้าถามผมจริงๆแล้ววันนี้ต้องดูทั้งระบบง่ายๆ คือ จะเอารัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2540 มาดูในสองส่วน ส่วนแรกดูในเรื่อง เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง และสองดูปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญตัวบทในรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ชองทั้งสองฉบับ หรือเกิดขึ้นจากการที่คนไปใช้ช่องว่าง และหลีกเลี่ยงการใช้รัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นส่วนเนื้อหาก็แก้ไป แต่ถ้าเป็นเรื่องของคนใช้ซิกแซกหาช่องทางอันนี้ก็ต้องซิกแซกหาช่องอุดเช่นเดียวกัน มันไม่ควรเป็นบรรยากาศ 3 วัน 7 วัน ต้องให้นายกฯมากล่าวเปิดถึงเวลาก็ต้องมานั่งรายงานสื่อมวลชน คือ ต้องทำทางวิชาการเงียบๆไปก่อนพอถึงเวลาแล้วค่อยเข้ากระบวนการอย่างที่สากลทำกัน พอทำเสร็จแล้วก็เอาร่างประชามติให้คนลงความเห็นไปเลย หรือจะปล่อยออกมาทีละหมวดก็ได้ มันมีหลายรูปแบบมากแต่ไม่ใช่ที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า
       
       พิธีกรถามว่าในแง่ของฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยถ้าดีที่สุดต้องใช้รธน.เป็นฐานและตั้งคำถามว่าหากรธน.ไม่ผ่านสภารัฐบาลต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบของรัฐบาลมีมากน้อยแค่ไหน
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลก็มีความรับผิดชอบทุกเรื่อง ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีหรือประเด็นที่เดือดร้อนกันอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญมันเป็นเรื่องที่จะหาคนรับผิดชอบได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิด มันขึ้นอยู่กับนักการเมืองเราไปบังคับเขาไม่ได้และการที่เขาคิดว่าการเสนอร่างกฎหมายสำคัญแล้วตกในสากลประเทศรัฐบาลต้องลาออก เขาก็ต้องออกแต่ถ้าคิดว่ารัฐบาลต้องอยู่เพื่อแก้ปัญหาของประเทศกลัวว่าจะมีช่องว่างเหมือนที่ชอบพูดกันก็อยู่ต่อไป ไม่มีใครว่าอะไรเพราะวันนี้ไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่านี้แล้ว เราผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้วและเรายังอยู่ในจุดที่แย่ที่สุดทางด้านวิชาการ ด้านความคิดเพราะฉะนั้นทำหรือไม่ทำก็มีค่าเท่ากัน คิดว่ามันไม่แปลกใจที่รัฐบาลจะลาออกหรือไม่ลาออกถ้าลาออกน่าจะแปลกใจมากกว่า
       
       ผู้ดำเนินรายการถามว่าอาจารย์อยากให้แก้รธน.เป็นระบบและรัฐบาลไม่ควรลุกลี้ลุกล้นที่จะทำถ้าไม่ทันก็ให้ยกไปในรัฐบาลหน้า
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายแนวความคิดอาจจะต้องจัดการเรื่องวิธีคิดให้ลงตัว บางแนวความคิดที่เชื่อว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกส่วนมีสิทธิทำได้ แต่บางคนก็บอกว่ามีแค่นักวิชาการที่ทำได้ เหมือนการสร้างบ้านในต่างจังหวัดถ้าสร้างไม่เป็นก็ต้องไปเกณฑ์ชาวบ้านให้มาช่วยสร้างบ้านมันก็อยู่ได้ กับวันนี้ที่เรามีวิศวกรที่มีความรู้ความเจนจัดทางด้านนั้นโดยเฉพาะมีประสบการณ์เราก็ต้องเลือกคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาทำงาน ไม่ใช่เลือกคนที่เป็นคู่สัมปทานกับรัฐ แค่สร้างถนนยังต้องเอาคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้วทั้งนั้นเลย แล้วไม่ใช่พวกที่มีประสบการณ์อย่างเดียวถ้าคนที่มีประสบการณ์ทำไม่ดีก็ขึ้นบัญชีดำด้วย เช่น คนที่ทำรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วทำออกมามีปัญหาเงียบกันหมด คนพวกนี้ต้องขึ้นบัญชีดำอย่าไปให้ยกร่างอีกเลย เหมือนผู้รับเหมาทำงานไม่สำเร็จปล่อยให้คนอื่นทำดีกว่า มีคนอีกตั้งเยอะแยะที่คิดว่าน่าจะทำได้ ก็ต้องไปดูเอาเอง
       
       "ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองมีความสามารถพอส่วนใครที่มีความสามารถก็ต้องไปดูเอาเองควรต้องศึกษาอย่างเป็นระบบ มีคนบอกว่า รธน.ปี 40 ดี บางคนก็บอก รธน.ปี 50 ดี แล้วอย่างคนที่เข้ามาเป็นกรรมการแก้ 50 ก็ไม่เห็นพูดว่าปี 40 กับ 50 อันไหนดีกว่ากันก็เห็นเงียบกันอยู่ รับแต่เบี้ยประชุมและมีตำแหน่งกันไป"
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ฉะนั้นมันต้องมาสรุปกันก่อนว่า รธน.ปี 40 กับ รธน.ปี 50 ใหม่ กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันอันไหนมันจะดีกว่ากันเท่านั้นเอง อันไหนมีปัญหาแล้วมาแก้ปัญหาเรื่องง่ายๆ แต่ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างคือ คนที่เป็นกลางจริงๆ คนที่มีความชำนาญและต้องอยู่ในบรรยากาศที่ไม่ต้องมีใครมายุ่งมากมาย อาจจะใช้เวลา 6เดือน ถึง 1 ปี ทำเสร็จแล้วอาจจะหากระบวนการที่เหมาะสมมารองรับ อาจจะทำเสร็จแล้วยกให้รัฐสภาไปเลย รัฐสภาก็เอาไปดีเบตจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยยังไง พอถึงเวลาจบยังไงก็นำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติแค่นั้นเอง ร่างที่คณะกรรมการทำกับร่างที่รัฐสภาแก้ประชาชนจะเอาร่างไหน ถ้าประชาชนเลือกร่างที่คณะกรรมการทำสภาก็ต้องยุบไปเพราะถือว่าทำงานไม่ได้
       
       "ขอให้เริ่มทำเพื่อตอบโจทย์สำคัญซึ่งรัฐบาลได้ตั้งมาแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรองดอง กับเรื่องปฏิรูปการเมือง ต้องตอบโจทย์อันนี้ไม่ใช่ว่าเขาเสนอมา 5 แล้วรัฐบาลเลือกมา 2 ซึ่งตัวเองพูดเองจะแก้ปัญหาแต่ถึงเวลาแล้วไม่ตอบโจทย์จะทำกันไปทำไมไม่เข้าใจ" ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าว
       
       ผู้ดำเนินรายการถามว่าทราบว่าอาจารย์เองก็เตรียมร่างรัฐธรรมนูญตุ๊กตาไว้
       
       ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่มี เพียงแต่หาโปรเจควิจัยไว้กับนักกฎหมายรุ่นๆเดียวกันลองดูว่าถ้าทำออกมาแล้วจะแก้ปัญหาประเทศได้ต้องทำอย่างไรจะทำเป็นโปรเจควิจัยไม่เกี่ยวกับใครทั้งนั้น


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1530
เวลา 12 ธันวาคม 2567 17:45 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)