ศาลรัฐธรรมนูญกับมาตรฐานมโนสำนึก

5 ธันวาคม 2553 20:42 น.

       บทนำ
        
       ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากโดยมติ ๔ ต่อ ๒ เสียง ให้ยกคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ เหตุใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมายและรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง (“กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท”) โดยศาลให้เหตุผลว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในที่นี้ ผู้ทำความเห็นอ้างถึงคำวินิจฉัยกลางอย่างไม่เป็นทางการซึ่งศาลได้เผยแพร่ต่อประชาชนเป็นลายลักษณ์อักษร ณ เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ (http://www.constitutionalcourt.or.th/) มีทั้งสิ้น ๑๕ หน้า (ผู้ทำความเห็นได้ย่อไว้เป็นภาคผนวก) ซึ่งมีใจความตรงกับคำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่านและสื่อมวลชนได้รายงานต่อประชาชนไปเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน  ๒๕๕๓ แล้ว ต่อมาในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าวที่ ๒๔/๒๕๕๓ โดยอธิบายถึงวิธีการลงมติของตุลาการเสียงข้างมากที่มีความเห็นเป็นสองกลุ่ม แต่มิได้มีการระบุไว้ในคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ
        
       ด้วยความอัศจรรย์ใจในการให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย กอปรกับความความเคารพอย่างแท้จริงต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ทำความเห็นน้อมและยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว อีกด้วยสำนึกในสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา ๔๕, ๖๙ และ ๗๐ แห่งรัฐธรรมนูญ จึงได้ทำความเห็น ดังมีประการต่อไปนี้
        
       . วิธีลงมติเสียงข้างมากเป็นไปอย่างน่ากังขา
        
       ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก โดยมติ ๔ ต่อ ๒ ให้ยกคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มาของตุลาการเสียงข้างมากนั้นมีแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก ๓ เสียง เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่สอง ๑ เสียง เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด
        
       หากพิจารณาจากหลักการว่า ตุลาการเสียงข้างมากคือผู้ให้เหตุผลร่วมกันอันนำมาสู่ผลของคำวินิจฉัยกลางในนามศาลรัฐธรรมนูญ สาระแห่งเหตุผลร่วมกันแม้อาจไม่ต้องตรงกันโดยสนิท แต่ก็มิอาจขัดแย้งหรือหักล้างกันเองในสาระสำคัญได้ หากพิจารณาสาระแห่งเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มแรกแล้ว จะเห็นว่าตุลาการทั้งสามมิได้ติดใจที่จะรับหรือปฏิเสธเรื่องการพ้นระยะเวลาสิบห้าวัน เพราะมองว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในทางกลับกัน สาระแห่งเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มที่สองมีความเห็นแย้งชัดเจนว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ไปแล้ว
        
       ดังนั้น หากพิจารณาสาระของมติของตุลาการทั้งหกโดยรวม จะเห็นว่ามีตุลาการถึง ๓ เสียงที่เห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไปเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มที่สอง ๑ เสียงบวกกับตุลาการเสียงข้างน้อยอีก ๒ เสียงที่มิได้เห็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นผลทำให้มีมติ ๓ เสียงที่ค้านกับสาระแห่งเหตุผลของตุลาการอีก ๓ เสียง ที่เห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งเรื่องระยะเวลาสิบห้าวันก็มีมติยืนยันเพียงเสียงเดียว ดังนั้น การที่ศาลกำหนดประเด็นลงมติตามที่ปรากฏ แท้จริงแล้วจะถือว่ามีเสียงข้างมาก โดยมติ ๔ ต่อ ๒ เสียง ได้หรือไม่ ยังน่ากังขาอยู่
        
       ในทางหนึ่งอาจมีผู้ให้เหตุผลว่า การกำหนดวิธีการลงมติเป็นไปถูกต้องแล้ว เพราะไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูสาระแห่งเหตุผล แต่ควรพิจารณาถึงผลสุดท้ายของการลงมติ ดังนั้น เมื่อตุลาการเสียงข้างมากทั้งสองกลุ่ม แม้จะมีสาระแห่งเหตุผลต่างกัน แต่ท้ายที่สุดตุลาการทั้งสี่ก็ได้ข้อสรุปเดียวกันว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นมติเสียงข้างมากที่ชอบแล้ว ผู้ทำความเห็นขอไม่ใช้เวลาทักท้วงถึงปัญหาเชิงตรรกะของการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวในที่นี้ อีกทั้งได้เคยมีนักวิชาการแสดงความเห็นถึงกรณีกำหนดประเด็นลงมติที่ใกล้เคียงไว้แล้ว เช่น ในคดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในปี ๒๕๔๔
        
       ผู้ทำความเห็นเพียงแต่จะย้อนถามว่า หากเราอาศัยตรรกะเดียวกันนี้เอง ที่ว่าแม้สาระแห่งเหตุผลต่างกันแต่หากสุดท้ายได้ข้อสรุปตรงกัน ก็นับรวมกันได้แล้วฉันใด ข้อสรุปที่ได้จากตุลาการเสียงข้างมาก ๑ เสียงบวกกับตุลาการเสียงข้างน้อยอีก ๒ เสียง ก็คือข้อสรุปที่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว อันจะหักล้างตุลาการเสียงข้างมากกลุ่มแรกอีก ๓ เสียง โดยมติที่เท่ากัน โดยฉันนั้น มิใช่หรือ?
        
       หรือแม้หากจะลองเปลี่ยนจากตรรกะที่ยึดข้อสรุปมาเป็นตรรกะที่ยึดสาระแห่งเหตุผลเพื่อยืนยันมติเสียงข้างมากแล้ว ผู้ทำความเห็นจะแสดงให้เห็นต่อไปว่า สาระแห่งเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากทั้งสี่ที่มีความเห็นเป็นสองกลุ่ม แม้จะอ้างว่าเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งทางใดก็ตาม ก็ยังขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง จนมิอาจถือได้ว่าเป็นมติตุลาการเสียงข้างมากที่ชอบธรรมได้
        
       อนึ่ง มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจข่าวสารที่สื่อมวลชนรายงานหลังจากมีการอ่านคำวินิจฉัยไปแล้ว ข้อวิจารณ์ส่วนใหญ่ดูจะเกี่ยวข้องกับประเด็นมติตุลาการ ๑ เสียง ที่เห็นว่าการยื่นคำร้องต่อศาลพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด โดยประชาชนทั่วไปไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเรื่องระยะเวลาเป็นเพียงมติ ๑ เสียงและโดยใคร อีกทั้งคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการที่ศาลเผยแพร่บนเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้กล่าวไว้ชัด จนกระทั่งวันต่อมาได้มีการเผยแพร่ข่าวโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและมีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนโดยตุลาการเพื่อขยายความ คงหวังแต่เพียงว่า คำวินิจฉัยในอนาคตที่ศาลอ่านก็ดีหรือที่เผยแพร่ก็ดีคงจะชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ แม้ว่าคำวินิจฉัยกลางต้องถือว่าสมบูรณ์ด้วยเหตุผลในการวินิจฉัยในฐานะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยตัวเองแล้ว ความเห็นส่วนตนของตุลาการแต่ละคนซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องทำให้เสร็จสิ้นและแถลงเป็นวาจาก่อนลงมติในคำวินิจฉัยกลางนั้น ก็น่าจะเผยแพร่เป็นเอกสารไปพร้อมกัน เพื่อช่วยให้ตุลาการไม่ต้องลำบากใจถูกเข้าใจผิดว่ามติใดเป็นของใครให้เจ้าหน้าที่ต้องตามแก้ข่าว อีกทั้งเพื่อให้ตุลาการไม่ต้องถูกตั้งคำถามว่า กระแสสังคมที่มีต่อคำวินิจฉัยกลางที่อ่านไปแล้วนั้น ได้กระทบต่อคำวินิจฉัยส่วนตนที่เปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลังหรือไม่อย่างไร
        
       . เหตุผลทางกฎหมายไม่กระจ่างชัด ซ้ำยังขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง
        
       ไม่ว่าวิธีการลงมติเสียงข้างมากที่ปรากฏจะชอบธรรมหรือไม่ เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากทั้งสองกลุ่มในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ (ซึ่งความเห็นนี้อ้างถึงเว้นแต่บริบทจะแสดงเป็นอื่น) เพื่อวินิจฉัยคดีในนามศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ปรากฏกระจ่างชัด ซ้ำกลับขัดแย้งและหักล้างกันในสาระสำคัญโดยสิ้นเชิง โดยในลำดับแรก ผู้ทำความเห็นจะแสดงข้อคิดเห็นต่อเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมาก ๑ เสียงที่เห็นว่า ระยะเวลายื่นคำร้องต่อศาลต้องนับจากวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ก่อน จากนั้นจึงจะแสดงข้อคิดเห็นต่อเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากอีก ๓ เสียง ที่เห็นว่าในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ดังนี้
        
       .๑ เหตุผลเรื่องการยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
        
       ประเด็นหนึ่งที่ศาลใช้วินิจฉัยการยกคำร้องในคดีนี้คือ เหตุความผิดที่จะนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๓ วรรคสองนั้น ได้ปรากฏต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อใด
        
       มาตรา ๙๓ วรรคสองบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง” (เหตุในคดีนี้คือมาตรา ๘๒ กรณีการได้รับเงินและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองอย่างไม่ถูกต้อง) “ให้นายทะเบียนโดยความ
       เห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน”   
        
       ศาลวินิจฉัยว่า เหตุความผิดได้ปรากฏต่อนายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ดังนั้นเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
        
       คำถามคือ ศาลนำหลักหรืออะไรมาสรุปว่าระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒
        
       หากพิจารณาคำวินิจฉัย หน้า ๑๒-๑๓  ศาลอธิบายว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๔๔/๒๕๕๒ ในส่วนกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีนี้ (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากสั่งตามรวมกันไปกับอีกข้อหา (กรณีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท) ว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นก่อนว่า แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรขณะนั้นเท่านั้น
        
       ศาลอธิบายต่อว่า ในการประชุมครั้งที่ ๔๑/๒๕๕๓ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงทั้งสองข้อกล่าวหาเกี่ยวพันกัน จึงยังคงมีมติให้แจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา ๙๕ (กรณีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท) เช่นเดิม โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองและนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท)  และต่อมาในการประชุมครั้งที่ ๔๓/๒๕๕๓ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเอกฉันท์ (นายอภิชาตมิได้เข้าประชุม) ยืนยันเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง
       ศาลอธิบายต่อว่า เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่จำต้องเสนอความเห็นก่อนอย่างใด กรณีถือได้ว่าคดีนี้ความได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีกรณีตามมาตรา ๙๓ วรรคแรกแล้วและคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าว
        
       นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยหน้า ๑๔ ศาลกล่าวต่อว่า วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่นายอิสระ ลิ้มศิริวงศ์ เป็นประธานในครั้งแรก และถือเป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง
        
       จากการให้เหตุผลของศาล ผู้ทำความเห็นตั้งข้อสังเกตดังนี้
        
       .๑.๑ ผู้ทำความเห็นเข้าใจว่า ระยะเวลาสิบห้าวันจะเริ่มนับได้ต่อเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้เห็นว่าเหตุความผิดปรากฏต่อตัวนายทะเบียน แล้วจึงอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะประชาชนที่ไม่อาจเข้าถึงเอกสารแห่งคดีได้ทั้งหมด ผู้ทำความเห็นย่อมต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ศาลอธิบายในคำวินิจฉัย แต่หากอ่านจากคำวินิจฉัยแล้ว ไม่มีส่วนใดเลยที่ศาลยกพยานหลักฐานมาแสดงอย่างชัดเจนว่า ณ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ให้การรับว่าตนได้เห็นเหตุความผิดปรากฏขึ้นต่อตนแล้วหรือยัง 
        
       .๑.๒ ในทางตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังในคำวินิจฉัย หน้า ๖ ระบุว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่า จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด สำหรับผู้ทำความเห็น ย่อมหมายความว่า ในวันเดียวกันนั้นเองนายอภิชาตโดยมโนสำนึกของมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมมิได้เห็นเหตุความผิดปรากฏขึ้นต่อตนในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่อย่างใด
        
       จริงอยู่ ศาลควรพิจารณาข้อกฎหมายที่กำหนดให้นายอภิชาตผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองในเวลาเดียวกัน ดังนั้นแม้เป็นคนเดียวกันแต่มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกัน ซึ่งศาลเอง (ในส่วนเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมาก ๓ เสียง) ก็ได้อธิบายไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว เช่น ในหน้า ๑๐-๑๑ ว่า การลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งนายอภิชาตเข้าร่วมด้วยในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจที่จะร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้  การลงมติดังกล่าวจึงแตกต่างจากการสั่งที่ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะของนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือที่ว่า การที่กฎหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ต่อศาลย่อมหมายความว่า ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีนี้ฉันใด การทำความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น
        
       แต่คำอธิบายอันฟังสละสลวยดังกล่าวก็เพียงแต่อธิบายเรื่องบทบาทหน้าที่ในทางรูปแบบ โดยศาลพยายามจะอธิบายว่าวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองมิได้ให้ความเห็นและไม่สามารถให้ความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งประเด็นบทบาทหน้าที่ในทางรูปแบบดังกล่าว เป็นคนละประเด็นกับสาระแห่งความเป็นจริงว่า เหตุความผิดได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพราะมาตรา ๙๓ วรรคสองเอง ก็ได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งในประเด็นสาระเรื่องเดียวกัน กฎหมายมุ่งไปที่ประเด็นสาระแห่งความเป็นจริงว่าเหตุความผิดได้ปรากฏขึ้นต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว แม้รูปแบบบทบาทหน้าที่จะต่างกัน แต่กฎหมายก็ให้ตัวนายทะเบียนและประธานกรรมการการเลือกตั้งผู้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีบทบาทในการพิจารณาประเด็นในเรื่องเดียวกัน อีกทั้งมิได้มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงรูปแบบ ขั้นตอน หรือมาตรฐานเฉพาะที่ให้นายทะเบียนและประธานกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาโดยแตกต่างกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายอภิชาตต้องอาศัยมโนสำนึกในทางกฎหมายของนักนิติศาสตร์คนหนึ่งที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการพิจารณาประเด็นสาระเรื่องเดียวกันภายใต้บทบัญญัติมาตรา ๙๓ วรรคสอง ไม่ว่าจะกระทำไปในรูปแบบฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือประธานกรรมการการเลือกตั้งก็ตาม
        
       ท้ายที่สุด ศาลก็ยังสรุปว่าเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ การวินิจฉัยของศาลลักษณะนี้ทำให้เกิดความแปลกประหลาด กล่าวคือ นายอภิชาตผู้เคยเป็นถึงประธานแผนกคดีในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ที่กฎหมายให้ความไว้วางใจสวมหมวกสำคัญสองใบในเวลาเดียวกัน เพื่อสามารถดำเนินภารกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน สามารถมีมโนสำนึกในทางกฎหมายแยกเป็นสองมาตรฐาน มาใช้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีเดียวกัน ให้ปรากฏผลต่างกันในเวลาเดียวกันได้ กล่าวคือ ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ศาลรับฟังว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่าจากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลกำลังบอกว่า นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีมโนสำนึกแยกเป็นอีกหนึ่งมาตรฐาน โดยเห็นว่า เหตุความผิดกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเงินและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ปรากฏขึ้นให้ตนเห็นแล้ว กระนั้นหรือ?
        
       .๑.๓ ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น คือตุลาการเสียงข้างมากผู้ทำคำวินิจฉัยกลางในนามศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ดูเหมือนจะมีมโนสำนึกในทางกฎหมายที่แยกเป็นสองมาตรฐานในวันเดียวกันที่เขียนคำวินิจฉัยเดียวกัน แม้จะเป็นเสียงข้างมากร่วมกัน และสวมหมวกแต่เพียงใบเดียวในฐานะศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม ดังนี้
        
       ในช่วงแรกของคำวินิจฉัย ในส่วนที่เกี่ยวกับตุลาการเสียงข้างมาก ๓ เสียง ที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ (หน้า ๘-๑๐) ศาลได้อธิบายว่า กฎหมายบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ในส่วนมาตรา ๙๓ วรรคสองที่เป็นประเด็นในคดีนี้ กฎหมายได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง) และนายทะเบียนพรรคการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือหรือถ่วงดุลกัน  กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้วินิจฉัยว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๘๒ หรือไม่ เนื่องมาจากนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติของพรรคการเมืองเป็นอย่างดี กล่าวคือ ศาลได้อธิบายหลักว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงนายอภิชาตในฐานะประธานด้วย) ไม่สามารถบังคับให้นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตราบใดที่นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่พบเหตุการกระทำความผิด (เช่น ตามมาตรา ๘๒) คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมไม่สามารถมีมติให้ยื่นคำร้องตามมาตรา ๙๓ วรรคสองได้
        
       ผู้ทำความเห็นเห็นพ้องด้วยกับหลักที่ศาลได้อธิบายไว้ในส่วนนี้ อีกทั้งหากพิจารณามาตรา ๘๒ ประกอบกับ มาตรา ๔๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนจะไปสู่การยื่นคำร้องในมาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว กฎหมายบัญญัติว่า หากพรรคการเมืองไม่ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้ถูกต้องตามความเป็นจริงภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปแล้ว ก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาแล้วยังมิได้รายงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้น จึงเห็นได้ว่า กฎหมายได้ให้ความสำคัญกับนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้มีดุลพินิจพิจารณาระยะเวลากับเหตุผลอันสมควร ทั้งนี้ เพราะนายทะเบียนต้องอาศัยดุลพินิจส่วนตัว โดยอาศัยมโนสำนึกในทางกฎหมายของนักนิติศาสตร์คนหนึ่ง เพื่อพินิจพิเคราะห์ว่ามีเหตุความผิดปรากฏอย่างแท้จริงอันนำไปสู่ขั้นตอนการยื่นคำร้องตามมาตรา ๙๓ วรรคสองหรือไม่ มิเช่นนั้นแล้ว ก็อาจมีผู้อ้างได้โดยง่ายว่า ตนได้ส่งข้อมูลแสดงเหตุความผิดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับทราบไปเกินกว่าสิบห้าวันก่อนแล้ว และถือว่าเหตุได้ปรากฏต่อนายทะเบียนแล้วเกินไปกว่าสิบห้าวันก่อนแล้วเช่นกัน ทั้งที่นายทะเบียนพรรคการเมืองอาจไม่เห็นด้วยกับข้อมูลดังกล่าวเลย
        
       อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังของคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผลของตุลาการ ๑ เสียง (หน้า ๑๑) ศาลกลับอธิบายทำนองเป็นเหตุผลทางเลือกทางหนึ่งทางใดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจที่จะควบคุมและกำกับการดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด และต่อมา (หน้า ๑๓) ว่ามติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  (โดยมีนายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย)  ที่เห็นชอบให้อภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรณีที่ถือได้ว่าเหตุได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าตาม มาตรา ๙๓ แล้ว และต่อมา (หน้า ๑๔)  ว่าวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่นายอิสระ ลิ้มศิริวงศ์ เป็นประธานในครั้งแรกและถือเป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว
        
       การให้เหตุผลเช่นนี้ ฟังประหนึ่งว่า นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะเห็นเหตุตามมาตรา ๙๓ วรรคสองปรากฏต่อตนเมื่อใด ย่อมต้องพิจาราณาตามเวลาที่มีมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือตามวันที่ได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ถึงแม้มโนสำนึกในทางกฎหมายของนายอภิชาตในฐานะนักนิติศาสตร์คนหนึ่งในขณะนั้นเองจะไม่เห็นเหตุปรากฏต่อตนก็ตาม หากเป็นเช่นนี้แล้ว การใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือหรือถ่วงดุลกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ดังที่ศาลเองได้อธิบายไว้ในช่วงแรกของคำวินิจฉัย (หน้า ๘-๑๐)  ก็จะไม่เกิดขึ้น และส่งผลที่แปลกประหลาดคือนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยอมตามมติหรือความเห็นของผู้อื่น ทั้งที่กฎหมายได้บัญญัติบทบาท หน้าที่ อำนาจและดุลพินิจหลายประการให้แก่นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยเฉพาะก็ตาม
        
       ดังนั้น หากกลับไปตรวจสอบตรรกะของวิธีการลงมติของศาล หากตุลาการเสียงข้างมากคือผู้ให้เหตุผลร่วมกันอันนำมาสู่ผลของคำวินิจฉัยกลางในนามศาลรัฐธรรมนูญ สาระของเหตุผลร่วมกันแม้ไม่ต้องตรงกันโดยสนิท แต่ก็มิอาจขัดแย้งหรือหักล้างกันเองในสาระสำคัญได้ แต่เมื่อพิจารณาสาระแห่งเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากมีความเห็นเป็นสองกลุ่มแล้ว แม้ศาลจะอ้างว่าเป็นการให้เหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งก็ตาม แต่การให้เหตุผลนั้นก็ยังขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง มิอาจถือเป็นเหตุผลทางเลือกที่เพิ่มหรือเสริมกันได้แต่อย่างใด
        
       .๑.๔ หากเราเห็นด้วยว่าการยื่นคำร้องในคดีนี้พ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดจริง มโนสำนึกในทางกฎหมายที่ดีย่อมนำพาให้พิเคราะห์ว่า ระยะเวลาสิบห้าวันดังกล่าว หากพิจารณาจากถ้อยคำของกฎหมาย ประกอบกับเจตนารมณ์และความมุ่งหมายแล้ว ควรตีความเช่นใด
        
       หากลองเปรียบเทียบข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาที่พอคุ้นเคย เช่นอายุความการฟ้องคดีแพ่ง บทบัญญัติได้ใช้ถ้อยคำเรื่องอายุความที่ต้องนับไว้ชัดเจน หากผู้เสียหายไม่ฟ้องในระยะเวลาที่กำหนด เช่นภาย ๑ ปีก็ดี หรือใน ๑๐ ปีก็ดี แล้วแต่กรณี และคู่ความอีกฝ่ายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ผู้ฟ้องคดีย่อมเสียสิทธิ ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายแพ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนให้เอกชนผู้เสียหายระมัดระวังและไม่เพิกเฉยดูดายต่อความเสียหายต่อสิทธิของตน ควรรีบหาทางป้องกัน เยียวยา และแก้ปัญหา ไม่ใช่สะสมความเสียหายไว้มาตั้งเป็นคดีหากได้เปรียบภายหลัง อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไปนาน พยานหลักฐานอาจสูญหายยากต่อการพิสูจน์
        
       หากพิจารณาในบริบทคดีปกครองทั่วไป กฎหมายปกครองกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีที่กระชับพอเหมาะ เช่น ต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เพราะการเพิกถอนการกระทำทางปกครองที่ดำเนินการไปนานและมีผลเป็นการทั่วไปแล้วอาจเกิดความวุ่นวายได้ อีกทั้งถ้อยคำของกฎหมาย เช่น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๖ ก็ได้ใช้ถ้อยคำเรื่องอายุความที่ต้องนับไว้ชัดเจน กระนั้นก็ดี ในบางกรณีที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว มาตรา ๕๒ ก็เปิดช่องว่า ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้ ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์และความมุ่งหมายสำคัญของกฎหมายปกครองก็คือการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
        
       หากพิจารณาในบริบทวิธีสบัญญัติหรือกระบวนการขั้นตอนในศาลทั่วไป เช่น ข้อกฎหมายที่กำหนดให้คู่ความในคดีต้องยื่นเอกสารให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายภายในเวลาที่กำหนด ก็เพื่อให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายสามารถมีเวลาตรวจสอบเอกสารและเตรียมตัวได้ทันการ มิใช่นำหลักฐานหรือข้อหาใหม่มากล่าวหาโดยอีกฝ่ายมิได้ตั้งตัว เป็นต้น
        
       หรือหากจะพิจารณาในบริบทของหลักความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมาย หรือที่มีผู้เรียกว่า “หลักศุภนิติกระบวน” (due process of law) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายย่อมป้องกันมิให้ผู้ใช้อำนาจสามารถใช้อำนาจละเมิดกระบวนการทางกฎหมายเพื่อได้มาซึ่งเป้าหมายที่อาจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เช่น การลักลอบนำหลักฐานการกระทำผิดที่ตำรวจได้มาโดยการใช้อำนาจตรวจค้นที่ผิดกฎหมาย เพื่อมาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแม้ผู้ต้องหาจะกระทำผิดจริงก็ตาม เพราะหากปล่อยให้วิธีการที่ผิดนำไปสู่ผลที่อาจจะถูกแล้ว ก็จะเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจริดรอนสิทธิเสรีภาพได้ไม่จำกัด เพียงแค่อ้างในเป้าหมายเป็นสำคัญ
        
       จากตัวอย่างเหล่านี้ หากหันมาพิเคราะห์ลักษณะถ้อยคำของตัวบทกฎหมายประกอบกับเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของระยะเวลาสิบห้าวันในบริบทกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองในคดีนี้แล้ว มาตรา ๙๓ และบริบทก็มิได้ห้ามศาลรับคำร้องไว้ชัดเจน แต่มุ่งไปที่การดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ต้องกระทำภายในสิบห้าวัน จริงอยู่ว่าผลของการยื่นคำร้องเกินกำหนดสิบห้าวันอาจนำไปสู่การต้องรับผิดของผู้มีหน้าที่ยื่นคำร้องตามกฎหมาย  แต่กฎหมายก็มิได้ใช้ถ้อยคำห้ามมิให้กระทำเมื่อเกินระยะเวลาสิบห้าวันและไม่มีบทบัญญติใดที่กล่าวว่าเป็นอายุความที่ต้องนับ หากพิจารณาจากเจตนารมณ์ พิเคราะห์ได้ว่า เมื่อการสอดส่องติดตามกิจกรรมและการเงินของพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายจึงกำหนดระยะเวลาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนอย่างแท้จริง นายทะเบียนย่อมต้องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้า เช่น จะอ้างว่ากรรมการการเลือกตั้งติดธุระไม่ได้
        
       ดั้งนั้น ระยะเวลาสิบห้าวันซึ่งสั้นมาก จึงควรตีความมุ่งให้กระบวนการตรวจสอบอันสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตยและประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้น ซึ่งต่างจากลักษณะของอายุความที่อาจมีระยะเวลาเป็นปีในคดีแพ่ง หรือระยะเวลาในบริบทกฎหมายอื่นที่ห้ามมิให้ฟ้อง และที่สำคัญย่อมไม่ใช่กรณีที่ความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมายจะเสียไป เพราะแม้นายทะเบียนพรรคการเมืองจะยื่นคำร้องเกินไปอีกเดือน หรือ อีกปี ก็มิได้เป็นกรณีที่นายทะเบียนและคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจโดยมิชอบต่อพรรคประชาธิปัตย์เพื่อได้มาซึ่งการเอาผิด หรือประวิงเวลา หรือสร้างหลักฐานเท็จ แต่เป็นการทำผิดพลาดภายในองค์กรเสียเองและเป็นผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่มีเวลาเตรียมการเพิ่มมากขึ้นเสียอีก เว้นเสียแต่จะมีกรณีที่ปรากฏ เช่น ยื่นคำร้องเกินไปสิบปีจนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้สู้คดีแล้ว กระนั้นก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้สู้คดีเต็มที่โดยปกติและอย่างมั่นใจ ศาลเองก็มิได้อธิบายว่า มีเหตุสมควรอันใดอันทำให้กระบวนการตรวจสอบพรรคการเมืองอันเป็นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยต้องชะงักงัน
        
       อนึ่ง การตีความกฎหมายเช่นนี้ ในขั้นแรก แลดูเป็นการทอดทิ้งเจตนารมณ์ที่กฎหมายพยายามทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบโดยการกำหนดระยะเวลาสิบห้าวันเสียแต่แรก ซ้ำร้าย ในขั้นต่อมา ยังเป็นการตีความเปิดช่องให้เกิดข้อโต้เถียงในอนาคตว่า แท้จริงแล้ว เหตุตามมาตรา ๙๓ วรรคแรก ได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อใด โดยเฉพาะหากกรณีใดมีปริมาณพยานหลักฐานมากหรือซับซ้อน ก็จะเป็นการกดดันให้นายทะเบียนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลังเลที่จะใช้เวลาประชุมเพื่อหารือ พิจารณา รับฟังการสอบสวนการปรากฏของเหตุความผิดให้ละเอียดรอบคอบ กลับเป็นไปทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายเสียเองอีก
        
       ๒.๒ เหตุผลเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์
        
       ศาลอธิบายในคำวินิจฉัย (หน้า ๙-๑๑) ว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๔๔/๒๕๕๒ ในส่วนกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีนี้ (กรณีเงิน ๒๙ ล้านบาท) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากสั่งตามรวมกันไปกับอีกข้อหา (กรณีเงิน ๒๕๘ ล้านบาท) ว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นก่อนว่า แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรขณะนั้นเท่านั้น  การที่นายอภิชาตได้ทำความเห็นส่วนตนในการลงมติเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นการกระทำในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ความเห็นของนายอภิชาตในการลงมติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมติที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
        
       ศาลอธิบายต่อว่าการลงมติดังกล่าวแตกต่างจากการสั่งที่ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ได้มีความเห็นเช่นนั้นก่อนแล้ว จึงเสนอความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบความเห็นของนายอภิชาตในการลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง
        
       ศาลจึงสรุปว่า เมื่อนายทะเบียนพรรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามมาตรา ๙๓ การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้
        
       ผู้ทำความเห็นตั้งข้อสังเกตดังนี้
        
       .๒.๑  การให้เหตุผลดังกล่าว แท้จริงแล้วเป็นการเพิ่มกฎเกณฑ์อันเข้มงวดที่ยึดรูปแบบมากกว่าสาระ ซึ่งผู้ทำความเห็นได้อธิบายไปส่วนหนึ่งแล้ว ในความเห็นส่วนที่ ๒.๑.๒ ข้างต้น
        
       ผู้ทำความเห็นสงสัยในเหตุผลของศาลที่ว่า นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องแสดงความเห็นในรูปแบบเฉพาะที่แยกชัดเจนจากการลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ทำความเห็นไม่แน่ใจว่าศาลนำหลักอะไรมาตีความว่า มาตรา ๙๓ วรรคสองที่บัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน” จะต้องหมายความว่า นายอภิชาตต้องสวมสถานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อแจ้งความเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในรูปแบบเฉพาะที่ศาลพอใจ ทั้งนี้ ศาลต้องปฎิบัติตามมาตรา ๒๑๖ วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องมีการระบุบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงด้วย แต่ศาลก็มิได้ระบุว่ารูปแบบความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง กฎหมายใดกำหนดไว้ มีกฎเกณฑ์อย่างไร เช่นต้องทำเป็นหนังสือขึ้นหัวและลงท้ายด้วยตำแหน่งนายทะเบียนพรรคการเมืองเท่านั้น หรือโดยกล่าวเป็นวาจาในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยให้นายอภิชาตยกมือข้างขวาแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าตนกำลังแสดงความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองและบันทึกไว้ในที่ประชุม จากนั้นจึงยกมือข้างซ้ายเพื่อแจ้งว่าตนนั่งร่วมประชุมต่อในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ก็ได้กระนั้นหรือ?
        
       ไม่ว่าอย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงสำคัญในคำวินิจฉัย (หน้า ๗-๘) ศาลรับฟังว่า ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติสำหรับกรณีคำร้องในคดีนี้ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ (มีนายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย) ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิชาต ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ศาลอธิบายต่อว่า วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มิได้เข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามมาตรา ๙๓ โดยถือว่าความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตที่ลงมติไว้ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง
        
       ผู้ทำความเห็นจำต้องนำประเด็นมโนสำนึกในทางกฎหมายกลับมาถามว่า นายอภิชาตซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ที่กฎหมายให้ความไว้วางใจสวมหมวกสำคัญสองใบในเวลาเดียวกันเพื่อดำเนินภารกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน สามารถมีมโนสำนึกในทางกฎหมายแยกเป็นสองมาตรฐาน มาใช้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีเดียวกัน ให้ปรากฏผลต่างกันในเวลาเดียวกันได้จริงหรือ กล่าวคือ ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ศาลรับฟังว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลกำลังบอกว่า นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีมโนสำนึกแยกเป็นอีกหนึ่งมาตรฐาน โดยเห็นว่านายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพียงเพราะมิได้พิมพ์ชื่อตำแหน่งในแผ่นกระดาษหรือกล่าวประกาศฐานะเป็นวาจา กระนั้นหรือ?
       
        .๒.๒ ไม่ว่านายอภิชาตจะได้มีมโนสำนึกแยกได้หรือไม่ สิ่งน่าอัศจรรย์ก็ปรากฏอีกครั้ง เมื่อตุลาการเสียงข้างมากผู้ทำคำวินิจฉัยกลางในนามศาลรัฐธรรมนูญเอง ดูเหมือนมีมโนสำนึกในทางกฎหมายที่แยกเป็นสองมาตรฐานในคำวินิจฉัยเดียวกัน เพราะแม้ตุลาการเสียงข้างมาก ๓ เสียง จะเห็นว่านายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องแสดงความเห็นเป็นรูปแบบเฉพาะ แต่ต่อมาในการให้เหตุผลในส่วนตุลาการเสียงข้างมาก ๑ เสียง ที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด ศาลกลับให้เหตุผลที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้
        
       ในคำวินิจฉัยหน้า ๑๑-๑๒ ศาลกล่าวว่า มีเหตุผลให้วินิจฉัยอีกทางหนึ่ง กล่าวคือกรณีข้อกล่าวหาตามมาตรา ๙๓ วรรคแรกนั้น มาตรา ๙๓ วรรคสอง มิได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเข้าเสนอความเห็นด้วยว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคแรกต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง ต่างจากกรณีข้อกล่าวหาตามมาตรา ๙๔ ที่มาตรา ๙๕ บัญญัติว่า เรื่องปรากฏต่อนายทะเบียน พรรคการเมืองและนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้ว กล่าวคือนายทะเบียนต้องตรวจสอบแล้วจึงเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมความเห็นว่า พรรคการเมืองใดกระทำตามมาตรา ๙๔ หรือไม่
        
       สมควรเน้นอีกครั้งว่า ตุลาการเสียงข้างมากคือผู้ให้เหตุผลร่วมกันอันนำมาสู่ผลของคำวินิจฉัยกลางในนามศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อกลับไปพิจารณาตรรกะของวิธีการลงมติของศาลแล้ว หากเราลองพิจารณาสาระของเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากมีความเห็นเป็นสองกลุ่ม แม้ศาลจะอ้างว่าเป็นการให้เหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งก็ตาม แต่การให้เหตุผลนั้นก็ยังขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง มิอาจถือเป็นเหตุผลทางเลือกที่เพิ่มหรือเสริมกันได้แต่อย่างใด มติทั้งสี่เสียงอันขัดแย้งกันในสาระอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้ ย่อมมิอาจถือว่าเป็นมติเสียงข้างมากโดยชอบธรรมได้
        
       .๒.๓ การเพิ่มกฎเกณฑ์อันเข้มงวดที่ยึดรูปแบบมากกว่าสาระ นอกจากจะก่อให้เกิดผลประหลาดและขัดแย้งกับเหตุผลของคำวินิจฉัยกลางแล้ว ยังเป็นการใช้อำนาจตุลาการเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์การทำงานภายในของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งถูกออกแบบให้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ระบบปฎิบัติภายในองค์กรก็เพียงพอที่จะเข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว กล่าวคือ นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นตรงกัน โดยมโนสำนึกของนายทะเบียนพรรคการเมืองปรากฏชัดต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ แล้ว และต่อมาในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง มีมติเห็นชอบยืนยันอีกครั้ง
        
       ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะการทำงานของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งในกระบวนการยื่นคำร้องต่อศาล มิได้กระทำไปในฐานะโจทก์ทั่วไปที่ฟ้องคดีต่อศาล แต่กระทำไปในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในนัยหนึ่งก็มีบทบาทถ่วงดุลการทำงานของศาล เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ทำการพิจารณาเหตุความผิดที่จะนำคดีมาสู่ศาล ศาลมิได้เป็นผู้ลงไปใกล้ชิดหรือเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง หรือเลือกคดีด้วยตนเอง อีกทั้งเป็นคดีในทางรัฐธรรมนูญอันกระทบต่อมหาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หากศาลรัฐธรรมนูญสามารถก้าวเข้าไปตีความกฎเกณฑ์การทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมากไปกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้โดยชัดแล้วไซร้ ก็จะมีองค์กรที่สามารถตีความเกณฑ์การนำคดีมาสู่ตนได้โดยตนเอง พิจารณาคดีได้โดยตนเอง และกำหนดบรรทัดฐานทางกฎหมายให้ผูกพันองค์การอื่นได้โดยตนเอง อันอาจทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นหัวใจของกฎหมายรัฐธรรมนูญและรากฐานของระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอน ทั้งเซาะกร่อนหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ วรรคสองของรัฐธรรมนูญในที่สุด
        
       .๒.๔ ในทางกลับกัน แม้เราจะให้ศาลมีโอกาสตีความกฎเกณฑ์การทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญได้ก็ดี ในกรณีนี้ศาลก็ไม่ได้ให้คำอธิบายเลยว่า หากปล่อยให้การดำเนินการดังกล่าวดำเนินต่อไปแล้ว จะถือเป็นการกระทำที่ผิดกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญด้วยเหตุใด เช่น หากพิจารณาตามหลักความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมาย (due process of law) แล้ว การดำเนินการดังกล่าวโดยผู้ใช้อำนาจ ในที่นี้คือนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ใช้อำนาจละเมิดกระบวนการทางกฎหมายเพื่อได้มาซึ้งเป้าหมายที่อาจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม โดยริดรอนสิทธิเสรีภาพ สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ อย่างไร หรือการดำเนินการดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อระบบการใช้อำนาจระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นสาระสำคัญอย่างไร
        
       และที่สำคัญเมื่อพิจารณาตามหลักความได้สัดส่วน (proportionality principle) แล้ว การนำข้อขัดข้องที่ศาลพบเห็นและไม่ได้มีระบุไว้ชัดในกฎหมาย มาเป็นเหตุให้กระบวนการยุติธรรมชะงักงันและเดินต่อไปไม่ได้ ดูประหนึ่งเป็นการทอดทิ้งเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหวังให้มีการตรวจสอบพรรคการเมืองดั่งในเรื่องระยะเวลาสิบห้าวันที่กล่าวมาแล้ว แลดูเป็นจุดเดียวที่ตุลาการเสียงข้างมากทั้งสี่จะวินิจฉัยไปในแนวเดียวกัน
        
       .๒.๕ สมมติว่าสุดท้าย เราจำยอมต่อตรรกะที่เน้นความเข้มงวดในทางรูปแบบมากกว่าสาระนี้ว่าถูกต้องแล้ว ผู้ทำความเห็นก็จำฝากคำถามสุดท้ายว่า ณ วันนี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะอาศัยเหตุผลที่เข้มงวดในทางรูปแบบดังกล่าวกลับไปให้ความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งได้หรือไม่ โดยตีความตามคำวินิจฉัยของศาลว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองเองก็ยังไม่เคยแจ้งให้ใครทราบโดยชัดเจนว่า เหตุที่ให้ยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์ได้ปรากฏต่อตัวนายทะเบียนแล้ว หรือไม่ เมื่อใด มีแต่แสดงออกผ่านการลงมติและความเห็นในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง อีกทั้งการยื่นคำร้องให้ศาลในคดีนี้ ศาลเองก็วินิจฉัยว่ากระบวนการไม่ชอบ ก็ย่อมต้องตีความโดยเน้นความเข้มงวดในทางรูปแบบว่า เหตุที่ให้ยุบพรรคพรรคประชาธิปัตย์แม้อาจจะได้ปรากฏต่อตัวนายทะเบียนในทางสาระ แต่ก็มิได้ปรากฏโดยชอบในทางรูปแบบ จึงไม่มีผลในทางกฎหมายที่ตามมาได้ ดังนั้น ระยะเวลายื่นคำร้องสิบห้าย่อมไม่สามารถเริ่มนับได้ฉันใด นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงสามารถกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ให้ถูกต้องได้ฉันนั้น ได้หรือไม่?
        
       อนึ่ง ผู้ทำความเห็นตั้งข้อสังเกตเสริมว่า หากนายทะเบียนพรรคการเมืองจะกลับไปสืบสวนหรือค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจทำให้ปรากฏซึ่งเหตุอันเป็นความผิด หรือมีประชาชนผู้หวังดีนำเบาะแสมาแจ้งเพิ่มเติม แต่เผอญข้อมูลดังกล่าวไม่ได้อยู่รวมเป็นส่วนหนึ่งในสำนวนของคดีที่ฟ้องอยู่ทั้งสองคดีเสียแล้ว แม้อาจจะถือเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมูลคดีปัจจุบันก็ตาม แต่เมื่อเป็นหลักฐานใหม่ อันทำให้เหตุความผิดฐานเดิมปรากฏขึ้นใหม่อีกครั้ง ก็ย่อมเริ่มกระบวนการให้ถูกต้องเสียใหม่ ได้โดยอาศัยบทบัญญัติตามมาตรา ๘๒ ก็ดี ๙๔ (๔) ก็ดี ซึ่งกินความกว้างพอสมควร และเป็นโอกาสอันดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอำนวยให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม ตีความกฎหมายให้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม ให้สมคำปรารภแห่งรัฐธรรมนูญ
        
       . วิธีพิจารณาคดีของศาลสมควรได้รับการปรับปรุง
        
       ไม่ว่าเรา ประชาชนผู้พึงน้อมรับในคำวินิจฉัย จะเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือไม่ คำวินิจฉัยก็เป็นเหตุอันดีให้ผู้เกี่ยวข้องควรหันมาทบทวนวิธีพิจารณาคดีของศาล เพื่อประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมแก่มหาชนป็นสำคัญ อาจตั้งข้อสังเกตโดยสังเขปสามประเด็น
        
       ๓.๑ การกำหนดประเด็นเพื่อลงมติ
        
       หากการที่กระบวนการค้นหาความจริงเพื่อให้ความยุติธรรมต่อมหาชนจะเดินต่อไปหรือชะงักงันนั้น ขึ้นอยู่กับการลงมติที่อาจก้ำกึ่งหรือไม่ชัดเจนเสียแล้ว กฎหมายสมควรจะกำหนดกฎเกณฑ์หรือหลักการเพื่อเพิ่มความชัดเจนเรื่องวิธีการกำหนดประเด็นเพื่อลงมติโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากมีความขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง แม้จะนำมาสู่ข้อสรุปเดียวกันก็ตาม
        
       ๓.๒ การพิจารณาคดีแยกเป็นส่วน
        
       สมควรหันมาศึกษาว่าพอมีวิธีทางกฎหมายใดที่สามารถประหยัดเวลาและทรัพยากรของชาติที่ทุ่มเทไปกับกระบวนการทั้งหมดได้หรือไม่ เช่น การพิจารณาคดีอาจแยกเป็นส่วน ส่วนแรกเรื่องเขตอำนาจและความชอบของกระบวนการยื่นคำร้อง ซึ่งพึงพิจารณาให้เสร็จก่อนที่จะทุ่มเวลากับการสืบพยานหลักฐานที่เป็นเนื้อหาสาระของคดี ไม่ว่าจะโดยกำหนดให้ศาลต้องดำเนินการเอง หรือเมื่อคู่ความร้องขอ แน่นอนว่าการบริหารคดีที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ศาลเองย่อมอาศัยความช่วยเหลือจากบรรดาเลขานุการและนิติกรที่มีความสามารถและมาทำงานประจำได้เป็นแน่
       ๓.๓ การสู้คดีต่อหน้าศาลและพยานที่เปิดเผย
        
       ผู้ทำความเห็นไม่ติดใจว่าประเด็นระยะเวลาสิบห้าวันอันเป็นที่คาดไม่ถึงของหลายฝ่าย ศาลยกขึ้นพิจารณาเองได้หรือไม่ แต่ที่สำคัญคือการพิจารณาประเด็นดังกล่าวควรเป็นกรณีศึกษาว่า เมื่อคู่ความในคดีไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าในใจตุลาการแต่ละคนคิดเห็นหรือสงสัยถึงประเด็นใดอยู่เป็นพิเศษ ประกอบกับกฎหมายให้ศาลมีดุลพินิจกำหนดให้คู่ความนำสืบพยานหลักฐานน้อยกว่าที่คู่ความร้องขอ อีกทั้งการพิจารณาคดีที่ตุลาการไทยตั้งคำถามสดและสนทนาแลกเปลี่ยนประเด็นการพิจารณาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายกับทนายความ ก็มิอาจพบเห็นบ่อยนัก จึงน่าพิเคราะห์ว่า คู่ความในคดี ได้มีโอกาสนำเสนอข้อต่อสู้และตรวจสอบพยานหลักฐานในประเด็นเฉพาะเจาะจงที่อยู่ในใจตุลาการอันเป็นประเด็นตัดสินคดีมากน้อยเพียงใด เพราะหากสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินมาทั้งหมดติดอยู่กับเพียงประเด็นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่และเมื่อเวลาใด หรือทำไปในฐานะใด ศาลก็สมควรให้คู่ความได้ทราบถึงความสำคัญของประเด็นเฉพาะเจาะจงดังกล่าว และคู่ความก็สมควรได้ซักถามนายทะเบียนพรรคการเมืองผู้นั้นต่อหน้าศาลอย่างละเอียด และนำเสนอข้อโต้แย้งในการตีความกฎหมายเรื่องระยะเวลาที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประชาชนที่จะได้ติดตามรับฟัง เพื่อสุดท้ายศาลสามารถรับฟังความอย่างรอบด้านและนำความจริงในห้องเปิดมาอธิบายให้ปรากฏ
        
       แต่หากสุดท้ายความยุติธรรมคือกรณีที่หารือถือเอาได้แต่เพียงในห้องปิด ซ้ำโดยอาศัยพยานสำคัญที่ตัวไม่ปรากฏแต่ส่งมาเพียงเอกสารเสียแล้ว ก็คงเป็นชะตากรรมของเรา ประชาชนชาวไทย ที่ต้องเลือกระหว่างการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ หรือลุกขึ้นเรียกร้องสังคมที่ไม่เขินอายต่อความจริง
        
       ไม่แน่ คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ภาคต่อไป เราอาจได้เห็นกัน!
        
       บทส่งท้าย
        
       แม้ไม่ถูกใจไปทุกครั้ง แต่ไม่น้อยคราที่ผู้ทำความเห็นชื่นชมและเห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะสถาบันทางการเมืองสำคัญของประเทศและคงรู้สึกใจหายหากต้องเห็นพรรคการเมืองอันเก่าแก่นี้ถูกยุบไป ผู้ทำความเห็นเองก็มิแน่ใจเสียทีเดียวว่ากระบวนการยุบพรรคการเมืองคือคำตอบสำหรับประชาชนและระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ อีกทั้งการแสดงความเห็นทางวิชาการนี้ ย่อมอาจกระทบไปถึงผู้ที่ไม่เป็นแต่เพียงครูบาอาจารย์ผู้เมตตาและมีพระคุณต่อผู้ทำความเห็น หากยังเป็นตัวอย่างนักกฎหมายผู้กล้าหาญ มีคุณธรรม และสง่างาม อันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ผู้ทำความเห็นอีกด้วย กระนั้น ความรู้สึกส่วนตัวของผู้ทำความเห็นที่มีก็ดี หรือความรู้สึกไม่แน่ใจในสิ่งที่กฎหมายควรหรือไม่ควรเป็นก็ดี มิอาจเป็นเหตุให้ผู้ทำความเห็น ในฐานะนักกฎหมาย เห็นกฎหมายเป็นอื่นได้ แต่ด้วยมิได้เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย สิ่งที่ผู้ทำความเห็นพึงทำได้ ก็คือการใส่ใจกับผู้ที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายแทนประชาชน ตามที่สติปัญญาและความมั่นคงในหลักวิชา ตลอดจนกำลังใจจากผู้อื่นจะเอื้ออำนวยให้
        
       ไม่ว่าผู้ทำความเห็นจะเห็นถูกหรือเห็นผิดอย่างไร เหตุที่นำมาสู่ความเห็นนี้ปรากฏได้ต่อเราประชาชนทุกคน โดยมิต้องอาศัยตำแหน่ง ปริญญา หรือฐานะ ขอให้เพียงมีมโนสำนึกที่เป็นมาตรฐาน จริงอยู่ เหตุแห่งกระแสความใส่ใจในความเป็นกลางและจริยธรรมของตุลาการอาจจะผุดปรากฏให้พบได้เป็นครั้งคราวอย่างมีเงื่อนงำในที่ลับ แต่เหตุอันพึงปรากฏโดยมิต้องอาศัยกระแสและเห็นได้ชัดในที่แจ้ง คือประเด็นความละเอียด แม่นยำ และแยบยลในนิติวิธีและหลักกฎหมายที่สะท้อนออกมาจากแต่ละบรรทัดของคำวินิจฉัย ที่ไม่ต้องลึกลับซับซ้อน แต่ต้องกระจ่างในเหตุผล ใน มั่นคงในมาตรฐาน กระนั้น เมื่อปรากฏต่อเราว่ามีเหตุดังกล่าวแล้ว เราทำอะไรได้?
        
       จริงอยู่ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการต่างเป็นผู้ใช้อำนาจของเรา แต่เราไม่อาจอาศัยกระบวนการทางการเมืองเพื่อคัดเลือก สนับสนุน หรือลงโทษตุลาการได้ดั่งที่เราพึงทำต่อนักการเมืองได้ ทั้งการตรวจสอบตุลาการโดยผู้แทนของเราก็ไม่ปรากฏชัด ส่วนหนึ่งอาจด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญให้ตุลาการมีบทบาทสำคัญทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการได้มาซึ่งส่วนหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ตรวจสอบตุลาการเสียเอง  
        
       อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราพึงทำได้ คือติดตาม ใคร่ครวญ และกล้าหาญที่จะหวงแหนและทวงถามถึงเหตุผลและความยุติธรรมของคำวินิจฉัย เพราะความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยมิอาจดำรงได้ด้วยมาตรฐานทางเหตุผลหรือคุณธรรมจำเพาะของคนบางกลุ่ม แต่ต้องฟูมฟักและงอกเงยจากมโนสำนึกและประสบการณ์ของปวงชนที่สะท้อนผ่านกระบวนการและกฎหมายที่เรามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน  ครอบครัว คุณครู และมิตรสหาย ตลอดจนบุคคลสาธารณะอันเป็นที่เรารักและสนใจ ต้องร่วมกันกระตุ้นมโนสำนึกดังกล่าวผ่านเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ปฎิเสธความมักง่ายที่จะนิ่งเฉยดูดายภายใต้เงาของความเป็นกลางอันว่างเปล่า และไม่อ้างความเคารพเพื่อกลบเกลื่อนความขลาดกลัว เราต้องเรียกร้องสถาบันวิชาการและสื่อมวลชนให้ยึดมั่นและกล้าหาญในการทำหน้าที่เพื่อสังคมโดยต่อต้านการนำเสนอที่มอมเมา ปลุกปั่น หรือ ตื้นเขิน พร้อมสนับสนุนการถ่ายถอดหลักการและสิ่งที่ปรากฏจากคำวินิจฉัยผ่านผลงานในระดับนานาชาติ ให้ทราบไปถึงบรรดาผู้นำทางความคิด อาจารย์นิติศาสตร์ หรือ ผู้พิพากษาในต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการช่วยสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ที่ดีสำหรับตุลาการไทยอีกทางหนึ่ง
        
       เราต้องทวงถามถึงคำวินิจฉัยในวันเลือกตั้ง เราต้องจดจำใบหน้าของผู้แทนที่พร้อมจะเชื่อมโยงมโนสำนึกที่เรามีต่อคำวินิจฉัยไปสู่ศาลและตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าจะผ่านการตรวจสอบทางรัฐสภา การแก้กฎหมาย หรือการรณรงค์ทางการเมือง และไม่ลืมชื่อและนามสกุลของผู้แทนที่พร้อมทอดทิ้งหลักการหรือเพิกเฉยต่อความอยุติธรรม เพียงเพื่อรักษาหน้า ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก แต่เราก็ต้องพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบ อดทนและเรียนรู้จากผลของการตัดสินใจภายใต้กติการ่วมกัน
        
       และเราต้องร่วมจรรโลงความหวังและเป็นกำลังใจให้ตุลาการผู้เปี่ยมด้วยใจอันเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นตุลาการเสียงข้างมากทั้งสี่ในคดีนี้หรือตุลาการที่เหลือทั้งห้าที่ล้วนมีโอกาสทบทวนแนวการวินิจฉัยต่อไปในอนาคต รวมไปถึงผู้พิพากษาในศาลอื่น ผู้อาจพลอยต้องพิจารณาคดีที่เป็นผลพวงจากคำวินิจฉัยนี้ ให้ตั้งตรงด้วยมโนสำนึกที่คงมั่น ด้วยใจที่เปิดกว้างและรับฟังเสียงของปวงชนโดยมิยอมตกอยู่ในวังวนของบัญชาแห่งอำนาจนอกระบบ ให้สมดั่งเป็นตุลาการที่มาจากปวงชน โดยปวงชน และเพื่อปวงชนโดยแท้


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1533
เวลา 29 เมษายน 2567 17:30 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)