ครั้งที่ 254

19 ธันวาคม 2553 17:23 น.

       ครั้งที่ 254
       สำหรับวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2553 ถึงวันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 2554
        
       “ความสับสนในคำวินิจฉัยแรกของศาลรัฐธรรมนูญกรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์”
        
                 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยกคำร้องกรณีพรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 258 ล้านบาท ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กับคำวินิจฉัยแรกคือ เป็นความผิดของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่พิจารณาให้ความเห็นว่ามีเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะฉะนั้นความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นการก้าวข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง
                 นี่คือสิ่งที่ผมได้อ่านคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ดังกล่าวจาก website ของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดูไปแล้วก็ไม่แตกต่างจากคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) คำวินิจฉัยแรกที่ไม่มีการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่าพรรคประชาธิปัตย์ “ทำผิด” จริงหรือไม่ครับ
                 นี่คงเป็นข่าวดีที่สุดในรอบปีของพรรคประชาธิปัตย์ก็ว่าได้เพราะสามารถ “หลุดรอด” จากการถูกยุบพรรคไปได้ถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ยากที่จะหาใครที่โชคดีซ้ำซ้อนได้ขนาดนี้ครับ !!!
                 ผมคงไม่เขียนเกี่ยวกับคดีหลังนี้เพราะดู ๆ แล้วไม่คิดว่าจะมีอะไรน่าสนใจ ฟังศาลอ่านคำวินิจฉัยอยู่เพียงไม่กี่นาทีก็จบแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคำวินิจฉัยแรกที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อน  ในวันนี้ปรากฏว่าทั้งคำวินิจฉัยกลางฉบับที่เป็นทางการกับความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้รับการเผยแพร่แล้วและผมก็ได้มีเวลาอ่านไปทั้งหมดแล้ว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้จึงขอหยิบยกคำวินิจฉัยกลางและความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดี 29 ล้านมาเล่าสู่กันฟังโดยผมจะไม่ขอพูดถึงความเห็นในการวินิจฉัยและผลของการวินิจฉัยทั้งในคำวินิจฉัยกลางและความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพราะผมไม่ได้เป็นตุลาการเหมือนคนเหล่านั้นแล้วก็ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินคดีด้วย  นอกจากนี้แล้ว หากไปวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยเข้าก็อาจมีภัยมาถึงตัวได้โดยไม่รู้ตัวด้วย จึงต้องขอเว้นไม่วิพากษ์วิจารณ์ “เนื้อหา” ของการตัดสินคดี 29 ล้านครับ แต่ผมจะขอพูดถึง “รูปแบบและวิธีการ” ในการนำเสนอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนครับ
                 ลองมาดูคำวินิจฉัยกลางกันก่อน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อมาใน website ของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ “คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) เรื่อง นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์”  จำนวน 15 หน้า ต่อสาธารณชน โดยก่อนหน้านี้คือ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ได้ “ถอดเทป” การอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวมาลงเผยแพร่ไว้ด้วย ผมได้ตรวจสอบคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) กับการถอดเทปของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ในหน้าที่ 10 ซึ่งเป็น “ตอนจบ” ของคำวินิจฉัยแล้วพบว่า การถอดเทปที่ได้มาจากการอ่านกับเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่มีข้อความเดียวกันคือ “......เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง”  แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นทางการเผยแพร่ออกมา กลับปรากฏว่ามีจำนวนถึง 42 หน้า และในหน้า 40 ซึ่งเป็น“ตอนจบ” ของคำวินิจฉัย ก็มีข้อความที่แตกต่างไปจากคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) โดยมีการเพิ่มข้อความเข้าไปส่วนหนึ่งคือ“......เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                   ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป โดยเสียงข้างมาก 1 เสียง ใน 4 เสียง ให้เหตุผลว่า คดีนี้ถือว่าความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการเลือกตั้งได้ให้ความเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 แล้ว การยื่นคำร้องข้อกล่าวหาคดีนี้จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด
                   ส่วนฝ่ายข้างมาก 3 เสียง ใน 4 เสียง ให้เหตุผลว่า ความยังไม่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย อันจะเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค     ผู้ถูกร้อง และนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นว่ามีเหตุให้ต้องยุบพรรค      ผู้ถูกร้องตามมาตรา 93 วรรคสอง ทั้งนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่อย่างใด สำหรับความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 มิใช่การทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                   อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้ยกคำร้อง”
                 ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่าจะทำความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร เพราะจากที่ “ศาลอ่าน” และ “ศาลเขียน” ไม่ตรงกันเสียทีเดียว เพราะในตอนที่ศาลอ่าน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป แต่พอตอนที่ศาลเขียน แม้จะบอกอย่างเดียวกับที่อ่าน แต่ก็เพิ่มคำอธิบายเข้าไปมาก รวมไปถึงการกล่าวถึงการวินิจฉัยใน “เนื้อหา” ของคดีของตุลาการฝ่ายข้างมาก 3 เสียงซึ่งอยู่ในประเด็นอื่นอีกด้วยคือ “...ความยังไม่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคผู้ถูกร้อง.....”
                 ไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้อธิบายเรื่องนี้ต่อประชาชนดีครับ ระหว่างเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งอยู่อย่างเงียบเหลือเกินมาเป็นเวลานานแล้ว) กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตามที่ผมเข้าใจนั้น คำวินิจฉัยมีผลเมื่ออ่าน และเมื่ออ่านอย่างไรก็ควรจะเขียนอย่างนั้น หากจะมีการแก้ไขถ้อยคำให้สละสลวยบ้างก็ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่เมื่ออ่านแล้วและผลก็เกิดแล้วคือผูกพันทุกองค์กร พอเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว ตอนเขียนก็เลยถือโอกาสเขียนเพิ่มเติมขยายความออกไปอีก แถมยังให้เหตุผลต่างไปจากที่อ่านด้วยจนทำให้ตอนนี้ไม่ทราบแน่ชัดแล้วว่าที่ยกคำร้องไปนั้นเนื่องมาจากประเด็นใดกันแน่ระหว่างการยื่นคำร้องพ้นกำหนดเวลา 15 วันหรือนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นครับ เรื่องนี้ควรจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนนะครับว่าหลักควรเป็นอย่างไรคำวินิจฉัยมีผลเมื่ออ่านใช่หรือไม่ อ่านแล้วแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ ถ้าได้สามารถทำได้มากน้อยเพียงใด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ศาลรัฐธรรมนูญควรชี้แจงให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่เงียบหายไปเหมือนกับทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญครับ !!!  นอกจากนี้แล้ว ผมยังมีข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ตามความเข้าใจของผม ในวันตัดสินคดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้องออกจากบ้านมาพร้อมกับความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน พอประชุมกันแต่ละคนก็จะเสนอความเห็นของตน เมื่อทุกคนเสนอความเห็นเสร็จแล้ว ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นการตรวจดูความเห็นของแต่ละคนในแต่ละประเด็นเพื่อให้ผลออกมาว่า สรุปแล้วเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยในแต่ละประเด็นเป็นอย่างไร จากนั้นจึงไปทำคำวินิจฉัยกลาง  แต่เท่าที่ปรากฏ สาธารณชนไม่ทราบความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดก่อนเลยซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนเป็นที่มาของคำวินิจฉัย ดังนั้น ก่อนที่จะทราบผลของคำวินิจฉัยกลาง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนก่อน หาไม่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องประชุมก็อาจไม่มีความชัดเจนและอาจเปลี่ยนแปลงได้ ผมไม่ทราบว่าผมขอมากไปไหมครับ !! หากสามารถเปิดเผยความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนซึ่งต้องมีอยู่แล้วก่อนการวินิจฉัยทันทีที่มีการอ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากและอย่างน้อยก็จะเป็นเกราะป้องกันความเข้าใจผิดหรือข้อครหาต่าง ๆ ที่ตามมาด้วยครับ ก็ลองดูนะครับ ไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ครับ
                 ในส่วนของความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนนั้น ผมได้อ่านความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนแล้วก็มีข้อสังเกตอยู่ในส่วนของ “วิธีการเขียนคำวินิจฉัย” ที่ทำให้ผู้อ่าน (และหนังสือพิมพ์บางฉบับ) หลงทางกันไปหมดครับ ลองมาดูกันนะครับว่าเป็นอย่างไร โดยผมจะขอนำเสนอเฉพาะความเห็นของตุลาการเสียงข้างมากครับ
                 ในความเห็นของตุลาการเสียงข้างมาก 4 คนนั้น มีการกำหนดประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยไว้ 5 ประเด็น โดยมีรายละเอียดอย่างสรุปของความเห็นแต่ละคนในแต่ละประเด็นคือ
       
                 1. นายจรัญ  ภักดีธนากุล เขียนความเห็น 16 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น ในตอนท้ายของหน้าแรกกล่าวว่าจะพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ก่อน ในหน้าที่ 2 เริ่มวินิจฉัยประเด็นที่ 2 จบลงตรงหน้าที่ 2 ว่า จึงเป็นความเข้าใจกฎหมายที่คลาดเคลื่อนของ    ผู้ร้องเอง ในหน้าที่ 3 วินิจฉัยประเด็นที่ 1 จบลงตรงตอนท้ายของหน้าที่ 9 ที่ว่า การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้ กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในตอนท้ายของหน้าที่ 9 วินิจฉัยประเด็นที่ 3 จบลงที่หน้า 14 วินิจฉัยว่า แม้รายจ่ายสำหรับค่าป้ายที่เป็นการจ่ายจากรายรับสำหรับปี 2548 ที่จ่ายในปี 2547 ก็ต้องบันทึกบัญชีในปี 2548 ตามหลักเกณฑ์สิทธิ มิได้ผิดหลักเกณฑ์ทางบัญชีแต่อย่างใด ในตอนกลางของหน้าที่ 14 วินิจฉัยประเด็นที่ 4 จบลงในตอนท้ายของหน้าเดียวกันคือ ผู้ถูกร้องได้จัดทำรายงานการใช้เงินสนับสนุนถูกต้องแล้ว ในหน้าที่ 15 วินิจฉัยประเด็นที่ 5 จบลงตรงหน้า 16 ซึ่งมีอยู่ 2 บรรทัด วินิจฉัยว่า เมื่อศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องมิได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 จึงไม่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องในขณะนั้นต้องถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามมาตรา 69 (ผมเข้าใจว่า ในความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของนายจรัญฯ มีการอ้างกฎหมายผิดคือ แทนที่จะอ้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 กลับไปอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2541 ซึ่งก็ผิดอีกเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับก่อนหน้านี้คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มิใช่พุทธศักราช 2541 อย่างที่เขียนไว้หลายแห่งในหน้า 15 ของความเห็น ส่วนวิธีการเขียนถึงมาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะถูกต้องด้วยเพราะที่เขียนว่า มาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 นั้น ที่ถูกควรใช้คำว่า มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มากกว่า และหากผมเข้าใจไม่ผิด ทุกที่ ๆ เขียนว่า มาตรา 62 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 หรือมาตรา 69 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 นั้น ที่ถูกควรเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มากกว่าใช่ไหมครับ)
       
                 2. นายสุพจน์  ไข่มุกด์  เขียนความเห็น 15 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น ในหน้าที่ 2 ถึงหน้าที่ 4 เป็นตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เริ่มความเห็นในหน้าที่ 5 โดยรวมประเด็นที่ 1 กับ 2 เข้าด้วยกัน และวินิจฉัยในหน้าที่ 9 ตอนท้ายว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในหน้าที่ 10 วินิจฉัยประเด็นที่ 3 จบลงตรงกลางหน้าที่ 14 ว่า พรรคผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง.....เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ร้องแล้ว ในหน้าที่ 14 ตอนท้าย วินิจฉัยประเด็นที่ 4 จบลงตรงกลางหน้า 15 ว่า ผู้ถูกร้องได้จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในปี 2548 ถูกต้องตามความเป็นจริง ในหน้า 15 ตอนท้ายกล่าวถึงประเด็นที่ 5 ว่า กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 5 อีกต่อไป และจบความเห็นส่วนตนว่า อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัย จึงมีความเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 42 วรรคสองและมาตรา 82
       
                 3. นายนุรักษ์  มาประณีต เขียนความเห็น 9 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น ในหน้าที่ 2 วินิจฉัยประเด็นที่ 2 ก่อน โดยวินิจฉัยในตอนท้ายของหน้าที่ 2 ว่ากรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 ในตอนท้ายของหน้าที่ 2 วินิจฉัยประเด็นที่ 1 จบลงตรงกลางของหน้าที่ 6 ว่า ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในตอนกลางของหน้าที่ 6 วินิจฉัยประเด็นที่ 3 จบลงตรงท้ายของหน้าที่ 7 ว่า ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2548 เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว ในหน้าที่ 8 วินิจฉัยประเด็นที่ 4 จบลงตรงตอนท้ายหน้าเดียวกันว่า....จึงมีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2548 ถูกต้องตามความเป็นจริง ในตอนท้ายของหน้าที่ 8 กล่าวถึงประเด็นที่ 5 ว่า เมื่อข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นว่า ผู้ถูกร้องมิได้กระทำผิด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 93 จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว และจบความเห็นส่วนตนในหน้าที่ 9 ซึ่งมีอยู่ครึ่งบรรทัดว่า ด้วยเหตุดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจึงมีความเห็นให้ยกคำร้อง
       
                 4. นายอุดมศักดิ์  นิติมนตรี เขียนความเห็น 25 หน้า ในหน้าแรกกำหนดให้มี 5 ประเด็น ในหน้าที่ 2 รวมประเด็นที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกันและวินิจฉัยไว้ในหน้า 19 ตอนท้ายว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในตอนท้ายของหน้าที่ 13 รวมประเด็นที่ 3 และ 4 เข้าด้วยกันและวินิจฉัยไว้ในตอนท้ายของหน้าที่ 25 ว่า ผู้ถูกร้องได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2548 ถูกต้องตามความเป็นจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 62 แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ในตอนท้ายของหน้าที่ 25 ไม่พิจารณาประเด็นที่ 5 และจบความเห็นส่วนตนในตอนท้ายของหน้า 25 ว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2548 เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติและรายงานการใช้จ่ายเงินถูกต้องตามความเป็นจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 62 เห็นควรยกคำร้อง
       
                 เมื่อพิจารณาเนื้อหาของความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 4 คนที่ได้นำเสนอไปนั้น ผมมีข้อสังเกตในเรื่องรูปแบบอยู่ 2 ประการด้วยกัน (ไม่นับการอ้างกฎหมายผิดๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำงานคนเดียว มีทั้งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ ฯลฯ เต็มไปหมด) คือ ในประการแรกนั้น ในบรรดาความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คน มีเพียงความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นว่า การที่ประธานกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องในวันที่ 26 เมษายน 2553 พ้นระยะเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนอีก 3 คนนั้นเห็นคล้าย ๆ กันคือ นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ให้ความเห็น เพราะฉะนั้นข้อสังเกตประการแรกคือ ทำไมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงเขียนว่า “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือถือเอาว่ากรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไมได้ให้ความเห็นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคก็ไม่ทราบนะครับ !!! ส่วนข้อสังเกตประการต่อมาของผมก็คือ วิธีการเขียนความเห็นและการขาดการสรุปความเห็นของการตัดสินที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ในตัวของความเห็นเองว่า ยกคำร้องด้วยเรื่องอะไร เพราะหากจะเอาเรื่องกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยเรื่อง 15 วัน หรือเรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ให้ความเห็นของนายจรัญฯ อยู่ในหน้าที่ 9 (จาก 16 หน้า) ของนายสุพจน์ฯ อยู่ในหน้าที่ 9 (จาก 15 หน้า) ของนายนุรักษ์ฯ อยู่ในหน้าที่ 6 (จาก 9 หน้า) และของนายอุดมศักดิ์ฯ อยู่ในหน้าที่ 19 (จาก 25 หน้า)  ส่วนในตอนท้ายของความเห็น ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงนาม ซึ่งเป็นส่วนที่ “สำคัญ” ที่สุดนั้น กลับไม่มีข้อความที่เป็น “ข้อตัดสินชี้ขาด” ของเรื่องดังกล่าวอยู่เลย ด้วยเหตุนี้เองทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับ นักวิชาการ และนักการเมืองบางคนออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างผิด ๆ เพราะจริง ๆ แล้วความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนที่เขียน “ตอนจบ” ของเรื่อง “ไปซ่อน” อยู่ตรงกลางของความเห็นส่วนตนกันหมด ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยที่     “ตอนจบ” ของเรื่องอยู่ตอนท้ายคำวินิจฉัยครับ !!!
                 ไม่ทราบว่าจะขอมากเกินไปอีกหรือไม่นะครับ ! เนื่องจากความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนเป็นสิ่งที่มาตรา 216 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ว่าต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็หมายความว่าต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ คงต้องขอให้ช่วยเขียนให้อ่านง่าย ๆ และต้องตรวจสอบกันให้ดีด้วยว่ามีการอ้างตัวบทกฎหมายถูกต้องและมีบทสรุปตอนจบที่ชัดเจนว่าแต่ละคนเห็นว่าอย่างไร จะได้สะดวกกับการอ่าน ไม่ใช่ต้องดูประเด็นในหน้าแรก พลิกไปดูตอนท้ายก็ไม่รู้เรื่องต้องย้อนกลับมาอ่านตอนกลางอีก 3-4 รอบ จากนั้นต้องไปอ่านคำวินิจฉัยกลางอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ทราบ “ตอนจบ” ของเรื่อง แล้วต้องย้อนกลับมาดูความเห็นส่วนตนของแต่ละคนซึ่งอยู่สะเปะสะปะไม่ตรงกัน เพื่อที่จะได้ทราบว่าแต่ละคนเห็นว่าอย่างไรใน “ตอนจบ” ของเรื่องครับ
                 เขียนแบบนี้ ถ้าเป็นนิยายคงเลิกอ่านไปแล้ว ไม่มาทนนั่งอ่านให้เสียเวลาหรอกครับ !!!
                 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องไป 2 เรื่องติดๆกัน นายทะเบียนพรรคการเมืองจะว่าอย่างไรครับ !!! แสดงความรับผิดชอบอะไรออกมาบ้างนะครับ ไม่ใช่เลียนแบบศาสรัฐธรรมนูญ อยู่เงียบๆ มีงานทำ มีเงินใช้ ไม่นานผู้คนก็ลืมไปเอง ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าจะใช้วิธีแบบนี้กันไปหมด แล้วอย่างนี้จะสอนคนรุ่นต่อๆไปให้รู้จักคำว่า “ความรับผิดชอบ” กันได้อย่างไรครับ !!!
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรก คือบทความเรื่อง “ความรับผิดทางอาญาของแพทย์ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ที่เขียนโดย คุณไกรพล อรัญรัตน์ นิสิตจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่สอง คือบทความเรื่อง “นักโทษทางความคิด (Prisoner of Conscience)” โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง  บทความที่สาม เป็นบทความของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์เดช สรุโฆษิต แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง “บทวิเคราะห์การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง (ตอนที่1)” และบทความสุดท้าย คือบทความเรื่อง “อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 (อนุสัญญาอาร์ฮูส) กับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ที่เขียนโดย อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆบทความครับ
        
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2554 ครับ
        ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1540
เวลา 18 เมษายน 2567 13:24 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)