ครั้งที่ 256

16 มกราคม 2554 21:24 น.

       ครั้งที่ 256
       สำหรับวันจันทร์ที่ 17 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2554
       
       “ประชาวิวัฒน์ : กรุงเทพฯวิบัติ”
       
       เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ฯ ถึง “โครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทย (โครงการประชาวิวัฒน์)” เพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่กับประชาชนจำนวน 9 แผนปฏิบัติการคือ 1. การเข้าถึงระบบประกันสังคม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่นอกระบบ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสมทบเงิน 100 บาทต่อเดือนเข้าระบบประกันสังคม 2. การเข้าถึงระบบสินเชื่อ โดยเฉพาะคนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ในอัตราที่เป็นธรรม 3. การขึ้นทะเบียนและจัดระบบมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสวัสดิการ ต้องมีการปรับปรุงวิน ป้ายราคาต้องชัด 4. เพิ่มจุดผ่อนผันให้ผู้ค้าจำนวน 2 หมื่นรายมีพื้นที่ค้าขายเพื่อลดรายจ่ายนอกระบบและพัฒนาให้เป็นจุดท่องเที่ยว 5. การแก้ปัญหาค่าครองชีพโดยเฉพาะการแก้ปัญหากองทุนน้ำมัน โดยจะมีการยกเลิกการตรึงราคา LPG ในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังตรึงราคาภาคครัวเรือนและภาคขนส่งต่อไป เพื่อประชาชนจะได้ใช้ในราคาที่เป็นธรรม 6. การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับคนที่ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยอย่างถาวรโดยการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม 7. อาหารในส่วนของผู้ประกอบการโดยจะดูแลให้ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 8. อาหารในส่วนของผู้บริโภคจะต้องมีทางเลือกมากขึ้น ต้องมีการเปิดเผยต้นทุนการผลิต ต้องมีความโปร่งใส ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยมีแนวคิดจำหน่ายไข่เป็นกิโลกรัม 9. การแก้ปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะจุดเสี่ยงกว่า 200 จุด จะมีการบูรณาการ การเพิ่มบุคลากรในการตรวจตราเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปตำรวจ
       มาตรการทั้ง 9 ข้างต้น ผมได้มาจากข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์เช้าวันจันทร์ที่ 10 มกราคม และในวันต่อมาคือวันอังคารที่ 11 มกราคม คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ 1. ยุทธศาสตร์การสร้างอนาคตของชาติด้วยการพัฒนาคน เด็กและเยาวชน 2. ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายระบบสวัสดิการสังคม 3. ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเมืองและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และ 4. ยุทธศาสตร์การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม พร้อมกับการเห็นชอบยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้างต้น คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 9,190 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนปฏิรูปประเทศไทยดังกล่าวโดยในยุทธศาสตร์ที่ 4 คือยุทธศาสตร์การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรมก็คือมาตรการประชาวิวัฒน์ 9 ข้อที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไปเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม ที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง
       ความรู้สึกแรกของผมเกี่ยวกับประชาวิวัฒน์ 9 แผนปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ 4 ด้านของแผนการปฏิรูปประเทศไทยก็คือ “เอาอีกแล้ว!!!” เหตุผลที่ผมรู้สึกเช่นนั้นก็เพราะสิ่งที่ผมอยากเห็นกับสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอไม่ตรงกันนั่นเอง โดยผมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอมานั้นเป็นเพียงความช่วยเหลือชั่วครู่ชั่วยามที่มุ่งแก้ปัญหาระยะสั้นให้กับประชาชนบางกลุ่ม แต่ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาระยะยาวให้กับประเทศชาติซึ่งก็มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากบรรดาโครงการอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลนี้และรัฐบาลก่อนหน้านี้ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่เคยมีใครออกมากล่าวถึงเลยว่าโครงการเหล่านั้นแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้หรือไม่อย่างไร ดังเช่นโครงการเช็คช่วยชาติที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการไปตอนเข้ามารับหน้าที่ใหม่ ๆ ซึ่งใช้เงินไปมากมายแต่ก็ไม่ได้เกิดผลอะไรตามมาเลยแม้แต่น้อย เป็นต้น โครงการทั้งหลายเหล่านี้เป็นโครงการที่รัฐบาลมุ่งเน้นที่จะ “ให้” เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเพื่อสร้างคะแนนนิยมมากกว่าการจัดวางระบบที่ดีสำหรับอนาคต เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่รู้สึกยินดีกับสิ่งที่รัฐบาลได้แถลงออกมา ในทางตรงข้ามผมกลับรู้สึกยินร้ายกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำมากกว่า เพราะในตอนต้นของรัฐบาลนี้ เคยมีความพยายามที่จะนำเสนอรูปแบบของรัฐสวัสดิการที่ถูกต้องว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศไทย แต่ในวันนี้สิ่งเหล่านั้นกลับเลือนหายไปและกลับกลายเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิด ๆ ให้กับผู้อยู่อาศัยในประเทศนี้ที่กำลังเข้าใจกันว่า รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องให้ ให้แต่เพียงอย่างเดียว รัฐสวัสดิการคือการให้ ในขณะที่ความเป็นจริงของรัฐสวัสดิการนั้นไม่จำกัดอยู่แต่เพียงด้านเดียว คือการที่รัฐมีหน้าที่ต้องให้ แต่ยังมีความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งด้วยก็คือ ประชาชนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งในเรื่องการเสียภาษีในวันนี้ก็ไม่มีการพูดถึงกันแล้วว่าจะทำอย่างไรจึงเก็บภาษีได้มากขึ้น จะทำอย่างไรจึงจะเก็บภาษีประเภทใหม่ ๆ เหมือนกับประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการทั้งหลายเขาทำกัน เช่น ภาษีที่ดินส่วนที่เกินความจำเป็นของการอยู่อาศัยหรือทำมาหากิน ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองที่ในวันข้างหน้า หากไม่มีการทำความเข้าใจหรือจัดวางระบบให้ถูกต้อง รัฐก็จะมีแต่รายจ่ายแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีรายได้ที่สัมพันธ์กับรายจ่าย ถึงตอนนั้นก็คงทำอะไรไมได้มาก นอกจากไปกู้เงินมาใช้จัดทำสวัสดิการ จะเลิกสวัสดิการก็คงไม่ได้เพราะของแบบนี้มีแล้วหากเลิกต้องวุ่นวายแน่ครับ
        ผมมองดูนโยบายประชาวิวัฒน์ด้วยความเป็นห่วงว่า นอกจากนโยบายบางประการจะไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศชาติแล้ว ในทางกลับกัน อาจสร้างปัญหาขึ้นในประเทศชาติอีกด้วย ลองมาดูกันว่าปัญหาที่ว่านี้คืออะไร ซึ่งในเบื้องต้นผมมองเห็นถึงปัญหา 2 ระดับคือ ปัญหาระดับชาติและปัญหาระดับท้องถิ่นครับ
       ปัญหาระดับชาติ แน่นอนครับ เมื่อมองดูนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลนำเสนอ ส่วนหนึ่งจะพบว่ามุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาให้กับกรุงเทพมหานครและเมืองขนาดใหญ่ เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยยังมีภาคต่าง ๆ ที่มีปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ภาคใต้ไม่ต้องพูดถึง ทุกคนทราบกันอยู่แล้วและก็รอว่ารัฐบาลไหนจะเป็นรัฐบาลที่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้เด็ดขาด ลำพังการเล่นละครด้วยการออกมาขอโทษพี่น้องประชาชนหรือการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามคงไม่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ เช่นเดียวกับภาคอีสาน ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าภาคอีสานมีประชากรมาก ส่วนใหญ่จน มีปัญหาทางธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาของประเทศหรือการปฏิรูปประเทศ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วนของประเทศของอย่างเป็นรูปธรรม พวกเราคงจำได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พี่น้องชาวอีสานของเราจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ามาปักหลักอยู่บนถนนสาธารณะกลางเมืองหลวง เรียกร้องความเท่าเทียมกันทางสังคม เรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐและแสดงให้คนเมืองหลวงเห็นว่า พวกเขามีตัวตน เมื่อเหตุการณ์สงบพี่น้องชาวอีสานเดินทางกลับบ้าน การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่เกิดขึ้น คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมาอีกเป็นแน่ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน ผ่านไปแล้ว 7 เดือนเศษ มีนโยบายอะไรที่ใช้กับพี่น้องชาวอีสานของเราหรือยังครับ หรือว่าจะรอให้พวกเขาเข้ามาทวงถามอีก ผมมองด้วยความวิตกว่า นโยบายทั้งหลายที่รัฐบาลนำเสนอมานั้น หากไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้คนนอกกรุงเทพมหานครได้ ความแตกแยกที่มีอยู่แล้วก็จะมีมากขึ้นแล้วก็คงกลายเป็นความวุ่นวายตามมาอีกในเวลาอันใกล้นี้ครับ
       ส่วนปัญหาระดับท้องถิ่นนั้น จริง ๆ แล้วผมมองดูเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครที่นโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลอาจกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับกรุงเทพมหานครมากยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ โดยเฉพาะนโยบายที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนและจัดระบบมอเตอร์ไซด์รับจ้างเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสวัสดิการกับการเพิ่มจุดผ่อนผันให้กับหาบเร่แผงลอย
       เรื่องมอเตอร์ไซด์รับจ้างนั้น รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่เรามีระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ดี ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องใช้รถส่วนตัว ผลที่ตามมาคือการจราจรติดขัด คงจำเรื่องรถตู้ที่วิ่งบนทางด่วนที่เพิ่งเกิดโศกนาฏกรรมไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ได้นะครับ นั่นก็เป็นผลพวงของระบบขนส่งมวลชนที่แย่ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากจะแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบและยั่งยืนก็ต้องมุ่งเน้นที่การแก้ระบบขนส่งมวลชนให้ดีมากกว่า “ยอมรับ” ในสิ่งที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้ คนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครคงมองเห็นปัญหาเหมือน ๆ กันคือ มอเตอร์ไซด์รับจ้างส่วนใหญ่ไม่เคารพกฎจราจร วิ่งสวนทางบนถนน วิ่งบนทางเท้า จอดรถบนถนนตรงปากซอยหรือหัวมุมถนนซึ่งปกติเป็นที่ห้ามจอด ใช้ถนนสาธารณะและทางเท้าเป็นที่ทำมาหากินโดยไม่นึกถึงสิทธิของผู้ใช้รถใช้ถนนอื่น ผมจึงอยากทราบว่า ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะจัดระบบมอเตอร์ไซด์รับจ้างนั้น หมายความรวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับคนเหล่านั้นด้วยหรือไม่ จะต้องรักษาสิทธิของผู้ใช้ทางเท้าดังเช่นประเทศอื่น ๆ ในโลกเขาทำกันหรือไม่ รวมไปถึงบุคคลเหล่านั้นจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้หรือภาษีอันเนื่องมาจากการใช้ทางสาธารณะเป็นที่ทำมาหากินและสร้างรายได้ให้กับตนเองด้วยหรือไม่ เพราะหากคิดแต่จะ “เอาใจ” คนขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ต่อไปจะไม่ต้อง “ส่งส่วย” แต่เพียงอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้องเพราะต้องไม่ลืมว่ายังมีคนกรุงเทพมหานครอีกมากที่ “ไม่พอใจ” กับการไม่ดำเนินการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับการละเลยการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอีกกลุ่มหนึ่งครับ คงไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับประชาชนทั่วไปหากรัฐมุ่งเน้นที่จะ “เอาใจ” มอเตอร์ไซด์รับจ้างทั้ง ๆ ที่คนพวกนี้ไม่เคารพกฎจราจรและไม่เสียภาษี ที่ถูกถ้าจะให้เป็นระบบจริง ๆ และคิดว่าจะให้มอเตอร์ไซด์รับจ้างเป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย (จริงๆควรจะเลิกมากกว่ายอมรับครับ!!!) ก็จะต้องทำให้ครบวงจรเหมือนกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ด้วยคือ เสียภาษีและปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่คิดว่าเป็นรถคันเล็กจะขับอย่างไรก็ได้ จะจอดที่ไหนก็ได้ดังเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้ครับ
       ส่วนเรื่องหาบเร่แผงลอย ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เราต้องไม่ลืมว่า ทางเท้าเป็นพื้นที่ที่สงวนเอาไว้ให้คนเดิน เป็นทางสัญจรไปมา ทางเท้าส่วนใหญ่มีความกว้างประมาณ 2 เมตร กว้างพอให้คนเดินสวนไปมาได้อย่างสบาย แต่เท่าที่พบจะเห็นว่า บนทางเท้าบางแห่งมีตู้โทรศัพท์สาธารณะตั้งระเกะระกะอยู่ บางแห่งก็มีร้านค้าตั้งแผงยื่นล้ำเข้ามาบนทางเท้า ร้านค้าหรือตึกแถวบางแห่งเอากระถางต้นไม้มาตั้งวางในลักษณะ “หวง” ทางสาธารณะหน้าบ้านตัวเอง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้พื้นที่ทางเท้าในบางแห่งแคบลงจนในบางครั้งถึงขนาดเดินไม่ได้กันเลยทีเดียวครับ ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่เราเห็นเป็นปกติในเขตกรุงเทพมหานคร และก็เป็นเช่นนี้มานานแล้วโดยไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้ หากจะอนุญาตให้หาบเร่แผงลอยมาใช้พื้นที่บริเวณทางเท้าซึ่งเป็นทางสาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันมากเข้าไปกว่าเดิมอีกจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการรบกวนสิทธิของประชาชนอื่น ๆ ที่ใช้ทางเท้าเป็นทางสัญจร ลองดูตัวอย่างหน้าสยามสแควร์ก็ได้ที่มีหาบเร่แผงลอยเต็มไปหมดจนคนเดินบนทางเท้าไม่ได้ ต้องลงไปใช้ถนนเป็นทางเดินซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ครับ แต่ถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหาให้กับผู้ค้าขายก็ควรจะทำอย่างเป็นระบบ เช่น จัดหาสถานที่ให้ผู้ประกอบการทำมาค้าขาย หรือไม่ก็ปิดถนนบางสายในเวลากลางคืนเพื่อทำเป็นถนนคนเดินในวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ให้ผู้ประกอบการได้ไปค้าขาย เก็บค่าเช่านำเงินเข้ารัฐเพราะใช้พื้นที่สาธารณะทำมาหากินครับ !!!
       ในภาพรวม การขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซด์รับจ้างกับการเพิ่มจุดตั้งหาบเร่แผงลอยจึงเป็นนโยบายที่มองผู้ประกอบการแต่เพียงด้านเดียวโดยลืมมองไปว่า ประชาชนอื่นจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างไรบ้าง กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจะมีสภาพเป็นอย่างไรต่อไป และนอกจากนี้แล้ว มาตรการในการรองรับสิ่งที่จะตามมาภายหลังจากที่ถนนและทางเท้าในกรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยมอเตอร์ไซด์รับจ้างและหาบเร่แผงลอยก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาพูดถึงว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเคร่งครัดกับการที่มอเตอร์ไซด์รับจ้างและหาบเร่แผงลอยทำผิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของประชาชนทั่วไปหรือไม่ อย่างไรครับ !!!
       รัฐบาลต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่า ของพวกนี้ให้แล้วเลิกยาก มิเช่นนั้น ป่านนี้เราคงเลิกสามล้อเครื่อง เลิกมอเตอร์ไซด์รับจ้างหรือเลิกรถตู้ ไปได้นานแล้วครับ
       ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของนโยบายรัฐบาลที่นำเสนอออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บางนโยบายก็เป็นเพียงวิธีการหรือมาตรการในการแก้ปัญหาระยะสั้นให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง และนอกจากนี้ก็ยังอาจเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นในวันข้างหน้าอีกด้วย
       สำหรับผม โครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทย (โครงการประชาวิวัฒน์) จึงเป็นเพียงโครงการเร่งรัดปฏิบัติการด่วนเพื่อหาเสียงธรรมดา ๆ ที่คิดขึ้นมาเพื่อ “ได้ใจ” คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเองครับ และที่สำคัญ หากไม่มีมาตรการรองรับที่เคร่งครัด กรุงเทพมหานครคงต้องถึงคราว " วิบัติ " เป็นแน่ครับ !!!!!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความขนาดยาวของศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ ที่เขียนเรื่อง "กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ที่นำเสนอเป็นตอนแรก และบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "ระบบคัดเลือก ส.ว. แบบไตรลักษณ์" ที่เขียนโดย คุณมนูญ โกกเจริญพงศ์ นิติกรชำนาญการพิเศษจากกรมบังคับคดี ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2554 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1550
เวลา 29 มีนาคม 2567 13:23 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)