กฎหมายนิวเคลียร์เพื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศไทยในอนาคต

30 มกราคม 2554 20:21 น.

       พลังงานไฟฟ้านับเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งของประเทศไทยที่ไม่เพียงแต่จะเข้ามามีบทบาทเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างเราๆเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปโดยปริยายโดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัวเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ไม้สอยใดๆรอบๆตัวเรา ก็ล้วนแต่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานในการใช้งานไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นหม้อหุงข้าว เตาไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่กำลังเกือบจะกลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการดำรงชีวิตของเราๆท่านๆอย่างปฏิเสธไม่ได้แล้วในขณะนี้ 
                    ข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งระบบการคมนาคมขนส่ง(รถไฟฟ้า)ที่ออกแบบมาให้ใช้พลังงานไฟฟ้ามีมากมายหลายชนิดนับเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่มีส่วนเอื้อประโยชน์ให้ “พลังงานไฟฟ้า” มีบทบาทกลายเป็นพลังงานยอดฮิตที่เกือบจะเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ห้าของการดำเนินชีวิตสำหรับคนเมืองยุคปัจจุบันไปเลยทีเดียว ด้วยความสะดวกในการใช้งาน ราคาค่าบริการที่พอรับไหวที่ถึงแม้จะแพงไปหน่อยเมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจทั้งในเอเชียและอเมริกา ก็ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนการผลิตของบ้านเราสูงกว่าบ้านเขา จึงส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆตามสภาวะการขาดแคลนพลังงานที่นำมาใช้ผลิต แต่โครงการโปรโมชั่นของรัฐบาลที่ออกมาอุ้มภาระบางส่วนไว้ ก็เป็นเรื่องอะไรที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสไตล์สบายๆคนไทยอย่างเราพอรับไหว และใช้ไฟฟ้าอย่างสบายๆไม่ต้องประหยัดหรือถูกจำกัดปริมาณการใช้เหมือนบางประเทศ
                 กล่าวกันง่ายๆว่า การผลิตไฟฟ้าที่เราใช้อยู่นี้ เกิดจากการนำพลังงานธรรมชาติ เช่นพลังงานกระแสน้ำไหล พลังงานลม หมุนปั่นกังหันซึ่งมีแกนขดลวดเหนี่ยวนำแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าส่งมาตามสายให้เราได้ใช้ทางหนึ่ง  หรือพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำมันชนิดต่างๆ ถ่านหิน ก๊าซ  นำมาเผาให้เกิดความร้อนเพื่อต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอเป็นพลังไปขับหมุนกังหันที่มีแกนหมุนเป็นขดลวดแม่เหล็กเหนี่ยวนำเปลี่ยนเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้าส่งมาตามสายให้เราได้ใช้ได้อีกทางหนึ่ง  หรือแม้แต่จากกระบวนการจัดซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านก็อีกทางหนึ่ง
                    แต่ด้วยปัญหาที่พลังงานธรรมชาติที่เอาแน่เอานอนไม่ได้จากสภาวะแปรปวนของโลกที่เปลี่ยนไป กับทั้งเชื้อเพลิงธรรมชาติต่างๆที่เริ่มจะขาดแคลนและมีแนวโน้มจะหมดไปในที่สุด หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ขายไฟฟ้าให้เราก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประเทศเราจำเป็นที่จะต้องขวนขวายหาพลังงานอื่นมาใช้ผลิตไฟฟ้าทดแทนจากพลังงานต่างๆเหล่านั้น เพื่อให้รองรับกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มจะต้องเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
                    พลังงานความร้อนที่ได้จากการนำพลังงานนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงดูจะเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้สามารถควบคุมให้ประเทศเรามีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ  สามารถควบคุมราคาค่าไฟฟ้าให้ถูกลงได้ในระยะยาวแม้ว่าต้นทุนเริ่มแรกจะสูงสุดโต่งก็ตาม การใช้พลังงานความร้อนซึ่งเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ถูกควบคุมอย่างปลอดภัยในเตาปฏิกรณ์หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์( nuclear power reactor ) หนึ่งชุดจะทำให้ได้ความร้อนจำนวนมหาศาลจากเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ มาต้มน้ำให้เดือดเป็นแรงดันไอน้ำเพื่อไปหมุนกังหันขวดลวดเหนี่ยวนำ กลายเป็นกระแสไฟฟ้าให้เราใช้ได้โดยไม่ต้องมีการหยุดปฏิกิริยายาวนานต่อเนื่องถึงอย่างต่ำๆ 30 ปีโดยประมาณ
                  เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ุ้กำหนดขึ้นโดยผู้รู้หรือมีประสพจึงถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นให้อยู่ในที่จำกัดและอยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมได้จนถึงขั้นนำความร้อนที่ได้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย  ซึ่งการควบคุมก็จะต้องเป็นวิธีปฏิบัติเฉพาะที่กำหนดขึ้นโดยผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ทางด้านวิธีการควบคุมพลังงานนิวเคลียร์ให้อยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยแก่การใช้งานมาก่อน จึงเป็นที่มาของแนวปฏิบัติที่ประเทศผู้ใช้มือใหม่จะต้องเรียนรู้และรับไปปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามที่เจ้าของเทคโนโลยีกำหนดไว้  ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ เป็นข้อกำหนดพื้นฐานที่ ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีทั้งหลายทั่วโลกร่วมกันกำหนดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการจัดวางโครงสร้างการควบคุมการปฏิบัติในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เป็นไปโดยปลอดภัย เพื่อให้บรรดาประเทศผู้ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติทั้งหลาย  ได้นำมาแปลงให้สอดคล้องกับจารีตปฏิบัติและมีสภาพบังคับอย่างกฎหมายแก่ประเทศผู้ใช้เอง ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้เกิดประโยชน์สุดสุดร่วมกันในระดับโลก  แนวทางที่ว่านี้มักจะอยู่ในรูปแบบของกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญา หรือกฎบัตรต่างๆ โดยมีทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ( International Atomic Energy Agency :IAEA ) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาททำหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ
                   การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นเพียงการนำพลังงานนิวเคลียร์ที่ได้ มาใช้ประโยชน์ในเชิงสันติ  ซึ่งไม่ใช่เรื่องอันตรายหรือน่ากลัวตามภาพลักษณ์ของอาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงครามอย่างที่เราได้รับรู้เพียงด้านอันตราย ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ในเชิงลบด้านเดียว จากการเล่าขานต่อๆกันมาโดยตลอด   อธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆก็คือ  การนำพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้านั้น ก็เปรียบได้กับการที่เราจะต้มน้ำชงน้ำชาด้วยเตาถ่าน(เตาอั้งโล่)แบบโบราณนั้นเอง[1] กาน้ำร้อน ก็เทียบได้กับหม้อต้มน้ำที่จะส่งไอน้ำที่ได้จากน้ำเดือด ไปหมุนกังหันแกนขดลวดจนได้ไฟฟ้า    เตาถ่าน ก็เปรียบได้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่จะทำหน้าที่ควบคุมความร้อนให้รนไปที่ก้นกาน้ำเพื่อต้มน้ำเท่านั้น ไม่ให้กระจายออกสู่ภายนอก เกิดการสูญเสียพลังงานหรือเกิดอันตรายแก่ผู้ต้มน้ำ    ถ่านไม้ ก็เปรียบได้กับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่เมื่อทำการจุดให้ติดไฟ จนคุแดงร้อนเท่ากันทุกๆก้อนอย่างเหมาะสมแล้วก็จะให้ความร้อนอย่างต่อเนื่องไปจนกระทั้งถ่านไม้มอดไหม้หมดไปจนเป็น ขี้เถ้า  ซึ่งเราก็จะเก็บใส่อ่างดินเผา ปิดฝาอย่างมิดชิด ป้องกันการฟุ้งกระจายสร้างความสกปรกเลอะเทอะ  ซึ่งเทียบได้กับ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ที่จะต้องถูกเก็บไว้ตามวิธีการและในสถานที่จัดเก็บเฉพาะเพื่อความปลอดภัย   ซึ่งเมื่อทุกอย่างถูกปฏิบัติและควบคุมอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแล้ว   ผู้ต้มน้ำก็จะได้น้ำร้อนไปชงเป็นน้ำชาดื่มอย่างปลอดภัย น้ำร้อนที่ได้จากการต้มนี้ก็เปรียบได้กับกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ส่งให้ผู้ใช้ ใช้ได้อย่างปลอดภัย เพียงพอและราคาถูก  ประเทศของเราขณะนี้ก็เปรียบเสมือนกับตัวเราเองในสมัยเด็กที่เพิ่งจะเรียนรู้วิธีการต้มน้ำชงน้ำชาครั้งแรกในชีวิต   ที่พ่อแม่หรือครูอาจารย์ของเรา ท่านก็จะต้องสอนและฝึกให้เราเรียนรู้ข้อห้ามและวิธีการใช้อุปกรณ์นี้เป็นอย่างดี  ฝึกทำจนท่านมั่นใจว่าเราจะสามารถต้มน้ำด้วยตัวเองเพียงลำพังอย่างปลอดภัย จึงจะปล่อยให้เราทำเอง เพราะถ้าท่านเหล่านั้นขืนปล่อยให้เราทำเองโดยไม่ควบคุมให้ถูกวิธี นอกจากตัวเราจะโดนไฟลวกเจ็บตัวแล้ว ก็ยังต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือท่านเหล่านั้นต้องพาไปหาหมอหรือดูแลการเจ็บป่วยของเราอีก  ซึ่งพ่อแม่หรือครูอาจารย์ของเราก็เปรียบได้กับประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ต้องอบรมสั่งสอนให้เรียนรู้วิธีการใช้และควบคุมเตาปฏิกรณ์อย่างปลอดภัยก่อน จึงจะขายเทคโนโลยีและปล่อยให้ประเทศเรา ซึ่งไม่เคยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาก่อนเลย มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ เพราะขืนปล่อยให้เรามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยไม่ควบคุมให้ดีจนมั่นใจว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภัยแล้ว  ผลเสียหายไม่เพียงจะเกิดแก่ประเทศผู้ใช้มือใหม่อย่างเราเท่านั้น แต่ยังเดือดร้อนไปถึงประเทศเจ้าของเขาด้วย ทำนองเดียวกับการต้มน้ำชงน้ำชาด้วยเตาถ่านที่ได้กล่าวไว้นั่นเอง 
                  ในมุมมองของนักกฎหมาย เรามาดูกันว่าหากประเทศเราต้องการจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สักหนึ่งโรงจะต้องยอมรับหลักปฏิบัติและการควบคุมสากล อันเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสากล ที่เราจะต้องเตรียมตัวสำหรับประเทศมือใหม่อะไรกันบ้าง  ซึ่งพอจะสรุปได้ว่ามีสองประการหลักๆ ดังนี้
       
       รัฐบาลต้องมีนโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในอันที่จะพัฒนาเอาพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในเชิงพลังงานไฟฟ้า
       แปลงเนื้อหาสาระสำคัญของนโยบายดังกล่าวข้างต้น โดยกระบวนการในการออกกฎหมายกำกับดูแล
       
       ความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า “กฎหมายนิวเคลียร์” ให้เป็นกฎหมายหลักวางหลักเกณฑ์ปฏิบัติทั่วไปในเรื่องที่เกี่ยวกับด้านการกำกับดูแลสอดคล้องกับด้านเทคนิคทางนิวเคลียร์ และให้มีสภาพบังคับใช้ครอบคลุมบรรดากิจกรรมทั้งหลายทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศ โดยเฉพาะการควบคุมการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในเชิงพลังงานไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างปลอดภัยตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ ซึ่งไม่ต่ำกว่าระดับขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานสากลที่ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศกำหนด โดยเฉพาะกฎหมายภายในประเทศที่ต้องกำหนดขอบเขต อำนาจ หน้าที่ ตลอดจนการใช้อำนาจทางการปกครองของหน่วยงานรัฐซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐและสามารถปฏิบัติได้ตามรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานของรัฐหรือประเทศผู้ใช้นั้นๆ และรวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์อย่างยั่งยืน  ซึ่งเหล่านี้เรียกรวมๆก็คือ  ระบอบความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของประเทศ (national nuclear safety regime หรือ nuclear regime) 
                     เพียงหลักพื้นฐานสองประการดังกล่าวข้างต้นที่ดูเผินๆแล้วไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยสำหรับประเทศประชาธิปไตยอันมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างบ้านเรา ซึ่งเริ่มตั้งท่าจะจริงจังในเรื่องนี้มานานก่อนประเทศใดในแถบเอเชีย จนบัดนี้ประเทศเวียดนามเขาแซงหน้าไปแล้ว เราเองก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดท่าทีอยู่ แต่ไม่ว่าสาเหตุของความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้จะมาจากความยังไม่เข้าใจของประชาชนในด้านความปลอดภัยและผลประโยชน์ชดเชยของประชาชนในเขตพื้นที่อันเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพึงจะได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือสาเหตุอื่นใดก็ตามที ผู้เขียนคงจะต้องขอละไม่กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ในที่นี้ก่อน จะขอกล่าวเฉพาะในด้านการเตรียมการวางข้อกำหนดกฎหมายนิวเคลียร์หรือกฎหมายระบบโครงสร้างการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์นี้ว่าได้รับอุปสรรคและผลกระทบอะไรบ้างหากรัฐบาลไทยยังไม่มีความชัดเจนในด้านนโยบาย
                 1.ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าเป็นองค์กรกำกับดูและใช้อำนาจปกครองในด้านนี้ ตามหลักเกณฑ์ของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ[2] ส่งผลไปถึงการที่ไม่อาจสร้างระบอบความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ได้  ทำให้ในการออกกฎหมายวางระบบด้านนี้ จะต้องมีการ ออกแบบองค์กรกำกับดูแลใหม่ หรือรื้อระบบองค์กรที่มีอยู่และจัดวางระบบโครงสร้างองค์กรกำกับดูแลเรื่องนี้กันใหม่ ( re-organization )
              2.ระบบการรับผิดด้านนิวเคลียร์จะเป็นแบบใด จะเอาแบบเคร่งครัด (strict liability) หรือแบบเด็ดขาด (absolute liability)ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงต่างประเทศ อันจะส่งผลเกี่ยวโยงไปถึงความต้องการนโยบายที่ชัดเจนในประเด็นที่ว่า   รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้ ใครเข้ามาเป็นผู้มีบทบาทเป็น “ผู้ปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์” (nuclear operator ) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ที่รัฐบาลจะยอมให้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้ปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์  อันจะทำให้การกำหนดรูปแบบและขอบเขตหน้าที่ความรับผิดต่างกันไป เพราะตามแนวปฏิบัติสากลจะผลักภาระด้านนี้ให้แก่ผู้ประกอบการด้านนิวเคลียร์ที่เป็นผู้ลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะยึดแนวความรับผิดแบบเด็ดขาด (absolute liability) และมีกลไกให้รัฐบาลช่วยเหลือในการรับผิดร่วมในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากผู้ปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์เป็นหน่วยงานภาครัฐ รูปแบบและบทบาทอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบก็อาจจำเป็นจะต้องกำหนดให้แตกต่างกันไป
                   3. ต้องสร้างระบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศ คือในส่วนของระบบการรับประกันความเสียหายซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องมีความเกี่ยวโยงถึงระบบการค้ำประกันจากรัฐบาลด้วย  และนอกจากนี้ยังจะต้องสร้างระบบการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้า (nuclear regulatory regime)[3] กล่าวคือ ระบบการอนุญาตสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์โดยตรง อาทิเช่น กิจกรรมการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือ กิจกรรมด้านการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและการขจัดกากกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ดังกล่าว   ซึ่งรัฐบาลจะต้องทำการพิจารณาความเหมาะสมกับกระบวนการปฏิบัติในการกำกับดูแลที่ใช้ว่า กิจกรรมใดบ้างจะเป็นการให้อนุญาต กิจกรรมใดบ้างจะเป็นออกใบอนุญาต หรือกิจกรรมใดบ้างจะเป็นการขึ้นทะเบียนประกอบกิจการ   รวมถึงระบบการกำกับดูแลร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่น (co-regulating) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะด้าน ตามกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจไว้ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ทางอ้อม  ที่ควรจะต้องให้มีการกำหนดให้ผู้ใช้อำนาจทางการปกครองในเรื่องนิวเคลียร์เป็นผู้มีอำนาจในกำกับดูแลหลัก เพื่อมิให้เกิดการกำกับดูแลซ้ำซ้อน อาทิเช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเข้าข่ายเป็นกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมและเข้าข่ายที่จะต้องขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายนิวเคลียร์ด้วย หากไม่มีการกำหนดอำนาจบทบาทอำนาจหน้าที่ให้มีการประสานงานกันอย่างชัดเจนอาจเป็นการกำกับดูแลซ้ำซ้อน และเป็นอุปสรรคในการประกอบกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ เป็นต้น
                    4. นโยบายที่ชัดเจนจะทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดทิศทางได้ว่า รัฐบาลจะพิจารณารับข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องใดบ้าง และไม่รับในเรื่องได้บ้าง เนื่องจากกฎหมายต่างประเทศเหล่านี้มีทั้งที่เป็นเงื่อนไขข้อผูกพันบังคับให้ต้องรับผูกพัน และเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นต้องรับผูกพันได้หากประเทศเรามีเหตุผลเพียงพอและมีวิธีการจัดการอื่นทดแทนเพียงพออันเป็นที่ยอมรับได้จากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ซึ่งผ่านความชัดเจนเหล่านี้ก็ทำให้ประเทศคู่ค้าที่ออกแบบและขายเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์หรือวัสดุกัมมันตรังสีที่เกี่ยวข้องยอมรับได้ และจะยอมรับการสั่งจองและติดต่อค้าขายเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กับประเทศเราตามมาเช่นกัน           
                     ระบบกฎหมายนิวเคลียร์ของประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นด่านแรกของประเทศผู้ใช้มือใหม่ที่ประสงค์จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรก จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลในประเด็นพื้นฐานต่างๆดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหากยังคงเลือนลางในเรื่องเหล่านี้แล้ว โอกาสที่โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก็คงจะเลือนลางเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นเดียวกัน
                                                     …………………………………  
        
          
       
       
       
       
       
       [1] ขอขอบคุณ คุณวันชัย    ธรรมวานิช     ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อาวุโส สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ   ที่ได้กรุณาให้คำอิบายอย่างง่ายๆ เชิงเปรียบเทียบเพื่อในเกิดความเข้าใจด้านเทคนิคในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์
       
       
       [2] ผู้เขียนเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับแก้ไขตามพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2508) ซึ่งแม้อาจจะถือได้ว่าเป็นกฎหมายเฉพาะที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากบทบาทอำนาจหน้าที่ของ  “คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พ.ป.ส.)” ตามความในมาตรา 5 และ มาตรา 8 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกอบกับพระราชกฤษฎีกา การแบ่งส่วนราชการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติฯ พ.ศ. 2510 พบว่า คณะกรรมการฯดังกล่าว มีทั้งบทบาทอำนาจหน้าที่ในกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากรังสี(อำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาต)และบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากรังสีในหน่วยงานเดียวกัน(ผู้รับใบอนุญาต)  จึงไม่ถือว่าเป็นองค์กรกำกับดูแล(nuclear regulatory body) ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยองค์กำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ เอกสารแนะนำการจัดวางกฎหมายเพื่อวางกรอบโครงสร้างกำกับดูแลภายในประเทศสำหรับการใช้ประโยชน์ด้านนิวเคลียร์ฯ ของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตามเอกสารข้อกำหนด No.GS-R-1 (หน้า 5-16)
       
       
       [3] เอกสารแนะนำแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเฉพาะทาง ด้านการจัดวางระบบกระบวนการอนุญาตการติดตั้งและก่อสร้างอุปกรณ์สำหรับการใช้ประโยชน์ด้านนิวเคลียร์ฯ ของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตามเอกสารข้อกำหนด No.SSG-12 (หน้า 3-10)
        
       
       


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1552
เวลา 28 เมษายน 2567 12:22 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)