ครั้งที่ 259

27 กุมภาพันธ์ 2554 22:49 น.

       ครั้งที่ 259
       สำหรับวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2554
        
       
       “ยุบสภา......หรือลาออก”
       
                   วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2554) เป็นวันที่ www.pub-law.net เปิดให้บริการมาครบ 10 ปี โดยเราเปิดตัววันแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2554  ปีแรกเรามีผู้ใช้บริการประมาณ 20,000 กว่าครั้งแต่ในปีที่ผ่านมาคือปี 2553 เรามีผู้เข้าใช้บริการตลอดทั้งปีประมาณ 950,000 ครั้ง ผมต้องขอขอบคุณผู้ใช้บริการทุกคนที่ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการของผมตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้นะครับว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วการเข้าถึงระบบ internet ในบ้านเราไม่ได้ง่ายดายเหมือนเช่นในวันนี้ ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มีมากมายแต่เราก็สามารถฟันฝ่ามาได้ ผมขอขอบคุณเพื่อนนักวิชาการทุกคนที่ช่วยกรุณาส่งบทความมาร่วมกับเรา ขอขอบคุณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยที่กรุณาจัดพิมพ์หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net” เล่ม 1 ถึงเล่ม 9  เพื่อแจกจ่ายให้กับนิสิตนักศึกษา ประชาชนและห้องสมุดต่าง ๆ  รวมทั้งขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่นำบทบรรณาธิการและบทความจาก www.pub-law.net ไปเผยแพร่ต่อ และท้ายที่สุด ขอขอบคุณทีมงานทั้งในอดีตและปัจจุบันทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ www.pub-law.net พัฒนากลายมาเป็นเว็บไซต์กฎหมายมหาชนที่ดีที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยในวันนี้ครับ
                 เมื่อวันครบรอบ 5 ปีของเราคือปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ผมเขียนบทบรรณาธิการครั้งที่ 128 โดยใช้ชื่อว่า “ทักษิณ.......ออกไป” ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลา “ขาลง” ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ที่คนไทยเริ่มแบ่งเป็น 2 ขั้วคือขั้วที่เอาและขั้วที่ไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณฯ ในบทบรรณาธิการครั้งนั้นผมได้ตั้งประเด็นไว้ 2 ประเด็นด้วยกันคือ ใครจะมาแทน “ทักษิณ” และ “คนที่มาแทน “ทักษิณ” จะพาสังคมกลับเข้าไปสู่ปัญหาเดิมที่ “ทักษิณ” เคยเจอมาหรือไม่” ซึ่ง 5 ปีผ่านไป เราก็คงเห็นชัดแล้วนะครับว่าอะไรเป็นอะไร ในบทบรรณาธิการครั้งนั้นผมได้พูดถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ยังไม่ได้ผล ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันตามมามากมายซึ่งผมก็ได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ  แต่อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนต่อมา ก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ถูกฉีกทิ้งและเราได้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มา แต่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับก็ยังคงอยู่ต่อไป
                 5 ปีผ่านไป ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยจากการรัฐประหาร จากการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจากการมีรัฐบาลใหม่ที่มีคนสนับสนุนกันมาก
                 กุมภาพันธ์ 2554 แม้จะแตกต่างไปจากกุมภาพันธ์ 2549 อยู่บ้างโดยเฉพาะในเรื่อง กระแสของการ “ไล่” นายกรัฐมนตรีที่ยังปลุกไม่ขึ้น แต่สภาพปัญหาที่อยู่รอบ ๆ รัฐบาลนั้นไม่แตกต่างกันเท่าไรนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและการเลือกปฏิบัติครับ
                 ผมคงไม่พูดเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเพราะมีคนพูดกันมากเหลือเกินและจนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสักเรื่องหนึ่ง แต่ผมอยากจะมองดูปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรามากกว่า  เริ่มจากปัญหาภายในประเทศก่อน ก็อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าในวันนี้ สังคมของเราแตกแยกอย่างมาก มีการแบ่งเป็นพวก แบ่งเป็นฝ่าย แบ่งเป็นสีอย่างชัดเจน ไม่มีใครเรียกพวกเสื้อเหลืองหรือพวกเสื้อแดงว่าเป็นคนไทยที่มีความเห็นพ้องหรือเห็นต่างจากรัฐบาล เห็นเรียกแต่พวกเสื้อเหลืองพวกเสื้อแดงกันทั้งเมือง
                 เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่คนไทยแบ่งออกเป็นพวกเป็นฝ่ายในวันนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีส่วนเป็นอย่างมากครับ เริ่มมาจากเดิมเมื่อรัฐบาลชุดนี้ยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภาก็ออกมาเล่นการเมืองนอกสภา เมื่อได้เป็นรัฐบาลในช่วงแรกก็ตั้งหน้าตั้งตา “จัดการ” รัฐบาลชุดก่อนทุกวิถีทางจนในบางครั้งดู ๆ แล้วก็ออกจะ “มากเกินไป” เสียด้วยซ้ำ  นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย ทางทหาร ทางตำรวจและทางอื่น ๆ ห้ามการชุมนุม สกัดการชุมนุมและสลายการชุมนุมของ “ฝ่ายตรงข้าม” ซึ่งเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจนขึ้น  ปัจจุบัน รัฐบาลเริ่มมีปัญหากับฝ่ายที่เคยเป็น “พันธมิตร” มาแล้ว ปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้น เชื่อได้ว่าหาก “จุดไฟติด” รัฐบาลคงอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ที่ถูกไล่อยู่ทุกวัน  วันนี้ เริ่มได้ยินเสียง “อภิสิทธิ์.......ออกไป” บนเวทีการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองกันบ้างแล้วนะครับ  แม้จะมีคนไม่มากแต่เท่าที่ผมทราบคนที่ติดตามดู ASTV ก็ยังมีจำนวนมากอยู่และหัวข้อในการสนทนาของคนจำนวนหนึ่งก็มาจาก “ข้อมูล” ที่ได้จากการดูการฟัง ASTV นั่นเองครับ  ส่วนเสื้อแดงนั้น ดูไปแล้วมีพัฒนาการไปในทางที่เป็นระบบมากขึ้น การชุมนุมแต่ละครั้งมีกำหนดเวลาที่แน่นอน มีเส้นทางที่แน่นอน มีจุดหมายที่แน่นอน ประเด็นที่นำมาใช้เรียกร้องในการชุมนุมก็เป็นประเด็นที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เช่น ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี การทุจริตคอร์รัปชัน  นอกจากนี้ เสื้อแดงก็ยังมีความกล้ามากขึ้น กล้าชุมนุมหน้าศาลอาญาและศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและเรียกร้องให้แก้ปัญหาสองมาตรฐาน
                 การเมืองในประเทศจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองด้วยความระมัดระวังว่า จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตครับ
                 ส่วนปัญหาภายนอกประเทศนั้น ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรายังคงเป็นปัญหาหนักและต่อเนื่องตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าทหารจะซื้ออาวุธมากขนาดไหน เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวมากมายนัก เห็นได้จากการที่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดเลยเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง มีระเบิดทีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงก็ให้ข่าวที ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ผมอยากทราบว่า ปัญหาที่แท้จริงของภาคใต้คืออะไรและจะต้องทำอย่างไรพี่น้องประชาชนของเราที่นั่นถึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบปลอดภัยครับ ถ้าตอบไม่ได้ก็อย่าเป็นรัฐบาลเลยนะครับ !!!  ส่วนปัญหาไทยกับกัมพูชานั้นยิ่งแย่ใหญ่ เรื่องลุกลามบานปลายจนกลายเป็นข้อขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในประเทศไปแล้ว เหตุเกิดขึ้นเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลกับพันธมิตร “เสื้อเหลือง” ถูกจับไปขังคุกกัมพูชา  ต่อมาก็กลายเป็นการ “สู้รบ” กันระหว่างทหารทั้ง 2 ประเทศ  ในตอนต้นที่มีการสู้รบกันนั้น ผมนึกว่าจะได้เห็น “แสนยานุภาพ” ของทหารไทยและอาวุธของเราแล้ว เพราะเห็นตอนเสื้อแดงชุมนุมในกรุงเทพมหานครเมื่อปีที่ผ่านมา ทหารใหญ่ของเราก็ออกมา “ขึงขัง” กันเหลือเกิน เอาเป็นเอาตายกับพี่น้องร่วมชาติ แต่พอมีปัญหากับกัมพูชาซึ่งเป็น “หนามยอกอก” ของไทยมาตลอด ทำไมทหารใหญ่ถึงไม่ “นำทัพ” ไป “ออกศึก” ก็ไม่ทราบนะครับ จริง ๆ ในประวัติศาสตร์ของการทำสงครามหรือการสู้รบเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ส่วนใหญ่แล้วพวกขุนศึก แม่ทัพนายกองระดับสูงก็จะ “นำทัพ” ออกไปสู้รบกันทั้งนั้น ไม่ใช่ลูกน้องออกไปรบแล้วนั่งบัญชาการอยู่ในห้องแอร์ ก็น่าเสียดายที่เห็นบทบาทของทหารใหญ่แต่เพียงการ “จัดการ” กับพี่น้องร่วมชาติ !!!  ส่วนแสนยานุภาพทางอาวุธนั้น ผมไม่ทราบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราเสียเงินไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เท่าไร (สื่อมวลชนช่วยกรุณาหาข้อมูลมาให้ประชาชนดูหน่อยนะครับ) แต่พอมีปัญหาเกิดขึ้น อาวุธส่วนใหญ่ก็มีปัญหา ขนาดเครื่องบินขับไล่ยังมีเอาไว้ตกเวลาซ้อมแล้วจะไปสู้กับใครเขาได้ครับ !!!
                 น่าสงสารประเทศไทยจริง ๆ  บุคคลที่มีอำนาจจำนวนหนึ่งพยายามที่จะทำอะไรไม่ทราบกับพี่น้องประชาชนของเราแต่กับผู้ที่มารุกรานเรากลับทำอะไรไม่ได้เลย
                 ปัญหาทั้ง 2 ประการจึงเป็นปัญหาหนักสำหรับกลไกในวันนี้ที่จะกำหนดทิศทางของตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป !!!  จะยุบสภาเพื่อหนีปัญหาหรือจะอยู่ต่อเพื่อหาทางแก้ปัญหาครับ !!!
                 มีกระแสเรียกร้องให้ยุบสภา นายกรัฐมนตรีเองก็บอกว่าจะยุบสภาในเร็ววันนี้ นักการเมืองหลายคนก็ออกมาพูดถึงเรื่องการยุบสภา แต่จริง ๆ แล้วการยุบสภาคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยหรือไม่ ?
                 กระแสยุบสภามีที่มาจากการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ผมได้พูดไว้แล้วหลายครั้ง รวมทั้งในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้ว่า ประเทศชาติและประชาชนไมได้อะไรเลยจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศที่มีอยู่เลย การยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ แม้ระบบจะเปลี่ยนกลับไปเป็นของเดิม แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจเต็มร้อยว่าเราคงได้คนเดิมเข้ามา เพราะฉะนั้นจะยุบสภาไปทำไมครับ
                 ในวันนี้ ปัญหาของประเทศชาติมีอยู่มาก เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่ามีความแตกแยกระดับสูงในสังคม มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย มีปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาเงินเฟ้อ มีปัญหาชายแดน มีปัญหากัมพูชา การยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่คงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่จิตวิทยา การยุบสภาอาจดีกว่าการอยู่เฉย ๆ  แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย เพราะความสนใจของผู้คนในช่วงเวลา 3 เดือน คงไปอยู่ที่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็คงลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะลดน้อยลงไปด้วย และนอกจากนี้ เมื่อเกิดรัฐบาลใหม่ ความแตกแยกในสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะกลับมาอีก เสื้อเหลืองสนับสนุนรัฐบาลก็หมายความว่าเสื้อแดงคงคัดค้าน ในทางกลับกัน เสื้อแดงสนับสนุนรัฐบาล เสื้อเหลืองก็คงคัดค้านเช่นกัน ความวุ่นวายก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่มีวันจบ
                 แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างน้อย ก็เพื่อพยายามแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ
                 ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกใช้วิธียุบสภา มีปัญหาตามมาแน่นอนครับ เรื่องแรกก็คือ กติกาในการเลือกตั้งที่ควรจะต้องให้รัฐสภาเป็นคนแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งที่ถูกรัฐธรรมนูญแก้ไข การเลือกให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งแทนที่จะให้รัฐสภาเป็นคนวางเกณฑ์เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ผมได้แสดงความเห็นไว้ในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้แล้ว การเลือกตั้งก็ต้องเสียเงินมากมายหลายพันล้านบาทเพื่อให้คนแบบเดิม ๆ  เข้ามาใหม่ และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องถูกต่อต้านอยู่แล้ว เนื่องจากสังคมยังคงแตกแยกแบ่งเป็นฝ่ายอยู่
                 ผมจึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกครับ ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย หากนายกรัฐมนตรีลาออกแล้วเราได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีท่าทีปรองดองและเป็นมือประสานเข้ามาสร้างความปรองดองอย่างจริงจัง แก้ปัญหาสองมาตรฐานที่ค้างคาใจผู้คนจำนวนมากให้เรียบร้อย มีคำตอบสำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการชุมนุมเมื่อพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมสามารถปฏิบัติได้เกี่ยวกับการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่วนรัฐสภาก็รีบเร่งจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ซึ่งควรใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จและมีความชัดเจนแล้วว่า ปัญหาของประเทศคลี่คลายลงไปในทางปรองดอง ค่อยคิดเรื่องการยุบสภาครับ
                 ผมไม่หวังว่า ข้อเสนอผมจะมีผู้เห็นด้วย แต่อยากจะขอกล่าวไว้  ณ ที่นี้ว่า หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกวิธียุบสภาและพรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีครับ เพราะจากที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่างก็ไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนี้เหมือน ๆ  กัน  ยุบสภาไปแล้ว เลือกตั้งเข้ามาใหม่ นายกรัฐมนตรีคนเดิม เราก็คงต้องอยู่กับปัญหาเดิม ๆ  ต่อไปครับ
                 ลองพิจารณาดูด้วยว่า การลาออกอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อย่างน้อยก็จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศในการเลือกตั้ง แล้วก็อาจแก้ปัญหาได้ก็ได้นะครับ
                 ไม่ลองก็ไม่รู้นะครับ!!!
       
                 ในสัปดาห์ที่เรามีอายุครบ 10 ปี เรามีบทความมานำเสนอถึง 5 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นตอนที่สองของบทความเรื่อง “กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 2” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์  บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ระบบกึ่งรัฐสภาเพื่อการพัฒนาประเทศตามแนวเสนอของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์”  ที่เขียนโดย คุณมนูญ โกกเจริญพงศ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี  บทความที่สามเป็นบทความที่เขียนโดย คุณ ชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค”  บทความที่สี่ “เกร็ดแนวคิดจากกฎหมายนิวเคลียร์ของประเทศเขาเพื่อกฎหมายนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าประเทศเรา”  ที่เขียนโดยคุณ กนกศักดิ์  ทองพานิชย์  นักกฎหมายอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ  ส่วนบทความสุดท้าย  “ส.ว.สรรหา ต้องลาออกก่อนสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่หรือไม่?” เป็นบทความที่เขียนโดย ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆบทความครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2554
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://www.public-law.net/view.aspx?ID=1563
เวลา 17 เมษายน 2567 01:34 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)